ภารกิจช่วยเหลือผู้ป่วยสาวจิตเวชวัย 18

“เราใช้เวลา 20 ชั่วโมง ในการให้ความช่วยเหลือหญิงสาวอายุ 18 ปีคนนี้”
.
หลังจากที่มีการแจ้งมาทางเพจของมูลนิธิกระจกเงา แอดมินเพจที่ตื่นเช้ามาก ส่งข้อความมายังทีมงานโครงการผู้ป่วยข้างถนน โครงการที่ทำงานเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนในพื้นที่สาธารณะ แอดมินส่งข้อความมาตอนตี 5 ของวันศุกร์ที่ 19 แอดมินเพจระบุความเห็นว่าเราน่าจะต้องให้ความช่วยเหลือผู้หญิงคนดังกล่าว ทีมงานผู้ป่วยข้างถนนเมื่อดูคลิปนี้ในTikTok ก็ประเมินในเบื้องต้นว่า เธอน่าจะมีอาการจิตเวช จากพฤติกรรมที่ผิดปกติ รวมถึงเมื่อไล่ดูคอมเมนต์ก็พบว่ามีคนเห็นเธอในหลายที่ และเห็นเธอในพฤติกรรมที่ไม่ปกติ เราจึงเห็นตรงกันว่าควรให้ความช่วยเหลือ และเป็นการให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
.
ความต้องเร่งด่วนนั้นเกิดจากอายุที่น้อยมากของเธอ ความเป็นผู้หญิง พฤติกรรมที่เราประเมินว่าไม่น่าจะดูแลตัวเองได้ เสี่ยงอย่างมากต่ออันตรายต่างๆ
.
เพราะก่อนที่จะมีโครงการผู้ป่วยข้างถนนเกิดขึ้น ย้อนไป 10 กว่าปีก่อน แถวออฟฟิศของมูลนิธิกระจกเงา เราเคยเจอผู้หญิงสาวคนหนึ่งที่มีอาการจิตเวชชัดเจน เธอเดินตามท้องถนน ถอดเสื้อผ้าบ้าง ใส่เสื้อผ้าบ้าง เราเห็นเธออยู่ประมาณ 1 ปี แล้วมีวันหนึ่งในหน้า1ของหนังสือพิมพ์ เราพบว่ามีข่าวพาดหัวว่า มีผู้หญิงเร่ร่อนคนหนึ่งคลอดลูกที่ข้างถนน เรารู้ทันทีว่านั้นคือเธอที่เราได้เพียงแต่มองเห็นแต่ไม่ได้ทำอะไร จากวันนั้นมูลนิธิกระจกเงาจึงคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อป้องกันเรื่องแบบนี้ไม่ให้เกิดขึ้นกับใครอีก เราจึงมีโครงการผู้ป่วยข้างถนนขึ้นมาหลังจากนั้น
.
กลับมาที่เธอคนนี้ เราเริ่มประชุมกันเพื่อวางแผนในการให้ความช่วยเหลือ เราเริ่มต้นจากการประชาสัมพันธ์เพื่อขอรับข้อมูล พิกัดที่คนได้เจอเธอ ทางศูนย์ข้อมูลคนหายได้ทำการเช็กการแจ้งคนหาย แต่ก็ไม่พบว่ามีการแจ้งการหายเข้ามาแต่อย่างใด เมื่อได้พิกัดที่มีคนพบเห็นเธอ เราเริ่มต้นลงพื้นที่ เรากำหนดพื้นที่ไว้สามพื้นที่หลักๆ ตามการแจ้งที่มีมูลมากที่สุด แต่ในระหว่างการลงพื้นที่ที่สอง มีผู้แจ้งติดต่อเข้ามาว่าเขาพบเธอล่าสุดตอน 4 โมงเย็น เมื่อเช็กข้อมูลว่าใช่เธอแน่ๆ ทีมงานจึงลงพื้นที่เพื่อไปทำการติดตาม แต่ระหว่างทาง ทีมงานเช็กกับผู้แจ้งอีกครั้ง ผู้แจ้งๆ ว่าไม่พบเธอในพื้นที่เดิมอีกแล้ว
.
แต่ไม่นานเกินรอ มีผู้แจ้งอีกคน ที่บอกว่าเพิ่งพบเห็นเธอเมื่อสักครู่ ผู้แจ้งส่งภาพมาให้เราตรวจสอบ ปรากฏว่าเป็นเธอจริงๆ หลังจากนั้นเราจึงประสานไปทาง สน.จรเข้น้อย เพื่อให้ทางตำรวจส่งสายตรวจมาเพื่อตรวจสอบอีกครั้ง เมื่อตำรวจไปถึง พบว่าเธอกำลังขึ้นรถสองแถวไปแล้ว ขึ้นรถไปก่อนที่ทางทีมงานผู้ป่วยข้างถนนจะไปถึงไม่ถึงนาที สายตรวจจึงขับมอเตอร์ไซค์ตามและทำการดักรถสองแถวคันนั้น และไปทำการเชิญตัวเธอลงมา เธอไม่ขัดขืนอะไร หลังจากนั้นจึงประสานรถพยาบาลเพื่อนำส่งเธอไปยัง สถานบำบัดรักษาโดยทันที
.
เรามองดูนาฬิกาอีกครั้งเมื่อแพทย์รับเธอเป็นผู้ป่วยใน เป็นเวลาตี 1 ของอีกวัน
จากตี 5 ถึงตี 1 ของอีกวัน มันคือ 20 ชั่วโมง เป็นเวลาที่เราไม่อยากให้เกินไปกว่านั้น
20 ชั่วโมงที่พลังแห่งโลกออนไลน์แสดงตัวว่ามีอยู่จริง
เราน่าจะเชื่อเหมือนกันว่า “มนุษย์ไม่ควรตกอยู่ในชะตากรรมเช่นนี้”

———————————————-

แจ้งเมื่อพบผู้ป่วยข้างถนน หรือปรึกษาเมื่อพบปัญหาผู้ป่วยจิตเวชที่ไม่สามารถเข้าสู่การรักษามาได้ที่ เพจ โครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา
.
สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-2-58289-4 SCB

Share Button

ปัญหาที่ควรมีทางออก ผู้ป่วยจิตเวชข้างถนน

“ถึงผู้ว่าฯ ชัชชาติครับ” ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
.
ทางโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา อยากเริ่มเรื่องเพื่อปรึกษาท่านผู้ว่าฯ อย่างนี้ครับ คนที่อยู่ในภาพนี้เป็นผู้ป่วยจิตเวชที่ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ พื้นที่สาธารณะที่ว่าก็คือ ซอยตรอกศิลป์ ซอยนี้อยู่แถวศาลาว่าการกรุงเทพมหานครเลยครับ เราเลยนึกถึงท่านผู้ว่าชัชชาติขึ้นมา และเราคิดว่าท่านผู้ว่าฯ น่าจะสนใจต่อการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ครับ
.
ผู้ป่วยคนนี้ใช้ชีวิตมากว่า 10 ปีในซอยนั้น ในช่วงแรกที่มาอยู่ อาการทางจิตเวชนั้นยังไม่หนักหนามาก แต่มาในปีนี้อาการทางจิตเวชของเขาหนักหนามาก ในหนึ่งวันมีได้ถึง 3 อารมณ์ 3 พฤติกรรม ยิ้มคุยคนเดียวในช่วงเช้า มีอารมณ์โมโหเกรี้ยวกราดด่าทอคนผ่านไปมาในช่วงบ่าย ส่งเสียงดังเหมือนเสียงยิงปืนในยามค่ำคืน จุดพีคที่สุดคือการขับถ่ายเรี่ยราด
.
ผู้คนแถวนั้นเริ่มรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่โอเคแล้วกับพฤติกรรมในช่วงปีหลังของผู้ป่วย บางวันชุดเสื้อยืดกางเกงขาสั้นก็เปรอะเลอะเหม็นคลุ้งไปด้วยอุจจาระและปัสสาวะ ผู้คนแถวนั้นไม่รู้จะแจ้งใครดี เคยแจ้งหน่วยงานราชการก็แล้ว แต่ไม่มีความคืบหน้า แจ้งสก. แจ้งรายการทีวีดัง ก็ไม่มีการตอบสนองใดกลับมา พวกเขาเลยแจ้งมายังมูลนิธิกระจกเงา
.
วันนี้ทางทีมผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา จึงประสานงานกับตำรวจเพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชรายนี้เข้ารับการรักษาในสถานบำบัดรักษาเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งจริงๆ แล้วการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนในพื้นที่สาธารณะนั้นนับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายดายเลย มันมีปัญหาทุกกระบวนการ ทั้งการให้ความช่วยเหลือ การรักษา การฟื้นฟูและนั้นจึงเป็นสาเหตุให้ได้พบเห็นผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนอยู่ในพื้นที่สาธารณะเกือบทุกหนทุกแห่ง
.
เราเลยอยากขอปรึกษาผู้ว่าฯ ชัชชาติแบบนี้ครับ กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ที่พบว่ามีผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนแบบนี้อยู่มาก ส่วนใหญ่ไม่มีความอันตรายแต่ก็มีคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่อย่างที่สุด แต่มีอยู่ส่วนหนึ่งที่มีความอันตราย ทำร้ายร่างกาย ทำลายข้าวของ ซึ่งหลายเคสนั้นเป็นข่าวดัง คำถามก็คือทำไมเราจึงพบว่ามีผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนในพื้นที่สาธารณะมากเหลือเกิน และในแต่ละเคสก็ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะอย่างยาวนานเหลือเกิน ยาวนานจนคุณภาพชีวิตพัง สมองพัง
.
คำตอบก็คือ ระบบการพาพวกเขาเข้าสู่การดูแลรักษาตลอดจนการให้การฟื้นฟูประคับประคองนั้นก็ผุพังเช่นกัน สมมุติว่าถ้ามีใครสักคนหนึ่งแจ้งหน่วยงานรัฐต่างๆ เพื่อบอกว่าให้มาเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชคนนั้น หลายๆหน่วยงานนั้นก็จะบอกว่า เขาทำไม่ได้ เขาไม่มีหน้าที่ หลายๆหน่วยงานอาจมาทำหน้าที่ แต่ก็ทำได้เพียงแค่มาดู ทำได้แค่มาไล่ แต่ไม่สามารถทำการให้ความช่วยเหลือได้ ช่วยเหลือในสถานะของ “ผู้ป่วย”
.
ในบางครั้งหน่วยงานนั้นอาจให้ความช่วยเหลือ แต่ปัญหาในหลายครั้งที่พวกเขาเจอก็คือ หน่วยงานบำบัดรักษานั้น บอกว่าไม่สามารถรับได้ ด้วยเหตุผลว่า ผู้ป่วยไม่มีญาติ หรือ ไม่ได้รับเป็นผู้ป่วยใน แต่เป็นการจ่ายยาแล้วให้ผู้ป่วยกลับไปกินยาและเร่ร่อนในพื้นที่สาธารณะตามเดิม การช่วยเหลือนำส่งผู้ป่วยจิตเวชจึงเป็นเรื่องยาก ใช้พลังงานสูง หลายหน่วยงานจึงไม่ทำ และยังไม่นับรวมว่า หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยนั้นคือตำรวจ ซึ่งผู้ป่วยต้องถูกใส่กุญแจมือ ให้นั่งอยู่กระบะท้ายของรถปิคอัพ ทั้งๆ ที่คนคนนั้นมีสถานะที่เรียกว่า “ผู้ป่วย”
.
ถ้าถามคำถามว่า ทำไมสถานบำบัดรักษาจึงตั้งเงื่อนไขไม่อยากรับผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนเข้าสู่การรักษาในระบบผู้ป่วยใน คำตอบลัดสั้นก็คือ ผู้ป่วยในระบบของสถานบำบัดรักษาเอง เขาก็อัดแน่นจนรับมือแทบจะไม่ไหวแล้ว มีผู้ป่วยหลายรายที่อยู่ในสถานะสิ้นสุดการรักษาแล้วแต่ไม่สามารถจะออกไปจากสถานบำบัดรักษาได้ เนื่องจากไม่สามารถกลับบ้านกลับครอบครัวได้ กลับไม่ได้ยังไม่เท่าไหร่ แต่ไม่สามารถจะไปสู่กระบวนการฟื้นฟูในรูปแบบของสถานสงเคราะห์ของรัฐ (ดูแลโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ) ได้ ผู้ป่วยในจึงสะสมจนล้นระบบ คนเก่าไปไม่ได้ คนใหม่เข้ามาเติม
.
เช่นกันถ้าถามคำถามว่า ทำไมสถานสงเคราะห์ของรัฐจึงไม่สามารถรับผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนที่สิ้นสุดการรักษาจากสถานบำบัดรักษาได้นั้น คำตอบเดียวกันคือสถานสงเคราะห์เหล่านั้นก็อยู่ในสภาพของคนที่เข้ารับการสงเคราะห์ในสถานสงเคราะห์นั้น เป็นสภาพคนล้นระบบเช่นกัน ระบายคนออกไม่ได้ คนใหม่ก็เติมเข้ามา จนวันหนึ่งคนล้นระบบสถานสงเคราะห์ที่มีอยู่ทั้งหมดเป็นที่เรียบร้อย(สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งทั่วประเทศมี11แห่ง สถานสงเคราะห์ที่ดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่สิ้นสุดการรักษาแล้วแต่ไม่สามารถกลับบ้านได้นั้นมี2แห่งทั่วประเทศ)
.
ปัญหาผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนในพื้นที่สาธารณะนั้น เป็นปัญหาที่เรื้อรังมายาวนาน และดูเหมือนว่าปัญหานี้จะเพิ่มขนาดขึ้นอย่างมากในอนาคต ด้วยเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหานั้นยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด ทั้งในเชิงระบบช่วยเหลือดูแลรักษาฟื้นฟูที่ได้เล่าไป ทั้งในการคาดคะเนจากตัวเลขของกลุ่มผู้ป่วยจิตเภท ตามตัวเลขที่จิตแพทย์มักใช้อ้างอิงก็คือ ผู้ป่วยจิตเภทจะคิดเป็น 1% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และผู้ป่วยจิตเภทที่มีอาการเรื้อรังมีปัญหาในการดำรงชีวิตนั้นก็คิดเป็น 1% ของผู้ป่วยจิตเภททั้งหมด
.
โครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา ในฐานะกลุ่มคน องค์กรที่ดำเนินการในการแก้ไขปัญหาเรื่องผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนในพื้นที่สาธารณะมาเป็น 10 ปี และพยายามแก้ปัญหาเท่าที่ศักยภาพในด้านต่างๆเรามีพอที่จะทำให้เกิดรูปธรรมการแก้ไขปัญหานี้ เราจึงอยากขอปรึกษาผู้ว่าฯชัชชาติผ่านโพสต์นี้ เพื่อร่วมหาทางออกในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ เพื่อที่ว่าผู้ป่วยจิตเวชที่เร่ร่อนอยู่ในพื้นที่สาธารณะนั้นจะได้เข้ารับการรักษาฟื้นฟู ได้เข้าสู่การปรับปรุงคุณภาพชีวิต จนสามารถออกมาใช้ชีวิตโดยตัวพวกเขาเองได้ และเราจะได้มองหาทางป้องกันเพื่อลดการเกิดขึ้นของกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนให้ได้มากที่สุด ถ้ามีเกิดขึ้นก็ช่วยเขาได้ทันเวลา รวดเร็วมีคุณภาพ ตรงตามสถานะความเป็น “ผู้ป่วย” ของพวกเขา
.
ปัญหานี้มีทางออก ทางแก้ไขอย่างแน่นอน เราเองมองเห็นหนทางนั้นแล้ว เราเองอยากจะนำเสนอเรื่องนี้เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกัน โครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา หวังอย่างยิ่งว่า ท่านจะเปิดการรับฟังปัญหานี้อย่างเป็นทางการ และทำการแก้ไขปัญหานี้ร่วมกันครับ

Share Button

สะท้อนปัญหาของรัฐผ่านวงจรชีวิต “ผู้ป่วยจิตเวช”

10 กว่ารอบได้แล้ว ที่เคสนี้วนเวียน​เข้าออกระหว่างข้างถนนและโรงพยาบาล​จิตเวช
.
10 กว่าเหตุ ที่เคสนี้ก่อขึ้นและตำรวจต้องมาควบคุม​ตัวนำส่งโรงพยาบาล
.
เหตุที่เคสนี้ก่อขึ้น​ มีตั้งแต่สร้างความวุ่นวาย​ เช่น​ ตะโกน​โวยวาย​ ด่าว่าผู้คน​ ทำลายข้าวของทั้งสาธารณะ​และของเอกชน​ เดินกลางถนน​ กระโจนเข้าหารถ​ อึฉี่กลางพื้นที่สาธารณะ​ ล่าสุดคือกระโดด​ไปหน้ารถพยาบาล​และไปหักที่ปัดน้ำฝนของรถ​
.
จากข่าวเคสนี้รับการรักษา​อยู่ที่โรงพยาบาล​จิตเวช​ และตำรวจ​ สภ.ที่คุ้นเคย​กับการนำส่งเคสไปโรงพยาบาล​ ก็ยังออกปากออกมาว่า​ “รักษา​แล้วเดี๋ยวก็กลับมาวุ่นวายที่ข้างถนนอีก​เหมือนเดิม อีกทั้งทาง รพ. ไม่มีแผนกับเคสนี้อย่างชัดเจน​ ด้วยเป็นเคสเร่ร่อน ไม่มีญาติ ทำให้ต้องเกิดการนำส่งแบบนี้อยู่หลายครั้งเลย “ออกมาอีกพวกผมก็เอาตัวเข้าโรงพยาบาล​ซ้ำอีกนั่นแหละ​”
.
ตามเนื้อหาข่าว​ เคสนี้เกิดเหตุ​ขึ้นที่​ อ.หาดใหญ่​ จ.สงขลา​ เราได้มีโอกาส​พูดคุยกับตำรวจที่รับผิดชอบในการนำส่งเคสเข้าโรงพยาบาล​ ตำรวจให้ข้อมูล​ว่า​ การวนเวียน​เข้าออกระหว่างข้างถนนกับโรงพยาบาล​ของเคสนับ 10 ครั้งได้นั้น​ เกิดขึ้นในช่วงเวลา 3-4 เดือนของปี​ 2565 นี้เอง​
.
ก่อความวุ่นวาย​ –> นำส่งรักษา​–> รักษา ​–> ออกจากรพ. –> เร่ร่อน –> ก่อความวุ่นวาย –>
.
ถามว่าจะทำอย่างไรที่จะตัดวงจรนี้ได้​ ขั้นตอนสำคัญ​ที่ต้องทำให้ได้นั่นคือ​ หลังจากที่สิ้นสุดการรักษา​การนำเข้าสู่ระบบ​การฟื้นฟูจึงสำคัญ​ เป็นความสำคัญ​ แต่ก็ไม่ถูกให้ความสำคัญ​สักเท่าไหร่จากรัฐ​
.
รัฐไม่ให้ความสำคัญ​อย่างไร​บ้าง​ สถานฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวช​โดยตรงที่เป็นของรัฐมีอยู่ 2 แห่งเท่านั้นทั้งประเทศ​ คือสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านกึ่งวิถีชาย, หญิง​ ซึ่งคนเต็มแน่นรอคิวเข้านับร้อยคิว​ สถานที่ฟื้นฟูที่รองลงมาคือ​ สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง​ มีทั้งหมด 11 แห่งทั่วประเทศ​ แต่ปัญหาร่วมของสถานสงเคราะห์​ทั้ง 11 แห่งนี้คือ​ ไม่มีกระบวนการดูแลผู้ป่วยจิตเวช​อย่างเป็นระบบ​ ในหลายสถานฯ​ ไม่มีนักจิตวิทยา​อยู่สักคนเดียว​ ซ้ำร้ายทุกที่ทุกแห่งอยู่ในสภาพที่คนรับบริการล้นแน่นระบบการดูแลฟื้นฟูไปหมดแล้ว​
.
เรามี​ข้อมูลอยู่​ว่า​ มีเคสในลักษณะเดียวกัน​นี้อยู่ไม่น้อย​ ใช้ชีวิต​เร่ร่อนด้วยอาการ​จิตเวช​อยู่ที่ข้างถนน​ และวนเวียนเข้าออกระหว่างข้างถนนกับโรงพยาบาล​จิตเวช​เหมือนกับเคสนี้​
.
ประเด็นสำคัญ​ของบทความนี้คือ​ การจะตัดวงจรของผู้ป่วยจิตเวช​ที่สลับเข้าออกระหว่างข้างถนนกับโรงพยาบาล​จิตเวช​ได้นั้น​ กลไกสำคัญ​คือระบบการฟื้นฟู​ ซึ่งเราคิดว่ารัฐต้องให้ความสำคัญ​ที่มากกว่า​ที่เห็นและเป็นอยู่อย่างมากมายนัก

โครงการ​ผู้ป่ว​ยข้าง​ถนน​ มูลนิธิ​กระจกเงา​
Cr.ข่าวสด
รายละเอียด​ข่าว : https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_7113583

Share Button

การเดินทางของคนหายสู่ศพนิรนามที่ทราบชื่อ

กัง เป็นชายพิการทางสมอง
เขาใช้ชีวิตอยู่ที่จังหวัดสงขลา
เขาชอบจากบ้านไปในตอนเช้า
และกลับบ้านมาในตอนเย็น
บางครั้งเขาเดินไปท่าเรือประมง
ช่วยงานพอได้ค่าขนม ได้ปลากลับบ้าน
.
วันหนึ่งเขาเดินออกจากบ้านเหมือนทุกวัน
แต่เขาไม่กลับมาอีกเลย
ครอบครัวและญาติตระเวนตามหา
ไปดูตามโรงพัก โรงพยาบาล
และสถานสงเคราะห์ในพื้นที่ ก็ไม่พบ
.
จน 5 ปีผ่านไป
เมื่อกลางเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา
สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม
ติดต่อมาที่มูลนิธิกระจกเงา
แจ้งว่ามีศพนิรนาม ศพหนึ่ง คล้ายกัง
ถูกส่งมาจากสถานสงเคราะห์ที่นนทบุรี
เพื่อชันสูตร ตั้งแต่ต้นปี 2561
แต่ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าเป็นใคร
.
กระทั่งตอนนี้
มีกระบวนการนำลายนิ้วมือศพนิรนาม
ไปตรวจเทียบกับฐานข้อมูลกรมการปกครอง
จึงทำให้ทราบว่า ชายเร่ร่อน
ที่กลายเป็นศพนิรนามไม่ทราบชื่อ
เขา คือ กัง ที่ญาติตามหามานานกว่า 5 ปี
.
วันนี้กัง จะได้เดินทางไกล
เพื่อกลับบ้านที่สงขลา
จากคนหายไม่ทราบสถานะ
จนเป็นศพนิรนาม ที่ทราบชื่อนามสกุลแล้ว
.
ขอแสดงความชื่นชม
สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม
ที่ใช้ความรู้ ความสามารถของหน่วยงาน
พิสูจน์จนทราบว่า ผู้ตายเป็นใคร
และกัง ได้กลับบ้านอีกครั้ง.

Share Button

ช่วยผู้ป่วยเร่ร่อนได้อีกราย เธอไม่ต้องคุยกับหุ่นลมอีกแล้ว

เธออยู่แถวรัชดา ผู้แจ้งให้ข้อมูลว่าเธอพูดคนเดียวเป็นภาษาจีน ใช้ชีวิตนั่งนอนที่ข้างถนน พบเจอน่าจะร่วมอาทิตย์ได้แล้ว แต่ผมของเธอเหมือนอยู่ข้างถนนมาได้เนิ่นนานมากกว่านั้น
.
บางคืนวันเธอนั่งคุยกับหุ่นลมของปั๊มน้ำมันด้วยภาษาจีน
.
รัชดามีนักท่องเที่ยวจีน แตกต่างตรงที่เธอท่องเที่ยวไปในโลกของเธอกับเพื่อนเธอในจินตนาการ
.
การท่องเที่ยวของไทยเปิดรับดูแลคนจีน
การสาธารณสุขไทยก็ยังคงเปิดรับ
ดูแลนักท่องเที่ยวจีนในบางราย
.
เธอได้รับความช่วยเหลือเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
.
ขอบคุณเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ห้วยขวาง ที่ช่วยเหลือนำส่งเธอตามพรบ.สุขภาพจิต
ขอบคุณสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยาที่รับเธอเข้ารับการบำบัดรักษาเป็นที่เรียบร้อย

—————————————

สนับสนุน​การให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนได้ที่​
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-58289-4 SCB

Share Button

นมกล่องที่ขาดไม่ได้ของน้องแนน

น้องแนน พิการทางกายและสติปัญญา
แต่ในความพิการซ้ำซ้อน
เธอได้รับความรัก การดูแลดั่งดวงใจ
จากสองตายายเป็นอย่างดี
.
ตายายของน้องแนนฐานะยากจน
รายได้ครอบครัว มาจากทางเดียว
คือยายเป็นพนักงานสังกัด กทม.
ส่วนตาคืออดีตคนขับรถ
ที่ถูกเลิกจ้างจากความชรา
.
คุณตาบอกกับทีมงานกระจกเงาว่า
หากไม่มียาย ตาและหลานคงต้องตายไปด้วย
.
เงินเดือนยาย แค่พอจ่ายค่าเช่าบ้านค่าน้ำไฟ
ค่ากินอยู่ และค่าเรียนของหลาน
แต่มันไม่เคยมีพอสำหรับเป็นค่าขนม
และเสริมนม ให้กับหลาน
.
ตาบอกว่า หลานตา ขาดอะไรก็ได้
แต่ขาดนมไม่ได้
น้องแนนติดการดูดนมจากขวด
ด้วยความพิการทางสติปัญญา
เธอจึงไม่สามารถรับรู้ หรือเข้าใจได้ว่า
ทำไมวันนี้ ไม่มีนมให้เธอ
.
ถึงจะลำบากยังไง ตาตั้งเป้าหมายไว้
ว่าต้องหานมให้หลานกินวันละ 2 กล่อง
ทุกวันหลังจากส่งหลานไปเรียน
คุณตาจึงเดินเก็บขวดตามถุงขยะไปขาย
ได้วันละ 20 – 30 บาท นั่นแหละ คือค่านม
.
ทีมงานอาสามาเยี่ยม ดูแลครอบครัวนี้
ส่งข้าวสาร อาหารแห้ง นมสำหรับน้อง
และสิ่งจำเป็นอื่นๆ ต่อเนื่องนาน 6 ปีแล้ว
.
และวันนี้ถือเป็นโอกาสพิเศษ
ที่เราได้รับนมจากโฟร์โมสต์มาล้านกล่อง
และแน่นอนว่าในจำนวนนั้น
มีโควต้าสำหรับน้องแนนอยู่ด้วยเช่นกัน
.
กระจกเงามีเด็กน้อย ต้องการนมอยู่อีกจำนวนมาก
นมหนึ่งล้านกล่อง นอกจากกระจายไปยังเด็กๆ เหล่านี้
ยังส่งต่อไปถึงองค์กรเครือข่ายทำงานทางสังคม
ที่ดูแลเด็กๆ ที่ต้องการนมเหล่านี้เช่นกัน
มีเด็กยากไร้ในชุมชน เด็กป่วย เด็กพิการ
เด็กกำพร้า เด็กในพื้นที่ห่างไกล ลูกหลานแรงงาน ฯลฯ
.
ขอขอบคุณ
บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า(ประเทศไทย)จำกัด (มหาชน)
และผู้บริจาคที่ร่วมโครงการ
“โฟร์โมสต์ส่งต่อรอยยิ้มให้เด็กไทยปี2”
มอบนมโฟร์โมสต์จำนวน 1 ล้านกล่อง
เพื่อให้มูลนิธิกระจกเงาส่งต่อถึงมือเด็กๆ
ที่ต้องการนม ทั่วประเทศ

Share Button

รักริมถนน: เรื่องเล่าของชายหนุ่มที่พาแฟนมาอาบน้ำ

ในวันที่เราเปิดให้บริการ ซักผ้า อบผ้า และอาบน้ำให้กับคนไร้บ้านที่อยู่ในพื้นที่แถวราชดำเนิน เรามักพบกับชายคนนึงกำลังเข็นรถเข็นอย่างช้าๆ บนรถเข็นพบผู้หญิงคนนึง รูปร่างเธอบอกได้ว่าร่างกายไม่แข็งแรง ทั้งสองคนเป็นคู่รักกัน ทั้งคู่เป็นคนไร้บ้าน ทั้งคู่มักตรงดิ่งมาเพื่อใช้บริการ อาบน้ำ และซักอบผ้า
.
ชายหนุ่มนั้นวัยเกือบ50ปี ตกงานมาได้เป็นปีแล้ว เขารับจ้างทาสี แต่หลังๆ มานี้งานไม่มีให้ได้ไปทำ ส่วนหญิงสาวนั้นอายุยังอยู่ในวัย 40 ต้นๆ
.
ชายหนุ่มพาแฟนสาวมาอาบน้ำ เขามักบอกว่าแฟนอยากอาบน้ำเลยพามา เมื่อแฟนอาบเสร็จเขาจะอาบเป็นคิวถัดไป ระหว่างนั้นเสื้อผ้าของทั้งคู่ก็อยู่ในเครื่องซักผ้าและเครื่องอบผ้าเป็นที่เรียบร้อย
.
ระหว่างรอเวลาซักและอบผ้าประมาณ 1 ชั่วโมงได้ ชายหนุ่มเล่าถึงการโคจรมาพบกันของตัวเขาและแฟนสาว
.
เขาเล่าว่า เขานั้นออกมาไร้บ้านได้สักพักใหญ่แล้วและเมื่อเขาเลือกมานอนที่ถนนราชดำเนิน เขาพบเธอที่นั่น เขาบอกเมื่อเขาเห็นเธอ เขารู้สึกสงสารทั้งจากความพิการ ความเป็นผู้หญิงและไหนจะต้องมาใช้ชีวิตไร้บ้านเข้าไปอีก เขาจึงเอ่ยปากบอกว่าเขาจะดูแลเธอเอง นับแต่นั้นต้นรักก็เติบโต
.
เมื่อเราซักถามต่อไปว่า หญิงสาวได้ทำบัตรคนพิการแล้วหรือไม่ ชายหนุ่มตอบว่ายัง หญิงสาวซึ่งแม้นั่งรถเข็นอยู่ก็ตอบแทรกขึ้นมาว่า แค่ลูกสะบ้าหลุดเองยังไม่ได้พิการ แต่เมื่อถามว่าอยู่ในสภาพเดินไม่คล่องต้องใช้รถเข็นนั้นนานเท่าไหนแล้ว ชายหนุ่มตอบแทนขึ้นมาว่า ก็อยู่สภาพแบบนี้เป็นปีแล้วนะตั้งแต่ผมเจอเขา
.
ชายหนุ่มเปรยขึ้นว่า ผมอยากทำงาน แต่ติดตอนที่ผมไปทำงานไม่รู้จะให้แฟนไปอยู่ที่ไหน
.
ในเรื่องงาน เราตอบว่างั้นก็มาสมัครทำงานกับจ้างวานข้าได้เลย เขาพยักหน้าเชิงตอบรับ แต่ก็บอกแบ่งรับแบ่งสู้มาว่า เดี๋ยวผมขอดูก่อนว่าจะพาแฟนไปอยู่ที่ไหน พอจะฝากเพื่อนได้หรือเปล่า และวันนัดหมายนั้นเขาก็ไม่ได้มาตามที่นัดหมายไว้
.
แต่วันอังคารและวันศุกร์นี้ รถซักอบอาบ จะเปิดให้บริการอีกครั้ง เราน่าจะได้พบเขาและแฟน เราตั้งใจจะสอบถามเขาอีกครั้งในเรื่องงาน แล้วดูว่าเขาติดเงื่อนไขอะไรที่ทำให้มาทำงานไม่ได้ เพื่อเราจะได้ช่วยกันกำจัดเงื่อนไขนั้นให้หมดไป รวมถึงเรื่องการได้มาซึ่งการเข้าถึงสิทธิคนพิการของหญิงสาวที่เธอควรจะได้รับ
.
มูลนิธิกระจกเงา x Otteri x กรุงเทพมหานคร

____________________

เรามีจุดบริการ ซักผ้าอบผ้าและห้องอาบน้ำให้คนไร้บ้าน รวมถึงสิ่งอื่นๆ ที่จะนำไปสู่การให้กลุ่มคนไร้บ้านสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการเปิดเป็นช่องทางในการให้คนไร้บ้านได้เข้ามาเพื่อการแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และที่สำคัญคือการเข้าถึงงานที่มีรายได้มั่นคงต่อเนื่อง และเราเรียกสิ่งนี้ว่า “สดชื่นสถาน” ซึ่งมันไม่ใช่ความสดชื่นแค่จากการอาบน้ำใส่เสื้อผ้าใหม่ แต่มันรวมถึงความสดชื่นที่มาจากชีวิตที่ดีขึ้น
.
เรากำลังจะเปิดวันให้บริการคนไร้บ้านเพิ่มเติม จากที่เราเปิดแค่ในวันศุกร์ เรากำลังจะเปิดให้บริการเพิ่มในวันอังคารอีก 1 วัน และเรามีแนวโน้มที่จะเปิดให้บริการทุกวัน เนื่องจากเราได้พูดคุยขอให้ทางกรุงเทพมหานครสนับสนุนพื้นที่ถาวรให้ เพื่อที่จะให้เราสามารถให้บริการนี้ได้อย่างเป็นระบบระเบียบมากขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อให้คนไร้บ้านได้เข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านสภาพชีวิตจากคนไร้บ้าน ไปสู่คนมีบ้านให้ได้จำนวนมากเท่าที่จะมากได้
.
สนับสนุนการให้บริการสวัสดิการกับกลุ่มคนไร้บ้านในนาม “สดชื่นสถาน” ได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-2-58289-4 SCB

Share Button

สร้างพื้นที่ เพื่อชีวิตผู้ป้วยจิตเภท

“ว่าด้วยการสร้างพื้นที่”
.
เมื่อวานเป็นวันสุขภาพ​จิตโลก​ เราชวนอแมนด้า​(อดีต​มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์และเธอสนใจเรื่องสุขภาพ​จิตอย่างต่อเนื่อง​)​ ไปเยี่ยมเยียนผู้ป่วย​จิตเวช​ในโซเชียลวอร์ดที่อยู่ในการดูแลของสถาบันจิตเวชศาสตร์​สมเด็จเจ้าพระยา
.
โซเชียลวอร์ด​ คืออะไร​ พูดแบบสรุปคือพื้นที่​ ที่มีไว้เพื่อการฝึกทักษะ​ของผู้ป่วยจิตเวช​ (โดยเฉพาะเรื่องโรคจิตเภท)​ให้สามารถออกไปใช้ชีวิตอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างราบรื่น​ที่สุด​
.
คำถามว่า​ ทำไมต้องฝึกทักษะ​ทางสังคมกันใหม่​ เพราะเนื่องจากผู้ป่วยจิตเวชหลายราย เมื่อป่วย​เป็นโรคจิตเภท​ ตัวโรคมันทำให้ฟังก์ชันหลายอย่างในการใช้ชีวิตมันถูกทำลายไปด้วย​ ส่วนมากฟังก์ชันที่เสียหาย​ เป็นเรื่องความจำ​ ระบบความคิด​ ซึ่งเป็นฟังก์ชันสำคัญ​ของการดำรงชีวิต​ เมื่อพังจึงต้องสร้างขึ้นใหม่
.
คำถามว่า​ ทำไมเราถึงเลือกไปเยี่ยมเยียนที่นี่​ นั่นเป็นเพราะที่นี่​ กำลังมีการทำงานร่วมกันกับทางมูลนิธิ​กระจกเงา​ พูดแบบย่นย่อก็คือเรากำลังทำงานร่วมกัน​ โดยให้ผู้ป่วยจิตเวช​ได้เข้ามาทำงานในระบบงานของจ้างวานข้า​ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถฝึกฝนทักษะจนสามารถ​ออกมาใช้ชีวิตด้วยตัวเองได้​ โดยมีงานทำมีรายได้แน่นอน
.
ที่สำคั​ญคือ​ ผู้ป่วยจิตเภทเรื้อรังส่วนใหญ่จะถูกปฏิเสธ​จากระบบการจ้างงาน​ ไม่มีใครต้องการ รวมถึงครอบครัว​ของผู้ป่วยเองด้วย​ เราผู้ที่เห็นปัญหา​นี้มาโดยตลอด​ จึงคิดว่าเราจะเป็นพื้นที่​ที่ใช้ไว้รองรับกลุ่มคนที่ถูกปฏิเสธ​จากระบบการจ้างงานในกระแสหลัก เพื่อให้คนอย่างพวกเขาได้มีที่ทางในการยืนได้อย่างแข็งแรงมั่นคงในสังคมนี้
.
ยกตัวอย่างชายหนุ่มที่ผ่านประสบการณ์​ก​ารใช้ยาเสพติด​มาอย่างโชกโชน​ โชกโชนจนมันทำให้เขาป่วยเป็นโรคจิตเภท​เรื้อรัง​ ซึ่งมันทำลายการใช้ชีวิตเขาไปอยู่หลายปี​ ชายหนุ่มที่อายุยังอยู่ในวัย 30 ต้นๆ มีทักษะ​ในการวาดภาพ​ แต่ไม่สามารถงัดออกมาใช้ได้หลายปี​ แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการ​การฟื้นฟูทักษะ​หลังจากได้รับการบำบัด​รักษา​แล้ว​ เขาก็สามารถฉายแสงความสามารถที่เขามีออกมาได้เช่นวันเก่าก่อน
.
เราจึงคิดว่า​ การมีพื้นที่ให้ผู้ป่วยจิตเวช​ได้มีพื้นที่ในการพัฒนาทักษะ​การใช้ชีวิต​ มีพื้นที่ทดลองใช้ชีวิต​ จนสามารถกลับคืนสู่การใช้ชีวิตด้วยตัวเขาเองอย่างแข็งแรง​ อย่างยืนเหยียดตรงอีกครั้งในสังคมที่เขาสังกัดอยู่​ เป็นความจำเป็นอย่างที่สุด​ ที่ควรถูกตระเตรียมไว้ให้กับพวกเขา

__________________

สามารถสนับสนุนการสร้างพื้นที่สร้างเสริมประสบการณ์​ชีวิตให้กับกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-2-58289-4 SCB

Share Button

คำสัญญาของคุณตาที่ตามหาน้องชายมาตลอด 3 ปี

หลังความตายของพ่อกับแม่
คุณตาอายุ 74 ปีซึ่งเป็นพี่ชายคนโต
ถูกฝากฝังให้ดูแลน้องชายคนสุดท้อง
ทุกวันคุณตาและภรรยารวมทั้งญาติๆ
จะเตรียมข้าวให้น้องไว้กินระหว่างวัน
เตรียมเงินไว้ให้เดินไปซื้อของกินเล่น
.
น้องชายคนสุดท้องชื่อ พรม
เขาอายุห้าสิบกว่าปีแล้ว
แต่เขาไม่รู้จักชื่อตัวเอง
เขาเป็นคนพิการทางสติปัญญา
เขาจะคุ้นชื่อที่ทุกคนเรียกว่า “อ่อน”
.
เขามักเดินไปเล่นแถวบ้าน
ตกเย็นเขาจะเดินกลับมาเอง
หมู่บ้านเขาชื่อ “คลองปลาโด”
แต่ถ้ามีใครถามว่าบ้านอยู่ไหน
เขาจะตอบได้เพียง “อยู่โด”
.
เขาเดินหายจากบ้านไป 3 ปีแล้ว
ไม่กลับมาอีกเลย
พี่ชายและญาติออกตามหาจนทั่ว
แต่ไม่พบเบาะแสของเขา
.
สัปดาห์ก่อนเรานัดคุณตาที่โรงพัก
คุณตามาผิดเวลาเกือบชั่วโมง
หลังจอดรถสามล้อเครื่อง
คุณตาเดินขากะเผลกมาหน้าอาคาร
ถอดรองเท้าแล้วเดินขึ้นบันได
ตาบอกว่าที่มาช้าเพราะตอนเช้า
ที่บ้านกำลังไปปลูกมันสำปะหลังกัน
.
เราพาคุณตามาเก็บดีเอ็นเอ
เพื่อเทียบกับศพนิรนาม
ครอบครัวเคยทำบุญแจกข้าว
เขียนชื่อของ พรม ลงในถุงข้าว
หวังให้เขาได้รับบุญกุศลบ้าง
คุณตาบอกว่าไม่รู้จะตามหาที่ไหน
และยังจำคำที่พ่อแม่ฝากฝังไว้ว่า
“อย่าทิ้งมันนะ”
————————————————————-
สถานการณ์คนหายปัจจุบัน ผู้ป่วยจิตเวชและพิการทางสมองหายออกจากบ้านเป็นจำนวนมาก มีแนวโน้มว่าคนกลุ่มนี้จะเร่ร่อนตามข้างถนน ซึ่งกลายเป็นคนนิรนามในสถานสงเคราะห์หรือกลายเป็นศพนิรนามจากอุบัติเหตุหรือจากการโดนทำร้าย จึงควรมีการเก็บดีเอ็นเอญาติคนหาย เพื่อเทียบกับศพนิรนาม
—————————————————————
สนับสนุน การพาคนหายกลับบ้าน
บัญชีโครงการศูนย์ข้อมูลคนหาย โดยมูลนิธิกระจกเงา
SCB 202-258-288-6
Share Button

ช่วยผู้ป่วยจิตเวชอีกราย นำส่งโรงพยาบาลได้แม้ไร้ญาติ

“จะไม่กลับมาอีกเหรอ​ มีคนเอาไปโรงพยาบาล​ 2 รอบแล้ว​ ไปเสร็จไม่เกินเดือนสองเดือนก็กลับมาอีก”
.
เราตอบไปว่า จริงๆ แล้วผู้ป่วยจิตเวช​ระดับรุนแรง​แบบนี้​ ฟังชั่นเสียหมดแล้ว​ เขาต้องถูกส่งไปสถานสงเคราะห์​หลังสิ้นสุดการรักษา​ แต่ที่ผ่านมาทางรพ.น่าจะไม่ดูเรื่องนี้​ เลยถูกส่งกลับมา ทั้งๆ ที่ดูแลตัวเองไม่ได้และไม่มีผู้ดูแล
.
“เขาเป็นคนแถวนี้แหละ​ เกิดโตแถวนี้​ แต่ก็ดมกาวตั้งแต่เด็ก​พอนานไปก็หลุดเลย”
ใช่ครับยาเสพติด​ สารระเหย​ ก่อผลให้เกิดโรคจิตเวชได้​ ผู้ป่วยในหวอดจิตเวช​ตอนนี้ส่วนมากเกิดจากการใช้สารเสพติด
.
“เดินหน้าสองก้าว​ ถอยหลังสองก้าว​ ลองดูสิเขาไม่ใส่กางเกง​เลย​ ผู้หญิงผ่านไปมาก็กลัว​ บางทีก็มีท่าทีเดินเข้าหาผู้หญิง”
.
ไม่ใช่แค่อันตรายต่อคนอื่นๆ​ แต่อาการจิตเวชของเขานั้นก็สร้างความอันตรายให้กับตัวเขาเองไม่น้อย​ เช่น​ คุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่​ลงทุกวัน
.
“โรงพยาบาล​จิตเวช​เขาจะรับเหรอ​ ไม่มีญาติไปด้วย”
เราตอบไปอย่างชัดเจนว่า​ ตามพรบ.สุขภาพจิต​ ระบุไว้เลยว่าการนำตัวผู้ป่วยจิตเวชส่งโรงพยาบาล​ ไม่ต้องมีผู้ดูแล​ไปด้วยก็ได้
.
ผู้ป่วยจิตเวช​คนนี้ได้รับการช่วยเหลื​อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
—————————————
สนับสนุน​การ​ช่วยเหลือ​ผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-58289-4 SCB
Share Button