ลงพื้นที่เกณฑ์ “คนไร้บ้าน” ทำงานเพื่อมีบ้าน

“ค่ำคืนวันพฤหัส​ที่ผ่านมา”
.
จ้างวาน​ข้า​ลงพื้นที่ไปทำการรับสมัครงาน​​คนไร้บ้านที่ราชดำเนิน​ มีคนไร้บ้านสนใจสมัครทั้งหมด 11 คน​ และมีคนมีบ้านที่อยู่ในวัยผู้สูงอายุ​อีก 5 คน​ พวกเขามารับข้าวแจกฟรีเช่นเดียวกับคนไร้บ้าน​ เป็นความยากจนระดับเดียวกับคนไร้บ้าน​
.
ต้นทุนเดียวที่พวกเขามีมากกว่าคงเป็นตัวที่อยู่อาศัย​นั่นแหละ​ หลายคนที่มีที่อยู่อาศัยอยู่นั้นก็นับเป็น​ภาระ​ แต่ต้องแบกมันไว้ให้ได้​ ต้องแบกไว้เพื่อให้สามีพิการได้อยู่​ ต้องแบกไว้เพื่อให้ลูกที่พิการได้อาศัย
.
คนไร้บ้านหลายคนที่มาสมัครมีความกล้าๆ กลัวๆ กลัวว่าตัวเองแก่เฒ่าเกินกว่าจะทำงาน​ หรือก็ไม่แน่ใจว่าจะถูกหลอกลวงหรือไม่​ หลอกลวงจากความกระหายงาน​ หลอกลวงบนความฝันความหวังเหมือนๆ ที่เคยผ่านมา
.
ลุงคนไร้บ้านใกล้ๆ กันนั้นช่วยอธิบายแทนเรา​ ให้คนไร้บ้านที่กล้าๆ กลัวๆ จะเข้ามาสมัครกับจ้างวานข้า​ ลุงคนนั้นบอกเล่าว่า​ “ไปสมัครเลย ไม่ต้องกลัวหรอก​ เพื่อนผมไปทำงานอยู่กับจ้างวานข้ามูลนิธิ​กระจกเงา​นี่ล่ะ​ เขาไม่หลอกนะ​ เพื่อนผมได้ทำงานจริง​ ตอนนี้เพื่อนผมมีห้องเช่าแล้ว​ แต่ผมแก่มากแล้ว​ ไม่มีแรงทำงานอะไรแล้ว”
.
เมื่อคนไร้บ้านคนนั้นได้ยินเรื่องเล่าแบบนั้น​ เขารีบเดินมาขอสมัครทำงานกับจ้างวานข้าอย่างกระตือรือร้น​ วันนั้นมีคนมาสมัครงาน​กับจ้างวานข้า 16 คน​ 11 คนเป็นคนไร้บ้าน​ อีก 5 คนเป็นคนมีบ้าน​ พวกเขาอยากมีรายได้ที่พอจะให้ชีวิตไปได้ดีกว่านี้​ ไม่ต้องมารอขอรับข้าวที่ราชดำเนิน​เหมือนทุกๆ วันที่ผ่านมา
__________________
สนับสนุนจ้างวานข้าได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-2-58289-4 SCB
Share Button

ห้องเช่าของ 4 ชีวิตที่เคยไร้บ้าน

ห้องเช่า​ 4 ห้องรวดที่​คนไร้บ้าน​ 4 คนเข้าไปจับจองเป็นเจ้าของพร้อมกัน
.
มี 1 คน​ ที่อยู่ไร้บ้านมากกว่า​ 10 ปี​ แต่หาโอกาส​ไม่ได้ซักที​ที่จะมีห้องของตัวเอง
.
มีอยู่ 1 คน​ ที่เพิ่งไร้บ้านมาน้อยกว่า 1 ปี​ แต่หาโอกาส​ไม่ได้ซักที​ที่จะมีห้องของตัวเอง
.
นอกจาก 4 คน​นี้​ ยังมีคนไร้บ้านอีก 2 คนในวันนี้ที่เพิ่งได้ห้องเช่าใหม่
.
โดยสรุป​ จ้างวานข้าเรามีคนไร้บ้านเพิ่มอีก​ 6 คนที่สามารถไปมีห้องใหม่ได้ในรอบ​ 2 เดือนที่ผ่านมานี้
.
งานจ้างวานข้าคือโอกาส​ที่ว่านั้น​ คือตัวช่วยให้พวกเขาพ้นผ่านชีวิตข้างถนนออกไปได้
.
“งานและรายได้” เป็นสิ่งที่คนไร้บ้านมักบอกแบบตะโกนให้ได้ฟังอยู่เสมอ​ ถ้าคำถามนั้นถามออกไปว่า​ “คุณต้องการอะไรที่สุด”
.
จ้างวานข้าออกแบบมาเพื่อรับใช้คำตอบนั้นของคนไร้บ้าน

____________________

สนับสนุนจ้างวานข้าได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-2-58289-4 SCB

Share Button

ปัญหาที่ควรมีทางออก ผู้ป่วยจิตเวชข้างถนน

“ถึงผู้ว่าฯ ชัชชาติครับ” ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
.
ทางโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา อยากเริ่มเรื่องเพื่อปรึกษาท่านผู้ว่าฯ อย่างนี้ครับ คนที่อยู่ในภาพนี้เป็นผู้ป่วยจิตเวชที่ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ พื้นที่สาธารณะที่ว่าก็คือ ซอยตรอกศิลป์ ซอยนี้อยู่แถวศาลาว่าการกรุงเทพมหานครเลยครับ เราเลยนึกถึงท่านผู้ว่าชัชชาติขึ้นมา และเราคิดว่าท่านผู้ว่าฯ น่าจะสนใจต่อการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ครับ
.
ผู้ป่วยคนนี้ใช้ชีวิตมากว่า 10 ปีในซอยนั้น ในช่วงแรกที่มาอยู่ อาการทางจิตเวชนั้นยังไม่หนักหนามาก แต่มาในปีนี้อาการทางจิตเวชของเขาหนักหนามาก ในหนึ่งวันมีได้ถึง 3 อารมณ์ 3 พฤติกรรม ยิ้มคุยคนเดียวในช่วงเช้า มีอารมณ์โมโหเกรี้ยวกราดด่าทอคนผ่านไปมาในช่วงบ่าย ส่งเสียงดังเหมือนเสียงยิงปืนในยามค่ำคืน จุดพีคที่สุดคือการขับถ่ายเรี่ยราด
.
ผู้คนแถวนั้นเริ่มรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่โอเคแล้วกับพฤติกรรมในช่วงปีหลังของผู้ป่วย บางวันชุดเสื้อยืดกางเกงขาสั้นก็เปรอะเลอะเหม็นคลุ้งไปด้วยอุจจาระและปัสสาวะ ผู้คนแถวนั้นไม่รู้จะแจ้งใครดี เคยแจ้งหน่วยงานราชการก็แล้ว แต่ไม่มีความคืบหน้า แจ้งสก. แจ้งรายการทีวีดัง ก็ไม่มีการตอบสนองใดกลับมา พวกเขาเลยแจ้งมายังมูลนิธิกระจกเงา
.
วันนี้ทางทีมผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา จึงประสานงานกับตำรวจเพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชรายนี้เข้ารับการรักษาในสถานบำบัดรักษาเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งจริงๆ แล้วการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนในพื้นที่สาธารณะนั้นนับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายดายเลย มันมีปัญหาทุกกระบวนการ ทั้งการให้ความช่วยเหลือ การรักษา การฟื้นฟูและนั้นจึงเป็นสาเหตุให้ได้พบเห็นผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนอยู่ในพื้นที่สาธารณะเกือบทุกหนทุกแห่ง
.
เราเลยอยากขอปรึกษาผู้ว่าฯ ชัชชาติแบบนี้ครับ กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ที่พบว่ามีผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนแบบนี้อยู่มาก ส่วนใหญ่ไม่มีความอันตรายแต่ก็มีคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่อย่างที่สุด แต่มีอยู่ส่วนหนึ่งที่มีความอันตราย ทำร้ายร่างกาย ทำลายข้าวของ ซึ่งหลายเคสนั้นเป็นข่าวดัง คำถามก็คือทำไมเราจึงพบว่ามีผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนในพื้นที่สาธารณะมากเหลือเกิน และในแต่ละเคสก็ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะอย่างยาวนานเหลือเกิน ยาวนานจนคุณภาพชีวิตพัง สมองพัง
.
คำตอบก็คือ ระบบการพาพวกเขาเข้าสู่การดูแลรักษาตลอดจนการให้การฟื้นฟูประคับประคองนั้นก็ผุพังเช่นกัน สมมุติว่าถ้ามีใครสักคนหนึ่งแจ้งหน่วยงานรัฐต่างๆ เพื่อบอกว่าให้มาเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชคนนั้น หลายๆหน่วยงานนั้นก็จะบอกว่า เขาทำไม่ได้ เขาไม่มีหน้าที่ หลายๆหน่วยงานอาจมาทำหน้าที่ แต่ก็ทำได้เพียงแค่มาดู ทำได้แค่มาไล่ แต่ไม่สามารถทำการให้ความช่วยเหลือได้ ช่วยเหลือในสถานะของ “ผู้ป่วย”
.
ในบางครั้งหน่วยงานนั้นอาจให้ความช่วยเหลือ แต่ปัญหาในหลายครั้งที่พวกเขาเจอก็คือ หน่วยงานบำบัดรักษานั้น บอกว่าไม่สามารถรับได้ ด้วยเหตุผลว่า ผู้ป่วยไม่มีญาติ หรือ ไม่ได้รับเป็นผู้ป่วยใน แต่เป็นการจ่ายยาแล้วให้ผู้ป่วยกลับไปกินยาและเร่ร่อนในพื้นที่สาธารณะตามเดิม การช่วยเหลือนำส่งผู้ป่วยจิตเวชจึงเป็นเรื่องยาก ใช้พลังงานสูง หลายหน่วยงานจึงไม่ทำ และยังไม่นับรวมว่า หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยนั้นคือตำรวจ ซึ่งผู้ป่วยต้องถูกใส่กุญแจมือ ให้นั่งอยู่กระบะท้ายของรถปิคอัพ ทั้งๆ ที่คนคนนั้นมีสถานะที่เรียกว่า “ผู้ป่วย”
.
ถ้าถามคำถามว่า ทำไมสถานบำบัดรักษาจึงตั้งเงื่อนไขไม่อยากรับผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนเข้าสู่การรักษาในระบบผู้ป่วยใน คำตอบลัดสั้นก็คือ ผู้ป่วยในระบบของสถานบำบัดรักษาเอง เขาก็อัดแน่นจนรับมือแทบจะไม่ไหวแล้ว มีผู้ป่วยหลายรายที่อยู่ในสถานะสิ้นสุดการรักษาแล้วแต่ไม่สามารถจะออกไปจากสถานบำบัดรักษาได้ เนื่องจากไม่สามารถกลับบ้านกลับครอบครัวได้ กลับไม่ได้ยังไม่เท่าไหร่ แต่ไม่สามารถจะไปสู่กระบวนการฟื้นฟูในรูปแบบของสถานสงเคราะห์ของรัฐ (ดูแลโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ) ได้ ผู้ป่วยในจึงสะสมจนล้นระบบ คนเก่าไปไม่ได้ คนใหม่เข้ามาเติม
.
เช่นกันถ้าถามคำถามว่า ทำไมสถานสงเคราะห์ของรัฐจึงไม่สามารถรับผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนที่สิ้นสุดการรักษาจากสถานบำบัดรักษาได้นั้น คำตอบเดียวกันคือสถานสงเคราะห์เหล่านั้นก็อยู่ในสภาพของคนที่เข้ารับการสงเคราะห์ในสถานสงเคราะห์นั้น เป็นสภาพคนล้นระบบเช่นกัน ระบายคนออกไม่ได้ คนใหม่ก็เติมเข้ามา จนวันหนึ่งคนล้นระบบสถานสงเคราะห์ที่มีอยู่ทั้งหมดเป็นที่เรียบร้อย(สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งทั่วประเทศมี11แห่ง สถานสงเคราะห์ที่ดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่สิ้นสุดการรักษาแล้วแต่ไม่สามารถกลับบ้านได้นั้นมี2แห่งทั่วประเทศ)
.
ปัญหาผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนในพื้นที่สาธารณะนั้น เป็นปัญหาที่เรื้อรังมายาวนาน และดูเหมือนว่าปัญหานี้จะเพิ่มขนาดขึ้นอย่างมากในอนาคต ด้วยเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหานั้นยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด ทั้งในเชิงระบบช่วยเหลือดูแลรักษาฟื้นฟูที่ได้เล่าไป ทั้งในการคาดคะเนจากตัวเลขของกลุ่มผู้ป่วยจิตเภท ตามตัวเลขที่จิตแพทย์มักใช้อ้างอิงก็คือ ผู้ป่วยจิตเภทจะคิดเป็น 1% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และผู้ป่วยจิตเภทที่มีอาการเรื้อรังมีปัญหาในการดำรงชีวิตนั้นก็คิดเป็น 1% ของผู้ป่วยจิตเภททั้งหมด
.
โครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา ในฐานะกลุ่มคน องค์กรที่ดำเนินการในการแก้ไขปัญหาเรื่องผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนในพื้นที่สาธารณะมาเป็น 10 ปี และพยายามแก้ปัญหาเท่าที่ศักยภาพในด้านต่างๆเรามีพอที่จะทำให้เกิดรูปธรรมการแก้ไขปัญหานี้ เราจึงอยากขอปรึกษาผู้ว่าฯชัชชาติผ่านโพสต์นี้ เพื่อร่วมหาทางออกในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ เพื่อที่ว่าผู้ป่วยจิตเวชที่เร่ร่อนอยู่ในพื้นที่สาธารณะนั้นจะได้เข้ารับการรักษาฟื้นฟู ได้เข้าสู่การปรับปรุงคุณภาพชีวิต จนสามารถออกมาใช้ชีวิตโดยตัวพวกเขาเองได้ และเราจะได้มองหาทางป้องกันเพื่อลดการเกิดขึ้นของกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนให้ได้มากที่สุด ถ้ามีเกิดขึ้นก็ช่วยเขาได้ทันเวลา รวดเร็วมีคุณภาพ ตรงตามสถานะความเป็น “ผู้ป่วย” ของพวกเขา
.
ปัญหานี้มีทางออก ทางแก้ไขอย่างแน่นอน เราเองมองเห็นหนทางนั้นแล้ว เราเองอยากจะนำเสนอเรื่องนี้เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกัน โครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา หวังอย่างยิ่งว่า ท่านจะเปิดการรับฟังปัญหานี้อย่างเป็นทางการ และทำการแก้ไขปัญหานี้ร่วมกันครับ

Share Button

ช่วยผู้ป่วยเร่ร่อนได้อีกราย เธอไม่ต้องคุยกับหุ่นลมอีกแล้ว

เธออยู่แถวรัชดา ผู้แจ้งให้ข้อมูลว่าเธอพูดคนเดียวเป็นภาษาจีน ใช้ชีวิตนั่งนอนที่ข้างถนน พบเจอน่าจะร่วมอาทิตย์ได้แล้ว แต่ผมของเธอเหมือนอยู่ข้างถนนมาได้เนิ่นนานมากกว่านั้น
.
บางคืนวันเธอนั่งคุยกับหุ่นลมของปั๊มน้ำมันด้วยภาษาจีน
.
รัชดามีนักท่องเที่ยวจีน แตกต่างตรงที่เธอท่องเที่ยวไปในโลกของเธอกับเพื่อนเธอในจินตนาการ
.
การท่องเที่ยวของไทยเปิดรับดูแลคนจีน
การสาธารณสุขไทยก็ยังคงเปิดรับ
ดูแลนักท่องเที่ยวจีนในบางราย
.
เธอได้รับความช่วยเหลือเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
.
ขอบคุณเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ห้วยขวาง ที่ช่วยเหลือนำส่งเธอตามพรบ.สุขภาพจิต
ขอบคุณสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยาที่รับเธอเข้ารับการบำบัดรักษาเป็นที่เรียบร้อย

—————————————

สนับสนุน​การให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนได้ที่​
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-58289-4 SCB

Share Button

ช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นคนไร้บ้าน

“ที่เลือกมานอนแถวราชดำเนิน เพราะเราเกิดกรุงเทพ ตอนที่พ่อยังไม่เสียก็พามาเที่ยว มาดูไฟ ดูวัด ดูวัง ตอนนั้นก็เห็นคนเขานอนข้างถนนกัน จนโตวัยทำงาน เวลาหลังเลิกงาน หรือ Holiday เราจะชอบทำอาหารมาแจกคนที่นอนที่นี่ สงสารการกินอยู่ของเขา แต่พอเราต้องมาอยู่จุดนี้นึกไปถึงวันนั้น ก็แบบเราเคยเป็นผู้ให้มาก่อนวันนึงเราจะต้องมาเป็นผู้รับเหรอเนี่ย แต่ถ้ามองบวกหน่อยมันก็ทำให้เรารู้จุดที่ว่าเราจะไปทิศทางไหน เรานั่งเรานอนแบบนี้ได้อยู่นะ คนอื่นเขายังพอนอนได้เลย อย่างน้อยเราก็ไม่อดตายหรอก”
.
“จุดเปลี่ยนของชีวิตคือตอนที่แฟนบอกเลิกแบบไม่รู้ตัว คือไม่มีวี่แววเลยที่เขาจะเลิก อยู่ๆ ก็บอกว่าครอบครัวเขารับไม่ได้ พอเลิกกันเราก็ย้ายออกมาอยู่คนเดียวมาเช่าห้องอยู่ ตอนออกมาก็ขอเงินเขาแสนนึง เพราะเราไม่เหลือทรัพย์สินอะไรเลย เราเป็นคนทุ่มเทกับความรักมาก เพราะครอบครัวที่ผ่านมาของเรามันไม่ใช่เซฟโซนสำหรับเรา เราทำงานหาเงินมาได้สร้างทรัพย์สินมาเท่าไหร่ก็ยกให้เป็นชื่อของแฟนหมด เพราะเราอยากให้เขารู้ว่าเราก็สามารถเป็นผู้นำได้”
.
“พอมาเช่าห้องอยู่คนเดียว เราก็อยู่แบบนั้นเฉยๆ ไม่ทำงาน 2 ปี เพราะรู้สึกตัวเองไม่ปกติ เหมือนมีอะไรมาฟาดจนเป็นก้อนความรู้สึกชาๆหนักๆ แบบใจเรามันไปแล้ว เคยคิดสั้นอยู่แต่ก็ไม่ได้ทำ ตั้งใจเลยนะถ้าใช้เงินเก็บจนมันเป็นศูนย์เราทำแน่ๆ แล้วก็ใช้ชีวิตแบบประชดชีวิตอยู่ในห้องอย่างเดียว ไม่พูดคุยกับใคร จนมาถึงวันที่เงินหมด เลยตัดสินใจจบชีวิตวันนั้น แต่ก็ทำไม่ได้อีกนั่นแหละ”
.
“หลังจากวันนั้นก็ออกจากห้องเช่ามาแบบแบลงค์
ๆ เพราะมันไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าเขาแล้ว นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการออกมาไร้บ้านตั้งแต่ตอนนั้น อยู่ไปสักพักจึงคิดเริ่มต้นชีวิตใหม่ จนสุดท้ายเราก็ฮึดขึ้นมา กลับมาทำงานอีกครั้ง ไปสมัครงานเป็นรปภ. เพราะมันไม่ต้องใช้อะไรเลยมันเริ่มจากศูนย์ก็ได้ รปภ.เป็นงานสุดท้ายก่อนมาเจอกับจ้างวานข้า”
.
“ไร้บ้านช่วงแรกๆ เราก็นั่งอยู่ในจุดที่ไม่ค่อยมีคน ยังไม่ค่อยกล้าไปพูดคุยกับใคร สภาพเราก็เหมือนไม่ได้เร่ร่อน คนทั่วไปก็คงมองว่าเป็นคนมารอรถเมล์อะไรแบบนี้หรือเปล่า และเราก็ไม่รู้ต้องสื่อสารกับคนไร้บ้านยังไง ยังปรับตัวไม่ได้ แต่ก็โชคดีนะ พอไปนั่งก็มีลุงคนไร้บ้านมาพูดมาคุยดูเป็นมิตรดี คือจริงๆ แล้วคนไร้บ้านเขาเป็นคนจิตใจดีนะ ยิ่งพอเขาเห็นเราดูหน้าใหม่ หน้าไม่คุ้น เขาจะคอยมาถามสารทุกข์สุขดิบกับเรา”
.
“ที่เราอยู่รอดจากสภาวะไร้บ้านมาจนถึงตอนนี้ได้นี่
ก็มาจากคำแนะนำของพวกเขานี่แหละ เริ่มตั้งแต่ควรไปอาบน้ำยังไง ไปอาบน้ำที่ไหน คือเขาก็มองเราเป็นผู้หญิงคนนึงก็เป็นห่วงเรา แบบไปนอนตรงนี้แถวนี้นะเดี๋ยวลุงช่วยดูให้ กระเป๋าต้องนอนกอดไว้ตลอดนะ ควรไปนอนตรงหอศิลป์ดีกว่าตรงนั้นสว่าง ไม่น่ากลัวเท่าไหร่ ปลอดคน แต่สุดท้ายเขาก็ย้ำกับเราเสมอนะ ว่าระวังยังไงมันก็ไม่ปลอดภัยอยู่ดี ให้ระวังพวกติดเหล้าเมายาไว้ เพราะมีเวลาหื่นหนักๆ มันก็ไม่เลือกหน้า เขาก็แนะนำอยากให้เราไปหางานตามปั๊มน้ำมันให้มีที่พักอะไรแบบนี้จะดีกว่าปลอดภัยกว่า”
.
“ถึงแม้เราจะเป็นอย่างนี้ (เป็นทอม) เขาก็มองออกกันนะว่าเป็นผู้หญิง อย่างตอนที่อยู่มา 2-3 วันแล้ว จะมีคนเข้ามาคุยเรื่องทั่วไปก่อน และจากนั้นก็เหมือนชวนไปทำอะไรอย่างนั้น คือมันก็มีคนหลายประเภทเนอะ ตรงนั้นทั้งกินเหล้า ไม่ใช่มีแต่คนไร้บ้านอย่างเดียว พอมาคุยลักษณะนี้เราก็รู้ความหมายแหละว่าเขาต้องการอะไร อย่างชวนไปบ้านพี่ไหม ไปช่วยลุงเลี้ยงหมาหน่อยนะ พี่ก็พอมีเงินอยู่บ้างพี่เลี้ยงได้นะ สารพัดเลย เราเป็นทอมไม่เคยมีประสบการณ์เรื่องทางเพศอย่างนี้ มันก็เลยรู้สึกกลัวมาก แต่ก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากทำใจดีสู้เสือบอกเขาตรงๆ ว่า ไม่ชอบผู้ชายนะพี่”
.
“การใช้ชีวิตแบบนี้เราจะอยู่ติดที่ไม่ได้ ต้องเคลื่อนย้ายเปลี่ยนที่นอนตลอดเวลา บางคนเราก็รู้นะว่าเขามองเรามาหลายวันแล้ว คงไม่แน่ใจว่าเราเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย แต่พอเขารู้ว่าเป็นผู้หญิงเท่านั้นล่ะ เอาล่ะอยู่ไม่ได้แล้วต้องหาที่ใหม่ คือต้องเข้าใจว่าพื้นที่ตรงนี้ก็ยังไม่ได้มีความเข้าใจเรื่องเพศที่สามมากนัก เป็นทอมเขาก็มองเหมือนเป็นผู้หญิงคนนึงนั่นแหละ แต่ด้วยกายภาพมันก็ปกป้องเราได้มากกว่า ด้วยบุคลิกเขาก็จะไม่กล้าเข้ามาสัมผัส มันก็จะกันคนออกไปได้ระดับนึง”
.
“แต่มันก็แล้วแต่สถานการณ์นะ อย่างที่บอกมันก็มีกลุ่มที่กินเหล้า เสพยาจนสติไม่ปกติ พวกนี้จะเอาไม่เลือกหน้า อย่างเราเคยนั่งๆ อยู่เนี่ย ก็มีคนพวกนี้เข้ามาลวนลาม เดินมาดึงเราเข้าไปกอด คือมันไม่ปลอดภัยมากๆ เราเลยต้องเปลี่ยนสถานที่นอนเรื่อยๆ สลับนอนตามป้ายรถเมล์ ไม่มีที่ไหนเป็นที่นอนประจำ นอนตามจุดที่โจ่งแจ้งไปเลย รถเมล์อะไรผ่านก็ช่างมันเดี๋ยวมันก็ชิน เดี๋ยวก็หลับไปเอง”
.
“ครั้งนึงเราเคยเห็นเหตุการณ์น้องใบ้คนหนึ่งที่เขามานอนแบบเราเนี่ยที่โดนกระทำบ่อย ถึงแม้ภายนอกเขาจะดูเป็นทอมบอยเหมือนกัน แต่เขายังมีสรีระที่ดูเป็นผู้หญิงชัดเจนอยู่ คือจะมีคนมาจับหน้าอกเขา แต่ด้วยความเป็นใบ้พูดอะไรไม่ได้ก็จะมีคนมาทำท่าทางแบบมีเพศสัมพันธ์กับเขาตลอดเวลา ซึ่งเราเห็นเขาพยายามป้องกันตัวเองอย่างมาก คือถ้ามีผู้ชายเข้ามาจะลวนลามเขาจะถีบเลย คือเขาพยายามสู้เต็มที่ไม่ให้ใครหน้าไหนเข้ามาทำอะไรเขาได้”
.
“แต่ที่คิดว่าเราโชคดีอีกอย่างก็คือเราตัดมดลูกมาแล้วเพราะเป็นเนื้องอก ประจำเดือนเลยไม่ได้เป็นอุปสรรค แต่ผู้หญิงคนอื่นคิดว่าคงเป็นเรื่องลำบากมาก ส่วนเรื่องอาบน้ำนี่ก็เป็นปัญหา ต้องแอบเข้าตามปั๊ม ต้องเข้าสถานที่มิดชิดอย่างเดียว เพราะอาบน้ำนุ่งกระโจมอกแล้วอาบกลางแจ้งเลยไม่ได้ ตามปั๊มไม่มีเป็นห้องอาบน้ำนะ ถ้าอยากได้ห้องแบบนั้นต้องไปวัด เวลาอาบก็เอาน้ำที่เขาราดส้วมนั่นล่ะตักอาบ บางวันตื่นมาแล้วเสื้อผ้าหาย มีชุดเดียวไปอาบน้ำก็ต้องใส่แบบนั้นไปจนมันแห้ง”
.
“สำคัญมากนะสำหรับเรา วันมาเจอทีมงานมูลนิธิกระจกเงา เจอทีมงานจ้างวานข้า เราถือว่าเป็นตัวปิดจบเลยนะ เราถือว่าเร็วมากนะกับการหลุดจากสภาพเร่ร่อนไร้บ้านอะไรแบบนี้ เราอยู่มาได้แค่ 3 อาทิตย์ แล้วก็ได้ทำงานกับจ้างวานข้าเลย แล้วก็มามีห้องเช่าต่อมาเลย ซึ่งถือว่านี่เป็นการตั้งหลักครั้งใหญ่ที่ทำให้เรากลับมาได้เช่าห้องอยู่ได้อีกครั้ง”

——————————————-

แด่วันที่อยู่อาศัยโลก(World Habitat Day) ซึ่งนับจากวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี
.
คนไร้บ้าน การได้มีงานทำและงานนั้นทำให้มีรายได้ที่มั่นคงต่อเนื่องและเหมาะสม สิ่งนี้นับเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการตัดสินใจกลับเข้าสู่การมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงขึ้น
.
สนับสนุนจ้างวานข้าได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-2-58289-4 SCB

Share Button

กลิ่นเหม็นอับที่หายไปบนเสื้อผ้าของคนไร้บ้าน

กลิ่นอับของเหล่าเสื้อผ้าคนไร้บ้านในตะกร้าผ้า​ที่รอคิวรับบริการซักอบผ้าลอยขึ้นมาแตะจมูก​ เมื่อพูดถึงกลิ่น​ ถ้าใครเคยดูหนัง parasite จะมีฉากหนึ่งที่ตัวละครพูดถึงกลิ่นเฉพาะตัวของคนจน​ เช่นกันคนไร้บ้านก็มีกลิ่นเฉพาะเช่นกัน​
.
กลิ่นที่เกิดจากเหงื่อไคล​หลังใช้แรงหาเงินเลี้ยงตัวแต่ไม่มีที่อาบน้ำซักผ้า​ กลิ่นที่เกิดจากการใช้ชีวิตคลุกแดดคลุกฝนคลุกฝุ่นแต่ไม่มีที่อาบน้ำซักผ้า​ กลิ่นที่เกิดจากในบางวันอาจได้ซักผ้าอาบน้ำแต่หาที่ตากผ้าไม่ได้จึงต้องใช้ตัวเองเป็นราวตากผ้า
.
กลิ่นจากเสื้อผ้าคนไร้บ้านนับเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับเรา​ สัญญาณ​ว่าการมาให้บริการ​ ซักผ้าอบผ้า​ อาบน้ำให้กับกลุ่มคนไร้บ้านนั้น​ นับว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง​ ควรทำ เป็นสิ่งที่คนไร้บ้านต้องการจริงๆ​ นอกเหนือ​ อาหาร​ และการงาน​ ต้องการไม่ต้องการขนาดไหนวัดได้จากการมาใช้บริการใน1วันไม่เคยต่ำกว่า 30 คิวขึ้นไป
.
กลับมาพูดถึงเรื่องกลิ่นอีกครั้ง​ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า​ ถ้าเราเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ​ ทั้งซักผ้า​ อบผ้า​ อาบน้ำ​ ให้บริการได้ในทุกวัน​ และคนไร้บ้านสามารถมาใช้บริการได้บ่อยครั้งตามความต้องการ​ กลิ่นที่เป็นเรื่องเฉพาะของคนจนของคนไร้บ้านนั้น​ มันจะหายไป​ เริ่มกลับกลายเป็นความปกติธรรมดา​
.
ภาวะไร้บ้านของคนไร้บ้านต้องไม่เท่ากับกับว่าพวกเขาต้องอยู่กับสภาพการใช้ชีวิต​ประจำวัน​ที่ย่ำแย่​ ในฐานะมนุษย์​เรารู้ว่าทุกคนควรจะเข้าถึงการดูแลรักษา​ร่างกายและสุขภาพอนามัยของตัวเอง​ พื้นฐานที่สุดเสื้อผ้าควรสะอาด​ เนื้อตัวร่างกายควรถูกชำระล้างได้ในทุกวัน​
.
ถ้ามีใครสักคนมีอุปสรรค​ในการเข้าถึงสิ่งที่มีความเป็นพื้นฐานมากๆแต่ไม่ได้รับ​ ควรแล้วที่สังคมหรือรัฐจะต้องนับเป็นหน้าที่ในการทำให้ใครสักคนนั้นได้เข้าถึงความพื้นฐาน​ เช่น​ การอาบน้ำ​ การซักผ้า​ ให้ได้อย่างสะดวก​ที่สุด
.
มูลนิธิ​กระจกเงา​ตระหนักดี​ Otteri​ ก็ตระหนัก​ดี​ กรุงเทพ​มหานคร​เองก็ตระหนักดี​ เราจึงเริ่มต้นทำสิ่งนี้ขึ้นมา​ สิ่งที่มูลนิธิ​กระจกเงา​เองเรียกมันว่า สดชื่นสถาน​ ที่ตั้งอยู่ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า​
.
มูลนิธิกระจกเงา x Otteri x กรุงเทพมหานคร
__________________
สนับสนุนการให้บริการสวัสดิการกับกลุ่มคนไร้บ้านในนาม “สดชื่นสถาน” ได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-2-58289-4 SCB
Share Button

บทสัมภาษณ์ทีมงานจ้างวานข้า: หนึ่งคำถาม หลายคำตอบ

“เป็นช่างไฟมา 40 ปี​ ทำเป็นหมด
ซ่อมสวิตซ์น้ำท่วม เดินไฟได้
เรื่องไฟโอเค เป็นความสามารถพิเศษ
ทำมาแต่เด็กจนเกษียณ​เลย”
.
ประโยคขิง​ๆ ของจ้างวานข้า
เมื่อถูกถามว่า​ จะไปทำอะไร
ในการไปฟื้นฟูบ้านน้ำท่วมที่อุบล
.
เพลงลอยมา
“ใจสู้หรือเปล่า​ ไหวมั้ยบอก​มา
โอกาส​ของผู้กล้า​ ศรัทธา​ไม่มีท้อ”
————————–
สนับสนุน​จ้างวานข้า​ IN อุบลราชธานี​ได้ที่​
.
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-58289-4 SCB
.
กองทุนภัยพิบัติมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-258298-3 SCB
Share Button

ดวงตาของยายไร้บ้านที่อยู่ห่างไกลการรักษา

เป็นคนไร้บ้านอยู่ข้างถนนมามากกว่า 20 ปี แต่ที่ไม่แน่ใจก็คือไอ้โรคที่ดวงตาขวาของแกนั้นมีจุดเริ่มต้นเมื่อไหร่ และมันนับได้เป็นปีที่เท่าไหร่ของชีวิตไร้บ้านของแก รู้แต่เพียงว่าเมื่อต้นปี 65 ที่ผ่านมา มันเริ่มแย่ขึ้น เพราะรอบตา มันบวมแดง อักเสบ รู้สึกเจ็บข้างในลูกตา
.
มีวันหนึ่งช่วงเกือบกลางปี 65 มีอันธพาลมารีดไถเงินแก เมื่อแกไม่มีให้ มันก็ทำร้ายร่างกายเอา ต่อยเข้าที่ตา ทุบเข้าที่หัว แผลที่ดวงตาก็เริ่มแย่และเจ็บมากขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
.
แกเล่าว่าแกไปรักษาที่โรงพยาบาลอยู่ ไปล้างแผล ไปทำแผล แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนเกือบปลายปี ตาข้างขวามันบวมรุนแรง แผลเริ่มอักเสบ ลูกตาเหมือนจะหลุดออกมาจากเบ้า เวลาของการนอน ถแกต้องนั่งนอนเพื่อลดทอนความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นถ้าต้องนอนในท่านอนราบกับพื้น
.
แกยังคงไปหาหมออยู่บ้าง ไปบ้างเมื่อมันเริ่มเจ็บปวดมากเกินทนทาน แกบอกกับเราว่าแกไม่อยากไปหาหมอ ไม่ใช่ไม่อยากหาย แต่มันเจ็บปวดเกินจะทนทาน ในตอนที่หมอทำการล้างแผลให้แก “มันเหมือนโดนหินเอามากระแทกที่ตา หมอมือหนักอย่างกับหิน” แกพยายามอธิบายความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นตอนถูกล้างแผลให้เราฟัง
.
สุขภาพจิตแกก็แย่ลงตามไปด้วย แย่จากความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับแกในทุกวัน อารมณ์วีนเหวี่ยง ร้องไห้ เกิดขึ้นตลอด ไม่ว่าจะเป็นพวกเรา ทีมงานผู้ป่วยข้างถนน คนที่เข้าไปถามไถ่แก ไม่เว้นแม้แต่หมอพยาบาลก็ถูกแกวีนถูกแกเหวี่ยงใส่
.
“เจ็บมากๆ เลยหนู ยายจะอยู่ถึงปีหน้ามั้ย เจ็บจนอยากจะตาย” ประโยคที่เป็นทั้งคำอุทธรณ์และระดับของความเจ็บปวดที่แกได้รับอยู่
.
เราปลอบประโลมและพยายามชักชวนให้แกไปหาหมอดีกว่า และกว่าที่แกจะยอมไปก็ใช้เวลาไม่น้อย แกยอมมาโรงพยาบาลด้วยกันกับเรา เมื่อหมอเมื่อพยาบาลเห็นแก ก็เดินเข้ามาหาทันที ทักทายแกเหมือนญาติสนิทคนหนึ่ง หมอและพยาบาลต่างเล่าให้พวกเราฟังว่า แกมาหาที่โรงพยาบาลบ่อย มาทำแผลรับยา แต่แกไม่เคยมาตามนัดหมายที่ทางหมอทำนัดให้เลย ซึ่งหมอคาดว่าแกอาจเป็นมะเร็งที่ประสาทตา
.
แกเจ็บ แกกลัวการมาหาหมอ ประกอบกับค่ารถที่แกไม่สามารถหามาได้ การเดินทางจากสุดฝั่งหนึ่งของกรุงเทพที่แกนอนไร้บ้านอยู่ มายังโรงพยาบาลที่นัดหมายแกไว้ในอีกสุดฝั่งตรงข้ามของกรุงเทพ มันเป็นเหตุผลเพียงพออยู่ พอเพียงต่อการไม่ได้มาตามนัดหมายของหมอเพื่อจะได้รักษาตาของแกได้อย่างต่อเนื่อง
.
วันนี้เราพาแกมาหาหมออีกครั้งตามที่หมอนัดหมาย ทั้งหมอทั้งพยาบาลดูมีท่าทีพึงพอใจเป็นอย่างมากที่แกมาหาหมอได้ตามที่นัดหมายสักที หมอบอกพวกเราว่า “ดีมากๆ เลยที่แกได้มาตามนัดหมายสักที” แต่สิ่งที่เรายังดีใจไปไม่สุดก็เป็นเรื่องที่แกยังไม่ยอมเข้าไปในศูนย์พักพิงชั่วคราวที่ทางรัฐเขาจัดไว้ให้
.
พวกเราได้วางแผนดูแลแก เพื่อจะพาแกให้สามารถไปเข้าสู่การรักษาให้ได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้โรคที่แกเป็นอยู่มันทุเลาเบาบางขึ้น อาการดีขึ้นเป็นลำดับ สุขภาพกายดีขึ้นสุขภาพจิตก็ดีขึ้นตามมา พวกเรากำลังทำหน้าที่เสมือนการสร้างเส้นทางเฉพาะกิจเพื่อเชื่อมโยงคนป่วยที่ไม่สามารถเข้าสู่การรักษาได้ด้วยเงื่อนไขบางอย่างให้สามารถเข้าสู่ระบบการรักษาได้ไวขึ้น สะดวกขึ้น ต่อเนื่องขึ้น
.
แต่เราหวังไว้ว่า สักวันเส้นทางหลักจะมีเกิดขึ้น ผู้ป่วยข้างถนนที่มีเงื่อนไขพิเศษแบบยาย จะสามารถเข้าสู่การรักษาได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น โดยมีเส้นทางที่เหมาะสมกับบริบทของผู้ป่วยที่คล้ายกับแก โดยมันถูกสร้างขึ้นจากระบบการรักษาของรัฐเอง มีการขยับระบบการรักษาเข้ามาให้ใกล้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้ชิดขึ้น ความห่างไกลจากการเข้าสู่การรักษานั้นก็คงจะน้อยลงไปได้เอง เราหวังว่าทางพิเศษที่เราสร้างขึ้นตอนนี้จะเป็นทางที่รกร้างไม่มีใครใช้อีกต่อไปในอนาคต
.
ถ้าไปถึงวันนั้น เราทางทีมงานผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา จะนับว่ามันเป็นความสำเร็จได้อย่างเต็มภาคภูมิเลยทีเดียว
——————————————-
สนับสนุนการทำงานได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-2-58289-4 SCB
Share Button

ชายพิการไร้บ้านทรุดโทรมหนัก ไร้หน่วยงานรัฐดูแล

ชายพิการไร้บ้านคนหนึ่งผู้ต้องแบกรับน้ำหนักจากปัญหาของรัฐในการจัดสวัสดิการ​ที่ดีให้กับเขา
.
ชายพิการที่ต้องใช้ร่างกายพิการจากอาการเส้นเลือดในสมองตีบ แต่ต้องมาแบกรับปัญหาสถานสงเคราะห์คนพิการของรัฐที่มีคิวต่อเข้ารับการดูแลในสถานสงเคราะห์กว่า 100 คิว และรอคิวนั้นมาตั้งแต่มกราคมปีที่แล้ว
.
ชายพิการที่ไร้บ้าน ไร้ที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม แต่ต้องมาแบกรับความไม่สามารถของรัฐในการบริหารจัดการเพื่อให้ประชาชนผู้ต้องการรับการดูแลจากรัฐอย่างเร่งด่วนให้ได้รับการดูแลตามความประสงค์ของเขา
.
ชายพิการที่ต้องอยู่กับคุณภาพชีวิตย่ำแย่ แต่ต้องมาแบกรับกับปัญหาที่สถานสงเคราะห์ที่ดูแลกลุ่มคนไร้ที่พึ่งของรัฐบอกมาว่า ไม่สามารถรับเขาเข้าไปดูแลได้ก่อน เนื่องจากกลัวว่าภายในสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งจะรับมือในการดูแลคนพิการไม่ไหว และที่สำคัญคือกลัวการไม่สามารถส่งต่อไปให้สถานสงเคราะห์เฉพาะทางอย่างสถานสงเคราะห์คนพิการได้ เนื่องจากทางนั้นก็บอกว่าคนขอฉันเต็มและมีคิวจ่อรอเป็น 100 คิวในทุกสถานสงเคราะห์คนพิการของประเทศนี้
.
ชายพิการที่สภาพร่างกายทรุดโทรมลงทุกวัน แต่เขาต้องมาแบกรับกับการที่ไม่มีหน่วยงานรัฐหน่วยงานใดที่จะเข้ามาดูแลเขาอย่างเร่งด่วน ที่เริ่มต้นจากการพาไปตรวจสภาพร่างกาย การหาที่พักอาศัยให้ การดูแลสุขภาพร่างกาย การดูแลให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดี
.
ชายพิการไร้บ้าน ร่างกายทรุดโทรมลงทุกวัน แต่เขาต้องมาแบกรับปัญหาของภาครัฐ เขาต้องแบกและรอคอยอยู่ที่ศาลาวัดแห่งหนึ่งริมคลองแสนแสบอยู่ทุกวี่วัน
.
ชีวิตชายคนนี้กำลังบี้แบนพังทลายไปเท่าไหร่แล้ว ท่านลองตรองดู กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
Share Button

ช่วยผู้ป่วยจิตเวชอีกราย นำส่งโรงพยาบาลได้แม้ไร้ญาติ

“จะไม่กลับมาอีกเหรอ​ มีคนเอาไปโรงพยาบาล​ 2 รอบแล้ว​ ไปเสร็จไม่เกินเดือนสองเดือนก็กลับมาอีก”
.
เราตอบไปว่า จริงๆ แล้วผู้ป่วยจิตเวช​ระดับรุนแรง​แบบนี้​ ฟังชั่นเสียหมดแล้ว​ เขาต้องถูกส่งไปสถานสงเคราะห์​หลังสิ้นสุดการรักษา​ แต่ที่ผ่านมาทางรพ.น่าจะไม่ดูเรื่องนี้​ เลยถูกส่งกลับมา ทั้งๆ ที่ดูแลตัวเองไม่ได้และไม่มีผู้ดูแล
.
“เขาเป็นคนแถวนี้แหละ​ เกิดโตแถวนี้​ แต่ก็ดมกาวตั้งแต่เด็ก​พอนานไปก็หลุดเลย”
ใช่ครับยาเสพติด​ สารระเหย​ ก่อผลให้เกิดโรคจิตเวชได้​ ผู้ป่วยในหวอดจิตเวช​ตอนนี้ส่วนมากเกิดจากการใช้สารเสพติด
.
“เดินหน้าสองก้าว​ ถอยหลังสองก้าว​ ลองดูสิเขาไม่ใส่กางเกง​เลย​ ผู้หญิงผ่านไปมาก็กลัว​ บางทีก็มีท่าทีเดินเข้าหาผู้หญิง”
.
ไม่ใช่แค่อันตรายต่อคนอื่นๆ​ แต่อาการจิตเวชของเขานั้นก็สร้างความอันตรายให้กับตัวเขาเองไม่น้อย​ เช่น​ คุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่​ลงทุกวัน
.
“โรงพยาบาล​จิตเวช​เขาจะรับเหรอ​ ไม่มีญาติไปด้วย”
เราตอบไปอย่างชัดเจนว่า​ ตามพรบ.สุขภาพจิต​ ระบุไว้เลยว่าการนำตัวผู้ป่วยจิตเวชส่งโรงพยาบาล​ ไม่ต้องมีผู้ดูแล​ไปด้วยก็ได้
.
ผู้ป่วยจิตเวช​คนนี้ได้รับการช่วยเหลื​อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
—————————————
สนับสนุน​การ​ช่วยเหลือ​ผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-58289-4 SCB
Share Button