บริจาคอะไรได้บ้าง

มูลนิธิกระจกเงารับบริจาคสิ่งของทุกประเภทที่ยังคงสภาพดีและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ ได้แก่

1.เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก-ใหญ่(เสียแล้วเราก็รับ) เช่น พัดลม ทีวี ตู้เย็น เครื่องเสียง เป็นต้น

เครื่องใช้ไฟฟ้าในปัจจุบันมีการหมุนเวียนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วมาก มีเครื่องใช้ฟ้าเกิดขึ้นมาใหม่มากมายและผู้คนมักชอบลองของใหม่ ๆ อยู่เรื่อย ๆ ดังนั้นแล้วเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่าที่ไม่ใช้ประโยชน์แล้วหรือไม่รู้จะเอาไปทำอะไรก็สามารถส่งมาให้ผู้อื่นได้ใช้ต่อที่มูลนิธิกระจกเงา

2.เฟอร์นิเจอร์ ที่มีสภาพดีพร้อมส่งต่อ เช่น โซฟา โต๊ะ เก้าอี้ อุปกรณ์สำนักงาน เป็นต้น

เฟอร์นิเจอร์สำหรับใครที่ต้องการเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ใหม่หรือย้ายบ้าน ย้ายสำนักงานแต่ของยังมีสภาพดีและไม่อยากทิ้งแต่ไม่รู้จะเอาไปไว้ไหนสามารถนำมาบริจาคให้กับมูลนิธิกระจกเงาได้เพื่อส่งต่อประโยชน์ให้กับผู้อื่นได้ใช้

3.ของใช้ทั่วไป เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เครื่องประดับ เป็นต้น

หากบ้านไหนมีของใช้ทั่วไปที่ไม่เอาแต่ยังมีสภาพดีอย่าเก็บทิ้งนำมาบริจาคให้กับมูลนิธิกระจำเงาเพื่อนำไปส่งมอบให้ผู้ขาดแคลนและอีกส่วนหนึ่งจะนำไประดมทุนที่ร้านแบ่งปัน

4.คอมพิวเตอร์ เช่น อุปกรณ์พ่วง เมาส์ คีย์บอร์ด เป็นต้น

รับบริจาคอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งานได้หรือไม่ได้แล้วนำมาดัดแปลงปรับปรุงให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้แล้วนำคอมพิวเตอร์เหล่านั้นสู่มือน้อง ๆ ในโรงเรียนหรือพื้นที่ที่ขาดแคลนเพื่อให้พวกเขามีความรู้ที่ไม่สิ้นสุด

5.หนังสือ เช่น หนังสือ สมุดใช้แล้ว นิตยสาร เป็นต้น

รับกระดาษทุกชนิดที่ไม่ได้ใช้แล้วนำมาระดมทุน รับหนังสือทุกชนิดยกเว้นหนังสือโป๊นำมาคัดแยกเพื่อส่งต่อให้กับโรงเรียนและชุมชนที่ขาดแคลน

6.อุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่นเตียงผู้ป่วย วิลแชร์ ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ วอร์คเกอร์ ถังออกซิเจน เป็นต้น

รับอุปกรณ์ทางการแพทย์ทุกชนิดเพื่อนำไปส่งต่อให้ผู้ป่วยติดเตียงในโครงการอาสามาเยี่ยม

นอกจากสิ่งของที่ได้ยกตัวอย่างมาข้างต้นแล้วยังมีสิ่งของอีกมากมายที่เราไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้วให้ลองสำรวจดูรอบ ๆ บ้านของเราว่ามีสิ่งไหนที่เราไม่ใช้แล้วแต่ยังสภาพดีและนำไปใช้งานต่อได้บ้างไหม หากมีสิ่งของเหล่านั้นสามารถนำมาบริจาคให้มูลนิธิกระจกเงาได้เพื่อนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุด

Share Button

IT เป็นส่วนหนึ่งของงานพัฒนา

ไอทีหมายถึง การนำเทคโนโลยีและสารสนเทศมารวมกัน รวมเป็น เทคโนโลยีสารสนเทศ “Information Technology” ย่อมากจาก IT ซึ่งแปลความหมายของเทคโนโลยีคือการสร้างมูลค่าให้กับสารสนเทศให้สามารถใช้งานได้กว้างขวางและเทคโนโลยีด้านต่างๆในปัจจุบันก็มีการนำไอทีมาใช้ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยีแบบรวบรวม จัดเก็บ ส่งต่อ ใช้งาน และสื่อสารซึ่งข้อมูลของไอทีที่มีการนำมาใช้นั้นได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ต่างๆที่มีซอฟต์แวร์เกี่ยวกับกับตัวข้อมูลต่างๆ ซึ่งอาจจะเป็นข้อมูลจำพวก โทรทัศน์ โทรศัพท์ โทรสาร วิทยุ และหนังสือพิมพ์ และอาจจะเป็นอย่างอื่นๆอีกที่มีทั่วไปภายในชีวิตประจำวัน

โครงการ Ngos Cyberเกิดขึ้นได้จากแนวความเชื่อขององค์กรที่มีความเชื่อว่า “IT เป็นส่วนหนึ่งของงานพัฒนา” โดยการใช้เป็นเครื่องมือสำหรับพัฒนางานด้านสังคมที่มีประสิทธิภาพและเห็นผลได้เร็ว    เราได้นำ IT เข้ามามีบทบาทในการพัฒนางานของ มูลนิธิกระจกเงา สนง.กรุงเทพฯ ให้เข้าถึงข้อมูลที่รวดเร็ว สามารถประเมินและวิเคราะห์ระบบต่างๆ ในการเชื่อมโยงงานองค์กรไว้ด้วยกัน รวมถึงให้คนทั่วไปได้เข้าถึงและมีส่วนร่วมในการติดตามและการดำเนินกิจกรรมทางสังคม

ด้วยหน้างาน การผลิตเว็บไซต์ การผลิตสื่อ กราฟฟิกดีไซน์ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อเคลื่อนไหว เพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์งานขององค์กร ตลอดจนการพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน และการจัดทำระบบฐานข้อมูลออนไลน์ และในอนาคตเราจะยังคงพัฒนางานด้าน IT อย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อให้เข้ากับยุคการสื่อสาร และการสืบค้นข้อมูลบนสังคมออนไลน์ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

“เราขอเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ IT เพื่องานพัฒนา”

Share Button

การสื่อสารคือช่องทางในการช่วยเหลือ

“สื่อสารองค์กร” เป็นคำที่หลายองค์กรนำมาใช้ตั้งชื่อหน่วยงานภายใน แทนคำว่า “ประชาสัมพันธ์” ซึ่งจริง ๆ แล้ว คำทั้งสองคำนี้มีความทับซ้อนกันอยู่ในความหมาย เพราะคำว่า สื่อสารองค์กร เป็น “หน้าที่” ที่ผู้ปฏิบัติงานจะต้องทำเพื่อสื่อสารเรื่องราวต่าง ๆ ขององค์กรออกไป ในขณะที่คำว่า “ประชาสัมพันธ์ นั้น เป็น เป้าหมาย คือ เราสื่อสารองค์กรออกไปเพื่อจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับประชาชนดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ หรือฝ่ายสื่อสารองค์กร ต่างก็ต้องทำหน้าที่เดียวกัน คือ สร้างการสื่อสารเพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีกับกลุ่มเป้าหมายทั้งภายในและภายนอกองค์กร

ฝ่ายสื่อสารองค์กรของมูลนิธิกระจกเงาจึงทำหน้าที่เป็นตัวแทนการสื่อสารเพื่อเชื่อมโยงประเด็นการทำงาน ของมูลนิธิกระจกเงากับสาธารณะ โดยมีรูปแบบของการสื่อสารที่หลากหลายอีกทั้งยังทำหน้าที่เป็นกระจกที่สะท้อนถึงปัญหาทางสังคมในปัจจุบันที่เกิดขึ้นแต่คนอื่นมองไม่เห็นถึงปัญหานั้น

Share Button

หัวใจอาสา

อาจเป็นรูปภาพของ 2 คน

นิยามอาสาสมัคร มูลนิธิกระจกเงา คือ บุคคลที่เสนอตัวทำเพื่อผู้อื่นด้วยความสมัครใจ มีใจอาสาสมัคร และผลของการกระทำนั้นเป็นประโยชน์ส่งผลดีต่อตนเองและสังคม เป็นบุคคลที่มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม มีความอดทน มีความเสียสละ มีเวลาและใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ รวมทั้งมีความเข้าใจสถานการณ์ในภาพรวมของงานที่มีความหลากหลายนั้น ๆ แล้ววางตนเองอยู่ในบทบาทที่หนุนเสริมต่อกลไกการทำงานทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อที่จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะในวงกว้าง

เรา เป็นกลุ่มคนที่มีหัวใจอาสา หัวใจของคนที่อยากเห็นสังคมงดงาม เราแสวงหาความหมายของการมีชีวิตอย่างมีคุณค่า เรา คือองค์กรอิสระที่ทำงานเพื่อช่วยเหลือ และเติมเต็มในส่วนที่สังคมยังต้องการ เรา เชื่อว่าการทำงานเพื่อสังคมไม่ใช่ความฝันแต่เป็นการทำงานบนโลกแห่งความเป็นจริง ขอเพียงเรากล้าคิด และกล้าลงมือปฏิบัติ พวกเรา ขออาสาเป็นกระจกสะท้อนเรื่องราวความเป็นจริงที่คนบางกลุ่มมองไม่เห็น

Share Button

อยากให้คุณได้เห็นภาพตัวอย่าง จ.น่าน ความสาหัสของบ้านที่เต็มไปด้วยโคลน

“ฉันอยากตาย ไม่รู้จะกลับมาใช้ชีวิตเหมือนเดิมได้อีกมั้ย”
คุณยายลำดวน พูดถึงชีวิตหลังเกิดเหตุน้ำท่วมให้ทีมอาสาล้างบ้านฟัง แกอาศัยอยู่กับตาเพชร และหลานสาววัย 16 ปี
บ้านของยายเป็นบ้านไม้สองชั้น ก่อนหน้านี้ยายมีอาชีพรับจ้างซักผ้า ส่วนตาเพชร แกอายุ 74 ปีแล้ว เมื่อสุขภาพไม่แข็งแรง จึงทำงานมากไม่ได้ รายได้ของครอบครัวจึงมาจากสองมือยายลำดวนเท่านั้น
“ตอนนี้ไม่มีคนจ้างซักผ้าแล้ว เพราะบ้านเรามันสกปรก ใครเขาจะอยากมาจ้าง ตอนนี้ไม่มีกะใจอยากจะทำอะไรเลย เรี่ยวแรงมันหายไปหมด”
“เครื่องซักผ้าที่มีสองเครื่องก็พังไปกับน้ำ ทำมาหากินไม่ได้ หมดทุกอย่างเลย”
“แค่เดินออกจากบ้านก็ลำบากแล้ว เพราะดินมันเต็มบ้านไปหมด ถ้าจะออกก็ต้องปีนออกไป เพื่อนบ้านก็เลยช่วยเหลือ เอาข้าวมาให้ ให้พอมีกินไปวันๆ ก่อน”
“ใครจะเอาข้าวมาให้ ต้องปีนขึ้นมาที่ชั้นสอง เพราะเข้าทางหน้าบ้านไม่ได้ โคลนมันเยอะ เดินลุยโคลนไม่ได้”

“ทุกวันนี้ต้องนอนอยู่บนเพิงดิน บ้านชั้นสองเอาไว้เก็บของอย่างเดียว ขึ้นไปนอนไม่ได้แล้ว ก็นอนอยู่รวมกันสามคน ตายาย แล้วก็หลาน”

ในจำนวนผู้ประสบภัยเวียงสา บ้านหลังนี้ น่าจะเป็นหลังที่หนักที่สุด และน่าเป็นห่วงที่สุด

วันพรุ่งนี้ทีมอาสาล้างบ้าน จะเข้าไปช่วยเคลียร์โคลนออกจากบ้านของยาย นัดหมาย 8 โมงตรง

พวกเราคาดการณ์ว่า ต้องใช้เวลากว่า 4 วัน จึงจะคืนบ้านหลังเก่าให้กลับมาดังเดิมได้

ใครที่อยู่ใกล้ระแวกนั้น และพอมีกำลังเหลือ ไปช่วยกันเป็นอาสาล้างบ้านได้นะคะ ติดต่อคุณเอ โทร.087-274-9769

ใครที่สนใจสมทบทุน ร่วมกับอาสาล้างบ้าน
เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยชาวเวียงสา
สามารถบริจาคผ่าน เทใจ – TaejaiDotcom ได้ตามลิงค์นี้
https://taejai.com/th/d/flood_north2020/.
(บริจาคผ่านเทใจดอทคอม
สามารถใช้เพื่อลดหย่อนภาษีได้)
.
#อาสาล้างบ้าน #ฟื้นฟูผู้ประสบภัยหลังน้ำลด
#มูลนิธิกระจกเงา

Share Button

ก่อนวันแม่

เราเคยได้ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนที่ตั้งครรภ์มาแล้ว 2ราย รายล่าสุดพึ่งช่วยเหลือผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์มาแล้วกว่า 6เดือน เธอใกล้คลอดแล้ว ใกล้ความเป็นแม่คน ใน 3 รายที่ว่ามีปัญหาในการให้ความช่วยเหลือดูแลรักษาที่ทั้งเหมือนและแตกต่างกัน

แม่คนที่1…เมื่อนำส่งรักษาแล้วแต่ทางรพ.จิตเวชเองต้องดูแลรวมกับผู้ป่วยอื่นจึงต้องส่งให้ไปอยู่ในบ้านพักเด็กและครอบครัว ซึ่งเป็นหน่วยงานของกระทรวงพม. แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อไปอยู่ก็คือเธอปีนรั้วหนีและเหล็กรั้วนั้นแทงขา จนต้องส่งเข้าโรงพยาบาลรักษา สุดท้ายถูกส่งต่อมารักษาอาการจิตเวชที่ต้องนอนรวมใช้ชีวิตรวมกับผู้ป่วยจิตเวชอื่นๆ จนวันนึงเธออาการครรภ์เป็นพิษจึงถูกส่งรพ.ทางกายอีกรอบจนเธอคลอด ลูกถูกส่งไปสถานสงเคราะห์ ตัวเธอถูกส่งมารักษาที่รพ.จิตเวชอีกครั้ง

แม่คนที่2…เธอถูกนำส่งรักษารพ.จิตเวชเช่นกัน และถูกส่งไปให้อยู่ที่บ้านพักเด็กและครอบครัว เธอไม่ได้หนีแต่เธอไปทำร้ายเด็กคนนึงในบ้านพักนั้น เพราะอาการหูแว่วจากโรคจิตเวชคิดว่าเด็กด่าเธอ จากนั้นเธอจึงถูกนำไปส่งรพ.จิตเวช แต่รพ.จิตเวชยังไม่รับทันทีเนื่องจากไม่มีใบตรวจครรภ์ ทางหน่วยงานนำส่ง(1300)จึงไปส่งที่ศิริราชเพื่อตรวจครรภ์ ปรากฏว่าเธอหนีออกจากรพ. และมาใช้ชีวิตเร่ร่อนที่แถวสะพานซังฮี้ มีการพบอีกทีเธอคลอดลูกที่ข้างถนน ลูกเธอเสียชีวิต เธอถูกนำมารักษาตัวที่รพ.จิตเวชอีกครั้ง

แม่คนที่3…ไม่ได้ถูกนำตัวส่งต่อไปยังบ้านพักเด็กและครอบครัว และถูกรักษาตัวอยู่ที่รพ.จิตเวช แต่ก็ยังถูกดูแลรักษารวมในหวอดผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งนับเป็นความเสี่ยงไม่น้อย

พวกเธอในสถานะหนึ่งคือคนหาย อีกสถานะหนึ่งคือผู้ป่วยจิตเวช อีกสถานะหนึ่งคือแม่คน

การดูแลรักษาพวกเธอคือการแก้ปัญหาทั้งคนหายเมื่อเธอฟื้นความจำได้ ทั้งความเป็นผู้ป่วยจิตเวชที่รพ.คือสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วย แต่ในความเป็นแม่คนเป็นผู้หญิงตั้งครรภ์พวกเธอยังไม่ได้ถูกดูแลอย่างซีเรียสเท่าใดกับสภาพทางกายภาพที่อ่อนไหวในฐานะผู้หญิงตั้งครรภ์ เธอควรถูกดูแลเป็นพิเศษมีห้องพิเศษรองรับต่อความอ่อนไหวนั้นไม่ใช่หรือ ความพิเศษ ห้องพิเศษควรถูกจัดไว้ให้กับความพิเศษแบบนี้ให้ได้อยู่บ้าง ถ้าเราจัดให้กันได้มันสะท้อนว่าเราซีเรียสแค่ไหนกับการดูแลผู้คนอย่างมีรายละเอียดลึกซึ้ง

อันที่จริงโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงาเกิดขึ้นมาหลังจากที่เราพบเห็นผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนที่ตั้งครรภ์คนนึงเมื่อเราเดินทางมาออฟฟิศ แต่เราก็ได้แค่มองเห็นและเหมือนคนผ่านทางกันและกัน วันนึงเราพบว่าเธอต้องมาคลอดลูกที่ข้างถนน วันนั้นเองที่เราซีเรียสมากขึ้น รู้สึกผิดและอยากจะเปลี่ยนแปลงมัน โครงการผู้ป่วยข้างถนน จึงเกิดขึ้นหลังจากนั้น เพราะมนุษย์ไม่ควรตกอยู่ในชะตากรรมเช่นนี้ เราเชื่อเช่นนี้
#แม่ข้างถนน #ผู้ป่วยข้างถนน
#เพราะมนุษย์ไม่ควรตกอยู่ในชะตากรรมเช่นนี้

Share Button

ความจนไม่มีวันหยุด ความทุกข์ยากไม่มีวันนักขัตฤกษ์

วันนี้โครงการอาสามาเยี่ยม
จึงยังคงเปิดต้อนรับครอบครัวผู้ป่วยติดเตียง
ให้มารับผ้าอ้อมผู้ใหญ่ รวมถึงของกินของใช้
เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

ในจำนวนนี้ บางบ้านเป็นครอบครัวข้าราชการ
เขาสะท้อนว่า แม้จะมีความมั่นคง
แต่ลำพังเงินเดือนหมื่นต้นๆ ไม่เคยพอจ่าย
ค่าผ้าอ้อมผู้ใหญ่อย่างเดียวก็สามพันกว่า
ไหนจะหนี้ กยศ. ไหนจะค่าน้ำค่าไฟ ค่าใช้จ่ายจิปาถะ

แล้วหากไม่ใช่บ้านข้าราชการล่ะ…ยิ่งแล้วใหญ่

ตอนนี้โครงการมีเคสผู้ป่วยติดเตียง
ที่ดูแลอยู่พันกว่าครอบครัว
ทุก 1-3 วันต่อสัปดาห์ทีมงานจะลงพื้นที่เยี่ยมบ้านผู้ป่วย

ทุกวันอังคารแรก และอังคารที่สองของเดือน
ทีมจะเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำ

ทุกวันพุธสุดท้ายของเดือน
เราจะไปทำกิจกรรมที่บ้านพักคนชรา

และทุกวันจันทร์สุดท้ายของเดือน เราจะเปิดต้อนรับ
ครอบครัวผู้ป่วยติดเตียงที่ยังสามารถเดินทางได้
ให้มารับผ้าอ้อม รวมถึงของอุปโภคบริโภค
ที่มูลนิธิได้รับมา จากที่ผู้บริจาคมอบให้

เช่นวันนี้ผู้บริจาคที่แวะเข้ามาที่มูลนิธิ
ก็จะได้เห็นภาพของการให้และรับ
เป็นพลวัตของการแบ่งปัน…เกื้อกูล

#การแบ่งปันของคุณเปลี่ยนแปลงสังคมได้
#เยี่ยมเยียนเพื่อเยียวยา #โครงการอาสามาเยี่ยม

Share Button

สนามเด็กเล่นที่ไม่มีเครื่องเล่น

วันนี้สนามเด็กเล่นจากไม้พาเลท
ในสวนครูองุ่น มาลิก
ที่อาสาสมัครมากหน้าหลายตาเข้ามาช่วยกันสร้าง
ช่วยกันทำคนละไม้คนละมือ
ได้พุพังไปตามกาลเวลา

สวนครูองุ่น เป็นสวนกลางกรุงในพื้นที่แพงระยับ
สนามเด็กเล่นในสวน มันรองรับเด็กๆ ในซอยทองหล่อ
แบบไม่เลือกชั้นวรรณะ ชาติ ภาษา

ที่นี่เคยเป็นที่ที่เด็กวิ่งเล่นด้วยกัน
แบ่งปันของเล่นกัน ยิ้ม หัวเราะด้วยกัน
ที่นี่ เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก
เป็นที่ที่เด็กได้เรียนรู้ ได้เสริมสร้างจินตนาการ

เราอยากชวนคุณมาเป็นส่วนหนึ่ง
ในการสร้างพื้นที่เช่นนั้น ให้คงอยู่เรื่อยไป

ร่วมสมทบทุนเพื่อจัดซื้อเครื่องเล่นสำหรับเด็กได้ที่
บัญชีโครงการสวนครูองุ่น โดย มูลนิธิกระจกเงา�
ธ.ไทยพาณิชย์ เลขที่บัญชี 202-258291-7
สอบถามเพิ่มเติมโทร 080-997-7065

#สนามเด็กเล่น #เครื่องเล่นเด็ก #สวนเด็ก�#Playground #kids #Children
#สวนครูองุ่นมาลิก #มูลนิธิกระจกเงา

Share Button

ไม่รู้จะเรียกความรู้สึกวันนั้นว่าอะไร วันที่รู้ว่ามูลนิธิกระจกเงา ตามหาครอบครัวผมเจอแล้ว

ในชีวิตไม่เคยสัมผัสความรู้สึกแบบนั้นมาก่อน ไม่เคยคิดว่าจะมีวันนั้นในชีวิต บอกไม่ถูกเลย แต่ยังจำความรู้สึกได้ดี
“หลังวางสาย ผมเก็บเสื้อผ้า นั่งรถตู้เข้ากรุงเทพฯทันที ระหว่างทางนั่งคิดตลอด ว่าพ่อจะจำผมได้มั้ย เขาจะรู้สึกคิดถึงผมบ้างมั้ย จะรู้สึกแบบที่ผมกำลังรู้สึกมั้ย มันคิดและกังวลไปหมดเลย ตื่นเต้นมาก มาถึงสถานีตำรวจ (กองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี) ตำรวจจะให้ไปพักที่โรงแรม ผมขอนอนที่สถานีตำรวจเลย กลัวไม่ได้เจอพ่อ(ยิ้ม)
“วินาทีแรกที่ผมเจอพ่อ ผมจำพ่อไม่ได้เลย พ่อดูแก่ลงไปมาก ผมเข้าไปกอดเขา ร้องไห้เลยตอนนั้น บอกพ่อว่า ผมขอโทษ ผมไม่ได้ตั้งใจหนีออกจากบ้าน ผมไม่ได้ต้องการให้เป็นแบบนี้ และไม่คิดว่า การที่ผมไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนวันนั้น มันจะทำให้ผมหายออกจากบ้านไปนานถึง 15 ปี
“ตอนนั้นผมยังเด็กมาก แค่ 6-7 ขวบเอง ประสาเด็กก็ไปนั่งรถเมล์เล่นกับเพื่อน ก็ตามเพื่อนไปเรื่อย มันสนุก ตื่นเต้น ตื่นตาตื่นใจไปหมด แล้วมันอยู่ได้ มีเพื่อนมีของกิน มีเงิน ผมกับเพื่อนเดินไปไหน คนเขาก็สงสาร เอาข้าว เอาขนมมาให้กิน บางคนให้เงินด้วย ก็สนุกเลยตอนนั้น มีเงินเล่นเกมส์ตามร้านด้วย เลยใช้คอมพิวเตอร์เป็น ใจมันยังสนุก ไม่คิดอยากกลับบ้านแล้ว กลัวว่ากลับแล้วจะถูกตี ถูกด่า มันเลยเลยตามเลย ใช้ชีวิตแบบเด็กเร่ร่อนเต็มตัว
“พอผมเริ่มเป็นวัยรุ่น มันเริ่มไม่น่าสงสารแล้ว โตแล้ว คนไม่ค่อยให้ข้าวให้เงิน มันไม่สนุกแล้วชีวิตจริง เริ่มรู้สึกอยากกลับบ้าน ผมตัดสินใจเดินไปบนโรงพัก บอกตำรวจว่าผมหนีออกจากบ้านมาตั้งแต่ตอนเด็ก ผมจำครอบครัวไม่ได้ ชื่อตัวเองยังจำได้แค่ชื่อเล่น ตำรวจบอกให้ผมนั่งรอ แล้วไม่มีใครมาคุยกับผมเลย ผมนั่งรอทั้งวัน เหมือนไม่มีใครสนใจผม
“ผมไปโรงพัก 2-3 ครั้ง เพื่อบอกตำรวจว่า ผมเป็นเด็กหายนะ ผมอยากกลับบ้าน เขาก็ว่าผมสร้างเรื่องโกหก มันยากมากๆเลยนะ ถ้าเราเจอเรื่องอะไรแบบนี้แล้วไปขอให้คนช่วย มันไม่มีใครเชื่อเรา จนผมท้อและใช้ชีวิตเร่ร่อนต่อไป
“จนผมไปทำงานเป็นกรรมกรแบกของที่หัวหิน ตอนนั้นเริ่มป่วย นอนซมไปทำงานไม่ไหว จะลุกเดินยังไม่มีแรงเลย ผมนอนน้ำตาไหลคิดถึงบ้าน คิดถึงครอบครัว แบบเฮ้ย “เราจะตายแล้วเหรอ” เหมือนเราจะไม่มีชีวิตอยู่แล้ว ความทรงจำตอนเด็กๆ มันย้อนกลับมานะ มันผุดขึ้นมา ตอนนี้เราจะตายไปคนเดียว ตัวคนเดียวจริงๆเหรอ มันกลัวนะ กลัวกระทั่งว่า ถ้าผมตายไปแล้ว ผมจะเป็นวิญญาณเร่ร่อนมั้ย เพราะชีวิตผมไม่มีใครเลย ไม่รู้จักว่าตัวเองเป็นใคร
“สุดท้ายนายจ้างพาผมไปโรงพยาบาล มีพี่พยาบาลเขามาถามผมว่า เป็นคนไทยมั้ย ทำไมไม่มีบัตร ไม่มีชื่อนามสกุล ผมก็เล่าความจริงให้พี่เขาฟัง ว่าหนีออกจากบ้านมาตั้งแต่เด็กๆผมจำได้แต่ชื่อเล่นตัวเองว่าอั้ม บ้านอยู่ริมทางรถไฟ พ่อชื่อบุญธรรม ผมจำได้แค่นี้จริงๆ ผมไม่มีสิทธิรักษาพยาบาล ต้องจ่ายเงินเอง เพราะผมไม่มีบัตรประชาชน ผมท้อแท้มาก พี่เขาบอกว่า เคยได้ยินชื่อ มูลนิธิกระจกเงา มั้ย เขาตามหาคนหายนะ ผมเลยจำชื่อมูลนิธิกระจกเงา ไว้ตลอดเลย
“ผมอ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้ เพราะไม่ได้เรียนหนังสือ แต่ผมใช้คอมพิวเตอร์เป็นเพราะเล่นเกมส์ ผมก็เข้าไปใน google พูดคำว่า “มูลนิธิกระจเงา” “เด็กหาย” มันก็ขึ้นเพจ ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา มา ผมก็ไปไล่ดูภาพเด็กหายในเพจ ดูว่ามีภาพผมมั้ย ครอบครัวผมมาแจ้งตามหาผมไว้บ้างมั้ย
“ไม่มีภาพผมเลย แต่ภาพคนหายมันเยอะมากๆ เลยตัดสินใจ พูดใส่ google ให้แปลเสียงเป็นตัวอักษร ส่งไปในอินบ๊อกของเพจ พี่เจ้าหน้าที่เขาตอบกลับมาเป็นตัวอักษร ผมก็อ่านไม่ออก แต่ก๊อปปี้ข้อความไปให้ google แปลเป็นเสียง ฟังว่าพี่เขาพิมพ์มาว่าอะไร จนได้คุยโทรศัพท์กับพี่ทีมงาน เขาบอกว่า จะมาหาผมที่หัวหิน
“ตอนพี่มูลนิธิกระจกเงา เขามาหาผมที่หัวหิน ผมกลัวนะ ผมคิดว่าคำว่า “เจ้าหน้าที่” เขาคือตำรวจจะมาจับผมหรือเปล่า ที่ผมไม่มีบัตรประชาชน เขามาถามรายละเอียดต่างๆ ให้ผมเล่าให้ฟัง ให้ผมพยายามนึกถึงเรื่องราวในวัยเด็ก ความทรงจำที่พอจำได้ สุดท้ายผมก็ฝากความหวังไว้ที่พี่เขา เกือบเดือนนึงได้ พี่เขาโทรมาบอกผมว่า “เจอพ่อผมแล้ว”
“ผมไม่เคยนับวันเวลาเลยนะ ว่าผมหายออกจากบ้านมาสิบห้าปี มันเหมือนเหตุการณ์ต่างๆ ผ่านไปไวมาก ตอนนั้นเหมือนเราเป็นเด็ก ไม่ได้คิดอะไร ไม่รู้ตัวว่าเราทำอะไรอยู่ ใช้ชีวิตอยู่ข้างถนน บางวันนอนหน้า 7-11 บางวันนอนตรงเกาะกลางถนนที่มีพุ่มไม้ ผมก็ไม่รู้ว่าตัวเองรอดมาได้ยังไงจนถึงวันนี้นะ เพื่อนที่ออกจากบ้านมาด้วยกันก็ไม่ได้เจอกันอีกเลย ข้างนอกมันอันตรายมากนะ มีทั้งพวกที่จะมาไถเอาเงิน บางคนแต่งตัวดีมาชวนผมกับเพื่อนไปทำงาน ตั้งแต่วันนั้นผมก็ไม่เคยเจอเพื่อนคนนั้นอีกเลย ไม่รู้เขาหายไปไหน โลกภายนอกมันอันตรายมาก
“ตอนนี้ผมทำงานในโครงการคอมพิวเตอร์เพื่อน้อง ของมูลนิธิกระจกเงา รู้สึกดีใจและภูมิใจที่ตัวเองได้เป็นส่วนหนึ่ง ที่ช่วยเหลือคนอื่นบ้าง ผมทำหน้าที่ไปรับคอมพิวเตอร์บริจาค แล้วเอามาซ่อม ส่งไปตามโรงเรียนต่างๆ เราซ่อมไปให้เด็กๆได้ใช้ ทำให้ผมคิดถึงตอนเด็กๆเลยนะ เราอยากได้ อยากเล่น แต่ไม่มีโอกาส วันนี้ผมเป็นส่วนหนึ่งให้เด็กๆได้มีโอกาสนั้น
“เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุดแล้ว ที่ผมพยายามหาทางกลับบ้าน มันเปลี่ยนอนาคตเลย จากคนที่ไม่มีอะไร ไม่รู้แม้ตัวตนของตัวเอง ใช้ชีวิตไปวันๆ ถ้าเรายังอยู่ที่เดิมกับชีวิตที่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร ก็คงไม่เห็นคุณค่าของตัวเองในวันนี้
ตอนนี้รู้จักคำว่าอนาคต มองเห็น วางแผนสิ่งที่จะต้องทำ สมัยอยู่คนเดียวไม่ต้องคิดอะไร แต่ตอนนี้ผมอยู่กับครอบครัว ก็ต้องคิด ต้องวางแผน ตอนนี้ผมดูแลพ่อ ช่วยส่งเสียน้องสาวเรียน แบ่งเบาภาระของที่บ้าน ครอบครัวผมบอกว่า อุ่นใจขึ้นมากที่ผมกลับมาบ้าน มันเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตแล้วกับคำว่าครอบครัว”
น้องอั้ม
อดีตเด็กหายจากบ้านนาน 15 ปี
และผู้ใช้ Google ตามหาครอบครัวตัวเอง
บทสัมภาษณ์ในวาระครบ3ปีภายหลังกลับบ้าน
ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา
พฤษภาคม 2563
สนับสนุนภารกิจติดตามคนหาย
ชื่อบัญชี โครงการศูนย์ข้อมูลคนหาย โดยมูลนิธิกระจกเงา
ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขบัญชี 202-258288-6
Share Button

ค่าแรงที่ได้ จะเก็บไว้เป็นทุนเรียนต่อ


“หนูอยู่กับตายาย ตอนนี้ท่านก็ 60 กว่าแล้ว แต่ก่อนที่บ้านเราก็พอมีพอกิน เปิดร้านอะไหล่รถยนต์มือสองจากญี่ปุ่น แต่พอเศรษฐกิจไม่ดี หลังจากจบ ม.6 ที่บ้านก็ไม่มีเงินให้เรียนอีกแล้ว ก็พยายามดิ้นรน หาทางกู้ กยศ.บ้าง ทำงานไป เรียนไปบ้าง แต่ก็ยังไม่สำเร็จ”

ถ้าเรียนตามเกณฑ์ ปีนี้จะเป็นปีที่ “เฟอรี่” สำเร็จการศึกษา แต่ถึงแม้ว่าวันนี้ จะยังไม่ถึงเป้าหมาย แต่เธอยังคงไม่ละความตั้งใจ

“หนูอยากเรียนต่อทุกวัน” เธอว่า ถ้าเธอไม่เรียน โอกาสของเธอจะน้อยกว่าคนอื่นๆ

“โอกาสมันน้อยจริงๆ นะพี่ ถ้าได้เรียนอีกครั้ง หนูจะเลือกเรียนการจัดการ เพราะกว้างดี หางานง่าย”

เฟอร์รี่เป็นเด็กเรียบร้อย ยิ้มเก่งกว่าพูด เป็นมดงานที่ทำงานอย่างไม่อิดออด ไม่ปริปากบ่นเหนื่อยให้ได้ยิน ทุกวันเธอจะมาทำงานแต่เช้า รับหน้าที่อยู่ในทีมคีย์ข้อมูลกล่องแบ่งปัน และดูแลนำส่งกล่องทั้งหมด 300 กล่องขึ้นรถไปรษณีย์ให้ทันในตอนเย็น เพื่อส่งถึงผู้เดือดร้อนให้เร็วที่สุด

“มาทำงานที่นี่ ได้เห็นว่ามีคนเดือดร้อนจากโควิดมากจริงๆ ชีวิตหนูว่าลำบากแล้ว แต่มีคนที่ลำบากกว่าหนูอีกมาก บางครอบครัวหนูรับรู้เรื่องของเขาแล้วอยากจะร้องไห้ ไม่รู้ว่าเขาจะอยู่ จะสู้กันยังไง”

“การมาทำงานที่มูลนิธิครั้งนี้ จึงเป็นงานที่มีคุณค่าสำหรับหนู ได้ช่วยเหลือ ได้ทำประโยชน์ให้กับคนอื่นอีกเยอะเลย ที่หนูทำไป ก็ได้หลายพันกล่องแล้วนะคะ”

เฟอรี่บอกกับเราว่าน้ำพักน้ำแรงจากการทำงานในครั้งนี้ จะเป็นเงินเก็บให้เธอได้กลับไปเรียนต่ออีกครั้ง

ธีร์จุฑา หาญณรงค์ (เฟอรี่)
สมาชิกทีมคีย์ข้อมูลนำส่งกล่องแบ่งปัน

Share Button