ถ้าเด็กยัง(คง)ด้อยโอกาส ประเทศชาติ(จะ)ยิ่งด้อยการพัฒนา

การลงพื้นที่แต่ละครั้งของแต่ละโครงการ เช่น โครงการอาสามาเยี่ยม โครงการคอมพิวเตอร์เพื่อน้อง โครงการแบ่งปัน โครงการโรงพยาบาลมีสุข เรามักพบเจอกับเด็กในทุกเพศ และทุกวัย บ้างกำลังเผชิญชีวิตอยู่ท่ามกลางความยากจน ขาดโอกาส และโรคภัยไข้เจ็บต่างๆนานา ทั้งกับตัวเด็กเอง พ่อแม่ หรือญาติพี่น้องที่เกี่ยวข้องกับเด็กๆไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

 

ภาพของเด็กชายหญิงหน้าตามอมแมม ขี้มูกเกรอะกรัง ร่างกายผ่ายผอม ซูบซีด ยังเป็นภาพที่เห็นได้ทั่วไปทั้งในเขตชุมชนเมืองและชนบท เชื่อว่าไม่มีการลงทุนใดที่คุ้มค่าไปมากกว่าการสนับสนุนให้อนาคตของชาติมีคุณภาพชีวิตที่ดีและเหมาะสมตามพัฒนาการในแต่ละวัย

 

เด็กชายตัวผอมเกร็ง อาศัยกองขยะเป็นที่อยู่อาศัย วันๆเขาคัดแยกขยะเพื่อแลกเป็นข้าวปลาอาหารสำหรับครอบครัวที่อดยาก เด็กหญิงในชนบทห่อข้าวสวยหนึ่งทัพพีพร้อมพริกตำกับเกลือ อาหารกลางวันพอประทังชีวิตในโรงเรียนห่างไกลปืนเที่ยง เด็กในชุมชนแออัดชินตากับผู้ใหญ่ที่กำลังเล่นการพนัน เสพยาอย่างโจ้งแจ้งในชุมชน ปัญหายาเสพติดใกล้ชิดกับวิถีชีวิตเด็กเพียงแค่ชะโงกหน้าออกจากหน้าต่างบ้าน

 

เด็กยากจน ขาดโอกาสเข้าถึงสวัสดิการรัฐขั้นพื้นฐาน การเล่าเรียนเป็นเรื่องที่มีราคาต้องจ่าย จ่ายมากได้เรียนมาก จ่ายน้อยได้เรียนน้อย ชีวิตที่เลือกเกิดไม่ได้ ซ้ำเติมให้เด็กอีกหลายร้อยหลายพันชีวิตไร้สัญชาติ และถูกตัดขาดจากความเป็นพลเมือง ต้องปากกัดตีนถีบ เติบโตเป็นแรงงานแลกเงินขั้นต่ำ และเข้าไม่ถึงสวัสดิการรัฐในทุกมิติของชีวิต ไม่ได้เรียนหนังสือ ไม่มีการศึกษา จน ป่วย และตายลงอย่างไร้ตัวตน เป็นวัฎจักรไม่จบสิ้น

 

สถานการณ์เด็กด้อยโอกาสในประเทศไทย จากข้อมูลสถิติของกรมการปกครอง ปีพ.ศ.2560 สร้างความกังวลใจไม่น้อยต่ออนาคตของชาติ ใจความสำคัญของปัญหาในขณะนี้ คือ ประเทศไทยมีประชากรเด็ก (ที่อายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์) อยู่จำนวน 13,825,194 คน เป็นเด็กด้อยโอกาสอยู่ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคน ส่วนใหญ่พบเป็นเด็กยากจน ร้อยละ 80 และ ร้อยละ 6 ที่เป็นกลุ่มเด็กหลายชาติพันธุ์ ที่ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนสิทธิด้านสาธารณสุขทั้งหลักประกันสุขภาพและการรักษาที่ชัดเจน และเป็นกลุ่มเด็กที่มีความพิการทางสติปัญญาและออทิสติก เป็นจำนวน 220,842 คน โดยมีความด้อยโอกาสในหลายด้านรวมอยู่ด้วยนั้น พบว่าเข้าถึงระบบบริการทางสุขภาพ เพียงร้อยละ 5.59 และเข้าถึงระบบการศึกษา เพียงร้อยละ 25.33 ซึ่งเด็ก 2 กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงระบบบริการด้านสาธารณสุขและด้านการศึกษามากที่สุด อันจะส่งผลถึงการเจริญเติบโตตามพัฒนาการอย่างสมวัยและประเทศชาติ ยังเสียโอกาสที่สำคัญในการมีบุคลากรที่มีคุณภาพในอนาคตอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีเด็กๆอีกมากมาย ที่กำลังเผชิญชีวิต ต่อสู้ดิ้นรนเพียงลำพังอยู่ในสังคม

 

เช่น เด็กเร่ร่อน ที่มีจำนวนกว่า 30,000 คน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดในเขตกรุงเทพมหานคร บริเวณสะพานพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ชุมชนคลองเตย ชุมชนรังสิต และชุมชนธัญญบุรี รวมทั้งตามเมืองขนาดใหญ่ เช่น ด่านแม่สาย จ.เชียงราย , บริเวณโรงเกลือ จ.สระแก้ว , บริเวณชุมชนข้างทางรถไฟ สวนรัก หอนาฬิกา จ.นครราชสีมา และบริเวณพัทยา จ.ชลบุรี ซึ่งส่วนใหญ่ประสบปัญหาครอบครัวแตกแยก ถูกทารุณกรรม บางส่วนออกมาเร่ร่อนเพื่อหารายได้ช่วยเหลือครอบครัว และหนีตามเพื่อนมาเร่ร่อน

 

ลูกของแรงงานต่างด้าว มีจำนวน 250,000 คน ปัญหาสำคัญของเด็กในกลุ่มนี้คือ ขาดโอกาสทางการศึกษา เนื่องจากต้องอพยพตามผู้ปกครองเข้ามาทำงาน และเป็นกลุ่มที่ต้องเป็นแรงงานเด็ก จึงไม่มีเวลาเรียนในระบบโรงเรียนปกติ

 

เด็กติดเชื้อเอดส์ มีจำนวน 50,000 คน ซึ่งติดเชื้อเอดส์จากพ่อแม่ จึงมีจำนวนไม่น้อยที่เป็นทั้งเด็กกำพร้าและติดเชื้อเอดส์ จึงต้องเผชิญกับปัญหาทางสุขภาพ ขาดการยอมรับจากสังคมทำให้ผู้ป่วยเข้าไม่ถึงบริการด้านสุขภาพ การส่งต่อของเด็กระหว่างองค์กรไม่เป็นความลับ และเด็กที่ป่วยไม่สามารถอยู่ร่วมกับครอบครัวได้

 

เด็กกำพร้าถูกทอดทิ้ง มีจำนวน 88,730 คน ซึ่งถูกทอดทิ้งตามโรงพยาบาล สถานรับเลี้ยงเด็ก และที่สาธารณะ โดยมีสาเหตุจากแม่ที่อยู่ในวัยเรียน และแม่ที่ไม่สามารถเลี้ยงลูกได้

 

เด็กถูกบังคับใช้แรงงาน โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีที่ถูกบังคับเป็นแรงงานอย่างผิดกฎหมาย มีจำนวน 10,000 คน ซึ่งมีจำนวนมากที่ยังไม่เข้าถึงระบบการคุ้มครองของกฎหมายและบริการทางสังคม เนื่องจากสถานประกอบการมีลักษณะซ่อนเร้น เช่น โรงงานขนาดเล็กตามห้องแถวและชานเมือง

 

เด็กถูกบังคับให้ค้าประเวณี รวมถึงเด็กที่ทำงานในสถานบริการ เช่น สนุ๊กเกอร์คลับ ผับ คาเฟ่ ฯลฯ โดยพบว่ามีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่เข้าสู่การค้าประเวณี ไม่ต่ำกว่า 25,000 คน

 

เด็กติดยา มีจำนวน 10,000 คน โดยกระจายอยู่ในเขตกรุงเทพฯและเมืองใหญ่ รวมถึงพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

ในทุกวันของการทำงานลงพื้นที่ การได้มีโอกาสไปพบเจอพูดคุยเด็กทุกกลุ่มดังที่ได้กล่าวมา เด็กๆเหล่านี้เกิดและกำลังเติบโตอยู่ในทุกพื้นที่ในประเทศไทย และไม่ว่าจะอย่างไร การเลือกเกิดไม่ได้ของเด็กทำให้รู้ว่า บนโลกแห่งความไม่เท่าเทียมนี้ เด็กๆทุกคนควรมีคุณภาพชีวิตที่ดีเท่ากัน เด็กทุกคนควรได้มีโอกาสมีความฝัน ได้เรียนหนังสือ ได้ประกอบอาชีพการงานตามความถนัดและความสามารถ ได้มีสิทธิเลือกดำเนินชีวิต​อย่างอิสระเสรี เฉกเช่นพลเมืองของโลก เพราะเด็กทุกคนยังยิ้มให้กับทุกวันเสมอ แม้ว่าบทพิสูจน์ของชีวิตจะหนักหนาสักเพียงใด

 

การเข้าไปแบ่งเบาภาระอันหนักอึ้งบนบ่า และการปลดเปลื้องความทุกข์ยากลำบากทั้งกายและใจจึงเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ เพื่อให้เด็กทุกคนบนโลกใบนี้ ได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขตามสมควร รับผิดชอบตนเอง ครอบครัว และเผื่อแผ่ถึงผู้อื่นและสังคมได้ เท่าที่เด็กหนึ่งคนจะสามารถทำได้ด้วยใจอันเป็นสุข

Share Button