ทะเลเชื่อมความสุขสู่ “ผู้ป่วยเด็ก”

เด็กป่วยทางกาย อย่างน้อย
เรายังรู้ว่าเขาเจ็บป่วยตรงไหน
.
เด็กป่วยทางจิตใจ เด็กอธิบายไม่ได้
กว่าเราจะมองเห็นความผิดปกตินั้น
เขาต้องเผชิญความป่วยลำพัง
ต่อสู้กับความคิดของตัวเอง
.
ทำไมทุกคนรำคาญ โดนดุมากกว่าเพื่อน
ไม่เป็นที่ยอมรับของเพื่อน คุณครู
หรือแม้แต่ของพ่อแม่ตัวเอง
.
ตัวอย่างเด็กเหล่านี้ คือเด็กกลุ่มสมาธิสั้น
เด็ก LD ที่มีพัฒนาการทางสมองช้า
.
เด็กกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการดูแล
ประคับประคอง อดทน และเข้าใจ
.
โครงการโรงพยาบาลมีสุข
กำลังทำงานสร้างสุข ให้กับเด็กกลุ่มนี้
.
วันพรุ่งนี้เราจะพาเด็กป่วย 10 ครอบครัว
คัดเด็กที่อาการป่วยไม่เป็นอุปสรรคต่อการเที่ยว
พาไปเล่นน้ำทะเลด้วยกัน
โดยมีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลไปด้วย
.
ให้ทะเลเชื่อมความสุขให้กับเด็กและครอบครัว
ให้กิจกรรมนี้ บอกเด็กๆ ทางอ้อมว่า
เขามีคุณค่า สมควรได้รับการดูแล
แล้วเราจะประคับประคองกันไป
.
สนับสนุนกิจกรรมพาเด็กป่วยเที่ยวทะเล
ได้ที่บัญชีโครงการโรงพยาบาลมีสุข
เลขที่ 202-258286-0 ธ.ไทยพาณิชย์

Share Button

ภาระที่ต้องแบกรับ ในวันที่ “น้องแต้ว” ป่วยติดเตียง

‘แต้ว’ อาศัยอยู่กับป้าและยาย ด้วยความรัก
เมื่อแรกคลอด ‘แต้ว’ เป็นเด็กสมบูรณ์แข็งแรง
โรคลมชักแทรกขึ้นมาตอนที่เธออายุได้ 4 เดือน
เธอขาดอากาศหายใจไปขณะหนึ่ง
จนสมองพิการ และติดเตียงในที่สุด
.
อาการที่แต้วเป็นมีแต่ทรงกับทรุด
เธอต้องเจาะคอเพื่อให้อาหารเหลวและยาทางสายยาง
บางครั้งมีอาการชักเกร็ง เข้าห้องฉุกเฉินไปหลายหน
.
ยายเล่าว่า เมื่อปีที่แล้วแต้วทรุดหนัก
ถึงขั้นต้องใช้เครื่องผลิตออกซิเจนติดตัว
.
แต่ลำพังรายรับทางเดียวจากป้า
กับอาชีพรับจ้างวันละสามร้อย
คงไม่พอซื้อเครื่องผลิตตัวใหม่ที่ราคาครึ่งแสน
จึงทำได้เพียงหาเช่าถัง
ที่ต้องคอยเติมออกซิเจนมาใช้ไปก่อน
.
ในวันที่ครอบครัวพยายามแบกรับค่าใช้จ่าย
ทั้งค่าเติมและค่าเช่าถังออกซิเจน
มีคนใจดีให้หยิบยืมเครื่องผลิตออกซิเจน
เป็นเครื่องที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว
หน้าจอโชว์จำนวนชั่วโมงหลักสองหมื่น
นั่นหมายความว่าเครื่องยังใช้ได้
แต่ออกซิเจนที่ผลิตเริ่มเสื่อมประสิทธิภาพ
.
ครอบครัวรับรู้ถึงข้อจำกัดของเครื่อง
แต่รับไว้ด้วยความเต็มใจ
เพราะระหว่างรอหาเงินซื้อเครื่องใหม่
เครื่องนี้ยังพอช่วยให้แต้วรอด
.
“เขาบอกแต่แรกว่ามันอาจไม่ดีแล้ว
ต้องอาศัยดูอาการตอนใช้
ให้หายใจได้ไม่ติดขัด ตัวไม่ซีดไม่เขียว
เราก็ใช้เปิดสลับกับถังออกซิเจนไปก่อน”
.
ในขณะที่เครื่องนั้นยังต้องเปิดใช้
ป้าของแต้วพยายามติดต่อหลายหน่วยงาน
พร้อมเจียดเงินมาเก็บสะสมไปเรื่อยๆ
เพื่อให้ได้เครื่องผลิตออกซิเจนเครื่องใหม่
ส่วนยายของแต้วยังเฝ้าดูแลอาการต่อไป
เพราะครอบครัวเชื่อว่าสักวันแต้วคงหาย
หรือถ้าไม่หายก็ขอทำให้ดีที่สุด

—————————————————

เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว ป้าของแต้วติดต่อมาขอยืมเครื่องผลิตออกซิเจน ป่วยให้ยืมจึงส่งเครื่องผลิตฯ 10 ลิตร 2 เครื่องให้ครอบครัวยืมใช้ แทนเครื่องเดิมที่ชำรุด
.
ล่าสุด สัปดาห์ที่ผ่านมา เครื่องผลิตฯ จากเรา อายุการใช้ครบ 2 เดือนพอดี ทีมงานจึงไปเยี่ยมหา พร้อมตรวจเช็คประสิทธิภาพของเครื่องอีกครั้ง ให้มั่นใจว่ารอบการใช้งานไม่สูงไป และยังสามารถผลิตออกซิเจนอย่างเหมาะสม ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยที่กำลังใช้งาน

—————————————————

สามารถติดต่อยืมอุปกรณ์การแพทย์ฟรี ได้ที่
เพจเฟซบุ๊ก โครงการป่วยให้ยืม
สอบถามเพิ่ม โทร. 092-252-5454
.

บริจาคทุนทรัพย์เพื่อสนับสนุนโครงการป่วยให้ยืม ได้ที่ บัญชีธนาคารยืมอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-269025-7 SCB

Share Button

นมกล่องที่ขาดไม่ได้ของน้องแนน

น้องแนน พิการทางกายและสติปัญญา
แต่ในความพิการซ้ำซ้อน
เธอได้รับความรัก การดูแลดั่งดวงใจ
จากสองตายายเป็นอย่างดี
.
ตายายของน้องแนนฐานะยากจน
รายได้ครอบครัว มาจากทางเดียว
คือยายเป็นพนักงานสังกัด กทม.
ส่วนตาคืออดีตคนขับรถ
ที่ถูกเลิกจ้างจากความชรา
.
คุณตาบอกกับทีมงานกระจกเงาว่า
หากไม่มียาย ตาและหลานคงต้องตายไปด้วย
.
เงินเดือนยาย แค่พอจ่ายค่าเช่าบ้านค่าน้ำไฟ
ค่ากินอยู่ และค่าเรียนของหลาน
แต่มันไม่เคยมีพอสำหรับเป็นค่าขนม
และเสริมนม ให้กับหลาน
.
ตาบอกว่า หลานตา ขาดอะไรก็ได้
แต่ขาดนมไม่ได้
น้องแนนติดการดูดนมจากขวด
ด้วยความพิการทางสติปัญญา
เธอจึงไม่สามารถรับรู้ หรือเข้าใจได้ว่า
ทำไมวันนี้ ไม่มีนมให้เธอ
.
ถึงจะลำบากยังไง ตาตั้งเป้าหมายไว้
ว่าต้องหานมให้หลานกินวันละ 2 กล่อง
ทุกวันหลังจากส่งหลานไปเรียน
คุณตาจึงเดินเก็บขวดตามถุงขยะไปขาย
ได้วันละ 20 – 30 บาท นั่นแหละ คือค่านม
.
ทีมงานอาสามาเยี่ยม ดูแลครอบครัวนี้
ส่งข้าวสาร อาหารแห้ง นมสำหรับน้อง
และสิ่งจำเป็นอื่นๆ ต่อเนื่องนาน 6 ปีแล้ว
.
และวันนี้ถือเป็นโอกาสพิเศษ
ที่เราได้รับนมจากโฟร์โมสต์มาล้านกล่อง
และแน่นอนว่าในจำนวนนั้น
มีโควต้าสำหรับน้องแนนอยู่ด้วยเช่นกัน
.
กระจกเงามีเด็กน้อย ต้องการนมอยู่อีกจำนวนมาก
นมหนึ่งล้านกล่อง นอกจากกระจายไปยังเด็กๆ เหล่านี้
ยังส่งต่อไปถึงองค์กรเครือข่ายทำงานทางสังคม
ที่ดูแลเด็กๆ ที่ต้องการนมเหล่านี้เช่นกัน
มีเด็กยากไร้ในชุมชน เด็กป่วย เด็กพิการ
เด็กกำพร้า เด็กในพื้นที่ห่างไกล ลูกหลานแรงงาน ฯลฯ
.
ขอขอบคุณ
บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า(ประเทศไทย)จำกัด (มหาชน)
และผู้บริจาคที่ร่วมโครงการ
“โฟร์โมสต์ส่งต่อรอยยิ้มให้เด็กไทยปี2”
มอบนมโฟร์โมสต์จำนวน 1 ล้านกล่อง
เพื่อให้มูลนิธิกระจกเงาส่งต่อถึงมือเด็กๆ
ที่ต้องการนม ทั่วประเทศ

Share Button

ระยะทาง 600 บาท ระหว่างผู้ป่วยตัวน้อยกับสุขภาพที่ดี

น้องกระต่ายอายุเพียง 3 ขวบ
แต่ใช้เวลามาแล้ว 1 ปี
ในการเดินทางมารักษาตัว
ด้วยโรคเรื้อรังที่โรงพยาบาล
.
น้องกระต่ายอาเจียนไม่ทราบสาเหตุ
วันละหลายรอบ
จนร่างกายไม่ตอบรับอาหาร
.
หมอตรวจร่างกาย ส่งตรวจชิ้นเนื้อ
ตรวจสารเคมีในสมอง
แต่ยังหาวิธีรักษาให้หายขาดไม่ได้
ทำได้ดีที่สุดคือรักษาตามอาการ
น้องจึงต้องมาโรงพยาบาลต่อเนื่อง
.
แม้การรักษาพยาบาล
จะใช้สิทธิบัตรทองไม่เสียเงิน
แต่ทุกครั้งที่มาโรงพยาบาล
แม่ ซึ่งเป็นลูกจ้างบริษัทเอกชน
ต้องหาเงินครั้งละ 600 บาท
เป็นค่าแท็กซี่พาน้องกระต่ายมาหาหมอ
.
โครงการโรงพยาบาลมีสุข มูลนิธิกระจกเงา
จึงสนับสนุนค่าเดินทางให้ครอบครัวนี้
และเรามีแผนสนับสนุนค่าเดินทาง
ให้ครอบครัวเด็กป่วยอีกจำนวน 10 ครอบครัว
.
เพราะค่าเดินทางที่สูง
เกินกว่ากำลังครอบครัวจะแบกรับ
มักเป็นสาเหตุต้นๆ
ที่ทำให้เด็กป่วยหลายคนตัดขาดจากการรักษา
.
ร่วมสนับสนุน ค่าเดินทางเพื่อเด็กป่วย
ได้ที่ บัญชีโครงการโรงพยาบาลมีสุข
เลขที่ 2022582860 ธ.ไทยพาณิชย์
.
หรือ สนับสนุนผ่านเว็บไซด์เทใจดอทคอม
https://taejai.com/th/d/seeadoctor/
(บริจาคผ่านเทใจสามารถลดหย่อนภาษีได้)

Share Button