แม่ผู้แบกชีวิตลูกสาวผู้ป่วยติดเตียงด้วยร่างกายวัย 60

อุบัติเหตุทางรถยนต์
เปลี่ยนอนาคตสดใสของลูกสาววัย 23 ปี
ที่กำลังทำงานบริษัท
ให้เป็นผู้ป่วยติดเตียงตลอดชีวิต
.
เปลี่ยนชีวิตบั้นปลายของแม่ชรา
ให้เป็นผู้แบกรับภาระดูแลผู้ป่วยติดเตียง
ไปตลอดชีวิตเช่นกัน
.
“ ตอนปี 53 วันที่เขาประสบอุบัติเหตุ หมอบอกว่าก้านสมองเขาถูกทำลายหมดไม่เหลือสักเส้น ลูกเรากลายเป็นคนพิการ เดินไม่ได้ พูดไม่ได้ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องติดเตียงไปตลอดชีวิต หมอบอกให้แม่ทำใจ แต่หัวอกคนเป็นแม่นะ มันสงสารลูก มันทำใจไม่ได้เลย ”
.
“ แม่พาเขากลับมาดูแลต่อที่บ้าน พยายามคิดตามคำพระไว้ว่า แม่ยังมีมือมีเท้าครบเราจะสู้ไปด้วยกัน หน้าที่ของแม่คือดูแลเขาทุกอย่าง ยกตัวขึ้นรถเข็นไปอาบน้ำ เปลี่ยนแพมเพิส ทำกับข้าว ป้อนข้าวป้อนยา คอยพลิกตัวไม่ให้เขาเป็นแผลกดทับ ”
.
“ เขาพูดสื่อสารไม่ได้ แต่แม่คิดว่าเขายังเข้าใจคำพูดแม่นะ ทุกวันแม่จะให้เขาเลือกเมนูกับข้าว เขียนเมนูแล้วบอกเขาว่ารูปนี้ไข่ดาวนะ รูปนี้ไก่ทอดนะ ให้เขาชี้เอา แม่ก็จะทำตามเมนูที่เขาเลือก บดให้ละเอียดแล้วเอามาป้อนให้เขา”
.
“ ตั้งแต่ลูกติดเตียงมาแม่หมดเงินไปเยอะ ทั้งค่ารักษาที่โรงพยาบาล ทรัพย์สินอะไรขายได้ก็ต้องขาย แม่ขายรถยนต์ที่ใช้หากินเอาเงินมารักษาเขา ทำงานเป็นแม่ค้าขายกับข้าวเอามาจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ค่ากิน ค่าอุปกรณ์การแพทย์ให้เขา ”
.
“ ส่วนพ่อจะช่วยทำงานส่งแก๊ส เงินได้มาพ่อจะเอามาลงที่แพมเพิสลูกทั้งหมด เขาใช้วันละ 5-6อัน เดือนนึงก็หมดค่าแพมเพิสไปหลายพัน แต่เงินจากที่พ่อส่งแก๊สมันไม่ได้มีมาตลอด เพราะพ่อเขาก็ป่วยเป็นโรคหัวใจเพิ่งผ่าตัดมา เหลือหัวใจแค่ห้องเดียว ทำงานหนักมากไม่ได้”
.
“ ปีนี้แม่อายุย่าง 60 พูดกันตามตรงมันก็เป็นคนแก่แล้ว แต่แม่ยังต้องทำสารพัด ร่างกายเราก็ไม่ค่อยแข็งแรง ยิ่งเวลาพยาบาลลูก ยกตัวลูกมันหลังขดหลังแข็งนะ เจ็บเส้นเจ็บในร่างกายไปหมด เกิดมาชีวิตแม่มีแต่ค้าขายไม่ได้หยุดได้หย่อน ยิ่งลูกมาเป็นแบบนี้ต่อให้เหนื่อยแค่ไหนมันก็หยุดค้าขายไม่ได้แล้ว ถ้าหยุดไปครอบครัวเราตายกันแน่ ลูกเราตายแน่ๆ”
.
“ ปีสองปีแรกแม่ยังอยู่ด้วยความหวัง คิดเอาว่าเดี๋ยวลูกจะกลับมาเดินได้ แต่นี้เข้าปีที่สิบแล้ว มันคงเป็นอย่างหมอว่า อาการคนเป็นอย่างนี้น่ะจะไม่มีวันหายมีแต่ถดถอย ถ้าวันไหนร่างกายเขาเริ่มแย่ลง คือให้แม่ทำใจไว้ก่อนเลย ว่าเขากำลังจะจากเราไป”
.
“ หลายครั้งแม่เหนื่อยมาก ท้อมาก จนบางครั้งคิดขึ้นมาว่า ‘หรือเราตายด้วยกันมั้ยลูก…’ (ร้องไห้) แม่ทั้งเหนื่อยทั้งสงสารลูกที่ต้องมานอนทรมานติดเตียงอยู่อย่างนี้”
——————————————————
ป้าร่า วัย 60 ปี
ผู้สูงอายุที่ยังทำหน้าที่แม่สุดกำลัง
เพื่อดูแลชีวิตลูกสาวติดเตียง วัย 36 ปี
——————————————————
เมื่อสมาชิกสักคนในครอบครัวกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง มักมีสมาชิกอีกคนรับหน้าที่ผู้ดูแล สำหรับครอบครัวนี้ หน้าที่ทั้งหมดตกมาที่หญิงชราสูงอายุ แม้ร่างกายที่แก่ตัวยังต้องทำงานอย่างหนัก แต่ในฐานะแม่ เธอยินดีที่จะแบกรับลูกสาวไว้ด้วยตัวเอง
.
โครงการป่วยให้ยืม มูลนิธิกระจกเงาเชียงราย ส่งต่อวีลแชร์ให้ครอบครัวนี้ยืมใช้ และในทุกเดือนเราจะคอยดูแลด้านอาหาร ผ้าอ้อม ของใช้จำเป็นอื่นๆ สำหรับผู้ป่วย แน่นอนว่าอุปกรณ์เหล่านี้จะมีผลดีต่อชีวิตผู้ป่วย ยิ่งกว่านั้นมันจะช่วยปลดเปลื้องภาระที่หนักอึ้งของคนดูแลผู้ป่วยให้เบาบางลงเป็นเท่าตัว
.
หากคุณมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ไม่ได้ใช้งาน
สามารถบริจาคได้ที่
โครงการป่วยให้ยืม มูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 191 ซอย วิภาวดีรังสิต 62 แยก 4-7
แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กทม. 10210
โทร.092-252-5454
.
หรือสนับสนุนภารกิจป่วยให้ยืม
เพื่อร่วมลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัวผู้ป่วย
ได้ที่บัญชี โครงการป่วยให้ยืม มูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-70398-7 SCB
Share Button

ปลายทางสุดท้าย ที่ไม่ท้ายสุดของเตียงผู้ป่วยเตียงเก่า

ในกองขยะรีไซเคิล ที่ร้านขายของเก่า
มีเตียงผู้ป่วยสีขาวสภาพดี วางปนอยู่
.
เจ้าของร้านเล่าว่า
ซาเล้งคันหนึ่งบรรทุกมันมาขาย
ปลายทางสุดท้ายของเตียงนี้
มันจะถูกรื้อขายเป็นเศษเหล็ก
.
ทีมงานป่วยให้ยืมตัดสินใจขอซื้อเตียงนั้น
เพื่อนำกลับมาซ่อมแซมทำความสะอาด
.
เพื่อเปลี่ยนปลายทางสุดท้าย
แทนที่จะกลายเป็นเศษเหล็ก
มันจะได้กลับมาทำหน้าที่เตียงดังเดิม
.
เกิดการหมุนเวียนทรัพยากรเก่า
ให้มีคุณค่า ลดภาระค่าใช้จ่าย
ให้ครอบครัวผู้ป่วยติดเตียง/เรื้อรัง
บรรเทาทุกข์เพื่อนมนุษย์
ในช่วงยากลำบากได้อีกหลายราย

————————————

หากคุณมีอุปกรณ์ทางการแพทย์
ที่ไม่ได้ใช้งานอยู่ในบ้าน
มูลนิธิกระจกเงาเรายินดีรับบริจาค
.
สามารถส่งต่อได้ที่
มูลนิธิกระจกเงา เลขที่ 191
ซอย วิภาวดีรังสิต 62 แยก 4-7
แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กทม. 10210
โทร.092-252-5454
.
หรือหากคุณเป็นหนึ่งในครอบครัว
ที่ต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วย
สามารถทักอินบ็อกซ์หาแอดมินได้ที่
โครงการป่วยให้ยืม มูลนิธิกระจกเงา
.
สนับสนุนภารกิจป่วยให้ยืม
บัญชี โครงการป่วยให้ยืม มูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-70398-7 SCB

Share Button