จ้างวานข้าเปลี่ยนคนไร้บ้านให้มีที่อยู่ได้อีกราย

“คนมีบ้านลำดับที่ 52”
.
“ลุงไม่เคยเช่าห้องเลย ที่นอนที่อยู่ล่าสุดคือ บนรถทัวร์ เพราะเราทำงานตรงนี้ออกต่างจังหวัดก็นอนบนรถ อาบน้ำปั๊ม เรียกว่าใช้ชีวิตบนรถทัวร์นั่นล่ะ ลุงไม่เคยคิดจะเช่าห้องเพราะกินอยู่แบบนี้ได้สบาย ๆ แล้วเราจะเสียค่าห้องไปทำไม อีกอย่างมันมีงานวิ่งรถตลอดไม่เคยได้หยุด กินนอนบนรถเนี่ยล่ะสะดวกที่สุดแล้ว”
.
“ลุงออกมาไร้บ้านช่วงกลางปี 2563 เพราะโดนเลิกจ้าง ซ้ำแล้วตอนนั้นลุงก็มีปัญหากับทางบ้านจึงกลับบ้านไม่ได้ เครียดมาก ตอนนั้นลุงทำงานเป็นคนขับรถทัวร์ พอเจอโควิดหนัก ๆ บริษัทโดนผู้โดยสารแคนเซิลหมดเลย บริษัทขาดทุนหนักมากจะปรับตัวไปทางไหนก็ยากไปหมด เจ้านายก็เลยปิดกิจการและก็ตกงานตั้งแต่ตอนนั้น ช่วงนั้นเงินเก็บก็ไม่มีไปเช่าห้องอยู่เพราะเรานอนบนรถทัวร์มาโดยตลอด เรียกได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างจบสิ้นแล้วมีเท่าไรก็ช่วยชาวบ้านเขาไปหมด พอหมดตัวก็เดินไปเรื่อยเปื่อยระเหเร่ร่อน ค่ำไหนนอนนั่น ยกมือไหว้ขอข้าวเขากินไปเรื่อย”
.
“โอ้โหตอนเร่ร่อนลำบากมาก มีบางช่วงที่คิดสั้นเพราะไม่รู้จะหาทางออกกับตัวเองยังไง แต่ที่แรกที่ไปคือหัวลำโพง ไปนั่งมองรถไฟ คือมันเจ็บปวดนะเพราะมันกลับบ้านไม่ได้ด้วยไงด้วยปัญหาหลายอย่าง มองดูรอบ ๆ ก็เห็นหลายคนมีสภาพไม่ต่างจากเรา นอนกอดกระเป๋า วิ่งไปเอาข้าว ก็เลยฮึดสู้ เอาเว้ยสู้ใหม่อีกสักครั้ง ลุงก็เลยหิ้วกระเป๋าเดินไปเรื่อย ๆ ไปถึงสวนลุม พอไปถึงก็ค่ำแล้วไงก็เลยตั้งใจจะนอนที่นี่ มาเจอยามเขาบอกว่าไม่ให้นอนนะแต่นั่งหลับได้”
.
“คืนแรกจำได้เลยว่าหลับไม่ลง ยุงก็ตอมก็กัดเต็มตัว เงินจะซื้อยากันยุงยังไม่มีเลย ความรู้สึกตอนนั้นคือ ชีวิตกูมันรันทดจังเลยวะ ทางไปข้างหน้าก็เลือนรางเหลือเกินจะอยู่รอดอีกกี่ปีกัน เช้ามาก็ขึ้นรถเมล์มาเรื่อยเปื่อยมาถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตอนนั้นก็แปลกใจเห็นคนจอดรถลงมาแจกข้าวและคนยืนต่อกันเป็นแถวเลย คนบนรถเมล์เขาบอกว่า เขาแจกกันประจำแจกฟรีด้วย ไอ้เราก็รีบลงมาต่อแถวรับข้าวกับเขาบ้าง ได้ข้าว 1 กล่อง น้ำ 1 ขวด ขนม 1 ชิ้น ก็คิดนะว่า เออ ดีเหมือนกันนี่หว่าประหยัดตังค์ได้ 40-50 บาท ก็กินเอาประทังชีวิตไป”
.
“ถ้าถามว่าความเป็นอยู่ยังไงบ้างตอนนั้น มาอยู่แถวราชดำเนินเนี่ยไม่ใช่ว่าอยู่ง่ายนะ อยู่ยากมากเลย มันมีนักเลงเยอะ ยิ่งช่วงแรกเราเนี่ยเป็นคนแปลกหน้าเวลาไปรับข้าวก็จะโดนพวกนักเลงไล่ให้ไปอยู่ข้างหลังตลอด บางทีก็โดนแทรกพอจะถึงคิวเราข้าวก็หมดแบบนี้ จะอาบน้ำก็ยากเพราะต้องแอบเข้าตามปั๊ม ถ้ามีคนทำความสะอาดมาเห็นก็โดนว่าเอา ส่วนเสื้อผ้าจะซักยังไงไม่มีเงินซื้อแฟ๊บ เสื้อผ้าก็ใส่หมุนเวียนไป 3 ตัว บางทีก็ซักน้ำเปล่า บางทีก็ซื้อสบู่มาซักเพราะมัน 2 in 1 ไงได้ใช้ถูตัวด้วย อีกอย่างมีคนขี้เมาอยู่ด้วย บางครั้งเมาและก็ฉี่ราดไปทั่วก็ทนนอนเหม็นฉี่กันไป ย้ายไปตรงไหนก็มีแต่ป้ายบอกว่าห้ามนอน หรือไม่ก็เจอแต่พวกขาใหญ่เจ้าของพื้นที่มาขู่ไม่ให้นอนก็มี”
.
“แว๊บแรกเลยนะที่เขาบอกว่าจะช่วยเรื่องห้องเช่าคิดเลยว่า รอดตายแล้วกู ดีใจมาก ๆ (ร้องไห้) เพราะตอนนั้นเรื่องเช่าห้องคือแทบไม่ได้คิดเลย จะเอาปัญญาที่ไหนไปเช่า ไหนจะค่าแรกเข้าค่ามัดจำอีก พอจังหวะที่เจ้าหน้าที่จ้างวานข้าบอกว่า เราจะช่วยค่ามัดจำและค่าเช่าห้อง 1 เดือนด้วย คือตกใจเลย มีแบบนี้ด้วยเหรอ เหลือเชื่อมากเพราะลุงทำงานมาทั้งชีวิตไม่มีที่ไหนช่วยเราขนาดนี้”
.
“พอถึงวันจะได้เข้าอยู่จริง ๆ เจ้าหน้าที่จ้างวานข้าขนข้าวขนของไปให้ มีพวกหม้อหุงข้าว พัดลม มีหมอน ที่นอนมาให้พร้อมอยู่ และบอกว่าตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปให้ลุงเริ่มทำงาน 5 วัน/สัปดาห์ ได้วันละ 500 บาท จะได้มีเงินไว้จ่ายค่าเช่าห้องเดือนถัดไป คิดในใจโอ้โฮเขาให้ขนาดนี้เลยนะ หัวใจมันฟูมาก ชีวิตได้เริ่มต้นใหม่อย่างจริง ๆ จัง ๆ แล้วถึงแม้จะวัยนี้ คืนนั้นยกมือไหว้เจ้าที่เจ้าทาง และเขียนความรู้สึกบันทึกใส่ไว้ในกระดาษ เขียนขอบคุณโครงการจ้างวานข้า มูลนิธิกระจกเงา ที่ทำให้ผมมีวันนี้ได้อีกครั้ง”
.
“ลุงสังเกตตัวเองตอนนี้นะ เปรียบเทียบกับตอนไร้บ้าน ขมับลุงมันโบ๋ มันเกร็ง มันตึงเครียด แต่ตอนนี้มันคลายแล้ว คล้ายว่าชีวิตเราผ่อนคลายขึ้น มีที่อยู่ หิวก็มีเงินซื้อกินได้ ได้ซื้อเสื้อผ้าจนจะไม่มีที่เก็บแล้ว (หัวเราะดังมาก)ได้ซื้อโต๊ะมาตั้งพระเป็นโต๊ะหมู่บูชาที่ห้อง ทุกวันนี้บอกตรง ๆ ได้เลยว่ามีความสุขแล้ว หนทางข้างหน้าจะเป็นยังไงก็สู้ต่อไป”
.
“การได้มาเจอจ้างวานข้า มันเหมือนเป็นของขวัญชิ้นใหญ่เลย มันเหมือนเป็นพลุ เป็นดวงประทีปส่องแสงสว่างในใจเรา ลุงยังคงคาใจที่นี่มาก คือตอนตกงานไปหางานไปที่ไหนเขาก็ไม่รับเพราะอายุเรามากแล้ว แต่เออว่ะที่นี่รับ พอรู้ว่าได้ค่าจ้างเท่านี้ก็ยิ่งแปลกใจ มันเป็นเรื่องมหัศจรรย์ในชีวิตเรานะ และยิ่งมาทำงานได้สักพักได้เห็นเพื่อนร่วมงานมีทั้งผู้สูงอายุ บางคนเดินขากะเผลกมาเลย คือมันอิ่มใจมากที่ยังมีมูลนิธิที่ทำเรื่องแบบนี้อยู่ในสังคมนี้ด้วย ลุงขอบคุณมากเลยนะ ขอบคุณที่สร้างความหวังให้กับชีวิตลุงอีกครั้ง”
————————————-
@คนไร้บ้านที่เข้าทำงานในโครงการจ้างวานข้าในเดือนกันยายน 2565
@มีห้องเช่าเป็นคนที่ 52ของโครงการจ้างวานข้าเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2565
————————————-
สนับสนุน จ้างวาน ข้าได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-58289-4 SCB
Share Button

บนกระดาษที่บันทึกความรู้สึกของอดีตคนไร้บ้าน

“ความรู้สึกของลุงเมื่อเข้าห้องเช่าวันแรกเป็นยังไงบ้าง”
.
มันคือคำถามของเราที่มีต่อสมาชิกจ้างวานข้าคนนึง ที่เคยเป็นคนไร้บ้านและปัจจุบันมีห้องเช่าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นับเป็นเหมือนของขวัญก่อนปีใหม่ของแกชิ้นหนึ่งของชีวิต
.
คำตอบของแกอยู่ในกระดาษชิ้นหนึ่งที่แกใช้มันบันทึกความรู้สึก คำขอบคุณ และข้าวของที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน
.
บางท่อนของบันทึกนั้น…
.
“ข้าพเจ้าได้ย้ายเข้ามาอยู่เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 เวลา 17.59 น. ผมรู้สึกดีใจที่ได้มีห้องอยู่ ไม่ต้องนอนข้างถนนเหมือนดังแต่ก่อน เพราะรู้สึกปลอดภัยที่ไม่ต้องถูกไล่ตอนตี 4”

————————————————
สนับสนุน​จ้างวาน​ข้าได้ที่​
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-58289-4 SCB

Share Button

ของขวัญรับปีใหม่ ทัวร์ย้อนวัยของคนชรา

ชราทัวร์
.
ปลายปีที่ผ่านมา มีโทรศัพท์สายนึงโทรหากระจกเงา ปลายสายต้องการมอบของขวัญปีใหม่ เป็นทริปพาเด็กๆ ในการดูแลของมูลนิธิไปเที่ยวตามที่ที่อยากไป เขาว่าอยากให้เทศกาลนี้เป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของเด็ก
.
เราต่อรองว่า ขอเปลี่ยนจากเด็ก เป็นคนแก่ไร้บ้านที่ทำงานกับกระจกเงาแทน เพราะขณะนี้ที่มูลนิธิ เรามีกองกำลังวัยชราจำนวนมาก ที่เป็นหนึ่งในฟันเฟืองขับเคลื่อนงานกระจกเงา เราอยากให้เขาได้รับโอกาสนี้ ให้เป็นคุณภาพชีวิตได้เที่ยวบ้างในวัยชรา
.
ในที่สุด เสาร์ที่ผ่านมา ทริปชราทัวร์ ก็เกิดขึ้น แบบ One Day Trip พาคุณลุงคุณป้ากว่า 20 ชีวิต ไปเที่ยวแบบย้อนวัย ตะลอนกรุงในย่านเมืองเก่า กทม.
.
เริ่มต้นที่ มิวเซี่ยมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ จากนั้นไปทัวร์วัดแบบจัดเต็ม มีไกด์นำเที่ยว พร้อมธงนำ พาเข้าชมจิตรกรรมฝาผนัง พระปรางค์วัดพระแก้ว ตุ๊กตาศิลาจีน สรรพวิชาหลายแขนงที่มีให้ชมในวัดโพธิ์
.
ตบท้ายละเลียดดื่มด่ำกับอาหารเย็นในบรรยากาศริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทานอาหารมื้อที่เราหวังว่า จะเป็นความทรงจำที่ดีรับปีใหม่ของทุกคน
.
หลังจบทริป คุณป้าท่านนึง กลับมาเล่าให้ทีมงานฟังว่า สำหรับเธอแล้ว ชีวิตตอนนี้ นับเป็นช่วงเวลาที่ดี เธอกำลังจะได้เป็นคนแก่ที่มีความสุขเพิ่มขึ้น
———————————
ขอบคุณผู้บริจาคความสุขครั้งนี้ ผู้ที่เมื่อปีที่แล้ว ได้เปิดโรงแรม Seamira House อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ต้อนรับเด็กป่วยเรื้อรัง ในโครงการโรงพยาบาลมีสุขกว่า 10 ครอบครัว ให้ได้มีที่พัก พร้อมอาหารอร่อย ระหว่างไปเที่ยวทะเลหัวหิน
ใครอยากสนับสนุน ผู้บริจาคใจดีท่านนี้ หากคุณกำลังหาที่พักไม่ไกลจากทะเลมาก กระจกเงาชวนพิจารณา Seamira House, Hua Hin นะคะ
Share Button

ความหวังของชายไร้บ้าน หลังอาศัยข้างถนนมา 3 ปี

.
“นิทานการไร้บ้าน”
.
กาลครั้งหนึ่ง มีชายคนหนึ่งที่เกิดอยู่ในครอบครัวที่ปากกัดตีนถีบกันทั้งครอบครัว รายได้ที่ได้มาของแต่ละคนมันแค่พอที่จะเลี้ยงปากท้องได้แต่เพียงตนเอง ไม่มีเงินเหลือพอให้เก็บ ไม่มีเครดิตให้พอไปกู้ยืมได้ การศึกษาทั้งหมดอยู่ในระดับต่ำ แม้บางคนอาจจะจบที่มัธยม 3 ก็ตามที
.
ทำงานไปทำงานมา ทุกคนยังอยู่ในบ้านหลังเดิม อายุของทุกคนล่วงมาในวัยกว่า 50 ปีแล้วเห็นจะได้ มีใครคนหนึ่งในบ้านเกิดตกงานที่ตัวเองเคยทำมา เขาพยายามหางานใหม่แต่ก็หาไม่ได้ หาไม่ได้ด้วยเหตุผลว่าเขานั้นชราจนเกินไป เกินไปที่นายจ้างจะทนจ้างความเชื่องช้าไม่ทันการนั้นได้
.
เขาอยู่ในสภาพตกงาน จาก 1 ปี เป็น 2 ปี และเป็น 3 ปี เขาเริ่มถูกมองว่าเป็นภาระเป็นตัวถ่วงของบ้านก็ตั้งแต่ขวบปีแรกที่ต้องตกงาน ความอดทนมีอยู่อย่างจำกัด คับที่อยู่ได้คับใจอยู่ยากใครๆ ก็รู้ วันหนึ่งเขาเก็บเสื้อผ้าเท่าที่พอมีอยู่ใส่กระเป๋าเป้ใบหนึ่ง ตายเอาดาบหน้าเขาบ่นบอกกับตัวเอง
.
เขานั่งรถเมล์ ตั้งเป้าหมายในใจว่า คืนนี้นอนข้างถนนราชดำเนินก่อนก็แล้วกัน เช้าก็ค่อยตื่นไปหางานทำดู ผลปรากฏว่าอาทิตย์นั้นทั้งอาทิตย์เขาหางานไม่ได้เลย เขาไปได้งานในอาทิตย์ที่ 2 มีคนจ้างเขาทำงาน 1 วัน เขาอยู่ในสภาพของคนนอนข้างถนนตกงาน จาก 1 ปี เป็น 2 ปี และล่วงมาเป็น 3 ปี
.
3 ปีที่อยู่ที่ข้างถนน เขาหางานทำได้ตลอดแต่มันเป็นงานไม่ต่อเนื่อง รายได้ต่ำ เขานึกถึงคำของตัวเองที่ปลุกปลอบใจในวันที่เขาตัดสินใจออกจากบ้าน “คืนนี้นอนข้างถนนราชดำเนินก่อนก็แล้วกัน เช้าก็ค่อยตื่นไปหางานทำดู” 3 ปีเข้าให้แล้วที่เขาต้องนอนที่นี่ที่ข้างถนนราชดำเนินมาร่วม 3 ปีแล้ว
.
ในคืนวันนั้น คืนวันที่เขาจะหลับใหลไปพร้อมกับคราบน้ำตาตัวเอง เพื่อนคนไร้บ้านที่เขาเคยรู้จัก เดินเข้ามาคุยกับกลุ่มคนไร้บ้านกลุ่มหนึ่งที่อยู่ข้างๆพื้นที่นอนของเขา เขาเล่าว่าตอนนี้เขามีห้องเช่าแล้วนะ และเขามีงานทำ 5 วันต่อสัปดาห์ เขาบอกว่าเขาไปทำงานกับ จ้างวานข้า มูลนิธิกระจกเงาอยู่
.
หลายคนไถ่ถามว่าจะไปสมัครได้ที่ไหน อดีตคนไร้บ้านคนนั้นตอบมาว่า เขาเปิดรับสมัครงานที่ใต้สะพานปิ่นเกล้านะ ทุกวันอังคารและศุกร์ที่เขามาเปิดให้บริการรถซักอบอาบนั่นแหละ หลายคนบอกกันว่า ดีเลยพรุ่งนี้ก็วันอังคารนี่หว่า เขาคนนั้นที่นั่งตั้งใจฟังอยู่เงียบๆ บอกตัวเองในใจอีกครั้งว่า “พรุ่งนี้จะไปสมัครงานนี้ให้ได้” เขาล้มตัวนอนที่ไม่ใช่พร้อมคราบน้ำตา แต่พร้อมด้วยความหวังในหัวใจที่มันชัดเจนขึ้นอีกครั้ง
——————————————
สนับสนุน​จ้างวาน​ข้าได้ที่​
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-58289-4 SCB
Share Button

ขบวนรถ 13 คันพร้อมออกสัญจร แจกของขวัญถึงเด็กบนดอย 40 หมู่บ้าน

.
ในหนึ่งปี มีวันเด็กแค่หนึ่งครั้ง
ปีละครั้ง ที่เด็กน้อยจะได้รับของขวัญ
กลับบ้านไปหอบใหญ่
.
ของขวัญที่ทำเอาแววตาใสๆ ยิ้มร่า
และมันจะเป็นความสุข
เป็นความทรงจำในใจของเด็กไปตลอดปี
.
วันเด็กปีนี้ มูลนิธิกระจกเงาจึงเตรียมลุย!
จัดขบวนรถ 13 คันให้พร้อมออกสัญจร
ไปแจกของขวัญถึงมือเด็กชาติพันธ์ุบนดอย 40 หมู่บ้าน
.
ก่อนหน้าวันเด็กหนึ่งเดือน
อาสาสมัครจะช่วยกันคัดของ
ตุ๊กตา ของเล่น 2,100ชิ้น คัดอย่างละเอียด
ช่วยกันค้นหารอยขาด หลุดรุ่ย เปรอะเปื้อน
หากชิ้นไหนมี เราจะไม่เอา
.
จากนั้นของขวัญจะถูกขนขึ้นรถ รถที่ทีมงานจัดการอาบน้ำ แต่งตัว
ติดสายรุ้งหลากสี ห้อยตุ๊กตาหมีไว้รอบคัน
เปิดเพลงมันส์ๆ ขณะเคลื่อนขบวน
.
ท้ายรถมีอาสาสมัครแดนเซอร์ใส่ชุดสวย
เตรียมเอนเตอร์เทนเด็กๆ
ที่มายืนรอรับของขวัญแต่เช้ากว่าพันคน
.
ไม่ว่าจะทางไกล ขึ้นเขา คดโค้ง
คาราวานสัญจรขบวนนี้จะไปหา
เด็กทุกที่จะได้รับความสุข
หัวใจดวงน้อยจะชุ่มชื่นด้วยของขวัญ
.
สิ่งเหล่านี้ จะเกิดขึ้นพรุ่งนี้
ใน “วันเด็ก (สัญจร) แห่งชาติ”
เสาร์ ที่ 14 มกราคม 2566
ณ มูลนิธิกระจกเงาเชียงราย
.
ของขวัญที่คุณบริจาคมาในขบวนนี้
จะได้ทำหน้าที่ส่งความสุข
ถึงเด็กๆ บนดอย
ของเล่น ตุ๊กตา ของคุณ
กำลังจะมีเพื่อนใหม่โดยสมบูรณ์
_________________________
สนับสนุนวันเด็กสัญจรได้ที่
บัญชี กองทุนเด็กดอย โดยมูลนิธิกระจกเงา
ธนาคารไทยพาณิชย์
เลขบัญชี 507-410185-4
.
สอบถามเพิ่มเติม โทร 0619091840 , 0639316340
Share Button

คาราวานของขวัญ ส่งความสุขสู่เด็กในวัน (ที่ยังเป็น) เด็ก

.
“สุขสันต์ในวัน (ที่ยังเป็น) เด็ก”
.
ขบวนรถขนของขวัญสัญจร
ออกเดินทางซอกซอนไปตามซอยหมู่บ้าน
เราเตรียมรถทุกคันให้พร้อมขึ้นดอย
ดอยที่เทศกาลส่วนใหญ่ไปไม่ถึง
.
ตรงจุดนัดพบ มีกลุ่มเด็กๆ มายืนรอ
ถุงของขวัญส่งถึงมือ รอยยิ้มแต้มบนหน้า
เด็กหญิงคนหนึ่ง เธอกระโดดเต้นดีใจ
เพราะในถุงมีตุ๊กตาสีสวยอยู่ด้วยหนึ่งตัว
.
ความสุขล้นเอ่อตอนได้แกะของขวัญ
ในแววตานั้นมีความฝัน ปนความสุข
ความสุขที่เก็บไว้ในใจได้ตลอดชีวิต
.
แต่สำหรับเด็กหลายคน
ในครอบครัวหาเช้ากินค่ำ
ครอบครัวแรงงานข้ามชาติ
รวมถึงครอบครัวยากไร้
เมื่อเขาโตขึ้นความสุขอาจยังอยู่
แต่ความฝันจะเริ่มเลือนลง
.
ทุนทรัพย์ สภาพแวดล้อม โอกาส
ที่ไม่มากพอให้พวกเขาได้เรียนต่อ
บางคนไม่จบแม้การศึกษาขั้นพื้นฐาน
เหตุนั้นเร่งให้พวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่
กดทับความฝันในวัยเด็กไว้
เข้าสู่แรงงานในระบบเศรษฐกิจ
หาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวให้อยู่รอด
.
มูลนิธิกระจกเงา
เราพยายามประคับประคองเด็กเหล่านี้
ผ่านศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา
ให้การศึกษากับเด็กชายขอบ
ผ่านการส่งต่ออุปกรณ์การเรียนของใช้
ให้เด็กยากไร้สามารถเข้าถึงทรัพยากร
.
และในวันเด็กปีนี้
วันที่พวกเขาจะได้มีความสุขอย่างเด็กๆ
เรานำคาราวานของขวัญมาหา
เด็กทุกคนจะได้รับของขวัญ
แม้วันนี้เด็กหลายคนนั้นจะออกจากการศึกษา
มาเป็นกำลังหลักหาเลี้ยงครอบครัวแล้วก็ตาม
__________________
สุขสันต์วันเด็กแห่งชาติ
มูลนิธิกระจกเงา
Share Button

ต่อลมหายใจให้เด็กสาวผู้พิการทางสมอง ขอเพียงหนึ่งเครื่องผลิตออกซิเจน

.
หยุดยาวปีใหม่ ช่วงที่ใครๆ เริ่มหยุดพัก
รวมถึงร้านบริการเติมออกซิเจน
.
ด้วยเหตุนั้น เราจึงได้รับสายจากชายหนุ่มคนหนึ่ง
เขาขอยืมเครื่องผลิตออกซิเจน
เพื่อเป็นทางออกให้น้องสาวพิการ ได้มีชีวิตรอด
.
น้องสาวของเขาชื่อข้าวตัง
ข้าวตังเป็นน้องสุดท้องของบ้าน
เธอป่วยติดเตียงตั้งแต่เล็ก
สมองพิการไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
ต้องเจาะคอให้อาหารทางสายยาง
และใช้ถังออกซิเจนช่วยหายใจติดตัวตลอดเวลา
.
ก่อนหน้านี้ทั้งครอบครัวมีพ่อเป็นเสาหลัก
แต่ไม่นานโรคหัวใจพรากพ่อไปกะทันหัน
พี่ชายคนนี้จึงรับหน้าที่ดูแลเธอ
.
พี่ชายเป็นหนุ่มวัยยี่สิบต้น
เขาพยายามทำหัตการดูแลน้องอย่างดี
เช่นเดียวกันกับการดูแลค่าใช้จ่าย
.
ทำงานพิเศษหามรุ่งหามค่ำ
เพื่อหารายได้มาเป็นค่ายา ค่ารักษาพยาบาล
ค่าเติมถังออกซิเจน ค่าอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็น
รวมถึงซื้อถังออกซิเจนขนาด 40 ลิตร
ถังขนาดใหญ่ที่มีความจุออกซิเจนมากที่สุดให้น้องสาวได้ใช้งาน
.
ในทุกๆ 3 วัน เขาจะแบกถังขนาดใหญ่นั้น
ไปร้านเติมก๊าซที่ห่างจากบ้านประมาณ 5 กิโล
เพื่อจุออกซิเจนให้เพียงพอ
.
แต่ในอาทิตย์สุดท้ายของปี
อาทิตย์ที่หลายคนเริ่มเตรียมฉลองปีใหม่
ร้านเติมก๊าซออกซิเจนที่เขาพอจะขับรถไปได้
ไม่เปิดให้บริการ
.
ถังออกซิเจนมีใช้แค่ใบเดียว
เขาไม่มีเงินเก็บมากพอจะซื้อถังใบใหม่
นั่นเป็นสัญญาณ ว่าน้องสาวของเขา
อาจขาดอากาศหายใจ ในสัปดาห์สุดท้ายก่อนสิ้นปี
________________________________________
พี่ชายของน้องข้าวตัง ติดต่อโครงการป่วยให้ยืม มาในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนธันวาคม เขาขอเพียงถังออกซิเจนสักถัง ให้น้องสาวมีสำรองใช้จนกว่าร้านจะกลับมาเปิดให้บริการ เพื่อที่สุดท้ายทั้งคู่จะได้ผ่านปีใหม่ไปด้วยกันอีกปี
.
แต่ในสถานการณ์ครอบครัวที่มีผู้ป่วยติดเตียง การใช้ถังออกซิเจนหลายใบมีค่าใช้จ่ายที่สูง เราจึงเลือกให้ เครื่องผลิตออกซิเจนขนาด 5 ลิตร จำนวน 2 เครื่อง ให้น้องข้าวตังยืมใช้ทดแทนถังออกซิเจนใบเดิม
ลดภาระค่าใช้จ่าย ลดความกังวลใจของพี่ชายลง�.
ช่วงวันหยุดปีใหม่ที่ผ่านมา
มีครอบครัวผู้ป่วย
ติดต่อยืมเครื่องผลิตอยู่ตลอด
เพราะความเจ็บป่วยไม่มีวันหยุด
จำนวนผู้ป่วยมีเพิ่มมากขึ้น
แต่เครื่องผลิตออกซิเจนที่โครงการมีนั้น ลดน้อยลงทุกที
.
หากคุณพอมีกำลังที่จะแบ่งปัน
หรือมีเครื่องผลิตออกซิเจนที่ไม่ใช้งานในบ้าน
เราอยากชวนคุณส่งต่อ
ให้เครื่องผลิตเหล่านั้นได้ทำหน้าที่
ลดระยะเวลาการรอคอย
ต่อลมหายใจให้ผู้ป่วยได้มีชีวิตอยู่ต่อ
.
อีกทั้งยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย บรรเทาทุกข์
ให้กับครอบครัวผู้ป่วยอีกทาง
.
สามารถบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้ที่
มูลนิธิกระจกเงา เลขที่ 191
ซอย วิภาวดีรังสิต 62 แยก 4-7
แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กทม. 10210
โทร.092-252-5454
.
หรือสนับสนุนภารกิจป่วยให้ยืม
เพื่อร่วมลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัวผู้ป่วย
ได้ที่บัญชี โครงการป่วยให้ยืม มูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-70398-7 ธนาคารไทยพาณิชย์
Share Button

แต้ม All member ช่วยผู้เดือดร้อนให้ผ่านความยากลำบากได้อีกราย

.
กลางดึกคืนหนึ่ง ภรรยาของผู้ป่วยติดเตียงรายหนึ่ง ซึ่งอยู่ต่างจังหวัด แจ้งมาที่เพจมูลนิธิกระจกเงา ว่าผ้าอ้อมของผู้ป่วย เหลือเพียงแผ่นเดียวแล้ว และทาง อบต. ก็ยังไม่สามารถให้ผ้าอ้อมเพื่อช่วยเธอได้ในขณะนี้
.
ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ สำคัญสำหรับผู้ป่วยติดเตียงมาก แต่เธอยังมีภาระค่าไฟฟ้าที่ต้องจ่าย รายได้ที่มีจำกัดจำเขียดอย่างมาก ผ้าอ้อมเป็นสิ่งจำเป็น แต่เธอต้องเลือกจ่ายค่าไฟฟ้าที่จำเป็นกว่า
.
เราเลยแนะนำให้เธอเอามือถือไปที่ร้าน 7-11 ใกล้บ้าน (6 กม.) แล้วให้พนักงานติดตั้งแอพ 7-11 จากนั้นเราโอนคะแนนไปให้ เพื่อให้เธอไปแลกผ้าอ้อมและอาหารจำนวนหนึ่ง
.
ใน 2 ปีที่ผ่านมา กระจกเงาใช้คะแนน All Member แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเช่นนี้ไปหลายครอบครัวแล้ว และคะแนนเหล่านี้มาจากการที่มีผู้คนจำนวนไม่น้อย ยินดีใส่เบอร์โทรของมูลนิธิกระจกเงา หรือโอนคะแนนมาให้เรา
.
คะแนนเหล่านี้ทำให้หลายครอบครัวผ่านพ้นช่วงเวลาที่ต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบากมานักต่อนักแล้ว เราขอเป็นตัวแทนของครอบครัวที่กำลังเดือดร้อนขัดสน ขอบคุณทุกคนที่มอบคะแนนเหล่านี้ให้อย่างต่อเนื่องค่ะ
————————————————
วันนี้ หากคุณเข้าใช้จ่าย ที่ 7-11
สามารถบริจาคแต้ม All Member
เพียงบอกเบอร์ 063-931-6340
.
สำหรับผู้มีแต้ม All Member
และต้องการโอนบริจาค
แต่ติดปัญหาระบบแจ้งโควต้าโอนต่อวันเต็ม
กรุณาทักอินบ๊อกซ์มาหาแอดมิน
เพื่อขอเบอร์สำรองได้เลยค่ะ
.
นอกจากสะสมแต้มที่ 7-11 แล้ว
ร้านสะดวกซื้อต่างๆ
ห้างในเครือเดอะมอลล์ หรือเซ็นทรัล
รวมทั้งปั้มน้ำมันทุกแห่ง
สามารถบริจาคได้ที่ 063-931-6340 เช่นกัน
Share Button

งานใหม่ในวันตรุษจีนของชายวัย 70

.
เมื่อวานเป็นวันจ่ายในเทศกาลตรุษจีน ทางทีมงานจ้างวานข้าไปทำการสัมภาษณ์และเยี่ยมห้องพักของชายชราวัย 70 ปี เมื่อไปถึงห้องพักพบหน้าชายชราวัย 70 คนนั้น ชายชราที่หน้าตาบ่งบอกว่าเป็นคนไทยเชื้อสายจีน เมื่อแกเริ่มบทสนทนาก็ยิ่งชัดเจน
.
แกเริ่มเล่าจากชีวิตปัจจุบัน “ตอนนี้ผมก็ใช้เงินเก็บที่สะสมมาทั้งชีวิต เป็นเงินจ่ายค่าห้องเช่า เป็นเงินกิน แต่มันเริ่มจะหมดแล้ว งานสุดท้ายที่ทำก็งาน รปภ.แบบตัวสำรอง คือถ้าเขาขาดคนเขาก็จะมาเรียก แต่เขาก็ไม่เรียกมานานเป็นปีแล้ว พอดีดูในยูทูปเห็นโครงการจ้างวานข้าก็เลยสมัครเพื่อได้พอมีรายได้อีก”
.
แกเริ่มเล่าย้อนไปในวัยเด็ก บ้านแกอยู่แถวตลาดน้อย แกนับเป็นจีนจนครอบครัวหนึ่งที่นั่น ทุกคนปากกัดและตีนถีบตั้งแต่เด็กจนโต ทำงานรับจ้างมาทุกอย่าง ทุกอย่างที่พอเลี้ยงปากท้องได้ มีวันหนึ่งบ้านที่เคยเช่าอยู่ ก็ถูกนายทุนใหญ่กว้านซื้อ คนกว่า 100 หลังคาต้องแยกย้าย ทิ้งความหลังทิ้งต้นทุนชีวิตไว้ที่นั่น
.
แกจึงมาเริ่มใหม่อีกครั้ง แกเริ่มทำงาน เริ่มเก็บเงิน พยายามทำงานหาเงินทุกช่องทางที่พอทำได้ มีเงินเก็บก็ลงทุน ชีวิตพอไปได้ แต่มาล้มอีกครั้งเมื่อทำเลเดิมที่แกเคยค้าขายพอเลี้ยงชีพชอบได้ ถูกขายเปลี่ยนเจ้าของ
.
แล้วแกจึงต้องเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ทำไปทำมาสักพักใหญ่ของชีวิต การค้าขายนั้นก็ล้มลงอีก ไม่ใช่เพราะแกค้าขายไม่เป็น แต่เพราะวันหนึ่งนายทุนตลาดค้าขายแหล่งใหญ่ถูกจับ การค้าการขายของแกจึงต้องล้มลงตาม มันล้มลงในวันที่แกอายุได้ 67 ปีแล้ว
.
ชายชราวัย 67 ปี จึงบ่ายหน้าไปหางานใหม่ งาน รปภ. แกทำงานนั้นได้ 3 ปี อายุแกเหยียบ 70 ปีแล้ว ทางบริษัทรปภ.จึงเลิกจ้างแก แต่ยังมีเรียกใช้แกบ้าง เมื่อรปภ.ของบริษัทไม่พอ แต่ก็เหมือนที่แกเล่าไว้ตั้งแต่แรก เป็นปีกว่าๆแล้วที่แกไม่ได้ทำงาน และใช้เงินเก็บก้อนสุดท้าย เป็นค่าเช่าห้อง ค่ากิน และมันกำลังจะหมดไปในไม่ช้า
.
เราไม่ได้ถามแกว่าวันนี้ วันไหว้ในเทศกาลตรุษจีนแกได้ไหว้เหมือนคนเชื้อสายจีนคนอื่นๆ หรือไม่ และเราก็ยังไม่ได้บอกแกอีกเช่นกันว่า หลังตรุษจีนแกจะได้เข้ามาทำงานกับโครงการจ้างวานข้า แต่เราจะโทรบอกแกในวันจันทร์นี้ เราหวังว่าแกคงจะดีใจไปกับงานใหม่และรายได้ที่แกจะได้มี
.
“ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้” ในวันที่เราบอกกับแกว่า “ลุงมาเริ่มทำงานได้เลยนะ” ประโยคนี้น่าจะเหมาะกับชายชราเชื้อสายจีนคนนี้ได้เป็นอย่างดี และมันก็เหมาะในวันที่สังคมไทยยังไม่มีสวัสดิการบำนาญให้กับชีวิตชราทั้งแกและอีกหลายๆ คนในสังคมนี้
____________________
สนับสนุน​จ้างวาน​ข้าได้ที่​
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-58289-4 SCB
Share Button

บริจาคอย่างไรให้ถึงเรา

1.ส่งของบริจาคด้วยตนเองที่มูลนิธิ

         สำหรับผู้บริจาคท่านใดที่อยากเข้ามาบริจาคสิ่งของที่มูลนิธิด้วยตนเองสามารถเข้ามาบริจาคได้ตามที่อยู่นี้ได้เลย ศูนย์รับบริจาค มูลนิธิกระจกเงา เลขที่ 191 ซอยวิภาวดี62 (แยก4-7) ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210 ทุกวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.30 น. – 17.00 น. วันเสาร์ – อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 10.00 น. – 16.00 น. หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 061-909-1840

2.ส่งของบริจาคทางไปรษณีย์

            หากผู้บริจาคไม่สะดวกมาบริจาคของด้วยตนเองสามารถจัดส่งทางไปรษณีย์ได้เลย  ผู้บริจาคสามารถส่งพัสดุมาได้ที่ มูลนิธิกระจกเงา เลขที่ 191 ซอยวิภาวดี62 (แยก4-7) ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210  (โทร 061-9091840)

3.ส่งของบริจาคด้วยบริการรถออกรับ

         สำหรับผู้บริจาคที่ของเยอะและอยากใช้บริการรับของบริจาคถึงบ้าน โดยทีมศูนย์รับบริจาค มูลนิธิกระจกเงา (พื้นที่ กทม.ปริมณฑล )โทร: 02-9732236-7 , มือถือ : 061-909-1840 ,084-207 9363 , Email: donate@mirror.or.th

  *หมายเหตุ : เงื่อนไขในกรณีออกไปรับถึงบ้าน
3.1 กรณีเป็นหนังสือขั้นต่ำ 2,000 เล่ม
3.2 กรณีเป็นอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ขั้นต่ำ 10 ชุด
3.3 กรณีเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เครื่องแต่งกาย และอื่นๆ

*บริการรับของบริจาค ใน กทม. และปริมณฑล จะมีค่าบริการตามระยะทาง (ท่านสามารถติดต่อ สอบถาม จนท.มูลนิธิกระจกเงา ได้ที่หมายเลข 063-224-1141)

4.ส่ง พัสดุฟรีผ่าน Nim Express

อาจเป็นการ์ตูนรูป หนึ่งคนขึ้นไป และข้อความ

ส่งฟรีตั้งแต่ 15 ก.พ.-30 ธ.ค. 2564 รายละเอียดสอบถามโทร 061-9091840

กล่องละไม่เกิน 25 กก. ไม่จำกัดจำนวนกล่อง

ไปส่งได้ที่ สาขาDC หรือ Shop ทั่วประเทศ

บริจาคในรูปแบบองค์กรหรือหน่วยงาน

กรณีหน่วยงาน องค์กร หรือบริษัท สามารถส่งรายละเอียดสิ่งของที่ต้องการบริจาค มายัง Email : donate@mirror.or.th

Share Button