TIP Smart Assist “ผู้นำส่ง” ความช่วยเหลือสู่ผู้เดือดร้อน


ในเวลาที่เครื่องผลิตออกซิเจน
กำลังรอส่งออกไปบ้านผู้ป่วย
ข้าวสารอาหารแห้ง
รอคิวส่งไปครอบครัวที่เดือดร้อน
ช้ากว่านั้นก็อาจหมายถึงชีวิต
หรือความลำบากที่ยาวนานขึ้น
.
พวกเขาเรียกตัวเองว่า
TIP Smart Assist
จากทิพยประกันภัย
ขออาสาส่งความช่วยเหลือ
จากมูลนิธิกระจกเงา
ไปยังครอบครัวที่เดือดร้อน
.
เขาบอกเราว่า
งานจิตอาสาไม่เลือกความเดือดร้อน
เรื่องเล็กเรื่องใหญ่
พร้อมไปได้หมด
ขอแค่บอกมา
.
หลายเดือนมาแล้วที่พวกเขา
ทำภารกิจนี้อยู่เบื้องหลังเงียบๆ
เป็นสะพานเชื่อมความช่วยเหลือ
ขอบคุณจากใจแทนทุกครอบครัว
ที่ได้รับความช่วยเหลือ
🙏🏻❤️🙏🏻พวกคุณโคตรเท่ห์

Share Button

ปัญหา “คนไร้ที่พึ่ง” ในระบบคุ้มครองของรัฐ

“57 บาท ต่อคนต่อวัน” นี้คืองบประมาณที่รัฐจ่ายให้เพื่อดูแลกลุ่มคนที่เรียกว่า “คนไร้ที่พึ่ง” ตาม พรบ.คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง (สถานสงเคราะห์) ของทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
.
สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งในประเทศนี้มีอยู่ทั้งหมด 11 แห่งทั่วประเทศ มีภารกิจหลักคือการดูแลกลุ่มคนไร้ที่พึ่ง คนไร้ที่พึ่งที่นิยามโดยสรุปอย่างง่ายๆ ก็คือ คนที่ไม่สามารถดูแลจัดการชีวิตตัวเองได้ ทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคม
.
ในวันที่ทีมงานผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงาได้แวะเวียนเยี่ยมเยียน สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งมาแล้วหลายแห่ง เราอยากจะรีวิวการไปเยี่ยมสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ให้กับหลายๆ คนได้รับรู้ว่า สิ่งที่เรียกว่าเป็นสวัสดิการของรัฐ ภายใต้การดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์นั้น มันเป็นอย่างไรบ้าง
.
ข้างในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง คนที่อยู่ในสถานคุ้มครองนั้น เกินกว่า 70% เป็นผู้ป่วยจิตเวชที่เรียกได้ว่าเรื้อรัง บางสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งนั้น มีจำนวนผู้ป่วยจิตเวชสูงถึง 90% ขึ้นไป ยังไม่นับความทับซ้อนของความพิการทางร่างกายอื่นๆ ลงไป และยังไม่นับว่าส่วนใหญ่อยู่ในวัยผู้สูงอายุ
.
พูดถึงเรื่องการหลับนอน ทุกคนมีเบาะนอน แต่ไม่ใช่การนอนในแบบ 1 เบาะต่อ 1 คน ในบางทีต้องนำเบาะมาชิดกันเพื่อให้มี 1 คนมานอนตรงร่องกลางของเบาะที่นำมาชิดกัน ในบางที่ในบางแห่งต้องจัดการเบาะนอนเป็นสามแถว และนี่ยังไม่ได้พูดถึงว่า ผู้รับความคุ้มครองหลายต่อหลายคนเป็นคนพิการ เป็นผู้สูงอายุ การนอนเบาะแบบนั้น ทำให้ลุกขึ้นเดินเหินได้ยากเต็มที
.
คนในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งในแต่ละที่ มีจำนวนคนรับการคุ้มครองล้น ล้นที่เรียกว่าเกินขีดความสามารถการดูแลของเจ้าหน้าที่ภายใน บางแห่งมากไปถึง 500 กว่าราย ซึ่งหลายสถานคุ้มครองฯ มีความสามารถรับคนเข้ารับการคุ้มครองจริงๆ อยู่ที่ประมาณ 300 กว่ารายเท่านั้น ความไม่สามารถนั้น เกิดมาจากงบประมาณที่จำกัด จำนวนบุคลากรที่จำกัด ทรัพยากรที่จำกัด
.
ในหลายๆ สถานคุ้มครองฯ นั้น มีปัญหาขาดแคลนบุคลากรเฉพาะทาง เฉพาะด้าน เช่น ไม่มีนักจิตวิทยาวิชาชีพ ทั้งๆ ที่มีผู้ป่วยจิตเวชอยู่เกินกว่า 70-80% ด้วยซ้ำ ไม่มีพยาบาล ทั้งๆ ที่มีจำนวนเคสที่มีแนวโน้มในปัญหาโรคทางกายอยู่ไม่น้อย ไม่มีนักกายภาพบำบัด ทั้งๆ ที่มีคนพิการทางร่างกายอยู่เกินครึ่งค่อน
.
ที่ซ้ำร้ายเข้าไปอีกก็คือ สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งไม่สามารถส่งคนไร้ที่พึ่งเพื่อให้ได้รับบริการในสถานสงเคราะห์ ตามความเฉพาะได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น ในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งแห่งหนึ่ง มีผู้สูงอายุมากกว่า 100 คน แต่ไม่สามารถส่งผู้สูงอายุนั้นให้ได้รับบริการในสถานสงเคราะห์ที่ดูแลผู้สูงอายุโดยตรงได้ เช่นเดียวกันกับกลุ่มคนพิการที่ไม่สามารถส่งไปยังสถานสงเคราะห์คนพิการได้
.
ทั้งๆ ที่ในกฎหมายของผู้สูงอายุ ก็บอกไว้ว่า ในความเป็นผู้สูงอายุนั้น สวัสดิการอย่างหนึ่งที่รัฐจัดให้ คือการได้เข้ารับดูแลในสถานสงเคราะห์ผู้สูงอายุ เช่นเดียวกันกับคนพิการ ทั้งๆ ที่กฎหมายระบุไว้ว่าสวัสดิการอย่างหนึ่งที่คนพิการสามารถเลือกรับได้ก็คือ การเข้ารับการดูแลในสถานสงเคราะห์คนพิการ ซึ่งหลายๆ รายที่รอการเข้ารับการดูแลตามกฎหมายเฉพาะนั้น ก็เสียชีวิตไปก่อนที่จะได้รับบริการตามที่สิทธิ์ในฐานะพลเมืองที่เขาควรได้ ความล่าช้าของการได้มาซึ่งสิทธิที่ควรมีควรได้นั้น นับได้ว่าเป็นความอยุติธรรมแบบหนึ่งนั้นเอง
.
ในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง เมื่อไม่สามารถส่งคนไปเข้ารับบริการตามกฎหมายเฉพาะอย่าง ผู้สูงอายุและคนพิการได้นั้น ความอัดแน่น ความไม่สามารถดูแลคนที่อยู่ในการคุ้มครองได้นั้น จึงเกิดขึ้นในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งในทุกแห่ง และในข้อเท็จจริงที่สำคัญก็คือ คนที่อยู่ในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งนั้น ไม่ใช่ประสบปัญหาทางสังคมเพียงอย่างเดียว พวกเขาเป็นคนป่วยทั้งทางจิตและทางกาย เป็นคนพิการ เป็นผู้สูงอายุ
.
เอาเข้าจริง หลายๆ คนมีความซ้ำซ้อนของทุกอย่างที่กล่าวมา และประเด็นสำคัญก็คือ สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งมีเคสที่หลากหลายทับซ้อนมาก แต่ได้รับงบประมาณและทรัพยากรในการบริหารจัดการภายในที่ต่ำอย่างมาก ทั้งๆ ที่ควรได้รับงบประมาณและทรัพยากรที่เป็นเสมือนโรงพยาบาลด้วยซ้ำไป
.
เราเคยถามว่าความต้องการของคนไร้ที่พึ่ง ที่ว่าพวกเขาต้องการอะไร ในส่วนที่เป็นผู้ป่วยจิตเวชอย่างหนักอาจไม่สามารถตอบได้ แต่สำหรับหลายๆ คนมักให้คำตอบอย่างง่ายๆ ว่า เขาอยากให้ครอบครัวมาเยี่ยมเขาบ้าง อยากกลับไปอยู่กับครอบครัวก็มี ในบางคนอยากจะออกไปทำงานมีรายได้ แต่ในข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก็คือ ทรัพยากรที่รัฐจัดสรรให้กับสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งนั้น ไม่สามารถทำให้ฝันของคนที่อยู่ในสถานคุ้มครองฯบรรลุเป็นจริงได้อย่างแน่นอน
.
ไม่ต้องดูอะไรมาก แค่ค่าอาหารที่เขาตั้งไว้ให้ต่อคนต่อวันอยู่ที่ 57 บาทนั้น ก็เห็นได้อยู่ว่ารัฐเห็นใจ ใส่ใจ และเข้าใจหรือไม่ว่าสิทธิ์การมีคุณภาพชีวิตที่ดีนั้นควรเป็นพื้นฐานของทุกคนที่ควรได้รับจากรัฐอย่างปฏิเสธไม่ได้ เป็นจริงอยู่หรือไม่

——————————

ปล.ภาพรองเท้าแตะ คือรองเท้าแตะของผู้รับการคุ้มครองในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งแห่งหนึ่ง ซึ่งรองเท้าแต่และคู่นั้นมีความพยายามทำเครื่องหมายไว้ เพื่อให้รู้ว่าคู่ไหนเป็นของใคร
.
รีวิว สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง และ ตัวอย่างของการจัดสวัสดิการของรัฐ โดย โครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา

Share Button

สะท้อนปัญหาของรัฐผ่านวงจรชีวิต “ผู้ป่วยจิตเวช”

10 กว่ารอบได้แล้ว ที่เคสนี้วนเวียน​เข้าออกระหว่างข้างถนนและโรงพยาบาล​จิตเวช
.
10 กว่าเหตุ ที่เคสนี้ก่อขึ้นและตำรวจต้องมาควบคุม​ตัวนำส่งโรงพยาบาล
.
เหตุที่เคสนี้ก่อขึ้น​ มีตั้งแต่สร้างความวุ่นวาย​ เช่น​ ตะโกน​โวยวาย​ ด่าว่าผู้คน​ ทำลายข้าวของทั้งสาธารณะ​และของเอกชน​ เดินกลางถนน​ กระโจนเข้าหารถ​ อึฉี่กลางพื้นที่สาธารณะ​ ล่าสุดคือกระโดด​ไปหน้ารถพยาบาล​และไปหักที่ปัดน้ำฝนของรถ​
.
จากข่าวเคสนี้รับการรักษา​อยู่ที่โรงพยาบาล​จิตเวช​ และตำรวจ​ สภ.ที่คุ้นเคย​กับการนำส่งเคสไปโรงพยาบาล​ ก็ยังออกปากออกมาว่า​ “รักษา​แล้วเดี๋ยวก็กลับมาวุ่นวายที่ข้างถนนอีก​เหมือนเดิม อีกทั้งทาง รพ. ไม่มีแผนกับเคสนี้อย่างชัดเจน​ ด้วยเป็นเคสเร่ร่อน ไม่มีญาติ ทำให้ต้องเกิดการนำส่งแบบนี้อยู่หลายครั้งเลย “ออกมาอีกพวกผมก็เอาตัวเข้าโรงพยาบาล​ซ้ำอีกนั่นแหละ​”
.
ตามเนื้อหาข่าว​ เคสนี้เกิดเหตุ​ขึ้นที่​ อ.หาดใหญ่​ จ.สงขลา​ เราได้มีโอกาส​พูดคุยกับตำรวจที่รับผิดชอบในการนำส่งเคสเข้าโรงพยาบาล​ ตำรวจให้ข้อมูล​ว่า​ การวนเวียน​เข้าออกระหว่างข้างถนนกับโรงพยาบาล​ของเคสนับ 10 ครั้งได้นั้น​ เกิดขึ้นในช่วงเวลา 3-4 เดือนของปี​ 2565 นี้เอง​
.
ก่อความวุ่นวาย​ –> นำส่งรักษา​–> รักษา ​–> ออกจากรพ. –> เร่ร่อน –> ก่อความวุ่นวาย –>
.
ถามว่าจะทำอย่างไรที่จะตัดวงจรนี้ได้​ ขั้นตอนสำคัญ​ที่ต้องทำให้ได้นั่นคือ​ หลังจากที่สิ้นสุดการรักษา​การนำเข้าสู่ระบบ​การฟื้นฟูจึงสำคัญ​ เป็นความสำคัญ​ แต่ก็ไม่ถูกให้ความสำคัญ​สักเท่าไหร่จากรัฐ​
.
รัฐไม่ให้ความสำคัญ​อย่างไร​บ้าง​ สถานฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวช​โดยตรงที่เป็นของรัฐมีอยู่ 2 แห่งเท่านั้นทั้งประเทศ​ คือสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านกึ่งวิถีชาย, หญิง​ ซึ่งคนเต็มแน่นรอคิวเข้านับร้อยคิว​ สถานที่ฟื้นฟูที่รองลงมาคือ​ สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง​ มีทั้งหมด 11 แห่งทั่วประเทศ​ แต่ปัญหาร่วมของสถานสงเคราะห์​ทั้ง 11 แห่งนี้คือ​ ไม่มีกระบวนการดูแลผู้ป่วยจิตเวช​อย่างเป็นระบบ​ ในหลายสถานฯ​ ไม่มีนักจิตวิทยา​อยู่สักคนเดียว​ ซ้ำร้ายทุกที่ทุกแห่งอยู่ในสภาพที่คนรับบริการล้นแน่นระบบการดูแลฟื้นฟูไปหมดแล้ว​
.
เรามี​ข้อมูลอยู่​ว่า​ มีเคสในลักษณะเดียวกัน​นี้อยู่ไม่น้อย​ ใช้ชีวิต​เร่ร่อนด้วยอาการ​จิตเวช​อยู่ที่ข้างถนน​ และวนเวียนเข้าออกระหว่างข้างถนนกับโรงพยาบาล​จิตเวช​เหมือนกับเคสนี้​
.
ประเด็นสำคัญ​ของบทความนี้คือ​ การจะตัดวงจรของผู้ป่วยจิตเวช​ที่สลับเข้าออกระหว่างข้างถนนกับโรงพยาบาล​จิตเวช​ได้นั้น​ กลไกสำคัญ​คือระบบการฟื้นฟู​ ซึ่งเราคิดว่ารัฐต้องให้ความสำคัญ​ที่มากกว่า​ที่เห็นและเป็นอยู่อย่างมากมายนัก

โครงการ​ผู้ป่ว​ยข้าง​ถนน​ มูลนิธิ​กระจกเงา​
Cr.ข่าวสด
รายละเอียด​ข่าว : https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_7113583

Share Button

รักริมถนน: เรื่องเล่าของชายหนุ่มที่พาแฟนมาอาบน้ำ

ในวันที่เราเปิดให้บริการ ซักผ้า อบผ้า และอาบน้ำให้กับคนไร้บ้านที่อยู่ในพื้นที่แถวราชดำเนิน เรามักพบกับชายคนนึงกำลังเข็นรถเข็นอย่างช้าๆ บนรถเข็นพบผู้หญิงคนนึง รูปร่างเธอบอกได้ว่าร่างกายไม่แข็งแรง ทั้งสองคนเป็นคู่รักกัน ทั้งคู่เป็นคนไร้บ้าน ทั้งคู่มักตรงดิ่งมาเพื่อใช้บริการ อาบน้ำ และซักอบผ้า
.
ชายหนุ่มนั้นวัยเกือบ50ปี ตกงานมาได้เป็นปีแล้ว เขารับจ้างทาสี แต่หลังๆ มานี้งานไม่มีให้ได้ไปทำ ส่วนหญิงสาวนั้นอายุยังอยู่ในวัย 40 ต้นๆ
.
ชายหนุ่มพาแฟนสาวมาอาบน้ำ เขามักบอกว่าแฟนอยากอาบน้ำเลยพามา เมื่อแฟนอาบเสร็จเขาจะอาบเป็นคิวถัดไป ระหว่างนั้นเสื้อผ้าของทั้งคู่ก็อยู่ในเครื่องซักผ้าและเครื่องอบผ้าเป็นที่เรียบร้อย
.
ระหว่างรอเวลาซักและอบผ้าประมาณ 1 ชั่วโมงได้ ชายหนุ่มเล่าถึงการโคจรมาพบกันของตัวเขาและแฟนสาว
.
เขาเล่าว่า เขานั้นออกมาไร้บ้านได้สักพักใหญ่แล้วและเมื่อเขาเลือกมานอนที่ถนนราชดำเนิน เขาพบเธอที่นั่น เขาบอกเมื่อเขาเห็นเธอ เขารู้สึกสงสารทั้งจากความพิการ ความเป็นผู้หญิงและไหนจะต้องมาใช้ชีวิตไร้บ้านเข้าไปอีก เขาจึงเอ่ยปากบอกว่าเขาจะดูแลเธอเอง นับแต่นั้นต้นรักก็เติบโต
.
เมื่อเราซักถามต่อไปว่า หญิงสาวได้ทำบัตรคนพิการแล้วหรือไม่ ชายหนุ่มตอบว่ายัง หญิงสาวซึ่งแม้นั่งรถเข็นอยู่ก็ตอบแทรกขึ้นมาว่า แค่ลูกสะบ้าหลุดเองยังไม่ได้พิการ แต่เมื่อถามว่าอยู่ในสภาพเดินไม่คล่องต้องใช้รถเข็นนั้นนานเท่าไหนแล้ว ชายหนุ่มตอบแทนขึ้นมาว่า ก็อยู่สภาพแบบนี้เป็นปีแล้วนะตั้งแต่ผมเจอเขา
.
ชายหนุ่มเปรยขึ้นว่า ผมอยากทำงาน แต่ติดตอนที่ผมไปทำงานไม่รู้จะให้แฟนไปอยู่ที่ไหน
.
ในเรื่องงาน เราตอบว่างั้นก็มาสมัครทำงานกับจ้างวานข้าได้เลย เขาพยักหน้าเชิงตอบรับ แต่ก็บอกแบ่งรับแบ่งสู้มาว่า เดี๋ยวผมขอดูก่อนว่าจะพาแฟนไปอยู่ที่ไหน พอจะฝากเพื่อนได้หรือเปล่า และวันนัดหมายนั้นเขาก็ไม่ได้มาตามที่นัดหมายไว้
.
แต่วันอังคารและวันศุกร์นี้ รถซักอบอาบ จะเปิดให้บริการอีกครั้ง เราน่าจะได้พบเขาและแฟน เราตั้งใจจะสอบถามเขาอีกครั้งในเรื่องงาน แล้วดูว่าเขาติดเงื่อนไขอะไรที่ทำให้มาทำงานไม่ได้ เพื่อเราจะได้ช่วยกันกำจัดเงื่อนไขนั้นให้หมดไป รวมถึงเรื่องการได้มาซึ่งการเข้าถึงสิทธิคนพิการของหญิงสาวที่เธอควรจะได้รับ
.
มูลนิธิกระจกเงา x Otteri x กรุงเทพมหานคร

____________________

เรามีจุดบริการ ซักผ้าอบผ้าและห้องอาบน้ำให้คนไร้บ้าน รวมถึงสิ่งอื่นๆ ที่จะนำไปสู่การให้กลุ่มคนไร้บ้านสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการเปิดเป็นช่องทางในการให้คนไร้บ้านได้เข้ามาเพื่อการแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และที่สำคัญคือการเข้าถึงงานที่มีรายได้มั่นคงต่อเนื่อง และเราเรียกสิ่งนี้ว่า “สดชื่นสถาน” ซึ่งมันไม่ใช่ความสดชื่นแค่จากการอาบน้ำใส่เสื้อผ้าใหม่ แต่มันรวมถึงความสดชื่นที่มาจากชีวิตที่ดีขึ้น
.
เรากำลังจะเปิดวันให้บริการคนไร้บ้านเพิ่มเติม จากที่เราเปิดแค่ในวันศุกร์ เรากำลังจะเปิดให้บริการเพิ่มในวันอังคารอีก 1 วัน และเรามีแนวโน้มที่จะเปิดให้บริการทุกวัน เนื่องจากเราได้พูดคุยขอให้ทางกรุงเทพมหานครสนับสนุนพื้นที่ถาวรให้ เพื่อที่จะให้เราสามารถให้บริการนี้ได้อย่างเป็นระบบระเบียบมากขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อให้คนไร้บ้านได้เข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านสภาพชีวิตจากคนไร้บ้าน ไปสู่คนมีบ้านให้ได้จำนวนมากเท่าที่จะมากได้
.
สนับสนุนการให้บริการสวัสดิการกับกลุ่มคนไร้บ้านในนาม “สดชื่นสถาน” ได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-2-58289-4 SCB

Share Button

สร้างพื้นที่ เพื่อชีวิตผู้ป้วยจิตเภท

“ว่าด้วยการสร้างพื้นที่”
.
เมื่อวานเป็นวันสุขภาพ​จิตโลก​ เราชวนอแมนด้า​(อดีต​มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์และเธอสนใจเรื่องสุขภาพ​จิตอย่างต่อเนื่อง​)​ ไปเยี่ยมเยียนผู้ป่วย​จิตเวช​ในโซเชียลวอร์ดที่อยู่ในการดูแลของสถาบันจิตเวชศาสตร์​สมเด็จเจ้าพระยา
.
โซเชียลวอร์ด​ คืออะไร​ พูดแบบสรุปคือพื้นที่​ ที่มีไว้เพื่อการฝึกทักษะ​ของผู้ป่วยจิตเวช​ (โดยเฉพาะเรื่องโรคจิตเภท)​ให้สามารถออกไปใช้ชีวิตอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างราบรื่น​ที่สุด​
.
คำถามว่า​ ทำไมต้องฝึกทักษะ​ทางสังคมกันใหม่​ เพราะเนื่องจากผู้ป่วยจิตเวชหลายราย เมื่อป่วย​เป็นโรคจิตเภท​ ตัวโรคมันทำให้ฟังก์ชันหลายอย่างในการใช้ชีวิตมันถูกทำลายไปด้วย​ ส่วนมากฟังก์ชันที่เสียหาย​ เป็นเรื่องความจำ​ ระบบความคิด​ ซึ่งเป็นฟังก์ชันสำคัญ​ของการดำรงชีวิต​ เมื่อพังจึงต้องสร้างขึ้นใหม่
.
คำถามว่า​ ทำไมเราถึงเลือกไปเยี่ยมเยียนที่นี่​ นั่นเป็นเพราะที่นี่​ กำลังมีการทำงานร่วมกันกับทางมูลนิธิ​กระจกเงา​ พูดแบบย่นย่อก็คือเรากำลังทำงานร่วมกัน​ โดยให้ผู้ป่วยจิตเวช​ได้เข้ามาทำงานในระบบงานของจ้างวานข้า​ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถฝึกฝนทักษะจนสามารถ​ออกมาใช้ชีวิตด้วยตัวเองได้​ โดยมีงานทำมีรายได้แน่นอน
.
ที่สำคั​ญคือ​ ผู้ป่วยจิตเภทเรื้อรังส่วนใหญ่จะถูกปฏิเสธ​จากระบบการจ้างงาน​ ไม่มีใครต้องการ รวมถึงครอบครัว​ของผู้ป่วยเองด้วย​ เราผู้ที่เห็นปัญหา​นี้มาโดยตลอด​ จึงคิดว่าเราจะเป็นพื้นที่​ที่ใช้ไว้รองรับกลุ่มคนที่ถูกปฏิเสธ​จากระบบการจ้างงานในกระแสหลัก เพื่อให้คนอย่างพวกเขาได้มีที่ทางในการยืนได้อย่างแข็งแรงมั่นคงในสังคมนี้
.
ยกตัวอย่างชายหนุ่มที่ผ่านประสบการณ์​ก​ารใช้ยาเสพติด​มาอย่างโชกโชน​ โชกโชนจนมันทำให้เขาป่วยเป็นโรคจิตเภท​เรื้อรัง​ ซึ่งมันทำลายการใช้ชีวิตเขาไปอยู่หลายปี​ ชายหนุ่มที่อายุยังอยู่ในวัย 30 ต้นๆ มีทักษะ​ในการวาดภาพ​ แต่ไม่สามารถงัดออกมาใช้ได้หลายปี​ แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการ​การฟื้นฟูทักษะ​หลังจากได้รับการบำบัด​รักษา​แล้ว​ เขาก็สามารถฉายแสงความสามารถที่เขามีออกมาได้เช่นวันเก่าก่อน
.
เราจึงคิดว่า​ การมีพื้นที่ให้ผู้ป่วยจิตเวช​ได้มีพื้นที่ในการพัฒนาทักษะ​การใช้ชีวิต​ มีพื้นที่ทดลองใช้ชีวิต​ จนสามารถกลับคืนสู่การใช้ชีวิตด้วยตัวเขาเองอย่างแข็งแรง​ อย่างยืนเหยียดตรงอีกครั้งในสังคมที่เขาสังกัดอยู่​ เป็นความจำเป็นอย่างที่สุด​ ที่ควรถูกตระเตรียมไว้ให้กับพวกเขา

__________________

สามารถสนับสนุนการสร้างพื้นที่สร้างเสริมประสบการณ์​ชีวิตให้กับกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-2-58289-4 SCB

Share Button

กลิ่นเหม็นอับที่หายไปบนเสื้อผ้าของคนไร้บ้าน

กลิ่นอับของเหล่าเสื้อผ้าคนไร้บ้านในตะกร้าผ้า​ที่รอคิวรับบริการซักอบผ้าลอยขึ้นมาแตะจมูก​ เมื่อพูดถึงกลิ่น​ ถ้าใครเคยดูหนัง parasite จะมีฉากหนึ่งที่ตัวละครพูดถึงกลิ่นเฉพาะตัวของคนจน​ เช่นกันคนไร้บ้านก็มีกลิ่นเฉพาะเช่นกัน​
.
กลิ่นที่เกิดจากเหงื่อไคล​หลังใช้แรงหาเงินเลี้ยงตัวแต่ไม่มีที่อาบน้ำซักผ้า​ กลิ่นที่เกิดจากการใช้ชีวิตคลุกแดดคลุกฝนคลุกฝุ่นแต่ไม่มีที่อาบน้ำซักผ้า​ กลิ่นที่เกิดจากในบางวันอาจได้ซักผ้าอาบน้ำแต่หาที่ตากผ้าไม่ได้จึงต้องใช้ตัวเองเป็นราวตากผ้า
.
กลิ่นจากเสื้อผ้าคนไร้บ้านนับเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับเรา​ สัญญาณ​ว่าการมาให้บริการ​ ซักผ้าอบผ้า​ อาบน้ำให้กับกลุ่มคนไร้บ้านนั้น​ นับว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง​ ควรทำ เป็นสิ่งที่คนไร้บ้านต้องการจริงๆ​ นอกเหนือ​ อาหาร​ และการงาน​ ต้องการไม่ต้องการขนาดไหนวัดได้จากการมาใช้บริการใน1วันไม่เคยต่ำกว่า 30 คิวขึ้นไป
.
กลับมาพูดถึงเรื่องกลิ่นอีกครั้ง​ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า​ ถ้าเราเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ​ ทั้งซักผ้า​ อบผ้า​ อาบน้ำ​ ให้บริการได้ในทุกวัน​ และคนไร้บ้านสามารถมาใช้บริการได้บ่อยครั้งตามความต้องการ​ กลิ่นที่เป็นเรื่องเฉพาะของคนจนของคนไร้บ้านนั้น​ มันจะหายไป​ เริ่มกลับกลายเป็นความปกติธรรมดา​
.
ภาวะไร้บ้านของคนไร้บ้านต้องไม่เท่ากับกับว่าพวกเขาต้องอยู่กับสภาพการใช้ชีวิต​ประจำวัน​ที่ย่ำแย่​ ในฐานะมนุษย์​เรารู้ว่าทุกคนควรจะเข้าถึงการดูแลรักษา​ร่างกายและสุขภาพอนามัยของตัวเอง​ พื้นฐานที่สุดเสื้อผ้าควรสะอาด​ เนื้อตัวร่างกายควรถูกชำระล้างได้ในทุกวัน​
.
ถ้ามีใครสักคนมีอุปสรรค​ในการเข้าถึงสิ่งที่มีความเป็นพื้นฐานมากๆแต่ไม่ได้รับ​ ควรแล้วที่สังคมหรือรัฐจะต้องนับเป็นหน้าที่ในการทำให้ใครสักคนนั้นได้เข้าถึงความพื้นฐาน​ เช่น​ การอาบน้ำ​ การซักผ้า​ ให้ได้อย่างสะดวก​ที่สุด
.
มูลนิธิ​กระจกเงา​ตระหนักดี​ Otteri​ ก็ตระหนัก​ดี​ กรุงเทพ​มหานคร​เองก็ตระหนักดี​ เราจึงเริ่มต้นทำสิ่งนี้ขึ้นมา​ สิ่งที่มูลนิธิ​กระจกเงา​เองเรียกมันว่า สดชื่นสถาน​ ที่ตั้งอยู่ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า​
.
มูลนิธิกระจกเงา x Otteri x กรุงเทพมหานคร
__________________
สนับสนุนการให้บริการสวัสดิการกับกลุ่มคนไร้บ้านในนาม “สดชื่นสถาน” ได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-2-58289-4 SCB
Share Button

ความภูมิใจของอดีตลุงไร้บ้าน โปรแกรมการเปลี่ยนผ่านของ “จ้างวานข้า”

วันที่เราไปเยี่ยมแกพร้อมชุดของตั้งต้น (อาหารแห้ง ข้าวสาร พัดลม หม้อหุงข้าว กาต้มน้ำไฟฟ้า ที่นอน) ณ ที่ห้องเช่าที่ต้องบอกว่าเป็นห้องเช่าใหม่ล่าสุดของแกนั้น จู่ๆ แกก็ส่งเสียงขึ้นมาทั้งๆ ที่ไม่มีคนถาม แกพูดคล้ายตะโกนบอกกับคนละแวกห้องเช่าว่า “กระจกเงาเขามาเยี่ยมห้องผม เอาของมาให้ด้วย”
.
พวกเรายิ้มเขินๆ กับเสียงกึ่งตะโกนของแก เมื่อมาถึงห้องพัก เรานัดกับเจ้าของห้องเช่าเพื่อจ่ายค่าเช่าห้องเดือนแรกพร้อมกับเงินมัดจำห้องให้กับแก (เราสนับสนุนค่าเช่าห้องแรกเข้าให้กับคนไร้บ้านที่ทำงานกับจ้างวานข้า) เจ้าของห้องพอรู้ว่าเรามาจากกระจกเงา และเราช่วยสนับสนุนค่าห้องเช่า และการงานให้กับคนไร้บ้าน เจ้าของห้องเอ่ยปากบอกกับพวกเราเลยว่า “ป้าไม่เก็บค่าประกันนะ ลดให้เลย”
.
ทั้งๆ ที่ในวันนั้นเราต้องจ่ายค่ามัดจำห้องให้กับคนไร้บ้านถึง 4 ห้องก็ตาม
.
ลุงอดีตคนไร้บ้านที่ดูตื่นเต้นกับห้องใหม่ เริ่มบอกเล่าเรื่องราวตัวเอง “ผมไร้บ้านมารวมๆ แล้ว 5 ปีได้ ก็เข้าๆ ออกๆ จากไร้บ้านบ้าง มีบ้านบ้าง แล้วก็มาไร้บ้านอีก ครั้งแรกที่ไร้บ้านก็ตกงานมาจากงาน รปภ. ก็มานอนในตึกร้างที่ใกล้ๆ กันกับที่ผมเคยมาเป็น รปภ.นั่นแหละ คุ้นพื้นที่ดี ตอนไร้บ้านก็รับจ้างไปเรื่อยนะ คนแถวนั้นใช้ให้ไปทำอะไรก็ทำ”
.
ไร้บ้านมาปีกว่าๆ ได้ จนไปได้งานในโรงงาน ทำงานไปกว่า 10 ปี แต่ก็มีเหตุให้แกก็ต้องตกงานอีกครั้ง แกจึงตัดสินใจมาใช้ชีวิตไร้บ้านอีกรอบ เป็นการใช้ชีวิตไร้บ้านในช่วงปี 59 ปีที่มีงานสวรรคตของรัชกาลที่ 9 พอดี แกได้อาศัยข้าวปลาอาหารในงาน ได้พอเก็บขวดเก็บของเก่าประทังชีวิตไปชั่วคราว ใจก็หวังได้มีงานใหม่ที่มั่นคงพอที่จะพาตัวเองย้ายจากความเร่ร่อนไร้บ้านได้
.
ไร้บ้านรอบนี้อยู่ไปอยู่มาก็ 4 ปีเข้าให้แล้ว งานก็ไม่มีให้ทำมากนัก งานที่มั่นคงยิ่งยากที่จะหาได้ แกจึงตัดสินใจนำตัวเองกลับบ้านไปอยู่กับพี่สาวสักพัก
.
พอปี 2565 แกมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพอีกครั้ง การหางานคือจุดหมาย แกไม่อยากเป็นภาระใคร แกเลือกมานอนไร้บ้านอีกครั้ง ตายเอาดาบหน้ายังใช้ได้กับทุกยุคสมัย
.
เดือนมิถุนายน 2565 จ้างวานข้าเปิดรับสมัครงานที่แถวสนามหลวง ชายไร้บ้านคนนี้เป็นคนนึงที่เดินเข้ามาสมัครงานกับเรา แกเริ่มทำงานในนาม สมาชิกจ้างวานข้า ทำงานไป พิสูจน์ตัวเองไป ทำได้ประมาณ 1 เดือน เราจึงพูดคุยกับแกเรื่องโปรแกรมการเปลี่ยนผ่าน เปลี่ยนผ่านจากความไร้บ้านมาเป็นคนมีบ้าน แกรับเข้าโปรแกรมนี้อย่างตื่นเต้น
.
“ลุงน่ะอยากมีห้อง ก็พยายามหาที่อยู่มาตลอด เดี๋ยวไปนอนบ้านอิ่มใจ เดี๋ยวไปเช่าห้องรายวัน แต่กับบางคนเราก็ไม่รู้นะที่เขาไม่อยากอยู่บ้าน ไม่อยากเช่าห้อง เขาอาจจะเป็นความเคยชิน เขาอยู่ที่โล่งแบบนี้มานาน พอไปอยู่ห้องเขาคงอึดอัด แต่ลุงไม่ใช่ไง ลุงไม่ชอบสภาพแวดล้อม เวลามีเจ้าหน้าที่มาไล่ เพราะต้องหลบขบวนเสด็จ ฝนตกก็ไม่มีที่หลบ ไม่ชอบนักหรอกเวลามีคนด่าเรา จากการที่คนอื่นเขาไปทำสกปรกตรงนั้นตรงนนี้ ไปแซวเด็กผู้หญิง พอคนข้างถนนไปทำไม่ดีแบบนี้ เรานอนข้างถนนก็โดนมองแบบนั้นไปด้วย ก็เป็นแบบที่เขาว่า ปลาตายตัวเดียวเหม็นเน่าทั้งบ่อไปเลย”
.
เมื่อไปเยี่ยมห้องใหม่ของแก เราเลยไม่แปลกใจหรอกว่า ทำไมแกถึงกึ่งตะโกนบอกกับ ผู้คนว่า “กระจกเงาเขามาเยี่ยมห้องผม เอาของมาให้ด้วย”
.
ใช่หรือไม่ว่า แกคงภูมิอกภูมิใจกับชีวิตในตอนนี้อยู่ไม่น้อย
——————————————————-
สนับสนุนจ้างวานข้าได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-2-58289-4 SCB
Share Button

ชายพิการไร้บ้านทรุดโทรมหนัก ไร้หน่วยงานรัฐดูแล

ชายพิการไร้บ้านคนหนึ่งผู้ต้องแบกรับน้ำหนักจากปัญหาของรัฐในการจัดสวัสดิการ​ที่ดีให้กับเขา
.
ชายพิการที่ต้องใช้ร่างกายพิการจากอาการเส้นเลือดในสมองตีบ แต่ต้องมาแบกรับปัญหาสถานสงเคราะห์คนพิการของรัฐที่มีคิวต่อเข้ารับการดูแลในสถานสงเคราะห์กว่า 100 คิว และรอคิวนั้นมาตั้งแต่มกราคมปีที่แล้ว
.
ชายพิการที่ไร้บ้าน ไร้ที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม แต่ต้องมาแบกรับความไม่สามารถของรัฐในการบริหารจัดการเพื่อให้ประชาชนผู้ต้องการรับการดูแลจากรัฐอย่างเร่งด่วนให้ได้รับการดูแลตามความประสงค์ของเขา
.
ชายพิการที่ต้องอยู่กับคุณภาพชีวิตย่ำแย่ แต่ต้องมาแบกรับกับปัญหาที่สถานสงเคราะห์ที่ดูแลกลุ่มคนไร้ที่พึ่งของรัฐบอกมาว่า ไม่สามารถรับเขาเข้าไปดูแลได้ก่อน เนื่องจากกลัวว่าภายในสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งจะรับมือในการดูแลคนพิการไม่ไหว และที่สำคัญคือกลัวการไม่สามารถส่งต่อไปให้สถานสงเคราะห์เฉพาะทางอย่างสถานสงเคราะห์คนพิการได้ เนื่องจากทางนั้นก็บอกว่าคนขอฉันเต็มและมีคิวจ่อรอเป็น 100 คิวในทุกสถานสงเคราะห์คนพิการของประเทศนี้
.
ชายพิการที่สภาพร่างกายทรุดโทรมลงทุกวัน แต่เขาต้องมาแบกรับกับการที่ไม่มีหน่วยงานรัฐหน่วยงานใดที่จะเข้ามาดูแลเขาอย่างเร่งด่วน ที่เริ่มต้นจากการพาไปตรวจสภาพร่างกาย การหาที่พักอาศัยให้ การดูแลสุขภาพร่างกาย การดูแลให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดี
.
ชายพิการไร้บ้าน ร่างกายทรุดโทรมลงทุกวัน แต่เขาต้องมาแบกรับปัญหาของภาครัฐ เขาต้องแบกและรอคอยอยู่ที่ศาลาวัดแห่งหนึ่งริมคลองแสนแสบอยู่ทุกวี่วัน
.
ชีวิตชายคนนี้กำลังบี้แบนพังทลายไปเท่าไหร่แล้ว ท่านลองตรองดู กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
Share Button

เรื่องเล่าของ “กล้วย” นักผจญงานผู้ไร้บ้าน

วันนี้เขามาทำงานด้วยเทรนด์แฟชั่น Y2K
.
“กล้วย”เป็นชื่อที่เขาบอกกับเรา กล้วยเป็นคนไร้บ้านและเขาเองน่าจะมีปัญหาทางสติปัญญา กล้วยเข้ามาทำงานกับจ้างวานข้าในรูปแบบที่ไม่เหมือนจ้างวานข้าคนอื่นๆ เขามาทำงานให้บริการซักผ้า อบผ้า และห้องอาบน้ำให้แก่คนไร้บ้าน
.
เราเจอกล้วยครั้งแรกในวันที่ทางมูลนิธิกระจกเงาจัดแคมเปญวันซักผ้าและอาบน้ำแห่งชาติ เขามากับจดหมายน้อยฉบับหนึ่ง จดหมายที่มีคนใจดีเขียนให้และแนะนำให้เขามาหาเราเพื่อที่จะได้มีงานทำ ในวันนั้นกล้วยแสดงสปริตอย่างสูง สูงจนการทำงานของเขามันทำการสื่อสารกับเราว่าเขาอยากทำงาน เรานัดหมายกับเขาให้มาเริ่มงานที่เขาสามารถจะทำได้ แต่แล้วเขาก็หายไป
.
วันหนึ่งเขาก็เดินเข้ามาหาว่าเขาอยากช่วยงาน มันเป็นช่วงที่เราทำกิจกรรมรถซักอบอาบน้ำไปจอดให้บริการกับคนไร้บ้านที่ใต้สะพานปิ่นเกล้า ถนนพระอาทิตย์ “ผมมม ผมมช่วยย” ประโยคติดอ่างของกล้วยที่มักพูดติดปากอยู่ตลอดเวลาในช่วงขณะทำงาน เราจ้างกล้วยให้ช่วยงานเป็นประจำ
.
แต่กล้วยยังเหมือนเดิม ยังเป็นเหมือนสายลับอะไรแบบนั้น บางช่วงก็หายไปเป็นอาทิตย์ เขามักกลับมากับคำบอกเล่าว่า เขาไปหาเงินอยู่ที่ตรงนั้นตรงนี้ ครั้งล่าสุดเขาบอกว่าไปต่อคิวรับพระเครื่องแล้วก็ปล่อยเช่าให้กับเซียนพระที่หน้างานแจกพระนั่นแหละ ได้ทั้งเที่ยว ได้ทั้งกิน ได้ทั้งเงิน
.
เรามักถามเขาทุกครั้งที่เจอกันว่า “กล้วยเดี๋ยวนี้ไปนอนแถวไหน” ที่ต้องถามเพราะกล้วยเองเปลี่ยนที่นอนบ่อยครั้งมาก ที่ต้องเปลี่ยนที่นอนบ่อยครั้ง สาเหตุเกิดจากกล้วยมักถูกรังแก หรือบางครั้งก็ถูกทำร้ายเอาแรงๆ เขาเคยชี้ให้เราดูแผลที่หัวที่เคยเป็นรอยแตก ในบางวันกล้วยก็มาบอกว่าเขาเช่าห้องแล้วนะอยู่ที่แถวรังสิต แต่เมื่อถามว่าห้องน้ำรวมมั้ย เขากลับตอบว่าไปเข้าห้องน้ำที่ปั๊มน้ำมัน
.
เราเคยถามกล้วยว่าเงินที่ได้จากการทำงานกับเราที่รถซักอบอาบน้ำ เขาเอาไปใช้อะไรบ้าง กล้วยตอบอย่างเร็วว่า เขาเอาไปซื้อข้าวกิน เขาชอบสั่งกะเพราหมูสับ และที่ขาดไม่ได้ต้มยำรวมมิตร “กินกับข้าวเปล่า ซดต้มยำอร่อย” คนฟังคำตอบถึงกับกลืนน้ำลายเรื่องเล่าจากร้านอาหารของเขา
.
วันนี้เราคุยกับเขาว่า เร็วๆ นี้เราจะทำการเปิดบริการห้องสุขา และห้องอาบน้ำ รวมถึงรถซักอบอาบ ให้กับคนไร้บ้านทุกวันไม่มีวันหยุด กล้วยอยากมาทำงานกับเราทุกวันมั้ย เขาพยักหน้าแทนคำตอบรับ เราบอกข้อมูลให้กับกล้วยเพิ่มเติมว่า รออีกสักไม่เกิน 2 เดือนพื้นที่ตรงนั้นจะทำหน้าที่ปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้กับคนไร้บ้าน เพื่อว่าวันหนึ่ง เมื่อเขาพร้อมที่จะเปลี่ยนจากไร้บ้านมามีบ้านเขาจะสามารถเปลี่ยนผ่านได้จากการเริ่มต้นจากจุดตรงนี้
.
เราบอกส่งท้ายกับกล้วยว่า “กล้วยเองก็เหมือนกันนะ”
——————————————
สนับสนุน​จ้างวาน​ข้าและการสร้างพื้นที่สวัสดิการ
เพื่อดูแลคนไร้บ้าน ได้ที่​
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-58289-4 SCB
Share Button

ความหวังของชายไร้บ้าน หลังอาศัยข้างถนนมา 3 ปี

.
“นิทานการไร้บ้าน”
.
กาลครั้งหนึ่ง มีชายคนหนึ่งที่เกิดอยู่ในครอบครัวที่ปากกัดตีนถีบกันทั้งครอบครัว รายได้ที่ได้มาของแต่ละคนมันแค่พอที่จะเลี้ยงปากท้องได้แต่เพียงตนเอง ไม่มีเงินเหลือพอให้เก็บ ไม่มีเครดิตให้พอไปกู้ยืมได้ การศึกษาทั้งหมดอยู่ในระดับต่ำ แม้บางคนอาจจะจบที่มัธยม 3 ก็ตามที
.
ทำงานไปทำงานมา ทุกคนยังอยู่ในบ้านหลังเดิม อายุของทุกคนล่วงมาในวัยกว่า 50 ปีแล้วเห็นจะได้ มีใครคนหนึ่งในบ้านเกิดตกงานที่ตัวเองเคยทำมา เขาพยายามหางานใหม่แต่ก็หาไม่ได้ หาไม่ได้ด้วยเหตุผลว่าเขานั้นชราจนเกินไป เกินไปที่นายจ้างจะทนจ้างความเชื่องช้าไม่ทันการนั้นได้
.
เขาอยู่ในสภาพตกงาน จาก 1 ปี เป็น 2 ปี และเป็น 3 ปี เขาเริ่มถูกมองว่าเป็นภาระเป็นตัวถ่วงของบ้านก็ตั้งแต่ขวบปีแรกที่ต้องตกงาน ความอดทนมีอยู่อย่างจำกัด คับที่อยู่ได้คับใจอยู่ยากใครๆ ก็รู้ วันหนึ่งเขาเก็บเสื้อผ้าเท่าที่พอมีอยู่ใส่กระเป๋าเป้ใบหนึ่ง ตายเอาดาบหน้าเขาบ่นบอกกับตัวเอง
.
เขานั่งรถเมล์ ตั้งเป้าหมายในใจว่า คืนนี้นอนข้างถนนราชดำเนินก่อนก็แล้วกัน เช้าก็ค่อยตื่นไปหางานทำดู ผลปรากฏว่าอาทิตย์นั้นทั้งอาทิตย์เขาหางานไม่ได้เลย เขาไปได้งานในอาทิตย์ที่ 2 มีคนจ้างเขาทำงาน 1 วัน เขาอยู่ในสภาพของคนนอนข้างถนนตกงาน จาก 1 ปี เป็น 2 ปี และล่วงมาเป็น 3 ปี
.
3 ปีที่อยู่ที่ข้างถนน เขาหางานทำได้ตลอดแต่มันเป็นงานไม่ต่อเนื่อง รายได้ต่ำ เขานึกถึงคำของตัวเองที่ปลุกปลอบใจในวันที่เขาตัดสินใจออกจากบ้าน “คืนนี้นอนข้างถนนราชดำเนินก่อนก็แล้วกัน เช้าก็ค่อยตื่นไปหางานทำดู” 3 ปีเข้าให้แล้วที่เขาต้องนอนที่นี่ที่ข้างถนนราชดำเนินมาร่วม 3 ปีแล้ว
.
ในคืนวันนั้น คืนวันที่เขาจะหลับใหลไปพร้อมกับคราบน้ำตาตัวเอง เพื่อนคนไร้บ้านที่เขาเคยรู้จัก เดินเข้ามาคุยกับกลุ่มคนไร้บ้านกลุ่มหนึ่งที่อยู่ข้างๆพื้นที่นอนของเขา เขาเล่าว่าตอนนี้เขามีห้องเช่าแล้วนะ และเขามีงานทำ 5 วันต่อสัปดาห์ เขาบอกว่าเขาไปทำงานกับ จ้างวานข้า มูลนิธิกระจกเงาอยู่
.
หลายคนไถ่ถามว่าจะไปสมัครได้ที่ไหน อดีตคนไร้บ้านคนนั้นตอบมาว่า เขาเปิดรับสมัครงานที่ใต้สะพานปิ่นเกล้านะ ทุกวันอังคารและศุกร์ที่เขามาเปิดให้บริการรถซักอบอาบนั่นแหละ หลายคนบอกกันว่า ดีเลยพรุ่งนี้ก็วันอังคารนี่หว่า เขาคนนั้นที่นั่งตั้งใจฟังอยู่เงียบๆ บอกตัวเองในใจอีกครั้งว่า “พรุ่งนี้จะไปสมัครงานนี้ให้ได้” เขาล้มตัวนอนที่ไม่ใช่พร้อมคราบน้ำตา แต่พร้อมด้วยความหวังในหัวใจที่มันชัดเจนขึ้นอีกครั้ง
——————————————
สนับสนุน​จ้างวาน​ข้าได้ที่​
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-58289-4 SCB
Share Button