“อ่าน” เพื่อทำให้คนเป็นคนโดยสมบูรณ์

10 กว่าปีที่ผ่านมา โครงการอ่านสร้างชาติ ส่งต่อหนังสือบริจาคหนึ่งล้านกว่าเล่มกระจายไปยังห้องสมุดในทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย สิ่งสำคัญคือการคัดเลือกแต่ “หนังสือดีและมีประโยชน์” เท่านั้น ด้วยเชื่อว่าหนังสือดีๆสักหนึ่งเล่มจะสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่าให้แก่ผู้อ่าน

การบริจาคหนังสือ จึงไม่ใช่เพียงเก็บหนังสือจากชั้นลงกล่องแล้วปิดผนึกส่งต่อมายังมูลนิธิฯ แต่ผู้บริจาคจะต้องพิจารณาหนังสือทุกเล่มเสียก่อนว่าเป็นหนังสือที่ดีและมีประโยชน์สำหรับผู้รับหรือไม่ด้วยตัวของผู้บริจาคเอง เพื่อสร้างวัฒนธรรมในการบริจาคหนังสือแบบใหม่ให้เกิดขึ้นในสังคม

หนังสือที่เข้ามาอยู่ในโกดังอ่านสร้างชาติมีทุกประเภท ทั้งหนังสือเรียน นิยาย วรรณกรรม นิทาน นิตยสาร สารคดี หนังสือพิมพ์ หนังสือภาพ และอีก นา นา ประเภทเกือบทุกแขนงของสิ่งพิมพ์บนโลกใบนี้ เช่นกันความต้องการหนังสือเพื่อนำไปบรรจุในห้องสมุดเล็กๆตามชนบท ส่งออเดอร์หนังสือมายังโครงการไม่ขาดสาย ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปยังยุคดิจิตอลออนไลน์ รวดเร็วเพียงใด แต่ห้องสมุดขนาดเล็กในโรงเรียนตามชนบทห่างไกลยังขาดแคลน “หนังสือดีๆ” อีกกว่าหลายพันหลายหมื่นเล่ม

ในโกดังหนังสือขนาดใหญ่ ในทุกวันมีรถเข้าออกขนหนังสือที่ได้รับบริจาคจากทั่งสารทิศ ทุกเล่มผ่านมือของเหล่าคนทำงานคัดแยกหนังสือที่เป็นทั้งอาสาสมัครและคู่ค้า ที่กำลังช่วยกันคัดแยกหนังสือตามออเดอร์อย่างขมักขะเม้น เพราะพวกเขารู้ดีกว่ายังมีเด็กๆที่กำลังรอคอยอ่านหนังสือเหล่านี้อยู่ทั่วประเทศ และไม่ว่าจะย้ำกับผู้บริจาคว่าขอแต่หนังสือดีๆ บางครั้งก็ยังมีหนังสืออื่นๆหลุดรอดมาบ้าง ทางโครงการจะชี้แจงกับผู้บริจาคว่าหนังสือเหล่านั้นจะถูกคัดแยกเป็นขยะเพื่อนำไปขาย เปลี่ยนเป็นเงินเพื่อใช้เป็นงบประมาณในการจัดส่งหนังสือไปยังห้องสมุดต่างๆ เพราะฉะนั้นหนังสือทุกเล่มถูกนำไปใช้ประโยชน์และสร้างเรื่องราวดีๆอีกมากมาย

ไม่ใช่แค่หนังสือบริจาคจากบ้านเรือน แต่ยังมีหนังสือใหม่ๆค้างสต็อคจากโรงพิมพ์ ที่นำมามอบไว้เพื่อรอการแจกจ่ายไปยังผู้อ่านที่ขาดโอกาสและขาดแคลนทุนทรัพย์ ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เด็กบางคนไม่เคยอ่านหรือได้สัมผัสกับหนังสือนิทานปกแข็งเลยสักครั้งในชีวิต ทุกครั้งที่โครงการอ่านสร้างชาติสัญจรไปเปิดตลาดนัด หนังสือเล่มละบาทเมื่อไหร่ เราจะได้เห็นนักอ่านรุ่นเยาว์เลือกสรรหนังสือนิทาน การ์ตูนอย่างสนุกสนาน ประกายตาอันเจิดจ้านั้น คือผลสำเร็จของโครงการมากกว่าตัวเลขผลกำไรและขาดทุน

หนังสือเล่มละบาท ทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างเกินคุ้ม หนึ่งบาทของเด็กๆยากจนมีค่าเท่ากับข้าวปลาอาหารเพื่อความอิ่มท้อง เมื่อหนังสือทุกเล่มลดราคาเหลือเพียงเล่มละหนึ่งบาท การได้เป็นมีโอกาสเป็นเจ้าของหนังสืออ่านเล่นสักเล่มจึงเป็นความสุขที่ยากจะบรรยาย

เพราะเราเชื่อว่า “การอ่านทำให้คนเป็นคนโดยสมบูรณ์” เช่นคำกล่าวของ เซอร์ ฟรานซิส เบคอน นักปรัชญาเมธีชาวอังกฤษ ที่กล่าวไว้ว่า “การอ่านเป็นสิ่งสำคัญสำหรับมนุษย์ เพราะมนุษย์จะไม่สามารถเป็นมนุษย์ได้อย่างสมบูรณ์แบบหากปราศจากการอ่าน”

และยิ่งไปกว่านั้น การฝึกฝนให้เด็กได้อ่านหนังสือตามวัยอันเหมาะสมจะเป็นการสร้างประสบการณ์ที่ไม่มีวันสิ้นสุดให้แก่เขา ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้มนุษย์ได้มีจินตนาการ ความคิด ความรู้ ส่งเสริมให้เด็กมีความเจริญก้าวหน้าทั้งทางวุฒิภาวะและปัญญา เด็กจึงควรได้รับการสนับสนุนให้ “อ่าน” ตั้งแต่เยาว์วัยอย่างไม่มีข้อแม้ หากหนังสือในบ้านของท่านถูกปล่อยทิ้งให้เดียวดาย หาเพื่อนใหม่ให้เขาเถอะ หนังสือที่เก่าเก็บจะได้กลับมาสดใสร่าเริงอีกครั้ง และพบกับเจ้านายใหม่ผู้มีแววตาที่เต็มเปี่ยมไปด้วยจินตนาการและความฝัน

Share Button

“อ่าน” หนังสือไม่ใช่แค่อ่าน “หนังสือ”

ในวันหนึ่งที่ฉันพาตัวเองเข้าไปอยู่ในร้านกาแฟสี่เหลี่ยมผืนผ้าของมูลนิธิกระจกเงา ฉันพบกันชั้นหนังสือแผงใหญ่บนกำแพงทั้งสามด้าน สายตากวาดไปยังหนังสือนับพันเล่ม ที่ล้วนแต่เป็นหนังสือดีๆที่ได้รับบริจาคมาจากผู้อ่านใจดีทั่วประเทศ เพื่อเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างวัฒนธรรมการอ่านให้เกิดขึ้นกับคนทุกเพศ ทุกวัย ของโครงการอ่านสร้างชาติ ฉันได้ยินชื่อเสียงและเป็นแฟนคลับของอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ในช่วงสองสามปีหลังนี้ ติดตามรับฟังคลิปวีดิโอที่เผยแพร่อยู่ตามโซลเซี่ยลมีเดีย และตามไปฟังอาจารย์ตอบปัญหาต่างๆให้แก่ผู้คนตามรายการโทรทัศน์ ซ้ำยังตามอ่านบทสัมภาษณ์ในแง่มุมอื่นๆที่อาจารย์มักโยงมาเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาได้อย่างแนบเนียน และเรียบง่าย แต่ฉันยังไม่เคยได้อ่านหนังสือเดินสู่อิสรภาพของอาจารย์
เลยสักครั้ง ในระหว่างที่ฉันกำลังเดินสำรวจและพิจารณาหนังสือนับพันเล่มบนชั้น พลันสายตาก็ไปสะดุดกับหนังสือเล่มหนากว่าห้าร้อยหน้าที่มีชื่อเรื่องว่าเดินสู่อิสรภาพ มีภาพและชื่อของอาจารย์ประมวลอยู่บนหน้าปก มันแทรกตัวอยู่ในชั้นหนังสืออย่างเงียบเชียบ พอฉันละจากกำแพงด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง ก็สบตากับหนังสือเล่มนี้อีก คิดในใจเมื่อเวลาถึงพร้อม ฉันคงได้อ่านหนังสือเล่มนี้สมใจ สอบถามพี่ๆเพื่อนๆถึงการขอยืมหนังสือไปอ่านก็ได้รับคำตอบว่าให้ยืมกลับไปอ่านที่บ้านได้ หลังจากหยิบหนังสือใส่กระเป๋ากลับบ้านฉันใช้เวลาเพียงสามวันเพื่ออ่านและอ่าน และตลอดสามวันของการอ่าน ฉันหยิบๆจับๆอ่านแล้ววางไม่ค่อยลง ด้วยเนื้อหาในหนังสือน่าติดตามและน่าค้นหาประหนึ่งว่าตัวฉันเองก็กำลังค้นหาอะไรบางอย่างจากการอ่านอยู่เช่นกัน

ระหว่างที่ฉันกำลังอ่านหนังสือเรื่อง เดินสู่อิสรภาพ ของอาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ในช่วงท้ายๆน้ำตาก็พลันไหลโดยไม่รู้ตัว เชื่อว่าความปิติได้เกิดขึ้นและงอกงามในใจฉันแล้ว มันสงบ เงียบ ง่าย และงาม เหมือนกำลังตกอยู่ในภวังค์ใดภวังค์หนึ่ง ณ ขณะที่ลมหายใจกำลังเข้าออกโดยไม่ต้องภาวนาพุทธ โธ เพื่อกำกับสมาธิ

“สมาธิ” จากการอ่านช่วยให้ฉันค้นพบความจริงอันประเสริฐของชีวิต แม้เพียงชั่วครูชั่วยาม แต่มันก็สว่างกระจ่างแก่เนื้อตัวร่างกายอันยึดติดไม่ได้นี้ อาจารย์ประมวลพาฉันเดินทางผจญภัยไปกับท่านด้วย แม้ว่าที่ผ่านมาฉันถือว่าเป็นแฟนคลับของอาจารย์คนหนึ่ง อาศัยการฟังเป็นหลัก โดยถือว่าคำพูดทุกคำของอาจารย์นั้นผ่านประสบการณ์ และการกลั่นกรองมาหลายชั้นหลายขั้นตอนนัก แต่หากฟังง่ายและช่วยให้ตอบข้อสงสัยในใจในหลายประเด็นปัญหาได้อย่างน่าอัศจรรย์ หมายถึงความเข้าใจในทางธรรมในขณะที่เราเป็นปุถุชนคนธรรมดาที่ยังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในรัก โลภ โกรธ หลง

ทุกถ้อยคำที่อาจารย์ถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือ สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในใจของฉันอย่างมากมาย บางช่วงบางตอน ฉันอ่านวนไปวนมาเพื่อทำความเข้าใจในหลักธรรมที่ปรากฏขึ้นจากความจริงที่อาจารย์ได้เดินทางไปพบเจอ ทุกคน ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไร้การตระเตรียม จัดวาง มันเป็นความบังเอิญที่พอดิบพอดี สิ่งสามัญธรรมดาที่จะเกิดขึ้นเป็นประจำมีเพียงความหิว กระหาย ที่ร่างกายส่งสัญญาณให้รับรู้ เพียงเพราะร่างกายเป็นเพียงพาหนะนำพาเราไปสู่การค้นพบสิ่งหนึ่งสิ่งใด ร่างกายไม่ได้ร้องขออะไรกับเรามากเพียงแค่การดูแลอย่างสมควร วันใดที่จิตเกิดความละโมภโลภมากซึ่งเกิดจากการปรุงแต่งของจิต เป็นความอยากที่เราไม่เท่าทันมันปรากฏขึ้นแบบมีเหตุมีผลและแนบเนียนเกินกว่าจะรู้ทัน เช่น ในวันที่อาจารย์เข็นตัวเองให้รีบเดินจากจังหวัดนครปฐมเพื่อไปยังราชบุรีเพื่อเลี่ยงการเดินบนถนนสายหลักที่มีรถพลุกพล่าน และเต็มไปด้วยมลพิษ เพื่อให้ถึงจุดเป้าหมายคือเพชรบุรีให้เร็วที่สุด ช่วงเวลานั้นร่างกายกลับประท้วงอย่างหนัก ธาตุทั้ง 4 ดิน น้ำ ลม ไฟในร่างกายแปรปรวนจนอาจารย์แทบเดินต่อไปไม่ได้ ครั้นเมื่อนึกถึงคำพูดของพระอาจารย์ประดิษฐ์ อัตตมโนแห่งสำนักสงฆ์ชัยนาทวนาราม (วัดเขากระดี่) ที่ท่านกล่าวว่า

“ดูแลร่างกายนี้ให้ดี ยังต้องอาศัยร่างกายนี้เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย” อาจารย์เขียนไว้ในหนังสือไว้ว่า คำเตือนนี้ทำให้สำนึกได้ว่า ตนเองได้ปฏิบัติต่อร่างกายอย่างหยาบคาย ทำให้เกิดความสำนึกผิด ผิดเหมืือนกับที่เคยขับรถแล้วเครื่องยนต์ดับมีความร้อนสูงเกินปกติ แต่ไม่ยอมหยุดรถ ในที่สุดเครื่องก็ดับ …

ฉันอ่านถึงประโยคนี้แล้วก็คิดถึงตัวเอง ที่่ผ่านมาเราเองก็ใช้ร่างกายแบบไม่ประนีประนอม แม้ว่าจะป่วยไข้ แค่ไหนเราก็เพียงอัดยาเข้าไปเพื่อหลอกให้ร่างกายรับใช้เป้าหมายอย่างไม่ได้หยุดพัก คิดได้เช่นนั้นก็รู้สึกละอายแก่ใจ คิดได้เช่นนั้นก็ทำให้คิดได้ว่า เหตุผลที่อาจารย์ออกเดินในครั้งนี้ก็เพราะว่าการเดินเป็นขบวนการก้าวข้าให้พ้น

พ้นจากความรู้สึกเสียดาย..
พ้นจากความรู้สึกเกลียดชังต่อผู้อื่นที่ทำให้เป็นคู่แข่งขัน..
พ้นจากความรู้สึกกลัว ในความไม่แน่นอนต่างๆที่มีอยู่รอบตัว…

และการอ่านในครั้งนี้ทำให้ฉันเข้าใจความหมายของคำว่า ความเสียดาย ความเกลียดชัง และความกลัวในอีกมิติหนึ่งที่ลึกซึ้งขึ้น เพราะชีวิตของคนเรานอกจากเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏสงสาร เกิด แก่ เจ็บ ตาย แล้วยังต้องเผชิญกับภาวะ รัก โลภ โกรธ หลง ซึ่งคือมายาคติที่แต่ละคนปรุงแต่งให้เกิดทุกข์ สุข สลับสับเปลี่ยนกันไปตลอดชีวิต

หากจริงแท้สิ่งที่เราทุกคนต้องพบเจอในทุกวินาทีมีเพียงแค่ทุกข์และสุข ฉันคิดว่าวันใดที่วางเฉยได้นั้นหมายถึงว่าเราเข้าถึงหลักไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเสียแล้ว แต่ก็ใช่ว่าใครทุกคนจะทำได้เพียงข้ามคืน สิบวันหรือยี่สิบปี และฉันคิดว่าขอค่อยๆทำความเข้าใจในชีวิตไปทีละส่วนอย่างมีสติให้ได้เสียก่อน

สิ่งที่อาจารย์วางใจและพูดถึงบ่อยครั้งในหนังสือเล่มนี้คือ “ความรัก” ในฐานะของคฤหัสถ์ ส่วนหนึ่งของชีวิตขับเคลื่อนด้วยพลังของความรัก รักภรรยา รักมิตรแปลกหน้า รักสัตว์ รักธรรมชาติ ทุกอย่างกระจ่างชัดเจน และเข้าใจง่าย การเข้าถึงแก่นแห่งพระพุทธศาสนาไม่จำเป็นต้องบวช แต่ทุกคนสามารถเข้าถึงธรรมะได้จากการค้นพบจุดเปลี่ยนเล็กๆน้อยๆระหว่างวัน และทุกเรื่องราวมีเหตุปัจจัยหนุนนำ และความรักในเพื่อนมนุษย์เป็นพื้นฐานที่อยู่ในใจของทุกผู้คนอยู่แล้ว หากปราศจากความกลัวเสีย ช่องว่างของความหวาดระแวงจะลดน้อยลง และสังคมก็คงสงบสุขมากยิ่งขึ้น

มีหลายอย่างที่อธิบายไม่ได้หลังเมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบลง อาจจะเพราะด้วยสติปัญญาและความรู้ที่สั่งสมมายังไม่ถึงพร้อม แต่ฉันรู้สึกปลาบปลื้มที่ได้มีโอกาสอ่านจนจบ แม้ว่างานการจะรัดตัว และยังมีธุระปะปังมากมายในชีวิต แต่ฉันอยากใช้ชีวิตให้ละเอียดขึ้น อย่างน้อยการอ่านหนังสือเล่มนี้ก็ทำให้สมองและร่างกายได้พักผ่อน แถมจิตใจอันเร่งรีบก็สงบงามขึ้นในทุกบรรทัดจนจบเล่ม.. ไม่มีข้อสงสัยในการข้อค้นพบใดๆของอาจารย์เพราะทุกเรื่องราวในชีวิตเป็น “ปัจจัตตัง” ซึ่งมีหมายความว่า สภาวธรรมหนึ่งที่บรรลุนั้น จะจริงแท้อย่างไร จะสงบเย็นแค่ไหน ก็รู้ได้เฉพาะตน(เท่านั้น)

สำหรับฉันจากได้รับการส่งต่อหนังสือเล่มนี้ โดยไม่ต้องเสียทรัพย์ จากใครสักคนที่ไม่รู้จักมาก่อน ไม่ใช่เรื่องบังเอิญหากเป็นเรื่องที่ถูกกำหนดขึ้นแล้ว อย่างน้อยก็กำหนดขึ้นในใจของฉันมายาวนาน ว่า “อยากอ่าน” จนวันหนึ่งก็ “ได้อ่าน” อย่างง่ายดาย ถึงพร้อมทั้งเวลาและความรู้สึก.. หนังสือเดินสู่อิสรภาพ จึงให้ความหมายในใจฉันเท่ากับการ “ให้” โดยไม่หวัง(รับ)สิ่งตอบแทน และฉันจะเอาหนังสือไปคืนที่ชั้นวางตามเดิม เพื่อรอคอยนักอ่านคนต่อไป…และให้หนังสือเล่มนี้ได้ทำหน้าที่ของมันอีกครั้ง

Share Button

“เพื่อนยาก” (Of Mice and Men) “จอห์น สไตน์เบ็ก” วรรณกรรมดีเด่นของนักเขียนรางวัลโนเบลประจำปี ค.ศ.1962 “เราทุกคนมีเพื่อน แต่จะมีสักกี่คนที่เป็น…เพื่อนแท้”

ตั้งแต่เด็ก ๆ มาแล้ว ฉันเป็นคนที่มีเพื่อนเยอะมาก เรียกว่าเยอะจนนับไม่ถ้วนว่ามีกี่คนกันแน่ ฉันมีเพื่อนหลายกลุ่ม หลายก๊ก หลากนิสัยใจคอ หลายสไตล์ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนตั้งแต่สมัยอนุบาล สมัยประถม สมัยมัธยม สมัยมหาวิทยาลัย สมัยทำงาน ซึ่งเมื่อเปลี่ยนที่ทำงานก็ย่อมมีเพื่อนใหม่เพิ่มขึ้นอีกเรื่อย ๆ ยังไม่รวมเพื่อนของเพื่อน ของเพื่อน ซึ่งในแต่ละวันหยุด ส่วนใหญ่ก็จะเป็นวันของเพื่อน แทบไม่มีวันของตัวเองเลยด้วยซ้ำ
แต่พอโตขึ้น ได้เห็นโลกมากขึ้น ได้เรียนรู้คนมากขึ้น ฉันจึงได้รู้ว่า จริง ๆ แล้วชีวิตเรามีเพื่อนไม่เยอะหรอก ที่เราคิดว่าเยอะนั่นไม่ใช่เพื่อน แต่นับรวมเอา “คนรู้จัก” มาไว้ด้วย เพราะความหมายของคำว่า “เพื่อน” นั้น ไม่ใช่แค่คนที่ไปกินไปไปเที่ยวด้วยกัน หรือติดต่อสื่อสารกันเป็นประจำเท่านั้น

แต่ความหมายของคำว่า “เพื่อน” ลึกซึ้งเกินกว่านั้น..

หลังผ่านการถูกหักหลังจากเพื่อนที่รักคนหนึ่ง ที่ฉันนับเขาเป็นเพื่อนรัก มารู้อีกทีว่าฉันไม่ใช่ความหมายของคำว่า “เพื่อน” สำหรับเขา ก็วันที่สายไปแล้ว และในช่วงเวลาเดียวกัน ฉันก็ได้สูญเสียเพื่อนรักคนหนึ่งด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ตกเขาระหว่างการเดินทางไปจังหวัดน่าน โลกของฉันถล่มทลายลงในเวลาเดียวกัน ความเจ็บปวดเสียใจโถมซัดอย่างไม่ปราณี เพื่อนคนหนึ่งจากเป็น…อีกคนจากตาย นับจากนั้นมันทำให้ฉันระแวดระวังในความสัมพันธ์ต่อผู้คนที่อยู่รอบข้าง และเริ่มแยกแยะคำว่า “เพื่อน” และ “คนรู้จัก” ออกจากกันได้ อย่างที่ไม่เคยคิดจะทำมันมาก่อน

แต่ก็นั่นแหละนะ … เรามักจะคิดอะไรบางอย่างได้ ก็เมื่อได้ความเจ็บปวดได้ละเลงและทิ่มแทงจนพรุนไปแล้วทั้งด้วยกันทั้งนั้น

ช่วงนั้นฉันใช้เวลาว่างในวันหยุดด้วยการเข้าร้านหนังสือ อ่านหนังสืออย่างเป็นบ้าเป็นหลังเพื่อไม่ต้องคิดถึงการสูญเสีย แทนการนัดกินเที่ยวกับเพื่อนเหมือนที่เคยทำ และหนังสือแปลเล่มเล็กกะทัดรัดที่ชื่อ “เพื่อนยาก” (Of Mice and Men) ผลงานของนักเขียนชาวอเมริกันอย่าง “จอห์น สไตน์เบ็ก” ก็ได้เข้ามาเยียวยาความรู้สึกที่เจ็บปวดนั้น

“เพื่อนยาก” (Of Mice and Men) คือวรรณกรรมดีเด่นที่แปลเป็นภาษาต่าง ๆ มาแล้วหลายประเทศทั่วโลก และได้ตีพิมพ์เป็นฉบับภาษาไทยครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2513 เรื่องราวเล่าถึงมิตรภาพของชายหนุ่มสองคนที่มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง คนหนึ่งคือชายร่างเล็ก เต็มไปด้วยความกระฉับกระเฉง ฉลาด และเป็นนักวางแผน เขาชื่อ “จอร์จ มิลตัน” อีกคนคือ “เลนนี่ สมอลล์” ชายร่างใหญ่ไซส์ยักษ์พละกำลังมหาศาล ผู้พิการทางปัญญา เชื่องช้าและงุ้มง่าม แต่มีโลกที่ใสบริสุทธิ์ ไม่เคยคิดร้ายกับใคร ฉันหยิบเล่มนี้ขึ้นมาเพราะสะดุดตาชื่อหนังสือ “เพื่อนยาก” ชื่อที่ดูเหมือนจะตั้งง่าย ๆ แต่ฟังแล้วลึกซึ้งกินใจ และเมื่อพลิกอ่านเนื้อหาบนปกหลังที่ห่อหุ้มพลาสติกใสเอาไว้ ฉันก็ตัดสินใจควักเงินซื้อทันทีอย่างไม่ลังเล

“แก่นแท้แห่งมิตรภาพพึ่งพา
ความใฝ่ฝันร่วมกันถึงที่ดินทำกิน
และชีวิตวันพรุ่งที่ดีกว่า
ท่ามกลางความแล้งไร้ จิตใจหยาบเขลา
ฤามนุษย์คิดเพียงแค่จะเอาตัวรอด
ตลอดกาล”

“เพื่อนยาก” (Of Mice and Men) เริ่มต้นขึ้นเมื่อ “จอร์จ มิลตัน” และ “เลนนี่ สมอลล์” ผู้ชายสองคนที่มีความแตกต่างกันทั้งร่างกายและความคิด หากแต่ลึก ๆ แล้วพวกเขามีความใฝ่ฝันที่คล้ายกัน นั่นก็คือชีวิตที่เป็นอิสระและมีความสุข ทั้งคู่ออกเดินทางเร่ร่อนหางานทำไปเรื่อย ๆ ตามชะตากรรมของผู้ยากไร้ หลังได้เข้าไปเป็นคนงานที่ไร่แห่งหนึ่ง ทำให้พวกเขามีความหวังและความฝันคุโชนขึ้นอีกครั้ง ทั้งคู่จะตั้งใจทำงานเก็บเงินเพื่อซื้อไร่ของตัวเองให้ได้ และเมื่อวันนั้นมาถึง พวกเขาก็จะได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขเสียที หากแต่เรื่องราวมันไม่ง่ายดายเหมือนอย่างที่คนต่ำต้อยด้อยค่าในสังคมวาดหวัง เมื่อการอยู่รวมกันกับผู้คนอีกมากมายภายในไร่แห่งนั้น ผู้คนซึ่งมีความคิดอ่านแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นลูกชายเจ้าของไร่อย่าง “เคอร์ลีย์” ที่ชอบหาเรื่องคนไปทั่ว หรือเมียของเขาที่ชอบหว่านเสน่ห์กับคนงานในไร่ “ผู้เฒ่าแคนดี้” ชายชราผู้เป็นภารโรงของไร่ พิการแขนด้วนและมีสุนัขชราพิการเป็นเพื่อนคู่ใจ หรือคนงานผิวสีอย่าง “ครุกส์” ที่ยอมจมชีวิตของตนอยู่กับความด้อยศักดิ์และสิทธิ์ที่เจ้าตัวน้อมรับโดยดุษฎี เรื่องราวร้อนระอุที่ไร่แห่งนี้เกิดขึ้นเมื่อ “เลนนี่ สมอลล์” ได้พลั้งมือฆ่าเมียของ “เคอร์ลีย์” ตาย ก่อนจะหลบหนีไปด้วยความหวาดกลัวสุดขีด เหมือนเด็กน้อยวัย 5 ขวบที่กลัวพ่อแม่จับได้เมื่อทำความผิด “เคอร์ลีย์” โกรธแค้นและหมายเอาชีวิต “เลนนี่ สมอลล์” ให้ได้ เขาระดมคนงานทั้งไร่ออกตามหา และสุดท้ายชายร่างยักษ์พิการปัญญาก็ถูกยิงตาย หากแต่ผู้ลั่นกระสุนไม่ใช่ “เคอลีย์” แต่เป็น “จอร์จ มิลตัน” เพื่อนยากของ “เลนนี่” นั่นเอง

กระสุนนัดนั้นของ “จอร์จ มิลตัน” ได้ทั้งฝังร่างและปลดปล่อยเพื่อนร่างยักษ์ของเขาให้พ้นจากความทุกข์ทรมาน และความหวาดกลัวแสนสาหัส ดั่งลาวาที่กำลังจะระเบิดออกมาในไม่ช้า แต่มันเป็นกระสุนนัดเดียวกันที่ทำให้ “จอร์จ มิลตัน” เหมือนคนตายทั้ง ๆ ที่ยังหายใจ เขาได้สูญเสียเพื่อนคนเดียวในชีวิตไปแล้วอย่างไม่มีวันกลับ…

อะไรที่ทำให้ “จอร์จ มิลตัน” ต้องจบชีวิตเพื่อนรักของเขาด้วยมือตัวเอง เหตุผลที่อ่านแล้วสะเทือนอารมณ์ในซีนนี้ทำเอาฉันกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ และสะอื้นไห้เหมือนตัวเองกำลังเป็น “จอร์จ มิลตัน” ฉันไม่ควรเล่าทั้งหมดในตรงนี้ เพราะเหตุผลที่ “จอร์จ มิลตัน” ทำ ควรเป็นเหตุผลที่คนอ่านควรจะได้ซึมซับรับรู้ด้วยตนเอง

บางส่วนบางตอนที่ “จอร์จ มิลตัน” ได้พูดไว้กับ “เลนนี่ สมอลล์” แม้จะเป็นไดอะล็อกง่าย ๆ แต่มันลึกซึ้งกินใจสำหรับฉันไม่น้อย และยังชอบทุกครั้งที่ได้อ่าน

“เราไม่เหมือนคนงานพวกนั้น เรามีอนาคต เรามีคนที่จะพูดคุยด้วย เราไม่ต้องไปพึ่งบาร์เพื่อกินเหล้า เพราะไม่รู้ว่าจะไปไหน” และ….

“มีไม่กี่คนนักหรอกที่ร่อนเร่พเนจรไปที่ไหน ๆ ด้วยกัน ฉันก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร แต่อาจเป็นเพราะโลกบ้า ๆ นี้ คนต่างกลัวกันและกันนั่นเอง”

“จอห์น สไตน์เบ็ก” ผู้เขียน “เพื่อนยาก” ไม่ได้แค่เล่าเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน หรือการต่อสู้ดิ้นรนของสองหนุ่มผู้ยากไร้นี้เท่านั้น เขาได้กล่าวเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้เอาไว้ว่า “เนื้อในมนุษย์ล้วนขาดพร่องด้วยกันทั้งนั้น เช่นนี้แล้วจึงต่างต้องเสาะหาส่วนที่ขาดหายเติมใส่ชีวิตตนเพื่อมิให้แห้งเหี่ยว เปลี่ยวเหงา แต่เอาเข้าจริงแล้วจะไปหามาจากไหน ในเมื่อมนุษย์เราแต่ละคนต่างมีข้อจำกัด ดังนั้นมีก็แต่จำต้องพึ่งพาอาศัยเพื่อนร่วมโลกที่ขาด ๆ เกิน ๆ พอกันแก้ขัด ด้วยอย่างน้อยก็ยังดีกว่าไม่มีใครเอาเสียเลย”

สิ่งที่ฉันได้จากการอ่าน “เพื่อนยาก” คือการเข้าใจความหมายของคำว่า “เพื่อน” มากขึ้น…เพื่อนไม่จำเป็นต้องนิสัยเหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องคล้อยตามกันทุกเรื่อง ไม่จำเป็นต้องมาจากฐานันดรที่เท่าเทียมกัน ฐานะเท่ากัน ไปไหนมาไหนด้วยกันเสมอ ๆ หากแต่ “เพื่อน” ต้องเป็นคนที่มีความ “จริงใจ” ต่อกัน เพราะคำว่าจริงใจคำเดียวนี่เองที่จะทำให้เรามีคุณค่าสมกับการมี “เพื่อน” และเราเองก็อยากจะเป็น “เพื่อนยาก” สำหรับใครสักคนด้วยเหมือนกัน

ฉันอ่านเรื่อง “เพื่อนยาก” จบไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง หยิบจับจนกระดาษชำรุดและเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา จนสุดท้ายหนังสือเล่มนี้ที่ซื้อมาเมื่อหลายปีก่อนก็ไม่สามารถใช้งานได้อีก และตลอดเวลาที่ผ่านมา แม้ฉันจะชอบ “เพื่อนยาก” มากแค่ไหน แต่ก็ยังไม่ได้หาเล่มใหม่มาทดแทนเสียที เพราะที่ผ่านมาฉันเฝ้าแต่จมอยู่กับการคิดถึงเพื่อนรักที่ฉันได้สูญเสียไปแล้วทั้งสองคน คนหนึ่งจากเป็น อีกคนจากตาย…

แต่มาวันนี้ ฉันได้ตัดสินใจสั่งซื้อหนังสือ “เพื่อนยาก” ผ่านทางเว็บไซต์หนังสือแห่งหนึ่งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะฉันสัมผัสได้ว่า ฉันมีเพื่อนแท้ และเพื่อนยากอยู่ในชีวิตหลายคน และก็หวังอยากให้ทุกคนที่ได้อ่านบทความแนะนำหนังสือเล่มนี้ ได้ลองอ่านหนังสือชื่อ “เพื่อนยาก” นี้ดู แล้วคุณจะหลงรักมัน และได้รู้คุณค่าและความหมายของคำว่า “เพื่อนยาก” มากยิ่งขึ้น

ชื่อหนังสือ : เพื่อนยาก (Of Mice and Men)
ผู้เขียน : จอห์น สไตน์เบ็ก (John Eenst Steinbeck)

Share Button

“หมาของผมรักดนตรีแจซ” วรรณกรรมเยาวชนที่ควรค่าสำหรับทุกประสบการณ์ชีวิต

หนังสือเรื่อง หมาของผมรักดนตรีแจซ เป็นหนึ่งในหนังสือนับล้านเล่มที่ถูกบริจาคเข้าโครงการอ่านสร้างชาติ เป็นเจตนารมณ์ดีๆของผู้อ่านที่อยากส่งต่อหนังสือวรรณกรรมเยาวชนดีๆให้แก่ห้องสมุดที่ขาดแคลนในชนบท ฉันละเลียดอ่านหนังสือเล่มนี้อย่างระมัดระวังด้วยกลัวมันจะจบ ด้วยว่าวรรณกรรมเยาวชนเล่มนี้ แฝงไปด้วยด้วยภาษาที่ประหลาดเหลือหลาย และมีรูปแบบการนำเสนอเรื่องราวที่เกิดการคาดเดาเนื้อหาในหน้าถัดไปได้

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือวรรณกรรมเยาวชนรัสเซีย ที่จัดว่ากวน(ประสาท) และฮาระดับหนึ่ง ฉันตั้งใจอ่านกลับไปกลับมาอยู่สองสามครั้งเพราะความไม่รู้เรื่องของมัน มันเป็นหนังสือแปลกประหลาด ที่หยิบขึ้นมาอ่านอีกเมื่อไหร่ความหมายที่ได้รับรู้จะแตกต่างกันออกไปทุกที ใจความหลักใหญ่ในหนังสือเป็นเรื่องราวของครอบครัววุ่นๆของเด็กผู้ชายคนหนึ่ง ที่คนในครอบครัวแต่ละคนช่างมีบุคลิกภาพที่แตกต่างกันสุดขั้ว มีพ่อที่หลุดโลกและแม่ที่ไม่ธรรมดา แม้แต่หมาก็ยังชอบฟังเพลงแจซ

เด็กชายอันดรูฮา พยายามเล่าเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตทุกอย่างภายในบ้านให้เราฟังอย่างบรรเจิด นอกกรอบจินตนาการที่เราจะคาดฝันถึง ในบทหนึ่ง เขาเล่าถึงเจ้าปลาวาฬ ชื่อหมาที่เลี้ยงไว้ อันดรูฮาต้องการเข้าทดสอบเพื่อเข้าเรียนดนตรีแจซ โดยมีเจ้าปลาวาฬติดตามไปทดสอบด้วย แต่คุณครูไม่อนุญาตให้นำหมาเข้าไปด้วย อันดรูฮา จึงกล่าวว่า

“ผมอยากเรียนดนตรีแจซครับ” เขาพูดเสียงดังฟังชัด
“หมาเข้าไม่ได้” คุณครูบอก
“ปลาวาฬรักดนตรีแจซครับ” เขาพูด “ผมกับมันร้องเพลงด้วยกัน”
“หมาเข้าไม่ได้” คุณครูคนเดิมย้ำ

เขาจำเป็นต้องปล่อยมันไว้ข้างนอก แล้วเข้าไปทดสอบเพียงลำพัง แต่ผลที่ออกมาไม่ดีอย่างที่คาดไว้เพราะเขาไม่มีเจ้าปลาวาฬ คุณครูจึงประเมินอันดรูฮาว่า เขาไม่มีหูสำหรับดนตรี

เมื่อเขาเดินออกมาจากห้องทดสอบ ในหนังสือเขียนบรรยายไว้ว่า

เจ้าปลาวาฬแทบจะล้มประดาตายเพราะความดีใจที่ได้เห็นผม “เป็นไง อันดรูฮา แจซน่ะ สอบได้ใช่ไหม” มันพูดด้วยท่าทางของมันพร้อมกับฟาดหางไปมา สุดท้ายทั้งคนและหมาก็ออกมาร้องแจซก่อกวนชาวบ้านท่ามกลางความโกลาหลของผู้คนที่ไม่อยากฟังแจซจากทั้งคู่ ในหนังสือบรรยายไว้อย่างเห็นภาพและฮากลิ้ง หากเขียนให้อ่านก็คงจะไม่เข้าใจ เพราะฉันเองก็ยังงงๆต้องอ่านกลับไปกลับมาหลายรอบอยู่ (ฮ่าๆๆ)

แต่ก็มีอยู่ประโยคหนึ่งที่ฉันชอบมากคือ

“จากความดีใจเท่าแมลงวัน ผมกับเจ้าปลาวาฬก็ทำให้มันใหญ่เท่ากับช้าง” อันดรูฮาพูดไว้ขณะที่เขากำลังร้องเพลงแจซกับเจ้าปลาวาฬป่วนชาวบ้านชาวเมืองอย่างไม่รู้ไม่ชี้อะไรทั้งนั้น

น่ารักดีไหมล่ะ ความสัมพันธ์แปลกๆของเด็กคนหนึ่งกับหมาประหลาดๆ ถ้าได้ลองอ่านดูจะพบว่าเรื่องนี้ผู้เขียนช่างเป็นคนที่มีจินตนาการเลิศล้ำเกินบรรยาย ในหลายบทครั้งเมื่ออ่านจบ ฉันนั่งหัวเราะอยู่คนเดียว มันมีด้วยหรือมนุษย์แบบนี้ฉันคิดในใจ

อุ๊ย!! หรือฉันโตเกินกว่าจะเข้าใจเรื่องพวกนี้แล้ว ตกใจกับความคิดและกรอบที่แน่นหนาของตัวเอง แต่เชื่อว่าหากเป็นฉันตอนเด็กๆ เรื่องพวกนี้คงเข้าใจง่ายกว่านี้หลายเท่า จะมีพ่อที่ไหนที่เพ้อเจ้อ ไร้ความเพียบพร้อมสมบูรณ์ได้เท่ากับพ่อของอันดรูฮาอีกแล้ว ฉันยังคิดไม่ออก หรือจริงๆแล้วมนุษย์เราแฝงความงี่เง่าไร้สาระไว้ทุกอณูของร่างกาย แต่จำเป็นต้องปกปิดมันไว้ด้วยจารีต ประเพณี ที่ล้อมกรอบทุกคนเอาไว้

มีอยู่ตอนหนึ่งที่สุดเพี้ยนเป็นบทสนทนาระหว่างอันดรูฮาและพ่อ

พ่อถามผมแต่เช้าว่า
“อันเดร ลูกรู้ใช่ไหมว่า คนที่จริงจังกับชีวิตหมายถึงอะไร”
“ไม่รู้ครับ ผมรู้แต่คำว่า “เสื้อกั๊ก” กับ “ที่หยอดจมูก” หมายถึงอะไร”
“ลูกน่ะจมอยู่แต่ในความหม่นหมองของการไม่รู้อะไร” พ่อสังเกต “ลูกจะทำอะไรถ้าลูกโตขึ้น”
“ผมจะทำแว่นตากันแดดครับ” ผมตอบแล้วผิวปาก
“ลูกต้องบอก ไม่ กับเรื่องไร้สาระ” พ่อโพล่งออกมา “แล้วบอก ใช่ กับเรื่องที่ลูกจะรู้จักใช้เวลาให้เป็นประโยชน์”

เป็นบางบทสนทนาที่แอบแฝงแง่คิดขำๆให้กับเรา …ยังมีอีกหลายความประหลาดที่อยากให้ลองอ่านกันดู คืนนี้ฉันคงนอนคุยกับอันดรูฮาต่อเพื่อสานต่อต่อมจินตนาการให้บรรเจิดเลิศเลอต่อไป…

หมาของผมรักดนตรีแจซ ได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งใน IBBY Honour List ปี 1998 ซึ่งเป็นการคัดเลือกหนังสือที่มีคุณค่าเหมาะสมสำหรับพิมพ์เผยแพร่ในระดับนานาชาติ เอากับเขาไหมล่ะ

ขอบคุณผู้แต่งมารีนา มาสควินา และจิตอำไพ เมืองสนธิ์ ผู้แปล

ฉันคิดเอาไว้แล้วว่าหากอยากจะเขียนวรรณกรรมเยาวชนดีๆสักเรื่อง เรื่องนี้คือต้นแบบที่แสนดีเลยล่ะในความคิดของฉัน อย่างแรกที่ต้องทำคือทำลายกรอบบางอย่างในหัวให้พังทลายสักนิดสักหน่อยก่อนก็คงจะดี

ทุกวันนี้หนังสือเล่มนี้ถูกส่งต่อไปอยู่ในมือของเด็กคนไหน หรือห้องสมุดโรงเรียนใด เป็นเรื่องเกินกว่าที่ฉันจะฝันถึงได้ แต่เท่าที่รู้คือ ไม่ว่าจะถูกวางอยู่ในชั้นหนังสือที่ไหน เมื่อใดที่หน้าแรกถูกเปิดอ่าน อันดรูฮา เจ้าปลาวาฬ และทุกคนในครอบครัวจะกลับมามีชีวิตโลดแล่นอยู่ในจินตนาการของผู้อ่านอีกครั้งอย่างแน่นอน!!

Share Button

หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา …เพราะว่า “รัก” จึงเขียนถึง

ฉันหยิบเรื่องหยดน้ำหวานในหยาดน้ำตามาอ่านซ้ำเป็นครั้งที่ 2
ด้วยเพราะคิดว่าชีวิตต่อจากนี้ควรพึงระลึกถึงความไม่แน่ไม่นอนของชีวิตไว้เป็นสรณะ
และแน่นอนฉันคิดอยู่เสมอว่า ในทุกเรื่องราวมีราคาที่ต้องจ่าย จะแพงจะถูกก็อยู่ที่เราเป็นผู้เลือก
เช่นกัน ชีวิตของนักเขียนชาย หญิง คู่นี้ฉายภาพความรักในรูปแบบที่เราคาดเดาไม่ได้ด้วยคำพูด
แต่ทั้งหมดยืนยันอย่างชัดแจ้งที่การกระทำ … เขากระทำต่อกันอย่างคนรักกันด้วยความรู้สึก

ฉันรู้ดีว่า..ต่อให้เรารักกันแค่ไหน วันหนึ่งความตายต้องมาพรากเราออกจากกัน
แน่นอนทั้งคู่คงไม่ได้คิดฝันว่ามันจะเกิดขึ้นรวดเร็วแบบปัจจุบันทันด่วนขนาดนั้น
ในเวลาที่ความสัมพันธ์กำลังลงตัวและสุขงอม…เป็นวันที่คนสองคนกำลังตกลงใจใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันไปจนตาย
มีแต่ความตายเท่านั้นที่แน่นอน มันส่งบทพิสูจน์แสนยากให้นักเขียนสาวที่กำลังใช้ชีวิตเหมือนอยู่ในความฝัน
เช่นเดิม เมื่ออยู่ๆความตายกระชากเธอให้กลับมายืนอยู่ในพื้นที่ของความจริง..เพียงลำพัง
หัวใจก็พลันแตกละเอียดเท่ากับเม็ดทรายกระจัดกระจายลอยฟุ้งไปในอากาศ
กว่าเธอจะตามหาตัวตนเก่าๆกลับมา..ก็ร้องขออ้อนวอนให้วันเวลารีบเดินผ่านไปราวกับไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้น

กว่า 10 ปี ที่อุรุดา โควินทร์ รวบรวมกำลังใจที่มีอยู่เขียนถึงคนรัก กนกพงศ์ สมพงพันธุ์ ในนามของนักเขียนเพื่อนคู่ชีวิตฉันสัมผัสได้ถึงรอยยิ้มกรุ่มกริ้มนั้น จากใบหน้าของกนกพงศ์ในวันที่เขาเจอกันในแบบไม่ตั้งใจกึ่งตั้งใจมันเป็นชั้นเชิงในการเริ่มต้นความสัมพันธ์ที่ดูเลือนลางแต่หากชัดเจนและเป็นไปได้ในทุกถ้อยคำ
หากฉันเป็นหญิงสาวที่ถูกชายหนุ่มปฏิบัติเช่นนั้น .. หัวใจก็คงไขว้เขวไปคนละทิศละทางเช่นกัน

ฉันชอบชีวิตประจำวันอันเรียบง่ายแต่แฝงด้วยความมุ่งมั่นนั้นของทั้งคู่
แม้ว่าชีวิตส่วนใหญ่ของนักเขียนสาวหมดไปกับงานบ้านงานเรือน
แต่ฉันเชื่อว่ามันคือวัตถุดิบชั้นดีของการเติบโต ไม่ว่าจะเป็นการทำกับข้าว เย็บผ้า หรือจัดบ้าน ปลูกต้นไม้
หลายครั้งที่กว่าฉันจะลงมือเขียนงานได้สักชิ้น ก็ต้องเห็นผ้าเต็มตระกร้าถูกซักล้างแล้วปลิวไสวไปตามลมอยู่บนราวตากผ้าเสียก่อน ไหนจะฝุ่นบนโต๊ะทำงาน บนชั้นหนังสือก็ควรจะได้รับการปัดกวาด
ห้องน้ำก็ควรจะสะอาดสะอ้านเพื่อเตรียมต้อนรับทุกคน..หรือแม้แต่ตัวฉันที่รู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่ได้ใช้บริการห้องน้ำที่สะอาด เป็นระเบียบและหอมกรุ่น เช่นกัน กับข้าวกับปลา ขนมหวาน กาแฟต้องพร้อมเมื่อหิว

กว่าจะลงมือเขียนเรื่องสั้นสักเรื่อง บ้านช่องห้องหับต้องเป็นระเบียบเรียบร้อยเสียก่อน หลังจากนั้นจึงถึงเวลานั่งตากลมมองดูผ้าม่านล้อเล่นกับลม สูดกลิ่นหอมอันมีชีวิตชีวาของบ้าน เสร็จสิ้นทั้งหมดที่กล่าวมาก็ถึงพร้อมจัดแจงตระเตรียมอารมณ์และจินตนาการเพื่อขีดเขียนงานดีๆสักชิ้น ..

ใช่.. มีหลายทัศนะของอุรุดาที่ฉันเห็นด้วย .. เช่นเมื่อเธอบอกว่า

“ฉันรักพี่เข้าแล้ว
โดยไม่สนว่าพี่รู้สึกอย่างไร
ความรักเป็นของฉัน ไม่เกี่ยวกับพี่
ความรักอาจเป็นเรื่องของคนสองคน
แต่ความรู้สึก หัวใจเป็นของฉัน”

จริง!! ฉันเห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นเต็มเมื่อความรู้สึกของเราเกิดรักใครสักคนขึ้นมาโดยไม่ต้องการรักตอบ
บ่อยครั้งเราพิสูจน์คำรักผ่านการกระทำ กอดที่ให้ความรู้สึกเช่นเดิม จูบที่ตอบสนองไม่น้อยไปจากเดิม
สายตาที่แฝงแรงปรารนาถเท่าเดิม และเรายังสบตากันลึกซึ้งไม่เปลี่ยน ทั้งหมดเราใช้ความรู้วัดความรู้สึกระหว่างกัน…ฉันจะยืนยันว่านี่คือ “ความรัก”

ฉันสัมผัสได้ว่าตลอดสิบปีที่ผ่านอุรุดาต้องต่อสู้กับความทรงจำอันงดงามนั้นมาตลอด และไม่ว่าจะอย่างไร เธอผ่านมันมาจนได้.. เชื่อว่าฉันสัมผัสได้แค่หนึ่งในเศษเสี้ยวของความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับเธอเท่านั้น ..ไม่ได้รู้สึกรู้สาและเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอมากเท่าที่เธอรู้สึกแน่นอน

ฉันหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่านซ้ำด้วยความรู้สึกว่าไม่ว่าความสุขหรือความทุกข์ก็สอนให้เราเติบโตได้เช่นกัน ความสุขจากความรัก ส่งต่อพลังและแรงบันดาลใจมากมายเหลือคณานับ เช่นกัน ความทุกข์จากการพลัดพรากสิ่งอันเป็นที่รัก กลับสร้างคุณูปการแห่งชีวิตอย่างเหลือเชื่อ .. ฉันชอบชั้นเชิงการถ่ายทอดคำของนักเขียนยิ่งนัก มันดูจริงใจและซื่อตรงและฉันเชื่อในทุกคำที่เธอเล่าผ่านในแต่ละบรรทัด เหมือนกับว่าหนังสือเล่มนี้ถูกเขียนไว้ก่อนที่สองคนจะได้เจอกัน

ฉันพูดคำรักอย่างสามัญเพราะไม่มีคำอื่นให้กล่าว
และฉันไม่อาจหาคำใดมาแทนค่าความรู้สึกที่มีต่อรัก อย่างเรียบง่าย
ฉันพอจะขยายความได้, ฉันพร้อมร่วมชะตากรรมกับพี่
ฉันทำให้เห็นทุกเมื่อเชื่อวันว่าความรักของฉันไม่ใช่การแตะต้องสัมผัส
คำหวาน หรือการเอาใจ
แต่มันคือการยืดหยัดข้างพี่ ไม่ว่าพี่จะเป็นอย่างไร
และไม่ว่าจะเกิดอะไรกับเรา

ใช่..ฉันหลงรักถ้อยคำเหล่านี้ ฉันหลงรักบ้านในเขียว อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมชาติ .. หลงรักยอดเขาพรหมโลก หลงรักแกงเลียง แกงเหลือง ผัดผัดกูด ยอดแหมะ น้ำพริกกระปิ เพียงเสี้ยวหนึ่งของเมนูอาหารที่มีเรียกน้ำลายได้อย่างมากมายในหนังสือ แค่อ่านกรรมวิธีการทำ ก็เหมือนได้ลิ้มรสในทุกเมนูที่กล่าวมาและแอบกลืนน้ำลายดังเอือกแบบไม่รู้ตัว

สุดท้าย ประโยคที่ฉันว่าจริงที่สุดในหนังสือเล่มนี้เป็นคำพูดของกนกพงศ์ ที่กล่าวโดยอุรุดา ที่ว่า

“กองไฟก็เหมือนชีวิต ตรงที่มันต้องการอากาศและที่ว่าง”

“ความรักก็เช่นกัน” ฉันกล่าวปิดท้ายประโยคก่อนพยักหน้าเห็นด้วยโดยไม่มีข้อกังขาใด

ไม่ว่าความรักแบบไหน …ก็อยากให้ทุกคนได้ลองรักใครสักคนดู จะสมหวังหรือผิดหวังก็ขอให้คิดเสียว่า
เป็นเพียงแค่ช่วงเวลาดีๆที่ผ่านเข้ามาในชีวิตหนึ่ง..ก็เท่านั้น

Share Button

“ลิตเติ้ลทรี” วรรณกรรมเยาวชนชนเผ่าเชโรกี หากเราไม่อยากให้จิตวิญญาณหดเล็กเท่า…ฮิคกอรี่นัท

“ย่าบอกว่า ถ้าเราใช้จิตวิญญาณไปในทางโลภโมโทสันหรือเลวทราม ถ้าเราชอบทำร้ายผู้อื่นอยู่เสมอ และมัวแต่คิดหาผลประโยชน์ทางวัตถุ…จิตวิญญาณของเราจะหดเล็กลงเหลือเท่าขนาดเท่าฮิคกอรี่นัท”

“ย่าบอกว่า เรารู้ได้ไม่ยากว่าใครเป็นคนตาย…เมื่อเขามองผู้หญิง เขาไม่เห็นอะไรนอกจากคิดสกปรก เมื่อมองต้นไม้ เขาไม่เห็นอะไรนอกจากไม้ซุงและผลกำไรมิใช่ความงาม ย่าบอกว่า พวกนี้แหละคือคนตายที่ยังเดินอยู่ทั่ว ๆ ไป”

“ย่าว่า จิตวิญญาณเปรียบเหมือนกล้ามเนื้อ…ถ้าเรายิ่งใช้มัน มันก็จะใหญ่ขึ้น แข็งแรงขึ้น ย่าบอกว่าทางเดียวที่จะเป็นอย่างนี้ได้ ก็โดยใช้จิตวิญญาณในการทำความเข้าใจ”

“ย่าว่าโดยธรรมชาติแล้ว ความเข้าใจกับความรักเป็นสิ่งเดียวกัน ผมจึงเข้าใจว่า ผมจะต้องเริ่มพยายามเข้าใจทุกคนอย่างจริงจัง เพราะแน่นอนว่า ผมไม่อยากให้จิตวิญญาณเหลือเท่าฮิคกอรี่นัท”

เหมือนจะรู้ว่าฉันได้อ่านถ้อยความบนปกหลังของหนังสือเล่มสีเขียวโทนต้นไม้นั่นจบลงแล้ว หลานสาววัย 11 ขวบ ที่แอบมายืนอยู่ข้าง ๆ ได้สักพักจึงถามขึ้น “อา…เลือกหนังสือได้บ้างหรือยังคะ อย่าลืมเลือกให้หนูด้วยนะ” หลานสาวตัวสูงเอียงคอถาม ซึ่งเกือบทุกครั้งที่เรามาร้านหนังสือมือสองด้วยกัน เธอมักจะบอกกับฉันแบบนี้เสมอ

ฉันส่งยิ้มให้หลานสาวพร้อมกับมองไปที่มือน้อย ๆ ของเธอ เห็นหนังสือกึ่งเก่ากึ่งใหม่อยู่ในมือเธอแล้วประมาณ 2-3 เล่ม “เอ…อาก็เห็นหนูเลือกได้ตั้งหลายเล่มแล้วนี่นา” ฉันแอบเย้า ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วฉันเองก็ได้แอบเลือกหนังสือไว้ให้เธอเหมือนทุกครั้งที่เราเข้าร้านหนังสือด้วยกัน “แหะ ๆ หนังสือที่หนูเลือกเองอ่านไม่สนุกเท่ากับหนังสือที่อาเลือกให้น่ะค่ะ” หลานสาวส่งยิ้มเขิน ๆ ให้ ก่อนจะขอตัวเดินไปดูหนังสือที่อยู่ด้านในต่อ

“ลิตเติ้ลทรี” วรรณกรรมเยาวชนชนเผ่าเชโรกี คือเล่มที่ฉันตั้งใจเลือกให้เธอ…และเป็นหนังสือที่ฉันเคยอ่านเมื่อประมาณสิบกว่าปีที่แล้ว ครั้งนั้นฉันได้ซื้อหนังสือเล่มนี้ในร้านหนังสือยอดนิยมแห่งหนึ่วในห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพฯ ด้วยเพราะประทับใจในเนื้อหาที่อยู่หลังปกหนังสือ และเมื่อได้อ่านแล้วก็รู้สึกประทับใจถ้อยความเนื้อหาด้านใน ที่บรรจุเรื่องราวคล้ายกับตัวละครทุกตัวมีชีวิตอยู่จริง ขณะที่อ่าน ฉันสัมผัสได้ถึงสายลมป่าบางเบากระทบใบหน้า เสียงไหลรินของลำธารที่มาจากภูเขา ความประทับใจที่มีต่อปู่และย่าแห่งสายเลือดเชโรกี จนพาลคิดไปว่า อยากเป็นเด็กน้อย “ลิตเติ้ลทรี” คนนั้น และฉันมักจะหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่านเสมอทุกครั้งที่คิดถึง “ลิตเติ้ลทรี”

แต่เมื่อมีเหตุให้ต้องย้ายที่อยู่หลายต่อหลายครั้ง ก็ทำให้หนังสือเล่มนี้หายไป แต่ก็ยังคงเป็นหนังสือเล่มโปรดอีกหนึ่งเล่มในชีวิต ที่ยังคงประทับใจ และมุ่งหวังอยากให้คนที่ฉันรักทุกคนได้มีโอกาสอ่านหนังสือเล่มนี้ ฉันเชื่อว่า เรื่องราวและถ้อยความดี ๆ ในหนังสือเล่มนี้ จะทำให้พวกเขาเกิดความซาบซึ้ง มีความสุข และอยากดูแลจิตวิญญาณของตัวเองให้ดียิ่งขึ้น เพราะกลัวว่ามันจะหดเล็กเท่าฮิคกอรี่นัท…

ครานั้นฉันเป็นเพียงเด็กวัยรุ่นต่างจังหวัดที่อยากเข้าไปใช้ชีวิตในเมืองหลวง เมืองศิวิไลซ์ เมืองแห่งความฝันของหลายคนอย่างกรุงเทพมหานคร ระหว่างที่ทำงานที่นั่น ฉันได้พบเจอผู้คนมากมาย ทั้งคนดี คนไม่ดี คนเห็นแก่ตัว คนโกหก หลอกลวง คนที่ชอบหักหลัง เจ้านายที่ชอบเอาหน้า คนที่จนมาก ๆ และมีโอกาสได้เข้าไปใกล้ชิดคนที่รวยมาก ๆ และกลุ่มคนที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในสังคม กลุ่มคนที่ได้รับอภิสิทธิ์เหนือกว่าคนทั่วไป ความเหลื่อมล้ำต่าง ๆ และชะตากรรมของผู้คนที่ต้อยต่ำ ที่ถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันเหล่านี้ที่ฉันได้เห็นมันอย่างใกล้ชิด ทำให้ฉันรู้สึกเจ็บปวดจนถึงขั้นก่นด่าโชคชะตาชีวิต ซึ่งไม่ใช่แค่โชคชะตาของคนที่ดูต่ำต้อยด้อยค่าเท่านั้น แม้แต่โชคชะตาของตัวฉันเอง ก็ยังไม่อยากยอมรับมัน เพราะหลายครั้ง ฉันก็เป็นคนที่เผลอเหยียดคนอื่นเสียเอง

จนกระทั่งมีหนังสือเล่มหนึ่ง ที่ช่วยให้ฉันเข้าใจ “โลก” เข้าใจ “มนุษย์” เข้าใจ “ตัวเอง” และเข้าใจแก่นสำคัญของการที่ว่า “มนุษย์เราทุกคนควรดูแลจิตวิญญาณของตัวเอง” ทำให้ฉันมองโลกและใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขมากขึ้น หนังสือเล่มนั้นก็คือ “ลิตเติ้ลทรี” (The Education of Little Tree) ผลงานการเขียนของ “ฟอเรสต์ คาเตอร์” และแปลโดย “กรรณิการ์ กรมเสาร์” จากบทนำของเรื่องได้เล่าว่า “ลิตเติ้ลทรี” เป็นวรรณกรรมที่เล่าขานชะตากรรมของชนเผ่าเชโรกี อันเป็นชนกลุ่มน้อยในอเมริกา ซึ่งถูกรุกรานโดยคนผิวขาวซึ่งยุคนั้นคนขาวมีวิธีคิดแบบ “อัตนิยม” หรือ “ความถูกต้องมีเพียงหนึ่งเดียว” และตัดสินคนอื่นที่แตกต่างไปจากตนว่า เลวร้าย โง่งม นอกรีต ฉะนั้น จงเชื่อฟังและเดินตามอย่างเชื่อง ๆ แล้วท่านจะเจริญเหมือนพวกเรา…นี่คือชะตากรรมของผู้ต่ำต้อยซึ่งปรากฎให้เห็นทั่วโลก แม้แต่ในเมืองไทยของเราเองก็มีให้เห็นกันอยู่มาก ชนกลุ่มน้อยหลายเผ่าพันธุ์หรือแม้แต่คนจน ก็ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม ราวกับว่าไม่ใช่มนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเสมอภาคกัน…นี่คือถ้อยความง่ายงามที่กระจายดั่งนกโบยบินอย่างอิสระเสรีในหนังสือที่ชื่อ “ลิตเติ้ลทรี”

“ลิตเติ้ลทรี” บอกเล่าถึงความรัก ความผูกพันที่อบอุ่นระหว่าง มนุษย์ สัตว์ ต้นไม้ ธรรมชาติ และบอกเล่าถึงโศกนาฎกรรมชะตาชีวิตอันชวนสลดหดหู่ และยังวิจารณ์สังคมด้วยอารมณ์ขันขื่น ถ้อยความใน “ลิตเติ้ลทรี” ยังสอนเราทางอ้อมอีกว่า มนุษย์ทุกคนควรลดความหยิ่งลำพองของตนลงเสีย และกลับมาทบทวนตัวตนเสียใหม่ ว่าเราไม่ใช่เราเท่านั้น แต่เราคือนก แม่น้ำ ป่าไม้ ทั้งหมดนี้เป็นเราแม้จะไม่ได้อยู่ในตัวเรา เพราะเมื่อเราเห็นเช่นนี้แล้ว เราย่อมจะไม่ทำลายสิ่งอื่น เช่นเดียวกับที่เราไม่ทำร้ายตัวเราเอง

ชีวิตของ “ลิตเติ้ลทรี” สายเลือดแห่งชนเผ่าเชโรกีเริ่มต้นขึ้น เมื่อเด็กชายวัย 5 ขวบต้องเสียพ่อกับแม่ไปอย่างไม่มีวันกลับ และบรรดาญาติพี่น้องก็ได้พากันขบคิดว่าเด็กชายจะไปอยู่กับญาติคนไหนดี ดูเหมือนจะไม่มีใครอยากรับเขาไปเลี้ยง พวกเขาสนใจแต่ข้าวของที่บ้านของเด็กชายที่กำลังแย่งกันเอากลับไปเป็นของตัวเองเท่านั้น และท้ายที่สุดแล้ว เด็กชายตัวน้อยก็ได้ไปอยู่กับปู่ที่เป็นลูกครึ่งเชโรกี และย่าที่มีสายเลือดเชโรกีเต็มตัว ในกระท่อมเล็ก ๆ ที่ตั้งอยู่กลางป่า มีลำธารสายเล็กที่น้ำไหลลงมาจากภูเขา เนื้อหาค่อย ๆ เล่าถึงชีวิตของเด็กชายวัย 5 ขวบนับจากที่ได้มาอยู่ในอ้อมกอดของปู่และย่า ตั้งแต่วิถีชีวิตประจำวัน การทบทวนถึงรากเหง้าของตัวเอง เล่าถึงความผูกพันที่มนุษย์มีต่อธรรมชาติ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม การยอมรับและรู้ที่มาที่ไปของชาติกำเนิดตัวเอง หรือแม้กระทั่งวิธีการทำงานของเชโรกีที่ต้องติดต่อกับคนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่คนเผ่าพันธุ์เดียวกัน เรื่องราวเหล่านี้ทำให้ฉันวาง “ลิตเติ้ลทรี” แทบไม่ลง และหยิบมาอ่านซ้ำอีกหลายครั้งเมื่อคิดถึงย่า ปู่ และลิตเติ้ลทรี

อ่านทุกครั้งก็ตอกย้ำให้ฉันได้เห็นตัวเองมากขึ้น และคอยเตือนตัวเองว่าควรรักษาจิตวิญญาณของตนเอาไว้ให้ดี มีสติที่จะไม่โลภโมโทสัน ทำเรื่องเลวทราม ทำร้ายผู้อื่น และมัวแต่คิดหาผลประโยชน์ทางวัตถุ เพราะย่าของลิตเติ้ลทรีบอกว่า ถ้าเราเป็นคนอย่างนั้น…จิตวิญญาณของเราจะหดเล็กลงเหลือเท่าขนาดเท่าฮิคกอรี่นัท.

และเมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้ทุกครั้ง ฉันก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมฉันต้องอยากมาใช้ชีวิตที่เมืองใหญ่แห่งนี้ เมืองที่เต็มไปด้วยผู้คนแปลกหน้า ตึกรามบ้านช่องที่บดบังท้องฟ้า ดวงดาว ต้นไม้ใบหญ้าก็ยากที่จะได้เห็น อยากเห็นต้องไปที่สวนสาธารณะ อะไรอย่างนั้น ทั้ง ๆ ที่ ๆ ฉันเกิดมา มีทั้งป่าไม้ แม่น้ำ ลำธาร ธรรมชาติ และที่สำคัญมีครอบครัวที่ยังรักและรอวันที่ฉันกลับไปอยู่เสมอ นอกจากนั้น “ลิตเติ้ลทรี” ยังทำให้เราคิดถึงครอบครัว คิดถึงชาติกำเนิด คิดถึงบ้าน ซึ่งก็คือ “บ้านของเรา” จริง ๆ คิดถึงตัวตนที่แท้จริงของตัวเราเอง มองเห็นความสุขที่แท้จริงที่อยู่เหนือไปจากเรื่องวัตถุ และเงินทอง…ว่าแท้จริงแล้วความสุขของคนเราควรมาจากข้างใน และการมีใครสักคนที่รักและเข้าใจ อย่างนั้นมิใช่หรือ

บางส่วนบางตอนของบทที่อ่านแล้วชอบมากที่สุดอีกบทหนึ่งใน “ลิตเติ้ลทรี” คือในบท “วิลโลว์จอห์น” โดยเฉพาะเพลงในหน้าสุดท้ายของบทนี้ ที่ฉันอ่านแล้วต้องน้ำตาไหลทุกครั้ง เนื้อหาเพลงนั้นกล่าวไว้ว่า…

“ท่านจะไปกับฉันหรือเปล่า วิลโลว์จอห์น ไม่ไกลหรอก
หนึ่งหรือสองปี เท่าที่ท่านมีเวลา
เราจะไม่พูดคุยกัน ไม่บอกเล่าถึงความขมขื่นอันยาวนาน
อาจหัวเราะเป็นบางครั้ง หรืออาจหาเหตุผลสักข้อเพื่อร้องไห้
หรือบางสิ่งที่เราสูญเสียไป เราอาจค้นพบ
ท่านจะนั่งลงคุยกับฉันสักครู่ได้ไหม วิลโลว์จอห์น ไม่นานหรอก
เพียงนาทีเดียว หรือตามแต่เวลาที่ท่านมี
แค่มองหน้า เราต่างก็รู้ใจและเข้าใจความรู้สึกของกันและกัน
เพื่อว่าเมื่อเราจากกันไป เราจะอุ่นใจว่าเราต่างเห็นคุณค่าของกันและกัน
อย่ารีบไปได้ไหม วิลโลว์จอห์น? เพื่อเห็นแก่ฉัน
ความอ้อยอิ่งอาวรณ์จะช่วยปลอบโยนใจ
ความทรงจำจะช่วยระงับน้ำตามิให้รินไหล
เมื่อครุ่นคะนึงถึงท่าน ในห้วงปีที่เราจากกัน
คงช่วยบรรเทาใจเจ็บปวดซึ่งร่ำร้องถวิลหา…

และตอนนี้ฉันก็ได้หยิบ “ลิตเติ้ลทรี” ใส่ตะกร้ารวมกับหนังสือเล่มอื่น ๆ ไว้ให้กับหลานสาวตัวน้อยเรียบร้อยแล้ว…

ชื่อหนังสือ : ลิตเติ้ลทรี (The Education of Little Tree)
ผู้เขียน : ฟอเรสต์ คาเตอร์
ผู้แปล : กรรณิการ์ กรมเสาร์
สำนักพิมพ์ : มูลนิธิโกมลคีมทอง
พิมพ์ครั้งที่ 4

Share Button

“บ้านเล็กริมห้วย” (On the Banks of Plum Creek) หนังสือชุดบ้านเล็ก (เล่ม 4) โดย “ลอร่า อิลกัลส์ล ไวล์เดอร์” วรรณกรรมเยาวชนสุดคลาสสิก Best Of The World

“บ้านแบบไหน ที่ทำให้ผู้อยู่มีความสุข”

ฉันก็คงเหมือนกับอีกหลาย ๆ คน ที่เคยเฝ้าฝันอยากมีบ้านหลังใหญ่ ๆ สวยงาม บนเนื้อที่กว้างขวาง มีสนามหญ้าสีเขียว ปลูกดอกไม้นานาพรรณ มีต้นไม้น้อยใหญ่คอยให้ร่มเงาร่มรื่น และเต็มไปด้วยความสะดวกสบาย ในขณะที่อีกหลายคนก็ฝันอยากมีบ้านในฝันที่อาจเหมือนและแตกต่างกันกับฉัน เพราะเราเชื่อว่า ถ้าเราได้มีบ้านในฝัน เราจะมีความสุข ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้ว…หากเราได้อยู่ภายใต้ร่มเงาของบ้านแบบนั้นจริง ๆ เราจะมีความสุขจริงมั้ย?

เพราะ “ความสุขของใจ” อาจไม่ใช่เพราะการได้อยู่ “บ้าน” แบบที่เราฝันก็เป็นได้..

“บ้าน” คือวิมานของคนแทบทุกคน ทุกชนชั้น เรารู้สึกปลอดภัย สบายใจ เป็นตัวของตัวเอง หลับได้เต็มตื่น กิน เล่น นอน เกลือกกลิ้ง และจะทำอะไรก็ได้เมื่อได้อยู่ในบ้านของตัวเอง ไม่ว่าเราจะออกไปเผชิญชีวิตข้างนอกมาแค่ไหน ไปท่องเที่ยวมาแล้วรอบโลก แต่ “บ้าน” ก็ยังเป็นสถานที่ที่เราคิดถึงและอยากกลับไปซบไออุ่นอยู่เสมอ

แต่ไม่ว่าจะค้นหาความสุขจากการ “มีบ้านแบบไหน” หรือ “บ้านแบบไหน” ที่จะทำให้ฉันมีความสุขได้นั้น เอาเข้าจริง ๆ แล้ว ฉันก็ไม่อาจหาคำตอบในเรื่องนี้ได้อยู่ดี จนกระทั่ง…วันหนึ่ง เมื่อฉันได้อ่านวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง “บ้านเล็กริมห้วย” หรือ “On the Banks of Plum Creek” มันก็ทำให้ฉันได้เปลี่ยนมุมมองความคิด และได้เข้าใจมากขึ้นว่า “ความหมายของบ้านที่ทำให้เรามีความสุข” ได้นั้น แท้จริงแล้วไม่ใช่เพราะขนาดของตัวบ้าน หรือบ้านต้องสวยหรูดูดีมากแค่ไหน มีสิ่งอำนวยความสะดวกอะไรบ้างอยู่ในนั้น ฯล หากแต่ความสุขของการได้อยู่บ้านหลังนี้ มันขึ้นอยู่กับองค์ประกอบต่าง ๆ ที่เมื่อรวมกันแล้วเราเรียกว่า “บ้าน” นั่นต่างหากล่ะ และองค์ประกอบที่ว่านั้นก็คือ “ความรัก ความผูกพัน ความอบอุ่น ความเห็นอกเห็นใจกันและกันของคนในครอบครัว” ที่ประกอบไปด้วย พ่อ แม่ พี่น้อง…

เหมือนบ้านหลังเล็กที่ “ลอร่า” ตัวละครหลักในเรื่องนี้มีนั่นเอง

“บ้านเล็กริมห้วย” เป็นวรรณกรรมเยาวชนในชุดบ้านเล็กลําดับที่ 4 และเป็น 1 ใน วรรณกรรม 50 เรื่องที่ต้องอ่านก่อนโต ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักเฝ้าระวังทางวัฒนธรรมและประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม และกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผลงานสุดคลาสสิคของผู้เขียน “ลอร่า อิงกัลล์ส ไวล์เดอร์” ที่ยังคงได้รับความนิยมมาจนถึงทุกวันนี้ ผู้เขียนได้เล่าถึงชีวิตในวัยเด็กที่แสนสุขของเธอ ในช่วงที่ได้อาศัยอยู่ในบ้านหลังเล็ก ๆ ริมห้วยร่วมกับครอบครัว “บ้านเล็กริมห้วย” ของเธอ เป็นบ้านที่มีเพื่อนบ้านเป็นธรรมชาติอันกว้างใหญ่ไพศาล ทั้งป่าไม้ ทุ่งหญ้า แม่น้ำ สัตว์ต่าง ๆ ที่อยู่รอบ ๆ บ้าน ซึ่งเรื่องราวในเล่มนี้ ลอร่าได้เล่าถึงความยากแค้นแสนเข็นของครอบครัวเธอที่มีต่อการเพาะปลูกที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานเป็นเวลาถึง 2 ปี หลังจากอพยพมาอยู่ที่ “มินเนโซตา” ซึ่งจากความแร้นแค้นในครั้งนี้ ทำให้พ่อของเธอตัดสินใจพาครอบครัวย้ายไปอยู่ต่างแดนอีกครั้ง ซึ่งดินแดนแห่งใหม่นั้นเอง เป็นที่ ๆ พวกเขาต้องเผชิญกับชะตากรรมอีกหลายอย่าง ทั้งต้องดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด การต้องและต้องอยู่กับธรรมชาติด้วยความเข้าใจและเป็นหนึ่งเดียว การผจญภัยของลอร่าและน้อง ๆ ของเธอ ปัญหาที่ต้องแก้ไขไม่เว้นแต่วัน แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้น พวกเขาผ่านมันไปได้ด้วยความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจ ความรักของทุกคนภายในครอบครัว ซึ่งนอกจากการได้เห็นวิถีชีวิตของครอบครัว “อิงกัลส์ล” แล้ว เนื้อหาในเรื่องยังซ่อนกลิ่นอายของประวัติศาสตร์และสังคมประจำวันของอเมริกาในยุคนั้นไว้เป็นอย่างดีอีกด้วย

อ่านชีวิตของครอบครัว “ลอร่า” แล้ว ทำให้ต้องทบทวนถึงชีวิตที่ผ่านของตัวเอง… และแน่นอนว่า มันทำให้ฉันคิดถึงบ้าน…

“บ้านหลังใหญ่” อาจไม่ได้มอบความสุขให้กับเรา ถ้าบ้านหลังนั้นขาดความรัก ความอบอุ่น ความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันของสมาชิกภายในบ้าน และที่ฉันประทับใจวรรณกรรมเล่มนี้อีกอย่างก็คือ วิธีการสอนลูก ๆ ของ “ชาร์ลส์” พ่อของลอร่า ที่สอนให้ลูก ๆ ได้มองเห็นความจริงและยอมรับมัน มากกว่าที่จะต้องคอยโกหกเพื่อให้เรื่องจบ ๆ ไป อย่างตอนที่พ่อได้ตัดสินใจใช้ม้าพันธุ์มัสแต็ง 2 ตัว “เพ็ต” และ “แพ็ตตี้” ที่ผูกพันและอยู่กับครอบครัวมานานหลายปี แลกกับที่ดินของ “มิสเตอร์แฮนสัน” ฉากนั้นได้เล่าว่า พอลอร่าได้รู้ก็รู้สึกเสียใจมาก เพราะรักและผูกพันม้าทั้งสองตัว ไม่อยากสูญเสียมันไป แต่เธอก็รู้ว่าไม่สามารถรั้งมันไว้ได้ และเธอก็ไม่ควรร้องไห้เพราะตอนนี้อายุ 7 ขวบแล้ว ลอร่าได้ถามพ่อว่า

“พ่อจ๊ะ นี่พ่อต้องให้เพ็ตกับแพ็ตตี้ไปจริง ๆ เหรอจ๊ะ พ่อให้เขาไปจริง ๆ เหรอจ๊ะ” ซึ่งผู้เป็นพ่อก็ได้ตอบกลับมาว่า “เพ็ตกับแพ็ตตี้ชอบท่องเที่ยว มันเป็นม้าอินเดียนแดงนี่ลอร่า จะให้มันไถนาก็ไม่ไหว เป็นงานหนักเกินกำลังของมัน ถ้ามันได้เดินทางไปในทิศตะวันตก มันก็จะสนุกสบายมากกว่านี้ หนูคงไม่อยากเอามันไว้ที่นี่ ให้มันตายไปกับคันไถหรอกนะ”

ซึ่งนั่นหมายถึงว่า วิธีการปลอบประโลมที่มีทั้งคำอธิบายและคำตอบอยู่ในนั้นของผู้เป็นพ่อ ได้ให้ลอร่าได้มองกว้างออกไปนอกจากคิดถึงเรื่องการสูญเสีย คือการได้เห็นความสุขของผู้อื่น หาใช่ความสุขของตัวเราเองที่ได้ครอบครองมัน

หรือบรรยากาศการสร้างความสุขเล็ก ๆ แต่มีคุณค่าต่อจิตใจเป็นอย่างยิ่งภายในครอบครัว ที่แสดงให้เห็นว่า ผู้เป็นพ่อได้ซ่อนคำสอนเรื่อง “ความสุขและความพอใจต่อบ้านของเรา” เอาไว้ในนั้น อาทิ ฉากหลังอาหารค่ำ หลังจากจุดตะเกียงให้แสงสว่างแล้ว พ่อก็จะหยิบซอออกมาจากหีบ และขึ้นสายอย่างไพเราะ แล้วก็เริ่มบรรเลงเพลง “เมื่อจอห์นนี่เดินกลับบ้าน” ต่อด้วยเพลง “สาวน้อยแสนหวาน, สาวน้อยคนสวย, สาวคนที่ฉันทิ้งไป, บ้านเคนทักกีเก่าแก่ของฉัน” และ “แม่น้ำสวานี่” ซึ่งทุกคนในครอบครัว อันมีแม่, ลอร่า และแมรี่น้องสาวก็ช่วยกันร้องเพลงประสานเสียงไปด้วยกัน หรือแม้กระทั่งน้องชายคนเล็กที่ยังแบเบาะก็เหมือนจะฟังรู้เรื่อง ซึ่งท่อนหนึ่งในบทเพลงนั้น พ่อได้ร้องว่า…

“แม้นเราจักท่องผ่านปราสาทราชวัง
และที่เพลินตาเพลินใจ
แต่ก็แสนชื่นใจว่า ไม่มีที่ไหนเหมือนบ้านของเรา”

ฉันอ่าน “บ้านเล็กริมห้วย” จบเพียง 1 ครั้งเท่านั้น แต่ทว่า..ใจที่อยากกลับไปหาครอบครัวที่อยู่ในชนบทนั้นเกิดขึ้นทันที และมันก็เป็นแรงบันดาลใจให้ฉันตั้งใจเอาไว้ว่า เร็ว ๆ นี้ฉันจะต้องกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิด บ้านที่อยู่ในชนบทเล็ก ๆ บ้านที่หลังบ้านติดทุ่งนาและป่าใหญ่ บ้านที่ยังมี พ่อ แม่ พี่ น้องอยู่กันพร้อมหน้า ฉันคงมีความสุขเหมือนที่ลอร่าและครอบครัวของเธอมีเช่นกัน… เพราะเมื่อฉันได้รู้ความหมายที่แท้จริงของคำว่า “บ้าน” แล้ว ฉันกลับไม่เคยนึกภาพบ้านหลังใหญ่ ๆ สวยงาม บริเวณกว้างขวาง บ้านที่เป็นเหมือนบ้านในฝันหลังนั้นอีกเลย

“ก้อนเมฆนั้นตกลงมาเป็นฝนตั๊กแตน มันมากันเป็นกลุ่ม ถึงกับบดบังดวงอาทิตย์จนแดดมืด เสียงปีกของมันดังซู่ ๆ อยู่ในอากาศ มันหล่นลงมากระทบพื้นดินและตัวบ้าน ดังเหมือนลูกเห็บตก…”

ชื่อหนังสือ : บ้านเล็กริมห้วย (On the Banks of Plum Creek)
(หนังสือชุดบ้านเล็ก เล่ม 4)
ผู้เขียน : ลอร่า อิงกัลส์ล ไวล์เดอร์
ผู้แปล : สุคนธรส
สำนักพิมพ์ : แพรวเยาวชน

Share Button

“ดวงตากระต่าย” (A RABBIT ’S EYES) โดย “เคนจิโร่ ไฮทานิ” วรรณกรรมเยาวชนติดอันดับขายดีของประเทศญี่ปุ่น “มนุษย์เราควรมีความเมตตาปราณีต่อผู้อื่นเป็นสิ่งหนึ่งของชีวิต”

ไม่น่าเชื่อว่า หนังสือที่เขียนขึ้นตั้งแต่ตอนที่ฉันยังไม่เกิดเล่มนี้ จะสะท้อนความจริงของชีวิตมนุษย์ ทั้งทางด้านพฤติกรรม ด้านสังคม รวมถึงความจริงที่ซ่อนอยู่อย่างไม่มิดชิดของโลกใบนี้ได้เป็นอย่างดี และยังเป็นเรื่องราวที่มีเนื้อหาหลากรสชาติ ทั้งสนุก สลดหดหู่ ซาบซึ้ง กินใจ ประทับใจ แม้ว่าจะเป็นหนังสือที่ผู้เขียนได้ตีพิมพ์ออกมาตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2517 ก่อนที่ฉันจะเกิดถึง 2 ปีเลยก็ตาม

ก่อนหน้านั้น ฉันเคยมองเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกอย่างไร ขอตอบด้วยความกระดากใจอยู่ไม่น้อย ว่ามันค่อนข้างตื้นเขิน และออกไปในทางโง่เขลาเบาปัญญา ไม่ค่อยใส่ใจความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่นด้วยเพราะคิดว่า “เขาไม่ใช่เรา” คงเพราะความอ่อนเยาว์ด้วยวันวัยส่วนหนึ่ง ด้วยประสบการณ์ชีวิตอีกส่วนหนึ่ง และการได้บังเอิญเจอหนังสือเล่มเก่าเก็บในลังกระดาษเก่า ๆ ที่ไม่เคยเปิดมาแล้วหลายปีของพี่ชายคนโต ที่ชื่อ “ดวงตากระต่าย” เล่มนี้ มันก็ไม่ได้ถึงขั้นทำให้ฉันบรรลุเรื่องการมองคน มองโลก หรือขัดเกลาจิตใจฉันได้ถึงขนาดกลายเป็นคนดีเลิศประเสิรฐศรีเหมือนพลิกฝ่ามือหรอกนะ หากแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันช่วยให้ฉันได้เข้าใจว่า “ชีวิตคนอื่นไม่เหมือนเรา และชีวิตเราก็ไม่เหมือนคนอื่น เพราะฉะนั้นเราต้องยอมรับว่าโลกก็เป็นอย่างนี้แหละ มีความหลากหลาย และบนความหลากหลายนั้นก็มีความเหลื่อมล้ำ มีคนที่ถูกด้อยโอกาส คนถูกทอดทิ้ง คนที่ถูกสังคมรังเกียจ และหน้าที่ของเราที่พึงมีต่อเพื่อนมนุษย์คือ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมมันดีขึ้นได้อย่างไร”

นับจากนั้นมันทำให้ฉันพยายามมองผู้อื่นโดยไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้งมากเกินไป หรือใช้ตัวเองเป็นบรรทัดฐานอย่างที่เคยเป็น…

นั่นเพราะเรื่องราวใน “ดวงตากระต่าย” ที่ดำเนินเรื่องโดยสองตัวละครหลักอย่างครูสาว “โคทานิ อะเกมิ” ที่เพิ่งผ่านพิธีแต่งงานมาได้ประมาณ 10 วัน และเพิ่งสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมาสด ๆ ร้อน ๆ ลูกสาวของแพทย์ที่เคยใช้ชีวิตบอบบางอย่างคุณหนู ต้องมาเจอกับเด็กนักเรียนชายตัวเล็ก ๆ ที่ชื่อ “เท็จโซ” ผู้มีฐานะยากจน มีบ้านอยู่ใกล้กับโรงขจัดขยะมูลฝอยที่ตั้งอยู่ข้าง ๆ โรงเรียน เป็นผู้ด้อยโอกาสทางสังคม และผู้ซึ่งถูกรังเกียจและรังแกอยู่บ่อยครั้ง ที่น่าหดหู่ใจกว่านั้นก็คือ “เท็จโซ” ไม่มีเพื่อนสนิทเลยแม้แต่คนเดียว เพราะทุกคนล้วนคิดว่า “เท็จโซ” เป็นเด็กนิสัยประหลาด ไม่เข้าพวก ชอบใช้ความรุนแรง คบไม่ได้ มีความเป็นอยู่อย่างซ่อมซ่อ จน สกปรก อยู่บ้านขยะน่ารังเกียจ ในทีแรก “อะเกมิ” ไม่เข้าใจพฤติกรรมของเท็จโซเลยแม้แต่น้อย กลับมีความรู้สึกหวาดกลัวและไม่อยากสุงสิงเหมือนที่คนอื่น ๆ ทำกับเด็กน้อย แต่แล้ววันหนึ่งเมื่อ “อะเกมิ” ได้ใกล้ชิดและรู้ความจริง ว่า “เท็จโซ” เป็นเด็กที่มีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร ความซ่อมซ่อที่อยู่ภายนอกนั้น ช่างตรงกันข้ามกับสิ่งที่อยู่ในหัวใจดีงามของเด็กน้อยยิ่งนัก นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ครูสาวมีความมุ่งมั่นที่จะได้หัวใจอันเปี่ยมรักและเมตตาของเด็กนักเรียนตัวน้อยผู้น่าสงสารมาครอบครอง ส่วน “เท็จโซ” นั้น เขาหวังได้เป็นมนุษย์ที่มีการพัฒนาพร้อมทั้งกายและใจ ใช้ชีวิตอย่างคนอื่น ๆ ทั่วไปในสังคม ที่สามารถข้ามผ่านทั้งเรื่องราวทุกข์และสุขได้ และสามารถคบหามนุษย์ด้วยกันเป็นเพื่อนได้

เรื่องราวชีวิตของครูสาวและเด็กชายตัวน้อยดำเนินไปในแต่ละวัน รวมทั้งหมด 26 บททดสอบ ตัวละครทุกตัวในเรื่องล้วนผ่านบททดสอบของชีวิต และได้เรียนรู้ชีวิตของคนอื่น ๆ ที่แตกต่างจากตนไปในขณะเดียวกัน ซึ่งมันไม่ใช่แค่บททดสอบที่เด็กชายตัวน้อยอย่าง “เท็จโซ” ต้องเจอ เพื่อที่จะก้าวไปเป็นผู้ใหญ่อย่างสมบูรณ์เท่านั้น หากแต่มันทำให้ครูสาวอย่าง “อะเกมิ” ได้เรียนรู้ชีวิต ความรู้สึกนึกคิด ความเป็นอยู่ ของคนที่ด้อยกว่าตนในทุกด้าน ทั้งฐานะและการยอมรับนับถือของสังคม หากแต่กลับเป็นผู้มีหัวใจยิ่งใหญ่ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และก้าวข้ามเรื่องราวร้าย ๆ ในชีวิตมาแล้วมากมาย อาทิ “ตาเฒ่าบั๊ก” คุณตาของ “เท็จโซ”
ฉันชอบหลายประโยคที่ “ตาเฒ่าบั๊ก” คุณตาของ “เท็จโซ” ผู้ซึ่งผ่านชีวิตที่เลวร้ายและการถูกทรมานเจือนตายมาแล้ว ได้พูดกับ “อะเกมิ” ในคราวที่เธอได้เข้าไปในบ้านหลังซ่อมซ่อข้างโรงขยะแห่งนั้น เป็นประโยคที่ฟังแล้วทั้งรู้สึกสะเทือนใจ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับฉันไปในตัว เพราะสะท้อนความจริงของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี อาทิ

“…คนที่ตราหน้าว่าเป็นมนุษย์นั้น มันสามารถทำอะไรก็ได้ มันกลายเป็นผีห่าซาตานก็ได้….”
“ก็จริงอย่างว่า คนเราถ้าตายแล้วก็หมดสิ้นความหวังทุกอย่าง….”
“มนุษย์เรา ลองได้พลาดสักครั้งหนึ่งแล้ว ก็เหมือนได้ไหลลงสู่ห้วงเหว ยากที่จะลุกขึ้นมาตั้งหลักได้..”

ฉันจดข้อความเหล่านี้เอาไว้ในสมุดบันทึกส่วนตัวเพื่อตอกย้ำกับตัวเองว่า “จะไม่กลายเป็นคนอย่างที่ตาเฒ่าบั๊กพูดนี้เด็ดขาด!!”

“รสริน ลิ้มประเสริฐ” บรรณาธิการเล่มได้กล่าวเอาไว้น่าสนใจว่า “ดวงตากระต่าย” ได้บอกให้เราได้รู้ว่า ในสภาพแวดล้อมที่ดูเหมือนเลวร้าย หมายถึงยากไร้และซ่อมซ่อนั้น คนก็อาจจะมิได้ซ่อมซ่อตามไปด้วย เขาสามารถมีศักดิ์ศรี มีน้ำใจ โดยไม่ขึ้นอยู่กับสภาพทางวัตถุเลย หรือครูผู้หนึ่งที่ชอบมาทำงานสาย แต่มักเลิกงานตรงเวลา ทั้งยังชอบกินเหล้าและปากเสีย จนถูกขนานนามว่า “ครูอันธพาล” แต่มีน้ำใจต่อบรรดาลูกศิษย์จน ๆ แสนมอมแมมเป็นยิ่งนัก และเมื่อมีปัญหาอันกระทบถึงความเป็นความตายของเด็ก ๆ และเหล่าพ่อแม่แล้ว เขาก็กระโจนลงมาร่วมต่อสู้ด้วยสำนึกที่ว่า “…คนที่มีชีวิตอยู่เดี๋ยวนี้ล้วนแล้วแต่แทะเล็มชีวิตคนอื่นมา ต่างได้กัดกินชีวิตของคนที่ตายในสงคราม กัดกินคนที่ต่อต้านสงครามแล้วต่อชีวิตของตนเองมา มีคนที่กัดกินอย่างหน้าตาเฉย และก็มีคนที่กัดกินด้วยความทุกข์ทรมาน…” เขาคงจะทุกข์ทรมานเป็นแน่แท้ ถ้าไม่ได้เอาชีวิตของเขามาให้คนอื่นแทะบ้าง และถ้าเขาผ่านด่านนี้ไปได้ เราก็รู้สึกได้ถึงความรู้สึกลึกล้ำที่จะสถิตขึ้นในหัวใจของเขา เพราะ
“มนุษย์นั้นเมื่อผ่านการทดสอบมาได้ครั้งหนึ่งก็จะเจริญเติบโตขึ้น”

…ในโลกที่ร้อนรุ่มไปด้วยไฟพยาบาลและไฟโลภโมโทสันเช่นปัจจุบันนี้ “ดวงตากระต่าย” ทำให้เราได้ฉุกคิด ได้ตระหนักถึงสิ่ง ๆ หนึ่งที่เราแทบจะลืมเลือนไปเพราะถูกกลบกลืนด้วยกระแสความศิวิไลซ์ไปเกือบทั้งสิ้น ด้วยสิ่ง ๆ นั้นแสนสงบเสงี่ยมเจียมตัวทั้งกระจิ๊ดริด ไม่เคยเปล่งเสียง ไม่เคยเรียกร้อง ได้แต่เฝ้ารออย่างเงียบสงบ รอให้มนุษยชาติผู้หลงผิดทั้งหลายหันกลับมาเอง หันกลับมาพบพลานุภาพของสิ่งเล็ก ๆ นี้ สิ่งซึ่งเครื่องจักรยนต์กลไกทั้งหลายของโลกที่ทันสมัยสุดขีดไม่อาจทำเลียนแบบได้ เพราะสิ่ง ๆ นั้นแฝงฝังอยู่ใต้ก้อนเนื้อเล็ก ๆ ในร่างกายของมนุษย์ทุกผู้คนนั่นเอง

“A RABBIT ’S EYES” หรือ “ดวงตากระต่าย” ผลงานของ “เค็นจิโร่ ไฮทานิ”
นักเขียนแห่งเมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น มีผลงานตีพิมพ์ออกมามากมายหลายเล่ม ที่นักอ่านหลายคนอาจจะเคยได้อ่านมาบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็น “ลูกพระอาทิตย์, ครูเอ๋ย, จงเป็นลูกน้องเถิด, เขาดินโดดเดี่ยว” และในปี พ.ศ.2522 เขาก็ได้รับรางวัลนักเขียนที่ระลึกถึง “ยามาโมโต้ ยูโซ” ในเรื่อง “หินข้างทาง” ประเภทอะคาเดมี่

ฉันเชื่อเหลือเกินว่า หากใครได้อ่าน “ดวงตากระต่าย” จบลง แม้จะเป็นผู้ที่มีจิตใจแข็งกระด้าง และเอาแต่ตัวเองเป็นที่ตั้ง ก็อาจจะอ่อนโยนลงได้ไม่มากก็น้อย…

“สิ่งที่สำคัญของความเป็นมนุษย์คือการขบถ เพื่อสร้างสรรค์ความดีงาม มนุษย์จะลืมวิญญาณแห่งการขบถไม่ได้”

ชื่อหนังสือ : ดวงตากระต่าย (A RABBIT ’S EYES)
ผู้เขียน : เคนจิโร่ ไฮทานิ
ผู้แปล : ธราธร นางาชิมา
สำนักพิมพ์ : มูลนิธิเด็ก

Share Button

หนังสือในดวงใจ รถไม้..ของขวัญ ในวัยวันฉัน 8 ขวบ

หนังสือในดวงใจ รถไม้..ของขวัญ ในวัยวันฉัน 8 ขวบ

ย้อนกลับไปเมื่อตอนฉันอายุได้ 8 ขวบ และกำลังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ณ โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครแห่งหนึ่ง ในช่วงเวลาพักเที่ยงหลังจากกินข้าวกลางวันเสร็จ ฉันจะชวนเพื่อนไปห้องสมุดด้วยกัน หรือถ้าเพื่อนไม่อยากไป ฉันจะไปคนเดียว และทันทีที่ถอดรองเท้าหน้าห้องสมุด ฉันจะรีบวิ่งจี๋ไปที่ชั้นวางหนังสือนิทานแล้วหยิบ เรื่อง รถไม้..ของขวัญ มาเปิดอ่านในทันที ฉันอ่านมันซ้ำๆในทุกวันอย่างโดยไม่รู้สึกเบื่อหน่าย และที่สำคัญฉันจะจับจองนิทานเล่มนี้ไว้ในอ้อมอกหรือเก็บไว้ใกล้ตัว แม้ว่าจะกำลังอ่านนิทานเล่มอื่นๆอยู่ ฉันไม่อยากให้ใครเอานิทานเล่มนี้ไปครอบครอง..

และฉันก็ทำเช่นนั้นทุกครั้งที่มีโอกาสไปที่ห้องสมุด ฉันชอบขวัญ เด็กชายที่มีความมุ่งมั่น สามารถประดิษฐ์ของเล่นจากเศษไม้จนเป็นรถไม้ที่ถีบได้จริง ตอนนั้นฉันอยากทำได้อย่างขวัญมากๆ อยากมีรถไม้เป็นของตัวเอง

เนื้อหาของนิทานเล่มนี้เล่าถึงเด็กผู้ชายคนหนึ่ง ชื่อขวัญ ขวัญเป็นเด็กวัด ฐานะทางบ้านยากจน ในทุกเช้าขวัญจะเดินตามหลวงพ่อออกบิณฑบาตร มีอยู่วันหนึ่งเมื่อถึงเวลาเลิกเรียนขวัญเดินผ่านบ้านเด็กคนหนึ่งชื่อแก้ว ครอบครัวของแก้วมีฐานะร่ำรวย และขวัญเห็นแก้วกำลังขี่รถจักรยานยนตร์ไฟฟ้า ขวัญได้แต่เกาะรั้วเฝ้ามองแก้วและเพื่อนๆกำลังเล่นของเล่นที่มีทั้งรถจักรยานยนตร์ไฟฟ้า หุ่นยนตร์ รถบังคับวิทยุ แก้วกับเพื่อนๆเห็นขวัญเข้าก็เลยโวยวายต่อว่าและทำท่าทีรังเกียจและพากันดูถูกขวัญถึงขั้นบอกให้ไปกินดิน ขวัญได้ยินเช่นนั้นก็เดินร้องไห้เสียใจออกมาจากบ้านของแก้ว

ในคืนนั้นเองขวัญได้ฝันเห็นรถไม้ แม้ว่าความฝันนั้นจะไม่ชัดเจนนักแต่ขวัญก็จำภาพรถไม้ได้ดี จนตอนเช้าขวัญรีบเร่งจัดการร่างภาพรถไม้ในความฝันนั้น และมองหาเศษวัสดุเพื่อมาประกอบเป็นรถ ไม้ที่พอหาได้เป็นแผ่นไม้ที่ลอยมาตามน้ำเน่าที่สกปรก มีผู้ใหญ่บางคนเห็นความตั้งใจของขวัญ จึงเอาล้อหน้าของรถสามล้อเก่าๆของเด็กมาให้ ขวัญประกอบรถไม้เป็นรถสามล้อที่สามารถถีบได้จริง เขาตั้งใจทำจนสำเร็จ ผู้ใหญ่ต่างให้การยกย่องในความตั้งใจ เด็กคนอื่นๆที่ได้เห็นรถของขวัญต่างพากันชมว่าสวยงาม ถามไถ่ว่าไปเอามาจากไหน

ขวัญยิ้มด้วยความภาคภูมิใจ ขวัญถีบรถไม้ของตัวเองไปหาแก้วที่หน้าบ้าน แต่ครั้งนี้ขวัญไม่รู้สึกอิจฉาหรือน้อยใจแก้วอีก แก้วและเพื่อนๆเห็นขวัญกับรถไม้ก็อยากนั่งรถของขวัญทุกคน ขวัญให้ทุกคนลองนั่งตามสบายสุดท้ายแก้วคิดได้จึงเอารถมาแบ่งให้ขวัญได้เล่นบ้าง เด็กๆต่างแบ่งปันรถของตนเองให้แก่เพื่อน

นิทานเรื่องนี้สอนให้เรามองความศักดิ์ศรีความมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ปลูกฝังลักษณะนิสัยการแบ่งปัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น นี่ฉันมาคิดได้ตอนโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว แต่ถ้าตอนนั้นถามว่าทำไมถึงชอบนักชอบหนากับนิทานเล่มนี้ อาจจะเป็นเพราะฉันเป็นเด็กช่างจินตนาการ ชอบประดิษฐ์ และขี้สงสาร จึงเอาใจช่วยและเชียร์ขวัญแบบออกหน้าออกตา ด้วยการหยิบนิทานของขวัญมาอ่านซ้ำแล้วซ้ำเล่าแบบนอนสตอป

วันหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ฉันเดินเข้าไปในห้องสมุดแล้วพบหนังสือนิทานในดวงใจเล่มนี้ หัวใจฉันเต้นโครมครามด้วยความตื่นเต้น ฉันบรรจงเปิดอ่านทีละหน้า ตามท่วงทำนองกลอนแปด ตั้งแต่หน้าแรกจนจบ คิดถึงตัวเองตอนป.2 ที่ยังไร้เดียงสา ภูมิใจในตัวเองเล็กๆว่านิทานเล่มเล็กๆนี้เป็นเหมือนเมล็ดพันธุ์ที่หว่านทิ้งไว้แล้วมันงอกงามแตกราก เติบโต เป็นต้นกล้า แตกกิ่งก้านสาขาจนเป็นต้นไม้ใหญ่ จนฉันเป็นอ่านจนและอาศัยร่มเงาดอกผลของการอ่านกระทั่งเป็นนักเขียนกับเขาได้ในวันนี้.. เพราะว่าการอ่านเปรียบเสมือนต้นทุนวัตถุดิบชั้นดีของการเขียน ฉันเขียนได้เพราะฉันอ่าน และเพราะฉันอ่านหนังสือดีๆฉันจึงเขียนงานดีๆได้ ขอบคุณเพื่อนในวัยเยาว์ ผู้ปลุกปั้นความฝันและแรงบันดาลใจให้ฉัน มีนิสัยเช่นเด็กชายขวัญในนิทาน จนถึงวันนี้

ปล. เรื่องรถไม้ของขวัญ ผู้แต่ง อิทธิพล วาทะวัฒนะ เป็นหนังสือที่ชนะการประกวด 2 รางวัล ในประเภทบันเทิงคดีและสวยงาม จัดอยู่ในหมวดหมู่หนังสืออ่านเพิ่มเติมสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต

Share Button

รอมาลีแย้มบาน

เด็กน้อยวัยสามขวบกว่าตัวเล็กจ้อยกำลังหายใจอยู่ภายใต้เครื่องพ่นละอองยา ร่างน้อยๆ ของเธอหอบโยนเป็นจังหวะเดียวกับเสียงครืดคราดในลำคอ แว็บหนึ่งเธอหันมาสบตาเรา แล้วมองเมินไปเหมือนเราไม่ได้มีตัวตนอยู่ตรงนั้น

งานแรกของ #อาสาสร้างสุข ของเรา…คงไม่ใช่เรื่องง่าย
.
เราเฝ้ามองเด็กน้อยอยู่เงียบๆ จนกระทั่งสิ่งที่ครอบจมูกของเธอถูกปลดออก เราส่งรอยยิ้มไปทักทาย เธอมองเฉยๆ ไม่แย้มยิ้ม พูดคุยกับเธอหลายประโยค แต่เธอยังคงนิ่งเงียบคล้ายไม่ได้ยินเสียงเรา จนคุณแม่ของเธอต้องบอกกับเราว่า “น้องไม่ค่อยพูด” หลังจากนั้นเราจึงเปลี่ยนวิธีการสื่อสารใหม่เป็นการตั้งคำถามแทน สิ่งที่เหมาะกับเด็กเล็กไม่ช่างพูด ไม่อยากฟังนิทาน คงไม่พ้นการระบายสี

เธอเลือกรูป “คิตตี้” ออกจากรูปภาพนับสิบมาระบายสีอย่างแผ่วเบาจนแทบมองไม่เห็นสี เธอไม่ได้กลัวกระดาษเจ็บ แต่เธอมีเรี่ยวแรงเพียงเท่านั้น เราถามเธอว่าอยากให้ป้าช่วยมั้ยคะ เธอพยักหน้า นั่นคือแสงแรกที่สว่างว้าบเข้ามาให้เราใจชื้น ใครที่เดินผ่านเตียงของเรา จะได้ยินเสียงเจื้อยแจ้วของป้าคอยถามนู้นถามนี่ตลอดเวลา ในขณะที่เด็กน้อยทำเพียงพยักหน้า ก้มหน้า ส่ายหน้า และเหม่อลอย แต่ถึงอย่างนั้นความมีชีวิตชีวาก็ค่อยๆ ปรากฏให้เห็น ผ่านแรงกดดินสอสีที่เข้มขึ้น ผ่านการเลือกหัวใจหลากสีติดลงบนเล็บมือ ผ่านการชะเง้อหาตอนเราไปเตียงเด็กป่วยคนอื่น

เรากลับมาหาเด็กน้อยอีกครั้ง ครั้งนี้เราเล่นขายของกัน ดูเหมือนเธอจะโปรดปรานหม้อไหกระทะจานชามเป็นพิเศษ เธอกำลังเพลิดเพลินกับการทำเมนูไก่นึ่ง

“ขอไก่ป้าหน่อย ป้าหิวจนตัวสั่นไปหมดแล้ว” เราพูดเสียงสั่นพร้อมกับทำมือสั่นๆ ยื่นไปหาเธอ แล้วสิ่งมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้น!

เธอยิ้ม!!!

ยิ้มของเธอช่างสว่างไสว ฟันเรียงตัวขาวอย่างเป็นระเบียบ น่ารักอะไรขนาดนี้!

หลังจากหลุดยิ้มให้เราครั้งแรก เธอก็ยิ้มอีกเพียง 3-4 ครั้ง แต่นั่นก็ถือว่าคุ้มค่าที่สุดกับการเฝ้ารอ ‘มาลี’ แย้มบานตลอด 3 ชั่วโมงที่เราอยู่กับเธอแล้ว
.
หวังเหลือเกินว่า…มาลีดอกนี้จะค่อยๆ แย้มกลีบบาน และส่งกลิ่นหอมจรุงคล้ายกับชื่อของเธอ “มาลีจันทร์”
.
.
ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุฯ (โรงพยาบาลชลประทาน)
13 กุมภาพันธ์ 2562
.
#อาสามีสุขรุ่นที่5 #โครงการโรงพยาบาลมีสุข #มูลนิธิกระจกเงา #อาสาสมัคร #อาสาสมัครในโรงพยาบาล #เด็กป่วย

.

Share Button