ผนึกกำลังคูโบต้าและอาสาล้างบ้าน เคลียร์ความเสียหาย จ.อุบล

วันนี้เป็นวันสุดท้าย
ที่อาสาล้างบ้าน มูลนิธิกระจกเงา
อยู่ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
ที่วารินชำราบ อุบลราชธานี
.
พวกเราอยู่ในหน้างานฟื้นฟูหลังภัยพิบัติ
เป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านเพิ่งจะได้เริ่มกลับเข้าบ้าน
สำรวจความเสียหาย ล้างบ้าน ซ่อมบ้าน
เก็บข้าวของที่เสียหาย ที่กลายเป็นขยะกองโต
.
มันเป็นช่วงของความท้อแท้ สิ้นหวัง
อยู่กับสถานการณ์สิ้นเนื้อประดาตัว
.
ในช่วงเวลานี้ งานล้างบ้าน เคลียร์ขยะ
อาจจะเป็นงานที่เล็กน้อย
แต่มันเป็นกำลังใจที่เหล่าอาสา
ทำหน้าที่บอกพี่น้องผู้ประสบภัยว่า
“ไม่เป็นไรนะ เราอยู่ตรงนี้ เราอยู่เป็นเพื่อน”
.
ในช่วงเวลาท้ายสุดของความเสียหายนี้
ไม่ใช่มีแค่อาสาล้างบ้าน มูลนิธิกระจกเงา
แต่ยังมีคูโบต้า อยู่เป็นเพื่อนด้วยนะ
.
คูโบต้าเจริญชัย Kubota Siam Kubota
ส่งรถตัก 2 คัน พร้อมคนขับ 2 คน
ปักหลัก ช่วยขนย้ายขยะชิ้นใหญ่ออกจากบ้าน
ออกจากถนนหน้าบ้าน ภายในชุมชน
.
คูโบต้าอยู่เคียงข้างกับเรา
กับพี่น้องผู้ประสบภัยวารินชำราบ
ในวันที่ยากลำบากนี้ จนวันสุดท้าย
Share Button

แม่เล่า ลูกวาด กับบทสัมภาษณ์ชีวิตเก่าก่อนเริ่มต้นชีวิตใหม่

เด็กน้อยเอ่ยขอปากกาและกระดาษไปวาดรูปในช่วงที่เรากำลังสัมภาษณ์แม่ของเขา
.
เด็กน้อยใช้เวลาวาดพอๆกับเวลาที่เราทำการสัมภาษณ์แม่ของเขาเพื่อรับมาทำงานกับจ้างวานข้า
.
เด็กน้อยวาดรูปในขณะที่แม่เริ่มน้ำตานองหน้าจากเรื่องที่เล่า
.
ผู้เป็นแม่บอกเล่าชีวิตตัวเองและครอบครัว
.
หญิงสาวว่า เธอมากับลูกวัย3ขวบ ตอนนี้เธอและลูกใช้ข้างถนนเป็นพื้นที่หลับนอน เธออายุเพียง20ต้นๆ แฟนเธอเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถไปไม่นาน
.
เธอเคยทำงาน2ร้านใน1วัน เช้าอยู่ร้านขายของ เย็นที่ร้านอาหาร แฟนเธอวิ่งวินมอเตอร์ไซค์ ความรักผลิบานก็ตอนที่เขารับส่งเธอไปทำงานทั้งเช้าทั้งค่ำ
.
เมื่อเธอตั้งท้อง งานการทั้งสองร้านที่เธอเคยทำ กลับไม่จ้างเธออีกต่อไป สาเหตุเพราะเธอท้อง และเขาคงกลัวว่าจะทำงานได้ไม่คล่องตัว ไม่คุ้มค่าจ้าง และเธอก็ตกงานโดยไม่มีค่าชดเชยใด
.
แฟนเธอจึงต้องวิ่งงานหนักขึ้นอีกเป็นเท่าตัว วันนึงบ่าของเขาที่แบกทั้งเมียทั้งลูกเล็กก็พังทลาย แฟนเธอถูกรถชนตาย ตายขณะยังทำหน้าที่วินมอเตอร์ไซค์
.
หญิงสาวบอกว่าอุบัติเหตุในครั้งนั้น ส่วนนึงเกิดจากร่างกายของแฟนเธอที่กรำงานหนักเพื่อที่จะแบกชีวิตเธอและชีวิตลูก
.
ถึงตรงนี้หลายคนคงมีคำถามในใจว่าทำไมเมื่อเธอคลอดลูกแล้ว ทำไมเธอไม่ไปหางานทำช่วยแฟนอีกแรง คำตอบก็คือเธอต้องทำหน้าที่แม่ที่ต้องดูแลลูกเล็ก
.
เธอออกไปหางานทำมาบ้างแล้ว แต่งานรับจ้างที่ส่วนมากนั้นมันไม่ได้มีห้องเลี้ยงเด็กให้สำหรับสัตว์เศรษฐกิจในชื่อว่าแม่คนอยู่เลย เธอจึงต้องจำใจเลี้ยงเอง อาจต้องรอจนเด็กมันพอเข้าเรียนได้นั้นแหละ ถึงจะพอไปหางานการทำได้อีกครั้งหนึ่ง
.
จะไปฝากญาติพี่น้องของทั้งคู่นั้นน่ะเหรอ ตัวเธอเองไม่เหลือใครแล้วในชีวิต แฟนเธอยิ่งแล้วใหญ่เขาเติบโตมาจากสถานสงเคราะห์เด็ก คงไม่ต้องไต่ถามกันอีกว่ามีญาติอยู่ที่ไหนบ้างมั้ย
.
เธอบอกแฟนก็ไม่มีญาติ ตัวเธอก็ไม่มีญาติ เธอและแฟนต่างก็เป็นญาติให้กันและกัน
.
ความจนยากนั้นทำให้ไม่ต้องไปถามถึงว่าทำไมไม่ฝากในศูนย์เลี้ยงเด็กเอกชน
.
เธอฝากลูกเล็กในระบบใดๆ ก็ไม่ได้เลย เธอจึงจำเป็นต้องดูเอง เมื่อแฟนเธอตายในช่วงต้นปีที่ผ่านมา มันยิ่งเคว้งคว้าง เธอพยายามหางาน งานที่เห็นความเป็นแม่คนที่ต้องมีงานมีรายได้
.
ไม่มีงานก็ไม่มีเงินพอที่จ่ายค่าเช่าห้องได้อีกต่อไป เงินที่ควรได้จากการตายของแฟน เธอบอกว่าตำรวจให้เธอรับเงินจากคู่กรณี 2หมื่นบาทจะได้จบๆ คดีไป และเธอรับมาอย่างว่าง่าย
.
เธอกับลูกชายเดินมายังจุดที่เราเปิดบริการรถซักอบอาบให้กับคนไร้บ้านที่สะพานปิ่นเกล้า เธอขอสมัครทำงาน เราสัมภาษณ์เธอ แล้วเสร็จเราจัดการเรื่องที่อยู่อาศัยชั่วคราวให้เธอและลูกเล็กทันที อาทิตย์หน้าเธอจะได้มาเริ่มงานกับจ้างวานข้าที่มูลนิธิกระจกเงา และที่นี่มีห้องเลี้ยงเด็กในยามที่พ่อแม่กำลังแข็งขันทำงานอยู่
.
เธอกล่าวขอบคุณเรา และก้มลงไปบอกกับเด็กชายว่า “วันนี้ยุงไม่กัดเราแล้วนะลูก”
Share Button

เมื่อสถานะ ‘ไร้บ้าน’ ถูกใช้เป็นเหตุผลที่ทำให้หญิงมีครรภ์ ‘ไร้การดูแล’

“วันพ่อที่อยากเล่าเรื่องของคนเป็นแม่”
.
เย็นวันหนึ่งในอาทิตย์ก่อน ทางทีมผู้ป่วยข้างถนนได้รับแจ้งจากพลเมืองดีว่าพบคนเร่ร่อนไร้บ้านเป็นผู้หญิงตั้งครรภ์กลับมาอีกครั้งแล้ว ที่ว่าเจออีกครั้งเพราะตัวคนไร้บ้านคนดังกล่าวหายไป และทางเราได้ลงพื้นที่ติดตามหลายครั้งแต่ไม่พบ ครั้งนี้เราจึงรีบลงด่วนที่สุดทันที
.
ด่วนที่สุดเพราะเธอตั้งครรภ์ ครรภ์นั้นน่าจะไม่ต่ำกว่า 7-8 เดือนแล้ว และไม่แน่ใจว่าเธอเองจะมีความสามารถในการดูแลครรภ์ตัวเองต่อไปได้ดีแค่ไหน เมื่อเราลงพื้นที่พบเจอเธอ เราได้เข้าไปพูดคุย เพื่อทำการเช็คอาการจิตเวชเบื้องต้น แต่ไม่พบว่าเธอมีอาการจิตเวช
.
เราจึงเริ่มคุยกับเธอ เธอเล่าว่าเธออยู่กับแฟนที่ใช้ชีวิตไร้บ้านเช่นกัน และบางครั้งต้องหลบออกมาอยู่ที่อื่น เพราะแฟนเธอทำร้ายร่างกาย ครั้งนี้ก็เช่นกัน แต่ข้อมูลสำคัญที่เธอเล่าก็คือ มีคนใจดีแถวนั้นพาเธอไปโรงพยาบาล หมอบอกเธอตั้งครรภ์ได้ 36 สัปดาห์ (9เดือน) และเด็กนั้นกลับหัวแล้ว
.
36 สัปดาห์ และเด็กกลับหัวแล้ว นัยยะก็คือเธอจะคลอดแล้วแน่นอนไม่พรุ่งนี้ก็มะรืนนี้ เราจึงเริ่มคุยกับเธอ ทำความเข้าใจกับเธอว่า เธอควรถูกดูแลโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่เรียกว่า “บ้านพักเด็กและครอบครัวกรุงเทพ” เธอตกลงว่าเธอจะเข้าสู่การดูแลนั้น เราจึงรีบประสานงานไปทันที
.
เจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กรับสาย เราแจ้งข้อมูลของตัวเคสคนไร้บ้านที่ตั้งครรภ์ไปทั้งหมด รวมถึงเราประเมินเบื้องต้นแล้วว่าไม่มีปัญหาจิตเวชอย่างแน่นอน ทางเจ้าหน้าที่มีคำถามที่ทำให้เราต้องอึ้งอยู่เหมือนกัน เจ้าหน้าที่ถามเรามาว่า “แล้วค่าใช้จ่ายเรื่องท้องจะทำอย่างไร” และตามมาด้วยประโยคที่ว่า “ขอไปปรึกษาผู้บังคับบัญชาก่อนว่าจะเอาอย่างไร” แล้วก็วางสายไป
.
ในช่วงค่ำทางเจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กโทรกลับมาหาทางทีมงานผู้ป่วยข้างถนนอีกครั้ง พร้อมกับบอกว่า ทางบ้านพักเด็กไม่สามารถจะรับเคสคนไร้บ้านตั้งครรภ์คนนี้เข้าสู่การดูแลได้ เนื่องจากเขาเป็นคนไร้บ้าน แต่ถ้าเป็นเคสคนท้องที่มีบ้านและมีปัญหาครอบครัว เขาถึงจะเข้ามาดูแล และบอกกับทางทีมงานผู้ป่วยข้างถนนว่า ทางบ้านพักเด็กและครอบครัวจะประสานกับทางศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งให้ เนื่องจากเคสเป็นคนไร้บ้าน
.
เมื่อหน่วยงานภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์พูดคุยกันเอง เราจึงติดตามการปฏิบัติงานของทั้งสองหน่วยงานในช่วงเช้าของอีกวัน เจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กคนเดิมบอกกับเราว่า ให้เราไปตามกับทางศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง เคสเป็นคนไร้บ้าน (แม้ว่าท้อง 9 เดือน และเด็กกับหัวแล้วด้วย) ไม่ใช่บทบาทหน้าที่ผม และไม่ใช่หน้าที่ของผมที่ต้องตามข้อมูลให้คุณ ให้ไปตามข้อมูลกับทางศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งเองได้เลย
.
ทางทีมผู้ป่วยข้างถนนจึงประสานไปยัง ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ทางศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งให้ข้อมูลว่า ทางผู้หญิงคนไร้บ้านที่ตั้งครรภ์นั้น ตอนนี้ไม่อยู่ในพื้นที่แล้ว ด้วยเหตุเพราะเขาปวดท้องจะคลอดลูก เลยมีพลเมืองดีนำส่งโรงพยาบาลใกล้เคียง และทางศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกำลังจะทำการติดตามเคสดังกล่าวไปที่โรงพยาบาล เราขอบคุณทางเจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองฯ และขออนุญาตติดตามผลหลังจากไปติดตามเคสดังกล่าวที่โรงพยาบาล
.
ผู้หญิงตั้งครรภ์ 9 เดือนคนหนึ่ง มีสถานะไร้บ้าน ต้องมาเจ็บท้องคลอดโดยไม่มีหน่วยงานรัฐใดที่เข้ามาดูแล ไม่ต้องย้อนไปถึงการเข้ามาดูแลก่อนที่เธอจะคลอด ตอนนี้เธอมีสถานะแม่เรียบร้อยแล้ว แต่เป็นแม่ที่อยู่ในสถานะคนเปราะบางทางสังคม คนท้องและคนเปราะบางทางสังคมคนหนึ่งที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องที่สุดอย่างบ้านพักเด็กและครอบครัวบอกว่าไม่ใช่ภารกิจของเขาอย่างเต็มปากเต็มคำ
.
เพียงเพราะเขาไร้บ้านจึงไม่อยู่ในการดูแล แต่ถ้าเขามีบ้านและตั้งครรภ์แต่มีปัญหาในการดูแลตัวเองและลูกในท้อง บ้านพักเด็กและครอบครัวจะเข้ามาดูแล มันเป็นหลักคิดแบบไหนกันนะ หลักการแบบใดกันที่ไม่ใช้ตัวตั้งที่สำคัญที่สุดนั้นคือ ความเป็นผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ได้ 9 เดือนและมีปัญหาทางสังคมเศรษฐกิจที่ไม่สามารถจะดูแลตัวเองและครรภ์ตัวเองได้ดีนัก เพื่อเป็นตัวตั้งหลักในการที่รัฐจะเข้ามามีบทบาทดูแล แต่กลับดันใช้สถานะไร้บ้านมาเป็นตัวตั้งก่อน และทำการปฏิเสธการดูแล ทั้งๆ ที่หน่วยงานอย่างบ้านพักเด็กและครอบครัวนั้นมี setting ที่พร้อมที่สุดแล้วในการดูแลเคสผู้หญิงตั้งครรภ์และมีปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม และความไร้บ้านนั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญใดๆ เลยถ้าจะใช้ setting ที่มีอยู่เพื่อจะดูแลพลเมืองของรัฐที่มีปัญหาอย่างผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ได้ 9 เดือนคนนี้
____________________
ปล.เราจะไม่แท็กรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แต่ถ้ามีคนช่วยแท็กถึงเรายินดีและขอบคุณมากๆ ครับ
Share Button

คราบโคลนที่ถูกล้าง ในบ้านของหญิงวัยกลางคนที่มีผู้ป่วยถึงสองชีวิต

ศูนย์อาสาล้างบ้านปิดลงแล้ว
อาสาแยกย้ายกลับบ้าน
ชาวบ้านก็ได้กลับเข้าบ้านแล้วเช่นกัน
.
ย้อนไปหนึ่งอาทิตย์ก่อนศูนย์ฯ ปิด
เราเข้าไปช่วยล้างบ้าน
ให้หญิงวัยกลางคนอายุ 52 ปี
ที่ล้างบ้านคนเดียวมาแล้วหนึ่งสัปดาห์
แต่บ้านยังเต็มด้วยคราบโคลน
.
ในบ้านนั้นเธอไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว
แต่เป็นคนเดียวที่ยังมีเรี่ยวแรง
เพราะแม่ของเธอป่วยติดเตียง
ส่วนสามีต้องฟอกไตทุกๆ 3 วัน
.
เราใช้เวลาครึ่งชั่วโมง ล้างบ้าน
ขนของใช้ หนึ่งในนั้นมีแคร่ไม้หนึ่งอัน
ที่เธอเตรียมไว้ให้แม่ใช้นอนรักษาตัว
.
หลังทุกอย่างเสร็จสิ้น
เธอกล่าวขอบคุณ
พร้อมถามเราว่า ‘พรุ่งนี้ว่างมั้ย’
เธออยากพาแม่กลับบ้าน
แต่แม่ตัวใหญ่ แรงเธอคนเดียวยกไม่ไหว
เราจึงตอบ ‘ตกลง’ ไป ว่าจะช่วยเธอ
.
เช้าวันรุ่งขึ้น เรามาตามนัด
มีแรงกายอาสาช่วยยกตัวผู้ป่วยตามที่เธอขอ
พร้อมเตียงผู้ป่วยหนึ่งเตียง รถเข็นหนึ่งคัน
และผ้าอ้อมผู้ใหญ่อีกหลายแพ็ค
เราจะให้เธอไว้ใช้
เพื่อแบ่งเบาความทุกข์ที่หนักอึ้งทางใจ
ลดภาระค่าใช้จ่ายให้ผู้หญิงคนหนึ่ง
ที่ต้องดูแลผู้ป่วยถึงสองคน
——————————————————
สามารถติดต่อยืมอุปกรณ์การแพทย์ฟรี ได้ที่
เพจเฟซบุ๊ก โครงการป่วยให้ยืม
สอบถามเพิ่ม โทร. 092-252-5454
.
เรากำลังมีผู้ป่วยหนักต่อคิวรอรับเครื่องไปใช้ที่บ้าน ในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตเกือบ 10 ราย แต่ช่วงนี้โครงการกำลังขาดแคลนเครื่องผลิตออกซิเจนขนาด 10 ลิตร หากคุณมีเครื่องนี้อยู่ที่บ้านไม่ได้ใช้งาน กรุณาบริจาคให้มูลนิธิกระจกเงา เลขที่ 191 ซอย วิภาวดีรังสิต 62 แยก 4-7 แขวงตลาดบางเขน เขต หลักสี่ กทม. 10210 โทร.061-909-1840, 063-931-6340
.
บริจาคทุนทรัพย์เพื่อสนับสนุนโครงการป่วยให้ยืม ได้ที่ บัญชีธนาคารยืมอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-269025-7 SCB
Share Button

ในห้องเล็ก ๆ กล่องของขวัญเพื่อเด็กป่วยถูกห่อด้วยมือของอาสาสมัครผู้พิการ

มุมเล็กๆ บนเตียงคนไข้ในโรงพยาบาล
มีชีวิตน้อยๆ ของเด็กป่วยเรื้อรังต้องพักรักษาตัว
ไม่มีโอกาสเที่ยวเล่นในเทศกาลแห่งความสุข
ที่กำลังจะมาถึง
.
แต่ถึงอย่างไร เด็กป่วยก็ยังเป็นเด็ก
ในยามที่ต้องฉีดยา เจาะสายน้ำเกลือ
การได้รับของขวัญสักชิ้น ตุ๊กตาสักตัว
จะเป็นความสุขเล็กน้อย
ที่ทำให้อุ่นใจมากขึ้นหลายเท่า
.
อีกมุมเล็กๆ ในห้องอาสาสมัคร มูลนิธิกระจกเงา
จึงมีกลุ่มผู้พิการ มาเป็นอาสาสมัคร
ช่วยกันห่อของขวัญ เตรียมส่งไปเซอร์ไพรส์
เป็นกำลังใจให้เด็กๆ ถึงโรงพยาบาล
.
อาสาสมัครเหล่านี้ส่วนหนึ่งพิการทางสมอง
เข้าออกโรงพยาบาลมาตั้งแต่เกิด
ส่วนหนึ่งพิการทางการเคลื่อนไหว
ต้องไปรับยา ติดตามอาการตลอดชีวิต
.
พวกเขาเคยผ่านการเจ็บป่วย
และยินดีสละเวลาช่วงวันหยุด
มาช่วยเติมเต็มความสุข
ให้กับเด็กๆ ที่กำลังเผชิญกับความป่วยเช่นเดียวกัน
เพราะพวกเขาเข้าใจดีกว่า การได้รับความสุข
ในช่วงเวลาที่กำลังเจ็บป่วยนั้น สำคัญเช่นไร
___________________________________
ขอบคุณทั้งหัวใจและแรงกาย
จากกลุ่มอาสาสมัครผู้พิการจาก สสส.
ที่เป็นส่วนหนึ่ง ทำให้เทศกาลแห่งความสุข
ของน้องๆ เกิดขึ้นได้จริง
.
ของขวัญทั้งหมด
โรงพยาบาลมีสุข จะเป็นตัวแทนนำส่งให้เด็กป่วย
ในกิจกรรมของขวัญปีใหม่ ส่งใจให้เด็กป่วย ปีที่16
ไปยังโรงพยาบาลเครือข่ายและศูนย์การศึกษาพิเศษฯ
เพื่อให้ทั้งเด็กป่วย และผู้ปกครอง ได้รับรู้ว่า
ยังมีผู้ใหญ่ใจดีในสังคมอีกมากมาย
พร้อมช่วยเหลือ และส่งความปรารถดีให้เสมอ
.
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งของขวัญ
บริจาคตุ๊กตา ของเล่น ขนม ฯลฯ
เพื่อมอบให้เด็กในเทศกาลปีใหม่และวันเด็ก
ได้ที่ มูลนิธิกระจกเงา เลขที่ 191
ซอย วิภาวดีรังสิต 62 แยก 4-7
แขวงตลาดบางเขน เขต หลักสี่ กทม. 10210
โทร.061-909-1840, 063-931-6340
.
หรือบริจาคทุนทรัพย์ได้ผ่านทางเทใจดอทคอม
(การบริจาคสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้)
บริจาคผ่านโครงการโรงพยาบาลมีสุข
เลขที่บัญชี 2022582860 ธ.ไทยพาณิชย์
Share Button

ความฝันใหม่ของลุงป๋อง จากคนตรวจอุปกรณ์สู่ช่างซ่อมคอมพิวเตอร์

“คอมพิวเตอร์ โลกใบใหม่ของน้องๆ
คอมพิวเตอร์ โลกใบใหม่ของ ‘ลุงป๋อง’ ”
.
ลุงป๋องเคยเป็นพ่อค้าอาชีพ
เคยมีบ้าน มีรถ อยู่ในจุดสูงสุดของชีวิต
วันหนึ่งปัญหาหลายอย่างรุมเร้า
จนชีวิตนั้นตัดสินใจออกมาไร้บ้าน
.
การออกมาไร้บ้านของแก
ไม่ได้หมายถึงการยอมแพ้
แกพยายามสมัครงาน
จนได้ทำงาน ในนามจ้างวานข้า
.
เราเสนองานตรวจเช็คอุปกรณ์คอมพิวเตอร์
เป็นงานที่แกเองก็ตอบรับ
ทั้งที่ไม่รู้จักอุปกรณ์คอมเลยสักชิ้นเดียว
.
งานนี้ทำให้ลุงป๋อง ในวัย 57
ได้ใช้คอมพิวเตอร์ครั้งแรก
แกมุ่งมั่น ตั้งใจจดจำทุกรายละเอียด
อันไหนไม่รู้ลุงป๋องจะถาม
พยายามฝึกทำซ้ำๆ จนกว่าจะเข้าใจมัน
.
ผ่านมาสามเดือนแล้ว
ที่ลุงป๋องตรวจเช็คอุปกรณ์จนชำนาญ
พร้อมกับความฝันใหม่ ที่แกวางแผนไว้
ว่าเร็วๆ นี้ จะไปสมัครเรียนสารพัดช่าง
เพราะอยากไปถึงขั้นที่ซ่อมคอมได้ด้วยตัวเอง
.
คนชราคนหนึ่งที่ทั้งชีวิตไม่เคยใช้คอมพิวเตอร์
พยายามเรียนรู้ เพื่อให้ความสามารถของตัวเอง
เป็นประโยชน์ ส่งต่อคอมพิวเตอร์
เปิดโลกการเรียนรู้ให้เด็กๆ รุ่นใหม่
.
และผลพวงของงานนั้น
ได้เปิดโลกการเรียนรู้ ให้คนชราที่เคยไร้บ้าน
มีงานทำ มีรายได้ มีแพสชั่นใหม่
ในการใช้ชีวิตเช่นกัน
________________________
โครงการคอมพิวเตอร์เพื่อน้อง
มีคนชราเป็นกำลังหลักช่วยงาน จำนวน 4 คน
หากคุณมีคอมพิวเตอร์เก่าไม่ได้ใช้งาน
ส่งมาให้ลุงป๋องและลุงคนอื่นๆ
ช่วยคัดแยก ตรวจเช็ค เพื่อส่งต่อน้อง นร.ได้นะคะ
.
ที่อยู่จัดส่ง มูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 191 ซอยวิภาวดีรังสิต 62 แยก 4-7
แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210
โทร 061-909-1840 , 063-931-6340
.
โปร “เหมา…เหมา” จาก นิ่มเอ็กซ์เพรส
เหมาจ่าย 30 บาทต่อกล่อง กล่องละไม่เกิน 25 กก.
ข้อดีคือสามารถส่งได้ทุกสาขาทั่วประเทศ
ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 29 ธ.ค.2565
Share Button

‘เสี่ยหมี’ ได้กลับชุมชนอีกครั้ง ร่างของเขาไม่ใช่ศพนิรนามอีกต่อไป

ใครๆ ก็เรียกเขาว่า “เสี่ยหมี”
สมัยหนุ่มๆ เขาขยันทำงาน
อาชีพสุดท้าย คือคนขับรถตุ๊กตุ๊ก
กระทั่งผิดหวังจากความรักในวัยห้าสิบ
ความเจ็บปวดนำพาเขาสู่การดื่มสุรา
และเริ่มถูกเรียกว่า “เสี่ยหมี”นับแต่นั้นมา
.
เขาเริ่มนอนในตลาด และที่สาธารณะ
แต่งตัวมอมแมมสวมแหวน สวมสร้อยรุงรัง
มีสภาพกลายเป็นเร่ร่อนที่มีบ้าน
เมื่อตื่นจากความเมา
จะรับจ้างเล็กๆ น้อยๆ ที่ตลาด
.
ญาติพี่น้องซึ่งอยู่ในชุมชนเดียวกัน
พยายามดูแลเขาเท่าที่พอทำได้
เฉลี่ยเงินดูแลข้าวปลาอาหาร
แต่เขายังเลือกเดินออกจากบ้าน
ไปใช้ชีวิตกึ่งเร่ร่อนในตลาด
กระทั่งเมื่อ 6 ปีที่ก่อน เขาหายตัวไป
แล้ว “เสี่ยหมี”ไม่ได้กลับมาที่ชุมชนอีกเลย
.
เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา
สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม
ติดต่อมาที่มูลนิธิกระจกเงา
แจ้งว่ามีศพนิรนาม ศพหนึ่ง คล้าย “เสี่ยหมี”
ถูกรถชนเสียชีวิตตั้งแต่ปี 2559 ที่ปทุมธานี
ถูกนำส่งชันสูตร ในฐานะศพนิรนาม
แต่ตอนนั้นไม่มีข้อมูลว่าศพนั้นเป็นใคร
.
กระทั่งตอนนี้
มีกระบวนการนำลายนิ้วมือศพนิรนาม
ไปตรวจเทียบกับฐานข้อมูลกรมการปกครอง
จึงทำให้ทราบว่า ชายเร่ร่อนที่ถูกรถชนตาย
ที่กลายเป็นศพนิรนามไม่ทราบชื่อ
เขา คือ “หมี” ที่ญาติตามหามานานกว่า 6 ปี
.
วันนี้เขาจะได้กลับไปยังชุมชน
ที่ทุกคนขนานนามเขาว่า “เสี่ยหมี”
จากคนหายไม่ทราบสถานะ
จนเป็นศพนิรนาม ที่ทราบชื่อนามสกุลแล้ว
.
ขอแสดงความชื่นชม
สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม
ที่ใช้ความรู้ ความสามารถของหน่วยงาน
พิสูจน์จนทราบว่า ผู้ตายเป็นใคร
————————————————————
ด้วยครอบครัวเสี่ยหมี มีฐานะยากจน
มูลนิธิกระจกเงา จึงสนับสนุนเงิน
สำหรับเป็นค่ารถรับศพ ค่าเดินทางญาติพี่น้อง
ตลอดจนค่าจัดการงานศพจำนวน 10,000 บาท
————————————————————
สนับสนุนการพาคนหายกลับบ้าน
ตามหาข้อมูลศพนิรนาม
และช่วยงานศพครอบครัวคนหายที่ยากไร้
บัญชีโครงการศูนย์ข้อมูลคนหาย โดยมูลนิธิกระจกเงา
SCB 202-258-288-6
Share Button

บอกลาชีวิต ‘ไร้ฝัน’ คนไร้บ้านกล้าตั้งเป้าหมายอีกครั้ง

เมื่อปลายปี 2561 ก่อนเข้าสู่ปีใหม่ ปี 2562 เราจัดกิจกรรมงานเลี้ยงปีใหม่ให้กับกลุ่มคนไร้บ้าน ในวันนั้นกิจกรรมหนึ่งที่เราคิดขึ้นมาคือ “การ์ดความฝัน” กิจกรรมนั้นว่าด้วยให้คนไร้บ้าน เขียนความใฝ่ฝันลงไป
.
คนไร้บ้านในกิจกรรมวันนั้นมีจำนวนร่วม 100 คนได้ ความฝันใฝ่ใหญ่สุดที่รวมกันเป็นก้อนมหึมา ความฝันนั้นว่าด้วยการอยากมีงานมีรายได้ ความใฝ่ฝันนั้นหนักอึ้งในใจพวกเขา และความใฝ่ฝันนั้นก็หนักอึ้งในใจพวกเราไม่แพ้กัน
.
มีหลายรายที่ประกาศว่า ไม่มีอีกแล้วความใฝ่ฝันที่ว่า ในบางรายหวังมีชีวิตรอดให้ได้ในปีต่อปี เมื่อถามถึงเหตุผลของคนที่บอกกล่าวมาว่าตัวเองนั้นหมดแล้วซึ่งความใฝ่ฝัน คำตอบเขาเกี่ยวพันกับเรื่องการมีงานอย่างเลี่ยงไม่พ้น
.
งานมันนำมาซึ่งรายได้ รายได้ที่เหมาะสมมันนำมาซึ่งการก่อร่างสร้างความฝัน งานที่ค่าแรงต่ำเตี้ย งานที่ไม่สามารถทำได้อย่างต่อเนื่องมั่นคง ใครที่ต้องอยู่กับสภาวะแบบนี้ อย่าว่าเรื่องมีความฝันเลย นึกคิดถึงชีวิตในวันต่อวันมันยังลำบากมากมายเลย
.
คนไร้บ้านตกอยู่ในสภาวะนี้ ทำและพยายามทำ หาและพยายามหา แต่งานใช่จะมีให้ทำได้ทุกวัน และงานที่เหมาะสมในบริบทรวมหมู่ที่พวกเขาเป็นอยู่ อย่างเช่น ความสูงอายุ ไม่มีทักษะอาชีพ เป็นแรงงานไร้ทักษะมาตลอดชีพ ร่างกายที่พังทลายมาจากการใช้แรงงานมาตลอดชีวิต งานไหนจะเหมาะให้เขาได้หาทำได้อีก
.
เมื่อคำตอบบอกว่าไม่มีงานนั้นอยู่จริง ความฝันของพวกเขาก็เป็นแค่ตัวถ่วงรั้งของชีวิต เป็นแรงกดทับที่ต้องวางทิ้งลง มันหนักเกินไปที่จะมีมันอยู่อีก ประโยคที่บอกว่า “ไร้ความฝัน” จึงกำเนิด แต่นั่นคือปี 2561 เป็นปีที่ยังไม่มีโครงการจ้างวานข้า โครงการที่ว่าด้วยการสร้างพื้นที่งานพื้นที่รายได้ให้กับกลุ่มคนไร้บ้าน พวกเราแบกน้ำหนักความฝันของคนไร้บ้านมาอีกประมาณ 2 ปี
.
ปี 2563 สิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า โครงการจ้างวานข้าจึงเกิดขึ้น เกิดขึ้นพร้อมกับการนำคนไร้บ้านเปลี่ยนผ่านมามีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงขึ้นนั้น นับรวมได้ 52 คน
.
จ้างวานข้าพาคนไร้บ้านได้กล้าฝันอีกครั้ง คนไร้บ้านได้กล้าดีไซน์ชีวิตว่าจะเอาอย่างไรต่อไป และเราจ้างวานข้าเองจึงกล้าใฝ่ฝันเช่นกันว่าในปีหน้าเราจะไปให้ถึงการพาคนไร้บ้านอีก 1 เท่าตัว เปลี่ยนผ่านมามีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงให้ได้
—————————
ร่วมใฝ่ฝันนี้ไปด้วยกับเรา…..
.
สนับสนุน​จ้างวาน​ข้าได้ที่​
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-58289-4 SCB
Share Button

น้ำตาแห่งการรอคอยสิ้นสุดลง แม่ได้พบกับลูกอีกครั้งหลังหายไป 3 ปี

สามปีเต็มที่เขาหายตัวไป
นานจนครอบครัวคิดว่าเขาตายไปแล้ว
แม่ซึ่งขายข้าวแกงหาเช้ากินค่ำที่บ้านนอก
ไม่รู้จะไปตามหาเขายังไง
สุดท้ายเราติดตามจนพบข้อมูลว่าเขา
ไปใช้ชีวิตทำงานบนเรือประมง
ตั้งแต่หายตัวไป
.
วันที่ทีมงานโทรบอกแม่คนหาย
ว่าพบตัวเขาแล้วและเขายังมีชีวิตอยู่
เป็นวันนี้ที่แม่ร้องไห้เป็นวันสุดท้าย
และหยุดร้องไห้เป็นวันแรกในรอบสามปี
แม่ไม่ต้องนอนร้องไห้คิดถึงเขาอีกแล้ว
.
วันนี้แม่และพี่สาวมารอรับเขาที่ท่าเรือ
สิ้นสุดการรอคอยกว่าสามปีเต็ม
เขากำลังได้กลับบ้านอีกครั้ง
ส่วนพวกเรา
จะพยายามตามหาคนหาย
ที่ “บ้าน” กำลังรอพวกเขากลับไป
นี่เป็น ของขวัญปีใหม่ สำหรับทุกคนครับ.
.
สนับสนุน การพาคนหายกลับบ้าน
บัญชีโครงการศูนย์ข้อมูลคนหาย โดยมูลนิธิกระจกเงา
SCB 202-258-288-6
Share Button

จ้างวานข้าเปลี่ยนคนไร้บ้านให้มีที่อยู่ได้อีกราย

“คนมีบ้านลำดับที่ 52”
.
“ลุงไม่เคยเช่าห้องเลย ที่นอนที่อยู่ล่าสุดคือ บนรถทัวร์ เพราะเราทำงานตรงนี้ออกต่างจังหวัดก็นอนบนรถ อาบน้ำปั๊ม เรียกว่าใช้ชีวิตบนรถทัวร์นั่นล่ะ ลุงไม่เคยคิดจะเช่าห้องเพราะกินอยู่แบบนี้ได้สบาย ๆ แล้วเราจะเสียค่าห้องไปทำไม อีกอย่างมันมีงานวิ่งรถตลอดไม่เคยได้หยุด กินนอนบนรถเนี่ยล่ะสะดวกที่สุดแล้ว”
.
“ลุงออกมาไร้บ้านช่วงกลางปี 2563 เพราะโดนเลิกจ้าง ซ้ำแล้วตอนนั้นลุงก็มีปัญหากับทางบ้านจึงกลับบ้านไม่ได้ เครียดมาก ตอนนั้นลุงทำงานเป็นคนขับรถทัวร์ พอเจอโควิดหนัก ๆ บริษัทโดนผู้โดยสารแคนเซิลหมดเลย บริษัทขาดทุนหนักมากจะปรับตัวไปทางไหนก็ยากไปหมด เจ้านายก็เลยปิดกิจการและก็ตกงานตั้งแต่ตอนนั้น ช่วงนั้นเงินเก็บก็ไม่มีไปเช่าห้องอยู่เพราะเรานอนบนรถทัวร์มาโดยตลอด เรียกได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างจบสิ้นแล้วมีเท่าไรก็ช่วยชาวบ้านเขาไปหมด พอหมดตัวก็เดินไปเรื่อยเปื่อยระเหเร่ร่อน ค่ำไหนนอนนั่น ยกมือไหว้ขอข้าวเขากินไปเรื่อย”
.
“โอ้โหตอนเร่ร่อนลำบากมาก มีบางช่วงที่คิดสั้นเพราะไม่รู้จะหาทางออกกับตัวเองยังไง แต่ที่แรกที่ไปคือหัวลำโพง ไปนั่งมองรถไฟ คือมันเจ็บปวดนะเพราะมันกลับบ้านไม่ได้ด้วยไงด้วยปัญหาหลายอย่าง มองดูรอบ ๆ ก็เห็นหลายคนมีสภาพไม่ต่างจากเรา นอนกอดกระเป๋า วิ่งไปเอาข้าว ก็เลยฮึดสู้ เอาเว้ยสู้ใหม่อีกสักครั้ง ลุงก็เลยหิ้วกระเป๋าเดินไปเรื่อย ๆ ไปถึงสวนลุม พอไปถึงก็ค่ำแล้วไงก็เลยตั้งใจจะนอนที่นี่ มาเจอยามเขาบอกว่าไม่ให้นอนนะแต่นั่งหลับได้”
.
“คืนแรกจำได้เลยว่าหลับไม่ลง ยุงก็ตอมก็กัดเต็มตัว เงินจะซื้อยากันยุงยังไม่มีเลย ความรู้สึกตอนนั้นคือ ชีวิตกูมันรันทดจังเลยวะ ทางไปข้างหน้าก็เลือนรางเหลือเกินจะอยู่รอดอีกกี่ปีกัน เช้ามาก็ขึ้นรถเมล์มาเรื่อยเปื่อยมาถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตอนนั้นก็แปลกใจเห็นคนจอดรถลงมาแจกข้าวและคนยืนต่อกันเป็นแถวเลย คนบนรถเมล์เขาบอกว่า เขาแจกกันประจำแจกฟรีด้วย ไอ้เราก็รีบลงมาต่อแถวรับข้าวกับเขาบ้าง ได้ข้าว 1 กล่อง น้ำ 1 ขวด ขนม 1 ชิ้น ก็คิดนะว่า เออ ดีเหมือนกันนี่หว่าประหยัดตังค์ได้ 40-50 บาท ก็กินเอาประทังชีวิตไป”
.
“ถ้าถามว่าความเป็นอยู่ยังไงบ้างตอนนั้น มาอยู่แถวราชดำเนินเนี่ยไม่ใช่ว่าอยู่ง่ายนะ อยู่ยากมากเลย มันมีนักเลงเยอะ ยิ่งช่วงแรกเราเนี่ยเป็นคนแปลกหน้าเวลาไปรับข้าวก็จะโดนพวกนักเลงไล่ให้ไปอยู่ข้างหลังตลอด บางทีก็โดนแทรกพอจะถึงคิวเราข้าวก็หมดแบบนี้ จะอาบน้ำก็ยากเพราะต้องแอบเข้าตามปั๊ม ถ้ามีคนทำความสะอาดมาเห็นก็โดนว่าเอา ส่วนเสื้อผ้าจะซักยังไงไม่มีเงินซื้อแฟ๊บ เสื้อผ้าก็ใส่หมุนเวียนไป 3 ตัว บางทีก็ซักน้ำเปล่า บางทีก็ซื้อสบู่มาซักเพราะมัน 2 in 1 ไงได้ใช้ถูตัวด้วย อีกอย่างมีคนขี้เมาอยู่ด้วย บางครั้งเมาและก็ฉี่ราดไปทั่วก็ทนนอนเหม็นฉี่กันไป ย้ายไปตรงไหนก็มีแต่ป้ายบอกว่าห้ามนอน หรือไม่ก็เจอแต่พวกขาใหญ่เจ้าของพื้นที่มาขู่ไม่ให้นอนก็มี”
.
“แว๊บแรกเลยนะที่เขาบอกว่าจะช่วยเรื่องห้องเช่าคิดเลยว่า รอดตายแล้วกู ดีใจมาก ๆ (ร้องไห้) เพราะตอนนั้นเรื่องเช่าห้องคือแทบไม่ได้คิดเลย จะเอาปัญญาที่ไหนไปเช่า ไหนจะค่าแรกเข้าค่ามัดจำอีก พอจังหวะที่เจ้าหน้าที่จ้างวานข้าบอกว่า เราจะช่วยค่ามัดจำและค่าเช่าห้อง 1 เดือนด้วย คือตกใจเลย มีแบบนี้ด้วยเหรอ เหลือเชื่อมากเพราะลุงทำงานมาทั้งชีวิตไม่มีที่ไหนช่วยเราขนาดนี้”
.
“พอถึงวันจะได้เข้าอยู่จริง ๆ เจ้าหน้าที่จ้างวานข้าขนข้าวขนของไปให้ มีพวกหม้อหุงข้าว พัดลม มีหมอน ที่นอนมาให้พร้อมอยู่ และบอกว่าตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปให้ลุงเริ่มทำงาน 5 วัน/สัปดาห์ ได้วันละ 500 บาท จะได้มีเงินไว้จ่ายค่าเช่าห้องเดือนถัดไป คิดในใจโอ้โฮเขาให้ขนาดนี้เลยนะ หัวใจมันฟูมาก ชีวิตได้เริ่มต้นใหม่อย่างจริง ๆ จัง ๆ แล้วถึงแม้จะวัยนี้ คืนนั้นยกมือไหว้เจ้าที่เจ้าทาง และเขียนความรู้สึกบันทึกใส่ไว้ในกระดาษ เขียนขอบคุณโครงการจ้างวานข้า มูลนิธิกระจกเงา ที่ทำให้ผมมีวันนี้ได้อีกครั้ง”
.
“ลุงสังเกตตัวเองตอนนี้นะ เปรียบเทียบกับตอนไร้บ้าน ขมับลุงมันโบ๋ มันเกร็ง มันตึงเครียด แต่ตอนนี้มันคลายแล้ว คล้ายว่าชีวิตเราผ่อนคลายขึ้น มีที่อยู่ หิวก็มีเงินซื้อกินได้ ได้ซื้อเสื้อผ้าจนจะไม่มีที่เก็บแล้ว (หัวเราะดังมาก)ได้ซื้อโต๊ะมาตั้งพระเป็นโต๊ะหมู่บูชาที่ห้อง ทุกวันนี้บอกตรง ๆ ได้เลยว่ามีความสุขแล้ว หนทางข้างหน้าจะเป็นยังไงก็สู้ต่อไป”
.
“การได้มาเจอจ้างวานข้า มันเหมือนเป็นของขวัญชิ้นใหญ่เลย มันเหมือนเป็นพลุ เป็นดวงประทีปส่องแสงสว่างในใจเรา ลุงยังคงคาใจที่นี่มาก คือตอนตกงานไปหางานไปที่ไหนเขาก็ไม่รับเพราะอายุเรามากแล้ว แต่เออว่ะที่นี่รับ พอรู้ว่าได้ค่าจ้างเท่านี้ก็ยิ่งแปลกใจ มันเป็นเรื่องมหัศจรรย์ในชีวิตเรานะ และยิ่งมาทำงานได้สักพักได้เห็นเพื่อนร่วมงานมีทั้งผู้สูงอายุ บางคนเดินขากะเผลกมาเลย คือมันอิ่มใจมากที่ยังมีมูลนิธิที่ทำเรื่องแบบนี้อยู่ในสังคมนี้ด้วย ลุงขอบคุณมากเลยนะ ขอบคุณที่สร้างความหวังให้กับชีวิตลุงอีกครั้ง”
————————————-
@คนไร้บ้านที่เข้าทำงานในโครงการจ้างวานข้าในเดือนกันยายน 2565
@มีห้องเช่าเป็นคนที่ 52ของโครงการจ้างวานข้าเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2565
————————————-
สนับสนุน จ้างวาน ข้าได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-58289-4 SCB
Share Button