เกี่ยวกับกระจกเงา



            มูลนิธิกระจกเงา คือ องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาสังคม หลายๆด้าน
ได้แก่ งานด้านสิทธิมนุษยชน งานด้านสื่อและเทคโนโลยีสารสนเทศ งานพัฒนาอาสาสมัครและการแบ่งปันทรัพยากร เพื่อเพิ่มศักยภาพใน การเรียนรู้และการใช้ชีวิต โดยมีพื้นที่ปฏิบัติงานทั้งบนสังคมออนไลน์ (internet) สังคมเมืองและสังคมชนบท โดยทำหน้าที่เป็นกระจกเงา ที่สะท้อนเรื่องราว ความเป็นจริงของสังคมและให้ความช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผล กระทบจาก การเปลี่ยนแปลงของสังคม ด้วยวิธีคิด คือ การสร้างคนและสร้างนวัตกรรม สร้างความมเปลี่ยนแปลงแก่สังคม ดังวิสัยทัศน์ขององค์กร คือ
   " สร้างคน "  เราจึงสร้างนักกิจกรรมด้วยกระบวนการ อาสาสมัคร เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมต่อกิจกรรมทางสังคม เนื่องจาก ปัญหาสังคมในปัจจุบันมีความซับซ้อนและมี ปริมาณมากมายเกินกว่าคนเล็ก ๆ เพียงไม่กี่คนจะแบกรับไว้ได้ และปัญหาสังคมไม่มีทางหมดไป หากผู้คนส่วนใหญ่ไม่ร่วมกันรับรู้และแก้ไข การสร้าง คนจึงเป็นต้นทางของการ แก้ปัญหาสังคม
   " สร้างนวัตกรรม "   นวัตกรรมเป็นสิ่งที่จะนำไปสู่การเส้นทางใหม่ของสังคม เราจึงสร้างนวัตกรรม เพื่อวิเคราะห์ปัญหา และออกแบบกระบวนการแก้ปัญหาสังคมด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมที่สอดคล้อง ไปกับปรากฏการณ์ทางสังคมในปัจจุบัน
   " แล้วจะสร้างการเปลี่ยนแปลง "   เมื่อได้สร้างนักกิจกรรม นวัตกรรมทางสังคมขึ้นแล้ว การเปลี่ยนแปลงสังคมซึ่งเป็นเป้าหมายที่แท้จริงของการทำงาน ก็จะเริ่มขึ้น นักกิจกรรมที่ได้รับการปรับจูนความคิดที่มุ่งมั่นในการแกปัญหาสังคมร่วมกัน ก็จะเป็นฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนสังคมด้วยนวัตกรรมที่หมุนวงล้อของสังคมสู่การ พัฒนาต่อไป เรา จึงให้ความสำคัญกับการรณรงค์และลงมือ จัดการปัญหาต่างๆ
       ซึ่งแต่ละปรากฏการณ์ที่เกิดปัญหาย่อมส่งผลกระทบของต่อเนื่องกัน เราจึงมองปัญหาแบบองค์รวม เพื่อที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆไปควบคู่กัน โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือของการเข้าถึงและเผยแพร่แนวคิดในการ ดำเนินงาน ควบคู่ไปกับการปฏิบัติงานในพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาสังคม ปัจจุบันเรามีพื้นที่ปฏิบัติงาน คือ มูลนิธิกระจกเงาสำนักงานเชียงรายและสำนักงานกรุงเทพ ซึ่ง มีก้าวย่างที่เติบโตแต่ละขั้นจวบจนถึงวันนี้ที่เริ่มจาก
   " เริ่มต้นจาก คนหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งจำนวน 5 คน ในปลายปี 2534 "  
ซึ่งประกอบด้วยนักกิจกรรมในรั้วและ นอกรั้วมหาวิทยาลัย ได้รวมกลุ่มกันทำกิจกรรมต่อเนื่องจากกิจกรรมทางการเมืองหลังช่วงการทำรัฐ ประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(รสช) โดยในขณะนั้นใช้ชื่อกลุ่มว่า "กลุ่มศิลปวัฒนธรรมกระจกเงา และได้ขอเข้าอยู่เป็นโครงการภายใต้มูลนิธิโกมลคีมทอง" ในปี 2535
   " กิจกรรมในช่วงเริ่มต้น (2534-2540) "      จะเป็นกิจกรรมด้านการละครเพื่อ สังคมและการจัดกิจกรรม ค่ายเด็กและเยาวชน โดยดำเนินกิจกรรมไปตามโรงเรียน ชุมชน ทั่วประเทศในแต่ละปีจะมีการแสดง ระหว่าง 100-150 รอบ และกิจกรรมค่าย 10-30 กิจกรรม
   " แนวคิดในการใช้ไอซี ทีเพื่อการพัฒนา (2538) "   ใน ช่วงนั้น คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลหรือPC และModem ได้เริ่มแพร่หลายในหมู่ ประชาชน ทำให้ระบบข้อมูลและการสื่อสารเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ช่วงเวลาดังกล่าวทางกลุ่มฯ ได้ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนจำนวนหนึ่ง ได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาผลกระทบจากเทคโนโลยี IT ในสังคมไทย และนี่คือช่วงเวลาสำคัญ ที่ทำให้เราได้เริ่มต้นศึกษาและพัฒนางานด้าน ICT โดยเป็น องค์กรพัฒนาเอกชนไทย รายแรกที่ได้จัดทำเวบไซท์ขึ้น ในชื่อwww.thebangkok.com และ ได้พยายามส่งเสริม การใช้ ICTใน งานพัฒนาสังคม
   " เคลื่อนย้ายสู่เชียงราย (2541) "   ทีมเจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร จำนวน11 คน จาก 20 คน ได้ตัดสินใจเปลี่ยนวิถีการทำงาน โดยได้ทำการปิดสำนักงานที่กรุงเทพ และเคลื่อนย้ายองค์กรลงในพื้นที่เชียงราย โดยเลือกพื้นที่ ต.แม่ยาว อ.เมือง จ.เชียงราย เป็น "ห้องปฏิบัติการทางสังคม" จนก่อให้เกิดโครงการนวตกรรมทางสังคมจำนวนมาก อาทิเช่น

- ศูนย์เด็กรู้เอง
- โครงการค่ายบำบัดยาเสพติดในชุมชน
- โครงการเด็กดอยสัญชาติไทย
- โครงการร้านค้า Online
- โครงการสถานีโทรทัศน์หมู่บ้าน หรือ บ้านนอกทีวี
- โครงการท่อง เที่ยวชนเผ่า
- โครงการพิพิธภัณฑ์ ชนเผ่า
- โครงการครูบ้านนอก
- โครงการนักศึกษาบ้าฝึกงาน
โดย ได้เปลี่ยนชื่อเวบ ไซด์จากwww.thebangkok.com เป็น www.bannok.com (บ้านนอก.คอม)
   " เปิดสำนักงานที่ กทม อีกครั้ง (2546) "   ภายหลังการทำงานในห้องปฏิบัติการทาง สังคมที่ จังหวัด เชียงราย เราเข้าใจถึงการเชื่อมโยงระหว่างปัญหาเมืองกับ ชนบท และ ความสำคัญของการขับเคลือนในเชิงนโยบายที่ ความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี พื้นที่การผลักดันอยู่ใน ส่วนกลาง รวมถึง การขยายความคิดการทำงานของกลุ่มฯ จากพื้นที่เล็ก ๆ ในตำบลแม่ยาว ให้กระจกเงาการทำงานออก สู่ภายนอกพื้นที่มากขึ้น โดยเฉพาะงานส่งเสริมอาสาสมัคร โดยโครงการในช่วงแรก ได้แก่ •โครงการส่งเสริมไอซีทีเพื่อการพัฒนา •โครงการศูนย์ข้อมูลคนหาย •โครงการ TV4KIDS
ซึ่งปัจจุบัน โครงการในสำนักงานกรุงเทพได้ ขยายเป็นหลายแขนง ประกอบด้วย โครงการใหม่ๆ ได้แก่
- โครงการ อ่านสร้างชาติ
- โครงการ กองทุนเสื้อผ้าเพื่อการแบ่งปัน
- โครงการ ศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์
- โครงการ จัดการภัยพิบัติภาคประชาชน
- โครงการ โรงพยาบาลมีสุข
- โครงการ ไอซีทีเพื่อการพัฒนา
- โครงการ NGOs FILM
- โครงการ ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการ ค้ามนุษย์
- โครงการ IT WATCH
- โครงการ ศึกษาปัญหาโรคสมองเสื่อมใน ประเทศไทย
- โครงการ รณรงค์ยุติธุรกิจเด็กขอทาน
- โครงการ คอมพิวเตอร์เพื่อน้อง
       นอกจากสำนักงานกรุงเทพและเชียงราย ที่ดำเนินงานอยู่ในปัจจุบันแล้ว มูลนิธิกระจกเงายังมีการดำเนินงาน ที่ได้เสร็จสิ้นภารกิจในการฟื้นฟูและพัฒนา ลงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งภาพกิจกรรมและความทรงจำดีๆทั้งหมด ยังคงไม่เจือจาง ทั้งสามศูนย์ ในสามพื้นที่ ที่อยู่ในความทรงจำของเรา ประกอบด้วย


ศูนย์กระจกเงาที่ปิดตัวแล้วเนื่องจากภาระกิจฟื้นฟูหลังมีเหตุการณ์ภัยพิบัติเสร็จสิ้นแล้ว

ศูนย์อาสาสาสมัครสึนามิ

(เริ่มดำเนินงานปี2547 - เสร็จสิ้นในปี 2550) หลังจากที่คลื่นยักษ์สึนามิเข้าถล่ม พื้นที่ชายฝั่งอันดามันในวันที่26 ธค 47 สมาชิกของมูลนิธิกระจกเงาและอาสาสมัครจำนวน 23 คน ได้เดินทางไปช่วยปฏิบัติการในพื้นที่ จ.พังงา โดยเริ่มแรกตั้งใจที่จะลงไปเป็นอาสาสมัครระยะสั้นประมาณ1 สัปดาห์ แต่เมื่อพบว่าสถานการณ์ในพื้นที่รุนแรงกว่าที่คิดและต้องใช้ระยะในการฟื้นฟู เป็นเวลานาน จึงได้จัดตั้งศูนย์อาสาสมัครสึนามิ เพื่อทำการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในระยะยาว โดยในช่วง 3 ปีแรก ได้มีอาสาสมัครทั้งชาวไทยและต่างชาติเข้าร่วมกว่า5 พัน คน ซึ่งปัจจุบันศูนย์อาสาสมัครสึนามิยังคงดำเนินโครงการอยู่ในพื้นที่เขาหลัก
http://www.tsunamivolunteer.net

ศูนย์อาสาสมัครลับแล

(เริ่มดำเนินงานปี 2549 -เสร็จสิ้นในปี 2550) จากเหตุการณ์ น้ำท่วมโคลนถล่ม ในเขตภาคเหนือตอนบน เมื่อวันที่ 22-23พฤษภาคม 49 ทำให้มี ผุ้เสียชีวิต บาดเจ็บและเกิดความเสียหายต่อบ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวบ้าน อย่างกว้าง ขวาง เหตุภัยพิบัติครั้งนั้นถือว่าเป็นภัยพิบัติขนาดใหญ่ถัดจาก เหตุการณ์สึนามิ ทางมูลนิธิกระจกเงา ได้รวบรวมอาสาสมัครและ เจ้าหน้าที่ สำนักงานกรุงเทพ เชียงราย และพังงา ที่มีประสบการณ์อาสาสมัครและจัดการ ภัยพิบัติเข้าปฏิบัติการในพื้นที่ ต.แม่พูล อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ โดยภาระกิจหลักคือ การขุดโคลนและเคลื่อนย้ายซากต้นไม้ที่ถมบ้านชาวบ้านออกมา รวมถึงการทำกิจกรรมเด็กในบ้านพักชั่วคราวของผู้ประสบภัย และได้ปิดศูนย์อาสาสมัครลับแล เมือดำเนินการช่วยเหลือได้ 9 เดือน มีอาสาสมัครกว่า 2 พันคน ที่ร่วมในปฏิบัติการครั้งนี้ กระทั่งดำเนินงานด้านการฟื้นฟู จิตใจและพัฒนาเยาวชนจนเสร็จสิ้นในปี2550 ที่ผ่านมา

ศูนย์ระนอง

(เริ่มขึ้นในปี2549-เสร็จสิ้นในปี 2550) "เป็นศูนย์ที่ก่อตั้งสืบเนื่องจากเหตุ การณ์สึนามิที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้หลาย ชีวิตได้รับผลกระทบ ซึ่งรวมไปถึงกลุ่มคนไร้สัญชาติ จากการลงปฏิบติงานในพื้นที่ประสบภัยของมูลนิธิกระจกเงา ทำไให้เราได้พบกับปัญหาที่สำคัญ ในพื้นที่ แถบฝั่งทะเลอันดามัน แม้ว่าจากการปฏิบัติงานพบกว่ามีหลายหน่วยงานทั้งใน และต่างประเทศเข้ามาช่วยเหลือในหลายรูปแบบ แต่ปัญหา การไม่ได้รับสัญชาติ" ยังคงเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องได้รับการช่วยเหลือโดย "โครงการให้ความช่วยเหลือด้านสิทธิ และสถานภาพบุคคลของชนกลุ่มน้องผู้ประสบภัยสึนามิ" จึงเกิดขึ้น เพื่อผลักดันให้เกิดความเข้าใจในเรื่อง"ไร้สัญชาติ" ให้กับสังคม พร้อมการทำงานบนความร่วมมือของภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชน นโยบายภาครัฐ และภาคท้องถิ่น ให้เข้ามาดูแลเรื่อง "สัญชาติ" อย่างจริงจัง เพื่อให้บุคคล 6จังหวัดภาคใต้ได้รับสัญชาติอย่างถูกต้อง