ชีวิตหวานๆขมๆ และอมเปรี้ยวของเด็กโรงเรียนไร่ส้มวิทยา

โรงเรียนไร่ส้มวิทยา ตั้งอยู่กลางไร่ส้มนับพันไร่ ในหมู่ที่ 6 ตำบลแม่ข่า อำเภอฝาง จังหวัดเชียงราย

 

ปัจจุบันเปิดการเรียนการสอนตามหลักสูตรแกนกลาง และมีหลักสูตรเสริมตามความถนัด ความสนใจ ความจำเป็นและธรรมชาติการใช้ชีวิตของเด็กและพื้นที่ จึงไม่แปลกหากจะเห็นเด็กตัวใหญ่นั่งปะปนอยู่กับเด็กเล็กที่กำลังอ่านเขียนก.ไก่เพราะสำหรับที่นี่ อายุปัจจุบันของเด็กไม่ใช่เรื่องสำคัญ.. แต่โอกาสในการได้ศึกษาเล่าเรียนเท่านั้น ที่ทำให้ทุกคนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีวิชาความรู้ติดตัวไปจนตาย

 

ท่ามกลางแดดร้อนจัด ต้นส้มตั้งตระหง่านทอดตัวยาวไปถึงทิวเขา มดงานตัวเล็กตัวน้อยออกทำงานแต่เช้ามืด พวกเขาคือกำลังหลักอันขยันขันแข็งทางกลางแดดฝน

 

ไม่มีใครอยากทิ้งถิ่นกำเนิดของตัวเองเพื่อเดินทางออกไปให้ไกลห่างจากบ้านเกิด

 

แรงงานในไร้ส้มทุกคนรู้ดี หากพอมีกินมีใช้ ไร้สงคราม พวกเขาไม่จำเป็นต้องออกเร่ร่อนเพื่อเอาชีวิตรอด

 

ลูกเล็กเด็กแดง ในนามเด็กต่างชาติ ไร้สัญชาติ ไร้รากกำเนิด เกิดขึ้นและเติบโตใต้ร่มเงาต้นส้มทั้งหมดขาดโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษาภาคบังคับ ด้วยข้อจำกัดต่างๆ นานา

 

ถึงแม้ว่าระบบการศึกษาไทยจะเปิดกว้างรับเด็กทุกคนที่เกิดบนแผ่นดินไทยให้สามารถเข้าเรียนได้แต่เด็กลูกหลานแรงงานไร่ส้ม มีภารกิจต้องดูแลน้องเล็กๆและบางคนอายุก็ห่างไกลจากเพื่อนๆในวัยเดียวกันมานานแล้ว การกลับเข้าไปเรียนร่วมในชั้นเรียนจึงเป็นเรื่องยาก ลำบากทั้งทางการเดินทาง ค่าใช้จ่าย และต้นทุนทางสังคม

 

อาคารเรียนที่มีอยู่หนึ่งหลังในตอนนี้ รองรับนักเรียนชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เด็กนักเรียนราว 130 คน สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันใช้ห้องเรียนในอาคารและบ้างก็ออกมาเรียนรู้นอกห้องเรียน ใต้ต้นไม้ใหญ่หรือแปลงเกษตร

 

ไม่มีอะไรยิ่งใหญ่สำหรับชีวิตเล็กๆในไร่ส้ม มากไปกว่าการศึกษาขั้นพื้นฐานอีกแล้ว

 

หลังจากนี้ เมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น เขาหรือเธออาจจะเดินตามรอยพ่อแม่ เป็นแรงงานในไร่ส้ม แต่พวกเขาจะรู้ถึงสิทธิอันพึงมีพึงได้ของตัวเองในฐานะที่ได้เกิดบนผืนแผ่นดินไทย เช่นเดียวกับเด็กคนอื่นๆเกิดและเติบโตอยู่ทั่วประเทศ ทั้งที่มีเลขประจำตัว 13 หลักเพื่อแสดงสถานะและแม้ว่าไม่มีสถานะบุคคล เด็กทุกคนก็เท่าเทียมกัน

 

ด้วยมูลนิธิกระจกเงา ตระหนักว่า “เด็กทุกคนบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นสัญชาติ ชาติพันธุ์ใด ควรได้รับโอกาสเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน อย่างเท่าเทียม และไม่เลือกปฎิบัติ” ดังเจตนารมณ์ของปฏิญาสากล และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก “เด็กทุกคน ควรจะต้องได้รับการคุ้มครองและการพัฒนา”  

 

จนเกิดแนวคิดในการดำเนินการจดทะเบียนการจัดการศึกษาขั้นฐาน ภายใต้กฎกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยสิทธิขององค์กรชุมชนและองค์กรเอกชนในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ. 2555  และเมื่อวันที่ 23 เดือนมีนาคม พ.ศ.2561 โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 3 พิจารณาอนุมัติเห็นชอบในการจัดตั้งศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2545 และฉบับที่ 3 พ.ศ.2553 และกฎกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยสิทธิองค์กรชุมชนและองค์กรเอกชนในการจัดการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ.2555 ในนาม  “ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา มูลนิธิกระจกเงา”

Share Button