“การแบ่งปัน” แบบฝึกหัดของชีวิตวัยเยาว์

“การแบ่งปัน” แบบฝึกหัดของชีวิตวัยเยาว์

เด็กหญิงวัยห้าขวบกำลังก้มหน้าก้มตาเล่นมือถือ ในขณะที่พี่ชายวัยแปดขวบกำลังเล่นแทปเล็ต ในโลกยุคใหม่ที่ทุกอย่างไหลเร็วเสียจนพ่อแม่ผู้ปกครองเองก็ตั้งตัวไม่ทัน แม้ ‘พล’ กับ ‘แป๋ว’ สองสามีภรรยาชนชั้นกลาง พนักงานบริษัทกินเงินเดือนชนเดือนจะพยายามจำกัดเวลาการใช้อุปกรณ์สื่อสารของลูกรักทั้งสอง แต่ก็อดใจเสียไม่ได้เมื่อความสัมพันธ์ในครอบครัวอยู่ในยุคสังคมก้มหน้า แม้แต่เด็กตัวเล็ก ๆ ก็ไม่เว้น

พลมองของเล่นของลูกเกลื่อนตามมุมคอนโดขนาดกะทัดรัดกลางเมือง พลางถอนหายใจ สารพัดตุ๊กตาของลูกสาวกระจายอยู่ทั่วห้อง บางตัวอยู่ในสภาพใหม่ บางตัวแขนหลุด ชุดรุ่ย ส่วนรถหลากชนิดและหุ่นยนต์ทหารของลูกชายก็กระจายอยู่บนโซฟา และตามใต้โต๊ะเก้าอี้ “อีกไม่กี่วันจะปีใหม่แล้ว พ่อว่าเรามาคุยกันดีกว่ามั้ย จะไปเที่ยวที่ไหนดี” คำว่าเที่ยวมักได้ผลเสมอกับเด็ก ๆ ทั้งลูกสาวและลูกชายพักสายตาจากหน้าจอ แล้วหันมามองผู้เป็นพ่อ “วางโทรศัพท์ก่อนนะลูก นี่ก็ใกล้ครบเวลาหนึ่งชั่วโมงตามที่ตกลงกันไว้แล้วนะ” แป๋วผู้เป็นแม่เดินออกมาจากโซนครัว ในมือถือจานผลไม้หั่นมาให้ผู้เป็นสามีและลูก ๆ

“ขอต่อเวลาอีกหน่อยนะจ้ะแม่” ลูกชายพูดขึ้น

“ถ้าอย่างนั้นเราไม่ต้องไปเที่ยวกันหรอก อยู่บ้านเล่นมือถือนี่แหละ ดีมั้ย” ได้ผล สิ้นคำพูดของพล เด็กทั้งสองวางมือจากโลกส่วนตัวตรงหน้า และหันมามองผู้เป็นพ่อ ต่างพากันเสนอที่เที่ยวที่ตัวเองอยากไป ซึ่งก็ไม่พ้นสวนสนุก และร้านอาหารที่มีโซนสำหรับเด็กเล่น ซึ่งพลกับแป๋วเห็นว่า มีสถานที่อย่างนั้นมากมายไม่ใกล้บ้าน และไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรมากมาย จึงตอบตกลง

“ลูก ๆ ก็ได้ไปแล้ว คราวนี้ของแม่บ้างนะ แม่อยากไปทำบุญบริจาคสิ่งของน่ะพ่อ” เด็กชายและเด็กหญิงมองหน้าผู้เป็นแม่แบบงงงวย

“ทำบุญบริจาคสิ่งของคืออะไรคะแม่ เหมือนหนูเอาขนมแบ่งให้เพื่อนกินอย่างนี้หรือเปล่าคะ” หนูน้อยถามเอียงคอ

“อันนั้นเขาเรียกว่ามีน้ำใจกับเพื่อนจ้ะลูก การบริจาคสิ่งของก็คือการทำบุญอย่างหนึ่ง ของที่เราไม่ได้ใช้แล้ว ก็จะถูกส่งต่อไปให้ผู้อื่นที่เขายังต้องการใช้ และสร้างประโยชน์ให้เขาได้น่ะลูก”

“พ่อว่าเอาตุ๊กตาของลูกไปบริจาคด้วยดีมั้ยแม่ มีหลายที่เลยที่เขารับบริจาค เดี๋ยวตัวพัง ๆ นี่ซ่อมเสียหน่อยก็ใช้ได้แล้วล่ะ”

“ไม่ได้นะครับพ่อ ผมยังเล่นอยู่”

“ไม่ให้ค่ะ มันของหนูนี่นา”

“แล้วถ้าเป็นของลูก ทำไมลูกไม่ดูแลรักษามันเลยล่ะ เล่นแล้วก็ไม่เก็บให้เป็นที่เป็นทาง เออ! แม่ว่าหนูเลือกบางตัวไปบริจาคมั้ยลูก ตัวที่ลูกไม่อยากเล่นแล้ว หรือไม่ชอบแล้ว”

“ทำไมหนูต้องเอาไปให้คนอื่นด้วยล่ะครับ เด็กคนอื่นไม่มีพ่อแม่ซื้อให้เหรอ”

“ฟังพ่อนะลูก ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะมีพ่อแม่หรือไม่มีก็ตาม แต่ใช่ว่าเด็กทุกคนจะมีพ่อแม่ที่มีเงินซื้อของเล่น เด็กบางคนไม่มีแม้แต่ของจะเล่นหรือเหมือนหนู แถมยังไม่มีเวลาเล่นอีก นอกจากเรียนและทำงานช่วยพ่อแม่”

“มีเด็กแบบนี้อยู่จริง ๆ เหรอครับพ่อ”

“โลกเราไม่ได้มีแค่เราหรือแค่ที่เราเห็นนะลูก ยังมีคนลำบากกว่าเราอีกเยอะ บางคนยังไปขายพวงมาลัยตามสี่แยกไฟแดง หรือเดินขายขนมขายดอกไม้ตามร้านอาหาร ลูกก็เคยเห็นนี่นา อย่าว่าแต่เงินซื้อของเล่นเลย ไม่รู้ว่ามีข้าวกินครบทุกมื้อมั้ย…ถ้าลูกไม่ได้ใช้ ก็แบ่งให้เขาไปเถอะลูก”

สองพี่น้องนิ่งคิดอยู่ชั่วครู่ก่อนจะพยักหน้า และแยกย้ายกันเก็บของเล่นของตนมากองรวมกันไว้ แล้วคัดชิ้นที่ตัวเองไม่อยากเล่นออกไปอย่างตัดใจ ผู้เป็นพ่อและแม่เห็นแล้วก็อดยิ้มไม่ได้

ในยุคที่ทุกอย่างเร่งรีบแบบนี้ ยุคที่ผู้คนเห็นแก่ตัวกันมากขึ้น ซ้ำยังมองเห็นความทุกข์ของผู้อื่นเป็นเรื่องไกลตัว แต่อย่างน้อยหากเราค่อย ๆ สอนลูกให้เติบใหญ่ขึ้นมาเป็นคนที่มีน้ำใจต่อผู้อื่น ไม่ยึดติดกับวัตถุจนเกินไป สิ่งนี้คือแบบฝึกหัดสำหรับชีวิตที่ยอดเยี่ยม ผ่านการสอนลูกให้เรียนรู้เรื่องการเป็นผู้ให้และเริ่มแบ่งปันข้าวของเล็กๆน้อยๆให้ผู้อื่นตั้งแต่วัยเยาว์

Share Button