โปรเจ็กต์ “สวนฟินิกซ์” แผนคืนชีพให้คนและของเหลือใช้

สวนสาธารณะในอุดมคติของคุณเป็นแบบไหน?
.
สำหรับกระจกเงา เรากำลังวางแผนถึง พื้นที่สาธารณะที่ทำหน้าที่รีชาร์ท และรีไซเคิลทุกอย่าง เป็นพื้นที่ที่เปิดให้สำหรับของเหลือใช้ และคนเหลือใช้ พื้นที่ที่จะสร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับผู้คนที่ตกทุกข์ได้ยากในสังคม
.
เราจะเปิดสวนสาธารณะแห่งนี้ ให้มีพื้นที่ส่วนหนึ่ง เป็นศูนย์รับบริจาค ต้อนรับผู้ที่เคลียร์บ้าน และมีของเหลือใช้มาบริจาคให้กับมูลนิธิกระจกเงา ของเหลือใช้เหล่านี้จะกลายเป็นรายได้เอาไว้ดูแลสวน และบริการที่เกิดขึ้นในสวน
.
สวนจะเปิดให้มีร้านแบ่งปัน สำหรับขายของราคาถูกให้กับผู้คนที่หาใช้ของมีคุณภาพในราคาประหยัด เพื่อให้ทรัพยากรที่ผลิตขึ้นมาแล้วแต่ยังสภาพดี ได้ถูกใช้งานจวบจนสิ้นสภาพที่แท้จริง
.
เปิดพื้นที่สำหรับผู้ต้องการทิ้งขยะรีไซเคิล ให้สามารถมีจุดทิ้งขยะเหล่านี้ได้สะดวกขึ้น โดยสบายใจได้ ว่ามันจะไม่ไปรวมกับขยะอื่นอีก
.
เปิดให้เป็นพื้นที่เกษตรในเมือง ที่ผู้เข้ามาใช้บริการ สามารถมาช่วยกันดูแล และเก็บเกี่ยวผล กลับไปทานที่บ้านได้ มีพื้นที่ free space เป็นพื้นที่สีเขียวที่ทุกคนสามารถใช้ สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ สำหรับทำกิจกรรมกลางแจ้ง สำหรับเรียนและเล่น หรือพื้นที่สำหรับงานวิวาห์ของคู่รักที่จ่ายค่าสถานที่จัดงานแพงๆ ไม่ไหว
.
ส่วนการเปิดพื้นที่ให้กับคนเหลือใช้ หรือคนที่หลุดออกจากตลาดแรงงาน คนแก่ คนป่วย คนไร้บ้าน สวนของเราเราจะมีระบบอนุบาล ไม่ใช่อนุเคราะห์
.
อนุบาลคน ที่ตลาดแรงงานไม่ใช้แล้ว ให้เขากลับมามีงาน มีคุณค่า มีคุณภาพชีวิต และมีศักยภาพในการดูแลตนเอง และครอบครัวได้ ไม่ใช่อนุเคราะห์ ที่เพียงให้อาหาร และที่อยู่อาศัย โดยที่ปัญหาของเขายังเหมือนเดิม
.
คนเหล่านี้ ส่วนใหญ่เคยเป็นช่าง รับจ้างรับเหมา เป็นคนเก็บของเก่าขาย ที่ใช้แรงงานมาทั้งชีวิต เราจะให้เขาได้ทำงานตามทักษะที่มี โดยกระจกเงาจะหางานและรายได้ให้
.
เรามีงานให้เขาแยกขยะพลาสติกที่ระดมได้จากผู้บริจาค ที่ใครก็รู้กันว่าขยะพลาสติก มีอยู่เต็มเมือง กระจกเงาจะขอเหมารับไว้ทั้งหมด เพื่อนำไปเป็นรายได้
.
มีงานให้เขาออกไปทำงานช่าง ในงานช้าการช่าง ที่มีผู้ว่าจ้าง เป็นใครก็ตาม ที่ยินดีจ้างงานคนแก่ให้มีงานทำ งานเนี๊ยบๆ แต่ขอเวลานานหน่อย (เพราะแก่แล้ว) มีทีมงานกระจกเงาจะเป็นผู้คุมคุณภาพ
.
ส่วนคนที่ไม่มีทักษะพิเศษ เราให้อยู่ต้อนรับผู้บริจาค ที่นำของเหลือใช้ เข้ามามอบให้มูลนิธิกระจกเงา เขาจะทำหน้าที่คัดแยกของประเภทต่างๆ ให้พร้อมสำหรับการส่งต่อ
.
ระหว่างที่อนุบาลคนเหล่านี้เราจะให้ที่อยู่อาศัย ที่สร้างไว้ภายในสวนนี้แหละ เป็นที่อยู่อาศัยขนาดชั้นเดียว ที่อยู่อาศัยนี้จะสร้างจากขยะพลาสติกที่ทุกคนนำมาบริจาค นำมาขึ้นรูปใหม่ ให้เป็นแผ่นไม้ เป็นฝาบ้าน เรือนชานพลาสติกที่หากวันนึงมันเก่าชำรุด เราก็เอามันกลับไปรีไซเคิลใหม่ได้อีก
.
และเมื่อวันนึง ที่พวกเขาตั้งหลักได้ มีเงินเก็บจากการทำงานกับเราจนสามารถออกไปเช่าที่พักเองได้แล้ว เขาจะออกจากที่นี่ โดยที่เรายังให้งานทำ เพื่อที่ให้ที่อยู่ในสวนนี้ เป็นที่อยู่อาศัยของผู้เดือดร้อนคนถัดไป
.
แนวคิดสวนในเมืองของกระจกเงาเป็นแบบที่เล่ามาทั้งหมดนี้ และวันนี้ ที่สำนักงานมูลนิธิกระจกเงา เปิดบ้านต้อนรับ รองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร คุณศานนท์ หวังสร้างบุญ​ พร้อมนำเสนอแนวคิดเหล่านี้ ในอนาคตหากมีโอกาสที่กรุงเทพมหานคร จะจับมือกับมูลนิธิกระจกเงา โดยแบ่งพื้นที่สวนสาธารณะที่ กทม.ดูแลให้เราจัดการ สวนสาธารณะแบบที่ว่าข้างต้นทั้งหมดนี้ก็จะมีโอกาสเกิดขึ้นจริง
.
สำหรับใครที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว
และเห็นด้วยกับแนวคิดข้างต้น
.
มูลนิธิกระจกเงาขอประกาศ ยืมที่ดิน!!!
ที่คุณไม่มีแผนใช้ประโยชน์ เรายินดีรับผิดชอบภาษีที่ดิน เพื่อให้ผืนดินแห่งนั้นเป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ สำหรับคนทุกคนในสังคม
_______________________
ร่วมเปลี่ยนพื้นที่ว่างเปล่าของคุณ
เป็นสวนสาธารณะเพื่อประโยชน์ต่อสังคม
ติดต่อมูลนิธิกระจกเงาได้ที่
โทร.063-931-6340, 061-909-1840
Share Button