“ถึงผู้ว่าฯ ชัชชาติครับ” ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
.
ทางโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา อยากเริ่มเรื่องเพื่อปรึกษาท่านผู้ว่าฯ อย่างนี้ครับ คนที่อยู่ในภาพนี้เป็นผู้ป่วยจิตเวชที่ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ พื้นที่สาธารณะที่ว่าก็คือ ซอยตรอกศิลป์ ซอยนี้อยู่แถวศาลาว่าการกรุงเทพมหานครเลยครับ เราเลยนึกถึงท่านผู้ว่าชัชชาติขึ้นมา และเราคิดว่าท่านผู้ว่าฯ น่าจะสนใจต่อการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ครับ
.
ผู้ป่วยคนนี้ใช้ชีวิตมากว่า 10 ปีในซอยนั้น ในช่วงแรกที่มาอยู่ อาการทางจิตเวชนั้นยังไม่หนักหนามาก แต่มาในปีนี้อาการทางจิตเวชของเขาหนักหนามาก ในหนึ่งวันมีได้ถึง 3 อารมณ์ 3 พฤติกรรม ยิ้มคุยคนเดียวในช่วงเช้า มีอารมณ์โมโหเกรี้ยวกราดด่าทอคนผ่านไปมาในช่วงบ่าย ส่งเสียงดังเหมือนเสียงยิงปืนในยามค่ำคืน จุดพีคที่สุดคือการขับถ่ายเรี่ยราด
.
ผู้คนแถวนั้นเริ่มรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่โอเคแล้วกับพฤติกรรมในช่วงปีหลังของผู้ป่วย บางวันชุดเสื้อยืดกางเกงขาสั้นก็เปรอะเลอะเหม็นคลุ้งไปด้วยอุจจาระและปัสสาวะ ผู้คนแถวนั้นไม่รู้จะแจ้งใครดี เคยแจ้งหน่วยงานราชการก็แล้ว แต่ไม่มีความคืบหน้า แจ้งสก. แจ้งรายการทีวีดัง ก็ไม่มีการตอบสนองใดกลับมา พวกเขาเลยแจ้งมายังมูลนิธิกระจกเงา
.
วันนี้ทางทีมผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา จึงประสานงานกับตำรวจเพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชรายนี้เข้ารับการรักษาในสถานบำบัดรักษาเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งจริงๆ แล้วการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนในพื้นที่สาธารณะนั้นนับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายดายเลย มันมีปัญหาทุกกระบวนการ ทั้งการให้ความช่วยเหลือ การรักษา การฟื้นฟูและนั้นจึงเป็นสาเหตุให้ได้พบเห็นผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนอยู่ในพื้นที่สาธารณะเกือบทุกหนทุกแห่ง
.
เราเลยอยากขอปรึกษาผู้ว่าฯ ชัชชาติแบบนี้ครับ กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ที่พบว่ามีผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนแบบนี้อยู่มาก ส่วนใหญ่ไม่มีความอันตรายแต่ก็มีคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่อย่างที่สุด แต่มีอยู่ส่วนหนึ่งที่มีความอันตราย ทำร้ายร่างกาย ทำลายข้าวของ ซึ่งหลายเคสนั้นเป็นข่าวดัง คำถามก็คือทำไมเราจึงพบว่ามีผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนในพื้นที่สาธารณะมากเหลือเกิน และในแต่ละเคสก็ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะอย่างยาวนานเหลือเกิน ยาวนานจนคุณภาพชีวิตพัง สมองพัง
.
คำตอบก็คือ ระบบการพาพวกเขาเข้าสู่การดูแลรักษาตลอดจนการให้การฟื้นฟูประคับประคองนั้นก็ผุพังเช่นกัน สมมุติว่าถ้ามีใครสักคนหนึ่งแจ้งหน่วยงานรัฐต่างๆ เพื่อบอกว่าให้มาเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชคนนั้น หลายๆหน่วยงานนั้นก็จะบอกว่า เขาทำไม่ได้ เขาไม่มีหน้าที่ หลายๆหน่วยงานอาจมาทำหน้าที่ แต่ก็ทำได้เพียงแค่มาดู ทำได้แค่มาไล่ แต่ไม่สามารถทำการให้ความช่วยเหลือได้ ช่วยเหลือในสถานะของ “ผู้ป่วย”
.
ในบางครั้งหน่วยงานนั้นอาจให้ความช่วยเหลือ แต่ปัญหาในหลายครั้งที่พวกเขาเจอก็คือ หน่วยงานบำบัดรักษานั้น บอกว่าไม่สามารถรับได้ ด้วยเหตุผลว่า ผู้ป่วยไม่มีญาติ หรือ ไม่ได้รับเป็นผู้ป่วยใน แต่เป็นการจ่ายยาแล้วให้ผู้ป่วยกลับไปกินยาและเร่ร่อนในพื้นที่สาธารณะตามเดิม การช่วยเหลือนำส่งผู้ป่วยจิตเวชจึงเป็นเรื่องยาก ใช้พลังงานสูง หลายหน่วยงานจึงไม่ทำ และยังไม่นับรวมว่า หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยนั้นคือตำรวจ ซึ่งผู้ป่วยต้องถูกใส่กุญแจมือ ให้นั่งอยู่กระบะท้ายของรถปิคอัพ ทั้งๆ ที่คนคนนั้นมีสถานะที่เรียกว่า “ผู้ป่วย”
.
ถ้าถามคำถามว่า ทำไมสถานบำบัดรักษาจึงตั้งเงื่อนไขไม่อยากรับผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนเข้าสู่การรักษาในระบบผู้ป่วยใน คำตอบลัดสั้นก็คือ ผู้ป่วยในระบบของสถานบำบัดรักษาเอง เขาก็อัดแน่นจนรับมือแทบจะไม่ไหวแล้ว มีผู้ป่วยหลายรายที่อยู่ในสถานะสิ้นสุดการรักษาแล้วแต่ไม่สามารถจะออกไปจากสถานบำบัดรักษาได้ เนื่องจากไม่สามารถกลับบ้านกลับครอบครัวได้ กลับไม่ได้ยังไม่เท่าไหร่ แต่ไม่สามารถจะไปสู่กระบวนการฟื้นฟูในรูปแบบของสถานสงเคราะห์ของรัฐ (ดูแลโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ) ได้ ผู้ป่วยในจึงสะสมจนล้นระบบ คนเก่าไปไม่ได้ คนใหม่เข้ามาเติม
.
เช่นกันถ้าถามคำถามว่า ทำไมสถานสงเคราะห์ของรัฐจึงไม่สามารถรับผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนที่สิ้นสุดการรักษาจากสถานบำบัดรักษาได้นั้น คำตอบเดียวกันคือสถานสงเคราะห์เหล่านั้นก็อยู่ในสภาพของคนที่เข้ารับการสงเคราะห์ในสถานสงเคราะห์นั้น เป็นสภาพคนล้นระบบเช่นกัน ระบายคนออกไม่ได้ คนใหม่ก็เติมเข้ามา จนวันหนึ่งคนล้นระบบสถานสงเคราะห์ที่มีอยู่ทั้งหมดเป็นที่เรียบร้อย(สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งทั่วประเทศมี11แห่ง สถานสงเคราะห์ที่ดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่สิ้นสุดการรักษาแล้วแต่ไม่สามารถกลับบ้านได้นั้นมี2แห่งทั่วประเทศ)
.
ปัญหาผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนในพื้นที่สาธารณะนั้น เป็นปัญหาที่เรื้อรังมายาวนาน และดูเหมือนว่าปัญหานี้จะเพิ่มขนาดขึ้นอย่างมากในอนาคต ด้วยเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหานั้นยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด ทั้งในเชิงระบบช่วยเหลือดูแลรักษาฟื้นฟูที่ได้เล่าไป ทั้งในการคาดคะเนจากตัวเลขของกลุ่มผู้ป่วยจิตเภท ตามตัวเลขที่จิตแพทย์มักใช้อ้างอิงก็คือ ผู้ป่วยจิตเภทจะคิดเป็น 1% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และผู้ป่วยจิตเภทที่มีอาการเรื้อรังมีปัญหาในการดำรงชีวิตนั้นก็คิดเป็น 1% ของผู้ป่วยจิตเภททั้งหมด
.
โครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา ในฐานะกลุ่มคน องค์กรที่ดำเนินการในการแก้ไขปัญหาเรื่องผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนในพื้นที่สาธารณะมาเป็น 10 ปี และพยายามแก้ปัญหาเท่าที่ศักยภาพในด้านต่างๆเรามีพอที่จะทำให้เกิดรูปธรรมการแก้ไขปัญหานี้ เราจึงอยากขอปรึกษาผู้ว่าฯชัชชาติผ่านโพสต์นี้ เพื่อร่วมหาทางออกในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ เพื่อที่ว่าผู้ป่วยจิตเวชที่เร่ร่อนอยู่ในพื้นที่สาธารณะนั้นจะได้เข้ารับการรักษาฟื้นฟู ได้เข้าสู่การปรับปรุงคุณภาพชีวิต จนสามารถออกมาใช้ชีวิตโดยตัวพวกเขาเองได้ และเราจะได้มองหาทางป้องกันเพื่อลดการเกิดขึ้นของกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนให้ได้มากที่สุด ถ้ามีเกิดขึ้นก็ช่วยเขาได้ทันเวลา รวดเร็วมีคุณภาพ ตรงตามสถานะความเป็น “ผู้ป่วย” ของพวกเขา
.
ปัญหานี้มีทางออก ทางแก้ไขอย่างแน่นอน เราเองมองเห็นหนทางนั้นแล้ว เราเองอยากจะนำเสนอเรื่องนี้เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกัน โครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา หวังอย่างยิ่งว่า ท่านจะเปิดการรับฟังปัญหานี้อย่างเป็นทางการ และทำการแก้ไขปัญหานี้ร่วมกันครับ
ผู้เขียน: Intern Ngoscyber
ภาระที่ต้องแบกรับ ในวันที่ “น้องแต้ว” ป่วยติดเตียง
‘แต้ว’ อาศัยอยู่กับป้าและยาย ด้วยความรัก
เมื่อแรกคลอด ‘แต้ว’ เป็นเด็กสมบูรณ์แข็งแรง
โรคลมชักแทรกขึ้นมาตอนที่เธออายุได้ 4 เดือน
เธอขาดอากาศหายใจไปขณะหนึ่ง
จนสมองพิการ และติดเตียงในที่สุด
.
อาการที่แต้วเป็นมีแต่ทรงกับทรุด
เธอต้องเจาะคอเพื่อให้อาหารเหลวและยาทางสายยาง
บางครั้งมีอาการชักเกร็ง เข้าห้องฉุกเฉินไปหลายหน
.
ยายเล่าว่า เมื่อปีที่แล้วแต้วทรุดหนัก
ถึงขั้นต้องใช้เครื่องผลิตออกซิเจนติดตัว
.
แต่ลำพังรายรับทางเดียวจากป้า
กับอาชีพรับจ้างวันละสามร้อย
คงไม่พอซื้อเครื่องผลิตตัวใหม่ที่ราคาครึ่งแสน
จึงทำได้เพียงหาเช่าถัง
ที่ต้องคอยเติมออกซิเจนมาใช้ไปก่อน
.
ในวันที่ครอบครัวพยายามแบกรับค่าใช้จ่าย
ทั้งค่าเติมและค่าเช่าถังออกซิเจน
มีคนใจดีให้หยิบยืมเครื่องผลิตออกซิเจน
เป็นเครื่องที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว
หน้าจอโชว์จำนวนชั่วโมงหลักสองหมื่น
นั่นหมายความว่าเครื่องยังใช้ได้
แต่ออกซิเจนที่ผลิตเริ่มเสื่อมประสิทธิภาพ
.
ครอบครัวรับรู้ถึงข้อจำกัดของเครื่อง
แต่รับไว้ด้วยความเต็มใจ
เพราะระหว่างรอหาเงินซื้อเครื่องใหม่
เครื่องนี้ยังพอช่วยให้แต้วรอด
.
“เขาบอกแต่แรกว่ามันอาจไม่ดีแล้ว
ต้องอาศัยดูอาการตอนใช้
ให้หายใจได้ไม่ติดขัด ตัวไม่ซีดไม่เขียว
เราก็ใช้เปิดสลับกับถังออกซิเจนไปก่อน”
.
ในขณะที่เครื่องนั้นยังต้องเปิดใช้
ป้าของแต้วพยายามติดต่อหลายหน่วยงาน
พร้อมเจียดเงินมาเก็บสะสมไปเรื่อยๆ
เพื่อให้ได้เครื่องผลิตออกซิเจนเครื่องใหม่
ส่วนยายของแต้วยังเฝ้าดูแลอาการต่อไป
เพราะครอบครัวเชื่อว่าสักวันแต้วคงหาย
หรือถ้าไม่หายก็ขอทำให้ดีที่สุด
—————————————————
เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว ป้าของแต้วติดต่อมาขอยืมเครื่องผลิตออกซิเจน ป่วยให้ยืมจึงส่งเครื่องผลิตฯ 10 ลิตร 2 เครื่องให้ครอบครัวยืมใช้ แทนเครื่องเดิมที่ชำรุด
.
ล่าสุด สัปดาห์ที่ผ่านมา เครื่องผลิตฯ จากเรา อายุการใช้ครบ 2 เดือนพอดี ทีมงานจึงไปเยี่ยมหา พร้อมตรวจเช็คประสิทธิภาพของเครื่องอีกครั้ง ให้มั่นใจว่ารอบการใช้งานไม่สูงไป และยังสามารถผลิตออกซิเจนอย่างเหมาะสม ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยที่กำลังใช้งาน
—————————————————
สามารถติดต่อยืมอุปกรณ์การแพทย์ฟรี ได้ที่
เพจเฟซบุ๊ก โครงการป่วยให้ยืม
สอบถามเพิ่ม โทร. 092-252-5454
.
บริจาคทุนทรัพย์เพื่อสนับสนุนโครงการป่วยให้ยืม ได้ที่ บัญชีธนาคารยืมอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-269025-7 SCB
จากกระจกเงาถึงศพนิรนาม
ถึง ศพนิรนาม
.
หากดวงวิญญาณของคุณ ยังดำรงอยู่ในโลกหลังความตาย คุณคงรับรู้แล้วว่า การเป็นศพนิรนามในประเทศนี้ อาจทำให้ร่างที่ไร้ชื่อและนามสกุลของคุณ ถูกฝังอยู่ในสุสานอีกนานแสนนาน
.
ความตายที่ไม่ปรากฏเอกสาร ไม่รู้ชื่อนามสกุล ร่างของคุณจะถูกส่งไปชันสูตรที่นิติเวช โรงพยาบาลต่างๆ คุณอาจเห็นญาติของคุณตระเวนตามหาคุณในฐานะคนหาย โดยไม่รู้ว่า คุณคือ คนตายที่ไม่ทราบชื่อ หรือกระทั่งหากญาติสงสัยว่าคุณอาจเสียชีวิตแล้ว การตรวจสอบว่าศพของคุณอยู่แห่งหนตำบลใด ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะแต่ละโรงพยาบาลต่างเก็บข้อมูลไว้ ไม่รวมเป็นฐานข้อมูลเดียวกัน
.
คุณอาจเคยได้ยินใครหลายคน พูดเรื่อง “การคุ้มครองสิทธิของศพ” จนคุณคงแปลกใจว่า การคุ้มครองคุณ คือ การเก็บข้อมูลของคุณให้ค้นหาได้ยากที่สุด เก็บไว้ในแฟ้มที่ใครก็เข้าไม่ถึง จนญาติที่กำลังตามหาคุณหมดแรงกายแรงใจไปเอง
.
คุณรู้มั้ยว่า แม้ร่างไร้วิญญาณของคุณจะได้เก็บตัวอย่างดีเอ็นเอไว้ แต่จะไม่มีประโยชน์เลย ถ้ากระบวนการที่ญาติของคุณจะเข้าสู่การเก็บดีเอ็นเอ เพื่อเทียบกับคุณ มันไม่ง่ายในแบบที่ชาวบ้าน สามารถเดินไปบอกตำรวจโรงพักด้วยตัวเองได้ว่าต้องการตรวจดีเอ็นเอกับศพนิรนาม
.
คุณคงเจ็บปวดและโดดเดี่ยว ก่อนคุณเสียชีวิต คุณอาจถูกกระทำจากฆาตกรด้วยความโหดเหี้ยม การพบศพคุณ ควรได้สืบสวนสอบสวนว่าคุณเป็นใคร และใครทำร้ายคุณ แต่การเป็นศพนิรนามในประเทศนี้ ได้พรากตัวตนและพรากความยุติธรรมไปจากคุณด้วย ในแบบที่เงียบหายดั่งสายลม
.
วันหนึ่ง คุณจะได้เดินทางไกล เมื่อคุณถูกปักป้ายที่หลุมศพว่า “นิรนาม” คุณอาจถูกพิธีกรรมล้างป่าช้า โดยไม่มีกฏหมายรับรอง เพราะรัฐ ไม่มีสุสานเฉพาะสำหรับศพนิรนาม หากวันหนึ่งโชคดี ญาติตามหาคุณจนพบ เขาจะไม่ได้ร่างของคุณกลับบ้าน แม้ความนิรนามของคุณจะสิ้นสุดลงแล้ว
.
การสูญหายและความตายมันน่าเศร้า แต่ความทุกข์ทรมานจากการรอคอย มันยิ่งเศร้าและเจ็บปวด
.
จดหมายฉบับนี้ขอส่งถึงคุณ เพราะเชื่อว่าหน่วยงานในประเทศนี้ ต่างรู้อยู่แก่ใจแล้วว่าต้องทำยังไงให้คุณไม่ใช่ศพนิรนาม ต้องรวมฐานข้อมูลศพนิรนามทั้งประเทศให้เป็นฐานข้อมูลเดียวกัน ให้ญาติคนหายเข้าถึงการเก็บดีเอ็นเอ ตรวจเทียบได้ง่าย และรัฐควรมีสุสานของตัวเองในการฝังศพนิรนาม
.
เขียนจดหมายฉบับนี้จากหัวใจ
หวังว่าวันหนึ่งคุณจะได้กลับบ้าน
.
มูลนิธิกระจกเงา
6 กันยายน 2565
เสียงสะท้อนจากคนไร้บ้านสู่การสร้าง “สดชื่นสถาน”
“ผมหาซักเสื้อผ้าตามห้องน้ำปั๊มน้ำมัน หาที่ตากก็ยาก หลายครั้งก็จำใจใส่เสื้อทั้งๆ ที่เปียกๆ นั่นแหละ ให้เสื้อมันแห้งคาตัวกันไป”
.
จากประโยคนี้ของคนไร้บ้าน จึงนำมาสู่การให้บริการซักผ้า อบผ้าฟรี โดยรถซักอบอาบคันนี้
.
“พวกเราขออย่างเดียวเลยที่สำคัญที่สุด ผมอยากอาบน้ำ ไปอาบที่ไหนเขาก็ด่าเขาก็ไล่ ถ้าพี่มีที่ให้อาบก็จะดีมากๆ”
.
จากประโยคนี้ของคนไร้บ้าน จึงนำมาสู่การให้บริการอาบน้ำฟรี โดยรถซักอบอาบคันนี้
.
“เราอยากทำงาน อยากมีงานทำ มีเงินจะได้ออกจากชีวิตเร่ร่อนแบบนี้ซักที”
.
จากประโยคนี้ของคนไร้บ้าน จึงนำมาสู่การเปิดรับสมัครงานในนามจ้างวานข้า ในพื้นที่เดียวกับรถซักอบอาบคันนี้
.
คนไร้บ้านยังมีปัญหาอีกมากที่ต้องได้รับการแก้ปัญหา คนไร้บ้านอีกมากยังมีความต้องการอีกหลายสิ่งหลายอย่าง เพื่อจะนำไปสู่การปรับปรุงคุณภาพชีวิตของพวกเขาเอง
.
จากหลักการนี้เราจึงจัดทำพื้นที่หนึ่ง เพื่อให้คนไร้บ้านได้เข้ามารับบริการ และบริการที่ได้รับนั้นมันนำไปสู่การปรับปรุงคุณภาพชีวิตของตัวเองได้ และถ้าดีกว่านั้นได้ คือการที่เขาสามารถเปลี่ยนผ่านจากชีวิตไร้บ้านมาเป็นคนมีบ้านได้ และเราจะขอใช้ชื่อเรียกพื้นที่นี้ว่า “สดชื่นสถาน”
.
“สดชื่นสถาน” เปิดให้บริการแล้วที่ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า ถนนพระอาทิตย์
ปล.รูปภาพประกอบไม่ใช่ท่านผู้ว่าฯแต่อย่างใด แต่คือคนไร้บ้านที่มาใช้บริการซักอบผ้าเป็นที่เรียบร้อย
มูลนิธิกระจกเงาxOtterixกรุงเทพมหานคร
——————————————
สนับสนุนการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของคนไร้บ้าน
กับ “สดชื่นสถาน” นี้ได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-2-58289-4 SCB
ความฝันที่ชะงักกับ 3 ชีวิตติดเตียงที่ต้องดูแล
ป้าแดง ในวัยสาวเธอมีความฝัน
อยากใช้ชีวิตเป็นอิสระ
จะทุ่มเทเวลาทำสวนทำไร่
อยากมีที่ดินผืนใหญ่เป็นของตัวเอง
.
แต่ยังไม่ทันที่ความฝันจะก่อตัว
พี่ชาย น้าสาว และแม่ของเธอก็ล้มป่วย
ทั้งสามชีวิตติดเตียงในเวลาไล่เลี่ยกัน
.
ป้าแดงต้องละทิ้งงาน มาทำหน้าที่ดูแล
แม้งานจะเป็นความฝันที่เธอเคยตั้งมั่น
แต่วินาทีนั้นชีวิตคนป่วยในบ้านสำคัญกว่า
.
เธอดูแลผู้ป่วยเรื่อยมาอย่างอัตภาพ
จากวัยสาวจนก้าวเข้าวัยชรา
การพยาบาลผู้ป่วยสามคนไม่ใช่เรื่องง่าย
มันเป็นงานหนักที่ส่งผลร้ายต่อร่างกาย
กล้ามเนื้อหลังของเธออักเสบ
เพราะต้องยกตัวผู้ป่วยไม่เว้นวัน
.
ยิ่งกว่านั้นนอกจากชีวิตผู้ป่วยแล้ว
ยังมีภาระค่าใช้จ่าย ค่ากินอยู่
ค่าแพมเพิส ค่าน้ำไฟ ฯลฯ
ที่เธอต้องแบกรับไว้ด้วยรายได้จากเบี้ยคนชรา
.
ภาระทั้งหมดกดทับความฝันไว้หมดสิ้น
เธอไม่เหลือความฝันให้ตัวเองมีที่ดินผืนใหญ่
เหลือแค่ความหวังในวัยบั้นปลาย
ให้ครอบครัวและตัวเธอเอง
ยังมีชีวิตรอดไปได้ก็เพียงพอ
.
ทีมงานอาสามาเยี่ยม ลงพื้นที่เยี่ยมเยียน
และรับครอบครัวนี้ไว้ในการดูแล
ทุกเดือนเราจะนำข้าวสารอาหารแห้ง
ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ของใช้จำเป็นจำนวนหนึ่ง
ที่มูลนิธิได้รับบริจาคมามอบให้
ของเหล่านี้จะช่วยประคับประคองครอบครัว
ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายที่ผู้ดูแลต้องแบกรับ
.
นอกจากของใช้แล้ว เราใช้เวลาพูดคุย
เติมพลัง รับฟังปัญหา กับผู้ดูแลผู้ป่วย
ให้พวกเขาได้รับรู้ว่ายังมีคนเคียงข้าง
เป็นการเยียวยาทางใจในเวลาทุกข์ยาก
ที่เพื่อนมนุษย์สามารถส่งต่อให้แก่กัน
——————————————————
คุณสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในความช่วยเหลือ
บริจาคข้าวสารอาหารแห้ง
ของใช้จำเป็น ผ้าอ้อมผู้ใหญ่
ได้ที่ มูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 191 ซอยวิภาวดีรังสิต 62 แยก 4-7
แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กทม. 10210
โทร.061-909-1840, 063-931-6340
เขียนหน้ากล่อง “เพื่อโครงการอาสามาเยี่ยม”
.
หรือสมทบทุนได้ที่ ชื่อบัญชี กองทุนอาสามาเยี่ยม
เลขที่บัญชี 202-258297-5 ธ.ไทยพาณิชย์
สอบถามข้อมูลเพิ่ม โทร.061-909-1840
ครอบครัว “น้องธันวา” กับชีวิตก่อนพบทะเล
“มาแข่งกัน ใครวิ่งถึงทะเลก่อนคนนั้นชนะ”
เสียงแจ้วจากสองพี่น้อง “ธันวา” และ “อชิ”
.
นี่เป็นการมาทะเลครั้งแรกของทั้งคู่ นอกจากเอนตัวแช่น้ำให้คลื่นซัด การให้เท้าแตะทรายนุ่มเป็นอีกอย่างหนึ่งที่เด็กๆ ตั้งหน้าตั้งตารอ
.
ธันวา เป็นพี่ชาย
เขามีพัฒนาการทางสมองช้าเมื่อเทียบกับเด็กในวัยเดียวกัน สมองที่พิการทำให้เขาคิดอ่านต่างจากคนอื่น
.
ธันวา อ่านเขียนได้บ้างไม่ได้บ้าง บางครั้งแสดงอาการหงุดหงิด เอาแต่ใจ แบบไม่รู้ตัว กลายเป็นความรำคาญ ไม่เป็นที่ยอมรับสำหรับคนรอบข้าง ทำให้ธันวาไม่ชอบไปโรงเรียนและไม่กล้าเข้าสังคมกับคนอื่นๆ
.
อชิ ที่เป็นน้องสาว จึงต้องรับหน้าที่เป็นบอดี้การ์ดประจำตัว เธอจะคอยบอก คอยเตือน คอยเล่นเป็นเพื่อน ช่วยแม่ดูแลพี่ชายเสมอ เพราะถึงจะยังเล็ก แต่อชิเข้าใจในอาการที่พี่ชายเป็น
.
แม่มักบอกอชิ ว่า “ให้อยู่ข้างๆ พี่ เพราะแม่เชื่อว่าพี่ธันวามีโอกาสหาย หรือถ้าวันไหนแม่เป็นอะไรไป แม่ไม่ได้อยู่บนโลกนี้แล้ว สองพี่น้องต้องคอยดูแลกันและกัน”
.
อชิรู้ว่าแม่พยายามทำงาน ด้วยการออกขับวินมอเตอร์ไซค์ตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง ทำงานวันละ 17 ชั่วโมง เพื่อเก็บเงินมาเป็นค่ารักษาพยาบาลให้พี่ธันวา
.
เพราะตั้งแต่พี่ธันวาป่วย ต้องจ่ายเงินค่ายาหลายอย่าง เธอเห็นแม่พาพี่เทียวเข้าออกโรงพยาบาลเพื่อรักษาไม่ต่ำกว่าสิบรอบ ในระหว่างนั้นแม่ก็ต้องทำงานขับวินไปพร้อมกัน การเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เลี้ยงดูเด็กสองคน ซ้ำหนึ่งคนพิการทางสมองนั้นไม่ง่าย อชิจึงพยายามช่วย เป็นแรงเล็กๆ แบ่งเบาภาระให้แม่บ้าง
.
เงินเดือนของแม่ทั้งหมด ต้องเก็บไว้ใช้จ่ายยามจำเป็น ทั้งค่าเช่าบ้าน น้ำ ไฟ และค่ารักษาแผนกจิตเวชเด็ก การไปเที่ยวเล่นข้างนอกเลยไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ
.
นอกจากวันไหนเป็นวันเกิดหรือโอกาสพิเศษ แม่จะหยุดงานพาเด็กๆ ไปให้อาหารปลาที่วัดใกล้บ้าน เป็นการเที่ยวแบบฉบับที่กำลังทรัพย์ของครอบครัวพอเอื้อมถึง
.
ปลายเดือนที่แล้ว โครงการโรงพยาบาลมีสุข ชวนครอบครัวน้องธันวา และครอบครัวเด็กป่วยแผนกจิตเวชอีก 10 ครอบครัว ไปสัมผัสลมทะเล ณ หาดบางแสนเป็นครั้งแรก
.
ถึงจะเป็นการเที่ยวแบบไปเช้าเย็นกลับ แต่รอยยิ้มที่แต้มใบหน้า และเสียงหัวเราะจากเด็กๆ จะยังดังก้องไปอีกพักใหญ่ เป็นกำลังใจของเด็กๆ และครอบครัว ให้เด็กป่วยทางใจได้รับรู้ว่าเขามีคุณค่า สมควรได้รับการดูแลจากทั้งครอบครัวและสังคม
.
หากคุณมีที่พัก ร้านอาหาร หรือพื้นที่สำหรับทำกิจกรรม พร้อมเปิดรับเด็กๆ เราอยากชวนคุณเป็นส่วนหนึ่งในการโอบรับเด็กป่วยด้วยความรัก
ดูแลประคับประคองพวกเขาไปพร้อมกันกับเรา
ติดต่อได้ที่ 061-909-1840
.
สนับสนุนกิจกรรมสร้างความสุขลดความทุกข์ให้เด็กป่วย
ได้ที่บัญชีโครงการโรงพยาบาลมีสุข
เลขที่ 202-258286-0 ธ.ไทยพาณิชย์
“สดชื่นสถาน” พื้นที่นี้เพื่อคนไร้บ้าน
คนไร้บ้าน คือคนที่ออกมาจากบ้าน การออกมาจึงเป็นเรื่องเลวร้าย
.
แต่การออกมาอีกเช่นกันที่นับเป็นเรื่องดี คือการออกมาจากความเป็นคนไร้บ้านนั่นเอง
.
เรามี “จ้างวานข้า” ที่ทำให้เขาออกจากชีวิตไร้บ้านได้โดยการสร้างพื้นที่ทำงานและมีรายได้
.
ตอนนี้เรามี “สดชื่นสถาน” ที่มีไว้เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน เป็นพื้นที่ตระเตรียมก่อนที่พวกเขาจะออกไปจากชีวิตไร้บ้านเสียที การตระเตรียมนั้นคือ การให้เขาสามารถเข้าถึงการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีคุณภาพมากขึ้น ผ่านการทำความสะอาด การรักษาสุขอนามัย เรามีบริการซักผ้าฟรี อบผ้าฟรี อาบน้ำฟรี เป็นบริการพื้นฐาน และต่อไปในอนาคตเราจะขยายการให้บริการอื่นๆ เช่น อาหาร เสื้อผ้า รวมถึงเป็นพื้นที่ส่งต่อพวกเขาเข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาในเรื่องอื่นๆ ที่มันรัดตรึงเขา เป็นเชือกเส้นใหญ่ที่มัดเขาไม่ให้พ้นจากชีวิตไร้บ้านโดยง่าย และเมื่อเขาพร้อมแล้ว เราจะพาเขาออกไปจากชีวิตไร้บ้านอย่างยั่งยืน ด้วยพื้นที่ทำงานที่เราเรียกมันว่าจ้างวานข้านั่นเอง
__________________
มูลนิธิกระจกเงาxOtteri เราจะเปิดบริการให้กับพี่น้องคนไร้บ้านทุกวันศุกร์ของสัปดาห์ ที่ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า ถนนพระอาทิตย์
.
สนับสนุนกระบวนการพาออกจากภาวะไร้บ้านนี้ได้ที่ โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-2-58289-4 SCB
TIP Smart Assist “ผู้นำส่ง” ความช่วยเหลือสู่ผู้เดือดร้อน
ในเวลาที่เครื่องผลิตออกซิเจน
กำลังรอส่งออกไปบ้านผู้ป่วย
ข้าวสารอาหารแห้ง
รอคิวส่งไปครอบครัวที่เดือดร้อน
ช้ากว่านั้นก็อาจหมายถึงชีวิต
หรือความลำบากที่ยาวนานขึ้น
.
พวกเขาเรียกตัวเองว่า
TIP Smart Assist
จากทิพยประกันภัย
ขออาสาส่งความช่วยเหลือ
จากมูลนิธิกระจกเงา
ไปยังครอบครัวที่เดือดร้อน
.
เขาบอกเราว่า
งานจิตอาสาไม่เลือกความเดือดร้อน
เรื่องเล็กเรื่องใหญ่
พร้อมไปได้หมด
ขอแค่บอกมา
.
หลายเดือนมาแล้วที่พวกเขา
ทำภารกิจนี้อยู่เบื้องหลังเงียบๆ
เป็นสะพานเชื่อมความช่วยเหลือ
ขอบคุณจากใจแทนทุกครอบครัว
ที่ได้รับความช่วยเหลือ
พวกคุณโคตรเท่ห์
ปัญหา “คนไร้ที่พึ่ง” ในระบบคุ้มครองของรัฐ
“57 บาท ต่อคนต่อวัน” นี้คืองบประมาณที่รัฐจ่ายให้เพื่อดูแลกลุ่มคนที่เรียกว่า “คนไร้ที่พึ่ง” ตาม พรบ.คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง (สถานสงเคราะห์) ของทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
.
สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งในประเทศนี้มีอยู่ทั้งหมด 11 แห่งทั่วประเทศ มีภารกิจหลักคือการดูแลกลุ่มคนไร้ที่พึ่ง คนไร้ที่พึ่งที่นิยามโดยสรุปอย่างง่ายๆ ก็คือ คนที่ไม่สามารถดูแลจัดการชีวิตตัวเองได้ ทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคม
.
ในวันที่ทีมงานผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงาได้แวะเวียนเยี่ยมเยียน สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งมาแล้วหลายแห่ง เราอยากจะรีวิวการไปเยี่ยมสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ให้กับหลายๆ คนได้รับรู้ว่า สิ่งที่เรียกว่าเป็นสวัสดิการของรัฐ ภายใต้การดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์นั้น มันเป็นอย่างไรบ้าง
.
ข้างในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง คนที่อยู่ในสถานคุ้มครองนั้น เกินกว่า 70% เป็นผู้ป่วยจิตเวชที่เรียกได้ว่าเรื้อรัง บางสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งนั้น มีจำนวนผู้ป่วยจิตเวชสูงถึง 90% ขึ้นไป ยังไม่นับความทับซ้อนของความพิการทางร่างกายอื่นๆ ลงไป และยังไม่นับว่าส่วนใหญ่อยู่ในวัยผู้สูงอายุ
.
พูดถึงเรื่องการหลับนอน ทุกคนมีเบาะนอน แต่ไม่ใช่การนอนในแบบ 1 เบาะต่อ 1 คน ในบางทีต้องนำเบาะมาชิดกันเพื่อให้มี 1 คนมานอนตรงร่องกลางของเบาะที่นำมาชิดกัน ในบางที่ในบางแห่งต้องจัดการเบาะนอนเป็นสามแถว และนี่ยังไม่ได้พูดถึงว่า ผู้รับความคุ้มครองหลายต่อหลายคนเป็นคนพิการ เป็นผู้สูงอายุ การนอนเบาะแบบนั้น ทำให้ลุกขึ้นเดินเหินได้ยากเต็มที
.
คนในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งในแต่ละที่ มีจำนวนคนรับการคุ้มครองล้น ล้นที่เรียกว่าเกินขีดความสามารถการดูแลของเจ้าหน้าที่ภายใน บางแห่งมากไปถึง 500 กว่าราย ซึ่งหลายสถานคุ้มครองฯ มีความสามารถรับคนเข้ารับการคุ้มครองจริงๆ อยู่ที่ประมาณ 300 กว่ารายเท่านั้น ความไม่สามารถนั้น เกิดมาจากงบประมาณที่จำกัด จำนวนบุคลากรที่จำกัด ทรัพยากรที่จำกัด
.
ในหลายๆ สถานคุ้มครองฯ นั้น มีปัญหาขาดแคลนบุคลากรเฉพาะทาง เฉพาะด้าน เช่น ไม่มีนักจิตวิทยาวิชาชีพ ทั้งๆ ที่มีผู้ป่วยจิตเวชอยู่เกินกว่า 70-80% ด้วยซ้ำ ไม่มีพยาบาล ทั้งๆ ที่มีจำนวนเคสที่มีแนวโน้มในปัญหาโรคทางกายอยู่ไม่น้อย ไม่มีนักกายภาพบำบัด ทั้งๆ ที่มีคนพิการทางร่างกายอยู่เกินครึ่งค่อน
.
ที่ซ้ำร้ายเข้าไปอีกก็คือ สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งไม่สามารถส่งคนไร้ที่พึ่งเพื่อให้ได้รับบริการในสถานสงเคราะห์ ตามความเฉพาะได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น ในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งแห่งหนึ่ง มีผู้สูงอายุมากกว่า 100 คน แต่ไม่สามารถส่งผู้สูงอายุนั้นให้ได้รับบริการในสถานสงเคราะห์ที่ดูแลผู้สูงอายุโดยตรงได้ เช่นเดียวกันกับกลุ่มคนพิการที่ไม่สามารถส่งไปยังสถานสงเคราะห์คนพิการได้
.
ทั้งๆ ที่ในกฎหมายของผู้สูงอายุ ก็บอกไว้ว่า ในความเป็นผู้สูงอายุนั้น สวัสดิการอย่างหนึ่งที่รัฐจัดให้ คือการได้เข้ารับดูแลในสถานสงเคราะห์ผู้สูงอายุ เช่นเดียวกันกับคนพิการ ทั้งๆ ที่กฎหมายระบุไว้ว่าสวัสดิการอย่างหนึ่งที่คนพิการสามารถเลือกรับได้ก็คือ การเข้ารับการดูแลในสถานสงเคราะห์คนพิการ ซึ่งหลายๆ รายที่รอการเข้ารับการดูแลตามกฎหมายเฉพาะนั้น ก็เสียชีวิตไปก่อนที่จะได้รับบริการตามที่สิทธิ์ในฐานะพลเมืองที่เขาควรได้ ความล่าช้าของการได้มาซึ่งสิทธิที่ควรมีควรได้นั้น นับได้ว่าเป็นความอยุติธรรมแบบหนึ่งนั้นเอง
.
ในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง เมื่อไม่สามารถส่งคนไปเข้ารับบริการตามกฎหมายเฉพาะอย่าง ผู้สูงอายุและคนพิการได้นั้น ความอัดแน่น ความไม่สามารถดูแลคนที่อยู่ในการคุ้มครองได้นั้น จึงเกิดขึ้นในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งในทุกแห่ง และในข้อเท็จจริงที่สำคัญก็คือ คนที่อยู่ในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งนั้น ไม่ใช่ประสบปัญหาทางสังคมเพียงอย่างเดียว พวกเขาเป็นคนป่วยทั้งทางจิตและทางกาย เป็นคนพิการ เป็นผู้สูงอายุ
.
เอาเข้าจริง หลายๆ คนมีความซ้ำซ้อนของทุกอย่างที่กล่าวมา และประเด็นสำคัญก็คือ สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งมีเคสที่หลากหลายทับซ้อนมาก แต่ได้รับงบประมาณและทรัพยากรในการบริหารจัดการภายในที่ต่ำอย่างมาก ทั้งๆ ที่ควรได้รับงบประมาณและทรัพยากรที่เป็นเสมือนโรงพยาบาลด้วยซ้ำไป
.
เราเคยถามว่าความต้องการของคนไร้ที่พึ่ง ที่ว่าพวกเขาต้องการอะไร ในส่วนที่เป็นผู้ป่วยจิตเวชอย่างหนักอาจไม่สามารถตอบได้ แต่สำหรับหลายๆ คนมักให้คำตอบอย่างง่ายๆ ว่า เขาอยากให้ครอบครัวมาเยี่ยมเขาบ้าง อยากกลับไปอยู่กับครอบครัวก็มี ในบางคนอยากจะออกไปทำงานมีรายได้ แต่ในข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก็คือ ทรัพยากรที่รัฐจัดสรรให้กับสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งนั้น ไม่สามารถทำให้ฝันของคนที่อยู่ในสถานคุ้มครองฯบรรลุเป็นจริงได้อย่างแน่นอน
.
ไม่ต้องดูอะไรมาก แค่ค่าอาหารที่เขาตั้งไว้ให้ต่อคนต่อวันอยู่ที่ 57 บาทนั้น ก็เห็นได้อยู่ว่ารัฐเห็นใจ ใส่ใจ และเข้าใจหรือไม่ว่าสิทธิ์การมีคุณภาพชีวิตที่ดีนั้นควรเป็นพื้นฐานของทุกคนที่ควรได้รับจากรัฐอย่างปฏิเสธไม่ได้ เป็นจริงอยู่หรือไม่
——————————
ปล.ภาพรองเท้าแตะ คือรองเท้าแตะของผู้รับการคุ้มครองในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งแห่งหนึ่ง ซึ่งรองเท้าแต่และคู่นั้นมีความพยายามทำเครื่องหมายไว้ เพื่อให้รู้ว่าคู่ไหนเป็นของใคร
.
รีวิว สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง และ ตัวอย่างของการจัดสวัสดิการของรัฐ โดย โครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา
ขอเพียงส่วนหนึ่งของร่างกาย เพื่อพูดกับลูกเป็นครั้งสุดท้าย
ถึงตายไปแล้ว ก็ขอให้ได้เห็นศพ
อย่างน้อยให้ได้เห็นกระดูกเขา
ได้เอากระดูกเขากลับบ้าน
.
ได้พูดกับร่างกาย
ชิ้นส่วนไหนของลูกก็ได้ว่า
“กลับบ้านเรานะลูก”
.
ยิ่งเวลานานวันที่เก๋หายตัวไป
ครอบครัวคิดว่าเก๋ อาจไม่มีชีวิตอยู่แล้ว
และยิ่งได้เห็นข่าวว่าน้องแอร์ที่หายไป 8 ปี
แม่น้องแอร์ยังได้กอดกระดูกลูก
ได้พาน้องแอร์กลับบ้าน
.
แม่น้องเก๋ นางสาวภาวิณี กอไธสง
จึงยังรู้สึกมีความหวัง ว่าสักวันหนึ่ง
เธอจะได้พาลูกของเธอ
กลับบ้านเช่นกัน
.
สัปดาห์นี้เราทำหน้าที่ประสานงาน
เก็บดีเอ็นเอของแม่เพื่อนำส่ง
ให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์
ใช้ตรวจเทียบกับศพนิรนาม
————————————
คนหาย!!!
นางสาวภาวิณี กอไธสง หรือเก๋อายุ 23 ปี
หายตัวไปจากแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
ตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ.2556
.
คนหายสูงประมาณ 163 ซม. หนักประมาณ 55 กก.
มีไฝที่จมูก และมีแผลเป็นที่แขนขวา
.
แจ้งเบาะแสได้ที่ มูลนิธิกระจกเงา
โทร 0807752673