สิ่งที่เด็กสามารถมองเห็นผ่านเลนส์กล้องวิทยาศาสตร์

วิทยาศาสตร์อยู่รอบตัวเราแบบ 360 องศา แทรกอยู่ทุกช่วงเวลาแม้ตอนกินข้าว
.
การเรียนวิทยาศาสตร์ทำให้เกิดทักษะในชีวิตของเด็ก เป็นพื้นฐาน การคิดวิเคราะห์ ตั้งคำถาม หาคำตอบ เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ ที่สุดท้ายไปเพิ่มพูน ‘คุณภาพชีวิต’ ของคนในสังคม
.
สำหรับครูโบว์ ครูวิทยาศาสตร์ในโรงเรียนเล็กๆ เธออยากให้เด็กของเธอได้เจอการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ สามารถใช้วิทยาศาสตร์แก้ปัญหา คิดวิเคราะห์ และเป็นพื้นฐานของอนาคต
.
ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนนี้ คือ 1/4 ของห้องเรียนชั้น ป.6 มีตู้หนึ่งใบ ข้างในบรรจุ กล้องจุลทรรศน์ที่ใช้มานาน 25 ปี รวมกับอุปกรณ์วิทยาศาสตร์เสื่อมสภาพอื่นๆ
.
และแน่นอนว่าประสิทธิภาพของอุปกรณ์เหล่านี้ไม่สามารถใช้ได้ในการเรียนการสอน
.
แม้อุปกรณ์ไม่มีใช้ แต่ครูโบว์เชื่อว่าเด็กจะเรียนรู้ได้ต้องลงมือทำจริง เธอจึงประยุกต์ใช้แก้วน้ำแทนบีกเกอร์ ใช้ช้อนแทนแท่งแก้วคนสาร เธอเล่าว่ามันพอแก้ขัดไปได้บ้างระหว่างรอ
.
เผื่อวันไหนโชคดี มีโรงเรียนใหญ่ในพื้นที่
เอื้อเฟื้ออุปกรณ์มาให้
.
ครูโบว์จบเอกวิทย์ แต่มาทำงานจริงต้องสอนทุกรายวิชา เธอจึงสอดแทรกวิทยาศาสตร์ให้เด็กในรายวิชาแทบทั้งหมด อย่างถึงเวลาวิชาการงาน เด็กๆ ทำขนม เธอสอนให้เด็กเห็นว่าสถานะของสารในวัตถุดิบมีความต่างกัน ถึงเวลาวิชาเกษตรเพื่ออาชีพ เธอสอนเด็กๆ ให้ระวังเรื่องการสัมผัสและสอนการใช้สารเคมีที่ถูกต้อง
.
เธอสอนแบบนั้นมาร่วม 7 ปี
.
7 ปี ที่เธอใช้วิทยาศาสตร์ เปิดโอกาสให้เด็กคิดเป็นทำเป็น พยายามสร้างพื้นฐานการใช้ชีวิตให้เด็กวางแผนการทำงานเป็นลำดับขั้นตอน
.
และ 7 ปีนั้น เธอสร้างมันจากห้องวิทยาศาสตร์ที่ว่างเปล่า
.
เช่นเดียวกันกับโรงเรียนขนาดเล็กนับร้อย ที่มีห้องวิทยาศาสตร์แต่ข้างในว่างเปล่าไม่มีอุปกรณ์ มีเพียงคุณครูที่ประยุกต์การสอนด้วยความพยายาม
.
ยิ่งไปกว่านั้นบางโรงเรียน
ไม่มีแม้คุณครูวิทยาศาสตร์ด้วยซ้ำไป

__________________________

ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ศูนย์แบ่งต่อ มูลนิธิกระจกเงา นำกล้องจุลทรรศน์ และอุปกรณ์เรียนวิทยาศาสตร์อื่นๆ ที่ได้รับจากการบริจาคไปให้เด็กๆ ณ โรงเรียนวัดปทุมทอง เราให้คุณครูลองใช้ บรรยากาศในห้องวิทยาศาสตร์เต็มไปด้วยความตื่นเต้น เพราะเป็นครั้งแรกที่เด็กๆ มีโอกาสได้เห็นเนื้อเยื่อของพืชจากกล้องจุลทรรศน์ตัวจริง

___________________________

หากคุณ หรือหน่วยงานของคุณ เห็นด้วยกับความสำคัญของวิชาวิทยาศาสตร์ เราอยากชวนคุณเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนอนาคตและคุณภาพชีวิตของเด็กๆ ให้โรงเรียนขนาดเล็กมีอุปกรณ์วิทยาศาสตร์พร้อมใช้ในการเรียนการสอน
.
สนใจติดต่อผ่านทาง Email: donate@mirror.or.th หรืออินบ็อกซ์เพจมูลนิธิกระจกเงามาได้เลย

Share Button

ภารกิจช่วยเหลือผู้ป่วยสาวจิตเวชวัย 18

“เราใช้เวลา 20 ชั่วโมง ในการให้ความช่วยเหลือหญิงสาวอายุ 18 ปีคนนี้”
.
หลังจากที่มีการแจ้งมาทางเพจของมูลนิธิกระจกเงา แอดมินเพจที่ตื่นเช้ามาก ส่งข้อความมายังทีมงานโครงการผู้ป่วยข้างถนน โครงการที่ทำงานเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนในพื้นที่สาธารณะ แอดมินส่งข้อความมาตอนตี 5 ของวันศุกร์ที่ 19 แอดมินเพจระบุความเห็นว่าเราน่าจะต้องให้ความช่วยเหลือผู้หญิงคนดังกล่าว ทีมงานผู้ป่วยข้างถนนเมื่อดูคลิปนี้ในTikTok ก็ประเมินในเบื้องต้นว่า เธอน่าจะมีอาการจิตเวช จากพฤติกรรมที่ผิดปกติ รวมถึงเมื่อไล่ดูคอมเมนต์ก็พบว่ามีคนเห็นเธอในหลายที่ และเห็นเธอในพฤติกรรมที่ไม่ปกติ เราจึงเห็นตรงกันว่าควรให้ความช่วยเหลือ และเป็นการให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
.
ความต้องเร่งด่วนนั้นเกิดจากอายุที่น้อยมากของเธอ ความเป็นผู้หญิง พฤติกรรมที่เราประเมินว่าไม่น่าจะดูแลตัวเองได้ เสี่ยงอย่างมากต่ออันตรายต่างๆ
.
เพราะก่อนที่จะมีโครงการผู้ป่วยข้างถนนเกิดขึ้น ย้อนไป 10 กว่าปีก่อน แถวออฟฟิศของมูลนิธิกระจกเงา เราเคยเจอผู้หญิงสาวคนหนึ่งที่มีอาการจิตเวชชัดเจน เธอเดินตามท้องถนน ถอดเสื้อผ้าบ้าง ใส่เสื้อผ้าบ้าง เราเห็นเธออยู่ประมาณ 1 ปี แล้วมีวันหนึ่งในหน้า1ของหนังสือพิมพ์ เราพบว่ามีข่าวพาดหัวว่า มีผู้หญิงเร่ร่อนคนหนึ่งคลอดลูกที่ข้างถนน เรารู้ทันทีว่านั้นคือเธอที่เราได้เพียงแต่มองเห็นแต่ไม่ได้ทำอะไร จากวันนั้นมูลนิธิกระจกเงาจึงคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อป้องกันเรื่องแบบนี้ไม่ให้เกิดขึ้นกับใครอีก เราจึงมีโครงการผู้ป่วยข้างถนนขึ้นมาหลังจากนั้น
.
กลับมาที่เธอคนนี้ เราเริ่มประชุมกันเพื่อวางแผนในการให้ความช่วยเหลือ เราเริ่มต้นจากการประชาสัมพันธ์เพื่อขอรับข้อมูล พิกัดที่คนได้เจอเธอ ทางศูนย์ข้อมูลคนหายได้ทำการเช็กการแจ้งคนหาย แต่ก็ไม่พบว่ามีการแจ้งการหายเข้ามาแต่อย่างใด เมื่อได้พิกัดที่มีคนพบเห็นเธอ เราเริ่มต้นลงพื้นที่ เรากำหนดพื้นที่ไว้สามพื้นที่หลักๆ ตามการแจ้งที่มีมูลมากที่สุด แต่ในระหว่างการลงพื้นที่ที่สอง มีผู้แจ้งติดต่อเข้ามาว่าเขาพบเธอล่าสุดตอน 4 โมงเย็น เมื่อเช็กข้อมูลว่าใช่เธอแน่ๆ ทีมงานจึงลงพื้นที่เพื่อไปทำการติดตาม แต่ระหว่างทาง ทีมงานเช็กกับผู้แจ้งอีกครั้ง ผู้แจ้งๆ ว่าไม่พบเธอในพื้นที่เดิมอีกแล้ว
.
แต่ไม่นานเกินรอ มีผู้แจ้งอีกคน ที่บอกว่าเพิ่งพบเห็นเธอเมื่อสักครู่ ผู้แจ้งส่งภาพมาให้เราตรวจสอบ ปรากฏว่าเป็นเธอจริงๆ หลังจากนั้นเราจึงประสานไปทาง สน.จรเข้น้อย เพื่อให้ทางตำรวจส่งสายตรวจมาเพื่อตรวจสอบอีกครั้ง เมื่อตำรวจไปถึง พบว่าเธอกำลังขึ้นรถสองแถวไปแล้ว ขึ้นรถไปก่อนที่ทางทีมงานผู้ป่วยข้างถนนจะไปถึงไม่ถึงนาที สายตรวจจึงขับมอเตอร์ไซค์ตามและทำการดักรถสองแถวคันนั้น และไปทำการเชิญตัวเธอลงมา เธอไม่ขัดขืนอะไร หลังจากนั้นจึงประสานรถพยาบาลเพื่อนำส่งเธอไปยัง สถานบำบัดรักษาโดยทันที
.
เรามองดูนาฬิกาอีกครั้งเมื่อแพทย์รับเธอเป็นผู้ป่วยใน เป็นเวลาตี 1 ของอีกวัน
จากตี 5 ถึงตี 1 ของอีกวัน มันคือ 20 ชั่วโมง เป็นเวลาที่เราไม่อยากให้เกินไปกว่านั้น
20 ชั่วโมงที่พลังแห่งโลกออนไลน์แสดงตัวว่ามีอยู่จริง
เราน่าจะเชื่อเหมือนกันว่า “มนุษย์ไม่ควรตกอยู่ในชะตากรรมเช่นนี้”

———————————————-

แจ้งเมื่อพบผู้ป่วยข้างถนน หรือปรึกษาเมื่อพบปัญหาผู้ป่วยจิตเวชที่ไม่สามารถเข้าสู่การรักษามาได้ที่ เพจ โครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา
.
สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-2-58289-4 SCB

Share Button

“ตั๋วหนังบริจาค” หนึ่งในความสุขของสองชายสู้ชีวิต

หัวค่ำคืนวานก่อนหนัง ONE PIECE เข้าฉาย 1 วัน
เราได้รับข้อความจากผู้บริจาคว่า
เขาซื้อตั๋วหนังผิดวันผิดรอบ
จึงขอส่งต่อมันเพื่อให้มูลนิธิใช้ประโยชน์ต่อไป
พร้อมกับส่งภาพสำหรับสแกนรับตั๋วมาให้
.
รายละเอียดในภาพระบุเป็นตั๋วแบบ VIP
มูลค่า 2 ใบ 600 บาท
หนังเข้าฉายวันนี้ รอบบ่ายสองโมง
.
กระจกเงาเรามีชายสองคน
คนหนึ่งคือ “บ๊วย” เขากำลังต่อสู้กับโรคไบโพล่าร์
และเขาเหมือนเด็กตั้งแต่เริ่มป่วย
.
อีกคนเราเรียกเขาว่า “เอ แรมโบ้”
เป็นอดีตคนไร้บ้าน เร่ร่อนตั้งแต่ยังเด็ก
จนถึงวันนี้เขายังคิดว่าตนเองเป็นเด็กคนหนึ่ง
.
บ่ายสองวันนี้ เรายินดีให้คนทั้งคู่นี้หยุดงาน
พร้อมกับป๊อบคอร์น และแป๊บซี่คนละชุด
เพื่อมีความสุข กับ One Piece Film RED
ที่ผู้บริจาคมอบให้นี้
.
กระจกเงารับบริจาคสิ่งของทุกประเภท
และเรายินดีจัดการส่งต่อสิ่งเหล่านั้น
อย่างมีคุณค่า และประโยชน์สูงสุด
.
#มูลนิธิกระจกเงา

Share Button

ทะเลเชื่อมความสุขสู่ “ผู้ป่วยเด็ก”

เด็กป่วยทางกาย อย่างน้อย
เรายังรู้ว่าเขาเจ็บป่วยตรงไหน
.
เด็กป่วยทางจิตใจ เด็กอธิบายไม่ได้
กว่าเราจะมองเห็นความผิดปกตินั้น
เขาต้องเผชิญความป่วยลำพัง
ต่อสู้กับความคิดของตัวเอง
.
ทำไมทุกคนรำคาญ โดนดุมากกว่าเพื่อน
ไม่เป็นที่ยอมรับของเพื่อน คุณครู
หรือแม้แต่ของพ่อแม่ตัวเอง
.
ตัวอย่างเด็กเหล่านี้ คือเด็กกลุ่มสมาธิสั้น
เด็ก LD ที่มีพัฒนาการทางสมองช้า
.
เด็กกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการดูแล
ประคับประคอง อดทน และเข้าใจ
.
โครงการโรงพยาบาลมีสุข
กำลังทำงานสร้างสุข ให้กับเด็กกลุ่มนี้
.
วันพรุ่งนี้เราจะพาเด็กป่วย 10 ครอบครัว
คัดเด็กที่อาการป่วยไม่เป็นอุปสรรคต่อการเที่ยว
พาไปเล่นน้ำทะเลด้วยกัน
โดยมีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลไปด้วย
.
ให้ทะเลเชื่อมความสุขให้กับเด็กและครอบครัว
ให้กิจกรรมนี้ บอกเด็กๆ ทางอ้อมว่า
เขามีคุณค่า สมควรได้รับการดูแล
แล้วเราจะประคับประคองกันไป
.
สนับสนุนกิจกรรมพาเด็กป่วยเที่ยวทะเล
ได้ที่บัญชีโครงการโรงพยาบาลมีสุข
เลขที่ 202-258286-0 ธ.ไทยพาณิชย์

Share Button

ลงพื้นที่เกณฑ์ “คนไร้บ้าน” ทำงานเพื่อมีบ้าน

“ค่ำคืนวันพฤหัส​ที่ผ่านมา”
.
จ้างวาน​ข้า​ลงพื้นที่ไปทำการรับสมัครงาน​​คนไร้บ้านที่ราชดำเนิน​ มีคนไร้บ้านสนใจสมัครทั้งหมด 11 คน​ และมีคนมีบ้านที่อยู่ในวัยผู้สูงอายุ​อีก 5 คน​ พวกเขามารับข้าวแจกฟรีเช่นเดียวกับคนไร้บ้าน​ เป็นความยากจนระดับเดียวกับคนไร้บ้าน​
.
ต้นทุนเดียวที่พวกเขามีมากกว่าคงเป็นตัวที่อยู่อาศัย​นั่นแหละ​ หลายคนที่มีที่อยู่อาศัยอยู่นั้นก็นับเป็น​ภาระ​ แต่ต้องแบกมันไว้ให้ได้​ ต้องแบกไว้เพื่อให้สามีพิการได้อยู่​ ต้องแบกไว้เพื่อให้ลูกที่พิการได้อาศัย
.
คนไร้บ้านหลายคนที่มาสมัครมีความกล้าๆ กลัวๆ กลัวว่าตัวเองแก่เฒ่าเกินกว่าจะทำงาน​ หรือก็ไม่แน่ใจว่าจะถูกหลอกลวงหรือไม่​ หลอกลวงจากความกระหายงาน​ หลอกลวงบนความฝันความหวังเหมือนๆ ที่เคยผ่านมา
.
ลุงคนไร้บ้านใกล้ๆ กันนั้นช่วยอธิบายแทนเรา​ ให้คนไร้บ้านที่กล้าๆ กลัวๆ จะเข้ามาสมัครกับจ้างวานข้า​ ลุงคนนั้นบอกเล่าว่า​ “ไปสมัครเลย ไม่ต้องกลัวหรอก​ เพื่อนผมไปทำงานอยู่กับจ้างวานข้ามูลนิธิ​กระจกเงา​นี่ล่ะ​ เขาไม่หลอกนะ​ เพื่อนผมได้ทำงานจริง​ ตอนนี้เพื่อนผมมีห้องเช่าแล้ว​ แต่ผมแก่มากแล้ว​ ไม่มีแรงทำงานอะไรแล้ว”
.
เมื่อคนไร้บ้านคนนั้นได้ยินเรื่องเล่าแบบนั้น​ เขารีบเดินมาขอสมัครทำงานกับจ้างวานข้าอย่างกระตือรือร้น​ วันนั้นมีคนมาสมัครงาน​กับจ้างวานข้า 16 คน​ 11 คนเป็นคนไร้บ้าน​ อีก 5 คนเป็นคนมีบ้าน​ พวกเขาอยากมีรายได้ที่พอจะให้ชีวิตไปได้ดีกว่านี้​ ไม่ต้องมารอขอรับข้าวที่ราชดำเนิน​เหมือนทุกๆ วันที่ผ่านมา
__________________
สนับสนุนจ้างวานข้าได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-2-58289-4 SCB
Share Button

ห้องเช่าของ 4 ชีวิตที่เคยไร้บ้าน

ห้องเช่า​ 4 ห้องรวดที่​คนไร้บ้าน​ 4 คนเข้าไปจับจองเป็นเจ้าของพร้อมกัน
.
มี 1 คน​ ที่อยู่ไร้บ้านมากกว่า​ 10 ปี​ แต่หาโอกาส​ไม่ได้ซักที​ที่จะมีห้องของตัวเอง
.
มีอยู่ 1 คน​ ที่เพิ่งไร้บ้านมาน้อยกว่า 1 ปี​ แต่หาโอกาส​ไม่ได้ซักที​ที่จะมีห้องของตัวเอง
.
นอกจาก 4 คน​นี้​ ยังมีคนไร้บ้านอีก 2 คนในวันนี้ที่เพิ่งได้ห้องเช่าใหม่
.
โดยสรุป​ จ้างวานข้าเรามีคนไร้บ้านเพิ่มอีก​ 6 คนที่สามารถไปมีห้องใหม่ได้ในรอบ​ 2 เดือนที่ผ่านมานี้
.
งานจ้างวานข้าคือโอกาส​ที่ว่านั้น​ คือตัวช่วยให้พวกเขาพ้นผ่านชีวิตข้างถนนออกไปได้
.
“งานและรายได้” เป็นสิ่งที่คนไร้บ้านมักบอกแบบตะโกนให้ได้ฟังอยู่เสมอ​ ถ้าคำถามนั้นถามออกไปว่า​ “คุณต้องการอะไรที่สุด”
.
จ้างวานข้าออกแบบมาเพื่อรับใช้คำตอบนั้นของคนไร้บ้าน

____________________

สนับสนุนจ้างวานข้าได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-2-58289-4 SCB

Share Button

จากคนไร้บ้านสู่ “เด็กฝึกงานอาวุโส”

“เด็กฝึกงานอาวุโส”
เมื่อหลายเดือนก่อน หญิงชราตกงานคนหนึ่ง เลือกใช้ชีวิตเร่ร่อนข้างถนนแบบเต็มตัว ก่อนหน้านี้เธอเดินกะเผลกพร้อมไม้เท้าเพื่อพยายามหางานทำ ทุกที่ที่ไปไม่ตอบรับเพราะข้อจำกัดทั้งอายุและร่างกายพิการ
.
4 เมษายน ที่ผ่านมา เราชวนเธอทำงานชรารีไซเคิลคัดแยกขยะพลาสติก เธอตอบรับทั้งที่ไม่รู้ละเอียดการทำงานมากนัก ขอแค่มีงานให้ทำ ส่วนชีวิตที่เหลือเธอบอกว่างานจะช่วยจัดการให้เธอได้เอง
.
วันนั้นมีคนทำงานคัดแยกขยะพลาสติกอยู่ก่อนแล้ว 1 คน เธอเข้ามาเป็นคนที่ 2 เธอเรียกตัวเองว่า ‘เด็กฝึกงาน’ เพราะเธอรู้ตัวว่าไม่มีพื้นฐานและยังต้องเรียนรู้งานใหม่อีกหลายจุด
.
เด็กฝึกงานที่อายุเท่าพนักงานอาวุโส จะนั่งตรงเก้าอี้พลาสติกประจำตำแหน่ง เรียง ขวด แผ่นซีดี ไม้แขวนเสื้อไว้รอบตัว พยายามจดจำรายละเอียดทุกขั้นตอน ทุกประเภท ในการคัดแยก หากอันไหนจำยากเกินกำลังสมอง เธอจะฟังด้วยหู และแยกจากเสียงตอนบีบพลาสติกชนิดต่างๆ แทน
.
ไม่ใช่แค่จดจำวิธีการ เธอมักชอบถามที่มาที่ไป อยากรู้จุดหมายของงานที่กำลังทำ
.
“การที่ให้เราคัดแล้วส่งไปรีไซเคิล จุดหมายมันไม่ได้อยู่ที่เราทำงานได้เงินอย่างเดียวแล้ว เราได้ทำบ้านเมืองให้มันสะอาด ยิ่งต้องเก็บให้ดี แยกให้ดี อย่าให้มันมั่วรวมกัน”
.
“ความสุขตอนนี้ คือการได้ตื่นมาทำงาน เราให้กำลังใจตัวเองว่าสู้ๆ มาเยอะ ก่อนจะมาทำงานตรงนี้เคยเร่ร่อนนอนป้ายรถเมล์ก็ไม่เคยคิดท้อแท้ เรายังมีสองมือ ยังมีสามขา(ไม้เท้า) ถึงขาที่สามจะเป็นอุปสรรคก็ต้องอยู่ให้ได้ พยายามยืนด้วยขาของตัวเองให้ได้มาตลอด”
.
สกิลการทำงานของเธอพัฒนาจากอาวุโสฝึกงานเป็นชรารีไซเคิลเต็มตัว มีเงินเช่าบ้าน มีรายได้ซื้อถั่วงากินบำรุงสุขภาพ มีเงินก้อนหนึ่งพร้อมไปผ่าตัดรักษาขา และ ‘รู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง’

——————————————
บังเอิญ บรรเลงพิณ อดีตคนไร้บ้านวัย 68 ปี
——————————————

โครงการชรารีไซเคิล รับบริจาคขยะพลาสติก
เพื่อช่วยคนชราตกงาน ให้มีงาน มีรายได้
งานที่ว่านั้น คืองานคัดแยกขยะพลาสติก
เพื่อเปลี่ยนขยะ ให้กลายเป็นสิ่งของ
ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้
.
บริจาคขยะพลาสติกได้ที่ มูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 191 ซอยวิภาวดี 62 (แยก 4-7)
ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงตลาดบางเขน
เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210
โทร.061-909-1840

Share Button

จัดการขยะอย่างมีคุณค่า “จ้างวานข้า จ้างวานเคลียร์”

“เรารับจ้างจัดการขยะ”
.
คนไร้บ้าน คนจนเมือง มักคุ้นกับขยะอยู่ไม่น้อย
เขารู้ว่า ขยะคือเงินทองรายได้
เขารู้ว่า ขยะนั้นต้องถูกจัดเก็บคัดแยกอย่างไร
.
แม้รู้ว่า ขยะคือเงินทองคือรายได้ แต่เขามักได้รายได้จากขยะไม่ถึง 1 ร้อยบาทต่อวัน
.
“จ้างวานข้า จ้างวานเคลียร์” จึงเกิดมาเพื่อสิ่งนี้ เรารวบรวมคนเก่งเหล่านี้มารวมตัวกัน แล้วจัดเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือเพื่อประสิทธิภาพการทำงานและเพื่อความปลอดภัยในการทำงาน มีระบบการทำงาน และรับงานการจัดการขยะตามงานอีเวนท์ต่างๆ
.
พวกเขาจะได้ใช้ความเก่งของตัวเอง
ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
พวกเขาจะได้รายได้
มากกว่าค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเกือบ 1 เท่าตัว
พวกเขาสามารถใช้รายได้ที่ได้มาจากงานนี้
พลิกฟื้นชีวิตตัวเองอีกครั้งหนึ่ง
.
เรารับงานจัดการขยะ
จ้างพวกเราได้ที่ เฟซบุ๊ค
Share Button

“บ้านบริจาค” ปูทางสู่สิทธิ์ของคนไร้บัตร

8 ปีที่แล้ว ‘ป้าอ๋อย’และสามีเคยมีกินมีใช้
จากอาชีพขายพระเครื่อง
จนวันที่พิษเศรษฐกิจรุมเร้า
ทั้งคู่จึงตัดสินใจออกมาใช้ชีวิตไร้บ้าน
.
สามีอายุราว 50 ต้นๆ ได้ทำงานรับจ้างอยู่บ้าง
ส่วนตัวป้าอ๋อยที่อายุ 70 หางานยากกว่า
เพราะความสูงวัยและบัตรประชาชนที่สูญหาย
เป็นเหตุผลให้ไม่มีใครรับเธอเข้าทำงาน
.
เงินรับจ้างจากสามีจึงเป็นแรงหลัก
ให้ชีวิตไร้บ้านของทั้งคู่พอมีข้าวตกถึงท้องเรื่อยมา
.
แต่แล้ววันหนึ่งป้าอ๋อยล้มป่วยลง
เส้นเลือดสมองอุดตันส่งผลร้าย
เธอเดินไม่ได้ กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง
การไม่มีบัตรประชาชนทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิ
ในระบบประกันสุขภาพฯ
เธอทำได้เพียงนอนรักษาบนพื้นฟุตบาท
ที่สูงจากพื้นถนนไม่มากนัก
.
ความเจ็บปวดจากการเจ็บป่วย
เริ่มเล่นงานชีวิตทั้งสองชีวิต
ร่างกายของป้าอ๋อยเริ่มแย่ลง
สามีดูแลเธอข้างกายด้วยความรัก
ด้วยความเป็นห่วง เขาไม่สามารถทิ้งป้าอ๋อยไว้
เพื่อออกไปทำงานที่ไหนได้อีก
.
ยิ่งกว่านั้น การเป็นคนไร้บ้าน
ได้ตัดโอกาสการทำบัตรประชาชนใหม่
เพราะป้าอ๋อยไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านหลังใด
มีทรัพย์สินแค่ผืนผ้าใบที่คนแถวนั้นให้ยืมใช้
กันแดดฝนไปเป็นครั้งคราว
__________________________________

มาวันนี้ เรื่องราวความทนทุกข์
จากการไม่ได้รับสิทธิของป้าอ๋อยและสามีจบลงแล้ว
โครงการคลีนิกกฎหมาย มูลนิธิกระจกเงา
ดำเนินการย้ายชื่อป้าอ๋อยที่เป็นผู้ป่วยและสามี
เข้าอยู่ในทะเบียนบ้านหลังหนึ่ง
บ้านที่มูลนิธิกระจกเงาได้รับบริจาคมา
จากผู้ที่ต้องการให้บ้านเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้อื่น
.
และมันกำลังทำประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง
เพราะบ้านหลังนี้จะเป็น
‘ทะเบียนบ้านมูลนิธิกระจกเงา’
ที่ช่วยเรียกร้องสิทธิ
ให้เพื่อนมนุษย์ไร้บ้านอีกจำนวนมาก
ไม่ตกหล่นจากการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการ
ที่พวกเขาสมควรจะได้รับ
.
เช่นเดียวกับที่ทะเบียนบ้านหลังนี้
ช่วยให้ป้าอ๋อยมีบัตรประชาชน
มีสิทธิการรักษาขั้นพื้นฐาน
ได้รับทุกสิทธิสวัสดิการของผู้ป่วยกลับคืน
.
และล่าสุด จ้างวานข้ารับเธอกับสามีเข้าสู่การจ้างงาน
ประจำในหน้างานคัดแยกสิ่งของบริจาค
มีงาน มีอาชีพ มีสิทธิสวัสดิการอย่างมีคุณค่า
ให้ทั้งคู่ได้เริ่มต้นชีวิตใหม่โดยสมบูรณ์
__________________________________

ติดต่อคลินิกกฎหมาย มูลนิธิกระจกเงา
ได้ที่ 083-771-7769
.
สนับสนุนคลินิกกฎหมายได้ที่
บัญชีคลินิกกฎหมาย โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขบัญชี 202-270402-2 ธ.ไทยพาณิชย์

Share Button

ปัญหาที่ควรมีทางออก ผู้ป่วยจิตเวชข้างถนน

“ถึงผู้ว่าฯ ชัชชาติครับ” ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
.
ทางโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา อยากเริ่มเรื่องเพื่อปรึกษาท่านผู้ว่าฯ อย่างนี้ครับ คนที่อยู่ในภาพนี้เป็นผู้ป่วยจิตเวชที่ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ พื้นที่สาธารณะที่ว่าก็คือ ซอยตรอกศิลป์ ซอยนี้อยู่แถวศาลาว่าการกรุงเทพมหานครเลยครับ เราเลยนึกถึงท่านผู้ว่าชัชชาติขึ้นมา และเราคิดว่าท่านผู้ว่าฯ น่าจะสนใจต่อการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ครับ
.
ผู้ป่วยคนนี้ใช้ชีวิตมากว่า 10 ปีในซอยนั้น ในช่วงแรกที่มาอยู่ อาการทางจิตเวชนั้นยังไม่หนักหนามาก แต่มาในปีนี้อาการทางจิตเวชของเขาหนักหนามาก ในหนึ่งวันมีได้ถึง 3 อารมณ์ 3 พฤติกรรม ยิ้มคุยคนเดียวในช่วงเช้า มีอารมณ์โมโหเกรี้ยวกราดด่าทอคนผ่านไปมาในช่วงบ่าย ส่งเสียงดังเหมือนเสียงยิงปืนในยามค่ำคืน จุดพีคที่สุดคือการขับถ่ายเรี่ยราด
.
ผู้คนแถวนั้นเริ่มรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่โอเคแล้วกับพฤติกรรมในช่วงปีหลังของผู้ป่วย บางวันชุดเสื้อยืดกางเกงขาสั้นก็เปรอะเลอะเหม็นคลุ้งไปด้วยอุจจาระและปัสสาวะ ผู้คนแถวนั้นไม่รู้จะแจ้งใครดี เคยแจ้งหน่วยงานราชการก็แล้ว แต่ไม่มีความคืบหน้า แจ้งสก. แจ้งรายการทีวีดัง ก็ไม่มีการตอบสนองใดกลับมา พวกเขาเลยแจ้งมายังมูลนิธิกระจกเงา
.
วันนี้ทางทีมผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา จึงประสานงานกับตำรวจเพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชรายนี้เข้ารับการรักษาในสถานบำบัดรักษาเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งจริงๆ แล้วการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนในพื้นที่สาธารณะนั้นนับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายดายเลย มันมีปัญหาทุกกระบวนการ ทั้งการให้ความช่วยเหลือ การรักษา การฟื้นฟูและนั้นจึงเป็นสาเหตุให้ได้พบเห็นผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนอยู่ในพื้นที่สาธารณะเกือบทุกหนทุกแห่ง
.
เราเลยอยากขอปรึกษาผู้ว่าฯ ชัชชาติแบบนี้ครับ กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ที่พบว่ามีผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนแบบนี้อยู่มาก ส่วนใหญ่ไม่มีความอันตรายแต่ก็มีคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่อย่างที่สุด แต่มีอยู่ส่วนหนึ่งที่มีความอันตราย ทำร้ายร่างกาย ทำลายข้าวของ ซึ่งหลายเคสนั้นเป็นข่าวดัง คำถามก็คือทำไมเราจึงพบว่ามีผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนในพื้นที่สาธารณะมากเหลือเกิน และในแต่ละเคสก็ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะอย่างยาวนานเหลือเกิน ยาวนานจนคุณภาพชีวิตพัง สมองพัง
.
คำตอบก็คือ ระบบการพาพวกเขาเข้าสู่การดูแลรักษาตลอดจนการให้การฟื้นฟูประคับประคองนั้นก็ผุพังเช่นกัน สมมุติว่าถ้ามีใครสักคนหนึ่งแจ้งหน่วยงานรัฐต่างๆ เพื่อบอกว่าให้มาเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชคนนั้น หลายๆหน่วยงานนั้นก็จะบอกว่า เขาทำไม่ได้ เขาไม่มีหน้าที่ หลายๆหน่วยงานอาจมาทำหน้าที่ แต่ก็ทำได้เพียงแค่มาดู ทำได้แค่มาไล่ แต่ไม่สามารถทำการให้ความช่วยเหลือได้ ช่วยเหลือในสถานะของ “ผู้ป่วย”
.
ในบางครั้งหน่วยงานนั้นอาจให้ความช่วยเหลือ แต่ปัญหาในหลายครั้งที่พวกเขาเจอก็คือ หน่วยงานบำบัดรักษานั้น บอกว่าไม่สามารถรับได้ ด้วยเหตุผลว่า ผู้ป่วยไม่มีญาติ หรือ ไม่ได้รับเป็นผู้ป่วยใน แต่เป็นการจ่ายยาแล้วให้ผู้ป่วยกลับไปกินยาและเร่ร่อนในพื้นที่สาธารณะตามเดิม การช่วยเหลือนำส่งผู้ป่วยจิตเวชจึงเป็นเรื่องยาก ใช้พลังงานสูง หลายหน่วยงานจึงไม่ทำ และยังไม่นับรวมว่า หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยนั้นคือตำรวจ ซึ่งผู้ป่วยต้องถูกใส่กุญแจมือ ให้นั่งอยู่กระบะท้ายของรถปิคอัพ ทั้งๆ ที่คนคนนั้นมีสถานะที่เรียกว่า “ผู้ป่วย”
.
ถ้าถามคำถามว่า ทำไมสถานบำบัดรักษาจึงตั้งเงื่อนไขไม่อยากรับผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนเข้าสู่การรักษาในระบบผู้ป่วยใน คำตอบลัดสั้นก็คือ ผู้ป่วยในระบบของสถานบำบัดรักษาเอง เขาก็อัดแน่นจนรับมือแทบจะไม่ไหวแล้ว มีผู้ป่วยหลายรายที่อยู่ในสถานะสิ้นสุดการรักษาแล้วแต่ไม่สามารถจะออกไปจากสถานบำบัดรักษาได้ เนื่องจากไม่สามารถกลับบ้านกลับครอบครัวได้ กลับไม่ได้ยังไม่เท่าไหร่ แต่ไม่สามารถจะไปสู่กระบวนการฟื้นฟูในรูปแบบของสถานสงเคราะห์ของรัฐ (ดูแลโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ) ได้ ผู้ป่วยในจึงสะสมจนล้นระบบ คนเก่าไปไม่ได้ คนใหม่เข้ามาเติม
.
เช่นกันถ้าถามคำถามว่า ทำไมสถานสงเคราะห์ของรัฐจึงไม่สามารถรับผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนที่สิ้นสุดการรักษาจากสถานบำบัดรักษาได้นั้น คำตอบเดียวกันคือสถานสงเคราะห์เหล่านั้นก็อยู่ในสภาพของคนที่เข้ารับการสงเคราะห์ในสถานสงเคราะห์นั้น เป็นสภาพคนล้นระบบเช่นกัน ระบายคนออกไม่ได้ คนใหม่ก็เติมเข้ามา จนวันหนึ่งคนล้นระบบสถานสงเคราะห์ที่มีอยู่ทั้งหมดเป็นที่เรียบร้อย(สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งทั่วประเทศมี11แห่ง สถานสงเคราะห์ที่ดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่สิ้นสุดการรักษาแล้วแต่ไม่สามารถกลับบ้านได้นั้นมี2แห่งทั่วประเทศ)
.
ปัญหาผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนในพื้นที่สาธารณะนั้น เป็นปัญหาที่เรื้อรังมายาวนาน และดูเหมือนว่าปัญหานี้จะเพิ่มขนาดขึ้นอย่างมากในอนาคต ด้วยเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหานั้นยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด ทั้งในเชิงระบบช่วยเหลือดูแลรักษาฟื้นฟูที่ได้เล่าไป ทั้งในการคาดคะเนจากตัวเลขของกลุ่มผู้ป่วยจิตเภท ตามตัวเลขที่จิตแพทย์มักใช้อ้างอิงก็คือ ผู้ป่วยจิตเภทจะคิดเป็น 1% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และผู้ป่วยจิตเภทที่มีอาการเรื้อรังมีปัญหาในการดำรงชีวิตนั้นก็คิดเป็น 1% ของผู้ป่วยจิตเภททั้งหมด
.
โครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา ในฐานะกลุ่มคน องค์กรที่ดำเนินการในการแก้ไขปัญหาเรื่องผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนในพื้นที่สาธารณะมาเป็น 10 ปี และพยายามแก้ปัญหาเท่าที่ศักยภาพในด้านต่างๆเรามีพอที่จะทำให้เกิดรูปธรรมการแก้ไขปัญหานี้ เราจึงอยากขอปรึกษาผู้ว่าฯชัชชาติผ่านโพสต์นี้ เพื่อร่วมหาทางออกในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ เพื่อที่ว่าผู้ป่วยจิตเวชที่เร่ร่อนอยู่ในพื้นที่สาธารณะนั้นจะได้เข้ารับการรักษาฟื้นฟู ได้เข้าสู่การปรับปรุงคุณภาพชีวิต จนสามารถออกมาใช้ชีวิตโดยตัวพวกเขาเองได้ และเราจะได้มองหาทางป้องกันเพื่อลดการเกิดขึ้นของกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนให้ได้มากที่สุด ถ้ามีเกิดขึ้นก็ช่วยเขาได้ทันเวลา รวดเร็วมีคุณภาพ ตรงตามสถานะความเป็น “ผู้ป่วย” ของพวกเขา
.
ปัญหานี้มีทางออก ทางแก้ไขอย่างแน่นอน เราเองมองเห็นหนทางนั้นแล้ว เราเองอยากจะนำเสนอเรื่องนี้เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกัน โครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา หวังอย่างยิ่งว่า ท่านจะเปิดการรับฟังปัญหานี้อย่างเป็นทางการ และทำการแก้ไขปัญหานี้ร่วมกันครับ

Share Button