แบ่งกันเล่น

ปลูกต้นกล้าแห่งการเป็นผู้ให้ ด้วยการ“แบ่งกันเล่น”

ถ้าเรามีของเล่นสุดรักสุดหวงอยู่ในอ้อมกอด เราจำเป็นต้องแบ่งให้คนอื่นหรือไม่

ไม่..ไม่จำเป็น ของรักของหวงต้องอยู่ดูแลรักษาดวงใจของเราไปจนกว่า..

เมื่อเวลาถึง “พร้อม” เราจะสามารถส่งต่อของเหล่านั้นให้กับใครอีกสักคนหนึ่งด้วยความเต็มใจ

 

เช่นกัน การปลูกฝังให้เด็กรู้จักเป็นผู้ให้ ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์จิตใจอันบริสุทธิ์ด้วยการเสียสละตุ๊กตาหรือของเล่นชิ้นโปรดเพราะนั่นอาจทำให้เกิดข้อสงสัย และทำให้เกิดบาดแผลในใจที่มีชื่อว่าการให้..ไปตลอดชีวิต

 

หากแต่เริ่มต้นที่ของเล่น ชิ้นที่เขาเล่นจนอิ่มใจและพร้อมแล้ว..สำหรับการส่งต่อให้คนอื่นได้เล่นบ้าง

และไม่ว่าจะอย่างไรคุณภาพของการให้วัดกันที่การรู้จักหยิบยื่นของเล่น แค่เพียงชิ้นเดียวให้เพื่อน

ก็เท่ากับว่าต้นกล้าแห่งการแบ่งปันได้งอกงามขึ้นแล้วในใจของเขาและเธอ

 

ความรู้สึกยินดีปรีดาในการได้มีโอกาสหยิบยื่นน้ำใจให้แก่เพื่อนมนุษย์

เพียงพอแล้ว .. สำหรับคำชื่นชมเพื่อให้เขาได้เห็นถึงคุณค่าแห่งการกระทำที่ดีงามและนำไปสู่การรู้จักคุณค่าของตัวเอง

 

หน้าที่สำคัญของพ่อแม่ผู้ปกครองที่อยู่ใกล้ชิดเด็กในวัย 3-6 ปี คือการชี้ให้ลูกหลานได้เห็นถึงรูปธรรมของการให้

เช่น การตั้งคำถาม..เมื่อลูกได้รับสิ่งของจากเพื่อน ลูกรู้สึกเช่นไร (รู้สึกหัวใจพองโต ดีใจ หัวเราะ หรือยิ้มกว้าง)

หรือถ้าหากลูกถูกแย่งของรักไปจากมือ ..ความรู้สึกของลูกเป็นอย่างไร (รู้สึกไม่พอใจ โกรธ หรือร้องไห้)

 

เมื่อเขาได้เรียนรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้นในสถานการณ์จริงแล้ว ..เขาจะเลือกเป็นผู้ให้ ได้ด้วยตัวเขาเอง

ร่วมกันปลูกต้นกล้าแห่งการแบ่งปันให้กับลูกๆ เพื่อสร้างเป็นต้นทุนที่ล้ำค่าแห่งชีวิตให้แก่เขา

 

โครงการ “แบ่งกันเล่น” มูลนิธิกระจกเงาขอทำหน้าที่ส่งต่อของเล่นมือสอง เพื่อสร้างความสุขเบอร์หนึ่งให้กับเด็กป่วยในโรงพยาบาล เด็กไร้สัญชาติ จังหวัดเชียงราย ที่กำลังรอคอยของขวัญในวันเด็ก และเพื่อเด็กยากจนที่ขาดโอกาสทั้งในชุมชนแออัดเมืองและชนบททุรกันดานทุกคน ได้มีโอกาสเล่นสนุกตามวัยในวาระส่งท้ายปีเก่าต้อนรับความสุขในปีใหม่นี้ด้วยความขอบคุณ

 

Share Button