แด่ทุกหัวใจของพ่อที่ “ต่อสู้” เพื่อครอบครัว

p1

แด่ทุกหัวใจของพ่อที่ “ต่อสู้” เพื่อครอบครัว

หลังจากภรรยาตายจากด้วยโรคมะเร็งกระดูกระยะสุดท้าย หน้าที่ของความเป็นสามีก็จบสิ้นเช่นกัน
เหลือเพียงบทบาทหน้าที่ของความเป็น “พ่อ” ที่ภรรยาวางใจมอบไว้ให้แก่เขา

หากบ้านเราไม่ยากจนนัก ลูกชายคนเดียวคงไม่ต้องมีชีวิตเช่นนี้
เด็กชายอยากแบ่งเบาภาระครอบครัว จึงไปรับจ้างทำงานในโรงงาน ด้วยความประมาทพลั้งเผลอ
หรือโชคร้ายเข้าข้าง ในขณะที่เขากำลังถอดเสื้อพาดคอเป็นจังหวะเดียวกับที่สายพานดึงเสื้อ
แรงกระชากนั้นทำให้เขาขาดอากาศหายใจและกลายเป็นคนพิการป่วยติดเตียงในทันที

แรกๆยังมีแม่คอยดูแลลูกอย่างใกล้ชิด พ่อทำหน้าที่ออกทำงานรับจ้างหาเงินค่าใช้จ่ายรายวัน
จนเมื่ออยู่ๆภรรยาล้มป่วยและเสียชีวิตลง จึงเหลือเพียงพ่อที่ต้องรับผิดชอบดูแลลูกชายเพียงลำพัง
ใจของพ่อ..ไม่ได้คิดอะไรไปไกลมากไปกว่าการเลี้ยงดูลูกให้ดีที่สุด..เท่าที่จะทำได้
เพื่อให้ลูกมั่นใจว่า.. พ่อจะไม่ทิ้งลูกให้เป็นภาระของใคร
ไม่ใช่เพราะว่าพ่อคือพ่อ แต่เพราะเราคือส่วนหนึ่งของกันและกัน

และไม่ใช่เพียงโครงการอาสามาเยี่ยมเท่านั้น ที่จะได้สัมผัสความรู้สึกถึงความรักอันไม่มีเงื่อนไขของ “พ่อ”
ยังมีพ่อของลูกอีกหลายคนที่กำลังสู้ชีวิตเพื่อชีวิตที่ดีกว่าของลูก ขยันค้าขายเพื่อหารายได้อยู่ในโครงการแบ่งปัน
และยังมีลูกอีกหลายคนที่ทำทุกอย่างเพื่อที่จะได้พบเจอพ่ออีกสักครั้ง ติดต่อสัมพันธ์ชีวิตกันอยู่ในโครงการศูนย์ข้อมูลคนหาย

ทุกชีวิตที่ผ่านมาพบเจอกันในมูลนิธิกระจกเงา .. ต่างมีเรื่องราวสารพันให้ต้องแก้ไขและห่วงใยกัน
ไม่ว่าจะจนยาก ลำบาก ขาดแคลน เป็นหนี้สิน แต่ทุกคนก็พร้อมสู้ เพื่อคนที่ตัวเองรัก

เชื่อว่า อ้อมกอดของพ่อที่หนักแน่น และเงียบขรึมนั้นก็อบอุ่นไม่แพ้น้ำนมของแม่ที่หลั่งรินจากเลือดและน้ำตา

สุขสันต์วันพ่อ

Share Button

ชีวิตใหม่หลังความตาย

ชีวิตใหม่-new 


“ป้ากินข้าวกับเกลือ เพื่อให้แม่ กับพี่ได้กินข้าวกับปลา

ช่วงหลังแม่ป่วยมาก เคี้ยวอะไรไม่ค่อยได้
อยากให้เขาได้สารอาหาร เราก็ต้องยอม อดเอา”
 “มีเงินเก็บเท่าไหร่ สมบัติมีอะไร ป้าขนมาขายหมด
รถกระบะ ทีวีในบ้านก็ขาย หวังจะเอามารักษาพี่ กับแม่”

เป็นคำพูดของป้านัน หญิงชราที่อุทิศชีวิตดูแลแม่และพี่สาว ที่ป่วยหนัก
เธอว่า คุณค่า ความหมายของชีวิตทั้งหมดของเธอ คือการดูแลครอบครัว
ความจริงสังคมบ้านเรามีเรื่องราวเช่นนี้อยู่มาก
คนในบ้านป่วย คนที่แข็งแรงก็สู้จนหมดหน้าตัก สุดท้ายยื้อชีวิตใครไว้ไม่ได้
และต้องใช้ชีวิตหลังความตายของคนที่รัก แบบคน “หมดตัว”

ในบ้านที่ว่างเปล่า ป้านันอยู่กับร่องรอยของคนทั้งคู่ ที่ตอกย้ำให้คิดถึง
หล่อเลี้ยงตัวเองด้วยเบี้ยยังชีพคนชรา เดือนละ 600 บาท
ต้องเข้าออกโรงพยาบาล รักษาทั้งอาการป่วยกาย และใจ
“มีวันนึง หมอไม่ยอมให้ป้ากลับ ให้อยู่คุยกันก่อน กลัวป้าฆ่าตัวตาย”

จากอาการ “ป่วยใจ” ที่หมอห่วง เป็นที่มาของการตั้งคำถาม
ทำอย่างไร? จึงจะ “เยียวยา” ป้านัน ได้อย่าง “ยั่งยืน”
ทำอย่างไร? ให้ชีวิตของคนๆ หนึ่ง ที่ดูแลคนอื่นมาทั้งชีวิต ได้รับการดูแลบ้าง
แม้เป็นเพียงชีวิตน้อยๆ ของหญิงชราธรรมดาคนหนึ่งก็ตาม

ไอเดียส่งเห็ดนางฟ้าภูฏานให้ป้านันดูแลเพื่อให้คลายเศร้า
โดยให้เห็ดเหล่านั้น ดูแลป้านันไปด้วย จึงเกิดขึ้น

ทันทีที่ไอเดียนี้เริ่มขยับ ความช่วยเหลือจากคนที่รู้ข่าวก็ถาโถมเข้ามา
“ถ้าได้รู้ก่อน ไม่มีใครยอมปล่อยเพื่อนมนุษย์ตายไปต่อหน้าต่อตาหรอก”
เรื่องราวของเห็ดนางฟ้ากับป้านันเป็นสิ่งยืนยันข้อคิดนี้

หลังจากนั้นเห็ดนางฟ้า โดยการร่วมมือของหลากหลายผู้คนก็เริ่มทำหน้าที่ของมัน
เห็ดทำหน้าที่เยียวยาป้านันได้ทุกวัน ทำได้มากกว่าการเยี่ยมเยียนรายครั้ง/รายเดือน
เปลี่ยนชีวิตที่กำลังป่วยไข้จากความสูญเสีย เป็นความหวัง เป็นรายได้ เป็นอาชีพ

วันที่เชื้อเห็ดเดินทางไปถึง บรรยากาศของความหวัง
ก็ตลบอบอวลเต็มลานบ้านป้านันอีกครั้ง
ไม่นาน สมาชิกใหม่ของบ้าน ก็แทงยอด ออกดอกรายวัน
เฉลี่ยวันละ 1-5 กิโล ให้เก็บกินเก็บขาย
มีรายได้ประมาณวันละ 100-300 บาท

ค่ำวันหนึ่ง คืนที่ป้านันรู้สึกว่าพระจันทร์กำลังยิ้มให้ดวงดาว
เธอบอกกับแม่และพี่สาวบนท้องฟ้าว่า ไม่ต้องห่วงเธอแล้ว
เธอมีเห็ดไว้ดูแลคลายเหงา และเห็ดเหล่านี้ก็ดูแลชีวิตเธอด้วย

#เยี่ยมเยียนเพื่อเยียวยา #อาสามาเยี่ยม

Share Button