จัดการขยะอย่างมีคุณค่า “จ้างวานข้า จ้างวานเคลียร์”

“เรารับจ้างจัดการขยะ”
.
คนไร้บ้าน คนจนเมือง มักคุ้นกับขยะอยู่ไม่น้อย
เขารู้ว่า ขยะคือเงินทองรายได้
เขารู้ว่า ขยะนั้นต้องถูกจัดเก็บคัดแยกอย่างไร
.
แม้รู้ว่า ขยะคือเงินทองคือรายได้ แต่เขามักได้รายได้จากขยะไม่ถึง 1 ร้อยบาทต่อวัน
.
“จ้างวานข้า จ้างวานเคลียร์” จึงเกิดมาเพื่อสิ่งนี้ เรารวบรวมคนเก่งเหล่านี้มารวมตัวกัน แล้วจัดเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือเพื่อประสิทธิภาพการทำงานและเพื่อความปลอดภัยในการทำงาน มีระบบการทำงาน และรับงานการจัดการขยะตามงานอีเวนท์ต่างๆ
.
พวกเขาจะได้ใช้ความเก่งของตัวเอง
ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
พวกเขาจะได้รายได้
มากกว่าค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเกือบ 1 เท่าตัว
พวกเขาสามารถใช้รายได้ที่ได้มาจากงานนี้
พลิกฟื้นชีวิตตัวเองอีกครั้งหนึ่ง
.
เรารับงานจัดการขยะ
จ้างพวกเราได้ที่ เฟซบุ๊ค
Share Button

“บ้านบริจาค” ปูทางสู่สิทธิ์ของคนไร้บัตร

8 ปีที่แล้ว ‘ป้าอ๋อย’และสามีเคยมีกินมีใช้
จากอาชีพขายพระเครื่อง
จนวันที่พิษเศรษฐกิจรุมเร้า
ทั้งคู่จึงตัดสินใจออกมาใช้ชีวิตไร้บ้าน
.
สามีอายุราว 50 ต้นๆ ได้ทำงานรับจ้างอยู่บ้าง
ส่วนตัวป้าอ๋อยที่อายุ 70 หางานยากกว่า
เพราะความสูงวัยและบัตรประชาชนที่สูญหาย
เป็นเหตุผลให้ไม่มีใครรับเธอเข้าทำงาน
.
เงินรับจ้างจากสามีจึงเป็นแรงหลัก
ให้ชีวิตไร้บ้านของทั้งคู่พอมีข้าวตกถึงท้องเรื่อยมา
.
แต่แล้ววันหนึ่งป้าอ๋อยล้มป่วยลง
เส้นเลือดสมองอุดตันส่งผลร้าย
เธอเดินไม่ได้ กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง
การไม่มีบัตรประชาชนทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิ
ในระบบประกันสุขภาพฯ
เธอทำได้เพียงนอนรักษาบนพื้นฟุตบาท
ที่สูงจากพื้นถนนไม่มากนัก
.
ความเจ็บปวดจากการเจ็บป่วย
เริ่มเล่นงานชีวิตทั้งสองชีวิต
ร่างกายของป้าอ๋อยเริ่มแย่ลง
สามีดูแลเธอข้างกายด้วยความรัก
ด้วยความเป็นห่วง เขาไม่สามารถทิ้งป้าอ๋อยไว้
เพื่อออกไปทำงานที่ไหนได้อีก
.
ยิ่งกว่านั้น การเป็นคนไร้บ้าน
ได้ตัดโอกาสการทำบัตรประชาชนใหม่
เพราะป้าอ๋อยไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านหลังใด
มีทรัพย์สินแค่ผืนผ้าใบที่คนแถวนั้นให้ยืมใช้
กันแดดฝนไปเป็นครั้งคราว
__________________________________

มาวันนี้ เรื่องราวความทนทุกข์
จากการไม่ได้รับสิทธิของป้าอ๋อยและสามีจบลงแล้ว
โครงการคลีนิกกฎหมาย มูลนิธิกระจกเงา
ดำเนินการย้ายชื่อป้าอ๋อยที่เป็นผู้ป่วยและสามี
เข้าอยู่ในทะเบียนบ้านหลังหนึ่ง
บ้านที่มูลนิธิกระจกเงาได้รับบริจาคมา
จากผู้ที่ต้องการให้บ้านเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้อื่น
.
และมันกำลังทำประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง
เพราะบ้านหลังนี้จะเป็น
‘ทะเบียนบ้านมูลนิธิกระจกเงา’
ที่ช่วยเรียกร้องสิทธิ
ให้เพื่อนมนุษย์ไร้บ้านอีกจำนวนมาก
ไม่ตกหล่นจากการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการ
ที่พวกเขาสมควรจะได้รับ
.
เช่นเดียวกับที่ทะเบียนบ้านหลังนี้
ช่วยให้ป้าอ๋อยมีบัตรประชาชน
มีสิทธิการรักษาขั้นพื้นฐาน
ได้รับทุกสิทธิสวัสดิการของผู้ป่วยกลับคืน
.
และล่าสุด จ้างวานข้ารับเธอกับสามีเข้าสู่การจ้างงาน
ประจำในหน้างานคัดแยกสิ่งของบริจาค
มีงาน มีอาชีพ มีสิทธิสวัสดิการอย่างมีคุณค่า
ให้ทั้งคู่ได้เริ่มต้นชีวิตใหม่โดยสมบูรณ์
__________________________________

ติดต่อคลินิกกฎหมาย มูลนิธิกระจกเงา
ได้ที่ 083-771-7769
.
สนับสนุนคลินิกกฎหมายได้ที่
บัญชีคลินิกกฎหมาย โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขบัญชี 202-270402-2 ธ.ไทยพาณิชย์

Share Button

ปัญหาที่ควรมีทางออก ผู้ป่วยจิตเวชข้างถนน

“ถึงผู้ว่าฯ ชัชชาติครับ” ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
.
ทางโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา อยากเริ่มเรื่องเพื่อปรึกษาท่านผู้ว่าฯ อย่างนี้ครับ คนที่อยู่ในภาพนี้เป็นผู้ป่วยจิตเวชที่ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ พื้นที่สาธารณะที่ว่าก็คือ ซอยตรอกศิลป์ ซอยนี้อยู่แถวศาลาว่าการกรุงเทพมหานครเลยครับ เราเลยนึกถึงท่านผู้ว่าชัชชาติขึ้นมา และเราคิดว่าท่านผู้ว่าฯ น่าจะสนใจต่อการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ครับ
.
ผู้ป่วยคนนี้ใช้ชีวิตมากว่า 10 ปีในซอยนั้น ในช่วงแรกที่มาอยู่ อาการทางจิตเวชนั้นยังไม่หนักหนามาก แต่มาในปีนี้อาการทางจิตเวชของเขาหนักหนามาก ในหนึ่งวันมีได้ถึง 3 อารมณ์ 3 พฤติกรรม ยิ้มคุยคนเดียวในช่วงเช้า มีอารมณ์โมโหเกรี้ยวกราดด่าทอคนผ่านไปมาในช่วงบ่าย ส่งเสียงดังเหมือนเสียงยิงปืนในยามค่ำคืน จุดพีคที่สุดคือการขับถ่ายเรี่ยราด
.
ผู้คนแถวนั้นเริ่มรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่โอเคแล้วกับพฤติกรรมในช่วงปีหลังของผู้ป่วย บางวันชุดเสื้อยืดกางเกงขาสั้นก็เปรอะเลอะเหม็นคลุ้งไปด้วยอุจจาระและปัสสาวะ ผู้คนแถวนั้นไม่รู้จะแจ้งใครดี เคยแจ้งหน่วยงานราชการก็แล้ว แต่ไม่มีความคืบหน้า แจ้งสก. แจ้งรายการทีวีดัง ก็ไม่มีการตอบสนองใดกลับมา พวกเขาเลยแจ้งมายังมูลนิธิกระจกเงา
.
วันนี้ทางทีมผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา จึงประสานงานกับตำรวจเพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชรายนี้เข้ารับการรักษาในสถานบำบัดรักษาเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งจริงๆ แล้วการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนในพื้นที่สาธารณะนั้นนับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายดายเลย มันมีปัญหาทุกกระบวนการ ทั้งการให้ความช่วยเหลือ การรักษา การฟื้นฟูและนั้นจึงเป็นสาเหตุให้ได้พบเห็นผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนอยู่ในพื้นที่สาธารณะเกือบทุกหนทุกแห่ง
.
เราเลยอยากขอปรึกษาผู้ว่าฯ ชัชชาติแบบนี้ครับ กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ที่พบว่ามีผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนแบบนี้อยู่มาก ส่วนใหญ่ไม่มีความอันตรายแต่ก็มีคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่อย่างที่สุด แต่มีอยู่ส่วนหนึ่งที่มีความอันตราย ทำร้ายร่างกาย ทำลายข้าวของ ซึ่งหลายเคสนั้นเป็นข่าวดัง คำถามก็คือทำไมเราจึงพบว่ามีผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนในพื้นที่สาธารณะมากเหลือเกิน และในแต่ละเคสก็ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะอย่างยาวนานเหลือเกิน ยาวนานจนคุณภาพชีวิตพัง สมองพัง
.
คำตอบก็คือ ระบบการพาพวกเขาเข้าสู่การดูแลรักษาตลอดจนการให้การฟื้นฟูประคับประคองนั้นก็ผุพังเช่นกัน สมมุติว่าถ้ามีใครสักคนหนึ่งแจ้งหน่วยงานรัฐต่างๆ เพื่อบอกว่าให้มาเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชคนนั้น หลายๆหน่วยงานนั้นก็จะบอกว่า เขาทำไม่ได้ เขาไม่มีหน้าที่ หลายๆหน่วยงานอาจมาทำหน้าที่ แต่ก็ทำได้เพียงแค่มาดู ทำได้แค่มาไล่ แต่ไม่สามารถทำการให้ความช่วยเหลือได้ ช่วยเหลือในสถานะของ “ผู้ป่วย”
.
ในบางครั้งหน่วยงานนั้นอาจให้ความช่วยเหลือ แต่ปัญหาในหลายครั้งที่พวกเขาเจอก็คือ หน่วยงานบำบัดรักษานั้น บอกว่าไม่สามารถรับได้ ด้วยเหตุผลว่า ผู้ป่วยไม่มีญาติ หรือ ไม่ได้รับเป็นผู้ป่วยใน แต่เป็นการจ่ายยาแล้วให้ผู้ป่วยกลับไปกินยาและเร่ร่อนในพื้นที่สาธารณะตามเดิม การช่วยเหลือนำส่งผู้ป่วยจิตเวชจึงเป็นเรื่องยาก ใช้พลังงานสูง หลายหน่วยงานจึงไม่ทำ และยังไม่นับรวมว่า หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยนั้นคือตำรวจ ซึ่งผู้ป่วยต้องถูกใส่กุญแจมือ ให้นั่งอยู่กระบะท้ายของรถปิคอัพ ทั้งๆ ที่คนคนนั้นมีสถานะที่เรียกว่า “ผู้ป่วย”
.
ถ้าถามคำถามว่า ทำไมสถานบำบัดรักษาจึงตั้งเงื่อนไขไม่อยากรับผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนเข้าสู่การรักษาในระบบผู้ป่วยใน คำตอบลัดสั้นก็คือ ผู้ป่วยในระบบของสถานบำบัดรักษาเอง เขาก็อัดแน่นจนรับมือแทบจะไม่ไหวแล้ว มีผู้ป่วยหลายรายที่อยู่ในสถานะสิ้นสุดการรักษาแล้วแต่ไม่สามารถจะออกไปจากสถานบำบัดรักษาได้ เนื่องจากไม่สามารถกลับบ้านกลับครอบครัวได้ กลับไม่ได้ยังไม่เท่าไหร่ แต่ไม่สามารถจะไปสู่กระบวนการฟื้นฟูในรูปแบบของสถานสงเคราะห์ของรัฐ (ดูแลโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ) ได้ ผู้ป่วยในจึงสะสมจนล้นระบบ คนเก่าไปไม่ได้ คนใหม่เข้ามาเติม
.
เช่นกันถ้าถามคำถามว่า ทำไมสถานสงเคราะห์ของรัฐจึงไม่สามารถรับผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนที่สิ้นสุดการรักษาจากสถานบำบัดรักษาได้นั้น คำตอบเดียวกันคือสถานสงเคราะห์เหล่านั้นก็อยู่ในสภาพของคนที่เข้ารับการสงเคราะห์ในสถานสงเคราะห์นั้น เป็นสภาพคนล้นระบบเช่นกัน ระบายคนออกไม่ได้ คนใหม่ก็เติมเข้ามา จนวันหนึ่งคนล้นระบบสถานสงเคราะห์ที่มีอยู่ทั้งหมดเป็นที่เรียบร้อย(สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งทั่วประเทศมี11แห่ง สถานสงเคราะห์ที่ดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่สิ้นสุดการรักษาแล้วแต่ไม่สามารถกลับบ้านได้นั้นมี2แห่งทั่วประเทศ)
.
ปัญหาผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนในพื้นที่สาธารณะนั้น เป็นปัญหาที่เรื้อรังมายาวนาน และดูเหมือนว่าปัญหานี้จะเพิ่มขนาดขึ้นอย่างมากในอนาคต ด้วยเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหานั้นยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด ทั้งในเชิงระบบช่วยเหลือดูแลรักษาฟื้นฟูที่ได้เล่าไป ทั้งในการคาดคะเนจากตัวเลขของกลุ่มผู้ป่วยจิตเภท ตามตัวเลขที่จิตแพทย์มักใช้อ้างอิงก็คือ ผู้ป่วยจิตเภทจะคิดเป็น 1% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และผู้ป่วยจิตเภทที่มีอาการเรื้อรังมีปัญหาในการดำรงชีวิตนั้นก็คิดเป็น 1% ของผู้ป่วยจิตเภททั้งหมด
.
โครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา ในฐานะกลุ่มคน องค์กรที่ดำเนินการในการแก้ไขปัญหาเรื่องผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนในพื้นที่สาธารณะมาเป็น 10 ปี และพยายามแก้ปัญหาเท่าที่ศักยภาพในด้านต่างๆเรามีพอที่จะทำให้เกิดรูปธรรมการแก้ไขปัญหานี้ เราจึงอยากขอปรึกษาผู้ว่าฯชัชชาติผ่านโพสต์นี้ เพื่อร่วมหาทางออกในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ เพื่อที่ว่าผู้ป่วยจิตเวชที่เร่ร่อนอยู่ในพื้นที่สาธารณะนั้นจะได้เข้ารับการรักษาฟื้นฟู ได้เข้าสู่การปรับปรุงคุณภาพชีวิต จนสามารถออกมาใช้ชีวิตโดยตัวพวกเขาเองได้ และเราจะได้มองหาทางป้องกันเพื่อลดการเกิดขึ้นของกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนให้ได้มากที่สุด ถ้ามีเกิดขึ้นก็ช่วยเขาได้ทันเวลา รวดเร็วมีคุณภาพ ตรงตามสถานะความเป็น “ผู้ป่วย” ของพวกเขา
.
ปัญหานี้มีทางออก ทางแก้ไขอย่างแน่นอน เราเองมองเห็นหนทางนั้นแล้ว เราเองอยากจะนำเสนอเรื่องนี้เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกัน โครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา หวังอย่างยิ่งว่า ท่านจะเปิดการรับฟังปัญหานี้อย่างเป็นทางการ และทำการแก้ไขปัญหานี้ร่วมกันครับ

Share Button

ความฝันที่ชะงักกับ 3 ชีวิตติดเตียงที่ต้องดูแล

ป้าแดง ในวัยสาวเธอมีความฝัน
อยากใช้ชีวิตเป็นอิสระ
จะทุ่มเทเวลาทำสวนทำไร่
อยากมีที่ดินผืนใหญ่เป็นของตัวเอง
.
แต่ยังไม่ทันที่ความฝันจะก่อตัว
พี่ชาย น้าสาว และแม่ของเธอก็ล้มป่วย
ทั้งสามชีวิตติดเตียงในเวลาไล่เลี่ยกัน
.
ป้าแดงต้องละทิ้งงาน มาทำหน้าที่ดูแล
แม้งานจะเป็นความฝันที่เธอเคยตั้งมั่น
แต่วินาทีนั้นชีวิตคนป่วยในบ้านสำคัญกว่า
.
เธอดูแลผู้ป่วยเรื่อยมาอย่างอัตภาพ
จากวัยสาวจนก้าวเข้าวัยชรา
การพยาบาลผู้ป่วยสามคนไม่ใช่เรื่องง่าย
มันเป็นงานหนักที่ส่งผลร้ายต่อร่างกาย
กล้ามเนื้อหลังของเธออักเสบ
เพราะต้องยกตัวผู้ป่วยไม่เว้นวัน
.
ยิ่งกว่านั้นนอกจากชีวิตผู้ป่วยแล้ว
ยังมีภาระค่าใช้จ่าย ค่ากินอยู่
ค่าแพมเพิส ค่าน้ำไฟ ฯลฯ
ที่เธอต้องแบกรับไว้ด้วยรายได้จากเบี้ยคนชรา
.
ภาระทั้งหมดกดทับความฝันไว้หมดสิ้น
เธอไม่เหลือความฝันให้ตัวเองมีที่ดินผืนใหญ่
เหลือแค่ความหวังในวัยบั้นปลาย
ให้ครอบครัวและตัวเธอเอง
ยังมีชีวิตรอดไปได้ก็เพียงพอ
.
ทีมงานอาสามาเยี่ยม ลงพื้นที่เยี่ยมเยียน
และรับครอบครัวนี้ไว้ในการดูแล
ทุกเดือนเราจะนำข้าวสารอาหารแห้ง
ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ของใช้จำเป็นจำนวนหนึ่ง
ที่มูลนิธิได้รับบริจาคมามอบให้
ของเหล่านี้จะช่วยประคับประคองครอบครัว
ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายที่ผู้ดูแลต้องแบกรับ
.
นอกจากของใช้แล้ว เราใช้เวลาพูดคุย
เติมพลัง รับฟังปัญหา กับผู้ดูแลผู้ป่วย
ให้พวกเขาได้รับรู้ว่ายังมีคนเคียงข้าง
เป็นการเยียวยาทางใจในเวลาทุกข์ยาก
ที่เพื่อนมนุษย์สามารถส่งต่อให้แก่กัน

——————————————————

คุณสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในความช่วยเหลือ
บริจาคข้าวสารอาหารแห้ง
ของใช้จำเป็น ผ้าอ้อมผู้ใหญ่
ได้ที่ มูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 191 ซอยวิภาวดีรังสิต 62 แยก 4-7
แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กทม. 10210
โทร.061-909-1840, 063-931-6340
เขียนหน้ากล่อง “เพื่อโครงการอาสามาเยี่ยม”
.
หรือสมทบทุนได้ที่ ชื่อบัญชี กองทุนอาสามาเยี่ยม
เลขที่บัญชี 202-258297-5 ธ.ไทยพาณิชย์
สอบถามข้อมูลเพิ่ม โทร.061-909-1840

Share Button

ครอบครัว “น้องธันวา” กับชีวิตก่อนพบทะเล

“มาแข่งกัน ใครวิ่งถึงทะเลก่อนคนนั้นชนะ”
เสียงแจ้วจากสองพี่น้อง “ธันวา” และ “อชิ”
.
นี่เป็นการมาทะเลครั้งแรกของทั้งคู่ นอกจากเอนตัวแช่น้ำให้คลื่นซัด การให้เท้าแตะทรายนุ่มเป็นอีกอย่างหนึ่งที่เด็กๆ ตั้งหน้าตั้งตารอ
.
ธันวา เป็นพี่ชาย
เขามีพัฒนาการทางสมองช้าเมื่อเทียบกับเด็กในวัยเดียวกัน สมองที่พิการทำให้เขาคิดอ่านต่างจากคนอื่น
.
ธันวา อ่านเขียนได้บ้างไม่ได้บ้าง บางครั้งแสดงอาการหงุดหงิด เอาแต่ใจ แบบไม่รู้ตัว กลายเป็นความรำคาญ ไม่เป็นที่ยอมรับสำหรับคนรอบข้าง ทำให้ธันวาไม่ชอบไปโรงเรียนและไม่กล้าเข้าสังคมกับคนอื่นๆ
.
อชิ ที่เป็นน้องสาว จึงต้องรับหน้าที่เป็นบอดี้การ์ดประจำตัว เธอจะคอยบอก คอยเตือน คอยเล่นเป็นเพื่อน ช่วยแม่ดูแลพี่ชายเสมอ เพราะถึงจะยังเล็ก แต่อชิเข้าใจในอาการที่พี่ชายเป็น
.
แม่มักบอกอชิ ว่า “ให้อยู่ข้างๆ พี่ เพราะแม่เชื่อว่าพี่ธันวามีโอกาสหาย หรือถ้าวันไหนแม่เป็นอะไรไป แม่ไม่ได้อยู่บนโลกนี้แล้ว สองพี่น้องต้องคอยดูแลกันและกัน”
.
อชิรู้ว่าแม่พยายามทำงาน ด้วยการออกขับวินมอเตอร์ไซค์ตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง ทำงานวันละ 17 ชั่วโมง เพื่อเก็บเงินมาเป็นค่ารักษาพยาบาลให้พี่ธันวา
.
เพราะตั้งแต่พี่ธันวาป่วย ต้องจ่ายเงินค่ายาหลายอย่าง เธอเห็นแม่พาพี่เทียวเข้าออกโรงพยาบาลเพื่อรักษาไม่ต่ำกว่าสิบรอบ ในระหว่างนั้นแม่ก็ต้องทำงานขับวินไปพร้อมกัน การเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เลี้ยงดูเด็กสองคน ซ้ำหนึ่งคนพิการทางสมองนั้นไม่ง่าย อชิจึงพยายามช่วย เป็นแรงเล็กๆ แบ่งเบาภาระให้แม่บ้าง
.
เงินเดือนของแม่ทั้งหมด ต้องเก็บไว้ใช้จ่ายยามจำเป็น ทั้งค่าเช่าบ้าน น้ำ ไฟ และค่ารักษาแผนกจิตเวชเด็ก การไปเที่ยวเล่นข้างนอกเลยไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ
.
นอกจากวันไหนเป็นวันเกิดหรือโอกาสพิเศษ แม่จะหยุดงานพาเด็กๆ ไปให้อาหารปลาที่วัดใกล้บ้าน เป็นการเที่ยวแบบฉบับที่กำลังทรัพย์ของครอบครัวพอเอื้อมถึง
.
ปลายเดือนที่แล้ว โครงการโรงพยาบาลมีสุข ชวนครอบครัวน้องธันวา และครอบครัวเด็กป่วยแผนกจิตเวชอีก 10 ครอบครัว ไปสัมผัสลมทะเล ณ หาดบางแสนเป็นครั้งแรก
.
ถึงจะเป็นการเที่ยวแบบไปเช้าเย็นกลับ แต่รอยยิ้มที่แต้มใบหน้า และเสียงหัวเราะจากเด็กๆ จะยังดังก้องไปอีกพักใหญ่ เป็นกำลังใจของเด็กๆ และครอบครัว ให้เด็กป่วยทางใจได้รับรู้ว่าเขามีคุณค่า สมควรได้รับการดูแลจากทั้งครอบครัวและสังคม
.
หากคุณมีที่พัก ร้านอาหาร หรือพื้นที่สำหรับทำกิจกรรม พร้อมเปิดรับเด็กๆ เราอยากชวนคุณเป็นส่วนหนึ่งในการโอบรับเด็กป่วยด้วยความรัก
ดูแลประคับประคองพวกเขาไปพร้อมกันกับเรา
ติดต่อได้ที่ 061-909-1840
.
สนับสนุนกิจกรรมสร้างความสุขลดความทุกข์ให้เด็กป่วย
ได้ที่บัญชีโครงการโรงพยาบาลมีสุข
เลขที่ 202-258286-0 ธ.ไทยพาณิชย์

Share Button

TIP Smart Assist “ผู้นำส่ง” ความช่วยเหลือสู่ผู้เดือดร้อน


ในเวลาที่เครื่องผลิตออกซิเจน
กำลังรอส่งออกไปบ้านผู้ป่วย
ข้าวสารอาหารแห้ง
รอคิวส่งไปครอบครัวที่เดือดร้อน
ช้ากว่านั้นก็อาจหมายถึงชีวิต
หรือความลำบากที่ยาวนานขึ้น
.
พวกเขาเรียกตัวเองว่า
TIP Smart Assist
จากทิพยประกันภัย
ขออาสาส่งความช่วยเหลือ
จากมูลนิธิกระจกเงา
ไปยังครอบครัวที่เดือดร้อน
.
เขาบอกเราว่า
งานจิตอาสาไม่เลือกความเดือดร้อน
เรื่องเล็กเรื่องใหญ่
พร้อมไปได้หมด
ขอแค่บอกมา
.
หลายเดือนมาแล้วที่พวกเขา
ทำภารกิจนี้อยู่เบื้องหลังเงียบๆ
เป็นสะพานเชื่อมความช่วยเหลือ
ขอบคุณจากใจแทนทุกครอบครัว
ที่ได้รับความช่วยเหลือ
🙏🏻❤️🙏🏻พวกคุณโคตรเท่ห์

Share Button

ต่อลมหายใจคุณปู่ “น้องต่อ”

ปู่ของน้องต่อ
เด็กหายที่บางเลนนครปฐม
ป่วยด้วยโรคปอดจนต้องเจาะคอ
ตอนที่น้องต่อหายตัวไป
ปู่ยังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล
ด้วยอาการหายใจไม่ออก
.
ก่อนหน้านี้ปู่ใช้ถังออกซิเจน
ซึ่งต้องขี่มอเตอร์ไซค์ไปเติมในตัวอำเภอ
ระยะทางไปกลับและค่าเติมเป็นค่าใช้จ่ายไม่น้อย
ปู่จึงปล่อยออกซิเจนให้น้อยที่สุดเพื่อประหยัด
.
ทีมงานมูลนิธิกระจกเงา ลงพื้นที่ตามหาน้องต่อ
เมื่อพบปัญหานี้จึงประสานทีม “ป่วยให้ยืม”
ขอยืมเครื่องผลิตออกซิเจนให้ปู่น้องต่อใช้
.
แม้กระแสสังคมจะสงสัยในพ่อแม่น้องต่อ
แต่เหตุผลด้านมนุษยธรรม
และการให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ต้องสงสัย
ไม่อาจปฏิเสธที่เราจะให้ความช่วยเหลือได้
.
วันนี้ทีมงานนำเครื่องผลิตออกซิเจน
มาให้ปู่น้องต่อ เพื่อใช้งานแทนถังออกซิเจน
จากนั้นทีมงานลงไปติดตามหาน้องต่อต่อไป
ส่วนคุณปู่ก็ยังมีลมหายใจเพื่อรอข่าวน้องต่อเช่นกัน
.
สามารถบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้ที่
มูลนิธิกระจกเงา เลขที่ 191
ซอย วิภาวดีรังสิต 62 แยก 4-7
แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กทม. 10210
โทร.092-252-5454
.
หรือสนับสนุนภารกิจป่วยให้ยืม
เพื่อร่วมลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัวผู้ป่วย
ได้ที่บัญชี โครงการป่วยให้ยืม มูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-70398-7 ธนาคารไทยพาณิชย์

Share Button

กองทัพจ้างวานข้าบุกเคลียร์งาน Future ​Fest 2023

ในงาน ​Future​Fest2023 ที่เพิ่งจัดเสร็จสิ้นไปในวันเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมา พวกเรานัดหมายมาเคลียร์กันหลัง​งานเลิก​
.
“เจอกันประตู 1 ด้านใน” เราตะโกนนัดหมาย​
.
เรื่องมันใหญ่​ ต้องมีคนสัก 10 คนถึงจะเอาอยู่​ เมื่อถึงที่นัดหมาย​ ทั้ง 10 คนเข้ารุมสกรัมโจทย์​ข้างหน้าอย่างเอาเป็นเอาตาย
.
หลังใส่กันไม่ยั้งไปได้เกือบครึ่งวัน​ เราคัดแยกขยะเปียก​ ขยะแห้ง​ ขยะรีไซเคิล​ รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 100 ถุงต่อวัน
.
ขยะเปียก​ กทม. รับไปเคลียร์​ต่อ
.
ขยะแห้ง​ เคลียร์​ไปเป็นขยะพลังงาน
.
ขยะรีไซเคิล​ โครงการชรารีไซเคิล มูลนิธิกระจกเงา​ รับไปเคลียร์​ต่อ​ นำไปสู่การจ้างงานผู้สูงอายุ​ที่เป็นคนไร้บ้าน และคนจน​เมือง​ที่มูลนิธิ​กระจกเงา
.
“จ้างวาน​ข้าจ้างวานเคลียร์” คือทีมงานที่มีส่วนผสมของคนไร้บ้านและคนจนเมือง​ งานและรายได้ของพวกเขานั้น จะเกิดจากการไปทำงานเคลียร์​ที่มีคนจ้างวานไปทำ
.
งานไหน​ อีเว้นท์​ใด​ สนอกสนใจ​ ติดต่อได้ทันทีที่​เพจ
จ้างวานข้า โดยมูลนิธิกระจกเงา

————————————-

สนับสนุน​จ้างวาน​ข้าได้ที่​
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-58289-4 SCB

Share Button

ช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นคนไร้บ้าน

“ที่เลือกมานอนแถวราชดำเนิน เพราะเราเกิดกรุงเทพ ตอนที่พ่อยังไม่เสียก็พามาเที่ยว มาดูไฟ ดูวัด ดูวัง ตอนนั้นก็เห็นคนเขานอนข้างถนนกัน จนโตวัยทำงาน เวลาหลังเลิกงาน หรือ Holiday เราจะชอบทำอาหารมาแจกคนที่นอนที่นี่ สงสารการกินอยู่ของเขา แต่พอเราต้องมาอยู่จุดนี้นึกไปถึงวันนั้น ก็แบบเราเคยเป็นผู้ให้มาก่อนวันนึงเราจะต้องมาเป็นผู้รับเหรอเนี่ย แต่ถ้ามองบวกหน่อยมันก็ทำให้เรารู้จุดที่ว่าเราจะไปทิศทางไหน เรานั่งเรานอนแบบนี้ได้อยู่นะ คนอื่นเขายังพอนอนได้เลย อย่างน้อยเราก็ไม่อดตายหรอก”
.
“จุดเปลี่ยนของชีวิตคือตอนที่แฟนบอกเลิกแบบไม่รู้ตัว คือไม่มีวี่แววเลยที่เขาจะเลิก อยู่ๆ ก็บอกว่าครอบครัวเขารับไม่ได้ พอเลิกกันเราก็ย้ายออกมาอยู่คนเดียวมาเช่าห้องอยู่ ตอนออกมาก็ขอเงินเขาแสนนึง เพราะเราไม่เหลือทรัพย์สินอะไรเลย เราเป็นคนทุ่มเทกับความรักมาก เพราะครอบครัวที่ผ่านมาของเรามันไม่ใช่เซฟโซนสำหรับเรา เราทำงานหาเงินมาได้สร้างทรัพย์สินมาเท่าไหร่ก็ยกให้เป็นชื่อของแฟนหมด เพราะเราอยากให้เขารู้ว่าเราก็สามารถเป็นผู้นำได้”
.
“พอมาเช่าห้องอยู่คนเดียว เราก็อยู่แบบนั้นเฉยๆ ไม่ทำงาน 2 ปี เพราะรู้สึกตัวเองไม่ปกติ เหมือนมีอะไรมาฟาดจนเป็นก้อนความรู้สึกชาๆหนักๆ แบบใจเรามันไปแล้ว เคยคิดสั้นอยู่แต่ก็ไม่ได้ทำ ตั้งใจเลยนะถ้าใช้เงินเก็บจนมันเป็นศูนย์เราทำแน่ๆ แล้วก็ใช้ชีวิตแบบประชดชีวิตอยู่ในห้องอย่างเดียว ไม่พูดคุยกับใคร จนมาถึงวันที่เงินหมด เลยตัดสินใจจบชีวิตวันนั้น แต่ก็ทำไม่ได้อีกนั่นแหละ”
.
“หลังจากวันนั้นก็ออกจากห้องเช่ามาแบบแบลงค์
ๆ เพราะมันไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าเขาแล้ว นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการออกมาไร้บ้านตั้งแต่ตอนนั้น อยู่ไปสักพักจึงคิดเริ่มต้นชีวิตใหม่ จนสุดท้ายเราก็ฮึดขึ้นมา กลับมาทำงานอีกครั้ง ไปสมัครงานเป็นรปภ. เพราะมันไม่ต้องใช้อะไรเลยมันเริ่มจากศูนย์ก็ได้ รปภ.เป็นงานสุดท้ายก่อนมาเจอกับจ้างวานข้า”
.
“ไร้บ้านช่วงแรกๆ เราก็นั่งอยู่ในจุดที่ไม่ค่อยมีคน ยังไม่ค่อยกล้าไปพูดคุยกับใคร สภาพเราก็เหมือนไม่ได้เร่ร่อน คนทั่วไปก็คงมองว่าเป็นคนมารอรถเมล์อะไรแบบนี้หรือเปล่า และเราก็ไม่รู้ต้องสื่อสารกับคนไร้บ้านยังไง ยังปรับตัวไม่ได้ แต่ก็โชคดีนะ พอไปนั่งก็มีลุงคนไร้บ้านมาพูดมาคุยดูเป็นมิตรดี คือจริงๆ แล้วคนไร้บ้านเขาเป็นคนจิตใจดีนะ ยิ่งพอเขาเห็นเราดูหน้าใหม่ หน้าไม่คุ้น เขาจะคอยมาถามสารทุกข์สุขดิบกับเรา”
.
“ที่เราอยู่รอดจากสภาวะไร้บ้านมาจนถึงตอนนี้ได้นี่
ก็มาจากคำแนะนำของพวกเขานี่แหละ เริ่มตั้งแต่ควรไปอาบน้ำยังไง ไปอาบน้ำที่ไหน คือเขาก็มองเราเป็นผู้หญิงคนนึงก็เป็นห่วงเรา แบบไปนอนตรงนี้แถวนี้นะเดี๋ยวลุงช่วยดูให้ กระเป๋าต้องนอนกอดไว้ตลอดนะ ควรไปนอนตรงหอศิลป์ดีกว่าตรงนั้นสว่าง ไม่น่ากลัวเท่าไหร่ ปลอดคน แต่สุดท้ายเขาก็ย้ำกับเราเสมอนะ ว่าระวังยังไงมันก็ไม่ปลอดภัยอยู่ดี ให้ระวังพวกติดเหล้าเมายาไว้ เพราะมีเวลาหื่นหนักๆ มันก็ไม่เลือกหน้า เขาก็แนะนำอยากให้เราไปหางานตามปั๊มน้ำมันให้มีที่พักอะไรแบบนี้จะดีกว่าปลอดภัยกว่า”
.
“ถึงแม้เราจะเป็นอย่างนี้ (เป็นทอม) เขาก็มองออกกันนะว่าเป็นผู้หญิง อย่างตอนที่อยู่มา 2-3 วันแล้ว จะมีคนเข้ามาคุยเรื่องทั่วไปก่อน และจากนั้นก็เหมือนชวนไปทำอะไรอย่างนั้น คือมันก็มีคนหลายประเภทเนอะ ตรงนั้นทั้งกินเหล้า ไม่ใช่มีแต่คนไร้บ้านอย่างเดียว พอมาคุยลักษณะนี้เราก็รู้ความหมายแหละว่าเขาต้องการอะไร อย่างชวนไปบ้านพี่ไหม ไปช่วยลุงเลี้ยงหมาหน่อยนะ พี่ก็พอมีเงินอยู่บ้างพี่เลี้ยงได้นะ สารพัดเลย เราเป็นทอมไม่เคยมีประสบการณ์เรื่องทางเพศอย่างนี้ มันก็เลยรู้สึกกลัวมาก แต่ก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากทำใจดีสู้เสือบอกเขาตรงๆ ว่า ไม่ชอบผู้ชายนะพี่”
.
“การใช้ชีวิตแบบนี้เราจะอยู่ติดที่ไม่ได้ ต้องเคลื่อนย้ายเปลี่ยนที่นอนตลอดเวลา บางคนเราก็รู้นะว่าเขามองเรามาหลายวันแล้ว คงไม่แน่ใจว่าเราเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย แต่พอเขารู้ว่าเป็นผู้หญิงเท่านั้นล่ะ เอาล่ะอยู่ไม่ได้แล้วต้องหาที่ใหม่ คือต้องเข้าใจว่าพื้นที่ตรงนี้ก็ยังไม่ได้มีความเข้าใจเรื่องเพศที่สามมากนัก เป็นทอมเขาก็มองเหมือนเป็นผู้หญิงคนนึงนั่นแหละ แต่ด้วยกายภาพมันก็ปกป้องเราได้มากกว่า ด้วยบุคลิกเขาก็จะไม่กล้าเข้ามาสัมผัส มันก็จะกันคนออกไปได้ระดับนึง”
.
“แต่มันก็แล้วแต่สถานการณ์นะ อย่างที่บอกมันก็มีกลุ่มที่กินเหล้า เสพยาจนสติไม่ปกติ พวกนี้จะเอาไม่เลือกหน้า อย่างเราเคยนั่งๆ อยู่เนี่ย ก็มีคนพวกนี้เข้ามาลวนลาม เดินมาดึงเราเข้าไปกอด คือมันไม่ปลอดภัยมากๆ เราเลยต้องเปลี่ยนสถานที่นอนเรื่อยๆ สลับนอนตามป้ายรถเมล์ ไม่มีที่ไหนเป็นที่นอนประจำ นอนตามจุดที่โจ่งแจ้งไปเลย รถเมล์อะไรผ่านก็ช่างมันเดี๋ยวมันก็ชิน เดี๋ยวก็หลับไปเอง”
.
“ครั้งนึงเราเคยเห็นเหตุการณ์น้องใบ้คนหนึ่งที่เขามานอนแบบเราเนี่ยที่โดนกระทำบ่อย ถึงแม้ภายนอกเขาจะดูเป็นทอมบอยเหมือนกัน แต่เขายังมีสรีระที่ดูเป็นผู้หญิงชัดเจนอยู่ คือจะมีคนมาจับหน้าอกเขา แต่ด้วยความเป็นใบ้พูดอะไรไม่ได้ก็จะมีคนมาทำท่าทางแบบมีเพศสัมพันธ์กับเขาตลอดเวลา ซึ่งเราเห็นเขาพยายามป้องกันตัวเองอย่างมาก คือถ้ามีผู้ชายเข้ามาจะลวนลามเขาจะถีบเลย คือเขาพยายามสู้เต็มที่ไม่ให้ใครหน้าไหนเข้ามาทำอะไรเขาได้”
.
“แต่ที่คิดว่าเราโชคดีอีกอย่างก็คือเราตัดมดลูกมาแล้วเพราะเป็นเนื้องอก ประจำเดือนเลยไม่ได้เป็นอุปสรรค แต่ผู้หญิงคนอื่นคิดว่าคงเป็นเรื่องลำบากมาก ส่วนเรื่องอาบน้ำนี่ก็เป็นปัญหา ต้องแอบเข้าตามปั๊ม ต้องเข้าสถานที่มิดชิดอย่างเดียว เพราะอาบน้ำนุ่งกระโจมอกแล้วอาบกลางแจ้งเลยไม่ได้ ตามปั๊มไม่มีเป็นห้องอาบน้ำนะ ถ้าอยากได้ห้องแบบนั้นต้องไปวัด เวลาอาบก็เอาน้ำที่เขาราดส้วมนั่นล่ะตักอาบ บางวันตื่นมาแล้วเสื้อผ้าหาย มีชุดเดียวไปอาบน้ำก็ต้องใส่แบบนั้นไปจนมันแห้ง”
.
“สำคัญมากนะสำหรับเรา วันมาเจอทีมงานมูลนิธิกระจกเงา เจอทีมงานจ้างวานข้า เราถือว่าเป็นตัวปิดจบเลยนะ เราถือว่าเร็วมากนะกับการหลุดจากสภาพเร่ร่อนไร้บ้านอะไรแบบนี้ เราอยู่มาได้แค่ 3 อาทิตย์ แล้วก็ได้ทำงานกับจ้างวานข้าเลย แล้วก็มามีห้องเช่าต่อมาเลย ซึ่งถือว่านี่เป็นการตั้งหลักครั้งใหญ่ที่ทำให้เรากลับมาได้เช่าห้องอยู่ได้อีกครั้ง”

——————————————-

แด่วันที่อยู่อาศัยโลก(World Habitat Day) ซึ่งนับจากวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี
.
คนไร้บ้าน การได้มีงานทำและงานนั้นทำให้มีรายได้ที่มั่นคงต่อเนื่องและเหมาะสม สิ่งนี้นับเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการตัดสินใจกลับเข้าสู่การมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงขึ้น
.
สนับสนุนจ้างวานข้าได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-2-58289-4 SCB

Share Button

เครื่องผลิตออกซิเจน 100 เครื่อง 100 ความหวังของ 100 ชีวิต

“มีเครื่องผลิตออกซิเจนให้ยืมมั้ยคะ”
“คุณพ่อต้องออกจากโรงพยาบาลแล้ว
แต่ไม่รู้จะหาเครื่องผลิตออกซิเจนได้จากที่ไหน”
“ยืมเครื่องผลิตออกซิเจนที่มูลนิธิกระจกเงาได้มั้ย
อนามัยแถวบ้านไม่มีให้เช่าหรือยืมเลย”
“ยายหัวใจเต้นช้าต้องใช้ออกซิเจนตลอดเวลา
แต่ทางบ้านไม่มีเงินมากพอซื้อเครื่องผลิตออกซิเจน”
.
นี่คือตัวอย่างข้อความ ที่ครอบครัวผู้ป่วย
ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ
มายังโครงการป่วยให้ยืม
.
ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยเรื้อรัง
เส้นเลือดสมองตีบ บางรายปอดติดเชื้อ
หรือบางรายป่วยระยะสุดท้าย
จำเป็นต้องใช้เครื่องประคองลมหายใจไว้
ก่อนวาระสุดท้ายของชีวิตจะมาถึง
.
ตลอดมาเราพยายามตอบกลับข้อความเหล่านั้น
พร้อมส่งต่อเครื่องผลิตออกซิเจน
ที่สามารถต่อลมหายใจให้ผู้ป่วยได้
ไปแล้วกว่า 600 เครื่อง
.
มีเครื่องผลิตออกซิเจนจำนวนหลักร้อย
แต่ความเจ็บป่วย ไม่หยุดที่จำนวนนั้น
ในทุกวัน ทีมงานยังได้รับสายโทรเข้า
รวมถึงกล่องข้อความทางเพจเฉลี่ย 70 ราย
.
หลายช่วงวิกฤติ
ไม่มีเครื่องผลิตออกซิเจนเหลือให้ยืมใช้
แม้เรื่องลมหายใจที่เร่งด่วนจนรอไม่ได้
ครอบครัวผู้ป่วยหลายรายก็ยังจำใจรอ
.
เพราะไม่มีรายได้มากพอซื้อเครื่องใหม่
ไม่มีทางไหน ให้พวกเขาหันไปพึ่งพิง
.
จนเมื่อวานนี้
เราได้รับเครื่องผลิตออกซิเจน
จำนวน 100 เครื่อง
จากความร่วมมือของกลุ่มพลังงานบริสุทธิ์ (EA)
และมูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์
.
การมาถึงของเครื่องผลิตออกซิเจนนั้น
ทำให้หนทางรอดของผู้ป่วยหลายชีวิต
ที่กำลังเดือดร้อนเริ่มมีความหวัง
พวกเขาจะมีเครื่องผลิตออกซิเจนยืมใช้
สามารถต่อลมหายใจให้ชีวิตได้อยู่ต่อ
.
ครอบครัวใดต้องการเครื่องผลิตออกซิเจน
สำหรับต่อลมหายใจให้คนที่คุณรัก
ติดต่อมาหาทีมงานป่วยให้ยืมได้เลยค่ะ
หรือโทร.092-252-5454.
เปิดทำการ จ-ศ เวลา 09.30 – 17.00 น.
—————————————————
ขอขอบคุณ
อาจารย์ลอย Loy Chunpongtong
ที่เห็นความสำคัญของชีวิตเพื่อนมนุษย์
ช่วยประสานไปยังมูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์
.
กลุ่มพลังงานบริสุทธิ์ Energy Absolute
ที่ส่งต่อเครื่องผลิตออกซิเจน
ให้สามารถต่อชีวิตผู้ป่วยได้อีกจำนวนมาก
.
สามารถบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้ที่
มูลนิธิกระจกเงา เลขที่ 191
ซอย วิภาวดีรังสิต 62 แยก 4-7
แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กทม. 10210
โทร.092-252-5454
.
หรือสนับสนุนภารกิจป่วยให้ยืม
เพื่อร่วมลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัวผู้ป่วย
ได้ที่บัญชี โครงการป่วยให้ยืม มูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-70398-7 ธนาคารไทยพาณิชย์
Share Button