นิทานข้างเตียง

S__159989861

“เมื่อเสียงนิทานจากข้างเตียงดังขึ้น เสียงของความสุข รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะของเด็ก ๆ ก็ดังขึ้นด้วยเช่นกัน”

เราเข้ามาในวันที่น้องลั้ลลา ต้องเข้าไปทำ MRI ในช่วงเย็น จึงถูกสั่งให้งดอาหารมาตั้งแต่ 7 โมงเช้า ทำให้วันนี้ดูอ่อนเพลียกว่าทุกวัน แม้ว่าน้องจะค่อนข้างกังวลกับการรอเข้าไปทำ MRI แต่ก็ยังตั้งใจฟังนิทานที่เราเล่า และตั้งใจทำหุ่นกระดาษจากตัวละครในนิทานที่เราเล่าให้ฟังอย่างเต็มที่

“กระดุ๊กกระดิ๊ก กระด๊อกกระแด๊ก” เสียงดิ้นของตั๊กแตน ที่มาของชื่อนิทานที่เรานำมาเล่าให้น้องฟัง เป็นเรื่องราวของยายเช้าที่ชอบหาวปากกว้าง จนตั๊กแตนบินเข้าปาก ยายเช้าจึงกินสัตว์ตัวอื่นเพื่อให้ตั๊กแตนหายไปแต่ก็ไม่เป็นผล

นอกจากนิทานเรื่องนี้จะสอนเรื่องสุขอนามัยให้กับเด็ก ๆ อย่างการหาวควรต้องปิดปากแล้ว อีกนัยหนึ่งยังสอนให้เรารู้จักการแก้ปัญหาอย่างถูกต้อง ควรแก้ปัญหาที่ต้นเหตุไม่ใช่ที่ปลายเหตุ และความเป็นเหตุเป็นผลที่เด็ก ๆ จะสามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้ด้วย

หลังจากนิทานจบลง แต่รอยยิ้ม และความสุขที่เรามอบให้ผ่านนิทานยังคงอยู่ ในโลกแห่งความจริง เราไม่มีพลังวิเศษใด ๆ อย่างในนิทาน แต่เราเชื่อว่าความทุกข์ ความเศร้า ความกังวลที่น้องกำลังเผชิญ สิ่งเหล่านั้นเราจะสามารถรักษาได้ด้วยกำลังใจ เราเพียงแต่หวังว่าวันหนึ่งน้องจะได้นอนฟังนิทานในห้องนอนไม่ใช่นิทานจากข้างเตียงพยาบาลเหมือนอย่างเคย

เรื่องโดย : นางสาวปัญนัชยา บุญญเสธ
มหาวิทยาลัยรังสิต

Share Button

อาสา

36539156_1959585587424784_8743712210951340032_o

“เรามาทำอาสาเพื่อส่งต่อสิ่งดีๆให้กับผู้อื่น เราไม่จำเป็นต้องไปสร้างสิ่งยิ่งใหญ่ แค่เข้าไปสร้างความสุขในใจ และทำด้วยใจที่อยากให้ก็เพียงพอแล้ว แม้แบ่งเบาความทุกข์ในใจไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็ภูมิใจที่อย่างน้อยก็ได้ช่วยเหลือ”

เด็กหลายคนที่ป่วย เขาก็ยังมีช่วงเวลาที่มีความสุข มีเสียงหัวเราะ มีสังคม เหมือนกับเด็กทั่วไป
เพียงแต่พื้นที่เหล่านั้นถูกจำกัดให้แคบลง แต่สำหรับเด็กป่วยติดเตียงแล้ว นอกจากความสุขที่ถูกจำกัดให้น้อยลงกว่าเดิมปฏิสัมพันธ์ต่อคนรอบข้างก็ยังถูกจำกัดตามลงไปด้วย

น้องฮุสเซน ก็เป็นเด็กป่วยติดเตียงอีกคนหนึ่งที่ขาดปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง น้องมักไม่ค่อยพูดจากับใคร และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับโทรศัพท์ อาสาจึงเข้าไปพูดคุย ทำกิจกรรมร่วมกับน้องเพื่อให้น้องได้มีสังคม และได้ทำกิจกรรมอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการจ้องแค่หน้าจอโทรศัพท์เพียงอย่างเดียว

ด้วยอาการป่วยของน้อง ทำให้ขาน้องไม่มีแรง เวลาห้อยขาลงจากเตียง น้องดูเจ็บมาก สิ่งที่ทำได้คือ ดึงหนังตัวเอง และใช้มือที่ดูอ่อนแรงนั้นช่วยพยุงขาของตัวเองขึ้นเท่านั้นการเลือกกิจกรรม จึงจำเป็นต้องอาศัยความสะดวกของน้องเป็นหลัก

เกมเศรษฐี และเกมบิงโก จึงเป็นสิ่งที่น้องเสนอ และเลือกที่จะเล่น ซึ่งพี่ๆอาสาก็เห็นว่าเป็นเกมที่สามารถจะช่วยพัฒนาความรู้ในเรื่องของการนับเลข และการจดจำของน้องให้ดีมากยิ่งขึ้น เนื่องจากน้องเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลตั้งแต่เด็กๆ ทำให้น้องไม่ได้เข้าโรงเรียน การเรียนรู้บางส่วนจึงขาดไป หลังจากทำกิจกกรมเราเห็นได้ชัดว่าน้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างมากยิ่งขึ้น และยังสังเกตุเห็นว่าน้องสามารถนับเลขได้เร็วขึ้น สามารถใช้ตามองแล้วคิดในใจได้ โดยไม่ต้องใช้นิ้วนับแล้ว

“พี่จะมาอีกเมื่อไหร่ ผมอยากให้พี่มาอีก” เป็นคำถามสุดท้ายที่น้องฮุสเซนถามขึ้นก่อนอาสาจะกลับ

หลายอาทิตย์ที่ผ่านมา แค่ได้เห็นรอยยิ้มของเด็กๆ มันก็มีความสุขในใจมากแล้ว แต่สำหรับครั้งนี้
ยิ่งมีความสุขมากขึ้นไปอีก ทำให้เราเข้าใจ และเห็นอะไรหลายๆอย่างในชีวิตมากขึ้น

“ไม่ใช่แค่เราให้น้อง แต่น้องก็ให้เราเหมือนกัน”

เรื่องโดย : นางสาวปัญนัชยา บุญญเสธ
มหาวิทยาลัยรังสิต

Share Button

ศิลปะการจัดวาง

“ป้าไม่เคยทำหรอกงานศิลปะพวกนี้ เคยทำแต่งานก่อสร้าง”

ผู้ป่วยคนหนึ่งกล่าว ขณะที่ตาเพ่งมองดอกไม้ประดิษฐ์จากไหมพรมหลากสีที่บรรจงทำขึ้นด้วยตัวเองทุกชิ้นอย่างตั้งใจ คุณป้าเสียบดอกไม้เหล่านั้นลงกระถางด้วยรอยยิ้มน้อยๆ ก่อนจะจัดวางไว้ที่หัวเตียงอย่างดี

งานศิลปะเหล่านี้จะช่วยให้พวกเขาได้แสดงออกถึงความคิด ความรู้สึกและประสบการณ์ผ่านทางงานศิลปะ รวมทั้งเป็นการสื่อถึงสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจออกมาภายนอกโดยไม่ต้องใช้คําพูด

ผู้ป่วยหลายคนมีสภาวะที่ไม่สามารถบอกเล่าความรู้สึกนึกคิดออกมาเป็นคำพูดได้ หรือมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุบางคนอาจใช้เหตุผลในการดำเนินชีวิตมาตลอด จึงมีความรู้สึกเครียด และกดดันไม่น้อย

37021315_1977424718974204_431662501218746368_n

โครงการโรงพยาบาลมีสุขได้มีโอกาสเข้าไปทำกิจกรรมศิลปะบำบัดกับผู้ป่วยในหลายๆโรงพยาบาล
เป้าหมายของเราไม่ใช่ทำให้โรคมะเร็งหายไป หากแต่เป็นการช่วยเหลือให้คลี่คลายจากความทุกข์ ความกังวล

“บางคนอาจมองว่า ศิลปะคือการระบายออกทางอารมณ์ แต่แท้จริงแล้ว ศิลปะยังคืนความสวยงามกลับสู่ข้างในจิตใจเราด้วย”

เรื่องโดย : นางสาวปัญนัชยา บุญญเสธ
มหาวิทยาลัยรังสิต

Share Button