“ดวงตากระต่าย” (A RABBIT ’S EYES) โดย “เคนจิโร่ ไฮทานิ” วรรณกรรมเยาวชนติดอันดับขายดีของประเทศญี่ปุ่น “มนุษย์เราควรมีความเมตตาปราณีต่อผู้อื่นเป็นสิ่งหนึ่งของชีวิต”

ไม่น่าเชื่อว่า หนังสือที่เขียนขึ้นตั้งแต่ตอนที่ฉันยังไม่เกิดเล่มนี้ จะสะท้อนความจริงของชีวิตมนุษย์ ทั้งทางด้านพฤติกรรม ด้านสังคม รวมถึงความจริงที่ซ่อนอยู่อย่างไม่มิดชิดของโลกใบนี้ได้เป็นอย่างดี และยังเป็นเรื่องราวที่มีเนื้อหาหลากรสชาติ ทั้งสนุก สลดหดหู่ ซาบซึ้ง กินใจ ประทับใจ แม้ว่าจะเป็นหนังสือที่ผู้เขียนได้ตีพิมพ์ออกมาตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ.2517 ก่อนที่ฉันจะเกิดถึง 2 ปีเลยก็ตาม

ก่อนหน้านั้น ฉันเคยมองเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกอย่างไร ขอตอบด้วยความกระดากใจอยู่ไม่น้อย ว่ามันค่อนข้างตื้นเขิน และออกไปในทางโง่เขลาเบาปัญญา ไม่ค่อยใส่ใจความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่นด้วยเพราะคิดว่า “เขาไม่ใช่เรา” คงเพราะความอ่อนเยาว์ด้วยวันวัยส่วนหนึ่ง ด้วยประสบการณ์ชีวิตอีกส่วนหนึ่ง และการได้บังเอิญเจอหนังสือเล่มเก่าเก็บในลังกระดาษเก่า ๆ ที่ไม่เคยเปิดมาแล้วหลายปีของพี่ชายคนโต ที่ชื่อ “ดวงตากระต่าย” เล่มนี้ มันก็ไม่ได้ถึงขั้นทำให้ฉันบรรลุเรื่องการมองคน มองโลก หรือขัดเกลาจิตใจฉันได้ถึงขนาดกลายเป็นคนดีเลิศประเสิรฐศรีเหมือนพลิกฝ่ามือหรอกนะ หากแต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันช่วยให้ฉันได้เข้าใจว่า “ชีวิตคนอื่นไม่เหมือนเรา และชีวิตเราก็ไม่เหมือนคนอื่น เพราะฉะนั้นเราต้องยอมรับว่าโลกก็เป็นอย่างนี้แหละ มีความหลากหลาย และบนความหลากหลายนั้นก็มีความเหลื่อมล้ำ มีคนที่ถูกด้อยโอกาส คนถูกทอดทิ้ง คนที่ถูกสังคมรังเกียจ และหน้าที่ของเราที่พึงมีต่อเพื่อนมนุษย์คือ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมมันดีขึ้นได้อย่างไร”

นับจากนั้นมันทำให้ฉันพยายามมองผู้อื่นโดยไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้งมากเกินไป หรือใช้ตัวเองเป็นบรรทัดฐานอย่างที่เคยเป็น…

นั่นเพราะเรื่องราวใน “ดวงตากระต่าย” ที่ดำเนินเรื่องโดยสองตัวละครหลักอย่างครูสาว “โคทานิ อะเกมิ” ที่เพิ่งผ่านพิธีแต่งงานมาได้ประมาณ 10 วัน และเพิ่งสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมาสด ๆ ร้อน ๆ ลูกสาวของแพทย์ที่เคยใช้ชีวิตบอบบางอย่างคุณหนู ต้องมาเจอกับเด็กนักเรียนชายตัวเล็ก ๆ ที่ชื่อ “เท็จโซ” ผู้มีฐานะยากจน มีบ้านอยู่ใกล้กับโรงขจัดขยะมูลฝอยที่ตั้งอยู่ข้าง ๆ โรงเรียน เป็นผู้ด้อยโอกาสทางสังคม และผู้ซึ่งถูกรังเกียจและรังแกอยู่บ่อยครั้ง ที่น่าหดหู่ใจกว่านั้นก็คือ “เท็จโซ” ไม่มีเพื่อนสนิทเลยแม้แต่คนเดียว เพราะทุกคนล้วนคิดว่า “เท็จโซ” เป็นเด็กนิสัยประหลาด ไม่เข้าพวก ชอบใช้ความรุนแรง คบไม่ได้ มีความเป็นอยู่อย่างซ่อมซ่อ จน สกปรก อยู่บ้านขยะน่ารังเกียจ ในทีแรก “อะเกมิ” ไม่เข้าใจพฤติกรรมของเท็จโซเลยแม้แต่น้อย กลับมีความรู้สึกหวาดกลัวและไม่อยากสุงสิงเหมือนที่คนอื่น ๆ ทำกับเด็กน้อย แต่แล้ววันหนึ่งเมื่อ “อะเกมิ” ได้ใกล้ชิดและรู้ความจริง ว่า “เท็จโซ” เป็นเด็กที่มีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร ความซ่อมซ่อที่อยู่ภายนอกนั้น ช่างตรงกันข้ามกับสิ่งที่อยู่ในหัวใจดีงามของเด็กน้อยยิ่งนัก นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้ครูสาวมีความมุ่งมั่นที่จะได้หัวใจอันเปี่ยมรักและเมตตาของเด็กนักเรียนตัวน้อยผู้น่าสงสารมาครอบครอง ส่วน “เท็จโซ” นั้น เขาหวังได้เป็นมนุษย์ที่มีการพัฒนาพร้อมทั้งกายและใจ ใช้ชีวิตอย่างคนอื่น ๆ ทั่วไปในสังคม ที่สามารถข้ามผ่านทั้งเรื่องราวทุกข์และสุขได้ และสามารถคบหามนุษย์ด้วยกันเป็นเพื่อนได้

เรื่องราวชีวิตของครูสาวและเด็กชายตัวน้อยดำเนินไปในแต่ละวัน รวมทั้งหมด 26 บททดสอบ ตัวละครทุกตัวในเรื่องล้วนผ่านบททดสอบของชีวิต และได้เรียนรู้ชีวิตของคนอื่น ๆ ที่แตกต่างจากตนไปในขณะเดียวกัน ซึ่งมันไม่ใช่แค่บททดสอบที่เด็กชายตัวน้อยอย่าง “เท็จโซ” ต้องเจอ เพื่อที่จะก้าวไปเป็นผู้ใหญ่อย่างสมบูรณ์เท่านั้น หากแต่มันทำให้ครูสาวอย่าง “อะเกมิ” ได้เรียนรู้ชีวิต ความรู้สึกนึกคิด ความเป็นอยู่ ของคนที่ด้อยกว่าตนในทุกด้าน ทั้งฐานะและการยอมรับนับถือของสังคม หากแต่กลับเป็นผู้มีหัวใจยิ่งใหญ่ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และก้าวข้ามเรื่องราวร้าย ๆ ในชีวิตมาแล้วมากมาย อาทิ “ตาเฒ่าบั๊ก” คุณตาของ “เท็จโซ”
ฉันชอบหลายประโยคที่ “ตาเฒ่าบั๊ก” คุณตาของ “เท็จโซ” ผู้ซึ่งผ่านชีวิตที่เลวร้ายและการถูกทรมานเจือนตายมาแล้ว ได้พูดกับ “อะเกมิ” ในคราวที่เธอได้เข้าไปในบ้านหลังซ่อมซ่อข้างโรงขยะแห่งนั้น เป็นประโยคที่ฟังแล้วทั้งรู้สึกสะเทือนใจ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับฉันไปในตัว เพราะสะท้อนความจริงของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี อาทิ

“…คนที่ตราหน้าว่าเป็นมนุษย์นั้น มันสามารถทำอะไรก็ได้ มันกลายเป็นผีห่าซาตานก็ได้….”
“ก็จริงอย่างว่า คนเราถ้าตายแล้วก็หมดสิ้นความหวังทุกอย่าง….”
“มนุษย์เรา ลองได้พลาดสักครั้งหนึ่งแล้ว ก็เหมือนได้ไหลลงสู่ห้วงเหว ยากที่จะลุกขึ้นมาตั้งหลักได้..”

ฉันจดข้อความเหล่านี้เอาไว้ในสมุดบันทึกส่วนตัวเพื่อตอกย้ำกับตัวเองว่า “จะไม่กลายเป็นคนอย่างที่ตาเฒ่าบั๊กพูดนี้เด็ดขาด!!”

“รสริน ลิ้มประเสริฐ” บรรณาธิการเล่มได้กล่าวเอาไว้น่าสนใจว่า “ดวงตากระต่าย” ได้บอกให้เราได้รู้ว่า ในสภาพแวดล้อมที่ดูเหมือนเลวร้าย หมายถึงยากไร้และซ่อมซ่อนั้น คนก็อาจจะมิได้ซ่อมซ่อตามไปด้วย เขาสามารถมีศักดิ์ศรี มีน้ำใจ โดยไม่ขึ้นอยู่กับสภาพทางวัตถุเลย หรือครูผู้หนึ่งที่ชอบมาทำงานสาย แต่มักเลิกงานตรงเวลา ทั้งยังชอบกินเหล้าและปากเสีย จนถูกขนานนามว่า “ครูอันธพาล” แต่มีน้ำใจต่อบรรดาลูกศิษย์จน ๆ แสนมอมแมมเป็นยิ่งนัก และเมื่อมีปัญหาอันกระทบถึงความเป็นความตายของเด็ก ๆ และเหล่าพ่อแม่แล้ว เขาก็กระโจนลงมาร่วมต่อสู้ด้วยสำนึกที่ว่า “…คนที่มีชีวิตอยู่เดี๋ยวนี้ล้วนแล้วแต่แทะเล็มชีวิตคนอื่นมา ต่างได้กัดกินชีวิตของคนที่ตายในสงคราม กัดกินคนที่ต่อต้านสงครามแล้วต่อชีวิตของตนเองมา มีคนที่กัดกินอย่างหน้าตาเฉย และก็มีคนที่กัดกินด้วยความทุกข์ทรมาน…” เขาคงจะทุกข์ทรมานเป็นแน่แท้ ถ้าไม่ได้เอาชีวิตของเขามาให้คนอื่นแทะบ้าง และถ้าเขาผ่านด่านนี้ไปได้ เราก็รู้สึกได้ถึงความรู้สึกลึกล้ำที่จะสถิตขึ้นในหัวใจของเขา เพราะ
“มนุษย์นั้นเมื่อผ่านการทดสอบมาได้ครั้งหนึ่งก็จะเจริญเติบโตขึ้น”

…ในโลกที่ร้อนรุ่มไปด้วยไฟพยาบาลและไฟโลภโมโทสันเช่นปัจจุบันนี้ “ดวงตากระต่าย” ทำให้เราได้ฉุกคิด ได้ตระหนักถึงสิ่ง ๆ หนึ่งที่เราแทบจะลืมเลือนไปเพราะถูกกลบกลืนด้วยกระแสความศิวิไลซ์ไปเกือบทั้งสิ้น ด้วยสิ่ง ๆ นั้นแสนสงบเสงี่ยมเจียมตัวทั้งกระจิ๊ดริด ไม่เคยเปล่งเสียง ไม่เคยเรียกร้อง ได้แต่เฝ้ารออย่างเงียบสงบ รอให้มนุษยชาติผู้หลงผิดทั้งหลายหันกลับมาเอง หันกลับมาพบพลานุภาพของสิ่งเล็ก ๆ นี้ สิ่งซึ่งเครื่องจักรยนต์กลไกทั้งหลายของโลกที่ทันสมัยสุดขีดไม่อาจทำเลียนแบบได้ เพราะสิ่ง ๆ นั้นแฝงฝังอยู่ใต้ก้อนเนื้อเล็ก ๆ ในร่างกายของมนุษย์ทุกผู้คนนั่นเอง

“A RABBIT ’S EYES” หรือ “ดวงตากระต่าย” ผลงานของ “เค็นจิโร่ ไฮทานิ”
นักเขียนแห่งเมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น มีผลงานตีพิมพ์ออกมามากมายหลายเล่ม ที่นักอ่านหลายคนอาจจะเคยได้อ่านมาบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็น “ลูกพระอาทิตย์, ครูเอ๋ย, จงเป็นลูกน้องเถิด, เขาดินโดดเดี่ยว” และในปี พ.ศ.2522 เขาก็ได้รับรางวัลนักเขียนที่ระลึกถึง “ยามาโมโต้ ยูโซ” ในเรื่อง “หินข้างทาง” ประเภทอะคาเดมี่

ฉันเชื่อเหลือเกินว่า หากใครได้อ่าน “ดวงตากระต่าย” จบลง แม้จะเป็นผู้ที่มีจิตใจแข็งกระด้าง และเอาแต่ตัวเองเป็นที่ตั้ง ก็อาจจะอ่อนโยนลงได้ไม่มากก็น้อย…

“สิ่งที่สำคัญของความเป็นมนุษย์คือการขบถ เพื่อสร้างสรรค์ความดีงาม มนุษย์จะลืมวิญญาณแห่งการขบถไม่ได้”

ชื่อหนังสือ : ดวงตากระต่าย (A RABBIT ’S EYES)
ผู้เขียน : เคนจิโร่ ไฮทานิ
ผู้แปล : ธราธร นางาชิมา
สำนักพิมพ์ : มูลนิธิเด็ก

Share Button