“ความมั่นคงทางใจ”..คุณภาพชีวิตที่วัดกันไม่ได้ด้วยสองตา

มันเป็นชีวิตที่ครึ่งหลับครึ่งตื่น…บางครั้งผมก็รำพึงรำพันกับตัวเองแบบนี้

บางวันก็แทบไม่มีความฝัน..เพราะชีวิตตอนนี้มันจริงยิ่งเสียกว่าจริง

 

ผมตั้งเป้าหมายชีวิตไว้วันต่อวัน.. หากคิดไปไกลก็กลัวจะเกินความหวัง

จะว่าไปชีวิตที่เป็นอยู่ขณะนี้ ขยับก้าว ขยับเขยื้อนไปได้ไกลเกินความคาดหมายไปมาก

จากร่างกายที่เคยหมดแรง จากใจที่เคยว่างเปล่ามองไม่เห็นหนทางรอด

วันนี้บ้านเรา สัมผัสกับความสุขได้ง่ายเหมือนมันอยู่ใกล้ไม่ไกลเกินเอื้อมอีกต่อไป

 

ถึงแม้ว่าบ้านเรายังหลังเล็กและทรุดโทรมอยู่มาก แต่ผมว่าความมั่นคงมันวัดกันไม่ได้ที่สภาพภายนอก..

แต่วัดกันได้ที่จิตใจมากกว่า

 

โรงเรือนเพาะเห็ดภูฐานข้างบ้านยังทำหน้าที่เลี้ยงดูทุกปากท้องให้อิ่มเอม

ผมเห็นรอยยิ้มของทุกคน แม้ยามเหนื่อยยาก แต่บ้านเราก็มีเสียงหัวเราะดังมากกว่าเดิม

สำหรับผม ทุกมื้อที่อิ่มหนำของลูกๆคือความมั่นคง ..มันผลักดันให้เราสองคนพ่อแม่สู้

แม้ว่าแขนขาจะหมดแรงท่ามกลางความร้อน แล้ง และขาดแคลน

 

ในแต่ละวันผมวิ่งวุ่นกับการคิดสร้างเนื้อสร้างตัว จนแทบไม่มีเวลาทุกข์ใจกับความลำบากตรงหน้า

ต่อให้ความยากจนจะไล่ล่าเราสักเพียงใด..ผมว่ามันพ่ายแพ้ใจอันสู้ทนของเรา

 

ใครๆว่าฟ้าหลังฝนงดงามเสมอ .. ใช่ แต่ทุกอย่างก็แลกด้วยความขยัน อดทนและพากเพียร

 

ความจนยากสอนให้เราขวนขวายอย่างไม่รู้เหนื่อย.. จนวันนี้ผมคิดว่าตัวเองเดินทางมาถึงหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่วาดหวังไว้แล้ว

 

ใครจะรู้ว่า.. ระยะเวลาไม่กี่เดือน เมื่อความช่วยเหลือมาถึงหน้าบ้าน โครงการอาสามาเยี่ยม เปลี่ยนผมจากคนใกล้พิการ ให้กลายเป็นพ่อค้าเพาะปลูกเห็ดภูฐานขายประทังชีวิต คุณูปการของเห็ดนับร้อยถุงพาผมมาไกล

 

จนวันนี้ ผมเป็นพ่อค้าผู้ผลิตก้อนเชื้อเห็ดไว้ใช้เองได้ จากนี้จะฝันถึงเชื้อเห็ดกี่ร้อยกี่พันถุงก็ได้ โรงเรือนของเราจะขยายต่อไปเท่าที่ใจเราฝันถึง

 

อย่างน้อย ต้นทุนในการลงทุนหายไปเกือบครึ่ง มันช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในโรงเรือนไปได้มาก หนำซ้ำยังสร้างรายได้เพิ่มเติมจากการขายก้อนเชื้อเห็ดให้กับผู้คนที่สนใจประกอบอาชีพนี้..

 

ในอนาคตผมจะยึดสิ่งนี้เป็นรายได้หลักเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับลูกๆ

 

แน่นอน .. มันอาจสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำถึงขั้นเปลี่ยนจากคนจน กลายเป็นคนรวยได้ในพริบตา

 

ได้หรือไม่ได้  ผมไม่อาจคิดไกลถึงเพียงนั้น แต่เงินทองที่เข้ามาทุกบาททุกสตางค์ ถูกแบ่งสรรปันส่วนอย่างดี เพื่อเป็นรากฐานที่แข็งแรง เพราะบ้านเราเข้าใจดีถึงความแน่นอนที่ไม่แน่นอน หากวันใด ต้องเผชิญกับอุปสรรคเกินคาดเดา  บ้านเราจะได้มั่นคงทั้งกายและใจ

 

เท่าที่มี.. ตอนนี้เราอยากแบ่งปันก้อนเห็ดภูฐานที่เรามีให้คนอื่นๆ ทั้งใกล้และไกลเพื่อเป็นกำลังใจในการสู้ต่อเช่นเรา

 

ผมบอกไว้ตรงนี้เลยว่า ความรู้ทั้งหมดเกิดจากการใส่ใจในทุกรายละเอียด และผมรู้ดีว่าโอกาสดีๆมักมีแค่ครั้งเดียว หากเราไม่คว้ามันไว้ด้วยใจอันสุจริตมุ่งมั่น โอกาสเหล่านั้นอาจกลายเป็นเพียงฝันสลายที่ไม่มีวันเป็นจริง

 

มันอาจเป็นชีวิตที่ครึ่งหลับครึ่งตื่น…บางครั้งผมก็รำพึงรำพันกับตัวเองแบบนี้ แต่ผลของจากการกระทำที่ผ่านมา มันพิสูจน์แล้วว่า ยามครึ่งหลับผมพบเจอแต่ฝันที่ดีงามเช่นกัน ยามครึ่งตื่น ความสุขของครอบครัวคือสิ่งเดียวที่ผมรู้ว่ามันคือความจริงแท้ของชีวิต

Share Button

ให้ชีวิตที่เหลืออยู่เป็นพยาน..

เป็นคุณยายที่นั่งเฝ้ามองคุณตานอนอยู่บนเตียงด้วยสีหน้าเรียบเฉย

เมื่อเราถามไถ่ว่ากินข้าวหรือยัง คุณยายไม่ตอบ แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นถามว่าคุณตากินข้าวหรือยัง

คุณยายได้แต่พยักหน้า..

 

ว่ากันว่าเมื่อสมัยคุณยายยังสาวๆ คุณยายดุมาก แต่ถึงดุแค่ไหนก็ไม่เคยตีลูก ลูกสาวคนกลาง ยืนยัน เธอได้รับมอบหมายให้ดูแลพ่อแม่ยามแก่เฒ่า โดยมีพี่ๆน้องๆคอยส่งเสียเลี้ยงดูค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด

 

คุณตาเป็นคนดื่มเหล้าหนัก วันไหนเมากลับบ้านมามักจะถูกคุณยายดุเป็นประจำ

“พ่อคือแบบฉบับของลูกผู้ชายที่รักลูกรักเมีย” ลูกสาวกล่าวทั้งน้ำตารื้อ

คุณตาทำงานหนักเพื่อเลี้ยงดูทั้งครอบครัว ส่วนคุณยายเปิดร้านขายขนมไทยเพื่อเป็นรายได้เสริม

 

เมื่อลูกๆเติบโตทำงาน ทำมาหากินเลี้ยงดูครอบครัวของตนเองได้ คุณตาแยกตัวออกไปอยู่เพียงลำพังในบ้านซึ่งไม่ได้อยู่ห่างไกลจากบ้านลูกและเมียเท่าไหร่

 

ในวันที่แดดร้อนจัดวันหนึ่ง อยู่ๆคุณตาก็ล้มหมดสติ และกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงตั้งแต่วันนั้น

ลูกๆย้ายพ่อกลับมาอยู่ที่บ้าน กางเตียงเหล็กให้นอนเคียงข้างเตียงไม้ของคุณยายภรรยารัก

มีลูกสาวคอยดูแลป้อนข้าวป้อนน้ำ และเปลี่ยนแพมเพิส

 

คุณตาป่วยด้วยโรคเส้นเลือดในสมองแตกแบบเฉียบพลัน อาจจะด้วยการดื่มเหล้าอย่างหนักและต่อเนื่อง ส่งผลให้กลายเป็นอัมพาตเคลื่อนไหวร่างกายและพูดไม่ได้เป็นผู้ป่วยติดเตียงตั้งแต่นั้นมา
ในช่วงชีวิตที่เหลืออยู่ในบ้านเล็กๆ ซึ่งคาดคะเนด้วยสายตาคงไม่ขนาดไม่เกิน 4×3 เมตร
ภายในบ้านบรรจุเตียงนอนสามเตียง เป็นเตียงของลูกสาวหนึ่งเตียงตั้งอยู่ปลายเท้าเตียงของคุณตา
อีกสองเตียงเป็นเตียงเหล็กของคุณตาและเตียงไม้ของคุณยายที่วางห่างกันเพียงประตูบ้านกั้น

 

บ้านหลังน้อยชั้นเดียว ปลูกติดริมถนนสายหลักสองเลนใหญ่กว้างขวาง รถเล็กใหญ่วิ่งกันขวักไขว้

 

ในบ่ายของวันหนึ่งตามคำสัญญา ทีมอาสามาเยี่ยมนำนม แพมเพิสและสิ่งของจำเป็นไปเยี่ยมคุณตาถึงเตียง

 

ทันทีที่รถจอดหน้าบ้าน .. อาสาสมัคร ทีมงาน ลงจากรถพร้อมข้าวของเครื่องใช้

 

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ.. ตอนนี้ตัวของเราสูงกว่าหลังคาบ้านของคุณตาเสียแล้ว

 

การจะเข้าไปพบเจอสมาชิกในครอบครัวทั้งสาม ทุกคนต้องก้มตัวลงต่ำในระดับคลานเข่าเสียก่อนจึงจะสามารถเข้าประตูที่ถูกถนนถมทับจนเหลือเพียงครึ่งบาน…ต่ำจากพื้นถนนลงประมาณหนึ่งเมตร เราถึงจะเหยียบพื้นกระเบื้องมันเงาสะอาด บ้านที่มีพื้นที่สำหรับบรรจุคนได้ไม่เกินห้าคน

 

เราผลักเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้าไป เพราะยิ่งคนเยอะอากาศจะยิ่งร้อนและทำให้อึดอัดหายใจไม่สะดวก

 

“เราไม่มีเงินยกบ้านให้เท่ากับถนน ก็ทนอยู่ไปอย่างนี้ก่อน”

 

สังเกตได้ว่าบ้านหลังอื่นๆถูกยกพื้นและทำหลังคาให้ให้เสมอเท่ากับถนน เหลือเพียงบ้านหลังนี้เพียงหลังเดียวที่ยังอยู่ต่ำเช่นนี้ คุณตาคุณยายไม่ได้ออกจากบ้านมานานแล้ว เพราะไม่สามารถมุดออกจากหลังคาอันต่ำเตี้ยเรี่ยดินนี่ได้ด้วยสภาพร่างกายที่แก่มากแล้ว

 

ทุกวันคุณยายทำได้เพียงนั่งๆนอนๆ กินข้าว ฟังวิทยุ โดยทำทุกอย่างอยู่บนเตียงไม้เก่าๆ ส่วนคุณตาไม่สามารถตอบสนองใดๆได้ จึงมีเพียงลมหายใจเข้าออกที่ทำให้รู้ว่าคุณตายังมีชีวิตอยู่ อยู่เพื่อลูกสาวและอยู่เพื่อเป็นเพื่อนคุณยาย  รถราสัญจรไปมาตลอดทั้งวันทั้งคืน ฝุ่น ควัน ลอยฟุ้งเหนือพื้นถนน ผู้คนเดินไปมาอยู่สูงกว่าเตียงนอนของทุกคนในบ้าน บ้านที่เป็นเพียงเกราะคุ้มกันร้อน ฝน หนาว มันไม่เคยทำหน้าที่อื่นๆได้อีกหลังจากถนนเส้นใหญ่ตัดผ่านและทับถม เหมือนกับผู้คนที่อาศัยอยู่ตรงนั้นไม่มีความหมายและตัวตน

 

โรคเส้นเลือดในสมองแตกพรากชีวิตชีวาของคุณตาไปอย่างไม่มีวันคืน เช่นกันการเติบโตทางตัวเลขเศรษฐกิจของชาติพรากความเป็นมนุษย์เสียสิ้นซาก มองเห็นเพียงความเจริญรุ่งเรือง แต่กลับปิดหูปิดตาทำเป็นมองไม่เห็นคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์..ที่เคยเป็นฟันเฟือนและกำลังสำคัญของชาติมาก่อน.. ชีวิตที่ผ่านเลยมากกว่า 80 ปีของคุณตาคุณยายยังมีความหมายสำหรับลูกหลาน ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง แต่สำหรับประเทศนี้ คุณตาคุณยายได้ทดแทนแผ่นดินเกิดผืนนี้แล้ว มากมายเกินกว่าที่คนๆหนึ่งจะทำได้ ดีที่สุดแล้ว ..พวกเราทุกคนในทีนี้เป็นพยาน

Share Button

“บรรเทาทุกข์ บำรุงสุขภาพใจ”

บ้านไม้หลังเก่า ถูกปกคลุมด้วยร่มของต้นตะขบที่แผ่กิ่งก้านสาขาให้ร่มเงายามบ่าย ลมพัดเอื่อยๆจากคลองหกวาสายล่างหลังบ้าน บรรยากาศที่นี่เงียบสงบราวเวลาหยุดอยู่กับที่ คุณยายนอนหลับตานิ่งอยู่บนเตียงไม่รับรู้สรรพสิ่งใด นอกจากแรงกระเพื่อมของหายใจเข้า ออกบนหน้าอก ที่ยังคงส่งสัญญาณชีพให้ลูกหลานได้สบายใจ คุณยายไม่ส่งเสียงเรียกร้องอะไรอีกแล้ว ลุงสุธีทำหน้าที่ป้อนอาหารทางสลิงส่งต่อสายยางเข้าสู่กระเพาะอาหารตามเวลาอย่างเคร่งครัด

 

“เร็วมาก ก็สำลัก ต้องค่อยๆป้อนค่อยๆหยอด” เพื่อลำเลียงสารอาหารเข้าร่างกายของคุณยาย ผู้เป็นมารดา ซึ่งตอนนี้แก่ชรามีอายุกว่า 92 ปีแล้ว

 

ข้างๆเตียงของแม่ เป็นเตียงของพี่สาวของลุงสุธี พี่สาวที่เคยช่วยเหลือเลี้ยงดูอุ้มชู ลูกสาวของลุงเมื่อเธอยังมีเรี่ยวแรง บัดนี้เธอกลายเป็นอัมพาตนอนนิ่ง กระดิกร่างกายไมไ่ด้ ทำได้เพียงกระพริบตา และส่งเสียงอ้อแอ้เกือบไม่เป็นภาษา ร่างกายที่เหลือทั้งหมดจึงถูกทิ้งไว้เป็นภาระของน้องชายแต่เพียงผู้เดียว

 

ลุงสุธี ปลูกเพิงนอนอยู่ใกล้ๆเตียงของแม่และพี่สาว ทุกๆวันเขาตื่นตั้งแต่ตีสี่เพื่อหุงหาอาหาร ป้อนข้าว เช็ดตัว อาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้าให้ทั้งคู่อย่างเต็มใจ โชคดีที่แต่ก่อนลุงเคยทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลผู้ป่วยเอช ไอ วี มาก่อน ประสบการณ์จากการทำงานหลายปีที่นั่น ทำให้แกรู้จักวิธีการดูแลผู้ป่วยติดเตียงได้เป็นอย่างดี

 

“ไม่มีอะไรต้องรังเกียจ นั่นก็แม่ นี่ก็พี่สาว” ลุงกล่าวด้วยน้ำเสียงแผ่วเบา

 

การดูแลผู้ป่วยติดเตียง สิ่งสำคัญคือการตรงต่อเวลา ในเรื่องอาหารการกินต้องสะอาดปลอดภัย การรักษาความสะอาดให้แก่ร่างกายผู้ป่วย และการรักษาความสะอาดพื้นที่บริเวณที่ผู้ป่วยนอนพักอยู่ จะเห็นได้ว่าลุงสุธีทำได้อย่างดีเยี่ยม บริเวณบ้านถูกจัดเป็นระเบียบเรียบร้อย จานชามถูกล้างเก็บ ผ้าปูที่นอน พื้นบ้านสะอาดเอี่ยมอ่อง

 

สิ่งของที่จำเป็นที่สุดสำหรับผู้ป่วยติดเตียงไม่ใช่เพียงกำลังใจของคนในครอบครัวเท่านั้น ลุงสุธีบอกเล่ากับเราว่า การได้รับบริจาคแพมเพิสจากโครงการอาสามาเยี่ยมอย่างสม่ำเสมอช่วยชุบชูหัวใจอันแห้งแล้งให้กลับมาชุ่มชื่นอีกครั้ง

 

“ในหนึ่งเดือน เราต้องใช้แพมเพิส 70 กว่าแผ่น” คิดเป็นเงินแล้วลุงสุธีก็ได้แต่ถอดถอนใจ

 

“แพมเพิส” ช่วยแบ่งเบาภาระในการดูแลผู้ป่วยติดเตียงได้เป็นอย่างมาก อย่างน้อยก็ช่วยลดเวลาในการทำความสะอาด และช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้แก่ทั้งผู้ป่วยและคนดูแลได้มากโข สำหรับผู้ป่วยมันคือความรู้สึกสะอาด สบายเมื่อต้องขับถ่าย สำหรับคนดูแลมันช่วยลดทอนความยากลำบากในการดูแลและเพิ่มเวลาพักผ่อน

 

ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาปัญหาโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้นในครอบครัว เป็นปัญหาที่แต่ละครอบครัวต้องเผชิญเพียงลำพังด้วยความจำยอม ในฐานะที่พวกเขาเคยเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศชาติให้ก้าวหน้าไปไม่มาก็น้อย วันหนึ่งเมื่อพวกเขาหมดเรี่ยวแรงลง เราทุกคนในฐานะของเพื่อนมนุษย์ ก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของการเข้าไปช่วยเยียวยา อย่างน้อยการไปเยี่ยมเยียนเพื่อให้กำลังใจกันหรือการหยิบยื่นข้าวของจำเป็นให้แก่กัน ก็ช่วยลดทอนความโดดเดี่ยวลงได้บ้าง ถึงจะไม่มากแต่ก็ไม่น้อยสำหรับผู้ป่วยติดเตียงแล้ว เขาไม่ต้องการสิ่งใด นอกจากความสุขเล็กๆน้อยๆบนเตียงนอนอันจำเจ

Share Button

ถ้าเด็กยัง(คง)ด้อยโอกาส ประเทศชาติ(จะ)ยิ่งด้อยการพัฒนา

การลงพื้นที่แต่ละครั้งของแต่ละโครงการ เช่น โครงการอาสามาเยี่ยม โครงการคอมพิวเตอร์เพื่อน้อง โครงการแบ่งปัน โครงการโรงพยาบาลมีสุข เรามักพบเจอกับเด็กในทุกเพศ และทุกวัย บ้างกำลังเผชิญชีวิตอยู่ท่ามกลางความยากจน ขาดโอกาส และโรคภัยไข้เจ็บต่างๆนานา ทั้งกับตัวเด็กเอง พ่อแม่ หรือญาติพี่น้องที่เกี่ยวข้องกับเด็กๆไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

 

ภาพของเด็กชายหญิงหน้าตามอมแมม ขี้มูกเกรอะกรัง ร่างกายผ่ายผอม ซูบซีด ยังเป็นภาพที่เห็นได้ทั่วไปทั้งในเขตชุมชนเมืองและชนบท เชื่อว่าไม่มีการลงทุนใดที่คุ้มค่าไปมากกว่าการสนับสนุนให้อนาคตของชาติมีคุณภาพชีวิตที่ดีและเหมาะสมตามพัฒนาการในแต่ละวัย

 

เด็กชายตัวผอมเกร็ง อาศัยกองขยะเป็นที่อยู่อาศัย วันๆเขาคัดแยกขยะเพื่อแลกเป็นข้าวปลาอาหารสำหรับครอบครัวที่อดยาก เด็กหญิงในชนบทห่อข้าวสวยหนึ่งทัพพีพร้อมพริกตำกับเกลือ อาหารกลางวันพอประทังชีวิตในโรงเรียนห่างไกลปืนเที่ยง เด็กในชุมชนแออัดชินตากับผู้ใหญ่ที่กำลังเล่นการพนัน เสพยาอย่างโจ้งแจ้งในชุมชน ปัญหายาเสพติดใกล้ชิดกับวิถีชีวิตเด็กเพียงแค่ชะโงกหน้าออกจากหน้าต่างบ้าน

 

เด็กยากจน ขาดโอกาสเข้าถึงสวัสดิการรัฐขั้นพื้นฐาน การเล่าเรียนเป็นเรื่องที่มีราคาต้องจ่าย จ่ายมากได้เรียนมาก จ่ายน้อยได้เรียนน้อย ชีวิตที่เลือกเกิดไม่ได้ ซ้ำเติมให้เด็กอีกหลายร้อยหลายพันชีวิตไร้สัญชาติ และถูกตัดขาดจากความเป็นพลเมือง ต้องปากกัดตีนถีบ เติบโตเป็นแรงงานแลกเงินขั้นต่ำ และเข้าไม่ถึงสวัสดิการรัฐในทุกมิติของชีวิต ไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่มีการศึกษา จน ป่วย และตายลงอย่างไร้ตัวตน เป็นวัฎจักรไม่จบสิ้น

 

สถานการณ์เด็กด้อยโอกาสในประเทศไทย จากข้อมูลสถิติของกรมการปกครอง ปีพ.ศ.2560 สร้างความกังวลใจไม่น้อยต่ออนาคตของชาติ ใจความสำคัญของปัญหาในขณะนี้ คือ ประเทศไทยมีประชากรเด็ก (ที่อายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์) อยู่จำนวน 13,825,194 คน เป็นเด็กด้อยโอกาสอยู่ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคน ส่วนใหญ่พบเป็นเด็กยากจน ร้อยละ 80 และ ร้อยละ 6 ที่เป็นกลุ่มเด็กหลายชาติพันธุ์ ที่ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนสิทธิด้านสาธารณสุขทั้งหลักประกันสุขภาพและการรักษาที่ชัดเจน และเป็นกลุ่มเด็กที่มีความพิการทางสติปัญญาและออทิสติก เป็นจำนวน 220,842 คน โดยมีความด้อยโอกาสในหลายด้านรวมอยู่ด้วยนั้น พบว่าเข้าถึงระบบบริการทางสุขภาพ เพียงร้อยละ 5.59 และเข้าถึงระบบการศึกษา เพียงร้อยละ 25.33 ซึ่งเด็ก 2 กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงระบบบริการด้านสาธารณสุขและด้านการศึกษามากที่สุด อันจะส่งผลถึงการเจริญเติบโตตามพัฒนาการอย่างสมวัยและประเทศชาติ ยังเสียโอกาสที่สำคัญในการมีบุคลากรที่มีคุณภาพในอนาคตอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีเด็กๆอีกมากมาย ที่กำลังเผชิญชีวิต ต่อสู้ดิ้นรนเพียงลำพังอยู่ในสังคม

 

เช่น เด็กเร่ร่อน ที่มีจำนวนกว่า 30,000 คน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดในเขตกรุงเทพมหานคร บริเวณสะพานพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ชุมชนคลองเตย ชุมชนรังสิต และชุมชนธัญญบุรี รวมทั้งตามเมืองขนาดใหญ่ เช่น ด่านแม่สาย จ.เชียงราย , บริเวณโรงเกลือ จ.สระแก้ว , บริเวณชุมชนข้างทางรถไฟ สวนรัก หอนาฬิกา จ.นครราชสีมา และบริเวณพัทยา จ.ชลบุรี ซึ่งส่วนใหญ่ประสบปัญหาครอบครัวแตกแยก ถูกทารุณกรรม บางส่วนออกมาเร่ร่อนเพื่อหารายได้ช่วยเหลือครอบครัว และหนีตามเพื่อนมาเร่ร่อน

 

ลูกของแรงงานต่างด้าว มีจำนวน 250,000 คน ปัญหาสำคัญของเด็กในกลุ่มนี้คือ ขาดโอกาสทางการศึกษา เนื่องจากต้องอพยพตามผู้ปกครองเข้ามาทำงาน และเป็นกลุ่มที่ต้องเป็นแรงงานเด็ก จึงไม่มีเวลาเรียนในระบบโรงเรียนปกติ

 

เด็กติดเชื้อเอดส์ มีจำนวน 50,000 คน ซึ่งติดเชื้อเอดส์จากพ่อแม่ จึงมีจำนวนไม่น้อยที่เป็นทั้งเด็กกำพร้าและติดเชื้อเอดส์ จึงต้องเผชิญกับปัญหาทางสุขภาพ ขาดการยอมรับจากสังคมทำให้ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงบริการด้านสุขภาพ การส่งต่อของเด็กระหว่างองค์กรไม่เป็นความลับ และเด็กที่ป่วยไม่สามารถอยู่ร่วมกับครอบครัวได้

 

เด็กกำพร้าถูกทอดทิ้ง มีจำนวน 88,730 คน ซึ่งถูกทอดทิ้งตามโรงพยาบาล สถานรับเลี้ยงเด็ก และที่สาธารณะ โดยมีสาเหตุจากแม่ที่อยู่ในวัยเรียน และแม่ที่ไม่สามารถเลี้ยงลูกได้

 

เด็กถูกบังคับใช้แรงงาน โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีที่ถูกบังคับเป็นแรงงานอย่างผิดกฎหมาย มีจำนวน 10,000 คน ซึ่งมีจำนวนมากที่ยังไม่เข้าถึงระบบการคุ้มครองของกฎหมายและบริการทางสังคม เนื่องจากสถานประกอบการมีลักษณะซ่อนเร้น เช่น โรงงานขนาดเล็กตามห้องแถวและชานเมือง

 

เด็กถูกบังคับให้ค้าประเวณี รวมถึงเด็กที่ทำงานในสถานบริการ เช่น สนุ๊กเกอร์คลับ ผับ คาเฟ่ ฯลฯ โดยพบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่เข้าสู่การค้าประเวณี ไม่ต่ำกว่า 25,000 คน

 

เด็กติดยา มีจำนวน 10,000 คน โดยกระจายอยู่ในเขตกรุงเทพฯและเมืองใหญ่ รวมถึงพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

ในทุกวันของการทำงานลงพื้นที่ การได้มีโอกาสไปพบเจอพูดคุยเด็กทุกกลุ่มดังที่ได้กล่าวมา เด็กๆเหล่านี้เกิดและกำลังเติบโตอยู่ในทุกพื้นที่ในประเทศไทย และไม่ว่าจะอย่างไร การเลือกเกิดไม่ได้ของเด็กทำให้รู้ว่า บนโลกแห่งความไม่เท่าเทียมนี้ เด็กๆทุกคนควรมีคุณภาพชีวิตที่ดีเท่ากัน เด็กทุกคนควรได้มีโอกาสมีความฝัน ได้เรียนหนังสือ ได้ประกอบอาชีพการงานตามความถนัดและความสามารถ ได้มีสิทธิเลือกดำเนินชีวิต​อย่างอิสระเสรี เฉกเช่นพลเมืองของโลก เพราะเด็กทุกคนยังยิ้มให้กับทุกวันเสมอ แม้ว่าบทพิสูจน์ของชีวิตจะหนักหนาสักเพียงใด

 

การเข้าไปแบ่งเบาภาระอันหนักอึ้งบนบ่า และการปลดเปลื้องความทุกข์ยากลำบากทั้งกายและใจจึงเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ เพื่อให้เด็กทุกคนบนโลกใบนี้ ได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขตามสมควร รับผิดชอบตนเอง ครอบครัว และเผื่อแผ่ถึงผู้อื่นและสังคมได้ เท่าที่เด็กหนึ่งคนจะสามารถทำได้ด้วยใจอันเป็นสุข

Share Button

ชีวิตหวานๆขมๆ และอมเปรี้ยวของเด็กโรงเรียนไร่ส้มวิทยา

โรงเรียนไร่ส้มวิทยา ตั้งอยู่กลางไร่ส้มนับพันไร่ ในหมู่ที่ 6 ตำบลแม่ข่า อำเภอฝาง จังหวัดเชียงราย

 

ปัจจุบันเปิดการเรียนการสอนตามหลักสูตรแกนกลาง และมีหลักสูตรเสริมตามความถนัด ความสนใจ ความจำเป็นและธรรมชาติการใช้ชีวิตของเด็กและพื้นที่ จึงไม่แปลกหากจะเห็นเด็กตัวใหญ่นั่งปะปนอยู่กับเด็กเล็กที่กำลังอ่านเขียนก.ไก่เพราะสำหรับที่นี่ อายุปัจจุบันของเด็กไม่ใช่เรื่องสำคัญ.. แต่โอกาสในการได้ศึกษาเล่าเรียนเท่านั้น ที่ทำให้ทุกคนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีวิชาความรู้ติดตัวไปจนตาย

 

ท่ามกลางแดดร้อนจัด ต้นส้มตั้งตระหง่านทอดตัวยาวไปถึงทิวเขา มดงานตัวเล็กตัวน้อยออกทำงานแต่เช้ามืด พวกเขาคือกำลังหลักอันขยันขันแข็งทางกลางแดดฝน

 

ไม่มีใครอยากทิ้งถิ่นกำเนิดของตัวเองเพื่อเดินทางออกไปให้ไกลห่างจากบ้านเกิด

 

แรงงานในไร้ส้มทุกคนรู้ดี หากพอมีกินมีใช้ ไร้สงคราม พวกเขาไม่จำเป็นต้องออกเร่ร่อนเพื่อเอาชีวิตรอด

 

ลูกเล็กเด็กแดง ในนามเด็กต่างชาติ ไร้สัญชาติ ไร้รากกำเนิด เกิดขึ้นและเติบโตใต้ร่มเงาต้นส้มทั้งหมดขาดโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษาภาคบังคับ ด้วยข้อจำกัดต่างๆ นานา

 

ถึงแม้ว่าระบบการศึกษาไทยจะเปิดกว้างรับเด็กทุกคนที่เกิดบนแผ่นดินไทยให้สามารถเข้าเรียนได้แต่เด็กลูกหลานแรงงานไร่ส้ม มีภารกิจต้องดูแลน้องเล็กๆและบางคนอายุก็ห่างไกลจากเพื่อนๆในวัยเดียวกันมานานแล้ว การกลับเข้าไปเรียนร่วมในชั้นเรียนจึงเป็นเรื่องยาก ลำบากทั้งทางการเดินทาง ค่าใช้จ่าย และต้นทุนทางสังคม

 

อาคารเรียนที่มีอยู่หนึ่งหลังในตอนนี้ รองรับนักเรียนชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เด็กนักเรียนราว 130 คน สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันใช้ห้องเรียนในอาคารและบ้างก็ออกมาเรียนรู้นอกห้องเรียน ใต้ต้นไม้ใหญ่หรือแปลงเกษตร

 

ไม่มีอะไรยิ่งใหญ่สำหรับชีวิตเล็กๆในไร่ส้ม มากไปกว่าการศึกษาขั้นพื้นฐานอีกแล้ว

 

หลังจากนี้ เมื่อพวกเขาเติบโตขึ้น เขาหรือเธออาจจะเดินตามรอยพ่อแม่ เป็นแรงงานในไร่ส้ม แต่พวกเขาจะรู้ถึงสิทธิอันพึงมีพึงได้ของตัวเองในฐานะที่ได้เกิดบนผืนแผ่นดินไทย เช่นเดียวกับเด็กคนอื่นๆเกิดและเติบโตอยู่ทั่วประเทศ ทั้งที่มีเลขประจำตัว 13 หลักเพื่อแสดงสถานะและแม้ว่าไม่มีสถานะบุคคล เด็กทุกคนก็เท่าเทียมกัน

 

ด้วยมูลนิธิกระจกเงา ตระหนักว่า “เด็กทุกคนบนโลกใบนี้ ไม่ว่าจะเป็นสัญชาติ ชาติพันธุ์ใด ควรได้รับโอกาสเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐาน อย่างเท่าเทียม และไม่เลือกปฎิบัติ” ดังเจตนารมณ์ของปฏิญาสากล และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก “เด็กทุกคน ควรจะต้องได้รับการคุ้มครองและการพัฒนา”  

 

จนเกิดแนวคิดในการดำเนินการจดทะเบียนการจัดการศึกษาขั้นฐาน ภายใต้กฎกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยสิทธิขององค์กรชุมชนและองค์กรเอกชนในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ. 2555  และเมื่อวันที่ 23 เดือนมีนาคม พ.ศ.2561 โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 3 พิจารณาอนุมัติเห็นชอบในการจัดตั้งศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2545 และฉบับที่ 3 พ.ศ.2553 และกฎกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยสิทธิองค์กรชุมชนและองค์กรเอกชนในการจัดการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานในศูนย์การเรียน พ.ศ.2555 ในนาม  “ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา มูลนิธิกระจกเงา”

Share Button

สารแห่ง “ความสุข” ที่มีชื่อเรียกว่าการ “แบ่งปัน”

ใกล้สิ้นปีเข้าไปทุกที ..บางทีคนเราก็ยังไม่รู้ว่าความสุขที่ผ่านมานั้นใช่เรื่องจริงหรือไม่!!

เมื่อถึงเวลาข้ามปี โอกาสแห่งการทบทวนถึงทุกข์สุขตลอดสิบสองเดือนที่ผ่านมาก็เริ่มต้น

 

ความสุขคืออะไร..เชื่อว่าทุกคนเคยค้นหาคำตอบในใจ ดังเช่น นักจิตวิทยาชื่อ วีนโฮเฟ่น (1997)  ให้นิยามของ “ความสุข”ว่า คือการประเมินของแต่ละคนว่าชื่นชอบชีวิตโดยรวมของตนเองมากแค่ไหน หมายถึงว่าเรารู้สึกชอบหรือพึงพอใจกับชีวิตของเรานั่นเอง คนที่มีความสุขคือคนที่ไม่รู้สึกกังวลกับชีวิต ชอบสนุกอยู่กับเพื่อนฝูง และชอบเผชิญกับประสบการณ์ใหม่ๆ

 

การที่เราบอกว่าเรามีความสุข จึงหมายถึงเรารู้สึกชอบหรือพึงพอใจกับชีวิตเรานั่นเอง คนที่มีความสุขนั้น เป็นคนที่แทบจะไม่รู้สึกวิตกกังวลกับชีวิตตนเอง  มีอารมณ์มั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงขึ้นลงง่าย และมักจะหวังว่าตนจะพบเจอสิ่งดี ๆ ในอนาคต ส่วนคนที่ไม่มีความสุขนั้น มักจะรู้สึกว่าชีวิตตัวเองย่ำแย่ ไม่สนใจความรู้สึกของคนอื่น หรือถึงขนาดคิดฆ่าตัวตายก็มี เพราะฉะนั้นความสุขจึงเหมือนน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตเรา

 

ในขณะที่ Robert Waldinger ได้นำเสนอวิจัยจาก Harvaed เมื่อปี1938 ในการศึกษาชีวิตของอาสาสมัครกว่า 724 คน รวมถึงคู่สมรสและลูกหลานอีกกว่า 2000 คน ซึ่งรวบรวมข้อมูลและสรุปอย่างชัดเจนว่า “ความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดช่วยให้คนมีสุขภาพดีและมีความสุข” และทั้งนี้ม่มีทางลัดที่จะนำเราไปสู่ชีวิตที่ดีได้ และการสร้างความสัมพันธ์ต้องการเวลา แรงกายและใจที่ทุ่มเท คนที่พบว่ามีความสุขในบั้นปลาย มักจะเป็นคนที่รู้จักสร้างและรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัว รวมถึงเพื่อนและสังคม ให้เวลากับคนที่เรารัก เข้าหาคนที่อยู่ไกลเรา และการมีส่วนร่วมในสังคมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการมีชีวิตที่ยืนยาว ในขณะที่การอยู่อย่างโดดเดี่ยวจะทำให้ชีวิตแย่และสั้นลง คนที่สร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ดี จะมีอายุยืนยาวมากกว่าคนที่ใช้ชีวิตและมีความสัมพันธ์ที่ขัดแย้ง

 

ไม่ว่าหน้าตาของความสุขของแต่ละคนจะเป็นเช่นไร..แต่ในโลกที่นับวันยิ่งจะโดดเดี่ยวด้วยเทคโนโลยีและรูปแบบการใช้ชีวิตที่รวดเร็ว ออนไลน์ ที่จำกัดไว้แค่เพียงพื้นที่ส่วนตัวบางครั้งความสุขจึงถูกแบ่งปันแค่เพียงการกดไลท์กดแชร์ เพียงชั่ววูบ ชั่วครั้งชั่วคราว

 

หากเมื่อเราเดินออกจากห้องอันแสนอบอุ่นและปลอดภัย เพื่อลองดื่มด่ำกับความสุขเล็กๆในวันสุดท้ายสิ้นปีเพื่อสัมผัสกลิ่นของฤดูหนาว ลมที่พัดผ่านซอกตึก และพลุหลากสีทะยานขึ้นฟ้าสัญลักษณ์แห่งส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ .. ก่อนเอ่ยคำว่าสวัสดีปีใหม่ให้กับคนที่อยู่เคียงข้าง และกล่องข้อความส่งสัญญาณดังระรัว .. Happy new year

 

และแล้วเวลาแห่งการเริ่มต้นแบ่งปันความสุขให้กับผู้อื่นก็เริ่มขึ้น ปีใหม่เดินทางมาถึงอย่างเป็นทางการแล้ว

 

มูลนิธิกระจกเงาเปิดรับการแบ่งปันในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นของขวัญของเล่น สำหรับเด็กในทุกวัย อาสาสมัครรับของบริจาคในวันหยุดยาวช่วงปีใหม่ และข้าวของเครื่องใช้มือสอง ของเก่าที่จะถูกนำไปเล่าเรื่องราวในบ้านหลังใหม่  เพื่อทำให้ให้ปีใหม่ของคุณไม่แค่เรื่องราวที่ผ่านมาแล้วผ่านไป.. แต่เป็นการเติมความสุขให้เต็มหัวใจของคนที่ยังรอความหวังและโอกาสในการสร้างชีวิตให้ดีขึ้นในทุกๆวัน และไม่ว่าจะวันหยุดหรือวันไหนๆ เราจัดเตรียมพื้นที่ไว้เพื่อรองรับของบริจาคของทุกคนเพื่อส่งต่อให้กับทุกคนและทุกครอบครัวในทุกเช้าวันใหม่ของทุกๆปี

Share Button

แบ่งกันเล่น

ปลูกต้นกล้าแห่งการเป็นผู้ให้ ด้วยการ“แบ่งกันเล่น”

ถ้าเรามีของเล่นสุดรักสุดหวงอยู่ในอ้อมกอด เราจำเป็นต้องแบ่งให้คนอื่นหรือไม่

ไม่..ไม่จำเป็น ของรักของหวงต้องอยู่ดูแลรักษาดวงใจของเราไปจนกว่า..

เมื่อเวลาถึง “พร้อม” เราจะสามารถส่งต่อของเหล่านั้นให้กับใครอีกสักคนหนึ่งด้วยความเต็มใจ

 

เช่นกัน การปลูกฝังให้เด็กรู้จักเป็นผู้ให้ ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์จิตใจอันบริสุทธิ์ด้วยการเสียสละตุ๊กตาหรือของเล่นชิ้นโปรดเพราะนั่นอาจทำให้เกิดข้อสงสัย และทำให้เกิดบาดแผลในใจที่มีชื่อว่าการให้..ไปตลอดชีวิต

 

หากแต่เริ่มต้นที่ของเล่น ชิ้นที่เขาเล่นจนอิ่มใจและพร้อมแล้ว..สำหรับการส่งต่อให้คนอื่นได้เล่นบ้าง

และไม่ว่าจะอย่างไรคุณภาพของการให้วัดกันที่การรู้จักหยิบยื่นของเล่น แค่เพียงชิ้นเดียวให้เพื่อน

ก็เท่ากับว่าต้นกล้าแห่งการแบ่งปันได้งอกงามขึ้นแล้วในใจของเขาและเธอ

 

ความรู้สึกยินดีปรีดาในการได้มีโอกาสหยิบยื่นน้ำใจให้แก่เพื่อนมนุษย์

เพียงพอแล้ว .. สำหรับคำชื่นชมเพื่อให้เขาได้เห็นถึงคุณค่าแห่งการกระทำที่ดีงามและนำไปสู่การรู้จักคุณค่าของตัวเอง

 

หน้าที่สำคัญของพ่อแม่ผู้ปกครองที่อยู่ใกล้ชิดเด็กในวัย 3-6 ปี คือการชี้ให้ลูกหลานได้เห็นถึงรูปธรรมของการให้

เช่น การตั้งคำถาม..เมื่อลูกได้รับสิ่งของจากเพื่อน ลูกรู้สึกเช่นไร (รู้สึกหัวใจพองโต ดีใจ หัวเราะ หรือยิ้มกว้าง)

หรือถ้าหากลูกถูกแย่งของรักไปจากมือ ..ความรู้สึกของลูกเป็นอย่างไร (รู้สึกไม่พอใจ โกรธ หรือร้องไห้)

 

เมื่อเขาได้เรียนรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้นในสถานการณ์จริงแล้ว ..เขาจะเลือกเป็นผู้ให้ ได้ด้วยตัวเขาเอง

ร่วมกันปลูกต้นกล้าแห่งการแบ่งปันให้กับลูกๆ เพื่อสร้างเป็นต้นทุนที่ล้ำค่าแห่งชีวิตให้แก่เขา

 

โครงการ “แบ่งกันเล่น” มูลนิธิกระจกเงาขอทำหน้าที่ส่งต่อของเล่นมือสอง เพื่อสร้างความสุขเบอร์หนึ่งให้กับเด็กป่วยในโรงพยาบาล เด็กไร้สัญชาติ จังหวัดเชียงราย ที่กำลังรอคอยของขวัญในวันเด็ก และเพื่อเด็กยากจนที่ขาดโอกาสทั้งในชุมชนแออัดเมืองและชนบททุรกันดานทุกคน ได้มีโอกาสเล่นสนุกตามวัยในวาระส่งท้ายปีเก่าต้อนรับความสุขในปีใหม่นี้ด้วยความขอบคุณ

 

Share Button

การ“แบ่งปัน” เปลี่ยนทุกข์ให้เป็นสุขได้จริง เช่นเดียวกับความร้อนของไฟ

          ดูเหมือนว่าฤดูร้อนปีนี้จะร้อนแรงมากกว่าทุกๆปี ไม่ใช่แต่อุณหภูมิที่ร้อนขึ้น แต่จำนวนวันที่ความร้อนแผดเผาเราทุกๆคนก็มากวันขึ้นเช่นกัน ..

          แต่ทว่าเปลวแดดในยามเที่ยงอาจเทียบไม่ได้กับเปลวไฟในยามสาย ณ ชุมชนหัวโค้ง คลองเตย กรุงเทพมหานคร ชุมชนแออัดเมืองที่บรรจุผู้คนหลายพันชีวิตจากหลากหลายที่มาไว้อย่างไม่รังเกียจรังงอน

          บ้านที่ประกอบร่างจากเศษไม้ ไม้อัด แผ่นยิปซั่ม ไวนิล แผ่นพลาสติกและ นานา วัสดุถูกประกอบสร้างเป็นบ้านหนึ่งหลัง บางบ้านปลูกสร้างอย่างดี สามารถอาศัยอยู่ได้ถาวร บางหลังถูกปลูกไว้สำหรับเพียงเพื่ออยู่อาศัยคุ้มแดดคุ้มฝน

          ชายสูงอายุร่างกายถูกจองจับด้วยโรคอัมพฤตครึ่งซีก กำลังขุ้ยเขี่ยหาเสื้อสักตัวจากกองเพลิง เป็นเสื้อของเขาเองที่หาจนเจอ เขาบรรจงเอากรรไกรตัดรอยไหม้ออก พอได้เสื้อตัวที่คุ้นเคยกลับมาสวมใส่อีกครั้ง แม้ว่าจะเป็นรูอยู่บ้างก็ไม่เป็นไร

          ต้นเพลิงของไฟเกิดขึ้นที่บ้านของชายชรา ที่อาศัยอยู่กับหญิงชราอีกหนึ่งคน  เป็นบ้านที่มีแต่ผู้สูงอายุอาศัยอยู่ ทั้งคู่มีรายได้จากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากรัฐบาล บางส่วนได้รับการช่วยเหลือจากญาติที่แวะมาเยี่ยมเยียนดูแล

          ด้วยอากาศร้อนในช่วงนี้ ร้อนจะเกินที่จะทนไหว พัดลมตัวเก่าถูกใช้บริการอย่างต่อเนื่องแทบไม่ได้หยุดหย่อน เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านเก่าชำรุดเกือบทุกอย่าง สายไฟเก่าเกือบกว่าจะรับกระแสไฟที่ไหลเวียนภายในบ้าน สุดท้ายเมื่อไฟฟ้ารัดวงจร บ้านทั้งบ้านจึงถูกเผาวอดวายเหลือเพียงเถ้าถ่าน

          เพียงพริบตาเดียว เหลือเพียงภาพจำของอดีตหมุนเวียนเข้ามาในความทรงจำ

          ด้วยสภาพบ้านในชุมชนแออัดเมืองแทบจะใช้ฝาบ้านแผ่นเดียวกัน หลังคาบ้านเกยทับกัน ทุกหลังพึ่งพาอาศัยร่มเงาและตั้งตระง่านอยู่ได้ด้วยการพึ่งพิงกันและกัน ไม่ใช่แค่เพียงโครงสร้างของบ้าน แต่หมายความรวมถึงความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนบ้านด้วย จากข้อตกลงของทุกคนในชุมชนที่ว่าเมื่อบ้านหลังใดหลังหนึ่งเกิดไฟไหม้ขึ้น บ้านแวดล้อมจะต้องยินยอมเปิดทางให้รถดับเพลิงเข้าไประงับเหตุยังบ้านต้นเพลิง ทั้งนี้เพื่อรักษาชุมชนทั้งชุมชนไว้ บ้านอีกห้าหลังที่สละบ้านเพื่อเปิดทางจึงแทบไม่เหลือความเป็นบ้านเพื่ออยู่อาศัยอีกต่อไปเช่นกัน

          ทันใดเมื่อความเดือดร้อนส่งต่อมาถึงกัน โครงการแบ่งปัน จัดเครื่องอุปโภคบริโภค สิ่งจำเป็นเช่นเสื้อผ้า  เครื่องนุ่งห่ม และข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือนที่จำเป็นต่างๆ หนึ่งคันรถส่งตรงถึงผู้ประสบภัยในทันที

          ข้าวของบริจาคที่หมุนเวียนเข้ามายังโครงการแบ่งปันถูกปันต่อให้กับบ้านทั้ง 5 หลังเพื่อช่วยบรรเทาความร้อนใจและให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตเป็นปกติที่สุดเท่าที่จะทำได้

          หลังจากนี้ทีมงานโครงการแบ่งปันเพื่อการเปลี่ยนแปลงจะลงพื้นที่อีกครั้งร่วมกับมูลนิธิดวงประทีป เพื่อเติมเต็มบ้านที่ว่างเปล่าให้กลับมาเป็นบ้านในความทรงจำอีกครั้ง

          เราพยายามทำให้ของเหลือใช้จากทุกคน ตู้เย็น พัดลม หม้อหุงข้าว เสื้อผ้า และตู้ เตียง ได้มีโอกาสกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ทั้งนี้เพื่อสร้างความหมายใหม่ให้กับบ้านที่ยังขาดแคลนและเดือดเนื้อร้อนใจทุกหลังอย่างทั่วถึงในทุกพื้นที่ที่มีความต้องการ

Share Button

ไม่มีเหตุมีผล เมื่อ “บ้าน” เต็มไปด้วยความว่างเปล่าที่เจ็บปวด

ในดวงตาอันว่างเปล่า เด็กชายปาดน้ำตาเป็นครั้งสุดท้ายก่อนตัดสินใจขึ้นรถไฟ จุดหมายปลายทางคือสถานีหัวลำโพง  ห่างไกลจากบ้านเกิด สิบกว่าชั่วโมง แรกเริ่มหัวใจของเขาเต้นระรัวด้วยความกลัวระคนความตื่นเต้น จบเรื่องราวความเจ็บปวดที่ผ่านมาแล้ว.. เด็กชายคิดในใจ

ชีวิตที่เหลือต่อจากนี้ .. ไม่มีบ้าน ไร้ชื่อเสียงเรียงนาม..ผู้คนเรียกขานเขาว่า “เด็กเร่ร่อน”

เช่นกันในดวงตาอันพร่าเลือน แม่เฒ่าพยุงร่างอันอ่อนล้าออกเดินทางอีกครั้ง จุดหมายปลายทางคือที่ไหนก็ได้ ..ที่ห่างไกลจากคำว่าภาระของลูกหลาน เป็นครั้งแรกของหญิงชราที่กล้าหาญออกเดินทางไกล จบการงานและความเป็นแม่ชั่วนิรันดร์ ..ด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจและสิ้นหวัง

ชีวิตที่เหลือต่อจากนี้ ไม่มีบ้าน ไร้คำเรียกขานในนามของความเป็นแม่..                                            ผู้คนเรียกขานเธอว่า “คนไร้บ้าน”

เชื่อว่า..ทุกวินาทีมีเด็กและผู้สูงอายุต้องทุกข์ทนอยู่ภาวะยอมจำนนต่อโชคชะตาในบ้านหลังใดหลังหนึ่ง เป็นบ้านหลังที่เขาเกิดและเติบโต เช่นเดียวกันบางทีอาจจะเป็นบ้านที่เธอสร้างให้ลูกจากน้ำพักน้ำแรง   ด้วยความรู้หรือไม่รู้ ทุกคำพูดเสียดสี ทุกการกระทำที่กักขังให้รู้สึกไร้อิสรภาพ ในฐานะของผู้อาศัย   บนเงื่อนไขทางอารมณ์ที่ขึ้นๆลงๆตามกราฟของเศรษฐกิจ รายได้ ค่าข้าวปลาอาหารรายวัน

เด็กหลายคนถูกทอดทิ้งให้เดียวดาย คนชราจำนวนมากถูกปล่อยให้มีแต่ชีวิตแต่ไร้ความสุขในบั้นปลาย ในฐานะของการเป็นพ่อแม่ หรือลูกหลาน พวกเขาเป็นเพียงภาระที่ต้องดูแลตามหน้าที่

ในฐานะของความเป็นมนุษย์ ..
เมื่อถึงเวลาอันสมควรในบ้านที่ไร้ค่า พวกเขาเดินทางตามหาคุณค่าในตัวเองอีกครั้ง

ในฐานะของลูก หมดสิ้นสิ่งสงสัย ไม่เหลือสิ่งใดให้ต้องตอบแทนบุญคุณ
ในฐานะของพ่อแม่ หมดสิ้นสิ่งสงสัย ไม่เหลือสิ่งใดให้ต้องเลี้ยงดู ฟูมฟัก
เราวัดรอยร้าวที่เกิดจากผลของความรุนแรงที่กระทบจิตใจไม่ได้ด้วยไม้บรรทัดใด

คำพูดเพียงหนึ่งคำ เสียงตวาดดังจากความพลั้งเผลอไม่ตั้งใจ กิริยาท่าทางอันเฉยชาไร้อารมณ์เพียงเสี้ยวของความรู้สึกไม่พึงพอใจ..ไม่ว่าจะด้วยอารมณ์โกรธที่ไม่ได้ให้ความหมายถึงความไม่รักหรือเกลียดชัง  แต่ด้วยหัวใจที่กำลังเปราะบาง..อ่อนไหว ด้วยความเป็นเด็ก ด้วยความแก่ชรา

สิ่งเหล่านั้นนำพาร่างกายและจิตใจให้เตลิดเปิดเปิง..ไร้ทิศไร้ทาง
เมื่อเวลาถึงพร้อม..ไม่วันใดก็วันหนึ่ง   เป็นพวกเขาเอง..ที่สมัครใจเดินออกจากบ้านด้วยความเต็มใจ..

ไม่เป็นภาระแก่กันอีกแล้ว..ไม่มีบุญคุณใดให้ต้องทดแทน

 

Share Button

“น้ำใสใจจริง” บนเส้นทางมิตรภาพ..เราจะคิดถึงกันและกันเสมอ

ฉันติดตามอ่านงานเขียนของ ว.วินิจฉัยกุลมาตั้งแต่เด็ก จนโตเป็นสาวและตอนนี้กำลังเข้าวัยผู้ใหญ่กลางคน หนังสือที่ฉันหยิบมาอ่านเสมอๆเพื่อเติมไฟในตัวเอง คือนวนิยายเรื่อง “น้ำใสใจจริง” ฉันหลงรัก
บรรยากาศของมหาวิทยาลัยภูธร กับตัวละครที่ถือว่าเป็นผู้บุกเบิกรุ่นแรกของที่นั่น ความไม่พร้อมในทุกประการของความใหม่ ใหม่ทั้งสถานที่ ใหม่ทั้งอาจารย์ ใหม่ทั้งลูกศิษย์ คนงานและภารโรง ดูเหมือนว่าทุกสิ่งยังรอการเปิดตัวเพื่อให้ทุกคนร่วมสร้างความทรงจำที่ดีให้แก่พื้นที่แห่งนี้

 

ยิ่งได้รู้ว่านวนิยายเรื่องนี้แต่งจากเรื่องจริง บรรยากาศจริงด้วยแล้ว ก็ยิ่งพาลให้ฉันอยากรู้อยากเห็นว่าในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ปัจจุบันคือที่ใด ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ในเสี้ยวหนึ่งของความรู้สึก ฉันอยากพาตัวเองไปอยู่ในที่ใหม่ๆกับเขาบ้าง อยากได้รับบรรยากาศของความแปลกใหม่เกินคาดเดา ที่ดูเหมือนว่าจะลำบาก แต่ก็สนุกสนาน และสร้างประสบการณ์ชีวิตและความทรงจำที่ยากจะลืมเลือน

 

ว่ากันว่าเหตุการณ์เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในนวนิยาย “น้ำใสใจจริง” เกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 2510 กว่าๆ ซึ่งถือว่าเป็นยุคที่มีชื่อว่า“ยุคสายลมแสงแดด” คือกล่าวกันว่า ในช่วงพ.ศ. 2510-2516 ก่อนเกิดเหตุการณ์สลายการชุมชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในยุคนั้นเป็นช่วงที่นักศึกษาไม่ได้ให้ความสนใจกับเหตุการณ์บ้านเมือง ความเป็นไปของสังคม คลั่งแฟชั่น งานรื่นเริงสนุกสนาน และใช้ชีวิตสนุกไปวัน สไตล์เพลงที่ตัวละครนิยมอยู่ในยุคสมัยช่วงปลาย 60’s ซึ่งช่วงนั้นมีทั้ง Swing/Big Band, Rock&Roll, Folk Rock, R&B และยุคต้นของ Disco และในไทยก็จะเป็นเพลงลูกกรุง ลูกทุ่ง วงสตริงคอมโบ้ และโฟล์คซอง

 

ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาปรากฏให้เห็นเด่นชัดจากเรื่องราวที่อยู่ในเนื้อหาของนวนิยาย ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่นกระโปรงสั้นมินิสเกิร์ต,หรือกางเกงเอวสูงขาบาน ผู้ชายไว้ผมยาว แต่งตัวจัดจ้าน การร้องเพลงลูกกรุง และวงดนตรีสตริงคอมโบ้ ตามยุคสมัย ซึ่งตัวละครหลักในเรื่องเช่น ครีม หนิง รุ้ง ทัดภูมิ คือแบบฉบับของวัยรุ่นที่ทันสมัยที่สุดในยุคสมัยนั้น

 

ว.วินิจฉัยกุล เล่าถึงชีวิตของสมาชิกรุ่นบุกเบิกทุกคนอย่างละเอียด บรรยายทำให้เราเห็นภาพการใช้ชีวิตอยู่ที่นั้นในแต่ละวัน แต่ละเทอมอย่างตั้งใจ รับรู้ถึงความลังเลสับสน เพราะที่นี่ทั้งห่างไกล การเดินทางยากลำบาก สิ่งอำนวยความสะดวกก็ไม่มี ไฟฟ้าน้ำปะปาก็ติดๆดับๆ แถมห้องหอที่นอนก็ต้องอยู่ร่วมกับเพื่อน ความเป็นส่วนตัวจึงไม่ค่อยมี ในปีแรกของทุกคนจึงดูขลุกขลัก และมีปัญหาสารพันในทุกวัน ไม่ใช่แค่นักศึกษา แต่อาจารย์เองก็ต้องปรับตัวปรับใจกับการใช้ชีวิตอยู่มากเช่นกัน เพราะส่วนมากเป็นคนกรุงเทพเคยชินกับความสะดวกสบายจนบางครั้งก็ท้อแท้อยากกลับไปใช้ชีวิตสบายๆเช่นเดิม

เมื่อผ่านปีแรกไปแล้ว หลายคนจึงตัดสินใจไม่เรียนต่อที่เดิม ไปเอนทรานซ์ใหม่เพื่อเลือกเรียนในมหาวิทยาลัยในเมืองหลวง แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นหนึ่งปีในรั้วมหาวิทยาลัย และการเป็นคนรุ่นแรก รุ่นบุกเบิกทำให้ทุกคนตัดสินใจใหม่ ถึงแม้ว่าจะสอบติดในมหาวิทยาลัยชั้นนำในกรุงเทพแล้วก็ตาม ในวันเปิดเทอมของชั้นปีที่ 2 ทุกคนกลับมาเจอกันอีกครั้ง ด้วยความรู้สึกผูกพันกับทุกอย่างที่เคยร่วมทุกข์ร่วมสุขมา เนื้อหาในแต่ละตอนสอดแทรกเรื่องราวมิตรภาพของความเป็นเพื่อน ความต่างในทุกรูปแบบทั้งนิสัย ฐานะ และพื้นฐานครอบครัว แต่สุดท้ายความต่างกลับหลอมรวมให้เกิดเรื่องราวสนุกสนานน่าจดจำมากมาย

 

ที่ขาดไม่ได้คือเรื่องราวความรักของคนหนุ่มสาว ซึ่งผู้เขียนเล่าได้อย่างแนบเนียน ดูเหมาะสมไม่เกินวัย แต่ก็ทำให้รู้สึกถึงความรักที่จริงใจต่อกัน แม้ว่าทุกคนจะมีชีวิตอิสระ ห่างไกลจากครอบครัว แต่ความสัมพันธ์กลับอยู่ในเส้นทางที่ถูกที่ควร ทำให้เห็นถึงวุฒิภาวะของตัวละครพระเอกนางเอก โจม-ครีม ที่แสดงให้เห็นว่าพวกเขารู้จักควบคุมอารมณ์และคิดไกลถึงอนาคต ไม่ใช่เพียงความรักที่ฉาบฉวย จนแม้กระทั่งทุกคนต่างเรียนจบ ทั้งคู่มีงานทำที่มั่นคง จึงค่อยตัดสินใจบอกรักและแต่งงานกัน รวมถึงความรักที่คาดไม่ถึงของทัดภูมิและอ้อมที่ทำให้เราประหลาดใจและอมยิ้มไปกับทั้งคู่ พล็อตคู่กัดที่รักกันในตอนท้ายยังทำหน้าที่ได้ดีเสมอมา ไหนจะเพื่อนๆคนอื่นๆ ที่อยู่ในเรื่องราว ทุกคนต่างมีที่มาที่ไปแตกต่างกันไปตามเส้นทางที่เลือก และไม่ว่าจะอย่างไร สิ่งเดียวที่พวกเขารู้สึกเช่นเดียวกัน คือ “น้ำใสใจจริง”ที่มีให้แก่กันตั้งแต่วันแรกที่พบเจอกัน จนเติบโตเป็นผู้ใหญ่

 

ในวันที่ฉันรู้สึกเหนื่อยล้าจากการทำงานหรืออุปสรรคต่างๆที่ต้องเผชิญในแต่ละวัน ความทุกข์มันตอกย้ำว่าการเติบโตเป็นผู้ใหญ่จำเป็นต้องอาศัยจิตใจอันแข็งแกร่ง ฉันมักจะกลับมาอ่านหนังสือเล่มนี้อีกครั้งเพื่อจะได้ไม่ลืมว่า ในช่วงชีวิตหนึ่ง ตอนยังเป็นหนุ่มสาวมหาวิทยาลัยชีวิตฉันมีความสุขมากแค่ไหน ไม่ใช่ก็ใกล้เคียง เวลาของช่วงชีวิตเช่นนั้น หาซื้อที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว และที่สำคัญมันคือเชื้อฟืนชั้นดีที่ช่วยสุมไฟสร้างชีวิตเราให้โชติช่วงอย่างวันนี้..

 

“เป็นเวลาที่ดีที่สุดของชีวิต

เมื่อเราผ่านพ้นความไร้เดียงสาอย่างเด็กๆมาแล้ว

แต่ยังไม่เคยชินกับความขมขื่นของเวลาแห่งความเป็นผู้ใหญ่

เรามีวันเวลาระหว่างกลาง-วันของวัยหนุ่มสาว

เอาไว้เป็นความทรงจำที่ดีที่สุดของเรา”  

ว.วินิจฉัยกุล

 

“น้ำใสใจจริง เป็นบทประพันธ์ของ ว.วินิจฉัยกุล (คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์) ที่เขียนมาจากประสบการณ์ชีวิตจริง ในการบรรจุเป็นอาจารย์ที่ ม.ศิลปากร ทับแก้ว (วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม) ตามประวัติกล่าวว่า ม.ล.ปิ่น มาลากุล ได้ขยายวิทยาเขต ม.ศิลปากร จากวังท่าพระ ไปที่พระราชวังสนามจันทร์ ใช้บริเวณพระราชวังของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 เป็นส่วนหนึ่งของวิทยาเขตนี้ เมื่อ พ.ศ.2512 คุณหญิงวินิตาได้บรรจุเป็นอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ ซึ่งเปิดสอนครั้งแรกที่นั่น”

 

Share Button