“หมาของผมรักดนตรีแจซ” วรรณกรรมเยาวชนที่ควรค่าสำหรับทุกประสบการณ์ชีวิต

หนังสือเรื่อง หมาของผมรักดนตรีแจซ เป็นหนึ่งในหนังสือนับล้านเล่มที่ถูกบริจาคเข้าโครงการอ่านสร้างชาติ เป็นเจตนารมณ์ดีๆของผู้อ่านที่อยากส่งต่อหนังสือวรรณกรรมเยาวชนดีๆให้แก่ห้องสมุดที่ขาดแคลนในชนบท ฉันละเลียดอ่านหนังสือเล่มนี้อย่างระมัดระวังด้วยกลัวมันจะจบ ด้วยว่าวรรณกรรมเยาวชนเล่มนี้ แฝงไปด้วยด้วยภาษาที่ประหลาดเหลือหลาย และมีรูปแบบการนำเสนอเรื่องราวที่เกิดการคาดเดาเนื้อหาในหน้าถัดไปได้

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือวรรณกรรมเยาวชนรัสเซีย ที่จัดว่ากวน(ประสาท) และฮาระดับหนึ่ง ฉันตั้งใจอ่านกลับไปกลับมาอยู่สองสามครั้งเพราะความไม่รู้เรื่องของมัน มันเป็นหนังสือแปลกประหลาด ที่หยิบขึ้นมาอ่านอีกเมื่อไหร่ความหมายที่ได้รับรู้จะแตกต่างกันออกไปทุกที ใจความหลักใหญ่ในหนังสือเป็นเรื่องราวของครอบครัววุ่นๆของเด็กผู้ชายคนหนึ่ง ที่คนในครอบครัวแต่ละคนช่างมีบุคลิกภาพที่แตกต่างกันสุดขั้ว มีพ่อที่หลุดโลกและแม่ที่ไม่ธรรมดา แม้แต่หมาก็ยังชอบฟังเพลงแจซ

เด็กชายอันดรูฮา พยายามเล่าเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตทุกอย่างภายในบ้านให้เราฟังอย่างบรรเจิด นอกกรอบจินตนาการที่เราจะคาดฝันถึง ในบทหนึ่ง เขาเล่าถึงเจ้าปลาวาฬ ชื่อหมาที่เลี้ยงไว้ อันดรูฮาต้องการเข้าทดสอบเพื่อเข้าเรียนดนตรีแจซ โดยมีเจ้าปลาวาฬติดตามไปทดสอบด้วย แต่คุณครูไม่อนุญาตให้นำหมาเข้าไปด้วย อันดรูฮา จึงกล่าวว่า

“ผมอยากเรียนดนตรีแจซครับ” เขาพูดเสียงดังฟังชัด
“หมาเข้าไม่ได้” คุณครูบอก
“ปลาวาฬรักดนตรีแจซครับ” เขาพูด “ผมกับมันร้องเพลงด้วยกัน”
“หมาเข้าไม่ได้” คุณครูคนเดิมย้ำ

เขาจำเป็นต้องปล่อยมันไว้ข้างนอก แล้วเข้าไปทดสอบเพียงลำพัง แต่ผลที่ออกมาไม่ดีอย่างที่คาดไว้เพราะเขาไม่มีเจ้าปลาวาฬ คุณครูจึงประเมินอันดรูฮาว่า เขาไม่มีหูสำหรับดนตรี

เมื่อเขาเดินออกมาจากห้องทดสอบ ในหนังสือเขียนบรรยายไว้ว่า

เจ้าปลาวาฬแทบจะล้มประดาตายเพราะความดีใจที่ได้เห็นผม “เป็นไง อันดรูฮา แจซน่ะ สอบได้ใช่ไหม” มันพูดด้วยท่าทางของมันพร้อมกับฟาดหางไปมา สุดท้ายทั้งคนและหมาก็ออกมาร้องแจซก่อกวนชาวบ้านท่ามกลางความโกลาหลของผู้คนที่ไม่อยากฟังแจซจากทั้งคู่ ในหนังสือบรรยายไว้อย่างเห็นภาพและฮากลิ้ง หากเขียนให้อ่านก็คงจะไม่เข้าใจ เพราะฉันเองก็ยังงงๆต้องอ่านกลับไปกลับมาหลายรอบอยู่ (ฮ่าๆๆ)

แต่ก็มีอยู่ประโยคหนึ่งที่ฉันชอบมากคือ

“จากความดีใจเท่าแมลงวัน ผมกับเจ้าปลาวาฬก็ทำให้มันใหญ่เท่ากับช้าง” อันดรูฮาพูดไว้ขณะที่เขากำลังร้องเพลงแจซกับเจ้าปลาวาฬป่วนชาวบ้านชาวเมืองอย่างไม่รู้ไม่ชี้อะไรทั้งนั้น

น่ารักดีไหมล่ะ ความสัมพันธ์แปลกๆของเด็กคนหนึ่งกับหมาประหลาดๆ ถ้าได้ลองอ่านดูจะพบว่าเรื่องนี้ผู้เขียนช่างเป็นคนที่มีจินตนาการเลิศล้ำเกินบรรยาย ในหลายบทครั้งเมื่ออ่านจบ ฉันนั่งหัวเราะอยู่คนเดียว มันมีด้วยหรือมนุษย์แบบนี้ฉันคิดในใจ

อุ๊ย!! หรือฉันโตเกินกว่าจะเข้าใจเรื่องพวกนี้แล้ว ตกใจกับความคิดและกรอบที่แน่นหนาของตัวเอง แต่เชื่อว่าหากเป็นฉันตอนเด็กๆ เรื่องพวกนี้คงเข้าใจง่ายกว่านี้หลายเท่า จะมีพ่อที่ไหนที่เพ้อเจ้อ ไร้ความเพียบพร้อมสมบูรณ์ได้เท่ากับพ่อของอันดรูฮาอีกแล้ว ฉันยังคิดไม่ออก หรือจริงๆแล้วมนุษย์เราแฝงความงี่เง่าไร้สาระไว้ทุกอณูของร่างกาย แต่จำเป็นต้องปกปิดมันไว้ด้วยจารีต ประเพณี ที่ล้อมกรอบทุกคนเอาไว้

มีอยู่ตอนหนึ่งที่สุดเพี้ยนเป็นบทสนทนาระหว่างอันดรูฮาและพ่อ

พ่อถามผมแต่เช้าว่า
“อันเดร ลูกรู้ใช่ไหมว่า คนที่จริงจังกับชีวิตหมายถึงอะไร”
“ไม่รู้ครับ ผมรู้แต่คำว่า “เสื้อกั๊ก” กับ “ที่หยอดจมูก” หมายถึงอะไร”
“ลูกน่ะจมอยู่แต่ในความหม่นหมองของการไม่รู้อะไร” พ่อสังเกต “ลูกจะทำอะไรถ้าลูกโตขึ้น”
“ผมจะทำแว่นตากันแดดครับ” ผมตอบแล้วผิวปาก
“ลูกต้องบอก ไม่ กับเรื่องไร้สาระ” พ่อโพล่งออกมา “แล้วบอก ใช่ กับเรื่องที่ลูกจะรู้จักใช้เวลาให้เป็นประโยชน์”

เป็นบางบทสนทนาที่แอบแฝงแง่คิดขำๆให้กับเรา …ยังมีอีกหลายความประหลาดที่อยากให้ลองอ่านกันดู คืนนี้ฉันคงนอนคุยกับอันดรูฮาต่อเพื่อสานต่อต่อมจินตนาการให้บรรเจิดเลิศเลอต่อไป…

หมาของผมรักดนตรีแจซ ได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งใน IBBY Honour List ปี 1998 ซึ่งเป็นการคัดเลือกหนังสือที่มีคุณค่าเหมาะสมสำหรับพิมพ์เผยแพร่ในระดับนานาชาติ เอากับเขาไหมล่ะ

ขอบคุณผู้แต่งมารีนา มาสควินา และจิตอำไพ เมืองสนธิ์ ผู้แปล

ฉันคิดเอาไว้แล้วว่าหากอยากจะเขียนวรรณกรรมเยาวชนดีๆสักเรื่อง เรื่องนี้คือต้นแบบที่แสนดีเลยล่ะในความคิดของฉัน อย่างแรกที่ต้องทำคือทำลายกรอบบางอย่างในหัวให้พังทลายสักนิดสักหน่อยก่อนก็คงจะดี

ทุกวันนี้หนังสือเล่มนี้ถูกส่งต่อไปอยู่ในมือของเด็กคนไหน หรือห้องสมุดโรงเรียนใด เป็นเรื่องเกินกว่าที่ฉันจะฝันถึงได้ แต่เท่าที่รู้คือ ไม่ว่าจะถูกวางอยู่ในชั้นหนังสือที่ไหน เมื่อใดที่หน้าแรกถูกเปิดอ่าน อันดรูฮา เจ้าปลาวาฬ และทุกคนในครอบครัวจะกลับมามีชีวิตโลดแล่นอยู่ในจินตนาการของผู้อ่านอีกครั้งอย่างแน่นอน!!

Share Button

หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา …เพราะว่า “รัก” จึงเขียนถึง

ฉันหยิบเรื่องหยดน้ำหวานในหยาดน้ำตามาอ่านซ้ำเป็นครั้งที่ 2
ด้วยเพราะคิดว่าชีวิตต่อจากนี้ควรพึงระลึกถึงความไม่แน่ไม่นอนของชีวิตไว้เป็นสรณะ
และแน่นอนฉันคิดอยู่เสมอว่า ในทุกเรื่องราวมีราคาที่ต้องจ่าย จะแพงจะถูกก็อยู่ที่เราเป็นผู้เลือก
เช่นกัน ชีวิตของนักเขียนชาย หญิง คู่นี้ฉายภาพความรักในรูปแบบที่เราคาดเดาไม่ได้ด้วยคำพูด
แต่ทั้งหมดยืนยันอย่างชัดแจ้งที่การกระทำ … เขากระทำต่อกันอย่างคนรักกันด้วยความรู้สึก

ฉันรู้ดีว่า..ต่อให้เรารักกันแค่ไหน วันหนึ่งความตายต้องมาพรากเราออกจากกัน
แน่นอนทั้งคู่คงไม่ได้คิดฝันว่ามันจะเกิดขึ้นรวดเร็วแบบปัจจุบันทันด่วนขนาดนั้น
ในเวลาที่ความสัมพันธ์กำลังลงตัวและสุขงอม…เป็นวันที่คนสองคนกำลังตกลงใจใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันไปจนตาย
มีแต่ความตายเท่านั้นที่แน่นอน มันส่งบทพิสูจน์แสนยากให้นักเขียนสาวที่กำลังใช้ชีวิตเหมือนอยู่ในความฝัน
เช่นเดิม เมื่ออยู่ๆความตายกระชากเธอให้กลับมายืนอยู่ในพื้นที่ของความจริง..เพียงลำพัง
หัวใจก็พลันแตกละเอียดเท่ากับเม็ดทรายกระจัดกระจายลอยฟุ้งไปในอากาศ
กว่าเธอจะตามหาตัวตนเก่าๆกลับมา..ก็ร้องขออ้อนวอนให้วันเวลารีบเดินผ่านไปราวกับไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้น

กว่า 10 ปี ที่อุรุดา โควินทร์ รวบรวมกำลังใจที่มีอยู่เขียนถึงคนรัก กนกพงศ์ สมพงพันธุ์ ในนามของนักเขียนเพื่อนคู่ชีวิตฉันสัมผัสได้ถึงรอยยิ้มกรุ่มกริ้มนั้น จากใบหน้าของกนกพงศ์ในวันที่เขาเจอกันในแบบไม่ตั้งใจกึ่งตั้งใจมันเป็นชั้นเชิงในการเริ่มต้นความสัมพันธ์ที่ดูเลือนลางแต่หากชัดเจนและเป็นไปได้ในทุกถ้อยคำ
หากฉันเป็นหญิงสาวที่ถูกชายหนุ่มปฏิบัติเช่นนั้น .. หัวใจก็คงไขว้เขวไปคนละทิศละทางเช่นกัน

ฉันชอบชีวิตประจำวันอันเรียบง่ายแต่แฝงด้วยความมุ่งมั่นนั้นของทั้งคู่
แม้ว่าชีวิตส่วนใหญ่ของนักเขียนสาวหมดไปกับงานบ้านงานเรือน
แต่ฉันเชื่อว่ามันคือวัตถุดิบชั้นดีของการเติบโต ไม่ว่าจะเป็นการทำกับข้าว เย็บผ้า หรือจัดบ้าน ปลูกต้นไม้
หลายครั้งที่กว่าฉันจะลงมือเขียนงานได้สักชิ้น ก็ต้องเห็นผ้าเต็มตระกร้าถูกซักล้างแล้วปลิวไสวไปตามลมอยู่บนราวตากผ้าเสียก่อน ไหนจะฝุ่นบนโต๊ะทำงาน บนชั้นหนังสือก็ควรจะได้รับการปัดกวาด
ห้องน้ำก็ควรจะสะอาดสะอ้านเพื่อเตรียมต้อนรับทุกคน..หรือแม้แต่ตัวฉันที่รู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่ได้ใช้บริการห้องน้ำที่สะอาด เป็นระเบียบและหอมกรุ่น เช่นกัน กับข้าวกับปลา ขนมหวาน กาแฟต้องพร้อมเมื่อหิว

กว่าจะลงมือเขียนเรื่องสั้นสักเรื่อง บ้านช่องห้องหับต้องเป็นระเบียบเรียบร้อยเสียก่อน หลังจากนั้นจึงถึงเวลานั่งตากลมมองดูผ้าม่านล้อเล่นกับลม สูดกลิ่นหอมอันมีชีวิตชีวาของบ้าน เสร็จสิ้นทั้งหมดที่กล่าวมาก็ถึงพร้อมจัดแจงตระเตรียมอารมณ์และจินตนาการเพื่อขีดเขียนงานดีๆสักชิ้น ..

ใช่.. มีหลายทัศนะของอุรุดาที่ฉันเห็นด้วย .. เช่นเมื่อเธอบอกว่า

“ฉันรักพี่เข้าแล้ว
โดยไม่สนว่าพี่รู้สึกอย่างไร
ความรักเป็นของฉัน ไม่เกี่ยวกับพี่
ความรักอาจเป็นเรื่องของคนสองคน
แต่ความรู้สึก หัวใจเป็นของฉัน”

จริง!! ฉันเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นเต็มเมื่อความรู้สึกของเราเกิดรักใครสักคนขึ้นมาโดยไม่ต้องการรักตอบ
บ่อยครั้งเราพิสูจน์คำรักผ่านการกระทำ กอดที่ให้ความรู้สึกเช่นเดิม จูบที่ตอบสนองไม่น้อยไปจากเดิม
สายตาที่แฝงแรงปรารนาถเท่าเดิม และเรายังสบตากันลึกซึ้งไม่เปลี่ยน ทั้งหมดเราใช้ความรู้วัดความรู้สึกระหว่างกัน…ฉันจะยืนยันว่านี่คือ “ความรัก”

ฉันสัมผัสได้ว่าตลอดสิบปีที่ผ่านอุรุดาต้องต่อสู้กับความทรงจำอันงดงามนั้นมาตลอด และไม่ว่าจะอย่างไร เธอผ่านมันมาจนได้.. เชื่อว่าฉันสัมผัสได้แค่หนึ่งในเศษเสี้ยวของความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับเธอเท่านั้น ..ไม่ได้รู้สึกรู้สาและเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอมากเท่าที่เธอรู้สึกแน่นอน

ฉันหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่านซ้ำด้วยความรู้สึกว่าไม่ว่าความสุขหรือความทุกข์ก็สอนให้เราเติบโตได้เช่นกัน ความสุขจากความรัก ส่งต่อพลังและแรงบันดาลใจมากมายเหลือคณานับ เช่นกัน ความทุกข์จากการพลัดพรากสิ่งอันเป็นที่รัก กลับสร้างคุณูปการแห่งชีวิตอย่างเหลือเชื่อ .. ฉันชอบชั้นเชิงการถ่ายทอดคำของนักเขียนยิ่งนัก มันดูจริงใจและซื่อตรงและฉันเชื่อในทุกคำที่เธอเล่าผ่านในแต่ละบรรทัด เหมือนกับว่าหนังสือเล่มนี้ถูกเขียนไว้ก่อนที่สองคนจะได้เจอกัน

ฉันพูดคำรักอย่างสามัญเพราะไม่มีคำอื่นให้กล่าว
และฉันไม่อาจหาคำใดมาแทนค่าความรู้สึกที่มีต่อรัก อย่างเรียบง่าย
ฉันพอจะขยายความได้, ฉันพร้อมร่วมชะตากรรมกับพี่
ฉันทำให้เห็นทุกเมื่อเชื่อวันว่าความรักของฉันไม่ใช่การแตะต้องสัมผัส
คำหวาน หรือการเอาใจ
แต่มันคือการยืดหยัดข้างพี่ ไม่ว่าพี่จะเป็นอย่างไร
และไม่ว่าจะเกิดอะไรกับเรา

ใช่..ฉันหลงรักถ้อยคำเหล่านี้ ฉันหลงรักบ้านในเขียว อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมชาติ .. หลงรักยอดเขาพรหมโลก หลงรักแกงเลียง แกงเหลือง ผัดผัดกูด ยอดแหมะ น้ำพริกกระปิ เพียงเสี้ยวหนึ่งของเมนูอาหารที่มีเรียกน้ำลายได้อย่างมากมายในหนังสือ แค่อ่านกรรมวิธีการทำ ก็เหมือนได้ลิ้มรสในทุกเมนูที่กล่าวมาและแอบกลืนน้ำลายดังเอือกแบบไม่รู้ตัว

สุดท้าย ประโยคที่ฉันว่าจริงที่สุดในหนังสือเล่มนี้เป็นคำพูดของกนกพงศ์ ที่กล่าวโดยอุรุดา ที่ว่า

“กองไฟก็เหมือนชีวิต ตรงที่มันต้องการอากาศและที่ว่าง”

“ความรักก็เช่นกัน” ฉันกล่าวปิดท้ายประโยคก่อนพยักหน้าเห็นด้วยโดยไม่มีข้อกังขาใด

ไม่ว่าความรักแบบไหน …ก็อยากให้ทุกคนได้ลองรักใครสักคนดู จะสมหวังหรือผิดหวังก็ขอให้คิดเสียว่า
เป็นเพียงแค่ช่วงเวลาดีๆที่ผ่านเข้ามาในชีวิตหนึ่ง..ก็เท่านั้น

Share Button

“ลิตเติ้ลทรี” วรรณกรรมเยาวชนชนเผ่าเชโรกี หากเราไม่อยากให้จิตวิญญาณหดเล็กเท่า…ฮิคกอรี่นัท

“ย่าบอกว่า ถ้าเราใช้จิตวิญญาณไปในทางโลภโมโทสันหรือเลวทราม ถ้าเราชอบทำร้ายผู้อื่นอยู่เสมอ และมัวแต่คิดหาผลประโยชน์ทางวัตถุ…จิตวิญญาณของเราจะหดเล็กลงเหลือเท่าขนาดเท่าฮิคกอรี่นัท”

“ย่าบอกว่า เรารู้ได้ไม่ยากว่าใครเป็นคนตาย…เมื่อเขามองผู้หญิง เขาไม่เห็นอะไรนอกจากคิดสกปรก เมื่อมองต้นไม้ เขาไม่เห็นอะไรนอกจากไม้ซุงและผลกำไรมิใช่ความงาม ย่าบอกว่า พวกนี้แหละคือคนตายที่ยังเดินอยู่ทั่ว ๆ ไป”

“ย่าว่า จิตวิญญาณเปรียบเหมือนกล้ามเนื้อ…ถ้าเรายิ่งใช้มัน มันก็จะใหญ่ขึ้น แข็งแรงขึ้น ย่าบอกว่าทางเดียวที่จะเป็นอย่างนี้ได้ ก็โดยใช้จิตวิญญาณในการทำความเข้าใจ”

“ย่าว่าโดยธรรมชาติแล้ว ความเข้าใจกับความรักเป็นสิ่งเดียวกัน ผมจึงเข้าใจว่า ผมจะต้องเริ่มพยายามเข้าใจทุกคนอย่างจริงจัง เพราะแน่นอนว่า ผมไม่อยากให้จิตวิญญาณเหลือเท่าฮิคกอรี่นัท”

เหมือนจะรู้ว่าฉันได้อ่านถ้อยความบนปกหลังของหนังสือเล่มสีเขียวโทนต้นไม้นั่นจบลงแล้ว หลานสาววัย 11 ขวบ ที่แอบมายืนอยู่ข้าง ๆ ได้สักพักจึงถามขึ้น “อา…เลือกหนังสือได้บ้างหรือยังคะ อย่าลืมเลือกให้หนูด้วยนะ” หลานสาวตัวสูงเอียงคอถาม ซึ่งเกือบทุกครั้งที่เรามาร้านหนังสือมือสองด้วยกัน เธอมักจะบอกกับฉันแบบนี้เสมอ

ฉันส่งยิ้มให้หลานสาวพร้อมกับมองไปที่มือน้อย ๆ ของเธอ เห็นหนังสือกึ่งเก่ากึ่งใหม่อยู่ในมือเธอแล้วประมาณ 2-3 เล่ม “เอ…อาก็เห็นหนูเลือกได้ตั้งหลายเล่มแล้วนี่นา” ฉันแอบเย้า ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วฉันเองก็ได้แอบเลือกหนังสือไว้ให้เธอเหมือนทุกครั้งที่เราเข้าร้านหนังสือด้วยกัน “แหะ ๆ หนังสือที่หนูเลือกเองอ่านไม่สนุกเท่ากับหนังสือที่อาเลือกให้น่ะค่ะ” หลานสาวส่งยิ้มเขิน ๆ ให้ ก่อนจะขอตัวเดินไปดูหนังสือที่อยู่ด้านในต่อ

“ลิตเติ้ลทรี” วรรณกรรมเยาวชนชนเผ่าเชโรกี คือเล่มที่ฉันตั้งใจเลือกให้เธอ…และเป็นหนังสือที่ฉันเคยอ่านเมื่อประมาณสิบกว่าปีที่แล้ว ครั้งนั้นฉันได้ซื้อหนังสือเล่มนี้ในร้านหนังสือยอดนิยมแห่งหนึ่วในห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ ด้วยเพราะประทับใจในเนื้อหาที่อยู่หลังปกหนังสือ และเมื่อได้อ่านแล้วก็รู้สึกประทับใจถ้อยความเนื้อหาด้านใน ที่บรรจุเรื่องราวคล้ายกับตัวละครทุกตัวมีชีวิตอยู่จริง ขณะที่อ่าน ฉันสัมผัสได้ถึงสายลมป่าบางเบากระทบใบหน้า เสียงไหลรินของลำธารที่มาจากภูเขา ความประทับใจที่มีต่อปู่และย่าแห่งสายเลือดเชโรกี จนพาลคิดไปว่า อยากเป็นเด็กน้อย “ลิตเติ้ลทรี” คนนั้น และฉันมักจะหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่านเสมอทุกครั้งที่คิดถึง “ลิตเติ้ลทรี”

แต่เมื่อมีเหตุให้ต้องย้ายที่อยู่หลายต่อหลายครั้ง ก็ทำให้หนังสือเล่มนี้หายไป แต่ก็ยังคงเป็นหนังสือเล่มโปรดอีกหนึ่งเล่มในชีวิต ที่ยังคงประทับใจ และมุ่งหวังอยากให้คนที่ฉันรักทุกคนได้มีโอกาสอ่านหนังสือเล่มนี้ ฉันเชื่อว่า เรื่องราวและถ้อยความดี ๆ ในหนังสือเล่มนี้ จะทำให้พวกเขาเกิดความซาบซึ้ง มีความสุข และอยากดูแลจิตวิญญาณของตัวเองให้ดียิ่งขึ้น เพราะกลัวว่ามันจะหดเล็กเท่าฮิคกอรี่นัท…

ครานั้นฉันเป็นเพียงเด็กวัยรุ่นต่างจังหวัดที่อยากเข้าไปใช้ชีวิตในเมืองหลวง เมืองศิวิไลซ์ เมืองแห่งความฝันของหลายคนอย่างกรุงเทพมหานคร ระหว่างที่ทำงานที่นั่น ฉันได้พบเจอผู้คนมากมาย ทั้งคนดี คนไม่ดี คนเห็นแก่ตัว คนโกหก หลอกลวง คนที่ชอบหักหลัง เจ้านายที่ชอบเอาหน้า คนที่จนมาก ๆ และมีโอกาสได้เข้าไปใกล้ชิดคนที่รวยมาก ๆ และกลุ่มคนที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในสังคม กลุ่มคนที่ได้รับอภิสิทธิ์เหนือกว่าคนทั่วไป ความเหลื่อมล้ำต่าง ๆ และชะตากรรมของผู้คนที่ต้อยต่ำ ที่ถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันเหล่านี้ที่ฉันได้เห็นมันอย่างใกล้ชิด ทำให้ฉันรู้สึกเจ็บปวดจนถึงขั้นก่นด่าโชคชะตาชีวิต ซึ่งไม่ใช่แค่โชคชะตาของคนที่ดูต่ำต้อยด้อยค่าเท่านั้น แม้แต่โชคชะตาของตัวฉันเอง ก็ยังไม่อยากยอมรับมัน เพราะหลายครั้ง ฉันก็เป็นคนที่เผลอเหยียดคนอื่นเสียเอง

จนกระทั่งมีหนังสือเล่มหนึ่ง ที่ช่วยให้ฉันเข้าใจ “โลก” เข้าใจ “มนุษย์” เข้าใจ “ตัวเอง” และเข้าใจแก่นสำคัญของการที่ว่า “มนุษย์เราทุกคนควรดูแลจิตวิญญาณของตัวเอง” ทำให้ฉันมองโลกและใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขมากขึ้น หนังสือเล่มนั้นก็คือ “ลิตเติ้ลทรี” (The Education of Little Tree) ผลงานการเขียนของ “ฟอเรสต์ คาเตอร์” และแปลโดย “กรรณิการ์ กรมเสาร์” จากบทนำของเรื่องได้เล่าว่า “ลิตเติ้ลทรี” เป็นวรรณกรรมที่เล่าขานชะตากรรมของชนเผ่าเชโรกี อันเป็นชนกลุ่มน้อยในอเมริกา ซึ่งถูกรุกรานโดยคนผิวขาวซึ่งยุคนั้นคนขาวมีวิธีคิดแบบ “อัตนิยม” หรือ “ความถูกต้องมีเพียงหนึ่งเดียว” และตัดสินคนอื่นที่แตกต่างไปจากตนว่า เลวร้าย โง่งม นอกรีต ฉะนั้น จงเชื่อฟังและเดินตามอย่างเชื่อง ๆ แล้วท่านจะเจริญเหมือนพวกเรา…นี่คือชะตากรรมของผู้ต่ำต้อยซึ่งปรากฎให้เห็นทั่วโลก แม้แต่ในเมืองไทยของเราเองก็มีให้เห็นกันอยู่มาก ชนกลุ่มน้อยหลายเผ่าพันธุ์หรือแม้แต่คนจน ก็ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม ราวกับว่าไม่ใช่มนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเสมอภาคกัน…นี่คือถ้อยความง่ายงามที่กระจายดั่งนกโบยบินอย่างอิสระเสรีในหนังสือที่ชื่อ “ลิตเติ้ลทรี”

“ลิตเติ้ลทรี” บอกเล่าถึงความรัก ความผูกพันที่อบอุ่นระหว่าง มนุษย์ สัตว์ ต้นไม้ ธรรมชาติ และบอกเล่าถึงโศกนาฎกรรมชะตาชีวิตอันชวนสลดหดหู่ และยังวิจารณ์สังคมด้วยอารมณ์ขันขื่น ถ้อยความใน “ลิตเติ้ลทรี” ยังสอนเราทางอ้อมอีกว่า มนุษย์ทุกคนควรลดความหยิ่งลำพองของตนลงเสีย และกลับมาทบทวนตัวตนเสียใหม่ ว่าเราไม่ใช่เราเท่านั้น แต่เราคือนก แม่น้ำ ป่าไม้ ทั้งหมดนี้เป็นเราแม้จะไม่ได้อยู่ในตัวเรา เพราะเมื่อเราเห็นเช่นนี้แล้ว เราย่อมจะไม่ทำลายสิ่งอื่น เช่นเดียวกับที่เราไม่ทำร้ายตัวเราเอง

ชีวิตของ “ลิตเติ้ลทรี” สายเลือดแห่งชนเผ่าเชโรกีเริ่มต้นขึ้น เมื่อเด็กชายวัย 5 ขวบต้องเสียพ่อกับแม่ไปอย่างไม่มีวันกลับ และบรรดาญาติพี่น้องก็ได้พากันขบคิดว่าเด็กชายจะไปอยู่กับญาติคนไหนดี ดูเหมือนจะไม่มีใครอยากรับเขาไปเลี้ยง พวกเขาสนใจแต่ข้าวของที่บ้านของเด็กชายที่กำลังแย่งกันเอากลับไปเป็นของตัวเองเท่านั้น และท้ายที่สุดแล้ว เด็กชายตัวน้อยก็ได้ไปอยู่กับปู่ที่เป็นลูกครึ่งเชโรกี และย่าที่มีสายเลือดเชโรกีเต็มตัว ในกระท่อมเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่กลางป่า มีลำธารสายเล็กที่น้ำไหลลงมาจากภูเขา เนื้อหาค่อย ๆ เล่าถึงชีวิตของเด็กชายวัย 5 ขวบนับจากที่ได้มาอยู่ในอ้อมกอดของปู่และย่า ตั้งแต่วิถีชีวิตประจำวัน การทบทวนถึงรากเหง้าของตัวเอง เล่าถึงความผูกพันที่มนุษย์มีต่อธรรมชาติ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม การยอมรับและรู้ที่มาที่ไปของชาติกำเนิดตัวเอง หรือแม้กระทั่งวิธีการทำงานของเชโรกีที่ต้องติดต่อกับคนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่คนเผ่าพันธุ์เดียวกัน เรื่องราวเหล่านี้ทำให้ฉันวาง “ลิตเติ้ลทรี” แทบไม่ลง และหยิบมาอ่านซ้ำอีกหลายครั้งเมื่อคิดถึงย่า ปู่ และลิตเติ้ลทรี

อ่านทุกครั้งก็ตอกย้ำให้ฉันได้เห็นตัวเองมากขึ้น และคอยเตือนตัวเองว่าควรรักษาจิตวิญญาณของตนเอาไว้ให้ดี มีสติที่จะไม่โลภโมโทสัน ทำเรื่องเลวทราม ทำร้ายผู้อื่น และมัวแต่คิดหาผลประโยชน์ทางวัตถุ เพราะย่าของลิตเติ้ลทรีบอกว่า ถ้าเราเป็นคนอย่างนั้น…จิตวิญญาณของเราจะหดเล็กลงเหลือเท่าขนาดเท่าฮิคกอรี่นัท.

และเมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้ทุกครั้ง ฉันก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมฉันต้องอยากมาใช้ชีวิตที่เมืองใหญ่แห่งนี้ เมืองที่เต็มไปด้วยผู้คนแปลกหน้า ตึกรามบ้านช่องที่บดบังท้องฟ้า ดวงดาว ต้นไม้ใบหญ้าก็ยากที่จะได้เห็น อยากเห็นต้องไปที่สวนสาธารณะ อะไรอย่างนั้น ทั้ง ๆ ที่ ๆ ฉันเกิดมา มีทั้งป่าไม้ แม่น้ำ ลำธาร ธรรมชาติ และที่สำคัญมีครอบครัวที่ยังรักและรอวันที่ฉันกลับไปอยู่เสมอ นอกจากนั้น “ลิตเติ้ลทรี” ยังทำให้เราคิดถึงครอบครัว คิดถึงชาติกำเนิด คิดถึงบ้าน ซึ่งก็คือ “บ้านของเรา” จริง ๆ คิดถึงตัวตนที่แท้จริงของตัวเราเอง มองเห็นความสุขที่แท้จริงที่อยู่เหนือไปจากเรื่องวัตถุ และเงินทอง…ว่าแท้จริงแล้วความสุขของคนเราควรมาจากข้างใน และการมีใครสักคนที่รักและเข้าใจ อย่างนั้นมิใช่หรือ

บางส่วนบางตอนของบทที่อ่านแล้วชอบมากที่สุดอีกบทหนึ่งใน “ลิตเติ้ลทรี” คือในบท “วิลโลว์จอห์น” โดยเฉพาะเพลงในหน้าสุดท้ายของบทนี้ ที่ฉันอ่านแล้วต้องน้ำตาไหลทุกครั้ง เนื้อหาเพลงนั้นกล่าวไว้ว่า…

“ท่านจะไปกับฉันหรือเปล่า วิลโลว์จอห์น ไม่ไกลหรอก
หนึ่งหรือสองปี เท่าที่ท่านมีเวลา
เราจะไม่พูดคุยกัน ไม่บอกเล่าถึงความขมขื่นอันยาวนาน
อาจหัวเราะเป็นบางครั้ง หรืออาจหาเหตุผลสักข้อเพื่อร้องไห้
หรือบางสิ่งที่เราสูญเสียไป เราอาจค้นพบ
ท่านจะนั่งลงคุยกับฉันสักครู่ได้ไหม วิลโลว์จอห์น ไม่นานหรอก
เพียงนาทีเดียว หรือตามแต่เวลาที่ท่านมี
แค่มองหน้า เราต่างก็รู้ใจและเข้าใจความรู้สึกของกันและกัน
เพื่อว่าเมื่อเราจากกันไป เราจะอุ่นใจว่าเราต่างเห็นคุณค่าของกันและกัน
อย่ารีบไปได้ไหม วิลโลว์จอห์น? เพื่อเห็นแก่ฉัน
ความอ้อยอิ่งอาวรณ์จะช่วยปลอบโยนใจ
ความทรงจำจะช่วยระงับน้ำตามิให้รินไหล
เมื่อครุ่นคะนึงถึงท่าน ในห้วงปีที่เราจากกัน
คงช่วยบรรเทาใจเจ็บปวดซึ่งร่ำร้องถวิลหา…

และตอนนี้ฉันก็ได้หยิบ “ลิตเติ้ลทรี” ใส่ตะกร้ารวมกับหนังสือเล่มอื่น ๆ ไว้ให้กับหลานสาวตัวน้อยเรียบร้อยแล้ว…

ชื่อหนังสือ : ลิตเติ้ลทรี (The Education of Little Tree)
ผู้เขียน : ฟอเรสต์ คาเตอร์
ผู้แปล : กรรณิการ์ กรมเสาร์
สำนักพิมพ์ : มูลนิธิโกมลคีมทอง
พิมพ์ครั้งที่ 4

Share Button

“บ้านเล็กริมห้วย” (On the Banks of Plum Creek) หนังสือชุดบ้านเล็ก (เล่ม 4) โดย “ลอร่า อิลกัลส์ล ไวล์เดอร์” วรรณกรรมเยาวชนสุดคลาสสิก Best Of The World

“บ้านแบบไหน ที่ทำให้ผู้อยู่มีความสุข”

ฉันก็คงเหมือนกับอีกหลาย ๆ คน ที่เคยเฝ้าฝันอยากมีบ้านหลังใหญ่ ๆ สวยงาม บนเนื้อที่กว้างขวาง มีสนามหญ้าสีเขียว ปลูกดอกไม้นานาพรรณ มีต้นไม้น้อยใหญ่คอยให้ร่มเงาร่มรื่น และเต็มไปด้วยความสะดวกสบาย ในขณะที่อีกหลายคนก็ฝันอยากมีบ้านในฝันที่อาจเหมือนและแตกต่างกันกับฉัน เพราะเราเชื่อว่า ถ้าเราได้มีบ้านในฝัน เราจะมีความสุข ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้ว…หากเราได้อยู่ภายใต้ร่มเงาของบ้านแบบนั้นจริง ๆ เราจะมีความสุขจริงมั้ย?

เพราะ “ความสุขของใจ” อาจไม่ใช่เพราะการได้อยู่ “บ้าน” แบบที่เราฝันก็เป็นได้..

“บ้าน” คือวิมานของคนแทบทุกคน ทุกชนชั้น เรารู้สึกปลอดภัย สบายใจ เป็นตัวของตัวเอง หลับได้เต็มตื่น กิน เล่น นอน เกลือกกลิ้ง และจะทำอะไรก็ได้เมื่อได้อยู่ในบ้านของตัวเอง ไม่ว่าเราจะออกไปเผชิญชีวิตข้างนอกมาแค่ไหน ไปท่องเที่ยวมาแล้วรอบโลก แต่ “บ้าน” ก็ยังเป็นสถานที่ที่เราคิดถึงและอยากกลับไปซบไออุ่นอยู่เสมอ

แต่ไม่ว่าจะค้นหาความสุขจากการ “มีบ้านแบบไหน” หรือ “บ้านแบบไหน” ที่จะทำให้ฉันมีความสุขได้นั้น เอาเข้าจริง ๆ แล้ว ฉันก็ไม่อาจหาคำตอบในเรื่องนี้ได้อยู่ดี จนกระทั่ง…วันหนึ่ง เมื่อฉันได้อ่านวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง “บ้านเล็กริมห้วย” หรือ “On the Banks of Plum Creek” มันก็ทำให้ฉันได้เปลี่ยนมุมมองความคิด และได้เข้าใจมากขึ้นว่า “ความหมายของบ้านที่ทำให้เรามีความสุข” ได้นั้น แท้จริงแล้วไม่ใช่เพราะขนาดของตัวบ้าน หรือบ้านต้องสวยหรูดูดีมากแค่ไหน มีสิ่งอำนวยความสะดวกอะไรบ้างอยู่ในนั้น ฯล หากแต่ความสุขของการได้อยู่บ้านหลังนี้ มันขึ้นอยู่กับองค์ประกอบต่าง ๆ ที่เมื่อรวมกันแล้วเราเรียกว่า “บ้าน” นั่นต่างหากล่ะ และองค์ประกอบที่ว่านั้นก็คือ “ความรัก ความผูกพัน ความอบอุ่น ความเห็นอกเห็นใจกันและกันของคนในครอบครัว” ที่ประกอบไปด้วย พ่อ แม่ พี่น้อง…

เหมือนบ้านหลังเล็กที่ “ลอร่า” ตัวละครหลักในเรื่องนี้มีนั่นเอง

“บ้านเล็กริมห้วย” เป็นวรรณกรรมเยาวชนในชุดบ้านเล็กลําดับที่ 4 และเป็น 1 ใน วรรณกรรม 50 เรื่องที่ต้องอ่านก่อนโต ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมและประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม และกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผลงานสุดคลาสสิคของผู้เขียน “ลอร่า อิงกัลล์ส ไวล์เดอร์” ที่ยังคงได้รับความนิยมมาจนถึงทุกวันนี้ ผู้เขียนได้เล่าถึงชีวิตในวัยเด็กที่แสนสุขของเธอ ในช่วงที่ได้อาศัยอยู่ในบ้านหลังเล็ก ๆ ริมห้วยร่วมกับครอบครัว “บ้านเล็กริมห้วย” ของเธอ เป็นบ้านที่มีเพื่อนบ้านเป็นธรรมชาติอันกว้างใหญ่ไพศาล ทั้งป่าไม้ ทุ่งหญ้า แม่น้ำ สัตว์ต่าง ๆ ที่อยู่รอบ ๆ บ้าน ซึ่งเรื่องราวในเล่มนี้ ลอร่าได้เล่าถึงความยากแค้นแสนเข็นของครอบครัวเธอที่มีต่อการเพาะปลูกที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานเป็นเวลาถึง 2 ปี หลังจากอพยพมาอยู่ที่ “มินเนโซตา” ซึ่งจากความแร้นแค้นในครั้งนี้ ทำให้พ่อของเธอตัดสินใจพาครอบครัวย้ายไปอยู่ต่างแดนอีกครั้ง ซึ่งดินแดนแห่งใหม่นั้นเอง เป็นที่ ๆ พวกเขาต้องเผชิญกับชะตากรรมอีกหลายอย่าง ทั้งต้องดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด การต้องและต้องอยู่กับธรรมชาติด้วยความเข้าใจและเป็นหนึ่งเดียว การผจญภัยของลอร่าและน้อง ๆ ของเธอ ปัญหาที่ต้องแก้ไขไม่เว้นแต่วัน แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้น พวกเขาผ่านมันไปได้ด้วยความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจ ความรักของทุกคนภายในครอบครัว ซึ่งนอกจากการได้เห็นวิถีชีวิตของครอบครัว “อิงกัลส์ล” แล้ว เนื้อหาในเรื่องยังซ่อนกลิ่นอายของประวัติศาสตร์และสังคมประจำวันของอเมริกาในยุคนั้นไว้เป็นอย่างดีอีกด้วย

อ่านชีวิตของครอบครัว “ลอร่า” แล้ว ทำให้ต้องทบทวนถึงชีวิตที่ผ่านของตัวเอง… และแน่นอนว่า มันทำให้ฉันคิดถึงบ้าน…

“บ้านหลังใหญ่” อาจไม่ได้มอบความสุขให้กับเรา ถ้าบ้านหลังนั้นขาดความรัก ความอบอุ่น ความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันของสมาชิกภายในบ้าน และที่ฉันประทับใจวรรณกรรมเล่มนี้อีกอย่างก็คือ วิธีการสอนลูก ๆ ของ “ชาร์ลส์” พ่อของลอร่า ที่สอนให้ลูก ๆ ได้มองเห็นความจริงและยอมรับมัน มากกว่าที่จะต้องคอยโกหกเพื่อให้เรื่องจบ ๆ ไป อย่างตอนที่พ่อได้ตัดสินใจใช้ม้าพันธุ์มัสแต็ง 2 ตัว “เพ็ต” และ “แพ็ตตี้” ที่ผูกพันและอยู่กับครอบครัวมานานหลายปี แลกกับที่ดินของ “มิสเตอร์แฮนสัน” ฉากนั้นได้เล่าว่า พอลอร่าได้รู้ก็รู้สึกเสียใจมาก เพราะรักและผูกพันม้าทั้งสองตัว ไม่อยากสูญเสียมันไป แต่เธอก็รู้ว่าไม่สามารถรั้งมันไว้ได้ และเธอก็ไม่ควรร้องไห้เพราะตอนนี้อายุ 7 ขวบแล้ว ลอร่าได้ถามพ่อว่า

“พ่อจ๊ะ นี่พ่อต้องให้เพ็ตกับแพ็ตตี้ไปจริง ๆ เหรอจ๊ะ พ่อให้เขาไปจริง ๆ เหรอจ๊ะ” ซึ่งผู้เป็นพ่อก็ได้ตอบกลับมาว่า “เพ็ตกับแพ็ตตี้ชอบท่องเที่ยว มันเป็นม้าอินเดียนแดงนี่ลอร่า จะให้มันไถนาก็ไม่ไหว เป็นงานหนักเกินกำลังของมัน ถ้ามันได้เดินทางไปในทิศตะวันตก มันก็จะสนุกสบายมากกว่านี้ หนูคงไม่อยากเอามันไว้ที่นี่ ให้มันตายไปกับคันไถหรอกนะ”

ซึ่งนั่นหมายถึงว่า วิธีการปลอบประโลมที่มีทั้งคำอธิบายและคำตอบอยู่ในนั้นของผู้เป็นพ่อ ได้ให้ลอร่าได้มองกว้างออกไปนอกจากคิดถึงเรื่องการสูญเสีย คือการได้เห็นความสุขของผู้อื่น หาใช่ความสุขของตัวเราเองที่ได้ครอบครองมัน

หรือบรรยากาศการสร้างความสุขเล็ก ๆ แต่มีคุณค่าต่อจิตใจเป็นอย่างยิ่งภายในครอบครัว ที่แสดงให้เห็นว่า ผู้เป็นพ่อได้ซ่อนคำสอนเรื่อง “ความสุขและความพอใจต่อบ้านของเรา” เอาไว้ในนั้น อาทิ ฉากหลังอาหารค่ำ หลังจากจุดตะเกียงให้แสงสว่างแล้ว พ่อก็จะหยิบซอออกมาจากหีบ และขึ้นสายอย่างไพเราะ แล้วก็เริ่มบรรเลงเพลง “เมื่อจอห์นนี่เดินกลับบ้าน” ต่อด้วยเพลง “สาวน้อยแสนหวาน, สาวน้อยคนสวย, สาวคนที่ฉันทิ้งไป, บ้านเคนทักกีเก่าแก่ของฉัน” และ “แม่น้ำสวานี่” ซึ่งทุกคนในครอบครัว อันมีแม่, ลอร่า และแมรี่น้องสาวก็ช่วยกันร้องเพลงประสานเสียงไปด้วยกัน หรือแม้กระทั่งน้องชายคนเล็กที่ยังแบเบาะก็เหมือนจะฟังรู้เรื่อง ซึ่งท่อนหนึ่งในบทเพลงนั้น พ่อได้ร้องว่า…

“แม้นเราจักท่องผ่านปราสาทราชวัง
และที่เพลินตาเพลินใจ
แต่ก็แสนชื่นใจว่า ไม่มีที่ไหนเหมือนบ้านของเรา”

ฉันอ่าน “บ้านเล็กริมห้วย” จบเพียง 1 ครั้งเท่านั้น แต่ทว่า..ใจที่อยากกลับไปหาครอบครัวที่อยู่ในชนบทนั้นเกิดขึ้นทันที และมันก็เป็นแรงบันดาลใจให้ฉันตั้งใจเอาไว้ว่า เร็ว ๆ นี้ฉันจะต้องกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิด บ้านที่อยู่ในชนบทเล็ก ๆ บ้านที่หลังบ้านติดทุ่งนาและป่าใหญ่ บ้านที่ยังมี พ่อ แม่ พี่ น้องอยู่กันพร้อมหน้า ฉันคงมีความสุขเหมือนที่ลอร่าและครอบครัวของเธอมีเช่นกัน… เพราะเมื่อฉันได้รู้ความหมายที่แท้จริงของคำว่า “บ้าน” แล้ว ฉันกลับไม่เคยนึกภาพบ้านหลังใหญ่ ๆ สวยงาม บริเวณกว้างขวาง บ้านที่เป็นเหมือนบ้านในฝันหลังนั้นอีกเลย

“ก้อนเมฆนั้นตกลงมาเป็นฝนตั๊กแตน มันมากันเป็นกลุ่ม ถึงกับบดบังดวงอาทิตย์จนแดดมืด เสียงปีกของมันดังซู่ ๆ อยู่ในอากาศ มันหล่นลงมากระทบพื้นดินและตัวบ้าน ดังเหมือนลูกเห็บตก…”

ชื่อหนังสือ : บ้านเล็กริมห้วย (On the Banks of Plum Creek)
(หนังสือชุดบ้านเล็ก เล่ม 4)
ผู้เขียน : ลอร่า อิงกัลส์ล ไวล์เดอร์
ผู้แปล : สุคนธรส
สำนักพิมพ์ : แพรวเยาวชน

Share Button

“ดวงตากระต่าย” (A RABBIT ’S EYES) โดย “เคนจิโร่ ไฮทานิ” วรรณกรรมเยาวชนติดอันดับขายดีของประเทศญี่ปุ่น “มนุษย์เราควรมีความเมตตาปราณีต่อผู้อื่นเป็นสิ่งหนึ่งของชีวิต”

ไม่น่าเชื่อว่า หนังสือที่เขียนขึ้นตั้งแต่ตอนที่ฉันยังไม่เกิดเล่มนี้ จะสะท้อนความจริงของชีวิตมนุษย์ ทั้งทางด้านพฤติกรรม ด้านสังคม รวมถึงความจริงที่ซ่อนอยู่อย่างไม่มิดชิดของโลกใบนี้ได้เป็นอย่างดี และยังเป็นเรื่องราวที่มีเนื้อหาหลากรสชาติ ทั้งสนุก สลดหดหู่ ซาบซึ้ง กินใจ ประทับใจ แม้ว่าจะเป็นหนังสือที่ผู้เขียนได้ตีพิมพ์ออกมาตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2517 ก่อนที่ฉันจะเกิดถึง 2 ปีเลยก็ตาม

ก่อนหน้านั้น ฉันเคยมองเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกอย่างไร ขอตอบด้วยความกระดากใจอยู่ไม่น้อย ว่ามันค่อนข้างตื้นเขิน และออกไปในทางโง่เขลาเบาปัญญา ไม่ค่อยใส่ใจความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่นด้วยเพราะคิดว่า “เขาไม่ใช่เรา” คงเพราะความอ่อนเยาว์ด้วยวันวัยส่วนหนึ่ง ด้วยประสบการณ์ชีวิตอีกส่วนหนึ่ง และการได้บังเอิญเจอหนังสือเล่มเก่าเก็บในลังกระดาษเก่า ๆ ที่ไม่เคยเปิดมาแล้วหลายปีของพี่ชายคนโต ที่ชื่อ “ดวงตากระต่าย” เล่มนี้ มันก็ไม่ได้ถึงขั้นทำให้ฉันบรรลุเรื่องการมองคน มองโลก หรือขัดเกลาจิตใจฉันได้ถึงขนาดกลายเป็นคนดีเลิศประเสิรฐศรีเหมือนพลิกฝ่ามือหรอกนะ หากแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันช่วยให้ฉันได้เข้าใจว่า “ชีวิตคนอื่นไม่เหมือนเรา และชีวิตเราก็ไม่เหมือนคนอื่น เพราะฉะนั้นเราต้องยอมรับว่าโลกก็เป็นอย่างนี้แหละ มีความหลากหลาย และบนความหลากหลายนั้นก็มีความเหลื่อมล้ำ มีคนที่ถูกด้อยโอกาส คนถูกทอดทิ้ง คนที่ถูกสังคมรังเกียจ และหน้าที่ของเราที่พึงมีต่อเพื่อนมนุษย์คือ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมมันดีขึ้นได้อย่างไร”

นับจากนั้นมันทำให้ฉันพยายามมองผู้อื่นโดยไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้งมากเกินไป หรือใช้ตัวเองเป็นบรรทัดฐานอย่างที่เคยเป็น…

นั่นเพราะเรื่องราวใน “ดวงตากระต่าย” ที่ดำเนินเรื่องโดยสองตัวละครหลักอย่างครูสาว “โคทานิ อะเกมิ” ที่เพิ่งผ่านพิธีแต่งงานมาได้ประมาณ 10 วัน และเพิ่งสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมาสด ๆ ร้อน ๆ ลูกสาวของแพทย์ที่เคยใช้ชีวิตบอบบางอย่างคุณหนู ต้องมาเจอกับเด็กนักเรียนชายตัวเล็ก ๆ ที่ชื่อ “เท็จโซ” ผู้มีฐานะยากจน มีบ้านอยู่ใกล้กับโรงขจัดขยะมูลฝอยที่ตั้งอยู่ข้าง ๆ โรงเรียน เป็นผู้ด้อยโอกาสทางสังคม และผู้ซึ่งถูกรังเกียจและรังแกอยู่บ่อยครั้ง ที่น่าหดหู่ใจกว่านั้นก็คือ “เท็จโซ” ไม่มีเพื่อนสนิทเลยแม้แต่คนเดียว เพราะทุกคนล้วนคิดว่า “เท็จโซ” เป็นเด็กนิสัยประหลาด ไม่เข้าพวก ชอบใช้ความรุนแรง คบไม่ได้ มีความเป็นอยู่อย่างซ่อมซ่อ จน สกปรก อยู่บ้านขยะน่ารังเกียจ ในทีแรก “อะเกมิ” ไม่เข้าใจพฤติกรรมของเท็จโซเลยแม้แต่น้อย กลับมีความรู้สึกหวาดกลัวและไม่อยากสุงสิงเหมือนที่คนอื่น ๆ ทำกับเด็กน้อย แต่แล้ววันหนึ่งเมื่อ “อะเกมิ” ได้ใกล้ชิดและรู้ความจริง ว่า “เท็จโซ” เป็นเด็กที่มีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร ความซ่อมซ่อที่อยู่ภายนอกนั้น ช่างตรงกันข้ามกับสิ่งที่อยู่ในหัวใจดีงามของเด็กน้อยยิ่งนัก นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ครูสาวมีความมุ่งมั่นที่จะได้หัวใจอันเปี่ยมรักและเมตตาของเด็กนักเรียนตัวน้อยผู้น่าสงสารมาครอบครอง ส่วน “เท็จโซ” นั้น เขาหวังได้เป็นมนุษย์ที่มีการพัฒนาพร้อมทั้งกายและใจ ใช้ชีวิตอย่างคนอื่น ๆ ทั่วไปในสังคม ที่สามารถข้ามผ่านทั้งเรื่องราวทุกข์และสุขได้ และสามารถคบหามนุษย์ด้วยกันเป็นเพื่อนได้

เรื่องราวชีวิตของครูสาวและเด็กชายตัวน้อยดำเนินไปในแต่ละวัน รวมทั้งหมด 26 บททดสอบ ตัวละครทุกตัวในเรื่องล้วนผ่านบททดสอบของชีวิต และได้เรียนรู้ชีวิตของคนอื่น ๆ ที่แตกต่างจากตนไปในขณะเดียวกัน ซึ่งมันไม่ใช่แค่บททดสอบที่เด็กชายตัวน้อยอย่าง “เท็จโซ” ต้องเจอ เพื่อที่จะก้าวไปเป็นผู้ใหญ่อย่างสมบูรณ์เท่านั้น หากแต่มันทำให้ครูสาวอย่าง “อะเกมิ” ได้เรียนรู้ชีวิต ความรู้สึกนึกคิด ความเป็นอยู่ ของคนที่ด้อยกว่าตนในทุกด้าน ทั้งฐานะและการยอมรับนับถือของสังคม หากแต่กลับเป็นผู้มีหัวใจยิ่งใหญ่ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และก้าวข้ามเรื่องราวร้าย ๆ ในชีวิตมาแล้วมากมาย อาทิ “ตาเฒ่าบั๊ก” คุณตาของ “เท็จโซ”
ฉันชอบหลายประโยคที่ “ตาเฒ่าบั๊ก” คุณตาของ “เท็จโซ” ผู้ซึ่งผ่านชีวิตที่เลวร้ายและการถูกทรมานเจือนตายมาแล้ว ได้พูดกับ “อะเกมิ” ในคราวที่เธอได้เข้าไปในบ้านหลังซ่อมซ่อข้างโรงขยะแห่งนั้น เป็นประโยคที่ฟังแล้วทั้งรู้สึกสะเทือนใจ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับฉันไปในตัว เพราะสะท้อนความจริงของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี อาทิ

“…คนที่ตราหน้าว่าเป็นมนุษย์นั้น มันสามารถทำอะไรก็ได้ มันกลายเป็นผีห่าซาตานก็ได้….”
“ก็จริงอย่างว่า คนเราถ้าตายแล้วก็หมดสิ้นความหวังทุกอย่าง….”
“มนุษย์เรา ลองได้พลาดสักครั้งหนึ่งแล้ว ก็เหมือนได้ไหลลงสู่ห้วงเหว ยากที่จะลุกขึ้นมาตั้งหลักได้..”

ฉันจดข้อความเหล่านี้เอาไว้ในสมุดบันทึกส่วนตัวเพื่อตอกย้ำกับตัวเองว่า “จะไม่กลายเป็นคนอย่างที่ตาเฒ่าบั๊กพูดนี้เด็ดขาด!!”

“รสริน ลิ้มประเสริฐ” บรรณาธิการเล่มได้กล่าวเอาไว้น่าสนใจว่า “ดวงตากระต่าย” ได้บอกให้เราได้รู้ว่า ในสภาพแวดล้อมที่ดูเหมือนเลวร้าย หมายถึงยากไร้และซ่อมซ่อนั้น คนก็อาจจะมิได้ซ่อมซ่อตามไปด้วย เขาสามารถมีศักดิ์ศรี มีน้ำใจ โดยไม่ขึ้นอยู่กับสภาพทางวัตถุเลย หรือครูผู้หนึ่งที่ชอบมาทำงานสาย แต่มักเลิกงานตรงเวลา ทั้งยังชอบกินเหล้าและปากเสีย จนถูกขนานนามว่า “ครูอันธพาล” แต่มีน้ำใจต่อบรรดาลูกศิษย์จน ๆ แสนมอมแมมเป็นยิ่งนัก และเมื่อมีปัญหาอันกระทบถึงความเป็นความตายของเด็ก ๆ และเหล่าพ่อแม่แล้ว เขาก็กระโจนลงมาร่วมต่อสู้ด้วยสำนึกที่ว่า “…คนที่มีชีวิตอยู่เดี๋ยวนี้ล้วนแล้วแต่แทะเล็มชีวิตคนอื่นมา ต่างได้กัดกินชีวิตของคนที่ตายในสงคราม กัดกินคนที่ต่อต้านสงครามแล้วต่อชีวิตของตนเองมา มีคนที่กัดกินอย่างหน้าตาเฉย และก็มีคนที่กัดกินด้วยความทุกข์ทรมาน…” เขาคงจะทุกข์ทรมานเป็นแน่แท้ ถ้าไม่ได้เอาชีวิตของเขามาให้คนอื่นแทะบ้าง และถ้าเขาผ่านด่านนี้ไปได้ เราก็รู้สึกได้ถึงความรู้สึกลึกล้ำที่จะสถิตขึ้นในหัวใจของเขา เพราะ
“มนุษย์นั้นเมื่อผ่านการทดสอบมาได้ครั้งหนึ่งก็จะเจริญเติบโตขึ้น”

…ในโลกที่ร้อนรุ่มไปด้วยไฟพยาบาลและไฟโลภโมโทสันเช่นปัจจุบันนี้ “ดวงตากระต่าย” ทำให้เราได้ฉุกคิด ได้ตระหนักถึงสิ่ง ๆ หนึ่งที่เราแทบจะลืมเลือนไปเพราะถูกกลบกลืนด้วยกระแสความศิวิไลซ์ไปเกือบทั้งสิ้น ด้วยสิ่ง ๆ นั้นแสนสงบเสงี่ยมเจียมตัวทั้งกระจิ๊ดริด ไม่เคยเปล่งเสียง ไม่เคยเรียกร้อง ได้แต่เฝ้ารออย่างเงียบสงบ รอให้มนุษยชาติผู้หลงผิดทั้งหลายหันกลับมาเอง หันกลับมาพบพลานุภาพของสิ่งเล็ก ๆ นี้ สิ่งซึ่งเครื่องจักรยนต์กลไกทั้งหลายของโลกที่ทันสมัยสุดขีดไม่อาจทำเลียนแบบได้ เพราะสิ่ง ๆ นั้นแฝงฝังอยู่ใต้ก้อนเนื้อเล็ก ๆ ในร่างกายของมนุษย์ทุกผู้คนนั่นเอง

“A RABBIT ’S EYES” หรือ “ดวงตากระต่าย” ผลงานของ “เค็นจิโร่ ไฮทานิ”
นักเขียนแห่งเมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น มีผลงานตีพิมพ์ออกมามากมายหลายเล่ม ที่นักอ่านหลายคนอาจจะเคยได้อ่านมาบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็น “ลูกพระอาทิตย์, ครูเอ๋ย, จงเป็นลูกน้องเถิด, เขาดินโดดเดี่ยว” และในปี พ.ศ.2522 เขาก็ได้รับรางวัลนักเขียนที่ระลึกถึง “ยามาโมโต้ ยูโซ” ในเรื่อง “หินข้างทาง” ประเภทอะคาเดมี่

ฉันเชื่อเหลือเกินว่า หากใครได้อ่าน “ดวงตากระต่าย” จบลง แม้จะเป็นผู้ที่มีจิตใจแข็งกระด้าง และเอาแต่ตัวเองเป็นที่ตั้ง ก็อาจจะอ่อนโยนลงได้ไม่มากก็น้อย…

“สิ่งที่สำคัญของความเป็นมนุษย์คือการขบถ เพื่อสร้างสรรค์ความดีงาม มนุษย์จะลืมวิญญาณแห่งการขบถไม่ได้”

ชื่อหนังสือ : ดวงตากระต่าย (A RABBIT ’S EYES)
ผู้เขียน : เคนจิโร่ ไฮทานิ
ผู้แปล : ธราธร นางาชิมา
สำนักพิมพ์ : มูลนิธิเด็ก

Share Button