บอกลาชีวิต ‘ไร้ฝัน’ คนไร้บ้านกล้าตั้งเป้าหมายอีกครั้ง

เมื่อปลายปี 2561 ก่อนเข้าสู่ปีใหม่ ปี 2562 เราจัดกิจกรรมงานเลี้ยงปีใหม่ให้กับกลุ่มคนไร้บ้าน ในวันนั้นกิจกรรมหนึ่งที่เราคิดขึ้นมาคือ “การ์ดความฝัน” กิจกรรมนั้นว่าด้วยให้คนไร้บ้าน เขียนความใฝ่ฝันลงไป
.
คนไร้บ้านในกิจกรรมวันนั้นมีจำนวนร่วม 100 คนได้ ความฝันใฝ่ใหญ่สุดที่รวมกันเป็นก้อนมหึมา ความฝันนั้นว่าด้วยการอยากมีงานมีรายได้ ความใฝ่ฝันนั้นหนักอึ้งในใจพวกเขา และความใฝ่ฝันนั้นก็หนักอึ้งในใจพวกเราไม่แพ้กัน
.
มีหลายรายที่ประกาศว่า ไม่มีอีกแล้วความใฝ่ฝันที่ว่า ในบางรายหวังมีชีวิตรอดให้ได้ในปีต่อปี เมื่อถามถึงเหตุผลของคนที่บอกกล่าวมาว่าตัวเองนั้นหมดแล้วซึ่งความใฝ่ฝัน คำตอบเขาเกี่ยวพันกับเรื่องการมีงานอย่างเลี่ยงไม่พ้น
.
งานมันนำมาซึ่งรายได้ รายได้ที่เหมาะสมมันนำมาซึ่งการก่อร่างสร้างความฝัน งานที่ค่าแรงต่ำเตี้ย งานที่ไม่สามารถทำได้อย่างต่อเนื่องมั่นคง ใครที่ต้องอยู่กับสภาวะแบบนี้ อย่าว่าเรื่องมีความฝันเลย นึกคิดถึงชีวิตในวันต่อวันมันยังลำบากมากมายเลย
.
คนไร้บ้านตกอยู่ในสภาวะนี้ ทำและพยายามทำ หาและพยายามหา แต่งานใช่จะมีให้ทำได้ทุกวัน และงานที่เหมาะสมในบริบทรวมหมู่ที่พวกเขาเป็นอยู่ อย่างเช่น ความสูงอายุ ไม่มีทักษะอาชีพ เป็นแรงงานไร้ทักษะมาตลอดชีพ ร่างกายที่พังทลายมาจากการใช้แรงงานมาตลอดชีวิต งานไหนจะเหมาะให้เขาได้หาทำได้อีก
.
เมื่อคำตอบบอกว่าไม่มีงานนั้นอยู่จริง ความฝันของพวกเขาก็เป็นแค่ตัวถ่วงรั้งของชีวิต เป็นแรงกดทับที่ต้องวางทิ้งลง มันหนักเกินไปที่จะมีมันอยู่อีก ประโยคที่บอกว่า “ไร้ความฝัน” จึงกำเนิด แต่นั่นคือปี 2561 เป็นปีที่ยังไม่มีโครงการจ้างวานข้า โครงการที่ว่าด้วยการสร้างพื้นที่งานพื้นที่รายได้ให้กับกลุ่มคนไร้บ้าน พวกเราแบกน้ำหนักความฝันของคนไร้บ้านมาอีกประมาณ 2 ปี
.
ปี 2563 สิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า โครงการจ้างวานข้าจึงเกิดขึ้น เกิดขึ้นพร้อมกับการนำคนไร้บ้านเปลี่ยนผ่านมามีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงขึ้นนั้น นับรวมได้ 52 คน
.
จ้างวานข้าพาคนไร้บ้านได้กล้าฝันอีกครั้ง คนไร้บ้านได้กล้าดีไซน์ชีวิตว่าจะเอาอย่างไรต่อไป และเราจ้างวานข้าเองจึงกล้าใฝ่ฝันเช่นกันว่าในปีหน้าเราจะไปให้ถึงการพาคนไร้บ้านอีก 1 เท่าตัว เปลี่ยนผ่านมามีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงให้ได้
—————————
ร่วมใฝ่ฝันนี้ไปด้วยกับเรา…..
.
สนับสนุน​จ้างวาน​ข้าได้ที่​
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-58289-4 SCB
Share Button

น้ำตาแห่งการรอคอยสิ้นสุดลง แม่ได้พบกับลูกอีกครั้งหลังหายไป 3 ปี

สามปีเต็มที่เขาหายตัวไป
นานจนครอบครัวคิดว่าเขาตายไปแล้ว
แม่ซึ่งขายข้าวแกงหาเช้ากินค่ำที่บ้านนอก
ไม่รู้จะไปตามหาเขายังไง
สุดท้ายเราติดตามจนพบข้อมูลว่าเขา
ไปใช้ชีวิตทำงานบนเรือประมง
ตั้งแต่หายตัวไป
.
วันที่ทีมงานโทรบอกแม่คนหาย
ว่าพบตัวเขาแล้วและเขายังมีชีวิตอยู่
เป็นวันนี้ที่แม่ร้องไห้เป็นวันสุดท้าย
และหยุดร้องไห้เป็นวันแรกในรอบสามปี
แม่ไม่ต้องนอนร้องไห้คิดถึงเขาอีกแล้ว
.
วันนี้แม่และพี่สาวมารอรับเขาที่ท่าเรือ
สิ้นสุดการรอคอยกว่าสามปีเต็ม
เขากำลังได้กลับบ้านอีกครั้ง
ส่วนพวกเรา
จะพยายามตามหาคนหาย
ที่ “บ้าน” กำลังรอพวกเขากลับไป
นี่เป็น ของขวัญปีใหม่ สำหรับทุกคนครับ.
.
สนับสนุน การพาคนหายกลับบ้าน
บัญชีโครงการศูนย์ข้อมูลคนหาย โดยมูลนิธิกระจกเงา
SCB 202-258-288-6
Share Button

จ้างวานข้าเปลี่ยนคนไร้บ้านให้มีที่อยู่ได้อีกราย

“คนมีบ้านลำดับที่ 52”
.
“ลุงไม่เคยเช่าห้องเลย ที่นอนที่อยู่ล่าสุดคือ บนรถทัวร์ เพราะเราทำงานตรงนี้ออกต่างจังหวัดก็นอนบนรถ อาบน้ำปั๊ม เรียกว่าใช้ชีวิตบนรถทัวร์นั่นล่ะ ลุงไม่เคยคิดจะเช่าห้องเพราะกินอยู่แบบนี้ได้สบาย ๆ แล้วเราจะเสียค่าห้องไปทำไม อีกอย่างมันมีงานวิ่งรถตลอดไม่เคยได้หยุด กินนอนบนรถเนี่ยล่ะสะดวกที่สุดแล้ว”
.
“ลุงออกมาไร้บ้านช่วงกลางปี 2563 เพราะโดนเลิกจ้าง ซ้ำแล้วตอนนั้นลุงก็มีปัญหากับทางบ้านจึงกลับบ้านไม่ได้ เครียดมาก ตอนนั้นลุงทำงานเป็นคนขับรถทัวร์ พอเจอโควิดหนัก ๆ บริษัทโดนผู้โดยสารแคนเซิลหมดเลย บริษัทขาดทุนหนักมากจะปรับตัวไปทางไหนก็ยากไปหมด เจ้านายก็เลยปิดกิจการและก็ตกงานตั้งแต่ตอนนั้น ช่วงนั้นเงินเก็บก็ไม่มีไปเช่าห้องอยู่เพราะเรานอนบนรถทัวร์มาโดยตลอด เรียกได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างจบสิ้นแล้วมีเท่าไรก็ช่วยชาวบ้านเขาไปหมด พอหมดตัวก็เดินไปเรื่อยเปื่อยระเหเร่ร่อน ค่ำไหนนอนนั่น ยกมือไหว้ขอข้าวเขากินไปเรื่อย”
.
“โอ้โหตอนเร่ร่อนลำบากมาก มีบางช่วงที่คิดสั้นเพราะไม่รู้จะหาทางออกกับตัวเองยังไง แต่ที่แรกที่ไปคือหัวลำโพง ไปนั่งมองรถไฟ คือมันเจ็บปวดนะเพราะมันกลับบ้านไม่ได้ด้วยไงด้วยปัญหาหลายอย่าง มองดูรอบ ๆ ก็เห็นหลายคนมีสภาพไม่ต่างจากเรา นอนกอดกระเป๋า วิ่งไปเอาข้าว ก็เลยฮึดสู้ เอาเว้ยสู้ใหม่อีกสักครั้ง ลุงก็เลยหิ้วกระเป๋าเดินไปเรื่อย ๆ ไปถึงสวนลุม พอไปถึงก็ค่ำแล้วไงก็เลยตั้งใจจะนอนที่นี่ มาเจอยามเขาบอกว่าไม่ให้นอนนะแต่นั่งหลับได้”
.
“คืนแรกจำได้เลยว่าหลับไม่ลง ยุงก็ตอมก็กัดเต็มตัว เงินจะซื้อยากันยุงยังไม่มีเลย ความรู้สึกตอนนั้นคือ ชีวิตกูมันรันทดจังเลยวะ ทางไปข้างหน้าก็เลือนรางเหลือเกินจะอยู่รอดอีกกี่ปีกัน เช้ามาก็ขึ้นรถเมล์มาเรื่อยเปื่อยมาถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตอนนั้นก็แปลกใจเห็นคนจอดรถลงมาแจกข้าวและคนยืนต่อกันเป็นแถวเลย คนบนรถเมล์เขาบอกว่า เขาแจกกันประจำแจกฟรีด้วย ไอ้เราก็รีบลงมาต่อแถวรับข้าวกับเขาบ้าง ได้ข้าว 1 กล่อง น้ำ 1 ขวด ขนม 1 ชิ้น ก็คิดนะว่า เออ ดีเหมือนกันนี่หว่าประหยัดตังค์ได้ 40-50 บาท ก็กินเอาประทังชีวิตไป”
.
“ถ้าถามว่าความเป็นอยู่ยังไงบ้างตอนนั้น มาอยู่แถวราชดำเนินเนี่ยไม่ใช่ว่าอยู่ง่ายนะ อยู่ยากมากเลย มันมีนักเลงเยอะ ยิ่งช่วงแรกเราเนี่ยเป็นคนแปลกหน้าเวลาไปรับข้าวก็จะโดนพวกนักเลงไล่ให้ไปอยู่ข้างหลังตลอด บางทีก็โดนแทรกพอจะถึงคิวเราข้าวก็หมดแบบนี้ จะอาบน้ำก็ยากเพราะต้องแอบเข้าตามปั๊ม ถ้ามีคนทำความสะอาดมาเห็นก็โดนว่าเอา ส่วนเสื้อผ้าจะซักยังไงไม่มีเงินซื้อแฟ๊บ เสื้อผ้าก็ใส่หมุนเวียนไป 3 ตัว บางทีก็ซักน้ำเปล่า บางทีก็ซื้อสบู่มาซักเพราะมัน 2 in 1 ไงได้ใช้ถูตัวด้วย อีกอย่างมีคนขี้เมาอยู่ด้วย บางครั้งเมาและก็ฉี่ราดไปทั่วก็ทนนอนเหม็นฉี่กันไป ย้ายไปตรงไหนก็มีแต่ป้ายบอกว่าห้ามนอน หรือไม่ก็เจอแต่พวกขาใหญ่เจ้าของพื้นที่มาขู่ไม่ให้นอนก็มี”
.
“แว๊บแรกเลยนะที่เขาบอกว่าจะช่วยเรื่องห้องเช่าคิดเลยว่า รอดตายแล้วกู ดีใจมาก ๆ (ร้องไห้) เพราะตอนนั้นเรื่องเช่าห้องคือแทบไม่ได้คิดเลย จะเอาปัญญาที่ไหนไปเช่า ไหนจะค่าแรกเข้าค่ามัดจำอีก พอจังหวะที่เจ้าหน้าที่จ้างวานข้าบอกว่า เราจะช่วยค่ามัดจำและค่าเช่าห้อง 1 เดือนด้วย คือตกใจเลย มีแบบนี้ด้วยเหรอ เหลือเชื่อมากเพราะลุงทำงานมาทั้งชีวิตไม่มีที่ไหนช่วยเราขนาดนี้”
.
“พอถึงวันจะได้เข้าอยู่จริง ๆ เจ้าหน้าที่จ้างวานข้าขนข้าวขนของไปให้ มีพวกหม้อหุงข้าว พัดลม มีหมอน ที่นอนมาให้พร้อมอยู่ และบอกว่าตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปให้ลุงเริ่มทำงาน 5 วัน/สัปดาห์ ได้วันละ 500 บาท จะได้มีเงินไว้จ่ายค่าเช่าห้องเดือนถัดไป คิดในใจโอ้โฮเขาให้ขนาดนี้เลยนะ หัวใจมันฟูมาก ชีวิตได้เริ่มต้นใหม่อย่างจริง ๆ จัง ๆ แล้วถึงแม้จะวัยนี้ คืนนั้นยกมือไหว้เจ้าที่เจ้าทาง และเขียนความรู้สึกบันทึกใส่ไว้ในกระดาษ เขียนขอบคุณโครงการจ้างวานข้า มูลนิธิกระจกเงา ที่ทำให้ผมมีวันนี้ได้อีกครั้ง”
.
“ลุงสังเกตตัวเองตอนนี้นะ เปรียบเทียบกับตอนไร้บ้าน ขมับลุงมันโบ๋ มันเกร็ง มันตึงเครียด แต่ตอนนี้มันคลายแล้ว คล้ายว่าชีวิตเราผ่อนคลายขึ้น มีที่อยู่ หิวก็มีเงินซื้อกินได้ ได้ซื้อเสื้อผ้าจนจะไม่มีที่เก็บแล้ว (หัวเราะดังมาก)ได้ซื้อโต๊ะมาตั้งพระเป็นโต๊ะหมู่บูชาที่ห้อง ทุกวันนี้บอกตรง ๆ ได้เลยว่ามีความสุขแล้ว หนทางข้างหน้าจะเป็นยังไงก็สู้ต่อไป”
.
“การได้มาเจอจ้างวานข้า มันเหมือนเป็นของขวัญชิ้นใหญ่เลย มันเหมือนเป็นพลุ เป็นดวงประทีปส่องแสงสว่างในใจเรา ลุงยังคงคาใจที่นี่มาก คือตอนตกงานไปหางานไปที่ไหนเขาก็ไม่รับเพราะอายุเรามากแล้ว แต่เออว่ะที่นี่รับ พอรู้ว่าได้ค่าจ้างเท่านี้ก็ยิ่งแปลกใจ มันเป็นเรื่องมหัศจรรย์ในชีวิตเรานะ และยิ่งมาทำงานได้สักพักได้เห็นเพื่อนร่วมงานมีทั้งผู้สูงอายุ บางคนเดินขากะเผลกมาเลย คือมันอิ่มใจมากที่ยังมีมูลนิธิที่ทำเรื่องแบบนี้อยู่ในสังคมนี้ด้วย ลุงขอบคุณมากเลยนะ ขอบคุณที่สร้างความหวังให้กับชีวิตลุงอีกครั้ง”
————————————-
@คนไร้บ้านที่เข้าทำงานในโครงการจ้างวานข้าในเดือนกันยายน 2565
@มีห้องเช่าเป็นคนที่ 52ของโครงการจ้างวานข้าเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2565
————————————-
สนับสนุน จ้างวาน ข้าได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-58289-4 SCB
Share Button

บนกระดาษที่บันทึกความรู้สึกของอดีตคนไร้บ้าน

“ความรู้สึกของลุงเมื่อเข้าห้องเช่าวันแรกเป็นยังไงบ้าง”
.
มันคือคำถามของเราที่มีต่อสมาชิกจ้างวานข้าคนนึง ที่เคยเป็นคนไร้บ้านและปัจจุบันมีห้องเช่าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นับเป็นเหมือนของขวัญก่อนปีใหม่ของแกชิ้นหนึ่งของชีวิต
.
คำตอบของแกอยู่ในกระดาษชิ้นหนึ่งที่แกใช้มันบันทึกความรู้สึก คำขอบคุณ และข้าวของที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน
.
บางท่อนของบันทึกนั้น…
.
“ข้าพเจ้าได้ย้ายเข้ามาอยู่เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 เวลา 17.59 น. ผมรู้สึกดีใจที่ได้มีห้องอยู่ ไม่ต้องนอนข้างถนนเหมือนดังแต่ก่อน เพราะรู้สึกปลอดภัยที่ไม่ต้องถูกไล่ตอนตี 4”

————————————————
สนับสนุน​จ้างวาน​ข้าได้ที่​
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-58289-4 SCB

Share Button

หวนคืนสู่อ้อมแขนของครอบครัว ศพที่เคยนิรนามของ ‘ลุงอ๊อด’

ในกล่องสีขาว คือ โครงกระดูกลุงอ๊อด
ลุงอ๊อดคือช่างศิลปะด้านการแกะสลักไม้
เมื่อไม่มีงานแกะไม้ เขาคือคนถีบสามล้อรับจ้าง
หลังไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตครอบครัว
เขาใช้ชีวิตกินนอน อยู่บนรถสามล้อ
.
ลูกชายเคยชวนเขาไปอยู่ด้วยกัน
แต่ลุงอ๊อดรักชีวิตอิสระ ไม่อยากเป็นภาระใคร
เขาแวะเวียนไปเยี่ยมญาติเป็นบางครั้ง
และลูกชายแวะมาหาเขาตลอด
.
จน 4 ปีที่แล้วลุงอ๊อดหายตัวไป
ลูกชายพยายามออกตามหาแต่ไม่พบเบาะแส
เป็นเพียงเรื่องราวชายถีบสามล้อเร่ร่อน
หายตัวไปเงียบๆ
.
กระทั่งเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2565ที่ผ่านมา
สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม
ติดต่อมาที่มูลนิธิกระจกเงา
แจ้งว่ามีศพนิรนาม ศพหนึ่ง คล้าย “ลุงอ๊อด”
.
ศพนิรนามศพนั้นถูกพบเมื่อ 4 ปีที่แล้ว
หมดสติที่ข้างถนนแล้วเสียชีวิตที่โรงพยาบาล
ถูกนำส่งชันสูตร ในฐานะศพนิรนาม
แต่ตอนนั้นไม่มีข้อมูลว่าศพนั้นเป็นใคร
.
กระทั่งตอนนี้
มีกระบวนการนำลายนิ้วมือศพนิรนาม
ไปตรวจเทียบกับฐานข้อมูลกรมการปกครอง
จึงทำให้ทราบว่า ชายที่หายใจรวยรินข้างถนน
ที่กลายเป็นศพนิรนามไม่ทราบชื่อ
เขา คือ ลุงอ๊อด ที่ญาติตามหามานานกว่า 4 ปี
.
วันนี้ลุงอ๊อดได้กลับบ้านแล้วครับ
ญาติบอกว่าจะได้พากระดูกลุงอ๊อดไปทำบุญ
แม้จะทำพิธีแบบเล็กๆ ตามมีตามเกิด
แต่เขาจะได้ไม่เป็นศพนิรนามและวิญญาณเร่ร่อน
.
ขอแสดงความชื่นชม
สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม
ที่ใช้ความรู้ ความสามารถของหน่วยงาน
พิสูจน์จนทราบว่า ผู้ตายเป็นใคร
————————————————————
ด้วยครอบครัวลุงอ๊อด มีฐานะยากจน
มูลนิธิกระจกเงา จึงนำเงินบริจาคจากแฟนเพจ
สนับสนุนเงินค่าฌาปนกิจศพลุงอ๊อด จำนวนหนึ่ง
—————————————————————-
ยังมีศพนิรนามและคนหายจำนวนมาก
ที่พวกเราจะค้นหาติดตาม พาพวกเขากลับบ้าน
สนับสนุนภารกิจนี้
บัญชีโครงการศูนย์ข้อมูลคนหาย โดยมูลนิธิกระจกเงา
ไทยพาณิชย์ เลขที่ 2022582886
Share Button

เมนูไข่ดาวที่แสนธรรมดาบนโต๊ะอาหารที่แสนพิเศษ

“มื้อพิเศษของครอบครัว”
.
เด็กหญิงคว้าแผงไข่เข้าไปกอดไว้แน่น
ใบหน้าเต็มไปด้วยรอยยิ้ม
เมื่อเห็นว่าในถุงเซเว่น
ที่ทีมงานอาสามาเยี่ยมนำไปฝาก
มีไข่ไก่อยู่ในนั้นด้วย
.
เด็กน้อยว่าเธอชอบกินไข่ดาว
เธอบอกด้วยสายตาเป็นประกายว่า
จะทอดไข่ดาวให้แม่และยายกิน
รวมถึงจะแบ่งพี่ๆ ทีมงานกินด้วยกัน
.
นานนับปีแล้ว ที่อาสามาเยี่ยม
แวะเวียนมาเยี่ยมครอบครัวนี้
.
ครอบครัวที่ผู้หญิงอยู่กันลำพัง
แม่เป็นแรงงานเพียงคนเดียวในบ้าน
เก็บหาไม้ในป่าหลังบ้าน
เพื่อมาเผาเป็นถ่าน ขายเป็นรายได้
ดูแลยายกับลูกสาววัยประถมอีก 2 คน
.
ทุกครั้งที่แวะเวียนไป
ทีมงานจะนำของกิน ของเล่น ของใช้
ติดมือไปช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายของครอบครัว
.
และตั้งแต่กระจกเงาขอรับบริจาคแต้ม
แต้มที่เราได้มานั้น ได้ถูกใช้เพื่อเป็นประโยชน์
กับครอบครัวผู้ป่วยติดเตียงยากไร้ คนไร้ที่พึ่ง
รวมถึงครอบครัวเปราะบางรายนี้
และไข่แผงในอ้อมกอดนี้ ก็เช่นกัน
.
เย็นวันนี้ เมนูไข่ดาว ที่แสนธรรมดา
จะถูกนำขึ้นโต๊ะ ล้อมวงกินด้วยกัน
มันจะกลายเป็น “มื้อพิเศษของครอบครัว”

—————————————

มูลนิธิกระจกเงาขอเป็นสื่อกลาง
รับโอนแต้มจากคุณ เพื่อส่งต่อให้ผู้เดือดร้อน
โอนแต้มสะสม All Member
หรือแต้ม The1 รวมถึง M Card
ผ่านแอพฯ มายังหมายเลข 063-931-6340
.
หรือหากยังไม่มีแต้ม แต่ต้องการบริจาค
ทุกครั้งที่ซื้อใช้จ่ายร้านสะดวกซื้อ
ไม่ว่าจะเป็น 7-11 เครือเซ็นทรัล The Mall
Tops Lotus BigC ฯลฯ
สามารถแจ้งเบอร์สมาชิก
063-931-6340 ได้เช่นเดียวกันค่ะ
.
หากระบบแจ้งว่าโควต้าโอนต่อวันเต็ม
สามารถทักอินบ๊อกซ์มาหาแอดมิน
เพื่อขอเบอร์สำรองได้เลยนะคะ

Share Button

ของขวัญรับปีใหม่ ทัวร์ย้อนวัยของคนชรา

ชราทัวร์
.
ปลายปีที่ผ่านมา มีโทรศัพท์สายนึงโทรหากระจกเงา ปลายสายต้องการมอบของขวัญปีใหม่ เป็นทริปพาเด็กๆ ในการดูแลของมูลนิธิไปเที่ยวตามที่ที่อยากไป เขาว่าอยากให้เทศกาลนี้เป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของเด็ก
.
เราต่อรองว่า ขอเปลี่ยนจากเด็ก เป็นคนแก่ไร้บ้านที่ทำงานกับกระจกเงาแทน เพราะขณะนี้ที่มูลนิธิ เรามีกองกำลังวัยชราจำนวนมาก ที่เป็นหนึ่งในฟันเฟืองขับเคลื่อนงานกระจกเงา เราอยากให้เขาได้รับโอกาสนี้ ให้เป็นคุณภาพชีวิตได้เที่ยวบ้างในวัยชรา
.
ในที่สุด เสาร์ที่ผ่านมา ทริปชราทัวร์ ก็เกิดขึ้น แบบ One Day Trip พาคุณลุงคุณป้ากว่า 20 ชีวิต ไปเที่ยวแบบย้อนวัย ตะลอนกรุงในย่านเมืองเก่า กทม.
.
เริ่มต้นที่ มิวเซี่ยมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ จากนั้นไปทัวร์วัดแบบจัดเต็ม มีไกด์นำเที่ยว พร้อมธงนำ พาเข้าชมจิตรกรรมฝาผนัง พระปรางค์วัดพระแก้ว ตุ๊กตาศิลาจีน สรรพวิชาหลายแขนงที่มีให้ชมในวัดโพธิ์
.
ตบท้ายละเลียดดื่มด่ำกับอาหารเย็นในบรรยากาศริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทานอาหารมื้อที่เราหวังว่า จะเป็นความทรงจำที่ดีรับปีใหม่ของทุกคน
.
หลังจบทริป คุณป้าท่านนึง กลับมาเล่าให้ทีมงานฟังว่า สำหรับเธอแล้ว ชีวิตตอนนี้ นับเป็นช่วงเวลาที่ดี เธอกำลังจะได้เป็นคนแก่ที่มีความสุขเพิ่มขึ้น
———————————
ขอบคุณผู้บริจาคความสุขครั้งนี้ ผู้ที่เมื่อปีที่แล้ว ได้เปิดโรงแรม Seamira House อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ต้อนรับเด็กป่วยเรื้อรัง ในโครงการโรงพยาบาลมีสุขกว่า 10 ครอบครัว ให้ได้มีที่พัก พร้อมอาหารอร่อย ระหว่างไปเที่ยวทะเลหัวหิน
ใครอยากสนับสนุน ผู้บริจาคใจดีท่านนี้ หากคุณกำลังหาที่พักไม่ไกลจากทะเลมาก กระจกเงาชวนพิจารณา Seamira House, Hua Hin นะคะ
Share Button

3 ปีกับวงจรชีวิตอันไร้ที่สิ้นสุดของผู้ป่วยเร่รอน

เป็นผู้หญิงอายุราว 30 ปี ผู้คนแถวนั้นจะพบเห็นเธอเร่ร่อนอยู่ 3 พื้นที่ พื้นที่แรกคือเธอนั่งนอนอยู่ที่ศาลา พื้นที่ที่สองเข้าไปที่หลังชุมชน พื้นที่ที่สามเธอมักหายไปกับคนแปลกหน้า
.
3 ปีได้แล้วที่ชาวบ้านแถวนั้นพบเห็นเธอใช้ชีวิตอยู่ประมาณนี้
.
ที่ศาลาบางครั้งเธอนั่ง บางครั้งเธอนอน บางครั้งนั่งเหม่อ บางครั้งนั่งพูดคนเดียว และมีอยู่หลายครั้งที่เธอเกรี้ยวกราดเขวี้ยงปาข้าวของใส่ผู้คน มีครั้งหนึ่งที่ทำร้ายร่างกายคนในชุมชน และในหลายครั้งอีกเช่นกันที่เธอมักเล่นไฟแช็กและจุดเผากองขยะที่เธอเก็บสะสมมาเอง
.
อาการทางจิตเวชชัดเจน ชัดเจนตามเงื่อนไขอาการจิตเวชที่ต้องได้รับความช่วยเหลือตาม พรบ.สุขภาพจิต กล่าวคือ เธอมีทั้งภาวะความอันตรายต่อผู้อื่นและตัวเธอเอง และเธอมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการบำบัดรักษาเนื่องจากถ้าปล่อยไว้คุณภาพชีวิตของเธอจะเสื่อมทรุดลง
.
ตำรวจในฐานะของพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พรบ.สุขภาพจิตถูกแจ้งจากชาวบ้านอยู่บ่อยครั้ง แต่ทุกครั้งทำได้เพียงแค่มาไล่ให้ออกจากพื้นที่ไปในทุกครั้ง และเธอก็วนเวียนกลับมาในทุกครั้ง ตำรวจให้เหตุผลที่ทำได้เพียงเท่านี้เพราะเขาเคยนำส่งผู้ป่วยจิตเวชแบบเดียวกันนี้ไปยังโรงพยาบาล และโรงพยาบาลเองก็ปฏิเสธที่จะรับผู้ป่วยเข้ารับการรักษา โดยเงื่อนไขที่ตัวผู้ป่วยไม่มีญาติ (ที่จริงตามพรบ.สุขภาพจิตระบุไว้ชัดเจนว่าไม่ต้องมีญาติมาด้วยก็ได้) สุดท้ายตำรวจต้องเอาผู้ป่วยกลับมาในพื้นที่เดิม และเรื่องราวก็วนเป็นวงจรไม่รู้จบเช่นเดิม ทั้งเรื่องราวชีวิตของผู้ป่วยและเรื่องราวของการแก้ไขปัญหาผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อน
.
วันนี้ทางทีมผู้ป่วยข้างถนนประสานงานกับทางตำรวจเพื่อจะให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย แต่โชคร้ายที่เธอหายไปจากพื้นที่ได้ราวอาทิตย์กว่าแล้ว เราจึงไม่สามารถให้ความช่วยเหลือเธอได้ แต่เราสัญญาว่า ถ้าเธอกลับมาในพื้นที่เราจะดำเนินการอย่างเร่งด่วนในทันทีเพื่อที่จะยกเลิกวงจรชีวิตที่ผู้ป่วยต้องเผชิญอยู่อย่างไม่รู้วันที่จบสิ้นไปเสียที
———————————-
สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยข้างถนน ผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-58289-4 SCB
Share Button

ความหวังของชายไร้บ้าน หลังอาศัยข้างถนนมา 3 ปี

.
“นิทานการไร้บ้าน”
.
กาลครั้งหนึ่ง มีชายคนหนึ่งที่เกิดอยู่ในครอบครัวที่ปากกัดตีนถีบกันทั้งครอบครัว รายได้ที่ได้มาของแต่ละคนมันแค่พอที่จะเลี้ยงปากท้องได้แต่เพียงตนเอง ไม่มีเงินเหลือพอให้เก็บ ไม่มีเครดิตให้พอไปกู้ยืมได้ การศึกษาทั้งหมดอยู่ในระดับต่ำ แม้บางคนอาจจะจบที่มัธยม 3 ก็ตามที
.
ทำงานไปทำงานมา ทุกคนยังอยู่ในบ้านหลังเดิม อายุของทุกคนล่วงมาในวัยกว่า 50 ปีแล้วเห็นจะได้ มีใครคนหนึ่งในบ้านเกิดตกงานที่ตัวเองเคยทำมา เขาพยายามหางานใหม่แต่ก็หาไม่ได้ หาไม่ได้ด้วยเหตุผลว่าเขานั้นชราจนเกินไป เกินไปที่นายจ้างจะทนจ้างความเชื่องช้าไม่ทันการนั้นได้
.
เขาอยู่ในสภาพตกงาน จาก 1 ปี เป็น 2 ปี และเป็น 3 ปี เขาเริ่มถูกมองว่าเป็นภาระเป็นตัวถ่วงของบ้านก็ตั้งแต่ขวบปีแรกที่ต้องตกงาน ความอดทนมีอยู่อย่างจำกัด คับที่อยู่ได้คับใจอยู่ยากใครๆ ก็รู้ วันหนึ่งเขาเก็บเสื้อผ้าเท่าที่พอมีอยู่ใส่กระเป๋าเป้ใบหนึ่ง ตายเอาดาบหน้าเขาบ่นบอกกับตัวเอง
.
เขานั่งรถเมล์ ตั้งเป้าหมายในใจว่า คืนนี้นอนข้างถนนราชดำเนินก่อนก็แล้วกัน เช้าก็ค่อยตื่นไปหางานทำดู ผลปรากฏว่าอาทิตย์นั้นทั้งอาทิตย์เขาหางานไม่ได้เลย เขาไปได้งานในอาทิตย์ที่ 2 มีคนจ้างเขาทำงาน 1 วัน เขาอยู่ในสภาพของคนนอนข้างถนนตกงาน จาก 1 ปี เป็น 2 ปี และล่วงมาเป็น 3 ปี
.
3 ปีที่อยู่ที่ข้างถนน เขาหางานทำได้ตลอดแต่มันเป็นงานไม่ต่อเนื่อง รายได้ต่ำ เขานึกถึงคำของตัวเองที่ปลุกปลอบใจในวันที่เขาตัดสินใจออกจากบ้าน “คืนนี้นอนข้างถนนราชดำเนินก่อนก็แล้วกัน เช้าก็ค่อยตื่นไปหางานทำดู” 3 ปีเข้าให้แล้วที่เขาต้องนอนที่นี่ที่ข้างถนนราชดำเนินมาร่วม 3 ปีแล้ว
.
ในคืนวันนั้น คืนวันที่เขาจะหลับใหลไปพร้อมกับคราบน้ำตาตัวเอง เพื่อนคนไร้บ้านที่เขาเคยรู้จัก เดินเข้ามาคุยกับกลุ่มคนไร้บ้านกลุ่มหนึ่งที่อยู่ข้างๆพื้นที่นอนของเขา เขาเล่าว่าตอนนี้เขามีห้องเช่าแล้วนะ และเขามีงานทำ 5 วันต่อสัปดาห์ เขาบอกว่าเขาไปทำงานกับ จ้างวานข้า มูลนิธิกระจกเงาอยู่
.
หลายคนไถ่ถามว่าจะไปสมัครได้ที่ไหน อดีตคนไร้บ้านคนนั้นตอบมาว่า เขาเปิดรับสมัครงานที่ใต้สะพานปิ่นเกล้านะ ทุกวันอังคารและศุกร์ที่เขามาเปิดให้บริการรถซักอบอาบนั่นแหละ หลายคนบอกกันว่า ดีเลยพรุ่งนี้ก็วันอังคารนี่หว่า เขาคนนั้นที่นั่งตั้งใจฟังอยู่เงียบๆ บอกตัวเองในใจอีกครั้งว่า “พรุ่งนี้จะไปสมัครงานนี้ให้ได้” เขาล้มตัวนอนที่ไม่ใช่พร้อมคราบน้ำตา แต่พร้อมด้วยความหวังในหัวใจที่มันชัดเจนขึ้นอีกครั้ง
——————————————
สนับสนุน​จ้างวาน​ข้าได้ที่​
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-58289-4 SCB
Share Button

ขบวนรถ 13 คันพร้อมออกสัญจร แจกของขวัญถึงเด็กบนดอย 40 หมู่บ้าน

.
ในหนึ่งปี มีวันเด็กแค่หนึ่งครั้ง
ปีละครั้ง ที่เด็กน้อยจะได้รับของขวัญ
กลับบ้านไปหอบใหญ่
.
ของขวัญที่ทำเอาแววตาใสๆ ยิ้มร่า
และมันจะเป็นความสุข
เป็นความทรงจำในใจของเด็กไปตลอดปี
.
วันเด็กปีนี้ มูลนิธิกระจกเงาจึงเตรียมลุย!
จัดขบวนรถ 13 คันให้พร้อมออกสัญจร
ไปแจกของขวัญถึงมือเด็กชาติพันธ์ุบนดอย 40 หมู่บ้าน
.
ก่อนหน้าวันเด็กหนึ่งเดือน
อาสาสมัครจะช่วยกันคัดของ
ตุ๊กตา ของเล่น 2,100ชิ้น คัดอย่างละเอียด
ช่วยกันค้นหารอยขาด หลุดรุ่ย เปรอะเปื้อน
หากชิ้นไหนมี เราจะไม่เอา
.
จากนั้นของขวัญจะถูกขนขึ้นรถ รถที่ทีมงานจัดการอาบน้ำ แต่งตัว
ติดสายรุ้งหลากสี ห้อยตุ๊กตาหมีไว้รอบคัน
เปิดเพลงมันส์ๆ ขณะเคลื่อนขบวน
.
ท้ายรถมีอาสาสมัครแดนเซอร์ใส่ชุดสวย
เตรียมเอนเตอร์เทนเด็กๆ
ที่มายืนรอรับของขวัญแต่เช้ากว่าพันคน
.
ไม่ว่าจะทางไกล ขึ้นเขา คดโค้ง
คาราวานสัญจรขบวนนี้จะไปหา
เด็กทุกที่จะได้รับความสุข
หัวใจดวงน้อยจะชุ่มชื่นด้วยของขวัญ
.
สิ่งเหล่านี้ จะเกิดขึ้นพรุ่งนี้
ใน “วันเด็ก (สัญจร) แห่งชาติ”
เสาร์ ที่ 14 มกราคม 2566
ณ มูลนิธิกระจกเงาเชียงราย
.
ของขวัญที่คุณบริจาคมาในขบวนนี้
จะได้ทำหน้าที่ส่งความสุข
ถึงเด็กๆ บนดอย
ของเล่น ตุ๊กตา ของคุณ
กำลังจะมีเพื่อนใหม่โดยสมบูรณ์
_________________________
สนับสนุนวันเด็กสัญจรได้ที่
บัญชี กองทุนเด็กดอย โดยมูลนิธิกระจกเงา
ธนาคารไทยพาณิชย์
เลขบัญชี 507-410185-4
.
สอบถามเพิ่มเติม โทร 0619091840 , 0639316340
Share Button