ชีวิตของแม่เลี้ยงเดี่ยว เมื่ออนาคตและบ้านจมหายไปในน้ำ

“พี่มีแต่ลูกผู้หญิง ไม่กล้าให้ไปนอนที่ศูนย์พักพิง เลยต้องไปขออาศัยบ้านญาติ ก่อนออกจากบ้าน ก็ช่วยกันขนของ เขาบอกว่าน้ำน่าจะท่วมไม่ถึงชั้นสอง เราก็ไม่ได้เอาอะไรออกมามาก เอาเท่าที่จำเป็น พวกเสื้อผ้าชุดนักเรียนลูก กับรถมอเตอร์ไซค์ ของชิ้นใหญ่ ตู้เย็น ก็ต้องจ้างคนมาช่วยขนขึ้นชั้นสอง”
.
“พี่เป็นคนอำเภอวารินฯ เกิดที่นี่ โตมากับน้ำมูล พ่อแม่ทำอาชีพประมง มีพี่น้อง 7 คน ครอบครัวเราลำบาก ไม่มีเงินส่งเรียนหรอก พี่ได้เรียนถึง ป.6 ก็เริ่มไปทำงานตามโรงงาน ทำงานรับจ้าง จนกระทั่งแต่งงาน สามีเป็นลูกจ้างเทศบาล พี่ก็ออกจากงานเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูก มีเวลาว่างก็รับจ้างเล็กๆ น้อยๆ รับจ้างซักผ้าบ้าง เป็นรายได้เสริม เพราะเงินเดือนสามีอย่างเดียว ไม่พอค่าใช้จ่าย”
.
“จนเมื่อ 8 เดือนก่อน สามีพี่เสียชีวิต เขาเส้นเลือดในสมองแตก ชีวิตครอบครัวเปลี่ยนเลย ลูกคนเล็กยังเรียนมัธยม อีกคนเรียนอาชีวะ เป็นลูกสาวทั้งคู่ เราไม่มีผู้นำครอบครัวแล้ว ก็ต้องเริ่มทำงาน หางาน จนได้งานเป็นแม่บ้านทำความสะอาด ได้ค่าจ้างวันละ 350 บาท”
.
“พี่ไปทำงานทุกวัน ขี่รถเครื่องข้ามแม่น้ำจากฝั่งอำเภอวารินฯ ไปทำงานในเมืองอุบลฯ เดือนนึงหยุดแค่ 4 วัน ก็มีรายได้ 8,000- 9,000 บาท ไว้เป็นค่าใช้จ่ายในบ้าน ให้ลูกไปเรียน ตั้งแต่สามีเสียไป ก็ทำงานหาเงินมาตลอด จนน้ำท่วม”
.
“พอน้ำท่วม พี่ก็ไปทำงานไม่ได้ เพราะน้ำท่วมสูงมาก จะอ้อมไป ก็ไกลมาก เข้างานไม่ทัน ห่วงของห่วงลูกด้วย ก็ต้องรอน้ำลด บอกเถ้าแก่ว่าเดินทางไม่ได้ ขอลาหยุดก่อน ตั้งแต่ตอนนั้นก็เป็นเดือนแล้วที่ไม่ได้ไปทำงาน ป่านนี้เขาคงจ้างคนอื่นไปแล้ว”
.
“ตอนน้ำท่วมปี 2562 ข้าวของในบ้านก็ไปกับน้ำหมด เอาอะไรออกมาไม่ได้เหมือนกัน แต่ปีนั้นพี่ยังมีหัวหน้าครอบครัว ยังมีสามี เราก็ยังมีแรงทำ บ้านพัง ของเสีย เขาก็ซ่อมใหม่ได้ แต่ปีนี้ไม่เหมือนเดิม ไม่มีสามีแล้ว ปีนี้น้ำขึ้นถึงชั้นสอง ของที่ขนเก็บจมน้ำหมด ตู้เย็น เตียงลอยตามน้ำ ของทุกอย่างไปหมดเลย (ร้องไห้) เหมือนมันไม่เหลืออะไรแล้ว เหลือแต่หลังคา ที่พ้นน้ำ”
.
“ตอนนี้พี่ยังมองไม่เห็นอนาคตเลย ยังไม่รู้จะทำยังไงกับมัน (เงียบ) ลูกก็ต้องไปเรียน บ้านก็ต้องทำอีกเยอะ ทุกอย่างมันต้องใช้เงินทั้งนั้น ลูกสาว เขาปลอบใจว่า แม่ไม่ต้องไปคิดอะไรมาก ปีก่อนๆ น้ำก็ท่วม เรายังผ่านมาได้ ตอนนี้ไม่มีรายได้ ก็ยืมเงินญาติให้ลูกได้ไปเรียน ของแจกที่ได้ ก็เอาไปกินกันก่อน เดี๋ยวพอน้ำลด เดินทางได้เหมือนเดิม พี่จะลองไปคุยกับเถ้าแก่เขาดู เผื่อเขาจะรับพี่กลับไปทำงานเหมือนเดิม”
—————————————————-
จินตนา ควรเมืองกล้า อายุ 53 ปี
ผู้ประสบอุทกภัย ชุมชนท่ากอไผ่
อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
—————————————————-
บทสัมภาษณ์นี้ ทีมงานกระจกเงา คุยกับพี่จินตนา ตั้งแต่ปลายเดือนที่แล้ว กระทั่งถึงตอนนี้ ที่บ้านท่ากอไผ่ บ้านของเธอ ยังมีน้ำท่วมขัง เพราะอยู่ติดริมน้ำมูล ทีมงานประเมินว่าอีกเกือบสิบวัน น้ำจึงจะลด ถึงวันนั้น เราจะจัดกองกำลังอาสาเข้าหมู่บ้าน ไปช่วยครอบครัวของเธอ รวมถึงชาวบ้านรายอื่นๆ ด้วย
Share Button

บทสัมภาษณ์ทีมงานจ้างวานข้า: หนึ่งคำถาม หลายคำตอบ

“เป็นช่างไฟมา 40 ปี​ ทำเป็นหมด
ซ่อมสวิตซ์น้ำท่วม เดินไฟได้
เรื่องไฟโอเค เป็นความสามารถพิเศษ
ทำมาแต่เด็กจนเกษียณ​เลย”
.
ประโยคขิง​ๆ ของจ้างวานข้า
เมื่อถูกถามว่า​ จะไปทำอะไร
ในการไปฟื้นฟูบ้านน้ำท่วมที่อุบล
.
เพลงลอยมา
“ใจสู้หรือเปล่า​ ไหวมั้ยบอก​มา
โอกาส​ของผู้กล้า​ ศรัทธา​ไม่มีท้อ”
————————–
สนับสนุน​จ้างวานข้า​ IN อุบลราชธานี​ได้ที่​
.
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-58289-4 SCB
.
กองทุนภัยพิบัติมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-258298-3 SCB
Share Button

สู่ผู้ประสบภัยชาวอุบล ตู้กับข้าวตู้ใหม่ที่เคยเก่ามาก่อน

เมื่อตู้กับข้าว 2 ตู้นี้ตั้งอยู่เคียงข้างกัน
มันทำให้ตู้ทางซ้ายมือดูเป็นตู้ใหม่
.
แท้ที่จริงแล้ว
มันเป็นตู้กับข้าวเก่า
ที่มูลนิธิกระจกเงาได้รับมาจากผู้บริจาค
.
และเมื่อเราไปเห็นสภาพบ้านน้ำท่วม
ของชาวบ้านที่วารินชำราบ จ.อุบลฯ
และได้เห็นตู้กับข้าวและสิ่งของต่างๆ
.
เราไม่สงสัยเลยว่า
ตู้กับข้าวที่มีคนนำมาบริจาคมานี้
มันควรเดินทางต่อไปที่ไหน
.
“การแบ่งปันของคุณเปลี่ยนแปลงสังคมได้”
Share Button

รอยเปื้อนบนตัวพวกเขา ได้มาจากการล้างบ้านที่อุบล

ใจเกิน 100 อย่างแน่นอน​
อายุเกิน 1000 อย่างไม่ต้องสงสัย
.
ทีมจ้างวานข้า​ IN​ อุบล​ราชธานี
ภารกิจล้างซ่อมแซม​บ้านผู้ประสบ​ภัยน้ำท่วม
.
บ้านนั้นสะอาด​แล้ว​
ความเลอะเปรอะเปื้อน​
มาอยู่ที่พวกเขาแทน
.
เขาบอกว่าตัวพวกเขาล้างได้ง่าย
แต่บ้านชาวบ้านต้องช่วยกัน

———————–

สนับสนุน​จ้างวานข้า​ IN อุบลราชธานี​ได้ที่​
.
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-58289-4 SCB
.
กองทุนภัยพิบัติมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-258298-3 SCB

Share Button

เสียงแห่งชีวิตของทีมล้างบ้าน “จ้างวานข้า” กับการทำงานที่ไร้ความเหนื่อย

คนหน้าซ้าย 67 ปี คนขวา​ 57​ ปี​ พวกเขาเป็นทีมล้างบ้านจากจ้างวานข้า​ ทีมล้างบ้านครั้งนี้มีทั้งสิ้น​ 19 คน​ ล้างบ้าน​ 14 คน​ ช่างไฟ​ 3 คน​ ทำครัว​ 2 คน
.
อายุมากสุดในงานนี้คือ​ 77 ปี​ ตำแหน่งของแกเป็นหัวหน้าทีมช่างไฟฟ้า​ 3วัน​ เดินไฟฟ้าใหม่ให้ชาวบ้านมาแล้ว​ 2 หลัง และทีมแกมีกัน​ 3 คน
.
พวกเขาทั้ง 19 คน​ ตื่นก่อนตี 5 กันทุกวัน​ เตรียมตัวพร้อมทำงาน​ 7 โมงเช้า​ ระหว่างรอรถไปทำงาน​ ประสบการณ์​ชีวิตเมื่อหนหลัง​ถูกเล่าแลกเปลี่ยน​กันอย่างสนุก
.
ระหว่างการงานล้างบ้าน​ ซ่อมไฟฟ้า​ เสียงพูดคุยแทบไม่มี​ มีแต่เสียงขัดถูพื้น​และผนังบ้าน​ เสียงตอกตะปูเดินสายไฟฟ้า​ ครึดๆๆ​ โป๊กๆๆ
.
เสร็จงานในทุกวัน​ เดินออกมาชื่นชมผลงานที่ถนน​ แล้วเสร็จตะโกนดังด้วยคำว่า​ “เฮ้ๆๆ” อย่างสนุกสนาน​ เหมือนที่ผ่านมา​นั้น ไม่มีความเหน็ดเหนื่อยดำรงอยู่​เลยจริงๆ
——————————————
สนับสนุน​จ้างวานข้า​ IN อุบลราชธานี​ได้ที่​
.
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-58289-4 SCB
.
กองทุนภัยพิบัติมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-258298-3 SCB
Share Button

ชุดชั้นในมือสองของผู้ประสบภัย ในภาวะที่ไร้สิ่งของติดตัว

ในวันที่มูลนิธิกระจกเงาไปแจกของ
ให้ชาวบ้านผู้ประสบอุทกภัย
ใน อ.วารินชำราบ
.
ชุดชั้นในมือสองจึงถูกหยิบทีละตัวสองตัว
ตัวไหนถูกใจและพอใส่ได้
ก็จะกลับกลายเป็นชุดชั้นในตัวใหม่
ทดแทนตัวเดิม ที่แช่น้ำจนเสียหาย
.
เพราะในภาวะที่ไม่เหลืออะไรติดตัว
ชุดชั้นในมือสองสภาพดียังเป็นทางเลือก
ที่จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย
ให้พวกเธอได้อีกทางหนึ่ง

————————————————

ส่งต่อชุดชั้นในมือสองสภาพดี
ได้ที่ มูลนิธิกระจกเงา เลขที่ 191
ซอย วิภาวดีรังสิต 62 แยก 4-7
แขวงตลาดบางเขน เขต หลักสี่ กทม. 10210
โทร.061-909-1840, 063-931-6340

Share Button

จนกว่าคราบโคลนจะจางลง บนฟูกที่นอนเก่าของป้านัท

บ้านของป้านัท เป็นบ้านหลังที่สองของวันนี้
ที่อาสาล้างบ้านเข้าไปช่วยย้ายของและขัดล้าง
เราช่วยแกยกของที่เสียหายออกมาทีละชิ้น
จนมาถึงของชิ้นใหญ่อย่างฟูกที่นอน
.
‘อันนี้ป้าจะเก็บไว้’ แกส่งเสียงบอกอาสาสมัคร
แกให้เหตุผล ว่าแกเก็บเงินมาหลายปี
กว่าจะได้ที่ฟูกนอนหลังนี้มาไว้ที่บ้าน
มันเป็นที่นอนเก่าขนาด 5 ฟุต
ที่แกซื้อมาจากน้ำพักน้ำแรง
ด้วยอาชีพแม่ค้าน้ำส้มคั้นสด
.
แต่มาวันนี้ น้ำท่วมเพิ่งลด
แกขายของได้บ้างไม่ได้บ้าง
รายได้มันไม่พอให้ไปหาซื้อใหม่
.
แกจึงจำเป็นต้องเก็บฟูกนอนเก่า
ที่เริ่มเน่า และเต็มไปด้วยโคลนไว้
พยายามซักขัดมันไป
จนกว่าคราบความเสียหายจะพอจางลง
____________________

นอกจากครอบครัวป้านัท
ยังมีชาวบ้านอีกหลายครอบครัว
ที่ตกอยู่ในสถานการณ์เช่นเดียวกัน
มูลนิธิกระจกเงา รับบริจาคที่นอนทั้งมือหนึ่งและมือสองสภาพดี เพื่อส่งต่อให้กับชาวบ้านผู้ประสบภัย
.
บริจาคได้ที่ มูลนิธิกระจกเงา
191 ซอยวิภาวดี62 แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กทม. 10210 โทร 061 909 1840 , 063 931 6340
.
google map :
https://goo.gl/maps/a7wgGZf2JsLqbfTG9

Share Button

บ้านทุกหลังที่เขาทำความสะอาด คือทุกรอยยิ้มที่ส่งให้เขาอยากใช้ชีวิตต่อ

“แต่ก่อนถ้ามีคนถามว่าอยากมีชีวิตอยู่ถึงอายุเท่าไหร่ ผมกล้าบอกเลยว่า อายุสัก 35-40 ผมก็ไม่อยากอยู่แล้วว่ะ แต่ถ้าถามวันนี้ ผมจะตอบว่าผมอยากอยู่ไปตลอดเลย เพราะตั้งแต่ได้มาทำงานอาสาสมัคร มันทำให้ผมไม่อยากตายด้วยซ้ำ”
.
“บ้านผมมีกัน 3 คน ผมอยู่กับยายและแม่ ยายผมติดเตียงมาหลายปี วันนึงยายป่วยหนักจนต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล ผมกับแม่ผลัดกันเฝ้าผลัดกันดูแล จนถึงเวลาที่หมอประเมินว่ายายกลับบ้านได้แล้ว แต่ยายต้องใช้ถังออกซิเจนช่วยในการหายใจ”
“ตอนนั้นรายได้ผมเริ่มน้อยมาก น้อยขนาดที่ผมไม่กล้าตัดสินใจ ว่าจะเอายายกลับบ้านดีมั้ย จะหาเงินจากไหนมาซื้อถังออกซิเจนใบละหลายๆ พัน ผมไม่กล้าพูดเลย เพราะผมก็ยังเอาตัวเองไม่รอด จนพี่ที่รู้จักเขาแนะนำที่ยืมถังออกซิเจน เลยได้มารู้จักกับศูนย์ป่วยให้ยืมที่อุบลฯ”
.
“ช่วงที่ยายต้องออกจากโรงพยาบาล เป็นช่วงที่อุบลฯ น้ำเริ่มท่วม บ้านผมยังไม่ท่วมนะแต่ผมไปไหนไม่ได้ เพราะถนนหลายจุดน้ำมันท่วมสูง มันกระทบงานผมมากเพราะผมหาเงินจากการวิ่งรับส่งอาหาร มีวันนึงลุยน้ำไปส่งอาหารให้ลูกค้า ผลสุดท้ายคือรถผมพัง พอไม่มีรถไม่มีเครื่องมือหากิน ผมก็ทำงานรับส่งอาหารไม่ได้อีกเลย”
.
“ผมตระเวนสมัครงาน แต่มันไม่มีที่ไหนเรียก ในหัวผมมีแต่ความเครียด รู้สึกชีวิตเราหดหู่ไปหมด เลยตัดสินใจกลับไปหาพี่เจ้าหน้าที่ที่ศูนย์ป่วยให้ยืม ถามเขาว่า ‘มีอะไรให้ผมช่วยทำมั้ย’ ”
.
“ผมช่วยงานอาสาส่งอุปกรณ์การแพทย์ได้เกือบเดือน พี่ในทีมก็บอกว่าเดี๋ยวจะมีงานล้างบ้าน น้ำลดแล้ว เราต้องเข้าไปช่วยชาวบ้านล้างบ้าน”
.
“วันแรกที่ไปเห็นสภาพบ้าน โหพี่!! น้ำท่วมมันเสียหายหนักนะ ผมบอกเลยว่ามันเสียหายรองลงมาจากไฟไหม้นิดเดียวเอง บ้างบ้านเป็นคนป่วยอีก ป่วยแล้วยังไม่พอนะ ตอนน้ำท่วมกลายเป็นไม่มีบ้านอยู่”
.
“ผมเห็นแล้วนึกถึงว่าถ้าเป็นยายเรา เราจะทำยังไง ไม่มีบ้านอยู่แล้วเขาไปเข้าห้องน้ำกันที่ไหน อาบน้ำกันตรงไหน ของใช้ในบ้านเละหมดเลย เขาจะเอาเสื้อผ้าที่ไหนใส่ คำถามมันเข้ามาในหัวเต็มไปหมด มันเป็นความเดือดร้อนของชาวบ้าน ที่เขาเองก็ยังไม่มีทางออก บ้านบางคนหลังคายังมิดน้ำอยู่เลย มันไม่มีใครเข้าไปช่วยเขา ผมเลยตัดสินใจว่าจะลงงานล้างบ้านกับทีมแบบเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ให้ชาวบ้านเขาได้กลับมาอยู่บ้าน ได้กลับมาใช้ชีวิตแบบปกติเร็วๆ”
.
“หลายบ้านที่หลังเราทำความสะอาดให้เสร็จ เจ้าของบ้านชอบซื้อนู้นนี่มาให้ ผมบอกเขาตลอดว่าให้เก็บไว้กินเลย เพราะแค่รอยยิ้มกับคำว่าขอบคุณที่เขามอบให้ สำหรับคนอย่างเรามันก็มากพอแล้ว”
————————————-
อั้ม เจตน์สฤษฎ์ ราโชติ
อาสาล้างบ้านมูลนิธิกระจกเงา
————————————-
เราเปิดศูนย์อาสาล้างบ้าน มาแล้วหนึ่งเดือน
ช่วยกันฟื้นฟูบ้านชาวบ้านหาเช้ากินค่ำ
รวมถึงชาวบ้านกลุ่มเปราะบาง
ที่ไม่มีกำลังล้างบ้านไปแล้วกว่า 50 หลัง
เพื่อเยียวยา ลดระยะเวลาให้พวกเขา
ได้กลับเข้าบ้าน อย่างเร็วที่สุด
.
สนับสนุนภารกิจล้างบ้านได้ที่
บัญชีกองทุนภัยพิบัติ มูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-258298-3 SCB
Share Button

ในบ้านที่กำลังผุพัง เราซ่อมมันเพื่อให้เธอได้อยู่กับพ่ออีกครั้ง…

“สองเดือนได้แล้ว ที่พ่อต้องไปอยู่ศูนย์พักพิงสำหรับคนป่วย แกถามเราทุกวัน ว่าจะได้กลับบ้านกันตอนไหน แกอยากกลับบ้านแล้ว”
.
“พ่อแกอายุ 80 ติดเตียงมาตั้งแต่ปี 2547 แขนขาหงิกงอ เหยียดออกไม่ได้ ทำอะไรเองไม่ได้ ตอนน้ำเริ่มมาแรกๆ เราคิดว่ามันจะท่วมไม่หนัก เพราะบ้านเราเจอน้ำท่วมทุกปีมันก็ไม่เคยสูงเกินชั้นสอง เราเลยย้ายพ่อหนีน้ำจากชั้นหนึ่งขึ้นชั้นสอง ส่วนของในบ้านก็เอาขึ้นไปผูกไว้กับขื่อ”
.
“แต่เราคิดผิด น้ำมันสูงขึ้นเรื่อยๆ จนมาปริ่มตรงเตียงพ่อ เลยให้คนรู้จักเอาเรือมารับ ขอให้เขาพาพ่อไปศูนย์พักพิงก่อน แล้วให้ลูกชายเราที่อยู่มัธยม 5 ตามไปเฝ้า ส่วนตัวเราหาเศษแผ่นไม้มาสร้างเพิงตรงเนินข้างบ้าน เพราะบ้านเรายังอยู่ตรงนี้ มันต้องมีคนเฝ้าบ้าน”
.
“เราอยู่ตรงเนินข้างบ้าน ตั้งแต่วันที่น้ำมิดหลังคา เทียวไปเทียวมาเฝ้าพ่อกับเฝ้าบ้าน เป็นอย่างนั้นสักพักจนน้ำเริ่มลดลงครึ่งนึง ตอนนั้นก็เริ่มเห็นสภาพบ้าน บ้านที่พ่อกับเราช่วยกันสร้าง มันพังไปหมด สังกะสีหลุด แผ่นไม้หลุด เหลือแต่โครง ความรู้สึกตอนเห็นคือมันอยากจะร้องไห้ออกมาดังๆ มันอึดอัดอยู่ในใจ ถึงขั้นอยากจะโดดน้ำมูลตายไปเลย”
.
“ของใช้ในบ้านมันก็ไม่เหลือ บ้านเราอยู่ติดริมน้ำมูล พอน้ำมันซัดของก็ไหลออกไปในแม่น้ำ เราก็ไปขอยืมเรือพายคนรู้จักอีกรอบ รอบนี้เอามาพายเก็บของ มันไม่มีทางเลือกเพราะของแต่ละอย่างมันไม่ใช่ถูกๆ ไม่ได้ซื้อมาง่ายๆ ที่เก็บได้ก็เอามาเช็ดมาล้าง ส่วนที่เก็บไม่ได้ก็ต้องปล่อยให้มันลอยหายไป”
.
“หลายคนเขาก็พูดกับเรา ว่าให้เราถมที่ให้มันสูงขึ้น น้ำจะได้ไม่ท่วมหนัก เพราะบ้านเราเป็นลุ่มต่ำกว่าบ้านอื่นๆ บางคนก็ว่าให้เราย้ายไปอยู่ที่อื่น เราก็อยากจะทำอยู่หรอก แต่ขาดอย่างเดียวคือเงิน จะทำอย่างเขาว่า มันก็ต้องใช้เงิน ลำพังหารับจ้างทั่วไปอย่างเราไม่ได้มีเงินมากมาย ยิ่งมาตอนนี้อีกแทบจะไม่มีรายรับเลย”
.
“เราเคยทำงานรับจ้างล้างจานอยู่ร้านอาหาร แต่พอน้ำมันท่วมมันเดินทางยาก ก็ไปทำงานไม่ได้ ป่านนี้เขาคงให้เราออกแล้วเพราะเราขาดงานมานาน ก็เหลือแต่เบี้ยคนแก่ คนพิการของพ่อ ที่พอจะได้จ่ายได้ซื้อข้าวกินกัน”
.
“วางแผนไว้ว่า ถ้าน้ำลดหมดแล้ว เราจะรีบล้างทำความสะอาดให้พ่อได้กลับมาอยู่ นอนกันตรงพื้นไม้ที่ยังไม่ผุไปก่อน เพราะตอนนี้เรายังไม่มีเงิน ได้แต่บอกพ่อไว้ว่าให้อดทนรออีกหน่อย หนูจะไปหารับจ้างเด็ดพริก เด็ดผัก เก็บเงินมาซ่อมบ้านเรา แต่หนูขออย่างเดียว ขอให้พ่ออยู่รอจนถึงวันนั้น”
———————————————
ป้าพิศ วัย 59 ปี ผู้ประสบอุทกภัย
ที่ยังต้องดูแลผู้ป่วยติดเตียง
———————————————
เนื่องจากบ้านของป้าพิศ เป็นที่ลุ่มน้ำขัง
ทีมอาสาล้างบ้านจึงนำเครื่องสูบน้ำ
ช่วยกันสูบน้ำออกจากบ้านของเธอ
จากนั้นเราเข้าไปช่วยขัดล้างบ้าน
เพื่อรอต้อนรับพ่อของเธอที่ป่วยติดเตียง
.
และเรามีแพลนจะช่วยเธอซ่อมบ้าน
ให้ครอบครัวของเธอพออยู่ได้
ไม่ต้องทนนอนหนาวในบ้านที่ไม่มีผนังบังกาย
บนพื้นไม้ที่กำลังผุพังลงทุกที
.
ข้าวของ เฟอร์นิเจอร์ ที่เราได้รับบริจาค
จากโครงการแบ่งปันเพื่อการเปลี่ยนแปลง
จะมาเติมเต็มให้กับบ้านของป้าพิศ และครอบครัว
.
สนับสนุนภารกิจอาสาล้างบ้านและซ่อมบ้าน
ผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วม อ.วารินชำราบ จ.อุบลฯ
ได้ที่บัญชี กองทุนภัยพิบัติ โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-258298-3 ธ.ไทยพาณิชย์
.
หรือหากคุณเป็นบริษัท กลุ่มองค์กร
หรือในโครงการกิจกรรม CSR
ประสงค์จะช่วยเหลือในงานซ่อมสร้างบ้าน
สามารถติดต่อเราได้ที่
0619091840 , 0639316340
Share Button

เปลี่ยนเสื้อผ้าเป็น ‘รอยยิ้ม’ สู่ผู้ประสบภัยชาวอุบล

เราเอาเสื้อผ้ามาแจก
ให้กับชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมที่อุบล​ราชธานี
เสื้อผ้าที่มาทดแทนตัวที่มันเน่าคาตู้เสื้อผ้าไป
ลอยไปกับน้ำที่ท่วมมิดหลังคาบ้าน
.
ยายคนนึงนั่งรอคิวที่ข้างทาง
เพราะยืนนานไม่ไหว
​จากเหตุลื่นล้มตอนล้างบ้านตัวเอง
แกนั่งรอคิวจากหางแถวสุดท้าย
ประมาณ 100 กว่าคิวได้
.
“แกบอกไฟฟ้าเพิ่งมีใช้​เอง​ ยุงก็เยอะ​
เสื้อผ้าก็ไปกับน้ำหมด​เลย”
แกถามต่ออีกว่า “มาจากที่ไหนกัน?”
.
เราตอบ​ “มูลนิธิ​กระจกเงา​ครับ”
แกถามเพิ่มเติมว่า​ “ให้เสื้อคนละกี่ตัว?”
เราตอบ​ “คนละ 20 ตัวครับ
เสื้อหนาวอีกคนละ 1 ตัว​
ให้เลือกไซส์เลือกลายเลือกสีได้​
มีข้าว​มีของอื่นๆ ด้วยครับ
ยายไม่ต้องห่วงเราเตรียมมาเยอะอยู่ครับ​
มีคนที่เขาบริจาคช่วยมาเยอะอยู่ครับ”
.
แกบอก ขอบอกขอบใจ
.
อีกฝั่งนึง​ สาววัยรุ่น 3 คน
กำลังกางดูเสื้อยืดที่ได้รับไป​
เพื่อนคนนึงในกลุ่มเอ่ยปากบอกชม
ว่า​ลายเสื้อสวยดีจัง
ไม่ทันไร วัยรุ่น​คนกางเสื้อเอ่ยปาก
บอกเป็นภาษาอีสานว่า
“ข้อยให้เจ้าเด้อ​ เป็นของขวัญวันเกิด”
เจ้าของวันเกิดยิ้มให้เพื่อนแก้มแทบปริ
.
มูลนิธิ​กระจกเงา​ เรารับบริจาคของใช้หลายอย่าง
ของส่วนหนึ่งทำหน้าที่ระดมทุน
​เพื่อเป็นทุนในการขับเคลื่อน​งานทางสังคม​ต่างๆ
.
อีกส่วนหนึ่ง​นำมาแจกจ่ายให้กับผู้คนที่ประสบภัย
ทั้งทางสังคมและธรรมชาติ
.
เรามีสโลแกน​ของงานนี้ว่า
“การแบ่งปันของคุณ​เปลี่ยนแปลงสังคม​ได้”
.
หลายเรื่องใหญ่ได้รับการเปลี่ยนแปลงไปบ้างแล้ว​
แม้ในเรื่องเล็ก​ เช่น ​เมื่อของแบ่งปันนี้
มาถึงมือชาวบ้านที่อุบลฯ
การเปลี่ยนแปลง​บนใบหน้าพวกเขาก็เกิดขึ้น
.
“รอยยิ้ม” คือการเปลี่ยนแปลง​ที่ว่านั้น
—————————————————
แบ่งปันสิ่งของเหลือใช้ของคุณ
เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเปลี่ยนแปลง
ได้ที่ มูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 191 ซอย วิภาวดีรังสิต 62 แยก 4-7
แขวงตลาดบางเขน เขต หลักสี่ กทม. 10210
โทร.061-909-1840, 063-931-6340
Share Button