สิทธิในการเสพสุนทรียะและกลิ่นอันหอมหวนของบ้านในความทรงจำ

สิทธิในการเสพสุนทรียะและกลิ่นอันหอมหวนของบ้านในความทรงจำ

ที่นี่เราสามารถมองเห็นฟ้าได้ทุกสี เทียบเท่ากับทุกคน เพียงแต่ไม่อาจเห็นเส้นขอบฟ้า..
ฉันใด “การมองไม่เห็นเส้นขอบฟ้า ก็เหมือนกับการมีชีวิตแต่เข้าไม่ถึงจังหวะเต้นของหัวใจ” ฉันนั้น

“เรือนจำ” ในที่นี้หมายถึง “เรือน” ที่ประทับตราตรึงไม่มีวันลืมเลือนอยู่ใน “ความทรงจำ”
เพราะถ้าเมื่อไหร่ที่ “ลืม” เราก็อาจต้องกลับมาที่นี่อีก จนกว่าจะ “จดจำ” เรือนแห่งนี้ได้ขึ้นใจ
สำหรับทุกคนที่ถูกเรือนแห่งนี้..จองพื้นที่ในความทรงจำ แค่มองเข้าไปในดวงตาอันแห้งแล้ง
เราสัมผัสถึงลมหายใจแห่งความ “คิดถึงบ้าน” สุดพรรณา

ภายใต้กำแพงซ้อนกำแพง สามสี่ห้าชั้น ของเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
กว่าเราจะเข้าถึงนักโทษชายที่มีตั้งแต่วัยฉกรรจ์ จนถึงเฒ่าชรา
หลังกำแพงสูงเสียดฟ้า ความรู้สึกของเราถูกกลั่นกรองทีละน้อย
ในแวบแรกของความคิด เรานึกถึงเส้นทางหลบหนี..

แปลกแต่จริง…

เมื่อร่างกายกำลังถูกกักขัง เพียงแค่เชิงกายภาพด้วยสิ่งก่อสร้างแน่นหนา
ความรู้สึกของเรากลับดิ้นรนหาอิสรภาพ นี่คงเป็นสัญชาติญาณสามัญธรรมดาของมนุษย์
ทั้งนี้..มันไม่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงใดๆ กับการเป็นคนดี คนเลว!!

“บทเพลง กาแฟ หญิงสาว น้ำแข็งใส และหนังสือ” สิ่งของธรรมดาแต่ไม่สามัญสำหรับที่นี่

“จริงใจแค่ไหน แค่ไหนเรียกจริงจัง ผิดเพียงหนึ่งครั้ง ถึงเก้าซะที่ไหน” ยังไม่ทันสิ้นเสียงร้องนำ บรรดาชายหนุ่มรุ่นกระทงพากันเปล่งเสียงประสาน พร้อมแววตาแจ่มใส ท่วงทำนองดนตรีช่วยพาเขากลับสู่ร่องรอยแห่งความรื่นรมย์ของชีวิตเก่าๆอีกครั้ง อาจจะเนิ่นนานสำหรับนักโทษบางคนที่ไม่ได้เปล่งเสียงร้องเพลงดังๆอย่างนี้ แม้กระทั่งในความทรงจำ

“กาแฟเย็น” ชื่นใจถูกเสริฟให้ทุกคน แบบไม่อั้น อาจจะไม่ใช่กาแฟที่อร่อยที่สุด แต่มันก็ทำให้จิตใจที่ร้อนรุ่ม ฉำ่เย็นขึ้นมาบ้าง คาเฟอีนสูบฉีดหัวใจให้คึกคักและทำให้บางคนคิดถึงเพื่อนที่ไม่ได้เจอมานาน คนที่เคยดื่มกาแฟร่วมกันในยามเช้าบ่าย

“หญิงสาวแปลกหน้า” อาสาสมัครหน้าตาจิ้มลิ้ม พวกเธอคิดอะไรอยู่ ถึงได้พาตัวเองมาถึงที่นี่ เพราะสำหรับที่นี่หญิงสาวคือ “สิ่งต้องห้าม” การเคลื่อนย้ายร่างกายไปมา หยิบจับข้าวของ จัดเรียงแก้วน้ำของพวกเธอ สายตาประหม่า แต่ไม่เหยียดหยัน ดูแคลน คงทำให้บางคนรู้สึกเหมือนกำลังนั่งดูแม่ ภรรยา หรือลูกสาว จัดเตรียมข้าวปลาอาหารอยู่ในห้องครัว เชื่อว่า ..จังหวะเต้นของหัวใจใครบางคนคงเต้นดังโครมครามเหมือนชีวิตกลับมาธรรมดาสามัญอีกครั้ง บ้านที่มีผู้หญิง คือเรือนนอนที่อบอุ่น ปลอดภัยทั้งกายและใจสำหรับผู้ชายทุกคน

“น้ำแข็งใส” ขนมหวานๆเย็นๆ ช่วยเพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด ยิ่งได้เคี้ยวน้ำแข็งพร้อมกับผลไม้เชื่อมนานาชนิด ยิ่งทำให้รู้สึกมีชีวิตมีรสชาติ มีชีวิตชีวา และกระชุ่มกระชวย ชีวิตของคนเราควรได้มีโอกาสลิ้มรสความหอมหวานแบบนี้ เพราะความสุนทรีย์ทางอารมณ์ต้องครบทั้งรูปรสกลิ่นและเสียง

“หนังสือ” ทุกคนสามารถเลือกหนังสือที่ตัวเองชอบได้คนละหนึ่งเล่ม ด้วยโครงการอาสามาเยี่ยมเชื่อว่า การอ่านคือการเปิดจินตนาการสู่โลกใบใหม่ ถึงแม้ว่าจะเป็นโลกใบใหม่ที่ห่างไกลความจริงสำหรับนักโทษที่นี่ แต่การได้รู้ได้เห็นความเป็นไปของโลกภายนอกผ่านตัวหนังสือ และภาพประกอบมันก็ทำให้เขารู้สึกเป็นอิสระเหมือนนักเดินทางแม้ในความฝันก็ยังดี

เพราะที่นี่คือที่ที่ทำให้คน “คิดถึงบ้าน” มากที่สุดในโลก

การมาของโครงการอาสามาเยี่ยม “เพื่อนนักโทษชายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร” เพียงสองชั่วโมงครึ่งของการพบเจอกันมันช่วยลดโมงยามแห่งความโหยหาและคิดถึงบ้าน ช่างสั้นนักในห้วงสุนทรียะ แต่กลับสร้างความหมายใหม่ของการมีชีวิตต่อไปในเรือนจำที่เย็นชา ผ่าน“บทเพลง กาแฟ หญิงสาว น้ำแข็งใสและหนังสือ” เป็นการรวมตัวกันของสิ่งธรรมดาแต่ไม่สามัญที่นำพากลิ่นของบ้านให้ลอยฟุ้งตลบอบอวลไปทั่วพื้นที่แห่งความทรงจำ

Share Button

“ยกระดับ” ความสุขช่วงปีใหม่ด้วยการแบ่งปัน

“ยกระดับ” ความสุขช่วงปีใหม่ด้วยการแบ่งปัน

เคยนึกสนุกกันบ้างไหมว่า…ในวันปีใหม่เราจะนำของขวัญไปวางไว้หน้าบ้านใครสักคนที่เราไม่รู้จัก “วางของขวัญไว้หน้าบ้านใครสักคน” วิธีนี้เป็นเคล็ดลับการสร้างความสุขอย่างหนึ่งจากหนังสือ The Little Book of Lykke เขียนโดย Meik Wiking ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยความสุขในโคเปนเฮเกน

Lykke “ลุกกะ” เป็นภาษาเดนมาร์ก แปลว่า “ความสุข” และประเทศเดนมาร์กสามารถครองแชมป์ประเทศที่มีความสุขที่สุดของโลกหลายปีซ้อน แล้วทำไมชาวเดนมาร์กจึงถูกจัดว่ามีความสุขที่สุดในโลกนะหรือ ก็ด้วยเหตุผลที่ว่าประเทศนี้เขามีสวัสดิการจากรัฐไว้ดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนทุกคนแม้กระทั่งคนยากไร้ให้อยู่ดีมีสุขอย่างที่สุดไงล่ะ

มองตามความเป็นจริงแม้ประเทศไทยจะยังห่างไกลจากการจัดอันดับความสุขระดับโลกอยู่หลายขุม แต่เราก็ยังสามารถสร้างความสุขเล็กๆ น้อยๆ ในแบบเราได้ โดยเฉพาะคุณสมบัติโดดเด่นในเรื่องของน้ำใจของคนไทย ที่ไม่เคยเป็นรองใคร

“น้ำใจ” เราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า การให้ในรูปแบบที่ไม่หวังผล การแบ่งปันน้ำใจทำได้ง่ายมาก ไม่ซับซ้อน และสร้างความสุขให้โลกน่าอยู่ได้อย่างน่าอัศจรรย์

ปีใหม่นี้มูลนิธิกระจกเงาขอเป็นตัวแทนในการ “นำของขวัญไปวางไว้หน้าบ้านใครสักคนที่คุณไม่รู้จัก” และสำคัญไปกว่านั้น ใครคนนั้นอาจเป็นเด็กๆ ที่ไม่เคยมีของเล่นเป็นของตัวเองเลยในชีวิต เมื่อนั้นความสนุกจากการนึกคิดจะกลายเป็นความสุขของผู้รับในโลกความจริง และกลายเป็นความสุขใจย้อนกลับแบบยกกำลังสองถึงผู้ให้ในทันที …แค่คิดจะให้ ก็ได้รับ

ในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้เราเปิดรับน้ำใจจากการแบ่งปันในทุกรูปแบบ การบริจาคของขวัญ ของเล่นสำหรับเด็กทุกวัย ข้าวของเครื่องใช้ทั้งมือหนึ่งหรือมือสองที่คุณแบ่งปันให้มา จะถูกส่งต่อถึงมือผู้รับที่ต้องการ

ส่งท้ายปีเก่าเริ่มต้นปีใหม่ด้วยการ “แบ่งปันข้ามปี” เพื่อเติมเต็มหัวใจให้คนที่ขาด น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการสร้างความสุขหรือความแช่มชื่นเล็กๆ ในใจได้ เราจึงชวนให้คุณๆ ส่ง ส.ค.ส. ด้วยสิ่งของต่างๆ ที่จะถูกแปลงเป็นของขวัญทรงคุณค่าสำหรับบางคน …เพราะการให้คือการได้รับอย่างไม่รู้จบ
…เพราะความสุขเป็นจริงได้เมื่อเราแบ่งปัน.

Share Button

“การแบ่งปัน” แบบฝึกหัดของชีวิตวัยเยาว์

“การแบ่งปัน” แบบฝึกหัดของชีวิตวัยเยาว์

เด็กหญิงวัยห้าขวบกำลังก้มหน้าก้มตาเล่นมือถือ ในขณะที่พี่ชายวัยแปดขวบกำลังเล่นแทปเล็ต ในโลกยุคใหม่ที่ทุกอย่างไหลเร็วเสียจนพ่อแม่ผู้ปกครองเองก็ตั้งตัวไม่ทัน แม้ ‘พล’ กับ ‘แป๋ว’ สองสามีภรรยาชนชั้นกลาง พนักงานบริษัทกินเงินเดือนชนเดือนจะพยายามจำกัดเวลาการใช้อุปกรณ์สื่อสารของลูกรักทั้งสอง แต่ก็อดใจเสียไม่ได้เมื่อความสัมพันธ์ในครอบครัวอยู่ในยุคสังคมก้มหน้า แม้แต่เด็กตัวเล็ก ๆ ก็ไม่เว้น

พลมองของเล่นของลูกเกลื่อนตามมุมคอนโดขนาดกะทัดรัดกลางเมือง พลางถอนหายใจ สารพัดตุ๊กตาของลูกสาวกระจายอยู่ทั่วห้อง บางตัวอยู่ในสภาพใหม่ บางตัวแขนหลุด ชุดรุ่ย ส่วนรถหลากชนิดและหุ่นยนต์ทหารของลูกชายก็กระจายอยู่บนโซฟา และตามใต้โต๊ะเก้าอี้ “อีกไม่กี่วันจะปีใหม่แล้ว พ่อว่าเรามาคุยกันดีกว่ามั้ย จะไปเที่ยวที่ไหนดี” คำว่าเที่ยวมักได้ผลเสมอกับเด็ก ๆ ทั้งลูกสาวและลูกชายพักสายตาจากหน้าจอ แล้วหันมามองผู้เป็นพ่อ “วางโทรศัพท์ก่อนนะลูก นี่ก็ใกล้ครบเวลาหนึ่งชั่วโมงตามที่ตกลงกันไว้แล้วนะ” แป๋วผู้เป็นแม่เดินออกมาจากโซนครัว ในมือถือจานผลไม้หั่นมาให้ผู้เป็นสามีและลูก ๆ

“ขอต่อเวลาอีกหน่อยนะจ้ะแม่” ลูกชายพูดขึ้น

“ถ้าอย่างนั้นเราไม่ต้องไปเที่ยวกันหรอก อยู่บ้านเล่นมือถือนี่แหละ ดีมั้ย” ได้ผล สิ้นคำพูดของพล เด็กทั้งสองวางมือจากโลกส่วนตัวตรงหน้า และหันมามองผู้เป็นพ่อ ต่างพากันเสนอที่เที่ยวที่ตัวเองอยากไป ซึ่งก็ไม่พ้นสวนสนุก และร้านอาหารที่มีโซนสำหรับเด็กเล่น ซึ่งพลกับแป๋วเห็นว่า มีสถานที่อย่างนั้นมากมายไม่ใกล้บ้าน และไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรมากมาย จึงตอบตกลง

“ลูก ๆ ก็ได้ไปแล้ว คราวนี้ของแม่บ้างนะ แม่อยากไปทำบุญบริจาคสิ่งของน่ะพ่อ” เด็กชายและเด็กหญิงมองหน้าผู้เป็นแม่แบบงงงวย

“ทำบุญบริจาคสิ่งของคืออะไรคะแม่ เหมือนหนูเอาขนมแบ่งให้เพื่อนกินอย่างนี้หรือเปล่าคะ” หนูน้อยถามเอียงคอ

“อันนั้นเขาเรียกว่ามีน้ำใจกับเพื่อนจ้ะลูก การบริจาคสิ่งของก็คือการทำบุญอย่างหนึ่ง ของที่เราไม่ได้ใช้แล้ว ก็จะถูกส่งต่อไปให้ผู้อื่นที่เขายังต้องการใช้ และสร้างประโยชน์ให้เขาได้น่ะลูก”

“พ่อว่าเอาตุ๊กตาของลูกไปบริจาคด้วยดีมั้ยแม่ มีหลายที่เลยที่เขารับบริจาค เดี๋ยวตัวพัง ๆ นี่ซ่อมเสียหน่อยก็ใช้ได้แล้วล่ะ”

“ไม่ได้นะครับพ่อ ผมยังเล่นอยู่”

“ไม่ให้ค่ะ มันของหนูนี่นา”

“แล้วถ้าเป็นของลูก ทำไมลูกไม่ดูแลรักษามันเลยล่ะ เล่นแล้วก็ไม่เก็บให้เป็นที่เป็นทาง เออ! แม่ว่าหนูเลือกบางตัวไปบริจาคมั้ยลูก ตัวที่ลูกไม่อยากเล่นแล้ว หรือไม่ชอบแล้ว”

“ทำไมหนูต้องเอาไปให้คนอื่นด้วยล่ะครับ เด็กคนอื่นไม่มีพ่อแม่ซื้อให้เหรอ”

“ฟังพ่อนะลูก ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะมีพ่อแม่หรือไม่มีก็ตาม แต่ใช่ว่าเด็กทุกคนจะมีพ่อแม่ที่มีเงินซื้อของเล่น เด็กบางคนไม่มีแม้แต่ของจะเล่นหรือเหมือนหนู แถมยังไม่มีเวลาเล่นอีก นอกจากเรียนและทำงานช่วยพ่อแม่”

“มีเด็กแบบนี้อยู่จริง ๆ เหรอครับพ่อ”

“โลกเราไม่ได้มีแค่เราหรือแค่ที่เราเห็นนะลูก ยังมีคนลำบากกว่าเราอีกเยอะ บางคนยังไปขายพวงมาลัยตามสี่แยกไฟแดง หรือเดินขายขนมขายดอกไม้ตามร้านอาหาร ลูกก็เคยเห็นนี่นา อย่าว่าแต่เงินซื้อของเล่นเลย ไม่รู้ว่ามีข้าวกินครบทุกมื้อมั้ย…ถ้าลูกไม่ได้ใช้ ก็แบ่งให้เขาไปเถอะลูก”

สองพี่น้องนิ่งคิดอยู่ชั่วครู่ก่อนจะพยักหน้า และแยกย้ายกันเก็บของเล่นของตนมากองรวมกันไว้ แล้วคัดชิ้นที่ตัวเองไม่อยากเล่นออกไปอย่างตัดใจ ผู้เป็นพ่อและแม่เห็นแล้วก็อดยิ้มไม่ได้

ในยุคที่ทุกอย่างเร่งรีบแบบนี้ ยุคที่ผู้คนเห็นแก่ตัวกันมากขึ้น ซ้ำยังมองเห็นความทุกข์ของผู้อื่นเป็นเรื่องไกลตัว แต่อย่างน้อยหากเราค่อย ๆ สอนลูกให้เติบใหญ่ขึ้นมาเป็นคนที่มีน้ำใจต่อผู้อื่น ไม่ยึดติดกับวัตถุจนเกินไป สิ่งนี้คือแบบฝึกหัดสำหรับชีวิตที่ยอดเยี่ยม ผ่านการสอนลูกให้เรียนรู้เรื่องการเป็นผู้ให้และเริ่มแบ่งปันข้าวของเล็กๆน้อยๆให้ผู้อื่นตั้งแต่วัยเยาว์

Share Button

ทิ้งท้ายด้วยการ “ให้” เพื่อเริ่มต้นปีใหม่อย่างงดงาม

ทิ้งท้ายด้วยการ “ให้” เพื่อเริ่มต้นปีใหม่อย่างงดงาม

ในช่วงเทศกาลแห่งความสุข หลายครอบครัวมองหาที่ทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตในช่วงปีใหม่ ไม่ว่าจะเป็นทำบุญที่วัด, ไถ่ชีวิตโคกระบือ, เลี้ยงอาหารกลางวันเด็กกำพร้าและคนชรา, บริจาคโลงศพและน้ำมันเชื้อเพลงศพไร้ญาติ

ตามหลักพระพุทธศาสนา “การบริจาคสิ่งของ” นั้นนับเป็นการ “ให้ทาน” หรือ “ทานมัย” ซึ่งหมายถึง การเสียสละ การแบ่งปัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการให้ทานข้าวของหรือเงินทอง การทำบุญประเภทนี้ จะช่วยขัดเกลาจิตใจของผู้ให้ ให้ลดความตระหนี่ถี่เหนียว ลดความคับแคบของจิตใจ ลดความเห็นแก่ตัว และไม่ยึดติดวัตถุ แต่บางคนไม่เคยทำบุญด้านการบริจาคสิ่งของมาก่อน อาจจะนึกภาพไม่ออกว่าจะต้องทำอย่างไร แล้วอะไรที่เหมาะสมในการบริจาคบ้าง

ปีใหม่นี้ “มูลนิธิกระจกเงา” ขอเป็นตัวกลางในการส่งต่อ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในรูปแบบ “การบริจาคสิ่งของ” เช่น เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย, ของใช้ทุกประเภท, เฟอร์นิเจอร์เก่าที่ยังคงสภาพใช้งานได้, เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดทุกสภาพการใช้งาน, คอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ค, ปริ้นเตอร์, อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ทุกสภาพการใช้งาน, หนังสือทุกประเภท, อาหาร ยารักษาโรค สำหรับการทำกิจกรรม Food For Friends, ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ Size M และ L, ยาสามัญประจำบ้าน และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น รถเข็น, ไม้ค้ำยัน, วิวแชร์, เตียงผู้ป่วย, ถังอ๊อกซิเจน ฯลฯ ให้กับผู้ที่ขาดแคลน ผู้ที่ต้องการใช้ ของที่ไร้ค่าสำหรับเรา อาจจะมีความหมายและจำเป็นต่อชีวิตผู้อื่นให้ถึงมือผู้ที่ต้องการใช้ประโยชน์จริง ๆ

สิ่งบริจาคเหล่านั้นจะถูกนำไปจัดสรรต่อ โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกันคือ
1.) ระดมทุนเข้าโครงการแบ่งปัน เพื่อนำไปสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการต่าง ๆ ในมูลนิธิ
2.) สร้างอาชีพ จำหน่ายสินค้าระดมทุนราคาต่ำ เพื่อให้คนในชุมชนมีรายได้เสริมจากการจำหน่ายสินค้าราคาถูก และ
3.) ส่งต่อไปยังพื้นที่ขาดแคลน ไม่ว่าจะเป็น ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ในโครงการอาสามาเยี่ยม, พื้นที่ประสบภัยต่าง ๆ ทั้งอัคคีภัย อุทกภัย, โรงเรียนต่างจังหวัด, คนไร้บ้าน, ผู้ป่วยข้างถนน, สถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง 13 แห่งทั่วประเทศไทย รายละเอียดอื่น ๆ และช่องทางการบริจาคสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ลิงก์นี้ http://www.mirror.or.th/autopagev4/show_page.php?topic_id=1433&auto_id=32

ให้การทำบุญปีใหม่ไม่ใช่เรื่องยาก..ไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่ต้องเดินทางไปไหนไกล แค่เพียงเปิดตู้เสื้อผ้าของคุณเลือกชุดที่ใส่ไม่ได้แล้ว จะสีหม่น หรือเก่าขาด ส่งต่อมาให้พวกเราเพื่อเติมเต็มให้กับผู้คนที่กำลังรอคอยและขาดโอกาสในทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย

Share Button

อิ่มใจ อิ่มบุญ ด้วยการ “ให้” และ “แบ่งปัน”

อิ่มใจ อิ่มบุญ ด้วยการ “ให้” และ “แบ่งปัน”

อีกหนึ่งกิจกรรมในช่วงปีใหม่ที่แทบทุกคนทุกครอบครัวมักจะชวนกันทำเสมอ ๆ คือการ “ทำบุญ” และการทำบุญในรูปแบบของการ “บริจาคสิ่งของ” นั้น ก็เป็นการทำบุญที่ทำได้ทุกศาสนา ทุกเพศทุกวัย ทุกคน และทุกชนชั้น

แน่นอนว่า เราทุกคนมีสิ่งของส่วนตัวที่ไม่ได้ใช้แล้วอย่างแน่นอน บ้างก็อาจจะเบื่อ บ้างก็อ้วนขึ้นผอมลงใส่ไม่ได้ บ้างก็ซื้อของใหม่เข้ามาแทน ฯลฯ หากเรามีเวลาเปิดตู้เสื้อผ้า หรือตั้งใจไล่เรียงรายการข้าวของเครื่องใช้ ของเล่นลูก อุปกรณ์ทำครัว อุปกรณ์ทำสวน อุปกรณ์ซ่อมรถ กระเป๋า สารพัดสิ่งที่ไม่ได้ใช้แล้ว อาจจะมีมากจนตัวเราเองก็ต้องตกใจ บางอย่างลืมไปด้วยซ้ำว่ามันมีอยู่ หรือบางอย่างมันจะกึ่ง ๆ ระหว่าง “จะทิ้งก็เสียดาย จะขายก็คงไม่ได้ราคา” ถ้าอย่างนั้น เราเลือกสิ่งของที่เหมาะสมจะบริจาคเหล่านั้น มาแบ่งปันและส่งต่อให้กับผู้อื่นที่ต้องการใช้ หรือคนที่อาจจะไม่มีโอกาสที่จะมีของสิ่งนั้นเลยก็ได้ตลอดชีวิตนี้กันดีกว่า

การเอื้อเฟื้อแบ่งปันด้วยการทำบุญบริจาคนี้ ทำให้เกิดเรื่องราวดี ๆ ขึ้นมากมายหลายประการ ที่เราอาจนึกไม่ถึงและไม่คาดคิด อาทิเช่น

1.) ช่วยให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์ และสามารถต่อชีวิต มีอนาคต มีงานทำเลี้ยงตัวเองและครอบครัว จากสิ่งของที่เราบริจาค

2.) ช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ พ้นจากความขาดแคลน หรือความทุกข์ยาก ความทุกข์โศก จากสิ่งของที่เราบริจาค

3.) ช่วยให้สังคมเกิดความสงบสุขมากขึ้น มีส่วนช่วยลดปัญหาอาชญากรรม การลักเล็กขโมยน้อย การฉกชิงวิ่งราว จากสิ่งของที่เราบริจาค

4.) ช่วยให้จิตใจของผู้ให้ มีความสุข สงบ จากการรู้จักเสียสละ อุทิศสิ่งของของตนให้แก่ผู้อื่นได้ โดยไม่ยึดติด เป็นการปล่อยวางอย่างหนึ่งที่ทำให้จิตใจสุขสงบ เหมือนได้ชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ ซึ่งก็จะส่งผลให้สมองแจ่มใส ทำการงานได้อย่างสบายใจ ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข

5.) โอกาสของการจัดบ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อยต้อนรับปีใหม่ ด้วยเพราะเมื่อก่อนข้าวของเครื่องใช้ หรือเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายมีมากจนเกินความจำเป็น ทำให้บ้านช่องที่ควรจะเป็นระเบียบเรียบร้อยกลับรก จนแทบหาของที่ต้องการใช้ไม่เจอ บ้านที่ควรจะเดินได้โล่งโปร่งสบาย ก็กลับต้องอึดอัดด้วยข้าวของที่ไม่ได้ใช้ จึงถือเป็นเรื่องดีที่จะได้จัดการบ้านช่องเพื่อต้อนรับปีใหม่ ให้ชีวิตได้เจอสิ่งใหม่ ๆ และดีขึ้น

นับว่าเป็นการ “ทำบุญ” ในช่วงวันขึ้นปีใหม่ ที่นอกเหนือจากคำว่า “ได้บุญ” แล้ว ยังทำให้ผู้บริจาค มีจิตใจที่อิ่มสุข อิ่มเอม จากการได้แบ่งปันให้เพื่อนมนุษย์อีกด้วย

 

Share Button

เก่าของใคร แต่ใหม่เสมอสำหรับฉัน แบ่งปันกันนะ..

เก่าของใคร แต่ใหม่เสมอสำหรับฉัน แบ่งปันกันนะ..

การเป็น “ผู้ให้” ด้วยใจบริสุทธิ์ย่อมเกิด “ความสุขใจ” อย่างแท้จริง โดยเฉพาะสิ่งที่เราได้ให้ไปนั้น เกิดประโยชน์และมีคุณค่าต่อ “ผู้รับ” แต่ก็มีหลายคนที่อาจจะมองว่า “การให้” หรือ “การบริจาค” สิ่งของที่ไม่ใช้แล้ว หรือที่เรียกอีกอย่างก็คือ “ของเก่า” ที่เราไม่ต้องการ ทำให้รู้สึกไม่ค่อยดีเท่าไหร่

เพราะคำว่า “ของเก่า” หรือ “หรือที่ไม่ใช้แล้ว” นอกจากใจผู้ให้เองจะรู้สึกไม่ค่อยดี ยังกลัวผู้ได้รับต่อรังเกียจบ้างล่ะ และพาลคิดไปไกลเลยเถิด ว่าจะเป็นการทำบุญที่ไม่น่าจะได้บุญเต็มร้อยสักเท่าไหร่ ทำให้หลายคนที่คิดจะบริจาคสิ่งของแก่ผู้อื่น ต้องควักเงินไปซื้อหามาใหม่ แทนที่จะบริจาคของเก่าที่ไม่ใช้แล้ว หากเราไม่เดือดร้อนเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ มีทุนทรัพย์เหลือมากพอที่จะซื้อของใหม่ไว้คอยบริจาค ก็คงไม่ใช่ปัญหา แต่ถ้าต้องควักกระเป๋าแล้วทำให้ตัวเองต้องเดือดร้อนลำบาก ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีเท่าไหร่ จะกลายเป็น “ทำบุญกับผู้อื่น แต่ทำบาปกับตัวเอง” ไปซะอย่างนั้น

ความจริงก็คือ “ของเก่าของเรา จะเป็นของใหม่ของอีกคนเสมอ” ไม่ว่าจะตกไปอยู่ในมือผู้รับคนไหนก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้รับเป็นผู้ที่ด้อยโอกาส ยากจน ไม่มีเงินมากพอสำหรับซื้อของเหล่านั้น มันจะเป็นของที่มีคุณค่ามากต่อผู้ที่ต้องการใช้ทันที มันอาจจะทำให้ผู้รับได้สร้างงาน มีโอกาสที่จะมีชีวิตใหม่ ๆ ชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเมื่อวาน จากของที่เราบริจาคทานไปก็เป็นได้ เหมือนเรากำลังส่งต่อน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตให้กับอีกชีวิต ที่ยังคงรอความหวังจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน สิ่งของนั้นแม้อยู่กับเราดูเหมือนไร้คุณค่า แต่หากไปอยู่กับอีกคน อาจจะมีคุณค่ามากกว่าที่เราคิด

“การแบ่งปัน” อบอวลและเชื่อมร้อยน้ำใจมนุษย์ตลอดมา นับตั้งแต่โลกนี้ได้ถือกำเนิดขึ้น และการแบ่งบันก็ทำให้สังคมของเรางดงามและน่าอยู่มากขึ้น เพราะมันหมายถึง การที่เรารู้จักเสียสละสมบัติอันเป็นของตนเองให้กับผู้อื่น โดยไม่ยึดติดกับของนอกกาย เพราะต่อให้เราไม่บริจาคออกไป ไม่แน่ว่าอีก 5 ปีข้างหน้า หรือ 10 ปีข้างหน้า ของสิ่งนั้นก็อาจจะยังตั้งวาวอยู่ในบ้านอย่างเดิม หรือผุพังไปตามกาลเวลา จนต้องทิ้งลงถังขยะไปในที่สุด สู้แบ่งปันให้กับผู้อื่นที่เขาจะได้ใช้ประโยชน์จากมันไม่ดีกว่าหรือ

โลกเราใบนี้ยังมีทั้ง…คนที่มีมาก คนที่มีน้อย คนที่แทบไม่มีอะไรเลย และคนที่ไม่มีอะไรเลย นั่นคือความจริงที่ไม่ต้องรอการพิสูจน์ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องรอวันเป็นผู้ที่มีมากจนเหลือเฟือเสียก่อนถึงจะแบ่งปันได้ เพราะแม้เราจะมีน้อย หรือเป็นแทบไม่มีอะไรเลย เราก็เป็น “ผู้ให้” ได้เช่นกัน เพราะคนที่…ไม่มีอะไรเลยก็ยังมีอยู่

ในโอกาสดีปีใหม่นี้ “มูลนิธิกระจกเงา” อยากชวนมาร่วมทำบุญด้วยกันแบ่งปัน ซึ่งเป็นการทำบุญอีกรูปแบบหนึ่งที่ผู้ให้จะมีความสุข ความยินดีปรีดา ซึ่งทางมูลนิธิเปิดรับการแบ่งปันทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นของขวัญของเล่นสำหรับเด็ก ๆ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เครื่องครัว โต๊ะเก้าอี้ คอมพิวเตอร์ ฯลฯ รวมถึงอาสาสมัครที่จะช่วยรับของบริจาคในช่วงวันหยุดปีใหม่ ไม่ว่าจะวันหยุดหรือวันไหน ๆ ทางเราได้เตรียมพื้นที่ไว้เพื่อรองรับของบริจาคจากทุกท่านเพื่อส่งต่อให้กับอีกหลาย ๆ คนที่ยังรอคอยความหวัง และของขวัญปีใหม่ที่มีคุณค่าต่อชีวิตและต่อหัวใจอยู่เสมอ

ไม่ต้องคิดอะไรมากนะ ถ้าเธออยากจะให้ก็ให้เถิด เพราะผู้รับเองก็อยากจะบอกว่า “ของเก่าของเธอ แต่ใหม่เสมอสำหรับฉัน”….

Share Button

“ยกระดับ” ความสุขช่วงปีใหม่ด้วยการแบ่งปัน



“ยกระดับ” ความสุขช่วงปีใหม่ด้วยการแบ่งปัน

เคยนึกสนุกกันบ้างไหมว่า…ในวันปีใหม่เราจะนำของขวัญไปวางไว้หน้าบ้านใครสักคนที่เราไม่รู้จัก “วางของขวัญไว้หน้าบ้านใครสักคน” วิธีนี้เป็นเคล็ดลับการสร้างความสุขอย่างหนึ่งจากหนังสือ The Little Book of Lykke เขียนโดย Meik Wiking ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยความสุขในโคเปนเฮเกน

Lykke “ลุกกะ” เป็นภาษาเดนมาร์ก แปลว่า “ความสุข” และประเทศเดนมาร์กสามารถครองแชมป์ประเทศที่มีความสุขที่สุดของโลกหลายปีซ้อน แล้วทำไมชาวเดนมาร์กจึงถูกจัดว่ามีความสุขที่สุดในโลกนะหรือ ก็ด้วยเหตุผลที่ว่าประเทศนี้เขามีสวัสดิการจากรัฐไว้ดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนทุกคนแม้กระทั่งคนยากไร้ให้อยู่ดีมีสุขอย่างที่สุดไงล่ะ

มองตามความเป็นจริงแม้ประเทศไทยจะยังห่างไกลจากการจัดอันดับความสุขระดับโลกอยู่หลายขุม แต่เราก็ยังสามารถสร้างความสุขเล็กๆ น้อยๆ ในแบบเราได้ โดยเฉพาะคุณสมบัติโดดเด่นในเรื่องของน้ำใจของคนไทย ที่ไม่เคยเป็นรองใคร

“น้ำใจ” เราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า การให้ในรูปแบบที่ไม่หวังผล การแบ่งปันน้ำใจทำได้ง่ายมาก ไม่ซับซ้อน และสร้างความสุขให้โลกน่าอยู่ได้อย่างน่าอัศจรรย์

ปีใหม่นี้มูลนิธิกระจกเงาขอเป็นตัวแทนในการ “นำของขวัญไปวางไว้หน้าบ้านใครสักคนที่คุณไม่รู้จัก” และสำคัญไปกว่านั้น ใครคนนั้นอาจเป็นเด็กๆ ที่ไม่เคยมีของเล่นเป็นของตัวเองเลยในชีวิต เมื่อนั้นความสนุกจากการนึกคิดจะกลายเป็นความสุขของผู้รับในโลกความจริง และกลายเป็นความสุขใจย้อนกลับแบบยกกำลังสองถึงผู้ให้ในทันที …แค่คิดจะให้ ก็ได้รับ

ในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้เราเปิดรับน้ำใจจากการแบ่งปันในทุกรูปแบบ การบริจาคของขวัญ ของเล่นสำหรับเด็กทุกวัย ข้าวของเครื่องใช้ทั้งมือหนึ่งหรือมือสองที่คุณแบ่งปันให้มา จะถูกส่งต่อถึงมือผู้รับที่ต้องการ

ส่งท้ายปีเก่าเริ่มต้นปีใหม่ด้วยการ “แบ่งปันข้ามปี” เพื่อเติมเต็มหัวใจให้คนที่ขาด น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการสร้างความสุขหรือความแช่มชื่นเล็กๆ ในใจได้ เราจึงชวนให้คุณๆ ส่ง ส.ค.ส. ด้วยสิ่งของต่างๆ ที่จะถูกแปลงเป็นของขวัญทรงคุณค่าสำหรับบางคน …เพราะการให้คือการได้รับอย่างไม่รู้จบ
…เพราะความสุขเป็นจริงได้เมื่อเราแบ่งปัน.

Share Button

เมื่อ “ความจน” ไม่ใช่เรื่องธรรมดา

เมื่อ “ความจน” ไม่ใช่เรื่องธรรมดา
เพราะเมื่อความยากจน ไม่ใช่เรื่องธรรมดา แต่มักถูกทำให้กลายเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไป
ความพยายาม ต่อสู้ ดิ้นรน ขยันและมองหาโอกาสให้กับตัวเอง จึงเป็นคุณสมบัติของคนจน

“ต้องสู้” คือหลักใหญ่ใจความที่ต้องยึดถือไว้ตลอดชีวิต
แต่..ไม่รู้ว่าต้องสู้อีกสักเท่าไหร่ ถึงจะชีวิตสุขสบายกับเขาบ้าง
และเมื่อ “ความหวัง” คือที่พึ่งสุดท้าย เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับการสู้รบกับความยากจนข้นแค้น
ไม่มีสิ่งใดให้ต้องกังวล..เพราะความจนตรงหน้ามันท้าทายเหลือทน

“เราจะอยู่เคียงข้างกัน” ทันทีที่ได้ยินประโยคนั้นจากปากเจ้าหน้าที่โครงการอาสามาเยี่ยม
ชายผู้พิการกล้ามเนื้อเคยอ่อนเรี่ยวแรง กลับมามีแรงฮึดสู้..เพื่อตนเองอีกครั้ง
หลังจากนั้นเขาเริ่มนั่ง หัดเดิน และเดิน เพื่อให้สองเท้าก้าวไปข้างหน้าแม้ในความจริง ชีวิตยังไม่ดีขึ้นอย่างหวัง

ในเมื่อความเหลื่อมล้ำ จน รวย นับวันดูจะยิ่งถ่างระยะห่างออกเรื่อยๆ
และโชคชะตาก็ไม่เคยเข้าข้างคนจนจริงๆจังๆสักครั้ง ..มีเพียงความหวังลมๆแล้งๆพัดผ่าน
ชีวิตนับวันยิ่งแห้งผาก สิ้นหวังราวกับทะเลทรายกว้างใหญ่ไพศาลสุดลูกหูลูกตา

เขา..ใช้สองมือถักทอหญ้าคาเป็นหลังคาคุ้มแดดกันฝนให้กับเห็ดนางฟ้าภูฐาน
เขา..ก่อสร้างโรงเรือนขนาดย่อมด้วยไม้ยูคา ซึ่งหาตัดได้ในป่าละเมาะรอบๆบ้าน
เขา..จัดเรียงถุงเห็ดด้วยสองมือ และสองขากระโผกกระเผก
เขา..รดน้ำ ดูแล ทะนุถนอมมันดั่งลูก คอยเฝ้ามองการเจริญเติบโตในทุกวัน
เขา..เรียนรู้การทำปุ๋ย และน้ำหมักธรรมชาติเพื่อช่วยให้เห็ดออกดอกออกผลและแข็งแรง
เขา..นำเห็ดออกเร่ขายในหมู่บ้าน เห็ดของเขาอร่อยหนานุ่มกว่าที่อื่น
จนมีลูกค้าประจำที่ติดใจในรสมือ อันผสมผสานระหว่างเทคนิคและความใส่ใจ

เขา..มีรายได้ต่อวันหลายร้อยบาท มันช่วยทำให้ความหวังอันเป็นที่พึ่งสุดท้ายชัดเจนขึ้น
เขา..ว่ารายได้จากการขายเห็ดจะเก็บเอาไว้เพื่อต่อยอด จากเห็ด 600ก้อน จะเป็นอีก 4,000 ก้อนในอนาคต
เขา..ฝัน หากมีวันนั้น เห็ด 4,000 ก้อนจะดูแลทุกคนในบ้านได้สบาย เขามั่นใจ
“ผมจะช่วยทำหลังคาโรงเรือนให้ป้านันฟรี!!”
“แม้ว่าชีวิตผมอาจยังไม่ดีขึ้น แต่ผมก็เริ่มห่างจากความยากจนทีละน้อยแล้ว”
“ขนาดที่บ้านผมมีกันตั้งหกคน ยังเหนื่อยขนาดนี้ แล้วป้านันตัวคนเดียวคงลำบากมาก” ชายหนุ่มประกาศกร้าวดวงตาเป็นประกาย

“เขาว่า..มีแต่คนจนเท่านั้นที่จะเข้าใจกัน…”

Share Button

ยามเมื่อชีวิตใกล้ฝั่ง…

ยามเมื่อชีวิตใกล้ฝั่ง…

ใกล้ปีใหม่ใครบางคนรอพบเจอลูกหลาน เพื่ออยู่กันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาเป็นครอบครัวอีกครั้ง
คุณตาคุณยาย อีกหลายคนเลิกคิดเช่นนั้น.. พวกเขาใช้ชีวิตแต่ละวันเพียงลำพังโดยไม่หวังพบเจอใครอีก
มีแต่นับวันรอความตาย..ว่าเมื่อไหร่จะเรียกตัวให้เข้าไปพบเสียที

หลังจบกิจกรรมนันทนาการต่างๆ บรรยากาศภายในบ้านพักคนชรา บางเขน กลับสู่ความเงียบงัน
ผู้คนที่อาศัยอยู่ที่นี่ล้วนเป็นผู้สูงอายุ ไร้ลูกหลานดูแลและขาดที่พึ่งพิงทางกายและใจ
เชื่อว่า..ไม่มีใครในที่นี้คิดว่า ที่นี่คือสถานที่พักพิกสุดท้ายของชีวิต
ไม่มีใครอยากอยู่สถานสงเคราะห์ หรือที่ที่ไม่ใช่บ้านเกิดเรือนตายของตัวเอง

ในสังคมผู้สูงอายุ ความภาคภูมิใจเดียวคือการได้มีใครสักคนดูแล และหากเป็นลูกหลานก็คงนอนตายตาหลับ
ภายใต้เงื่อนไขทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเพียงพริบตาเดียว
ค่านิยม ความเชื่อ ความชอบและวิถีชีวิตถูกปรับเปลี่ยนไปหน้ามือเป็นหลังมือ
ความชราถูกทำเหมือนว่าไม่มีพื้นที่และตัวตนในสังคมยุคนี้
ความแก่ เป็นเรื่องโบร่ำโบราณ น่ารำคาญและไม่ฟังชั่นกับไลฟ์สไตล์ในโลกโซเซี่ยล

การส่งดอกไม้สวัสดีในทุกวันกลายเป็นเรื่องราวน่าขบขัน
การสื่อสารที่แท้จริงถูกเหมารวมไว้เพียงแค่หน้าจอโทรศัพท์
ชีวิตอันเรียบง่าย สงบงาม ปรากฏเพียงในโลกสมมติสวยงาม
หลังหน้าจอมือถือ .. เราละทิ้งแม้กระทั่งตัวเราเองในชีวิตจริง
วันสำคัญ สงกรานต์ เข้าพรรษา ปีใหม่ เหลือเพียงแต่พิธีกรรมและคนชราช่วยกันสืบทอด

บางครอบครัวหลงลืมว่ามีพ่อแม่ที่แก่เฒ่า แม้ไม่ได้หวังให้ตอบแทนบุญคุณ
แต่ในส่วนลึกของหัวใจ ขอเพียงเศษเสี้ยวของเวลาและความห่วงใยที่มีให้กัน
ในฐานะของคนเป็นพ่อเป็นแม่ .. ไม่มีอะไรให้กังขา นอกเสียจากความรัก

ในยามที่ชีวิตว่ายเวียน จนใกล้จะถึงฝั่ง..
บางความน้อยใจได้รับคำตอบด้วยความเฉยชา
สองขาที่เคยสั่นเทากลับมีเรี่ยวแรง..ไม่ขออยู่เพื่อเป็นภาระ
บ้านพักคนชรา คือคำตอบสุดท้ายของชีวิต..ที่ที่จะไม่คิดถึงเรื่องราวความหลังและลูกหลาน
เสียงเพลง เพื่อนคุย และคนแปลกหน้า เพียงพอสำหรับการมีชีวิตอยู่ให้ผ่านไปวันๆ
ใครก็ได้ที่จะเข้ามาเติมเต็มทุกวินาทีของที่นี่ ให้ความเหงากลายเป็นความหวังของชีวิตที่เหลือ
…โครงการอาสามาเยี่ยม…

Share Button

“ผู้ช่วยของชีวิต” ในนามของ ฟืน ถ่าน และไฟ

 

“ผู้ช่วยของชีวิต” ในนามของ ฟืน ถ่าน และไฟ

ผืนดินอันเป็นที่ตั้งของบ้านปูนชั้นเดียวหลังน้อย เรือนไม้ผุพังหลังเก่า และโรงเพาะเห็ด
ผืนดินมรดกตกทอดที่ยายทวดมอบให้กับหลานสาวคนเดียวที่ยายทวดหวังฝากชีวิตที่เหลือไว้กับเธอ

ผืนดินที่ร้อนระอุทำหน้าที่ของมันอย่างซื่อสัตย์
ยายทวดวัยแปดสิบสี่ พยายามแบ่งเบาหลานสาวทุกทางเท่าที่พอจะทำได้
หญิงชราช่วยเลี้ยงหลานๆ ชายหญิงอย่างเต็มใจ ซ้ำเธอยังช่วยเผาถ่าน มันคือหนทางทำมาหากินที่ใช้ต้นทุนต่ำที่สุด
เศษไม้กระถินก้านเล็กก้านน้อย ถูกนำมาบั่นทอนให้เป็นท่อนเท่าๆกัน ยายทวดทำมันด้วยสองมือที่ยังแข็งแกร่ง

“ฉันทำได้แค่นี้” ยายทวดบอกพลางมองไปที่เนินดินตรงหน้า
ควันสีเทาพวยพุ่ง คละคลุ้งไปทั่วบริเวณหน้าบ้าน อุตสาหกรรมเผาถ่านฉบับครัวเรือนเร่งผลผลิตเช้าค่ำ
ถ่านบรรจุหนึ่งกระสอบ 25 กิโลกรัม ราคา 200 กว่าบาท ถือเป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมดของหกชีวิตผู้ใหญ่และเด็ก

หลานเขยมีหน้าที่ออกไปหาไม้ฟืน เขาหมดตัวจากการถูกเพื่อนโกง หมดแรง หมดเงินทุนสร้างชีวิตใหม่
ออกหาไม้ฟืน ในพื้นที่รกร้างไร้เจ้าของ ป่ารกฎัก ที่อยู่ของงูสารพัดพิษ แม้ว่าจะเสี่ยงแค่ไหน ก็ต้องทำ!!
ในที่ที่มีฟืนไม้ฟรีๆ สำหรับเผาถ่าน เป็นพื้นที่อันตรายที่ไม่มีใครกล้าเยื้องย่างเข้าไป
เขาถูกงูพิษกัดถึง 7 ครั้ง แต่เดชะบุญ เขารอดจากการตายในทุกครั้ง..
ไม่รู้ด้วยบุญพาวาสนาส่งหรืออย่างไร ทั้งๆที่ไม่ได้รักษาตัวในโรงพยาบาล และเป็นเพียงการรักษาตามอาการที่บ้าน
แต่เขาก็รอดมาได้อย่างหวุดหวิด .. รอดชีวิตเพื่อหาอยู่หากินต่อไป ..ดั่งสวรรค์มอบพรข้อสุดท้ายให้

ง่ายดาย..หลังหมดพรจากสวรค์เขาล้มลง ปลายกระดูกสันหลังแตกจนเดินไม่ได้และกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงในที่สุด
ยายทวดและภรรยาที่กำลังท้องใกล้คลอดจึงทำหน้าที่ทุกอย่างเพื่อหาเลี้ยงทุกปากท้องในบ้านแทน

บนแผ่นดินมรดกผืนน้อยๆที่ยายทวดเก็บเอาไว้ให้หลานๆ สร้างคุณูปการใหญ่หลวงให้กับชีวิตที่ไม่มีทางเลือก
เนินดินร้อนระอุ บรรจุเศษไม้กระถินไว้เต็มเปี่ยม สองแรงช่วยกันแข็งขันสุมฟืน จุดไฟ รอเวลา
เมื่อฟืนกลายเป็นถ่าน มันจะมีค่าเท่ากับข้าวปลาอาหารและความหวังในวันถัดไป

ผืนดินอันแตกระแหง นอกจากให้กำเนิดต้นพริก ขิง ข่า ตระไคร้ และมะละกอ
มันมอบความอบอุ่น ให้แก่หัวใจอันแห้งผากของคนยากไร้ หมดหนทางต่อสู้

ในนามของฟืน ถ่านและไฟ มันไม่เคยต้องการสิ่งใดตอบแทน
เมื่อไม้กลายเป็นถ่านไฟลุกโชน เปรียบเสมือนน้ำทิพย์หล่อเลี้ยงชโลมหัวใจคนยากคนจน

Share Button