ปัญหาที่ควรมีทางออก ผู้ป่วยจิตเวชข้างถนน

“ถึงผู้ว่าฯ ชัชชาติครับ” ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
.
ทางโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา อยากเริ่มเรื่องเพื่อปรึกษาท่านผู้ว่าฯ อย่างนี้ครับ คนที่อยู่ในภาพนี้เป็นผู้ป่วยจิตเวชที่ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ พื้นที่สาธารณะที่ว่าก็คือ ซอยตรอกศิลป์ ซอยนี้อยู่แถวศาลาว่าการกรุงเทพมหานครเลยครับ เราเลยนึกถึงท่านผู้ว่าชัชชาติขึ้นมา และเราคิดว่าท่านผู้ว่าฯ น่าจะสนใจต่อการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ครับ
.
ผู้ป่วยคนนี้ใช้ชีวิตมากว่า 10 ปีในซอยนั้น ในช่วงแรกที่มาอยู่ อาการทางจิตเวชนั้นยังไม่หนักหนามาก แต่มาในปีนี้อาการทางจิตเวชของเขาหนักหนามาก ในหนึ่งวันมีได้ถึง 3 อารมณ์ 3 พฤติกรรม ยิ้มคุยคนเดียวในช่วงเช้า มีอารมณ์โมโหเกรี้ยวกราดด่าทอคนผ่านไปมาในช่วงบ่าย ส่งเสียงดังเหมือนเสียงยิงปืนในยามค่ำคืน จุดพีคที่สุดคือการขับถ่ายเรี่ยราด
.
ผู้คนแถวนั้นเริ่มรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่โอเคแล้วกับพฤติกรรมในช่วงปีหลังของผู้ป่วย บางวันชุดเสื้อยืดกางเกงขาสั้นก็เปรอะเลอะเหม็นคลุ้งไปด้วยอุจจาระและปัสสาวะ ผู้คนแถวนั้นไม่รู้จะแจ้งใครดี เคยแจ้งหน่วยงานราชการก็แล้ว แต่ไม่มีความคืบหน้า แจ้งสก. แจ้งรายการทีวีดัง ก็ไม่มีการตอบสนองใดกลับมา พวกเขาเลยแจ้งมายังมูลนิธิกระจกเงา
.
วันนี้ทางทีมผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา จึงประสานงานกับตำรวจเพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชรายนี้เข้ารับการรักษาในสถานบำบัดรักษาเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งจริงๆ แล้วการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนในพื้นที่สาธารณะนั้นนับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายดายเลย มันมีปัญหาทุกกระบวนการ ทั้งการให้ความช่วยเหลือ การรักษา การฟื้นฟูและนั้นจึงเป็นสาเหตุให้ได้พบเห็นผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนอยู่ในพื้นที่สาธารณะเกือบทุกหนทุกแห่ง
.
เราเลยอยากขอปรึกษาผู้ว่าฯ ชัชชาติแบบนี้ครับ กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ที่พบว่ามีผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนแบบนี้อยู่มาก ส่วนใหญ่ไม่มีความอันตรายแต่ก็มีคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่อย่างที่สุด แต่มีอยู่ส่วนหนึ่งที่มีความอันตราย ทำร้ายร่างกาย ทำลายข้าวของ ซึ่งหลายเคสนั้นเป็นข่าวดัง คำถามก็คือทำไมเราจึงพบว่ามีผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนในพื้นที่สาธารณะมากเหลือเกิน และในแต่ละเคสก็ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะอย่างยาวนานเหลือเกิน ยาวนานจนคุณภาพชีวิตพัง สมองพัง
.
คำตอบก็คือ ระบบการพาพวกเขาเข้าสู่การดูแลรักษาตลอดจนการให้การฟื้นฟูประคับประคองนั้นก็ผุพังเช่นกัน สมมุติว่าถ้ามีใครสักคนหนึ่งแจ้งหน่วยงานรัฐต่างๆ เพื่อบอกว่าให้มาเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชคนนั้น หลายๆหน่วยงานนั้นก็จะบอกว่า เขาทำไม่ได้ เขาไม่มีหน้าที่ หลายๆหน่วยงานอาจมาทำหน้าที่ แต่ก็ทำได้เพียงแค่มาดู ทำได้แค่มาไล่ แต่ไม่สามารถทำการให้ความช่วยเหลือได้ ช่วยเหลือในสถานะของ “ผู้ป่วย”
.
ในบางครั้งหน่วยงานนั้นอาจให้ความช่วยเหลือ แต่ปัญหาในหลายครั้งที่พวกเขาเจอก็คือ หน่วยงานบำบัดรักษานั้น บอกว่าไม่สามารถรับได้ ด้วยเหตุผลว่า ผู้ป่วยไม่มีญาติ หรือ ไม่ได้รับเป็นผู้ป่วยใน แต่เป็นการจ่ายยาแล้วให้ผู้ป่วยกลับไปกินยาและเร่ร่อนในพื้นที่สาธารณะตามเดิม การช่วยเหลือนำส่งผู้ป่วยจิตเวชจึงเป็นเรื่องยาก ใช้พลังงานสูง หลายหน่วยงานจึงไม่ทำ และยังไม่นับรวมว่า หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยนั้นคือตำรวจ ซึ่งผู้ป่วยต้องถูกใส่กุญแจมือ ให้นั่งอยู่กระบะท้ายของรถปิคอัพ ทั้งๆ ที่คนคนนั้นมีสถานะที่เรียกว่า “ผู้ป่วย”
.
ถ้าถามคำถามว่า ทำไมสถานบำบัดรักษาจึงตั้งเงื่อนไขไม่อยากรับผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนเข้าสู่การรักษาในระบบผู้ป่วยใน คำตอบลัดสั้นก็คือ ผู้ป่วยในระบบของสถานบำบัดรักษาเอง เขาก็อัดแน่นจนรับมือแทบจะไม่ไหวแล้ว มีผู้ป่วยหลายรายที่อยู่ในสถานะสิ้นสุดการรักษาแล้วแต่ไม่สามารถจะออกไปจากสถานบำบัดรักษาได้ เนื่องจากไม่สามารถกลับบ้านกลับครอบครัวได้ กลับไม่ได้ยังไม่เท่าไหร่ แต่ไม่สามารถจะไปสู่กระบวนการฟื้นฟูในรูปแบบของสถานสงเคราะห์ของรัฐ (ดูแลโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ) ได้ ผู้ป่วยในจึงสะสมจนล้นระบบ คนเก่าไปไม่ได้ คนใหม่เข้ามาเติม
.
เช่นกันถ้าถามคำถามว่า ทำไมสถานสงเคราะห์ของรัฐจึงไม่สามารถรับผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนที่สิ้นสุดการรักษาจากสถานบำบัดรักษาได้นั้น คำตอบเดียวกันคือสถานสงเคราะห์เหล่านั้นก็อยู่ในสภาพของคนที่เข้ารับการสงเคราะห์ในสถานสงเคราะห์นั้น เป็นสภาพคนล้นระบบเช่นกัน ระบายคนออกไม่ได้ คนใหม่ก็เติมเข้ามา จนวันหนึ่งคนล้นระบบสถานสงเคราะห์ที่มีอยู่ทั้งหมดเป็นที่เรียบร้อย(สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งทั่วประเทศมี11แห่ง สถานสงเคราะห์ที่ดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่สิ้นสุดการรักษาแล้วแต่ไม่สามารถกลับบ้านได้นั้นมี2แห่งทั่วประเทศ)
.
ปัญหาผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนในพื้นที่สาธารณะนั้น เป็นปัญหาที่เรื้อรังมายาวนาน และดูเหมือนว่าปัญหานี้จะเพิ่มขนาดขึ้นอย่างมากในอนาคต ด้วยเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหานั้นยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด ทั้งในเชิงระบบช่วยเหลือดูแลรักษาฟื้นฟูที่ได้เล่าไป ทั้งในการคาดคะเนจากตัวเลขของกลุ่มผู้ป่วยจิตเภท ตามตัวเลขที่จิตแพทย์มักใช้อ้างอิงก็คือ ผู้ป่วยจิตเภทจะคิดเป็น 1% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และผู้ป่วยจิตเภทที่มีอาการเรื้อรังมีปัญหาในการดำรงชีวิตนั้นก็คิดเป็น 1% ของผู้ป่วยจิตเภททั้งหมด
.
โครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา ในฐานะกลุ่มคน องค์กรที่ดำเนินการในการแก้ไขปัญหาเรื่องผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนในพื้นที่สาธารณะมาเป็น 10 ปี และพยายามแก้ปัญหาเท่าที่ศักยภาพในด้านต่างๆเรามีพอที่จะทำให้เกิดรูปธรรมการแก้ไขปัญหานี้ เราจึงอยากขอปรึกษาผู้ว่าฯชัชชาติผ่านโพสต์นี้ เพื่อร่วมหาทางออกในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ เพื่อที่ว่าผู้ป่วยจิตเวชที่เร่ร่อนอยู่ในพื้นที่สาธารณะนั้นจะได้เข้ารับการรักษาฟื้นฟู ได้เข้าสู่การปรับปรุงคุณภาพชีวิต จนสามารถออกมาใช้ชีวิตโดยตัวพวกเขาเองได้ และเราจะได้มองหาทางป้องกันเพื่อลดการเกิดขึ้นของกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนให้ได้มากที่สุด ถ้ามีเกิดขึ้นก็ช่วยเขาได้ทันเวลา รวดเร็วมีคุณภาพ ตรงตามสถานะความเป็น “ผู้ป่วย” ของพวกเขา
.
ปัญหานี้มีทางออก ทางแก้ไขอย่างแน่นอน เราเองมองเห็นหนทางนั้นแล้ว เราเองอยากจะนำเสนอเรื่องนี้เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกัน โครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา หวังอย่างยิ่งว่า ท่านจะเปิดการรับฟังปัญหานี้อย่างเป็นทางการ และทำการแก้ไขปัญหานี้ร่วมกันครับ

Share Button