“บ้านเล็กริมห้วย” (On the Banks of Plum Creek) หนังสือชุดบ้านเล็ก (เล่ม 4) โดย “ลอร่า อิลกัลส์ล ไวล์เดอร์” วรรณกรรมเยาวชนสุดคลาสสิก Best Of The World

“บ้านแบบไหน ที่ทำให้ผู้อยู่มีความสุข”

ฉันก็คงเหมือนกับอีกหลาย ๆ คน ที่เคยเฝ้าฝันอยากมีบ้านหลังใหญ่ ๆ สวยงาม บนเนื้อที่กว้างขวาง มีสนามหญ้าสีเขียว ปลูกดอกไม้นานาพรรณ มีต้นไม้น้อยใหญ่คอยให้ร่มเงาร่มรื่น และเต็มไปด้วยความสะดวกสบาย ในขณะที่อีกหลายคนก็ฝันอยากมีบ้านในฝันที่อาจเหมือนและแตกต่างกันกับฉัน เพราะเราเชื่อว่า ถ้าเราได้มีบ้านในฝัน เราจะมีความสุข ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้ว…หากเราได้อยู่ภายใต้ร่มเงาของบ้านแบบนั้นจริง ๆ เราจะมีความสุขจริงมั้ย?

เพราะ “ความสุขของใจ” อาจไม่ใช่เพราะการได้อยู่ “บ้าน” แบบที่เราฝันก็เป็นได้..

“บ้าน” คือวิมานของคนแทบทุกคน ทุกชนชั้น เรารู้สึกปลอดภัย สบายใจ เป็นตัวของตัวเอง หลับได้เต็มตื่น กิน เล่น นอน เกลือกกลิ้ง และจะทำอะไรก็ได้เมื่อได้อยู่ในบ้านของตัวเอง ไม่ว่าเราจะออกไปเผชิญชีวิตข้างนอกมาแค่ไหน ไปท่องเที่ยวมาแล้วรอบโลก แต่ “บ้าน” ก็ยังเป็นสถานที่ที่เราคิดถึงและอยากกลับไปซบไออุ่นอยู่เสมอ

แต่ไม่ว่าจะค้นหาความสุขจากการ “มีบ้านแบบไหน” หรือ “บ้านแบบไหน” ที่จะทำให้ฉันมีความสุขได้นั้น เอาเข้าจริง ๆ แล้ว ฉันก็ไม่อาจหาคำตอบในเรื่องนี้ได้อยู่ดี จนกระทั่ง…วันหนึ่ง เมื่อฉันได้อ่านวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง “บ้านเล็กริมห้วย” หรือ “On the Banks of Plum Creek” มันก็ทำให้ฉันได้เปลี่ยนมุมมองความคิด และได้เข้าใจมากขึ้นว่า “ความหมายของบ้านที่ทำให้เรามีความสุข” ได้นั้น แท้จริงแล้วไม่ใช่เพราะขนาดของตัวบ้าน หรือบ้านต้องสวยหรูดูดีมากแค่ไหน มีสิ่งอำนวยความสะดวกอะไรบ้างอยู่ในนั้น ฯล หากแต่ความสุขของการได้อยู่บ้านหลังนี้ มันขึ้นอยู่กับองค์ประกอบต่าง ๆ ที่เมื่อรวมกันแล้วเราเรียกว่า “บ้าน” นั่นต่างหากล่ะ และองค์ประกอบที่ว่านั้นก็คือ “ความรัก ความผูกพัน ความอบอุ่น ความเห็นอกเห็นใจกันและกันของคนในครอบครัว” ที่ประกอบไปด้วย พ่อ แม่ พี่น้อง…

เหมือนบ้านหลังเล็กที่ “ลอร่า” ตัวละครหลักในเรื่องนี้มีนั่นเอง

“บ้านเล็กริมห้วย” เป็นวรรณกรรมเยาวชนในชุดบ้านเล็กลําดับที่ 4 และเป็น 1 ใน วรรณกรรม 50 เรื่องที่ต้องอ่านก่อนโต ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมและประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม และกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผลงานสุดคลาสสิคของผู้เขียน “ลอร่า อิงกัลล์ส ไวล์เดอร์” ที่ยังคงได้รับความนิยมมาจนถึงทุกวันนี้ ผู้เขียนได้เล่าถึงชีวิตในวัยเด็กที่แสนสุขของเธอ ในช่วงที่ได้อาศัยอยู่ในบ้านหลังเล็ก ๆ ริมห้วยร่วมกับครอบครัว “บ้านเล็กริมห้วย” ของเธอ เป็นบ้านที่มีเพื่อนบ้านเป็นธรรมชาติอันกว้างใหญ่ไพศาล ทั้งป่าไม้ ทุ่งหญ้า แม่น้ำ สัตว์ต่าง ๆ ที่อยู่รอบ ๆ บ้าน ซึ่งเรื่องราวในเล่มนี้ ลอร่าได้เล่าถึงความยากแค้นแสนเข็นของครอบครัวเธอที่มีต่อการเพาะปลูกที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานเป็นเวลาถึง 2 ปี หลังจากอพยพมาอยู่ที่ “มินเนโซตา” ซึ่งจากความแร้นแค้นในครั้งนี้ ทำให้พ่อของเธอตัดสินใจพาครอบครัวย้ายไปอยู่ต่างแดนอีกครั้ง ซึ่งดินแดนแห่งใหม่นั้นเอง เป็นที่ ๆ พวกเขาต้องเผชิญกับชะตากรรมอีกหลายอย่าง ทั้งต้องดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด การต้องและต้องอยู่กับธรรมชาติด้วยความเข้าใจและเป็นหนึ่งเดียว การผจญภัยของลอร่าและน้อง ๆ ของเธอ ปัญหาที่ต้องแก้ไขไม่เว้นแต่วัน แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้น พวกเขาผ่านมันไปได้ด้วยความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจ ความรักของทุกคนภายในครอบครัว ซึ่งนอกจากการได้เห็นวิถีชีวิตของครอบครัว “อิงกัลส์ล” แล้ว เนื้อหาในเรื่องยังซ่อนกลิ่นอายของประวัติศาสตร์และสังคมประจำวันของอเมริกาในยุคนั้นไว้เป็นอย่างดีอีกด้วย

อ่านชีวิตของครอบครัว “ลอร่า” แล้ว ทำให้ต้องทบทวนถึงชีวิตที่ผ่านของตัวเอง… และแน่นอนว่า มันทำให้ฉันคิดถึงบ้าน…

“บ้านหลังใหญ่” อาจไม่ได้มอบความสุขให้กับเรา ถ้าบ้านหลังนั้นขาดความรัก ความอบอุ่น ความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันของสมาชิกภายในบ้าน และที่ฉันประทับใจวรรณกรรมเล่มนี้อีกอย่างก็คือ วิธีการสอนลูก ๆ ของ “ชาร์ลส์” พ่อของลอร่า ที่สอนให้ลูก ๆ ได้มองเห็นความจริงและยอมรับมัน มากกว่าที่จะต้องคอยโกหกเพื่อให้เรื่องจบ ๆ ไป อย่างตอนที่พ่อได้ตัดสินใจใช้ม้าพันธุ์มัสแต็ง 2 ตัว “เพ็ต” และ “แพ็ตตี้” ที่ผูกพันและอยู่กับครอบครัวมานานหลายปี แลกกับที่ดินของ “มิสเตอร์แฮนสัน” ฉากนั้นได้เล่าว่า พอลอร่าได้รู้ก็รู้สึกเสียใจมาก เพราะรักและผูกพันม้าทั้งสองตัว ไม่อยากสูญเสียมันไป แต่เธอก็รู้ว่าไม่สามารถรั้งมันไว้ได้ และเธอก็ไม่ควรร้องไห้เพราะตอนนี้อายุ 7 ขวบแล้ว ลอร่าได้ถามพ่อว่า

“พ่อจ๊ะ นี่พ่อต้องให้เพ็ตกับแพ็ตตี้ไปจริง ๆ เหรอจ๊ะ พ่อให้เขาไปจริง ๆ เหรอจ๊ะ” ซึ่งผู้เป็นพ่อก็ได้ตอบกลับมาว่า “เพ็ตกับแพ็ตตี้ชอบท่องเที่ยว มันเป็นม้าอินเดียนแดงนี่ลอร่า จะให้มันไถนาก็ไม่ไหว เป็นงานหนักเกินกำลังของมัน ถ้ามันได้เดินทางไปในทิศตะวันตก มันก็จะสนุกสบายมากกว่านี้ หนูคงไม่อยากเอามันไว้ที่นี่ ให้มันตายไปกับคันไถหรอกนะ”

ซึ่งนั่นหมายถึงว่า วิธีการปลอบประโลมที่มีทั้งคำอธิบายและคำตอบอยู่ในนั้นของผู้เป็นพ่อ ได้ให้ลอร่าได้มองกว้างออกไปนอกจากคิดถึงเรื่องการสูญเสีย คือการได้เห็นความสุขของผู้อื่น หาใช่ความสุขของตัวเราเองที่ได้ครอบครองมัน

หรือบรรยากาศการสร้างความสุขเล็ก ๆ แต่มีคุณค่าต่อจิตใจเป็นอย่างยิ่งภายในครอบครัว ที่แสดงให้เห็นว่า ผู้เป็นพ่อได้ซ่อนคำสอนเรื่อง “ความสุขและความพอใจต่อบ้านของเรา” เอาไว้ในนั้น อาทิ ฉากหลังอาหารค่ำ หลังจากจุดตะเกียงให้แสงสว่างแล้ว พ่อก็จะหยิบซอออกมาจากหีบ และขึ้นสายอย่างไพเราะ แล้วก็เริ่มบรรเลงเพลง “เมื่อจอห์นนี่เดินกลับบ้าน” ต่อด้วยเพลง “สาวน้อยแสนหวาน, สาวน้อยคนสวย, สาวคนที่ฉันทิ้งไป, บ้านเคนทักกีเก่าแก่ของฉัน” และ “แม่น้ำสวานี่” ซึ่งทุกคนในครอบครัว อันมีแม่, ลอร่า และแมรี่น้องสาวก็ช่วยกันร้องเพลงประสานเสียงไปด้วยกัน หรือแม้กระทั่งน้องชายคนเล็กที่ยังแบเบาะก็เหมือนจะฟังรู้เรื่อง ซึ่งท่อนหนึ่งในบทเพลงนั้น พ่อได้ร้องว่า…

“แม้นเราจักท่องผ่านปราสาทราชวัง
และที่เพลินตาเพลินใจ
แต่ก็แสนชื่นใจว่า ไม่มีที่ไหนเหมือนบ้านของเรา”

ฉันอ่าน “บ้านเล็กริมห้วย” จบเพียง 1 ครั้งเท่านั้น แต่ทว่า..ใจที่อยากกลับไปหาครอบครัวที่อยู่ในชนบทนั้นเกิดขึ้นทันที และมันก็เป็นแรงบันดาลใจให้ฉันตั้งใจเอาไว้ว่า เร็ว ๆ นี้ฉันจะต้องกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิด บ้านที่อยู่ในชนบทเล็ก ๆ บ้านที่หลังบ้านติดทุ่งนาและป่าใหญ่ บ้านที่ยังมี พ่อ แม่ พี่ น้องอยู่กันพร้อมหน้า ฉันคงมีความสุขเหมือนที่ลอร่าและครอบครัวของเธอมีเช่นกัน… เพราะเมื่อฉันได้รู้ความหมายที่แท้จริงของคำว่า “บ้าน” แล้ว ฉันกลับไม่เคยนึกภาพบ้านหลังใหญ่ ๆ สวยงาม บริเวณกว้างขวาง บ้านที่เป็นเหมือนบ้านในฝันหลังนั้นอีกเลย

“ก้อนเมฆนั้นตกลงมาเป็นฝนตั๊กแตน มันมากันเป็นกลุ่ม ถึงกับบดบังดวงอาทิตย์จนแดดมืด เสียงปีกของมันดังซู่ ๆ อยู่ในอากาศ มันหล่นลงมากระทบพื้นดินและตัวบ้าน ดังเหมือนลูกเห็บตก…”

ชื่อหนังสือ : บ้านเล็กริมห้วย (On the Banks of Plum Creek)
(หนังสือชุดบ้านเล็ก เล่ม 4)
ผู้เขียน : ลอร่า อิงกัลส์ล ไวล์เดอร์
ผู้แปล : สุคนธรส
สำนักพิมพ์ : แพรวเยาวชน

Share Button