ปลายทางสุดท้าย ที่ไม่ท้ายสุดของเตียงผู้ป่วยเตียงเก่า

ในกองขยะรีไซเคิล ที่ร้านขายของเก่า
มีเตียงผู้ป่วยสีขาวสภาพดี วางปนอยู่
.
เจ้าของร้านเล่าว่า
ซาเล้งคันหนึ่งบรรทุกมันมาขาย
ปลายทางสุดท้ายของเตียงนี้
มันจะถูกรื้อขายเป็นเศษเหล็ก
.
ทีมงานป่วยให้ยืมตัดสินใจขอซื้อเตียงนั้น
เพื่อนำกลับมาซ่อมแซมทำความสะอาด
.
เพื่อเปลี่ยนปลายทางสุดท้าย
แทนที่จะกลายเป็นเศษเหล็ก
มันจะได้กลับมาทำหน้าที่เตียงดังเดิม
.
เกิดการหมุนเวียนทรัพยากรเก่า
ให้มีคุณค่า ลดภาระค่าใช้จ่าย
ให้ครอบครัวผู้ป่วยติดเตียง/เรื้อรัง
บรรเทาทุกข์เพื่อนมนุษย์
ในช่วงยากลำบากได้อีกหลายราย

————————————

หากคุณมีอุปกรณ์ทางการแพทย์
ที่ไม่ได้ใช้งานอยู่ในบ้าน
มูลนิธิกระจกเงาเรายินดีรับบริจาค
.
สามารถส่งต่อได้ที่
มูลนิธิกระจกเงา เลขที่ 191
ซอย วิภาวดีรังสิต 62 แยก 4-7
แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กทม. 10210
โทร.092-252-5454
.
หรือหากคุณเป็นหนึ่งในครอบครัว
ที่ต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วย
สามารถทักอินบ็อกซ์หาแอดมินได้ที่
โครงการป่วยให้ยืม มูลนิธิกระจกเงา
.
สนับสนุนภารกิจป่วยให้ยืม
บัญชี โครงการป่วยให้ยืม มูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-70398-7 SCB

Share Button

เรื่องเล่าของ “กล้วย” นักผจญงานผู้ไร้บ้าน

วันนี้เขามาทำงานด้วยเทรนด์แฟชั่น Y2K
.
“กล้วย”เป็นชื่อที่เขาบอกกับเรา กล้วยเป็นคนไร้บ้านและเขาเองน่าจะมีปัญหาทางสติปัญญา กล้วยเข้ามาทำงานกับจ้างวานข้าในรูปแบบที่ไม่เหมือนจ้างวานข้าคนอื่นๆ เขามาทำงานให้บริการซักผ้า อบผ้า และห้องอาบน้ำให้แก่คนไร้บ้าน
.
เราเจอกล้วยครั้งแรกในวันที่ทางมูลนิธิกระจกเงาจัดแคมเปญวันซักผ้าและอาบน้ำแห่งชาติ เขามากับจดหมายน้อยฉบับหนึ่ง จดหมายที่มีคนใจดีเขียนให้และแนะนำให้เขามาหาเราเพื่อที่จะได้มีงานทำ ในวันนั้นกล้วยแสดงสปริตอย่างสูง สูงจนการทำงานของเขามันทำการสื่อสารกับเราว่าเขาอยากทำงาน เรานัดหมายกับเขาให้มาเริ่มงานที่เขาสามารถจะทำได้ แต่แล้วเขาก็หายไป
.
วันหนึ่งเขาก็เดินเข้ามาหาว่าเขาอยากช่วยงาน มันเป็นช่วงที่เราทำกิจกรรมรถซักอบอาบน้ำไปจอดให้บริการกับคนไร้บ้านที่ใต้สะพานปิ่นเกล้า ถนนพระอาทิตย์ “ผมมม ผมมช่วยย” ประโยคติดอ่างของกล้วยที่มักพูดติดปากอยู่ตลอดเวลาในช่วงขณะทำงาน เราจ้างกล้วยให้ช่วยงานเป็นประจำ
.
แต่กล้วยยังเหมือนเดิม ยังเป็นเหมือนสายลับอะไรแบบนั้น บางช่วงก็หายไปเป็นอาทิตย์ เขามักกลับมากับคำบอกเล่าว่า เขาไปหาเงินอยู่ที่ตรงนั้นตรงนี้ ครั้งล่าสุดเขาบอกว่าไปต่อคิวรับพระเครื่องแล้วก็ปล่อยเช่าให้กับเซียนพระที่หน้างานแจกพระนั่นแหละ ได้ทั้งเที่ยว ได้ทั้งกิน ได้ทั้งเงิน
.
เรามักถามเขาทุกครั้งที่เจอกันว่า “กล้วยเดี๋ยวนี้ไปนอนแถวไหน” ที่ต้องถามเพราะกล้วยเองเปลี่ยนที่นอนบ่อยครั้งมาก ที่ต้องเปลี่ยนที่นอนบ่อยครั้ง สาเหตุเกิดจากกล้วยมักถูกรังแก หรือบางครั้งก็ถูกทำร้ายเอาแรงๆ เขาเคยชี้ให้เราดูแผลที่หัวที่เคยเป็นรอยแตก ในบางวันกล้วยก็มาบอกว่าเขาเช่าห้องแล้วนะอยู่ที่แถวรังสิต แต่เมื่อถามว่าห้องน้ำรวมมั้ย เขากลับตอบว่าไปเข้าห้องน้ำที่ปั๊มน้ำมัน
.
เราเคยถามกล้วยว่าเงินที่ได้จากการทำงานกับเราที่รถซักอบอาบน้ำ เขาเอาไปใช้อะไรบ้าง กล้วยตอบอย่างเร็วว่า เขาเอาไปซื้อข้าวกิน เขาชอบสั่งกะเพราหมูสับ และที่ขาดไม่ได้ต้มยำรวมมิตร “กินกับข้าวเปล่า ซดต้มยำอร่อย” คนฟังคำตอบถึงกับกลืนน้ำลายเรื่องเล่าจากร้านอาหารของเขา
.
วันนี้เราคุยกับเขาว่า เร็วๆ นี้เราจะทำการเปิดบริการห้องสุขา และห้องอาบน้ำ รวมถึงรถซักอบอาบ ให้กับคนไร้บ้านทุกวันไม่มีวันหยุด กล้วยอยากมาทำงานกับเราทุกวันมั้ย เขาพยักหน้าแทนคำตอบรับ เราบอกข้อมูลให้กับกล้วยเพิ่มเติมว่า รออีกสักไม่เกิน 2 เดือนพื้นที่ตรงนั้นจะทำหน้าที่ปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้กับคนไร้บ้าน เพื่อว่าวันหนึ่ง เมื่อเขาพร้อมที่จะเปลี่ยนจากไร้บ้านมามีบ้านเขาจะสามารถเปลี่ยนผ่านได้จากการเริ่มต้นจากจุดตรงนี้
.
เราบอกส่งท้ายกับกล้วยว่า “กล้วยเองก็เหมือนกันนะ”
——————————————
สนับสนุน​จ้างวาน​ข้าและการสร้างพื้นที่สวัสดิการ
เพื่อดูแลคนไร้บ้าน ได้ที่​
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-58289-4 SCB
Share Button

วัฏจักรชีวิตไร้บ้านของผู้ป่วยในตรอกสาเก

“เดี๋ยวก็มีมาใหม่อีกเรื่อยๆ ไม่จบไม่สิ้น” ประโยคของคนในตรอกสาเก บอกเล่ากับทีมงานผู้ป่วยข้างถนนหลังจากที่เราประสานงานให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชหญิงรายนี้อยู่
.
จริงอย่างที่ชาวบ้านแถวตรอกสาเกบอกกับเรา ไม่นานนักก็จะมีผู้ป่วยรายใหม่เดินวนเวียนใช้ชีวิตอยู่ที่ตรอกสาเก หรือข้อเท็จจริงที่สุดก็คือ ในขณะที่เราช่วยผู้ป่วยหญิงคนนี้อยู่ ก็ยังมีผู้ป่วยอีกไม่ต่ำกว่า 5 รายที่ใช้ชีวิตกับความป่วยจิตเวชอยู่ที่ข้างถนนในพื้นที่ตรอกสาเกหรือไม่ก็พื้นที่ใกล้เคียง หรือเมื่อปีก่อนนี้เองที่เราให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชหญิงที่ตรอกสาเกไป
.
วัฏจักรนี้มันเป็นอย่างไร ผู้หญิงคนนี้อาจบอกเล่าเรื่องนี้ได้พอสมควร
.
1 ปีกว่าๆ คือเวลาที่เธอมาใช้ชีวิตเร่ร่อนอยู่ที่ตรอกสาเก
.
การแต่งกาย เสื้อผ้าหน้าผมของเธอ แน่นอนมันบอกถึงอาการจิตเวชอย่างไม่มีข้อสงสัย และที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือเสื้อผ้าที่เธอสวมใส่ มันคือเสื้อเว้าแหว่งคล้ายเสื้อกล้าม ที่สำคัญคือเธอไม่สวมชุดชั้นใน และมาระยะหลัง เสื้อตัวเก่งก็ถอดออก บางครั้งก็เปลือยท่อนบนนั้นและใช้ชีวิตแบบนั้นอยู่ทั้งวัน
.
มาตอนแรกๆ ก็ขายของมือสองที่หาเก็บตามถังขยะ สภาพของมีทั้งสภาพกึ่งพังและพังไปแล้ว ยิ่งช่วงหลังมานี้ของที่เก็บมาขาย มีสภาพกึ่งขยะและเป็นขยะไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อมีลูกค้าเข้ามาถามไถ่ราคาสินค้า แม่ค้าไม่พูดไม่บอกราคาสินค้านั้นแต่อย่างใด
.
ข้าวปลาอาหาร ช่วงมาอยู่แรกๆ การหาอยู่หากิน ก็ยังใช้เงินซื้อข้าวปลาอาหารมากินเองได้ ช่วงหลังมานี้ ถังขยะนอกจากจะเป็นแหล่งหาของไปขาย มันยังทำหน้าที่เป็นโรงอาหารให้กับเธอ หิวน้ำก็หยิบแก้วน้ำเหลือขึ้นมาดื่มกิน หิวมากหน่อยก็อาจเป็นข้าวกล่อง ขนมปังเหลือๆ ที่ถูกหยิบขึ้นมากิน
.
หลายครั้งถูกชายหนุ่มกลัดมันเข้ามาดิว(เจรจาเพื่อซื้อบริการ) แต่เธอไม่เคยไปกับใคร(หญิงสาวขายบริการแถวนั้นให้ข้อมูลตรงกัน) แต่ก็มีหลายครั้งที่เธอถูกคุกคามจากผู้ชาย ทั้งที่เป็นคำพูดและท่าทีหื่นๆ แรงๆ พวกเขาทำเสมือนเธอมีสภาพเป็นวัตถุทางเพศไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่ควรเคารพในฐานะมนุษย์เช่นเดียวกัน
.
ประเทศไทยนั้นมี พระราชบัญญัติสุขภาพจิตอยู่ แต่มันก็เป็นกฎหมายที่แทบมีสภาพบังคับใช้ไม่ได้ ยิ่งในหมวดที่เกี่ยวเนื่องกับการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชที่เร่ร่อนอยู่ที่ข้างถนนแบบเธอคนนี้
.
กลไกช่วยเหลือที่รวดเร็วนั้นนับเป็นเรื่องที่ดีสำหรับตัวผู้ป่วยอย่างมาก เพราะอาการป่วยของเธอคงไม่หนักข้อขนาดที่ไม่ซื้อของกินแล้วแต่เป็นการหาเอาตามถังขยะกินแทน เธออาจจะไม่ต้องแก้ผ้าให้ใครต่อใครที่เธอไม่เคยได้รู้จักได้เห็นรูปกายเธอ ทั้งๆ ที่มันควรเป็นเรื่องส่วนตัวอย่างที่สุด เธออาจจะได้ขายของเป็นชิ้นเป็นอันเป็นเรื่องเป็นราว หลังจากที่เธอได้เข้ารับการรักษาแล้ว ที่สำคัญเธอจะไม่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับความเสี่ยงที่ว่าจะถูกละเมิดทางเพศโดยที่เธอป้องกันตัวเองแทบไม่ได้แล้ว
.
สุดท้ายของบทความนี้เราขอฝากเรื่องนี้ไว้ให้กับรัฐ เพื่อรัฐจะได้ตระหนักว่า ความเร็วในการให้ความช่วยเหลือบุคคลพลเมืองของรัฐนั้น มันนับเป็นตัวชี้วัดว่ารัฐให้ความใส่ใจต่อบุคคลพลเมืองของตัวเองนั้นมากแค่ไหน บาร์ที่ว่านั้นอยู่ต่ำหรือสูง ความเร็วนั้นนับเป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่สำคัญมากเลยทีเดียว
—————————————————
สนับสนุนการทำงานได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-2-58289-4 SCB
Share Button

แม่เล่า ลูกวาด กับบทสัมภาษณ์ชีวิตเก่าก่อนเริ่มต้นชีวิตใหม่

เด็กน้อยเอ่ยขอปากกาและกระดาษไปวาดรูปในช่วงที่เรากำลังสัมภาษณ์แม่ของเขา
.
เด็กน้อยใช้เวลาวาดพอๆกับเวลาที่เราทำการสัมภาษณ์แม่ของเขาเพื่อรับมาทำงานกับจ้างวานข้า
.
เด็กน้อยวาดรูปในขณะที่แม่เริ่มน้ำตานองหน้าจากเรื่องที่เล่า
.
ผู้เป็นแม่บอกเล่าชีวิตตัวเองและครอบครัว
.
หญิงสาวว่า เธอมากับลูกวัย3ขวบ ตอนนี้เธอและลูกใช้ข้างถนนเป็นพื้นที่หลับนอน เธออายุเพียง20ต้นๆ แฟนเธอเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถไปไม่นาน
.
เธอเคยทำงาน2ร้านใน1วัน เช้าอยู่ร้านขายของ เย็นที่ร้านอาหาร แฟนเธอวิ่งวินมอเตอร์ไซค์ ความรักผลิบานก็ตอนที่เขารับส่งเธอไปทำงานทั้งเช้าทั้งค่ำ
.
เมื่อเธอตั้งท้อง งานการทั้งสองร้านที่เธอเคยทำ กลับไม่จ้างเธออีกต่อไป สาเหตุเพราะเธอท้อง และเขาคงกลัวว่าจะทำงานได้ไม่คล่องตัว ไม่คุ้มค่าจ้าง และเธอก็ตกงานโดยไม่มีค่าชดเชยใด
.
แฟนเธอจึงต้องวิ่งงานหนักขึ้นอีกเป็นเท่าตัว วันนึงบ่าของเขาที่แบกทั้งเมียทั้งลูกเล็กก็พังทลาย แฟนเธอถูกรถชนตาย ตายขณะยังทำหน้าที่วินมอเตอร์ไซค์
.
หญิงสาวบอกว่าอุบัติเหตุในครั้งนั้น ส่วนนึงเกิดจากร่างกายของแฟนเธอที่กรำงานหนักเพื่อที่จะแบกชีวิตเธอและชีวิตลูก
.
ถึงตรงนี้หลายคนคงมีคำถามในใจว่าทำไมเมื่อเธอคลอดลูกแล้ว ทำไมเธอไม่ไปหางานทำช่วยแฟนอีกแรง คำตอบก็คือเธอต้องทำหน้าที่แม่ที่ต้องดูแลลูกเล็ก
.
เธอออกไปหางานทำมาบ้างแล้ว แต่งานรับจ้างที่ส่วนมากนั้นมันไม่ได้มีห้องเลี้ยงเด็กให้สำหรับสัตว์เศรษฐกิจในชื่อว่าแม่คนอยู่เลย เธอจึงต้องจำใจเลี้ยงเอง อาจต้องรอจนเด็กมันพอเข้าเรียนได้นั้นแหละ ถึงจะพอไปหางานการทำได้อีกครั้งหนึ่ง
.
จะไปฝากญาติพี่น้องของทั้งคู่นั้นน่ะเหรอ ตัวเธอเองไม่เหลือใครแล้วในชีวิต แฟนเธอยิ่งแล้วใหญ่เขาเติบโตมาจากสถานสงเคราะห์เด็ก คงไม่ต้องไต่ถามกันอีกว่ามีญาติอยู่ที่ไหนบ้างมั้ย
.
เธอบอกแฟนก็ไม่มีญาติ ตัวเธอก็ไม่มีญาติ เธอและแฟนต่างก็เป็นญาติให้กันและกัน
.
ความจนยากนั้นทำให้ไม่ต้องไปถามถึงว่าทำไมไม่ฝากในศูนย์เลี้ยงเด็กเอกชน
.
เธอฝากลูกเล็กในระบบใดๆ ก็ไม่ได้เลย เธอจึงจำเป็นต้องดูเอง เมื่อแฟนเธอตายในช่วงต้นปีที่ผ่านมา มันยิ่งเคว้งคว้าง เธอพยายามหางาน งานที่เห็นความเป็นแม่คนที่ต้องมีงานมีรายได้
.
ไม่มีงานก็ไม่มีเงินพอที่จ่ายค่าเช่าห้องได้อีกต่อไป เงินที่ควรได้จากการตายของแฟน เธอบอกว่าตำรวจให้เธอรับเงินจากคู่กรณี 2หมื่นบาทจะได้จบๆ คดีไป และเธอรับมาอย่างว่าง่าย
.
เธอกับลูกชายเดินมายังจุดที่เราเปิดบริการรถซักอบอาบให้กับคนไร้บ้านที่สะพานปิ่นเกล้า เธอขอสมัครทำงาน เราสัมภาษณ์เธอ แล้วเสร็จเราจัดการเรื่องที่อยู่อาศัยชั่วคราวให้เธอและลูกเล็กทันที อาทิตย์หน้าเธอจะได้มาเริ่มงานกับจ้างวานข้าที่มูลนิธิกระจกเงา และที่นี่มีห้องเลี้ยงเด็กในยามที่พ่อแม่กำลังแข็งขันทำงานอยู่
.
เธอกล่าวขอบคุณเรา และก้มลงไปบอกกับเด็กชายว่า “วันนี้ยุงไม่กัดเราแล้วนะลูก”
Share Button

เมื่อสถานะ ‘ไร้บ้าน’ ถูกใช้เป็นเหตุผลที่ทำให้หญิงมีครรภ์ ‘ไร้การดูแล’

“วันพ่อที่อยากเล่าเรื่องของคนเป็นแม่”
.
เย็นวันหนึ่งในอาทิตย์ก่อน ทางทีมผู้ป่วยข้างถนนได้รับแจ้งจากพลเมืองดีว่าพบคนเร่ร่อนไร้บ้านเป็นผู้หญิงตั้งครรภ์กลับมาอีกครั้งแล้ว ที่ว่าเจออีกครั้งเพราะตัวคนไร้บ้านคนดังกล่าวหายไป และทางเราได้ลงพื้นที่ติดตามหลายครั้งแต่ไม่พบ ครั้งนี้เราจึงรีบลงด่วนที่สุดทันที
.
ด่วนที่สุดเพราะเธอตั้งครรภ์ ครรภ์นั้นน่าจะไม่ต่ำกว่า 7-8 เดือนแล้ว และไม่แน่ใจว่าเธอเองจะมีความสามารถในการดูแลครรภ์ตัวเองต่อไปได้ดีแค่ไหน เมื่อเราลงพื้นที่พบเจอเธอ เราได้เข้าไปพูดคุย เพื่อทำการเช็คอาการจิตเวชเบื้องต้น แต่ไม่พบว่าเธอมีอาการจิตเวช
.
เราจึงเริ่มคุยกับเธอ เธอเล่าว่าเธออยู่กับแฟนที่ใช้ชีวิตไร้บ้านเช่นกัน และบางครั้งต้องหลบออกมาอยู่ที่อื่น เพราะแฟนเธอทำร้ายร่างกาย ครั้งนี้ก็เช่นกัน แต่ข้อมูลสำคัญที่เธอเล่าก็คือ มีคนใจดีแถวนั้นพาเธอไปโรงพยาบาล หมอบอกเธอตั้งครรภ์ได้ 36 สัปดาห์ (9เดือน) และเด็กนั้นกลับหัวแล้ว
.
36 สัปดาห์ และเด็กกลับหัวแล้ว นัยยะก็คือเธอจะคลอดแล้วแน่นอนไม่พรุ่งนี้ก็มะรืนนี้ เราจึงเริ่มคุยกับเธอ ทำความเข้าใจกับเธอว่า เธอควรถูกดูแลโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่เรียกว่า “บ้านพักเด็กและครอบครัวกรุงเทพ” เธอตกลงว่าเธอจะเข้าสู่การดูแลนั้น เราจึงรีบประสานงานไปทันที
.
เจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กรับสาย เราแจ้งข้อมูลของตัวเคสคนไร้บ้านที่ตั้งครรภ์ไปทั้งหมด รวมถึงเราประเมินเบื้องต้นแล้วว่าไม่มีปัญหาจิตเวชอย่างแน่นอน ทางเจ้าหน้าที่มีคำถามที่ทำให้เราต้องอึ้งอยู่เหมือนกัน เจ้าหน้าที่ถามเรามาว่า “แล้วค่าใช้จ่ายเรื่องท้องจะทำอย่างไร” และตามมาด้วยประโยคที่ว่า “ขอไปปรึกษาผู้บังคับบัญชาก่อนว่าจะเอาอย่างไร” แล้วก็วางสายไป
.
ในช่วงค่ำทางเจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กโทรกลับมาหาทางทีมงานผู้ป่วยข้างถนนอีกครั้ง พร้อมกับบอกว่า ทางบ้านพักเด็กไม่สามารถจะรับเคสคนไร้บ้านตั้งครรภ์คนนี้เข้าสู่การดูแลได้ เนื่องจากเขาเป็นคนไร้บ้าน แต่ถ้าเป็นเคสคนท้องที่มีบ้านและมีปัญหาครอบครัว เขาถึงจะเข้ามาดูแล และบอกกับทางทีมงานผู้ป่วยข้างถนนว่า ทางบ้านพักเด็กและครอบครัวจะประสานกับทางศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งให้ เนื่องจากเคสเป็นคนไร้บ้าน
.
เมื่อหน่วยงานภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์พูดคุยกันเอง เราจึงติดตามการปฏิบัติงานของทั้งสองหน่วยงานในช่วงเช้าของอีกวัน เจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กคนเดิมบอกกับเราว่า ให้เราไปตามกับทางศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง เคสเป็นคนไร้บ้าน (แม้ว่าท้อง 9 เดือน และเด็กกับหัวแล้วด้วย) ไม่ใช่บทบาทหน้าที่ผม และไม่ใช่หน้าที่ของผมที่ต้องตามข้อมูลให้คุณ ให้ไปตามข้อมูลกับทางศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งเองได้เลย
.
ทางทีมผู้ป่วยข้างถนนจึงประสานไปยัง ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ทางศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งให้ข้อมูลว่า ทางผู้หญิงคนไร้บ้านที่ตั้งครรภ์นั้น ตอนนี้ไม่อยู่ในพื้นที่แล้ว ด้วยเหตุเพราะเขาปวดท้องจะคลอดลูก เลยมีพลเมืองดีนำส่งโรงพยาบาลใกล้เคียง และทางศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกำลังจะทำการติดตามเคสดังกล่าวไปที่โรงพยาบาล เราขอบคุณทางเจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองฯ และขออนุญาตติดตามผลหลังจากไปติดตามเคสดังกล่าวที่โรงพยาบาล
.
ผู้หญิงตั้งครรภ์ 9 เดือนคนหนึ่ง มีสถานะไร้บ้าน ต้องมาเจ็บท้องคลอดโดยไม่มีหน่วยงานรัฐใดที่เข้ามาดูแล ไม่ต้องย้อนไปถึงการเข้ามาดูแลก่อนที่เธอจะคลอด ตอนนี้เธอมีสถานะแม่เรียบร้อยแล้ว แต่เป็นแม่ที่อยู่ในสถานะคนเปราะบางทางสังคม คนท้องและคนเปราะบางทางสังคมคนหนึ่งที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องที่สุดอย่างบ้านพักเด็กและครอบครัวบอกว่าไม่ใช่ภารกิจของเขาอย่างเต็มปากเต็มคำ
.
เพียงเพราะเขาไร้บ้านจึงไม่อยู่ในการดูแล แต่ถ้าเขามีบ้านและตั้งครรภ์แต่มีปัญหาในการดูแลตัวเองและลูกในท้อง บ้านพักเด็กและครอบครัวจะเข้ามาดูแล มันเป็นหลักคิดแบบไหนกันนะ หลักการแบบใดกันที่ไม่ใช้ตัวตั้งที่สำคัญที่สุดนั้นคือ ความเป็นผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ได้ 9 เดือนและมีปัญหาทางสังคมเศรษฐกิจที่ไม่สามารถจะดูแลตัวเองและครรภ์ตัวเองได้ดีนัก เพื่อเป็นตัวตั้งหลักในการที่รัฐจะเข้ามามีบทบาทดูแล แต่กลับดันใช้สถานะไร้บ้านมาเป็นตัวตั้งก่อน และทำการปฏิเสธการดูแล ทั้งๆ ที่หน่วยงานอย่างบ้านพักเด็กและครอบครัวนั้นมี setting ที่พร้อมที่สุดแล้วในการดูแลเคสผู้หญิงตั้งครรภ์และมีปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม และความไร้บ้านนั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญใดๆ เลยถ้าจะใช้ setting ที่มีอยู่เพื่อจะดูแลพลเมืองของรัฐที่มีปัญหาอย่างผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ได้ 9 เดือนคนนี้
____________________
ปล.เราจะไม่แท็กรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แต่ถ้ามีคนช่วยแท็กถึงเรายินดีและขอบคุณมากๆ ครับ
Share Button

3 ปีกับวงจรชีวิตอันไร้ที่สิ้นสุดของผู้ป่วยเร่รอน

เป็นผู้หญิงอายุราว 30 ปี ผู้คนแถวนั้นจะพบเห็นเธอเร่ร่อนอยู่ 3 พื้นที่ พื้นที่แรกคือเธอนั่งนอนอยู่ที่ศาลา พื้นที่ที่สองเข้าไปที่หลังชุมชน พื้นที่ที่สามเธอมักหายไปกับคนแปลกหน้า
.
3 ปีได้แล้วที่ชาวบ้านแถวนั้นพบเห็นเธอใช้ชีวิตอยู่ประมาณนี้
.
ที่ศาลาบางครั้งเธอนั่ง บางครั้งเธอนอน บางครั้งนั่งเหม่อ บางครั้งนั่งพูดคนเดียว และมีอยู่หลายครั้งที่เธอเกรี้ยวกราดเขวี้ยงปาข้าวของใส่ผู้คน มีครั้งหนึ่งที่ทำร้ายร่างกายคนในชุมชน และในหลายครั้งอีกเช่นกันที่เธอมักเล่นไฟแช็กและจุดเผากองขยะที่เธอเก็บสะสมมาเอง
.
อาการทางจิตเวชชัดเจน ชัดเจนตามเงื่อนไขอาการจิตเวชที่ต้องได้รับความช่วยเหลือตาม พรบ.สุขภาพจิต กล่าวคือ เธอมีทั้งภาวะความอันตรายต่อผู้อื่นและตัวเธอเอง และเธอมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการบำบัดรักษาเนื่องจากถ้าปล่อยไว้คุณภาพชีวิตของเธอจะเสื่อมทรุดลง
.
ตำรวจในฐานะของพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พรบ.สุขภาพจิตถูกแจ้งจากชาวบ้านอยู่บ่อยครั้ง แต่ทุกครั้งทำได้เพียงแค่มาไล่ให้ออกจากพื้นที่ไปในทุกครั้ง และเธอก็วนเวียนกลับมาในทุกครั้ง ตำรวจให้เหตุผลที่ทำได้เพียงเท่านี้เพราะเขาเคยนำส่งผู้ป่วยจิตเวชแบบเดียวกันนี้ไปยังโรงพยาบาล และโรงพยาบาลเองก็ปฏิเสธที่จะรับผู้ป่วยเข้ารับการรักษา โดยเงื่อนไขที่ตัวผู้ป่วยไม่มีญาติ (ที่จริงตามพรบ.สุขภาพจิตระบุไว้ชัดเจนว่าไม่ต้องมีญาติมาด้วยก็ได้) สุดท้ายตำรวจต้องเอาผู้ป่วยกลับมาในพื้นที่เดิม และเรื่องราวก็วนเป็นวงจรไม่รู้จบเช่นเดิม ทั้งเรื่องราวชีวิตของผู้ป่วยและเรื่องราวของการแก้ไขปัญหาผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อน
.
วันนี้ทางทีมผู้ป่วยข้างถนนประสานงานกับทางตำรวจเพื่อจะให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย แต่โชคร้ายที่เธอหายไปจากพื้นที่ได้ราวอาทิตย์กว่าแล้ว เราจึงไม่สามารถให้ความช่วยเหลือเธอได้ แต่เราสัญญาว่า ถ้าเธอกลับมาในพื้นที่เราจะดำเนินการอย่างเร่งด่วนในทันทีเพื่อที่จะยกเลิกวงจรชีวิตที่ผู้ป่วยต้องเผชิญอยู่อย่างไม่รู้วันที่จบสิ้นไปเสียที
———————————-
สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยข้างถนน ผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-58289-4 SCB
Share Button

“ยกระดับ” ความสุขช่วงปีใหม่ด้วยการแบ่งปัน



“ยกระดับ” ความสุขช่วงปีใหม่ด้วยการแบ่งปัน

เคยนึกสนุกกันบ้างไหมว่า…ในวันปีใหม่เราจะนำของขวัญไปวางไว้หน้าบ้านใครสักคนที่เราไม่รู้จัก “วางของขวัญไว้หน้าบ้านใครสักคน” วิธีนี้เป็นเคล็ดลับการสร้างความสุขอย่างหนึ่งจากหนังสือ The Little Book of Lykke เขียนโดย Meik Wiking ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยความสุขในโคเปนเฮเกน

Lykke “ลุกกะ” เป็นภาษาเดนมาร์ก แปลว่า “ความสุข” และประเทศเดนมาร์กสามารถครองแชมป์ประเทศที่มีความสุขที่สุดของโลกหลายปีซ้อน แล้วทำไมชาวเดนมาร์กจึงถูกจัดว่ามีความสุขที่สุดในโลกนะหรือ ก็ด้วยเหตุผลที่ว่าประเทศนี้เขามีสวัสดิการจากรัฐไว้ดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนทุกคนแม้กระทั่งคนยากไร้ให้อยู่ดีมีสุขอย่างที่สุดไงล่ะ

มองตามความเป็นจริงแม้ประเทศไทยจะยังห่างไกลจากการจัดอันดับความสุขระดับโลกอยู่หลายขุม แต่เราก็ยังสามารถสร้างความสุขเล็กๆ น้อยๆ ในแบบเราได้ โดยเฉพาะคุณสมบัติโดดเด่นในเรื่องของน้ำใจของคนไทย ที่ไม่เคยเป็นรองใคร

“น้ำใจ” เราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า การให้ในรูปแบบที่ไม่หวังผล การแบ่งปันน้ำใจทำได้ง่ายมาก ไม่ซับซ้อน และสร้างความสุขให้โลกน่าอยู่ได้อย่างน่าอัศจรรย์

ปีใหม่นี้มูลนิธิกระจกเงาขอเป็นตัวแทนในการ “นำของขวัญไปวางไว้หน้าบ้านใครสักคนที่คุณไม่รู้จัก” และสำคัญไปกว่านั้น ใครคนนั้นอาจเป็นเด็กๆ ที่ไม่เคยมีของเล่นเป็นของตัวเองเลยในชีวิต เมื่อนั้นความสนุกจากการนึกคิดจะกลายเป็นความสุขของผู้รับในโลกความจริง และกลายเป็นความสุขใจย้อนกลับแบบยกกำลังสองถึงผู้ให้ในทันที …แค่คิดจะให้ ก็ได้รับ

ในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้เราเปิดรับน้ำใจจากการแบ่งปันในทุกรูปแบบ การบริจาคของขวัญ ของเล่นสำหรับเด็กทุกวัย ข้าวของเครื่องใช้ทั้งมือหนึ่งหรือมือสองที่คุณแบ่งปันให้มา จะถูกส่งต่อถึงมือผู้รับที่ต้องการ

ส่งท้ายปีเก่าเริ่มต้นปีใหม่ด้วยการ “แบ่งปันข้ามปี” เพื่อเติมเต็มหัวใจให้คนที่ขาด น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการสร้างความสุขหรือความแช่มชื่นเล็กๆ ในใจได้ เราจึงชวนให้คุณๆ ส่ง ส.ค.ส. ด้วยสิ่งของต่างๆ ที่จะถูกแปลงเป็นของขวัญทรงคุณค่าสำหรับบางคน …เพราะการให้คือการได้รับอย่างไม่รู้จบ
…เพราะความสุขเป็นจริงได้เมื่อเราแบ่งปัน.

Share Button