ชีวิตหวานๆขมๆ และอมเปรี้ยวของเด็กโรงเรียนไร่ส้มวิทยา

โรงเรียนไร่ส้มวิทยา ตั้งอยู่กลางไร่ส้มนับพันไร่ ในหมู่ที่ 6 ตำบลแม่ข่า อำเภอฝาง จังหวัดเชียงราย

 

ปัจจุบันเปิดการเรียนการสอนตามหลักสูตรแกนกลาง และมีหลักสูตรเสริมตามความถนัด ความสนใจ ความจำเป็นและธรรมชาติการใช้ชีวิตของเด็กและพื้นที่ จึงไม่แปลกหากจะเห็นเด็กตัวใหญ่นั่งปะปนอยู่กับเด็กเล็กที่กำลังอ่านเขียนก.ไก่เพราะสำหรับที่นี่ อายุปัจจุบันของเด็กไม่ใช่เรื่องสำคัญ.. แต่โอกาสในการได้ศึกษาเล่าเรียนเท่านั้น ที่ทำให้ทุกคนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีวิชาความรู้ติดตัวไปจนตาย

 

ท่ามกลางแดดร้อนจัด ต้นส้มตั้งตระหง่านทอดตัวยาวไปถึงทิวเขา มดงานตัวเล็กตัวน้อยออกทำงานแต่เช้ามืด พวกเขาคือกำลังหลักอันขยันขันแข็งทางกลางแดดฝน

 

ไม่มีใครอยากทิ้งถิ่นกำเนิดของตัวเองเพื่อเดินทางออกไปให้ไกลห่างจากบ้านเกิด

 

แรงงานในไร้ส้มทุกคนรู้ดี หากพอมีกินมีใช้ ไร้สงคราม พวกเขาไม่จำเป็นต้องออกเร่ร่อนเพื่อเอาชีวิตรอด

 

ลูกเล็กเด็กแดง ในนามเด็กต่างชาติ ไร้สัญชาติ ไร้รากกำเนิด เกิดขึ้นและเติบโตใต้ร่มเงาต้นส้มทั้งหมดขาดโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษาภาคบังคับ ด้วยข้อจำกัดต่างๆ นานา

 

ถึงแม้ว่าระบบการศึกษาไทยจะเปิดกว้างรับเด็กทุกคนที่เกิดบนแผ่นดินไทยให้สามารถเข้าเรียนได้แต่เด็กลูกหลานแรงงานไร่ส้ม มีภารกิจต้องดูแลน้องเล็กๆและบางคนอายุก็ห่างไกลจากเพื่อนๆในวัยเดียวกันมานานแล้ว การกลับเข้าไปเรียนร่วมในชั้นเรียนจึงเป็นเรื่องยาก ลำบากทั้งทางการเดินทาง ค่าใช้จ่าย และต้นทุนทางสังคม

 

อาคารเรียนที่มีอยู่หนึ่งหลังในตอนนี้ รองรับนักเรียนชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เด็กนักเรียนราว 130 คน สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันใช้ห้องเรียนในอาคารและบ้างก็ออกมาเรียนรู้นอกห้องเรียน ใต้ต้นไม้ใหญ่หรือแปลงเกษตร

 

ไม่มีอะไรยิ่งใหญ่สำหรับชีวิตเล็กๆในไร่ส้ม มากไปกว่าการศึกษาขั้นพื้นฐานอีกแล้ว

 

หลังจากนี้ เมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น เขาหรือเธออาจจะเดินตามรอยพ่อแม่ เป็นแรงงานในไร่ส้ม แต่พวกเขาจะรู้ถึงสิทธิอันพึงมีพึงได้ของตัวเองในฐานะที่ได้เกิดบนผืนแผ่นดินไทย เช่นเดียวกับเด็กคนอื่นๆเกิดและเติบโตอยู่ทั่วประเทศ ทั้งที่มีเลขประจำตัว 13 หลักเพื่อแสดงสถานะและแม้ว่าไม่มีสถานะบุคคล เด็กทุกคนก็เท่าเทียมกัน

 

ด้วยมูลนิธิกระจกเงา ตระหนักว่า “เด็กทุกคนบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นสัญชาติ ชาติพันธุ์ใด ควรได้รับโอกาสเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน อย่างเท่าเทียม และไม่เลือกปฎิบัติ” ดังเจตนารมณ์ของปฏิญาสากล และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก “เด็กทุกคน ควรจะต้องได้รับการคุ้มครองและการพัฒนา”  

 

จนเกิดแนวคิดในการดำเนินการจดทะเบียนการจัดการศึกษาขั้นฐาน ภายใต้กฎกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยสิทธิขององค์กรชุมชนและองค์กรเอกชนในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ. 2555  และเมื่อวันที่ 23 เดือนมีนาคม พ.ศ.2561 โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 3 พิจารณาอนุมัติเห็นชอบในการจัดตั้งศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2545 และฉบับที่ 3 พ.ศ.2553 และกฎกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยสิทธิองค์กรชุมชนและองค์กรเอกชนในการจัดการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ.2555 ในนาม  “ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา มูลนิธิกระจกเงา”

Share Button

สารแห่ง “ความสุข” ที่มีชื่อเรียกว่าการ “แบ่งปัน”

ใกล้สิ้นปีเข้าไปทุกที ..บางทีคนเราก็ยังไม่รู้ว่าความสุขที่ผ่านมานั้นใช่เรื่องจริงหรือไม่!!

เมื่อถึงเวลาข้ามปี โอกาสแห่งการทบทวนถึงทุกข์สุขตลอดสิบสองเดือนที่ผ่านมาก็เริ่มต้น

 

ความสุขคืออะไร..เชื่อว่าทุกคนเคยค้นหาคำตอบในใจ ดังเช่น นักจิตวิทยาชื่อ วีนโฮเฟ่น (1997)  ให้นิยามของ “ความสุข”ว่า คือการประเมินของแต่ละคนว่าชื่นชอบชีวิตโดยรวมของตนเองมากแค่ไหน หมายถึงว่าเรารู้สึกชอบหรือพึงพอใจกับชีวิตของเรานั่นเอง คนที่มีความสุขคือคนที่ไม่รู้สึกกังวลกับชีวิต ชอบสนุกอยู่กับเพื่อนฝูง และชอบเผชิญกับประสบการณ์ใหม่ๆ

 

การที่เราบอกว่าเรามีความสุข จึงหมายถึงเรารู้สึกชอบหรือพึงพอใจกับชีวิตเรานั่นเอง คนที่มีความสุขนั้น เป็นคนที่แทบจะไม่รู้สึกวิตกกังวลกับชีวิตตนเอง  มีอารมณ์มั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงขึ้นลงง่าย และมักจะหวังว่าตนจะพบเจอสิ่งดี ๆ ในอนาคต ส่วนคนที่ไม่มีความสุขนั้น มักจะรู้สึกว่าชีวิตตัวเองย่ำแย่ ไม่สนใจความรู้สึกของคนอื่น หรือถึงขนาดคิดฆ่าตัวตายก็มี เพราะฉะนั้นความสุขจึงเหมือนน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตเรา

 

ในขณะที่ Robert Waldinger ได้นำเสนอวิจัยจาก Harvaed เมื่อปี1938 ในการศึกษาชีวิตของอาสาสมัครกว่า 724 คน รวมถึงคู่สมรสและลูกหลานอีกกว่า 2000 คน ซึ่งรวบรวมข้อมูลและสรุปอย่างชัดเจนว่า “ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดช่วยให้คนมีสุขภาพดีและมีความสุข” และทั้งนี้ม่มีทางลัดที่จะนำเราไปสู่ชีวิตที่ดีได้ และการสร้างความสัมพันธ์ต้องการเวลา แรงกายและใจที่ทุ่มเท คนที่พบว่ามีความสุขในบั้นปลาย มักจะเป็นคนที่รู้จักสร้างและรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัว รวมถึงเพื่อนและสังคม ให้เวลากับคนที่เรารัก เข้าหาคนที่อยู่ไกลเรา และการมีส่วนร่วมในสังคมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการมีชีวิตที่ยืนยาว ในขณะที่การอยู่อย่างโดดเดี่ยวจะทำให้ชีวิตแย่และสั้นลง คนที่สร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ดี จะมีอายุยืนยาวมากกว่าคนที่ใช้ชีวิตและมีความสัมพันธ์ที่ขัดแย้ง

 

ไม่ว่าหน้าตาของความสุขของแต่ละคนจะเป็นเช่นไร..แต่ในโลกที่นับวันยิ่งจะโดดเดี่ยวด้วยเทคโนโลยีและรูปแบบการใช้ชีวิตที่รวดเร็ว ออนไลน์ ที่จำกัดไว้แค่เพียงพื้นที่ส่วนตัวบางครั้งความสุขจึงถูกแบ่งปันแค่เพียงการกดไลท์กดแชร์ เพียงชั่ววูบ ชั่วครั้งชั่วคราว

 

หากเมื่อเราเดินออกจากห้องอันแสนอบอุ่นและปลอดภัย เพื่อลองดื่มด่ำกับความสุขเล็กๆในวันสุดท้ายสิ้นปีเพื่อสัมผัสกลิ่นของฤดูหนาว ลมที่พัดผ่านซอกตึก และพลุหลากสีทะยานขึ้นฟ้าสัญลักษณ์แห่งส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ .. ก่อนเอ่ยคำว่าสวัสดีปีใหม่ให้กับคนที่อยู่เคียงข้าง และกล่องข้อความส่งสัญญาณดังระรัว .. Happy new year

 

และแล้วเวลาแห่งการเริ่มต้นแบ่งปันความสุขให้กับผู้อื่นก็เริ่มขึ้น ปีใหม่เดินทางมาถึงอย่างเป็นทางการแล้ว

 

มูลนิธิกระจกเงาเปิดรับการแบ่งปันในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นของขวัญของเล่น สำหรับเด็กในทุกวัย อาสาสมัครรับของบริจาคในวันหยุดยาวช่วงปีใหม่ และข้าวของเครื่องใช้มือสอง ของเก่าที่จะถูกนำไปเล่าเรื่องราวในบ้านหลังใหม่  เพื่อทำให้ให้ปีใหม่ของคุณไม่แค่เรื่องราวที่ผ่านมาแล้วผ่านไป.. แต่เป็นการเติมความสุขให้เต็มหัวใจของคนที่ยังรอความหวังและโอกาสในการสร้างชีวิตให้ดีขึ้นในทุกๆวัน และไม่ว่าจะวันหยุดหรือวันไหนๆ เราจัดเตรียมพื้นที่ไว้เพื่อรองรับของบริจาคของทุกคนเพื่อส่งต่อให้กับทุกคนและทุกครอบครัวในทุกเช้าวันใหม่ของทุกๆปี

Share Button

แบ่งกันเล่น

ปลูกต้นกล้าแห่งการเป็นผู้ให้ ด้วยการ“แบ่งกันเล่น”

ถ้าเรามีของเล่นสุดรักสุดหวงอยู่ในอ้อมกอด เราจำเป็นต้องแบ่งให้คนอื่นหรือไม่

ไม่..ไม่จำเป็น ของรักของหวงต้องอยู่ดูแลรักษาดวงใจของเราไปจนกว่า..

เมื่อเวลาถึง “พร้อม” เราจะสามารถส่งต่อของเหล่านั้นให้กับใครอีกสักคนหนึ่งด้วยความเต็มใจ

 

เช่นกัน การปลูกฝังให้เด็กรู้จักเป็นผู้ให้ ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์จิตใจอันบริสุทธิ์ด้วยการเสียสละตุ๊กตาหรือของเล่นชิ้นโปรดเพราะนั่นอาจทำให้เกิดข้อสงสัย และทำให้เกิดบาดแผลในใจที่มีชื่อว่าการให้..ไปตลอดชีวิต

 

หากแต่เริ่มต้นที่ของเล่น ชิ้นที่เขาเล่นจนอิ่มใจและพร้อมแล้ว..สำหรับการส่งต่อให้คนอื่นได้เล่นบ้าง

และไม่ว่าจะอย่างไรคุณภาพของการให้วัดกันที่การรู้จักหยิบยื่นของเล่น แค่เพียงชิ้นเดียวให้เพื่อน

ก็เท่ากับว่าต้นกล้าแห่งการแบ่งปันได้งอกงามขึ้นแล้วในใจของเขาและเธอ

 

ความรู้สึกยินดีปรีดาในการได้มีโอกาสหยิบยื่นน้ำใจให้แก่เพื่อนมนุษย์

เพียงพอแล้ว .. สำหรับคำชื่นชมเพื่อให้เขาได้เห็นถึงคุณค่าแห่งการกระทำที่ดีงามและนำไปสู่การรู้จักคุณค่าของตัวเอง

 

หน้าที่สำคัญของพ่อแม่ผู้ปกครองที่อยู่ใกล้ชิดเด็กในวัย 3-6 ปี คือการชี้ให้ลูกหลานได้เห็นถึงรูปธรรมของการให้

เช่น การตั้งคำถาม..เมื่อลูกได้รับสิ่งของจากเพื่อน ลูกรู้สึกเช่นไร (รู้สึกหัวใจพองโต ดีใจ หัวเราะ หรือยิ้มกว้าง)

หรือถ้าหากลูกถูกแย่งของรักไปจากมือ ..ความรู้สึกของลูกเป็นอย่างไร (รู้สึกไม่พอใจ โกรธ หรือร้องไห้)

 

เมื่อเขาได้เรียนรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้นในสถานการณ์จริงแล้ว ..เขาจะเลือกเป็นผู้ให้ ได้ด้วยตัวเขาเอง

ร่วมกันปลูกต้นกล้าแห่งการแบ่งปันให้กับลูกๆ เพื่อสร้างเป็นต้นทุนที่ล้ำค่าแห่งชีวิตให้แก่เขา

 

โครงการ “แบ่งกันเล่น” มูลนิธิกระจกเงาขอทำหน้าที่ส่งต่อของเล่นมือสอง เพื่อสร้างความสุขเบอร์หนึ่งให้กับเด็กป่วยในโรงพยาบาล เด็กไร้สัญชาติ จังหวัดเชียงราย ที่กำลังรอคอยของขวัญในวันเด็ก และเพื่อเด็กยากจนที่ขาดโอกาสทั้งในชุมชนแออัดเมืองและชนบททุรกันดานทุกคน ได้มีโอกาสเล่นสนุกตามวัยในวาระส่งท้ายปีเก่าต้อนรับความสุขในปีใหม่นี้ด้วยความขอบคุณ

 

Share Button

การ“แบ่งปัน” เปลี่ยนทุกข์ให้เป็นสุขได้จริง เช่นเดียวกับความร้อนของไฟ

          ดูเหมือนว่าฤดูร้อนปีนี้จะร้อนแรงมากกว่าทุกๆปี ไม่ใช่แต่อุณหภูมิที่ร้อนขึ้น แต่จำนวนวันที่ความร้อนแผดเผาเราทุกๆคนก็มากวันขึ้นเช่นกัน ..

          แต่ทว่าเปลวแดดในยามเที่ยงอาจเทียบไม่ได้กับเปลวไฟในยามสาย ณ ชุมชนหัวโค้ง คลองเตย กรุงเทพมหานคร ชุมชนแออัดเมืองที่บรรจุผู้คนหลายพันชีวิตจากหลากหลายที่มาไว้อย่างไม่รังเกียจรังงอน

          บ้านที่ประกอบร่างจากเศษไม้ ไม้อัด แผ่นยิปซั่ม ไวนิล แผ่นพลาสติกและ นานา วัสดุถูกประกอบสร้างเป็นบ้านหนึ่งหลัง บางบ้านปลูกสร้างอย่างดี สามารถอาศัยอยู่ได้ถาวร บางหลังถูกปลูกไว้สำหรับเพียงเพื่ออยู่อาศัยคุ้มแดดคุ้มฝน

          ชายสูงอายุร่างกายถูกจองจับด้วยโรคอัมพฤตครึ่งซีก กำลังขุ้ยเขี่ยหาเสื้อสักตัวจากกองเพลิง เป็นเสื้อของเขาเองที่หาจนเจอ เขาบรรจงเอากรรไกรตัดรอยไหม้ออก พอได้เสื้อตัวที่คุ้นเคยกลับมาสวมใส่อีกครั้ง แม้ว่าจะเป็นรูอยู่บ้างก็ไม่เป็นไร

          ต้นเพลิงของไฟเกิดขึ้นที่บ้านของชายชรา ที่อาศัยอยู่กับหญิงชราอีกหนึ่งคน  เป็นบ้านที่มีแต่ผู้สูงอายุอาศัยอยู่ ทั้งคู่มีรายได้จากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากรัฐบาล บางส่วนได้รับการช่วยเหลือจากญาติที่แวะมาเยี่ยมเยียนดูแล

          ด้วยอากาศร้อนในช่วงนี้ ร้อนจะเกินที่จะทนไหว พัดลมตัวเก่าถูกใช้บริการอย่างต่อเนื่องแทบไม่ได้หยุดหย่อน เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเก่าชำรุดเกือบทุกอย่าง สายไฟเก่าเกือบกว่าจะรับกระแสไฟที่ไหลเวียนภายในบ้าน สุดท้ายเมื่อไฟฟ้ารัดวงจร บ้านทั้งบ้านจึงถูกเผาวอดวายเหลือเพียงเถ้าถ่าน

          เพียงพริบตาเดียว เหลือเพียงภาพจำของอดีตหมุนเวียนเข้ามาในความทรงจำ

          ด้วยสภาพบ้านในชุมชนแออัดเมืองแทบจะใช้ฝาบ้านแผ่นเดียวกัน หลังคาบ้านเกยทับกัน ทุกหลังพึ่งพาอาศัยร่มเงาและตั้งตระง่านอยู่ได้ด้วยการพึ่งพิงกันและกัน ไม่ใช่แค่เพียงโครงสร้างของบ้าน แต่หมายความรวมถึงความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนบ้านด้วย จากข้อตกลงของทุกคนในชุมชนที่ว่าเมื่อบ้านหลังใดหลังหนึ่งเกิดไฟไหม้ขึ้น บ้านแวดล้อมจะต้องยินยอมเปิดทางให้รถดับเพลิงเข้าไประงับเหตุยังบ้านต้นเพลิง ทั้งนี้เพื่อรักษาชุมชนทั้งชุมชนไว้ บ้านอีกห้าหลังที่สละบ้านเพื่อเปิดทางจึงแทบไม่เหลือความเป็นบ้านเพื่ออยู่อาศัยอีกต่อไปเช่นกัน

          ทันใดเมื่อความเดือดร้อนส่งต่อมาถึงกัน โครงการแบ่งปัน จัดเครื่องอุปโภคบริโภค สิ่งจำเป็นเช่นเสื้อผ้า  เครื่องนุ่งห่ม และข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือนที่จำเป็นต่างๆ หนึ่งคันรถส่งตรงถึงผู้ประสบภัยในทันที

          ข้าวของบริจาคที่หมุนเวียนเข้ามายังโครงการแบ่งปันถูกปันต่อให้กับบ้านทั้ง 5 หลังเพื่อช่วยบรรเทาความร้อนใจและให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตเป็นปกติที่สุดเท่าที่จะทำได้

          หลังจากนี้ทีมงานโครงการแบ่งปันเพื่อการเปลี่ยนแปลงจะลงพื้นที่อีกครั้งร่วมกับมูลนิธิดวงประทีป เพื่อเติมเต็มบ้านที่ว่างเปล่าให้กลับมาเป็นบ้านในความทรงจำอีกครั้ง

          เราพยายามทำให้ของเหลือใช้จากทุกคน ตู้เย็น พัดลม หม้อหุงข้าว เสื้อผ้า และตู้ เตียง ได้มีโอกาสกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ทั้งนี้เพื่อสร้างความหมายใหม่ให้กับบ้านที่ยังขาดแคลนและเดือดเนื้อร้อนใจทุกหลังอย่างทั่วถึงในทุกพื้นที่ที่มีความต้องการ

Share Button

ไม่มีเหตุมีผล เมื่อ “บ้าน” เต็มไปด้วยความว่างเปล่าที่เจ็บปวด

ในดวงตาอันว่างเปล่า เด็กชายปาดน้ำตาเป็นครั้งสุดท้ายก่อนตัดสินใจขึ้นรถไฟ จุดหมายปลายทางคือสถานีหัวลำโพง  ห่างไกลจากบ้านเกิด สิบกว่าชั่วโมง แรกเริ่มหัวใจของเขาเต้นระรัวด้วยความกลัวระคนความตื่นเต้น จบเรื่องราวความเจ็บปวดที่ผ่านมาแล้ว.. เด็กชายคิดในใจ

ชีวิตที่เหลือต่อจากนี้ .. ไม่มีบ้าน ไร้ชื่อเสียงเรียงนาม..ผู้คนเรียกขานเขาว่า “เด็กเร่ร่อน”

เช่นกันในดวงตาอันพร่าเลือน แม่เฒ่าพยุงร่างอันอ่อนล้าออกเดินทางอีกครั้ง จุดหมายปลายทางคือที่ไหนก็ได้ ..ที่ห่างไกลจากคำว่าภาระของลูกหลาน เป็นครั้งแรกของหญิงชราที่กล้าหาญออกเดินทางไกล จบการงานและความเป็นแม่ชั่วนิรันดร์ ..ด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจและสิ้นหวัง

ชีวิตที่เหลือต่อจากนี้ ไม่มีบ้าน ไร้คำเรียกขานในนามของความเป็นแม่..                                            ผู้คนเรียกขานเธอว่า “คนไร้บ้าน”

เชื่อว่า..ทุกวินาทีมีเด็กและผู้สูงอายุต้องทุกข์ทนอยู่ภาวะยอมจำนนต่อโชคชะตาในบ้านหลังใดหลังหนึ่ง เป็นบ้านหลังที่เขาเกิดและเติบโต เช่นเดียวกันบางทีอาจจะเป็นบ้านที่เธอสร้างให้ลูกจากน้ำพักน้ำแรง   ด้วยความรู้หรือไม่รู้ ทุกคำพูดเสียดสี ทุกการกระทำที่กักขังให้รู้สึกไร้อิสรภาพ ในฐานะของผู้อาศัย   บนเงื่อนไขทางอารมณ์ที่ขึ้นๆลงๆตามกราฟของเศรษฐกิจ รายได้ ค่าข้าวปลาอาหารรายวัน

เด็กหลายคนถูกทอดทิ้งให้เดียวดาย คนชราจำนวนมากถูกปล่อยให้มีแต่ชีวิตแต่ไร้ความสุขในบั้นปลาย ในฐานะของการเป็นพ่อแม่ หรือลูกหลาน พวกเขาเป็นเพียงภาระที่ต้องดูแลตามหน้าที่

ในฐานะของความเป็นมนุษย์ ..
เมื่อถึงเวลาอันสมควรในบ้านที่ไร้ค่า พวกเขาเดินทางตามหาคุณค่าในตัวเองอีกครั้ง

ในฐานะของลูก หมดสิ้นสิ่งสงสัย ไม่เหลือสิ่งใดให้ต้องตอบแทนบุญคุณ
ในฐานะของพ่อแม่ หมดสิ้นสิ่งสงสัย ไม่เหลือสิ่งใดให้ต้องเลี้ยงดู ฟูมฟัก
เราวัดรอยร้าวที่เกิดจากผลของความรุนแรงที่กระทบจิตใจไม่ได้ด้วยไม้บรรทัดใด

คำพูดเพียงหนึ่งคำ เสียงตวาดดังจากความพลั้งเผลอไม่ตั้งใจ กิริยาท่าทางอันเฉยชาไร้อารมณ์เพียงเสี้ยวของความรู้สึกไม่พึงพอใจ..ไม่ว่าจะด้วยอารมณ์โกรธที่ไม่ได้ให้ความหมายถึงความไม่รักหรือเกลียดชัง  แต่ด้วยหัวใจที่กำลังเปราะบาง..อ่อนไหว ด้วยความเป็นเด็ก ด้วยความแก่ชรา

สิ่งเหล่านั้นนำพาร่างกายและจิตใจให้เตลิดเปิดเปิง..ไร้ทิศไร้ทาง
เมื่อเวลาถึงพร้อม..ไม่วันใดก็วันหนึ่ง   เป็นพวกเขาเอง..ที่สมัครใจเดินออกจากบ้านด้วยความเต็มใจ..

ไม่เป็นภาระแก่กันอีกแล้ว..ไม่มีบุญคุณใดให้ต้องทดแทน

 

Share Button

“น้ำใสใจจริง” บนเส้นทางมิตรภาพ..เราจะคิดถึงกันและกันเสมอ

ฉันติดตามอ่านงานเขียนของ ว.วินิจฉัยกุลมาตั้งแต่เด็ก จนโตเป็นสาวและตอนนี้กำลังเข้าวัยผู้ใหญ่กลางคน หนังสือที่ฉันหยิบมาอ่านเสมอๆเพื่อเติมไฟในตัวเอง คือนวนิยายเรื่อง “น้ำใสใจจริง” ฉันหลงรัก
บรรยากาศของมหาวิทยาลัยภูธร กับตัวละครที่ถือว่าเป็นผู้บุกเบิกรุ่นแรกของที่นั่น ความไม่พร้อมในทุกประการของความใหม่ ใหม่ทั้งสถานที่ ใหม่ทั้งอาจารย์ ใหม่ทั้งลูกศิษย์ คนงานและภารโรง ดูเหมือนว่าทุกสิ่งยังรอการเปิดตัวเพื่อให้ทุกคนร่วมสร้างความทรงจำที่ดีให้แก่พื้นที่แห่งนี้

 

ยิ่งได้รู้ว่านวนิยายเรื่องนี้แต่งจากเรื่องจริง บรรยากาศจริงด้วยแล้ว ก็ยิ่งพาลให้ฉันอยากรู้อยากเห็นว่าในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ปัจจุบันคือที่ใด ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ในเสี้ยวหนึ่งของความรู้สึก ฉันอยากพาตัวเองไปอยู่ในที่ใหม่ๆกับเขาบ้าง อยากได้รับบรรยากาศของความแปลกใหม่เกินคาดเดา ที่ดูเหมือนว่าจะลำบาก แต่ก็สนุกสนาน และสร้างประสบการณ์ชีวิตและความทรงจำที่ยากจะลืมเลือน

 

ว่ากันว่าเหตุการณ์เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในนวนิยาย “น้ำใสใจจริง” เกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 2510 กว่าๆ ซึ่งถือว่าเป็นยุคที่มีชื่อว่า“ยุคสายลมแสงแดด” คือกล่าวกันว่า ในช่วงพ.ศ. 2510-2516 ก่อนเกิดเหตุการณ์สลายการชุมชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในยุคนั้นเป็นช่วงที่นักศึกษาไม่ได้ให้ความสนใจกับเหตุการณ์บ้านเมือง ความเป็นไปของสังคม คลั่งแฟชั่น งานรื่นเริงสนุกสนาน และใช้ชีวิตสนุกไปวัน สไตล์เพลงที่ตัวละครนิยมอยู่ในยุคสมัยช่วงปลาย 60’s ซึ่งช่วงนั้นมีทั้ง Swing/Big Band, Rock&Roll, Folk Rock, R&B และยุคต้นของ Disco และในไทยก็จะเป็นเพลงลูกกรุง ลูกทุ่ง วงสตริงคอมโบ้ และโฟล์คซอง

 

ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาปรากฏให้เห็นเด่นชัดจากเรื่องราวที่อยู่ในเนื้อหาของนวนิยาย ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่นกระโปรงสั้นมินิสเกิร์ต,หรือกางเกงเอวสูงขาบาน ผู้ชายไว้ผมยาว แต่งตัวจัดจ้าน การร้องเพลงลูกกรุง และวงดนตรีสตริงคอมโบ้ ตามยุคสมัย ซึ่งตัวละครหลักในเรื่องเช่น ครีม หนิง รุ้ง ทัดภูมิ คือแบบฉบับของวัยรุ่นที่ทันสมัยที่สุดในยุคสมัยนั้น

 

ว.วินิจฉัยกุล เล่าถึงชีวิตของสมาชิกรุ่นบุกเบิกทุกคนอย่างละเอียด บรรยายทำให้เราเห็นภาพการใช้ชีวิตอยู่ที่นั้นในแต่ละวัน แต่ละเทอมอย่างตั้งใจ รับรู้ถึงความลังเลสับสน เพราะที่นี่ทั้งห่างไกล การเดินทางยากลำบาก สิ่งอำนวยความสะดวกก็ไม่มี ไฟฟ้าน้ำปะปาก็ติดๆดับๆ แถมห้องหอที่นอนก็ต้องอยู่ร่วมกับเพื่อน ความเป็นส่วนตัวจึงไม่ค่อยมี ในปีแรกของทุกคนจึงดูขลุกขลัก และมีปัญหาสารพันในทุกวัน ไม่ใช่แค่นักศึกษา แต่อาจารย์เองก็ต้องปรับตัวปรับใจกับการใช้ชีวิตอยู่มากเช่นกัน เพราะส่วนมากเป็นคนกรุงเทพเคยชินกับความสะดวกสบายจนบางครั้งก็ท้อแท้อยากกลับไปใช้ชีวิตสบายๆเช่นเดิม

เมื่อผ่านปีแรกไปแล้ว หลายคนจึงตัดสินใจไม่เรียนต่อที่เดิม ไปเอนทรานซ์ใหม่เพื่อเลือกเรียนในมหาวิทยาลัยในเมืองหลวง แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นหนึ่งปีในรั้วมหาวิทยาลัย และการเป็นคนรุ่นแรก รุ่นบุกเบิกทำให้ทุกคนตัดสินใจใหม่ ถึงแม้ว่าจะสอบติดในมหาวิทยาลัยชั้นนำในกรุงเทพแล้วก็ตาม ในวันเปิดเทอมของชั้นปีที่ 2 ทุกคนกลับมาเจอกันอีกครั้ง ด้วยความรู้สึกผูกพันกับทุกอย่างที่เคยร่วมทุกข์ร่วมสุขมา เนื้อหาในแต่ละตอนสอดแทรกเรื่องราวมิตรภาพของความเป็นเพื่อน ความต่างในทุกรูปแบบทั้งนิสัย ฐานะ และพื้นฐานครอบครัว แต่สุดท้ายความต่างกลับหลอมรวมให้เกิดเรื่องราวสนุกสนานน่าจดจำมากมาย

 

ที่ขาดไม่ได้คือเรื่องราวความรักของคนหนุ่มสาว ซึ่งผู้เขียนเล่าได้อย่างแนบเนียน ดูเหมาะสมไม่เกินวัย แต่ก็ทำให้รู้สึกถึงความรักที่จริงใจต่อกัน แม้ว่าทุกคนจะมีชีวิตอิสระ ห่างไกลจากครอบครัว แต่ความสัมพันธ์กลับอยู่ในเส้นทางที่ถูกที่ควร ทำให้เห็นถึงวุฒิภาวะของตัวละครพระเอกนางเอก โจม-ครีม ที่แสดงให้เห็นว่าพวกเขารู้จักควบคุมอารมณ์และคิดไกลถึงอนาคต ไม่ใช่เพียงความรักที่ฉาบฉวย จนแม้กระทั่งทุกคนต่างเรียนจบ ทั้งคู่มีงานทำที่มั่นคง จึงค่อยตัดสินใจบอกรักและแต่งงานกัน รวมถึงความรักที่คาดไม่ถึงของทัดภูมิและอ้อมที่ทำให้เราประหลาดใจและอมยิ้มไปกับทั้งคู่ พล็อตคู่กัดที่รักกันในตอนท้ายยังทำหน้าที่ได้ดีเสมอมา ไหนจะเพื่อนๆคนอื่นๆ ที่อยู่ในเรื่องราว ทุกคนต่างมีที่มาที่ไปแตกต่างกันไปตามเส้นทางที่เลือก และไม่ว่าจะอย่างไร สิ่งเดียวที่พวกเขารู้สึกเช่นเดียวกัน คือ “น้ำใสใจจริง”ที่มีให้แก่กันตั้งแต่วันแรกที่พบเจอกัน จนเติบโตเป็นผู้ใหญ่

 

ในวันที่ฉันรู้สึกเหนื่อยล้าจากการทำงานหรืออุปสรรคต่างๆที่ต้องเผชิญในแต่ละวัน ความทุกข์มันตอกย้ำว่าการเติบโตเป็นผู้ใหญ่จำเป็นต้องอาศัยจิตใจอันแข็งแกร่ง ฉันมักจะกลับมาอ่านหนังสือเล่มนี้อีกครั้งเพื่อจะได้ไม่ลืมว่า ในช่วงชีวิตหนึ่ง ตอนยังเป็นหนุ่มสาวมหาวิทยาลัยชีวิตฉันมีความสุขมากแค่ไหน ไม่ใช่ก็ใกล้เคียง เวลาของช่วงชีวิตเช่นนั้น หาซื้อที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว และที่สำคัญมันคือเชื้อฟืนชั้นดีที่ช่วยสุมไฟสร้างชีวิตเราให้โชติช่วงอย่างวันนี้..

 

“เป็นเวลาที่ดีที่สุดของชีวิต

เมื่อเราผ่านพ้นความไร้เดียงสาอย่างเด็กๆมาแล้ว

แต่ยังไม่เคยชินกับความขมขื่นของเวลาแห่งความเป็นผู้ใหญ่

เรามีวันเวลาระหว่างกลาง-วันของวัยหนุ่มสาว

เอาไว้เป็นความทรงจำที่ดีที่สุดของเรา”  

ว.วินิจฉัยกุล

 

“น้ำใสใจจริง เป็นบทประพันธ์ของ ว.วินิจฉัยกุล (คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์) ที่เขียนมาจากประสบการณ์ชีวิตจริง ในการบรรจุเป็นอาจารย์ที่ ม.ศิลปากร ทับแก้ว (วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม) ตามประวัติกล่าวว่า ม.ล.ปิ่น มาลากุล ได้ขยายวิทยาเขต ม.ศิลปากร จากวังท่าพระ ไปที่พระราชวังสนามจันทร์ ใช้บริเวณพระราชวังของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 เป็นส่วนหนึ่งของวิทยาเขตนี้ เมื่อ พ.ศ.2512 คุณหญิงวินิตาได้บรรจุเป็นอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ ซึ่งเปิดสอนครั้งแรกที่นั่น”

 

Share Button

“เวลาในขวดแก้ว”

..การอ่าน..ทำให้ฉันรู้จักกับตัวเอง..ไม่มากก็น้อยมันทำให้ฉันรู้จักชีวิต..

 

ชีวิตในวัยมัธยมปลายของฉันแตกต่างจากตัวละครในหนังเรื่อง “เวลาในขวดแก้ว” อย่างสิ้นเชิง จะมีที่ละม้ายคล้ายคลึงกันอยู่บ้างก็ตรงเรื่องปัญหาครอบครัวที่ต้องเผชิญในแต่ละวัน โชคดีที่ฉันมีเพื่อนในวัยมัธยมมากมายทั้งหญิงและชาย ความหว้าเหว่ภายในใจจึงถูกเติมเต็มด้วยเพื่อนๆ ในทุกวันทุกวินาทีของการเติบโต เป็นสามปีสุดท้าย ม. 4- ม. 6 ที่มากไปด้วยเรื่องราวความประทับใจที่ทุกวันนี้ก็ยังไม่เคยจางหายไปไหนและเพื่อนที่ผ่านคืนวันสุขทุกข์มาด้วยกัน ทั้งเรื่องครอบครัว การเรียนและความสัมพันธ์ ทุกวันนี้ก็ได้แต่นั่งหัวเราะ เอ็นดูตัวเองเมื่อวันวานด้วยกันครบเหมือนวันเก่าๆ

 

ฉันอ่านนวนิยายเรื่องเวลาในขวดแก้ว ตอนกำลังเรียนอยู่มหาวิทยาลัย ถึงแม้ว่าช่วงวัยจะห่างออกไปแต่ก็พอเข้าใจทุกชีวิตทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นในหนังสือ นัต คือตัวละครหลักในเรื่อง ผู้เขียนเล่าถึงนัตในมิติของความเป็นลูกชาย พี่ชาย เพื่อนชาย และคนรักกับตัวละครที่เกี่ยวพันกันในแต่ละช่วง ยึดโยงเรื่องราวจากความสัมพันธ์ที่ไม่สมหวัง พ่อแม่แยกทางกัน ปัญหารักสามเศร้า และการไม่ถูกรักถูกเลือกจากคนที่เราถูกใจ

 

ส่วนหนึ่งของนัต คล้ายคลึงกับพี่ชายของฉัน ในวันที่ครอบครัวเราแตกสลายไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม พี่ชายของฉันทำหน้าที่เคลียร์สถานการณ์เพื่อให้น้องสาวอย่างฉันเดินทางต่อไปในเส้นทางของตัวเองได้อย่างเข้มแข็ง ผิดก็ตรงที่ฉันไม่ได้พลาดพลั้งเหมือนกับหนิงน้องสาวของนัต ก็อย่างที่บอกไป ถึงแม้ว่าฉันจะชอบอ่านกลอน นิยาย เหมือนหนิง แต่ฉันก็ไม่ใช่สาวช่างฝันเท่าเธอ โชคดีที่ฉันมีเพื่อนชวนเล่นชวนพูดคุย และร่วมแชร์ปัญหาครอบครัวสารพันแก่กัน โลกที่เคยเศร้าหมองจึงดูไม่เดียวดาย ฉันเข้าใจหนิงมาก และเอาใจช่วยเธอเสมอ ถึงขั้นอยากให้เธอลองเปิดใจและหลุดออกจากโลกอันเปลี่ยวเหงานั้น เพราะฉันเชื่อว่าไม่ว่าจะอย่างไร เพื่อนจะเติมเต็มความว่างเปล่านั้นให้กับเรา นัตทำให้ฉันเห็นพี่ชายของตัวเองชัดเจนขึ้น เห็นว่าเขาต้องแบกความคาดหวังและจำเป็นต้องกลบเกลื่อนความเศร้าไว้มากแค่ไหน แต่ไม่ว่าจะอย่างไร เราทั้งคู่ก็ผ่านเรื่องราวร้ายๆอันคาดเดาไม่ได้ของผู้ใหญ่มาจนได้ .. ผ่านมาได้ในแบบของเรา นัตกับหนิงก็เช่นกัน

 

หนังสือเรื่องนี้สอนให้ฉันเข้าใจผู้ใหญ่ในฐานะของคนธรรมดาคนหนึ่ง หากแต่เพียงเขามีชื่อนำหน้าว่าพ่อและแม่ คุณค่าของการตีความจึงดูยิ่งใหญ่กว่าความเป็นจริง ซึ่งจริงๆแล้วเขาและเธอผู้เป็นพ่อและแม่ก็คือคนธรรมดาที่ร้องไห้เป็น ผิดพลาดได้ และอ่อนแอได้เท่าๆกับเรา เมื่อรู้เช่นนั้นความคาดหวังจึงไต่ระดับลดน้อยลงเหลือไว้เพียงความเข้าใจ และฉันก็จะไม่ผิดหวังอีกหากเขาทั้งคู่จะผิดพลาดซ้ำในเรื่องเดิมๆหรือเรื่องที่เกินจะคาดเดา

 

ฉันใช้เวลาในการอ่านหนังสือเล่มนี้ไม่นาน ด้วยเนื้อหาของความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว เพื่อน และคนรักดำเนินไปอย่างน่าติดตาม บรรยากาศของวัยวันของฉันกับตัวละครน่าจะอยู่ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกัน ภาษา การสนทนาพูดคุย หรือแม้แต่อุดมการณ์อะไรบางอย่าง มันพอหาที่มาที่ไปในการยึดโยงเข้ากันได้เหมือนเพื่อนร่วมสมัย ฉันชอบความรู้สึกแอบรัก และมันเป็นอาการแอบรักของผู้หญิงทอมๆเช่นป้อม ซึ่งนัตเองก็แอบรักจ๋อม หญิงสาวลูกคุณหนู ซึ่งเขาและเธอก็มักมีโมเมนท์ส่วนตัวกันในรูปแบบที่ทำให้เราต้องอมยิ้ม และสงสารป้อมไปในตัว ฉากหนึ่งที่ฉันชอบมากคือ ถนนเส้นนั้นที่นัตกับจ๋อมเดินไปด้วยกันหลังเลิกเรียนไวโอลิน ร้านเพิงหมาแหงนที่มีตู้เพลง ซึ่งทั้งคู่จะเปิดเพลง Time In A Bottle ของ Jim Croce ท่ามกลางความเปลี่ยวเหงาและปัญหาความรักอันสั่นคลอนของผู้ใหญ่ มันทำให้หัวใจอันแห้งผากของนัตชุ่มชื่นและมีความหวัง ความรักมักมอบพลังอัศจรรย์แก่เราเสมอ

 

เช่นกันกับป้อมที่มักชอบพูดจาเป็นนัยๆให้นัตรับรู้ แต่ก็ดูเหมือนว่านัตเองก็เคยคิดอะไรเกินเลยกับป้อมเพราะนัตเองก็กำลังตกหลุมรักจ๋อมเข้าอย่างจัง

 

“ความรักไม่ครอบครอง และก็ไม่ยอมถูกครอบครอง เพราะความรักนั้นเพียงพอแล้วสำหรับตอบความรัก”

“สำหรับฉันรู้แต่ว่ามีคนเดียวที่เป็นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต…แล้ววันหนึ่งแกจะรู้”

 

ฉันอ่านถึงตอนนี้ก็รู้สึกสงสารป้อมจับใจ มันดูเงียบเหงา และสิ้นหวัง เช่นเดิม ไม่ว่าป้อมจะพูดอย่างไรกับนัตทุกถ้อยคำไม่เคยถูกแปรความหมายให้เกินเลยไปมากกว่าเพื่อนเลยสักครั้ง และที่สำคัญป้อมเคยยื่นหนังสือ‘ปีกหัก’ ของคาลิล ยิบราน ให้นัตอ่าน แต่นัตไม่ได้อ่าน

 

ฉันแอบคิดว่าในช่วงท้ายของเรื่องราววันที่ป้อมเขียนประโยคนี้ถึงนัต ฉันอยากรู้ว่าใจของนัตคิดเช่นไร ในตอนสุดท้ายของเรื่องราว เมื่อใกล้จบ ฉันได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ 14 ตุลา, การล้อมปราบนักศึกษา, การประท้วงของคนงานในโรงงาน เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ชีวิตของทุกคนเกิดการเปลี่ยนแปลงรวมถึงเมื่อนัตได้ล่วงรู้ความในใจของเพื่อนที่คิดมากกว่าเพื่อนมาตลอด  จนกระทั่งป้อมจากไปแล้วทิ้งไว้เพียงบทกวีที่แสนเศร้าฝากไว้ให้กับนัต

“ตะแบกบาน เธอเคยบอก

จะเก็บให้สักวัน ฉันรอคอย…ชั่วชีวิต

แต่วันนั้น…ไม่เคยมาถึง

 

เช่นกันนัตเองก็ได้เรียนรู้ความผิดหวังจากความรักเช่นเดียวกับป้อม ในวันที่จ๋อมหญิงสาวที่นัตรักมาตลอด มางานศพของป้อม นัตได้พบจ๋อม จ๋อมบอกว่าจะไปอยู่ที่อังกฤษกับพลศักดิ์แฟนจ๋อม ซึ่งจ๋อมบอกว่าได้เลิกโย่งแล้ว จ๋อมเลยจะไปอยู่กับพลศักดิ์ซึ่งจ๋อมก็มั่นใจในตัวพลศักดิ์มาก นัตเสียใจแต่ไม่กล้าพูดอะไรเพราะรู้ว่าจ๋อมคิดกับตนเองเป็นเพียงเพื่อนสนิทเท่านั้น

ไม่เพียงแต่ความรักในแบบหนุ่มสาว ความรักในแบบฉบับของเพื่อนก็น่าจดจำยิ่งนัก ถึงแม้ว่าสุดท้าย นัต ป้อม เอก ชัย ต่างแบกความผิดหวังในชีวิตที่ผ่านมา แต่สุดท้ายทุกคนก็ได้เรียนรู้ว่ามิตรภาพนั้นเบ่งบานและสวยงามเหมือนว่ามันไม่เคยถึงเวลาโรยรา

 

เรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้น ผู้เขียนพยายามถ่ายทอดเพื่อสะท้อนให้คนอ่านได้เข้าใจถึงชีวิตที่มีทั้งวันที่สุขสมและวันที่ผิดหวัง โมงยามดีๆของชีวิตจึงไม่ได้นิยามไว้เพียงความสุข หากแต่ความทุกข์ก็เป็นเชื้อเพลิงอันดีที่ทำให้ชีวิตโชติช่วงได้เช่นกัน … และไม่ว่าจะอย่างไร ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วควรค่าแก่การจดจำเสมอ  และ

 

 

 

 

“ถ้าฉันเก็บเวลาไว้ในขวดแก้วได้

สิ่งแรกที่ฉันจะทำ…..

คือสะสมคืนวันที่ล่วงเลยมานิรันดร์

เพียงเพื่อมอบมันแก่เธอ

 

“เวลาในขวดแก้ว” เป็นนวนิยายไทยของ ประภัสสร เสวิกุล มีเนื้อหาสะท้อนชีวิตและปัญหาของวัยรุ่นในด้านต่างๆ ทั้งครอบครัว ความรัก การศึกษา สังคม และการเมือง จัดพิมพ์เป็นพ็อคเก็ตบุ๊คครั้งแรกเมื่อปี
พ.ศ. 2528  

 

Share Button

ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียม ด้วยการ “บริจาค”

ทุกโครงการของมูลนิธิกระจกเงา เกิดขึ้นมาเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตและพยายามลดช่องว่าง และความเหลื่อมล้ำให้ลดน้อยลง เพื่อหวังว่าสักวันประเทศไทยจะเข้าสู่ยุคสมัยแห่งความเท่าเทียมกัน

 

แต่ดูเหมือนว่า ความฝัน จะดูไกลห่างจากความเป็นจริง วันนี้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับหนึ่งของโลก ตามข้อมูลของ  CS Global Wealth Report 2018 ซึ่งเป็นข้อมูลที่น่าเป็นห่วงเป็นกังวลยิ่งนักว่า เรากำลังเดินถอยหลังกลับไปสู่ยุคแห่งความมืดมน ข้าวยากหมากแพง คนจนก็จนยาก ส่วนคนรวยก็ยิ่งร่ำรวยสะดวกสบาย กลายเป็นสังคมแห่งชนชั้นอย่างชัดเจน

 

“คนไทย (adult) 1% แรก (5 แสนคน) มีทรัพย์สินรวม 58.0% ของทรัพย์สินรวมทั้งประเทศ มาปีนี้ (2018) 1% มีเพิ่มเป็น 66.9% รวยมากขึ้น …แซงรัสเซียที่ลดจาก 78% เหลือแค่ 57.1% ตกไปเป็นที่สอง ขณะที่ตุรกีมาแรงทั้งๆ ที่เศรษฐกิจไม่ดีแต่คนรวยกลับเพิ่มสัดส่วนขึ้นได้เป็น 54.1% แซงอินเดียที่ตกไปเป็นที่สี่ จาก 58.4% เหลือแค่เพียง 51.5% ส่วนคนไทยที่จนสุด 10% มีทรัพย์สิน 0%  ซึ่งในความเป็นจริงน่าจะพ่วงหนี้สินไว้ด้วย เป็นตัวเลขที่สะท้อนว่า คนครึ่งประเทศเป็นพวก “หาเช้ากินค่ำ” หรือไม่ก็ “เดือนชนเดือน” ไม่มีเหลือเก็บเหลือออม”

 

อาจกล่าวได้ว่าสถานการณ์ “รวยกระจุก จนกระจาย” ที่เกิดขึ้นนี้ เพราะประเทศไทยยังไม่สามารถไปถึงการเป็นรัฐสวัสดิการได้ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ยังต้องดิ้นรนทำมาหากินตามอัธภาพ ส่วนใหญ่ยากจน ขาดการศึกษาและเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานทางการศึกษาและการรักษาพยาบาล

 

ทุกครั้งของการลงพื้นที่ในทุกโครงการ เราเห็นช่องว่างที่รอการเชื่อมต่อ ที่นับวันยิ่งถ่างออกไปเรื่อยๆขึ้นอยู่กับปัญหาเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมในปัจจุบัน เรายังเห็นเด็กไม่มีรองเท้าใส่ไปโรงเรียน เด็กไร้สัญชาติตามตะเข็บชายแดน และเด็กที่ยังขาดสารอาหาร อยู่ในครอบครัวที่เข้าไม่ถึงสวัสดิการรัฐในทุกประเภท มีชีวิตอยู่บนเส้นด้ายระหว่างความเป็นความตาย และความอดอยากปากแห้ง

 

บ้างเป็นครอบครัวล่มสลายในทันทีหลังจากหัวหน้าครอบครัวประสบอุบัติเหตุ หรือล้มป่วยเป็นผู้ป่วยติดเตียง ขยับตัวทำมาหากินเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวไม่ได้อีกต่อไป การช่วยเหลือจึงไม่เคยเพียงพอ และยังไม่ทั่วถึงสำหรับทุกคนที่กำลังประสบกับปัญหาในชีวิตที่หลากหลาย

 

มูลนิธิใช้ของบริจาคจากทุกท่าน เป็นตัวแทนเข้าไปทำความรู้จักชีวิตอันแสนยากเข็ญของทุกคนทุกบ้าน ใช้ผ้าอ้อมเป็นใบเบิกทางเพื่อสร้างความคุ้นเคยสบายใจให้กับผู้ป่วยติดเตียงทุกคน ใช้หนังสือเป็นสื่อในการสร้างความคิดและทัศนคติใหม่ๆให้กับผู้ต้องขังในเรือนจำกรุงเทพมหานคร ใช้ข้าวสาร อาหารแห้ง และเสื้อผ้า แทนความรู้สึกห่วงใยจากผู้บริจาคทุกท่านเพื่อให้พวกเขาได้รับรู้ว่า ภายใต้สังคมที่เหลื่อมล้ำ สูงต่ำ รวยจน ยังมีน้ำใจไหลหลากมาที่นี่เสมอ ณ มูลนิธิกระจกเงา “เราเชื่อว่า สักวัน ข้าวของบริจาคมือสองจากทุกท่าน จะช่วยลดช่องว่างแห่งความเหลื่อมล้ำดำขาว ให้เท่าเทียมกันได้ในสักวัน”

 

Share Button

ให้ 1 วันของคุณคือช่วงเวลาของการแบ่งปันในวันข้ามปี

ในรอบ 365 วัน เราให้เวลาตัวเองแค่ไหน เราแบ่งเวลาให้คนอื่นแค่ไหน เวลาในหนึ่งวันของคนเรามีเท่ากัน แต่ต่างกันตรงที่ใช้มันไปอย่างไร

 

วันหยุดยาวช่วงปีใหม่ หลายคนอาจเลือกพักร่างจากการทำงานหนักในรอบปี บางคนออกเดินทางท่องเที่ยวเพื่อให้รางวัลตัวเอง หรือตั้งใจเฉลิมฉลองความสุขกับคนที่เรารัก

ความสุขที่แท้จริงคืออะไรกันแน่? แน่นอนว่าความสุขของคนแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน จึงเกิดคำถามอยู่
เสมอๆ ว่าแล้วต้องทำอย่างไรคนเราถึงจะมีความสุขที่แท้จริงได้

มีสุภาษิตจีนกล่าวถึงเรื่องของความสุขไว้ว่า…

“ถ้าอยากมีความสุขในหนึ่งชั่วโมง ให้นอนหลับสักงีบ

ถ้าอยากมีความสุขในหนึ่งวัน ให้ออกไปตกปลา

ถ้าอยากมีความสุขในหนึ่งปี ให้รับมรดกสักก้อน

ถ้าอยากมีความสุขตลอดชีวิต ให้ช่วยเหลือผู้อื่น”

การช่วยเหลือผู้อื่นในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเลือกว่าเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ ขึ้นอยู่กับใจเรามากกว่า ขอให้นึกถึงในยามที่เราได้ลงมือช่วยเพียงเพราะแค่อยากช่วยเท่านั้น ในตอนนั้นเรารู้สึกอย่างไร?

คำตอบคือ เราเกิดความรู้สึกที่ดีขึ้นในใจตัวเอง ความภาคภูมิใจ อิ่มเอมใจ ความปลาบปลื้มใจ และที่ขาดไม่ได้เราจะมีรอยยิ้มให้ตัวเอง รวมทั้งรอยยิ้มของคนที่เราได้ลงมือช่วยเหลือเป็นของขวัญตอบแทนมาด้วย

 

มูลนิธิกระจกเงาขอชวนคุณมาช่วยงานในช่วงวันหยุดยาว ใช้เวลาส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เพื่อคนอื่น ด้วยการเป็นอาสาสมัคร (Volunteer) ช่วยเหลืองานต่างๆ ในมูลนิธิฯ เช่น ช่วยขนย้ายสิ่งของและต้อนรับผู้บริจาค ช่วยคัดแยกประเภทหนังสือ คัดแยกสิ่งของบริจาคให้เป็นหมวดหมู่ ช่วยเช็คอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ฯลฯ ตามแต่จะมีงานต่างๆ ให้ช่วย

 

ใครกำลังมองหาและต้องการยกเวลาที่มีค่าของตัวเองเพื่อประโยชน์ส่วนรวม มูลนิธิกระจกเงาขอขอบคุณด้วยความยินดี…แล้วคุณจะพบว่างานอาสาสมัครได้อะไรมากกว่าที่คิด.

 

Share Button

เทศกาลแบ่งปันข้ามปี…ความสุขที่ทุกคนสัมผัสได้

ร่วมนับถอยหลัง..ไปสู่วันสิ้นปี

5 4 3 2 1  ก่อนพลุสีสันสวยงามจะอร่ามทั่วท้องฟ้า

เสื้อผ้า ของเล่น เครื่องเขียน อุปกรณ์กีฬา ผ้าห่ม และข้าวของเหลือใช้ประดามี

จะถูกคัดสรรลงกล่อง ใส่ถุง .. ตระเตรียมเพื่อส่งต่อให้ผู้คนที่รอคอย

 

วันหยุดยาวช่วงปีใหม่..เจ้าหน้าที่บางส่วนสแตนบายด์รอผู้บริจาคไม่ถอยหนี

เรารู้ดีว่า ..สิ้นปีใครหลายคนอยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง และเริ่มชีวิตใหม่ด้วยการ “ให้”

อาสาสมัครบางคนใช้เวลาวันหยุดยาวไปกับดูแลและอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริจาค

ช่วงเวลาสิ้นปีจึงมีความหมายมากกว่าแค่การพักผ่อน หรือเลี้ยงฉลองเพื่อรอการข้ามปีอย่างมีความสุข

บางคนยอมแลกเวลาว่างด้วยคำง่ายๆสามคำ สงบ เรียบง่าย และเป็นประโยชน์

และไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน กำลังทำอะไรอยู่ คุณสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการแบ่งปันความสุขได้

 

มูลนิธิกระจกเงาขอทำหน้าที่ส่งความสุขข้ามปี..

ด้วยการส่งมอบของบริจาคทุกชิ้นของทุกท่าน

ไปยังโรงเรียนบนดอยสูง เด็กป่วยในโรงพยาบาล

ผู้คนยากจนในถิ่นทุรกันดาร ผู้ป่วยติดเตียง และเด็กไร้เดียงสา

 

เราจะไม่ทิ้งใครให้สิ้นหวังและเดียวดายในช่วงเวลาแห่งความสุขเช่นนี้

ขอเชิญมาร่วมบริจาคเพื่อแบ่งปันในวันข้ามปี

และร่วมสร้างความทรงจำที่ดีที่สุดของปี 2561

ด้วยการแบ่งปันข้ามปีไปกับเรา “มูลนิธิกระจกเงา”

 

Share Button