3 ปีกับวงจรชีวิตอันไร้ที่สิ้นสุดของผู้ป่วยเร่รอน

เป็นผู้หญิงอายุราว 30 ปี ผู้คนแถวนั้นจะพบเห็นเธอเร่ร่อนอยู่ 3 พื้นที่ พื้นที่แรกคือเธอนั่งนอนอยู่ที่ศาลา พื้นที่ที่สองเข้าไปที่หลังชุมชน พื้นที่ที่สามเธอมักหายไปกับคนแปลกหน้า
.
3 ปีได้แล้วที่ชาวบ้านแถวนั้นพบเห็นเธอใช้ชีวิตอยู่ประมาณนี้
.
ที่ศาลาบางครั้งเธอนั่ง บางครั้งเธอนอน บางครั้งนั่งเหม่อ บางครั้งนั่งพูดคนเดียว และมีอยู่หลายครั้งที่เธอเกรี้ยวกราดเขวี้ยงปาข้าวของใส่ผู้คน มีครั้งหนึ่งที่ทำร้ายร่างกายคนในชุมชน และในหลายครั้งอีกเช่นกันที่เธอมักเล่นไฟแช็กและจุดเผากองขยะที่เธอเก็บสะสมมาเอง
.
อาการทางจิตเวชชัดเจน ชัดเจนตามเงื่อนไขอาการจิตเวชที่ต้องได้รับความช่วยเหลือตาม พรบ.สุขภาพจิต กล่าวคือ เธอมีทั้งภาวะความอันตรายต่อผู้อื่นและตัวเธอเอง และเธอมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการบำบัดรักษาเนื่องจากถ้าปล่อยไว้คุณภาพชีวิตของเธอจะเสื่อมทรุดลง
.
ตำรวจในฐานะของพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พรบ.สุขภาพจิตถูกแจ้งจากชาวบ้านอยู่บ่อยครั้ง แต่ทุกครั้งทำได้เพียงแค่มาไล่ให้ออกจากพื้นที่ไปในทุกครั้ง และเธอก็วนเวียนกลับมาในทุกครั้ง ตำรวจให้เหตุผลที่ทำได้เพียงเท่านี้เพราะเขาเคยนำส่งผู้ป่วยจิตเวชแบบเดียวกันนี้ไปยังโรงพยาบาล และโรงพยาบาลเองก็ปฏิเสธที่จะรับผู้ป่วยเข้ารับการรักษา โดยเงื่อนไขที่ตัวผู้ป่วยไม่มีญาติ (ที่จริงตามพรบ.สุขภาพจิตระบุไว้ชัดเจนว่าไม่ต้องมีญาติมาด้วยก็ได้) สุดท้ายตำรวจต้องเอาผู้ป่วยกลับมาในพื้นที่เดิม และเรื่องราวก็วนเป็นวงจรไม่รู้จบเช่นเดิม ทั้งเรื่องราวชีวิตของผู้ป่วยและเรื่องราวของการแก้ไขปัญหาผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อน
.
วันนี้ทางทีมผู้ป่วยข้างถนนประสานงานกับทางตำรวจเพื่อจะให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย แต่โชคร้ายที่เธอหายไปจากพื้นที่ได้ราวอาทิตย์กว่าแล้ว เราจึงไม่สามารถให้ความช่วยเหลือเธอได้ แต่เราสัญญาว่า ถ้าเธอกลับมาในพื้นที่เราจะดำเนินการอย่างเร่งด่วนในทันทีเพื่อที่จะยกเลิกวงจรชีวิตที่ผู้ป่วยต้องเผชิญอยู่อย่างไม่รู้วันที่จบสิ้นไปเสียที
———————————-
สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยข้างถนน ผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-58289-4 SCB
Share Button