จากคนไร้บ้านสู่ “เด็กฝึกงานอาวุโส”

“เด็กฝึกงานอาวุโส”
เมื่อหลายเดือนก่อน หญิงชราตกงานคนหนึ่ง เลือกใช้ชีวิตเร่ร่อนข้างถนนแบบเต็มตัว ก่อนหน้านี้เธอเดินกะเผลกพร้อมไม้เท้าเพื่อพยายามหางานทำ ทุกที่ที่ไปไม่ตอบรับเพราะข้อจำกัดทั้งอายุและร่างกายพิการ
.
4 เมษายน ที่ผ่านมา เราชวนเธอทำงานชรารีไซเคิลคัดแยกขยะพลาสติก เธอตอบรับทั้งที่ไม่รู้ละเอียดการทำงานมากนัก ขอแค่มีงานให้ทำ ส่วนชีวิตที่เหลือเธอบอกว่างานจะช่วยจัดการให้เธอได้เอง
.
วันนั้นมีคนทำงานคัดแยกขยะพลาสติกอยู่ก่อนแล้ว 1 คน เธอเข้ามาเป็นคนที่ 2 เธอเรียกตัวเองว่า ‘เด็กฝึกงาน’ เพราะเธอรู้ตัวว่าไม่มีพื้นฐานและยังต้องเรียนรู้งานใหม่อีกหลายจุด
.
เด็กฝึกงานที่อายุเท่าพนักงานอาวุโส จะนั่งตรงเก้าอี้พลาสติกประจำตำแหน่ง เรียง ขวด แผ่นซีดี ไม้แขวนเสื้อไว้รอบตัว พยายามจดจำรายละเอียดทุกขั้นตอน ทุกประเภท ในการคัดแยก หากอันไหนจำยากเกินกำลังสมอง เธอจะฟังด้วยหู และแยกจากเสียงตอนบีบพลาสติกชนิดต่างๆ แทน
.
ไม่ใช่แค่จดจำวิธีการ เธอมักชอบถามที่มาที่ไป อยากรู้จุดหมายของงานที่กำลังทำ
.
“การที่ให้เราคัดแล้วส่งไปรีไซเคิล จุดหมายมันไม่ได้อยู่ที่เราทำงานได้เงินอย่างเดียวแล้ว เราได้ทำบ้านเมืองให้มันสะอาด ยิ่งต้องเก็บให้ดี แยกให้ดี อย่าให้มันมั่วรวมกัน”
.
“ความสุขตอนนี้ คือการได้ตื่นมาทำงาน เราให้กำลังใจตัวเองว่าสู้ๆ มาเยอะ ก่อนจะมาทำงานตรงนี้เคยเร่ร่อนนอนป้ายรถเมล์ก็ไม่เคยคิดท้อแท้ เรายังมีสองมือ ยังมีสามขา(ไม้เท้า) ถึงขาที่สามจะเป็นอุปสรรคก็ต้องอยู่ให้ได้ พยายามยืนด้วยขาของตัวเองให้ได้มาตลอด”
.
สกิลการทำงานของเธอพัฒนาจากอาวุโสฝึกงานเป็นชรารีไซเคิลเต็มตัว มีเงินเช่าบ้าน มีรายได้ซื้อถั่วงากินบำรุงสุขภาพ มีเงินก้อนหนึ่งพร้อมไปผ่าตัดรักษาขา และ ‘รู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง’

——————————————
บังเอิญ บรรเลงพิณ อดีตคนไร้บ้านวัย 68 ปี
——————————————

โครงการชรารีไซเคิล รับบริจาคขยะพลาสติก
เพื่อช่วยคนชราตกงาน ให้มีงาน มีรายได้
งานที่ว่านั้น คืองานคัดแยกขยะพลาสติก
เพื่อเปลี่ยนขยะ ให้กลายเป็นสิ่งของ
ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้
.
บริจาคขยะพลาสติกได้ที่ มูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 191 ซอยวิภาวดี 62 (แยก 4-7)
ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงตลาดบางเขน
เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210
โทร.061-909-1840

Share Button

ปัญหาที่ควรมีทางออก ผู้ป่วยจิตเวชข้างถนน

“ถึงผู้ว่าฯ ชัชชาติครับ” ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
.
ทางโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา อยากเริ่มเรื่องเพื่อปรึกษาท่านผู้ว่าฯ อย่างนี้ครับ คนที่อยู่ในภาพนี้เป็นผู้ป่วยจิตเวชที่ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ พื้นที่สาธารณะที่ว่าก็คือ ซอยตรอกศิลป์ ซอยนี้อยู่แถวศาลาว่าการกรุงเทพมหานครเลยครับ เราเลยนึกถึงท่านผู้ว่าชัชชาติขึ้นมา และเราคิดว่าท่านผู้ว่าฯ น่าจะสนใจต่อการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ครับ
.
ผู้ป่วยคนนี้ใช้ชีวิตมากว่า 10 ปีในซอยนั้น ในช่วงแรกที่มาอยู่ อาการทางจิตเวชนั้นยังไม่หนักหนามาก แต่มาในปีนี้อาการทางจิตเวชของเขาหนักหนามาก ในหนึ่งวันมีได้ถึง 3 อารมณ์ 3 พฤติกรรม ยิ้มคุยคนเดียวในช่วงเช้า มีอารมณ์โมโหเกรี้ยวกราดด่าทอคนผ่านไปมาในช่วงบ่าย ส่งเสียงดังเหมือนเสียงยิงปืนในยามค่ำคืน จุดพีคที่สุดคือการขับถ่ายเรี่ยราด
.
ผู้คนแถวนั้นเริ่มรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่โอเคแล้วกับพฤติกรรมในช่วงปีหลังของผู้ป่วย บางวันชุดเสื้อยืดกางเกงขาสั้นก็เปรอะเลอะเหม็นคลุ้งไปด้วยอุจจาระและปัสสาวะ ผู้คนแถวนั้นไม่รู้จะแจ้งใครดี เคยแจ้งหน่วยงานราชการก็แล้ว แต่ไม่มีความคืบหน้า แจ้งสก. แจ้งรายการทีวีดัง ก็ไม่มีการตอบสนองใดกลับมา พวกเขาเลยแจ้งมายังมูลนิธิกระจกเงา
.
วันนี้ทางทีมผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา จึงประสานงานกับตำรวจเพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชรายนี้เข้ารับการรักษาในสถานบำบัดรักษาเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งจริงๆ แล้วการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนในพื้นที่สาธารณะนั้นนับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายดายเลย มันมีปัญหาทุกกระบวนการ ทั้งการให้ความช่วยเหลือ การรักษา การฟื้นฟูและนั้นจึงเป็นสาเหตุให้ได้พบเห็นผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนอยู่ในพื้นที่สาธารณะเกือบทุกหนทุกแห่ง
.
เราเลยอยากขอปรึกษาผู้ว่าฯ ชัชชาติแบบนี้ครับ กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ที่พบว่ามีผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนแบบนี้อยู่มาก ส่วนใหญ่ไม่มีความอันตรายแต่ก็มีคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่อย่างที่สุด แต่มีอยู่ส่วนหนึ่งที่มีความอันตราย ทำร้ายร่างกาย ทำลายข้าวของ ซึ่งหลายเคสนั้นเป็นข่าวดัง คำถามก็คือทำไมเราจึงพบว่ามีผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนในพื้นที่สาธารณะมากเหลือเกิน และในแต่ละเคสก็ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะอย่างยาวนานเหลือเกิน ยาวนานจนคุณภาพชีวิตพัง สมองพัง
.
คำตอบก็คือ ระบบการพาพวกเขาเข้าสู่การดูแลรักษาตลอดจนการให้การฟื้นฟูประคับประคองนั้นก็ผุพังเช่นกัน สมมุติว่าถ้ามีใครสักคนหนึ่งแจ้งหน่วยงานรัฐต่างๆ เพื่อบอกว่าให้มาเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชคนนั้น หลายๆหน่วยงานนั้นก็จะบอกว่า เขาทำไม่ได้ เขาไม่มีหน้าที่ หลายๆหน่วยงานอาจมาทำหน้าที่ แต่ก็ทำได้เพียงแค่มาดู ทำได้แค่มาไล่ แต่ไม่สามารถทำการให้ความช่วยเหลือได้ ช่วยเหลือในสถานะของ “ผู้ป่วย”
.
ในบางครั้งหน่วยงานนั้นอาจให้ความช่วยเหลือ แต่ปัญหาในหลายครั้งที่พวกเขาเจอก็คือ หน่วยงานบำบัดรักษานั้น บอกว่าไม่สามารถรับได้ ด้วยเหตุผลว่า ผู้ป่วยไม่มีญาติ หรือ ไม่ได้รับเป็นผู้ป่วยใน แต่เป็นการจ่ายยาแล้วให้ผู้ป่วยกลับไปกินยาและเร่ร่อนในพื้นที่สาธารณะตามเดิม การช่วยเหลือนำส่งผู้ป่วยจิตเวชจึงเป็นเรื่องยาก ใช้พลังงานสูง หลายหน่วยงานจึงไม่ทำ และยังไม่นับรวมว่า หน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยนั้นคือตำรวจ ซึ่งผู้ป่วยต้องถูกใส่กุญแจมือ ให้นั่งอยู่กระบะท้ายของรถปิคอัพ ทั้งๆ ที่คนคนนั้นมีสถานะที่เรียกว่า “ผู้ป่วย”
.
ถ้าถามคำถามว่า ทำไมสถานบำบัดรักษาจึงตั้งเงื่อนไขไม่อยากรับผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนเข้าสู่การรักษาในระบบผู้ป่วยใน คำตอบลัดสั้นก็คือ ผู้ป่วยในระบบของสถานบำบัดรักษาเอง เขาก็อัดแน่นจนรับมือแทบจะไม่ไหวแล้ว มีผู้ป่วยหลายรายที่อยู่ในสถานะสิ้นสุดการรักษาแล้วแต่ไม่สามารถจะออกไปจากสถานบำบัดรักษาได้ เนื่องจากไม่สามารถกลับบ้านกลับครอบครัวได้ กลับไม่ได้ยังไม่เท่าไหร่ แต่ไม่สามารถจะไปสู่กระบวนการฟื้นฟูในรูปแบบของสถานสงเคราะห์ของรัฐ (ดูแลโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ) ได้ ผู้ป่วยในจึงสะสมจนล้นระบบ คนเก่าไปไม่ได้ คนใหม่เข้ามาเติม
.
เช่นกันถ้าถามคำถามว่า ทำไมสถานสงเคราะห์ของรัฐจึงไม่สามารถรับผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนที่สิ้นสุดการรักษาจากสถานบำบัดรักษาได้นั้น คำตอบเดียวกันคือสถานสงเคราะห์เหล่านั้นก็อยู่ในสภาพของคนที่เข้ารับการสงเคราะห์ในสถานสงเคราะห์นั้น เป็นสภาพคนล้นระบบเช่นกัน ระบายคนออกไม่ได้ คนใหม่ก็เติมเข้ามา จนวันหนึ่งคนล้นระบบสถานสงเคราะห์ที่มีอยู่ทั้งหมดเป็นที่เรียบร้อย(สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งทั่วประเทศมี11แห่ง สถานสงเคราะห์ที่ดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่สิ้นสุดการรักษาแล้วแต่ไม่สามารถกลับบ้านได้นั้นมี2แห่งทั่วประเทศ)
.
ปัญหาผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนในพื้นที่สาธารณะนั้น เป็นปัญหาที่เรื้อรังมายาวนาน และดูเหมือนว่าปัญหานี้จะเพิ่มขนาดขึ้นอย่างมากในอนาคต ด้วยเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหานั้นยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด ทั้งในเชิงระบบช่วยเหลือดูแลรักษาฟื้นฟูที่ได้เล่าไป ทั้งในการคาดคะเนจากตัวเลขของกลุ่มผู้ป่วยจิตเภท ตามตัวเลขที่จิตแพทย์มักใช้อ้างอิงก็คือ ผู้ป่วยจิตเภทจะคิดเป็น 1% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และผู้ป่วยจิตเภทที่มีอาการเรื้อรังมีปัญหาในการดำรงชีวิตนั้นก็คิดเป็น 1% ของผู้ป่วยจิตเภททั้งหมด
.
โครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา ในฐานะกลุ่มคน องค์กรที่ดำเนินการในการแก้ไขปัญหาเรื่องผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนในพื้นที่สาธารณะมาเป็น 10 ปี และพยายามแก้ปัญหาเท่าที่ศักยภาพในด้านต่างๆเรามีพอที่จะทำให้เกิดรูปธรรมการแก้ไขปัญหานี้ เราจึงอยากขอปรึกษาผู้ว่าฯชัชชาติผ่านโพสต์นี้ เพื่อร่วมหาทางออกในการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ เพื่อที่ว่าผู้ป่วยจิตเวชที่เร่ร่อนอยู่ในพื้นที่สาธารณะนั้นจะได้เข้ารับการรักษาฟื้นฟู ได้เข้าสู่การปรับปรุงคุณภาพชีวิต จนสามารถออกมาใช้ชีวิตโดยตัวพวกเขาเองได้ และเราจะได้มองหาทางป้องกันเพื่อลดการเกิดขึ้นของกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนให้ได้มากที่สุด ถ้ามีเกิดขึ้นก็ช่วยเขาได้ทันเวลา รวดเร็วมีคุณภาพ ตรงตามสถานะความเป็น “ผู้ป่วย” ของพวกเขา
.
ปัญหานี้มีทางออก ทางแก้ไขอย่างแน่นอน เราเองมองเห็นหนทางนั้นแล้ว เราเองอยากจะนำเสนอเรื่องนี้เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกัน โครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา หวังอย่างยิ่งว่า ท่านจะเปิดการรับฟังปัญหานี้อย่างเป็นทางการ และทำการแก้ไขปัญหานี้ร่วมกันครับ

Share Button

สะท้อนปัญหาของรัฐผ่านวงจรชีวิต “ผู้ป่วยจิตเวช”

10 กว่ารอบได้แล้ว ที่เคสนี้วนเวียน​เข้าออกระหว่างข้างถนนและโรงพยาบาล​จิตเวช
.
10 กว่าเหตุ ที่เคสนี้ก่อขึ้นและตำรวจต้องมาควบคุม​ตัวนำส่งโรงพยาบาล
.
เหตุที่เคสนี้ก่อขึ้น​ มีตั้งแต่สร้างความวุ่นวาย​ เช่น​ ตะโกน​โวยวาย​ ด่าว่าผู้คน​ ทำลายข้าวของทั้งสาธารณะ​และของเอกชน​ เดินกลางถนน​ กระโจนเข้าหารถ​ อึฉี่กลางพื้นที่สาธารณะ​ ล่าสุดคือกระโดด​ไปหน้ารถพยาบาล​และไปหักที่ปัดน้ำฝนของรถ​
.
จากข่าวเคสนี้รับการรักษา​อยู่ที่โรงพยาบาล​จิตเวช​ และตำรวจ​ สภ.ที่คุ้นเคย​กับการนำส่งเคสไปโรงพยาบาล​ ก็ยังออกปากออกมาว่า​ “รักษา​แล้วเดี๋ยวก็กลับมาวุ่นวายที่ข้างถนนอีก​เหมือนเดิม อีกทั้งทาง รพ. ไม่มีแผนกับเคสนี้อย่างชัดเจน​ ด้วยเป็นเคสเร่ร่อน ไม่มีญาติ ทำให้ต้องเกิดการนำส่งแบบนี้อยู่หลายครั้งเลย “ออกมาอีกพวกผมก็เอาตัวเข้าโรงพยาบาล​ซ้ำอีกนั่นแหละ​”
.
ตามเนื้อหาข่าว​ เคสนี้เกิดเหตุ​ขึ้นที่​ อ.หาดใหญ่​ จ.สงขลา​ เราได้มีโอกาส​พูดคุยกับตำรวจที่รับผิดชอบในการนำส่งเคสเข้าโรงพยาบาล​ ตำรวจให้ข้อมูล​ว่า​ การวนเวียน​เข้าออกระหว่างข้างถนนกับโรงพยาบาล​ของเคสนับ 10 ครั้งได้นั้น​ เกิดขึ้นในช่วงเวลา 3-4 เดือนของปี​ 2565 นี้เอง​
.
ก่อความวุ่นวาย​ –> นำส่งรักษา​–> รักษา ​–> ออกจากรพ. –> เร่ร่อน –> ก่อความวุ่นวาย –>
.
ถามว่าจะทำอย่างไรที่จะตัดวงจรนี้ได้​ ขั้นตอนสำคัญ​ที่ต้องทำให้ได้นั่นคือ​ หลังจากที่สิ้นสุดการรักษา​การนำเข้าสู่ระบบ​การฟื้นฟูจึงสำคัญ​ เป็นความสำคัญ​ แต่ก็ไม่ถูกให้ความสำคัญ​สักเท่าไหร่จากรัฐ​
.
รัฐไม่ให้ความสำคัญ​อย่างไร​บ้าง​ สถานฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวช​โดยตรงที่เป็นของรัฐมีอยู่ 2 แห่งเท่านั้นทั้งประเทศ​ คือสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านกึ่งวิถีชาย, หญิง​ ซึ่งคนเต็มแน่นรอคิวเข้านับร้อยคิว​ สถานที่ฟื้นฟูที่รองลงมาคือ​ สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง​ มีทั้งหมด 11 แห่งทั่วประเทศ​ แต่ปัญหาร่วมของสถานสงเคราะห์​ทั้ง 11 แห่งนี้คือ​ ไม่มีกระบวนการดูแลผู้ป่วยจิตเวช​อย่างเป็นระบบ​ ในหลายสถานฯ​ ไม่มีนักจิตวิทยา​อยู่สักคนเดียว​ ซ้ำร้ายทุกที่ทุกแห่งอยู่ในสภาพที่คนรับบริการล้นแน่นระบบการดูแลฟื้นฟูไปหมดแล้ว​
.
เรามี​ข้อมูลอยู่​ว่า​ มีเคสในลักษณะเดียวกัน​นี้อยู่ไม่น้อย​ ใช้ชีวิต​เร่ร่อนด้วยอาการ​จิตเวช​อยู่ที่ข้างถนน​ และวนเวียนเข้าออกระหว่างข้างถนนกับโรงพยาบาล​จิตเวช​เหมือนกับเคสนี้​
.
ประเด็นสำคัญ​ของบทความนี้คือ​ การจะตัดวงจรของผู้ป่วยจิตเวช​ที่สลับเข้าออกระหว่างข้างถนนกับโรงพยาบาล​จิตเวช​ได้นั้น​ กลไกสำคัญ​คือระบบการฟื้นฟู​ ซึ่งเราคิดว่ารัฐต้องให้ความสำคัญ​ที่มากกว่า​ที่เห็นและเป็นอยู่อย่างมากมายนัก

โครงการ​ผู้ป่ว​ยข้าง​ถนน​ มูลนิธิ​กระจกเงา​
Cr.ข่าวสด
รายละเอียด​ข่าว : https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_7113583

Share Button

ความรู้สึกของคนที่รอให้การตามหาสิ้นสุดลง

“ตื่นเช้ามาได้ยินข่าวในทีวี เจอโครงกระดูกคนชื่อ นิว ที่ระยอง ย่ารีบลุกขึ้นมาดู ศพใส่กางเกงยีนส์ขาสั้น ใส่นาฬิกา ใส่หมวก เหมือนหลานเราเลย ห้วงเวลาหายมันก็ช่วงเดียวกัน ย่าเลยตะโกนบอกปู่ว่า ไอ้นิวเราแน่เลย รีบโทรไปบอกลูกชายให้ดูข่าว”
.
“ตกลงกันว่าต้องไปดู ต้องใช่นิวแน่ๆ เลย ข้อมูลมันคล้ายกันมาก นั่งร้องไห้กันตลอดทางกับแม่เขา คุยกันว่ามันฆ่าหลานโหดร้ายเหลือเกินนะ ใจก็คิดว่านิวไปตายที่นั่นได้ยังไง คิดทำใจ ตายก็คือตาย เราต้องรับให้ได้ นิวตายจริงๆ หรือ ทำไมไม่กลับมาหาย่า ถ้ามันไม่ตาย มันต้องกลับมาหาเราแล้ว ก็คิดว่าเป็นนิว หลานย่าจริงๆ ที่ตาย”
.
“เขาก็เก็บดีเอ็นเอ พ่อแม่มันไปตรวจ แต่ข้อมูลที่โรงพัก มันเริ่มคลี่คลายตั้งแต่วันนั้น ว่าน่าจะเป็นคนละนิวกัน”
.
“พอผลสืบสวน ผลดีเอ็นเอ ออกมาชัดเจนว่าศพนิรนามนั้นไม่ใช่นิว ย่าก็ดีใจที่เขาไม่ตายแบบทรมาน แต่ย่าเองที่ยังทุกข์ทรมานใจอยู่ ถ้านิวไม่ตายแล้วนิวอยู่ที่ไหน มองจากหน้าบ้านเห็นภูเขาลพบุรี ย่าวิ่งมาตะโกนเรียก “ไอ้นิว อยู่ที่ไหนลูกกลับบ้านมาหาย่าซะที ได้ยินเสียงย่าบ้างมั้ย” คนแถวบ้านก็ถามว่า แล้วมันอยู่ไหนล่ะ ย่าก็บอกว่าเรียกมันกลับบ้าน ให้มันโล่ง มันได้ระบายออกจากตัวเราบ้าง”
.
“พอพึ่งทางไหนไม่ได้แล้ว ย่าวนเวียนมานั่งเขียนบันทึก ระบายเป็นตัวหนังสือออกมา เขียนไปเรื่อยๆ ระบายความรู้สึกออกมา เขียนไปน้ำตาไหลไป ที่ระบายได้ก็คือน้ำตา เป็นเพราะย่าอุตส่าห์บนให้เขาเป็นไปทหาร ทำให้เขาไปตายที่ไหนไม่รู้ อยากให้เขามีวินัย ได้เป็นคนขึ้นมา แต่กลับกลายเป็นความทุกข์ไปตลอดชีวิตย่า”

———————————————————————
นางพรทิพย์ เบญจวรณ์ อายุ 62 ปี (ย่า)
พลทหารพนา หรือนิว เบ็ญจวรณ์ อายุ 21 ปี (คนหาย)
———————————————————————

สนับสนุน การพาคนหายกลับบ้าน
บัญชีโครงการศูนย์ข้อมูลคนหาย โดยมูลนิธิกระจกเงา
SCB 202-258-288-6

Share Button

ช่วยผู้ป่วยเร่ร่อนได้อีกราย เธอไม่ต้องคุยกับหุ่นลมอีกแล้ว

เธออยู่แถวรัชดา ผู้แจ้งให้ข้อมูลว่าเธอพูดคนเดียวเป็นภาษาจีน ใช้ชีวิตนั่งนอนที่ข้างถนน พบเจอน่าจะร่วมอาทิตย์ได้แล้ว แต่ผมของเธอเหมือนอยู่ข้างถนนมาได้เนิ่นนานมากกว่านั้น
.
บางคืนวันเธอนั่งคุยกับหุ่นลมของปั๊มน้ำมันด้วยภาษาจีน
.
รัชดามีนักท่องเที่ยวจีน แตกต่างตรงที่เธอท่องเที่ยวไปในโลกของเธอกับเพื่อนเธอในจินตนาการ
.
การท่องเที่ยวของไทยเปิดรับดูแลคนจีน
การสาธารณสุขไทยก็ยังคงเปิดรับ
ดูแลนักท่องเที่ยวจีนในบางราย
.
เธอได้รับความช่วยเหลือเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
.
ขอบคุณเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ห้วยขวาง ที่ช่วยเหลือนำส่งเธอตามพรบ.สุขภาพจิต
ขอบคุณสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยาที่รับเธอเข้ารับการบำบัดรักษาเป็นที่เรียบร้อย

—————————————

สนับสนุน​การให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนได้ที่​
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-58289-4 SCB

Share Button

รักริมถนน: เรื่องเล่าของชายหนุ่มที่พาแฟนมาอาบน้ำ

ในวันที่เราเปิดให้บริการ ซักผ้า อบผ้า และอาบน้ำให้กับคนไร้บ้านที่อยู่ในพื้นที่แถวราชดำเนิน เรามักพบกับชายคนนึงกำลังเข็นรถเข็นอย่างช้าๆ บนรถเข็นพบผู้หญิงคนนึง รูปร่างเธอบอกได้ว่าร่างกายไม่แข็งแรง ทั้งสองคนเป็นคู่รักกัน ทั้งคู่เป็นคนไร้บ้าน ทั้งคู่มักตรงดิ่งมาเพื่อใช้บริการ อาบน้ำ และซักอบผ้า
.
ชายหนุ่มนั้นวัยเกือบ50ปี ตกงานมาได้เป็นปีแล้ว เขารับจ้างทาสี แต่หลังๆ มานี้งานไม่มีให้ได้ไปทำ ส่วนหญิงสาวนั้นอายุยังอยู่ในวัย 40 ต้นๆ
.
ชายหนุ่มพาแฟนสาวมาอาบน้ำ เขามักบอกว่าแฟนอยากอาบน้ำเลยพามา เมื่อแฟนอาบเสร็จเขาจะอาบเป็นคิวถัดไป ระหว่างนั้นเสื้อผ้าของทั้งคู่ก็อยู่ในเครื่องซักผ้าและเครื่องอบผ้าเป็นที่เรียบร้อย
.
ระหว่างรอเวลาซักและอบผ้าประมาณ 1 ชั่วโมงได้ ชายหนุ่มเล่าถึงการโคจรมาพบกันของตัวเขาและแฟนสาว
.
เขาเล่าว่า เขานั้นออกมาไร้บ้านได้สักพักใหญ่แล้วและเมื่อเขาเลือกมานอนที่ถนนราชดำเนิน เขาพบเธอที่นั่น เขาบอกเมื่อเขาเห็นเธอ เขารู้สึกสงสารทั้งจากความพิการ ความเป็นผู้หญิงและไหนจะต้องมาใช้ชีวิตไร้บ้านเข้าไปอีก เขาจึงเอ่ยปากบอกว่าเขาจะดูแลเธอเอง นับแต่นั้นต้นรักก็เติบโต
.
เมื่อเราซักถามต่อไปว่า หญิงสาวได้ทำบัตรคนพิการแล้วหรือไม่ ชายหนุ่มตอบว่ายัง หญิงสาวซึ่งแม้นั่งรถเข็นอยู่ก็ตอบแทรกขึ้นมาว่า แค่ลูกสะบ้าหลุดเองยังไม่ได้พิการ แต่เมื่อถามว่าอยู่ในสภาพเดินไม่คล่องต้องใช้รถเข็นนั้นนานเท่าไหนแล้ว ชายหนุ่มตอบแทนขึ้นมาว่า ก็อยู่สภาพแบบนี้เป็นปีแล้วนะตั้งแต่ผมเจอเขา
.
ชายหนุ่มเปรยขึ้นว่า ผมอยากทำงาน แต่ติดตอนที่ผมไปทำงานไม่รู้จะให้แฟนไปอยู่ที่ไหน
.
ในเรื่องงาน เราตอบว่างั้นก็มาสมัครทำงานกับจ้างวานข้าได้เลย เขาพยักหน้าเชิงตอบรับ แต่ก็บอกแบ่งรับแบ่งสู้มาว่า เดี๋ยวผมขอดูก่อนว่าจะพาแฟนไปอยู่ที่ไหน พอจะฝากเพื่อนได้หรือเปล่า และวันนัดหมายนั้นเขาก็ไม่ได้มาตามที่นัดหมายไว้
.
แต่วันอังคารและวันศุกร์นี้ รถซักอบอาบ จะเปิดให้บริการอีกครั้ง เราน่าจะได้พบเขาและแฟน เราตั้งใจจะสอบถามเขาอีกครั้งในเรื่องงาน แล้วดูว่าเขาติดเงื่อนไขอะไรที่ทำให้มาทำงานไม่ได้ เพื่อเราจะได้ช่วยกันกำจัดเงื่อนไขนั้นให้หมดไป รวมถึงเรื่องการได้มาซึ่งการเข้าถึงสิทธิคนพิการของหญิงสาวที่เธอควรจะได้รับ
.
มูลนิธิกระจกเงา x Otteri x กรุงเทพมหานคร

____________________

เรามีจุดบริการ ซักผ้าอบผ้าและห้องอาบน้ำให้คนไร้บ้าน รวมถึงสิ่งอื่นๆ ที่จะนำไปสู่การให้กลุ่มคนไร้บ้านสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการเปิดเป็นช่องทางในการให้คนไร้บ้านได้เข้ามาเพื่อการแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และที่สำคัญคือการเข้าถึงงานที่มีรายได้มั่นคงต่อเนื่อง และเราเรียกสิ่งนี้ว่า “สดชื่นสถาน” ซึ่งมันไม่ใช่ความสดชื่นแค่จากการอาบน้ำใส่เสื้อผ้าใหม่ แต่มันรวมถึงความสดชื่นที่มาจากชีวิตที่ดีขึ้น
.
เรากำลังจะเปิดวันให้บริการคนไร้บ้านเพิ่มเติม จากที่เราเปิดแค่ในวันศุกร์ เรากำลังจะเปิดให้บริการเพิ่มในวันอังคารอีก 1 วัน และเรามีแนวโน้มที่จะเปิดให้บริการทุกวัน เนื่องจากเราได้พูดคุยขอให้ทางกรุงเทพมหานครสนับสนุนพื้นที่ถาวรให้ เพื่อที่จะให้เราสามารถให้บริการนี้ได้อย่างเป็นระบบระเบียบมากขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อให้คนไร้บ้านได้เข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านสภาพชีวิตจากคนไร้บ้าน ไปสู่คนมีบ้านให้ได้จำนวนมากเท่าที่จะมากได้
.
สนับสนุนการให้บริการสวัสดิการกับกลุ่มคนไร้บ้านในนาม “สดชื่นสถาน” ได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-2-58289-4 SCB

Share Button

ทุกครั้งที่พบคนเร่ร่อน เธอจะนึกถึงลูกชายที่หายไป

“บ้านที่อยู่ตอนนี้ เคยเป็นบ้านของแม่ แต่ตอนโจ้โดนจับ แม่เอาบ้านไปจำนอง เพื่อสู้คดี เราไม่มีเครดิตอะไร เลยต้องไปจำนองกับพวกเงินกู้นอกระบบ เขาให้เวลาปีเดียว เราไม่มีเงินไปคืน สุดท้ายบ้านโดนยึด กลายเป็นตอนนี้แม่เช่าบ้าน ที่เคยเป็นของตัวเองอยู่”
.
“ตอนนั้นโจ้เป็นวัยรุ่น เขาไปทำงานกับน้าที่กรุงเทพฯ แล้วคนมีเรื่องกัน โจ้อยู่ตรงนั้นพอดี คนมีเรื่องเขาโยนปืนมาให้โจ้ ด้วยความที่เขาซื่อๆ ก็เก็บปืนไว้ แล้ววันนั้นเขาไปเยี่ยมเพื่อนที่โรงพยาบาล พยาบาลเห็นโจ้มีปืนติดตัว เลยแจ้งตำรวจมาจับ”
.
“โจ้รับสารภาพ เขาไม่เคยมีประวัติคดีอะไรมาก่อน ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกแต่ให้รอลงอาญา 2 ปี ต้องไปรายงานตัวที่สำนักงานคุมประพฤติ ก็ไปไม่เคยขาด อยู่ๆ ตอนนั้นมีตำรวจมาบอกว่า คสช.เขามีคำสั่งกวาดล้างคดีปืน คดีมีการอุทธรณ์ เขาพามาขึ้นศาลโจ้โดนตัดสินจำคุกหนึ่งปีหกเดือน ก็เข้าเรือนจำวันนั้นเลย”
.
🎶อยากให้เธอ อยู่อย่างนี้ ตลอดไป อยู่อย่างนี้กับฉัน ไม่ต้องจากกันได้มั้ย🎶”โจ้ชอบร้องเพลงท่อนนี้ของเพลง “สู้เพื่อรัก” ของ หลง ลงลายให้แม่ฟัง โจ้ชอบเล่นกีต้าร์ร้องเพลง เขาเป็นคนไม่สุงสิงกับใครตั้งแต่เด็กๆ เขาจะชอบมากอดมาหอมแม่ ไม่เกเรอยู่ติดบ้าน”
.
“ตอนเขาติดคุกที่กรุงเทพฯ แม่ไปเยี่ยมเขาครั้งแรก บอกเขาให้ทำตัวให้ดี อดทนเดี๋ยวก็ได้ออกมาแล้ว เขายังปกติดีอยู่ แต่พอแม่ไปเยี่ยมครั้งต่อๆมา เหมือนเขาผิดปกติ นั่งเหม่อลอย สายตาเขาไม่เหมือนเดิม ถามซ้ำๆว่าแม่มายังไง มากับใคร แม่รู้เลยว่าเขาไม่ปกติแล้ว หรือว่าเขาไปโดนอะไรมาในคุก”
.
“โจ้ติดคุกจริงแค่ 6 เดือน ทุกครั้งที่แม่ขึ้นไปเยี่ยมเขา จะฝากเงินไว้ให้ตลอด พอวันปล่อยตัว เขามีเงินเก็บ 6,000 บาท เพราะเขาไม่ใช้อะไรเลย บอกว่าไม่รู้จะซื้ออะไร เพราะในนั้นมีข้าวให้กินฟรี ตอนออกมาเขายังแจกเงินคนที่ไม่มีญาติมาเยี่ยม โจ้เป็นคนจิตใจดี เขาชอบเก็บหมาเก็บแมวตามข้างทางมาเลี้ยงที่บ้าน บางวันแม่ทำแกงหม้อใหญ่ เขาก็ตักไปแจกคน”
.
“หลังออกจากคุก แววตาโจ้เปลี่ยนไปมาก จากเคยร่าเริงเป็นเซื่องซึม บางวันพูดคนเดียว หัวเราะคนเดียว พาเขาไปโรงพยาบาล หมอบอกว่า เขาถูกกระทำบางอย่างที่กระทบกระเทือนอย่างหนัก ตอนนี้แม้จะอายุยี่สิบแต่สมองเขาเหมือนเด็กประถม ก็รักษาเขา กินยาจิตเวชต่อเนื่อง”
.
“จนวันหนึ่ง ยายเขาเป็นคนพูดเสียงดัง โจ้ตกใจวิ่งไปตบยาย แม่รีบวิ่งไปล๊อคคอเขา เขาก็ตบโดนแม่ ตะโกนพูดคนเดียว ว่า “ทรยศ ทรยศ” แม่ค่อยๆบอกเขาว่านี่ คือแม่นะ แม่กอดเขานะ ตอนนี้อยู่ที่บ้านเรา ไม่ได้อยู่ที่คุก เขาค่อยๆ พูดว่า “อยู่บ้านๆ”แล้วหัวเราะออกมาเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แม่เจ็บปวดมาก ลูกเราติดคุก 6 เดือนแต่เขาโดนอะไรมาบ้าง ถึงเปลี่ยนเป็นคนละคน”
.
“ก่อนวันที่เขาหายไป เขายังอ้อนแม่ให้อาบน้ำให้เขา แต่แม่บอกว่าเขาโตแล้วให้อาบเอง พอเขาอาบเสร็จแม่มาแต่งตัวปะแป้งให้เขาเหมือนเด็กๆ พอวันต่อมาเขาก็หายออกจากบ้านไป แม่ก็ขี่มอเตอร์ไซค์ออกไปตามหา ยืมรถยนต์ของเพื่อนออกไปดูตามที่ต่างๆ”
.
“ทุกวันนี้เวลาเจอคนเร่ร่อนจะไปดูว่าใช่ลูกเรามั้ย มันหดหู่ ถ้าโจ้ต้องอยู่ในสภาพแบบนี้ ผ่านมาสองปีกว่าแล้ว ไม่รู้ว่าเขายังมีชีวิตอยู่มั้ย แต่ตราบใดยังไม่เจอศพเขา แม่ก็หวังว่าวันหนึ่งเขาจะได้กลับบ้าน”
——————————————————-
อุมาพร พุทธศรี แม่
สหภาพ พุทธศรี (โจ้) คนหาย
——————————————————-
คนหาย !!!
ชื่อ นายสหภาพ พุทธศรี หรือ โจ้ อายุ 24 ปี
หายจากบ้านที่บ้านเกาะยาว ต.หน้าสตน
อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช
เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2563
.
คนหาย สูง 178 ซม. หนัก 80 กก.
ผิวสีขาว-เหลือง ลักษณะผมสั้นฟู ผมสีดำ
มีรอยแผลเป็นตามร่างกาย
.
การแต่งกายสวมเสื้อยืดสีดำ
มีลายสกรีนด้านหลังสีเหลือง
สวมกางเกงขาสามส่วนสีเขียวขี้ม้า
สวมรองเท้าแตะหนีบสีดำสายคาดสีส้ม
.
***สัปดาห์ที่แล้วทีมงานเดินทางมาประสานเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอแม่โจ้ ที่ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช เพื่อตรวจเทียบกับศพนิรนามของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม***
——————————————————-
สนับสนุน การพาคนหายกลับบ้าน
บัญชีโครงการศูนย์ข้อมูลคนหาย โดยมูลนิธิกระจกเงา
SCB 202-258-288-6
Share Button

DNA จากเยื่อบุกระพุ้งแก้ม สู่ความหวังในการพบคุณตาที่หายไป

ยายอายุ 76 ปี
ยอมหยุดเคี้ยวหมาก 3 วัน
ให้ช่องปากสะอาดที่สุด
เพื่อเก็บดีเอ็นเอที่เยื่อบุกระพุ้งแก้ม
.
ยายคือพี่สาวของตาผุยอายุ 72 ปี
ที่หายตัวไปจากห้องพักคนงานของลูกสาว
ที่ถนนนิมิตใหม่ กรุงเทพฯ
ตั้งแต่เมื่อ 4 เดือนที่แล้ว
.
กรณีนี้ไม่สามารถเก็บดีเอ็นเอ
ลูกสาวของตาผุยได้
เพราะเป็นลูกที่ตาผุยขอรับมาเลี้ยง
ในขณะที่ญาติสายตรงเหลือเพียงคนเดียว
คือ ยายคนนี้ซึ่งเป็นพี่สาว
.
ยายไม่เคยทราบว่า
ดีเอ็นเอคืออะไร
เยื้อกระพุ้งแก้มจะหาน้องชายได้อย่างไร
.
ยากมากที่ยาย
หรือครอบครัวคนหายในต่างจังหวัด
จะเดินไปโรงพัก เพื่อขอเก็บดีเอ็นเอ
มาเทียบกับศพนิรนามด้วยตัวเอง
.
ทีมงานจึงเดินทางไป-กลับ1,200 กม.
อย่างน้อยเป็นความหวังว่า
มีตัวอย่างดีเอ็นเอของญาติตาผุย
อยู่ในระบบก่อนทุกอย่างจะสายไป.
—————————————————
สถานการณ์คนหายปัจจุบันกลุ่มผู้สูงอายุหลงลืม พลัดหลงหายออกจากบ้านเป็นจำนวนมาก มีแนวโน้มว่าคนกลุ่มนี้จะเร่ร่อนตามข้างถนน ซึ่งกลายเป็นคนนิรนามในสถานสงเคราะห์หรือกลายเป็นศพนิรนามจากอุบัติเหตุหรือจากการโดนทำร้าย จึงควรมีการเก็บดีเอ็นเอญาติคนหาย เพื่อเทียบกับศพนิรนาม
—————————————————————
สนับสนุน การพาคนหายกลับบ้าน
บัญชีโครงการศูนย์ข้อมูลคนหาย โดยมูลนิธิกระจกเงา
SCB 202-258-288-6
Share Button

คำสัญญาของคุณตาที่ตามหาน้องชายมาตลอด 3 ปี

หลังความตายของพ่อกับแม่
คุณตาอายุ 74 ปีซึ่งเป็นพี่ชายคนโต
ถูกฝากฝังให้ดูแลน้องชายคนสุดท้อง
ทุกวันคุณตาและภรรยารวมทั้งญาติๆ
จะเตรียมข้าวให้น้องไว้กินระหว่างวัน
เตรียมเงินไว้ให้เดินไปซื้อของกินเล่น
.
น้องชายคนสุดท้องชื่อ พรม
เขาอายุห้าสิบกว่าปีแล้ว
แต่เขาไม่รู้จักชื่อตัวเอง
เขาเป็นคนพิการทางสติปัญญา
เขาจะคุ้นชื่อที่ทุกคนเรียกว่า “อ่อน”
.
เขามักเดินไปเล่นแถวบ้าน
ตกเย็นเขาจะเดินกลับมาเอง
หมู่บ้านเขาชื่อ “คลองปลาโด”
แต่ถ้ามีใครถามว่าบ้านอยู่ไหน
เขาจะตอบได้เพียง “อยู่โด”
.
เขาเดินหายจากบ้านไป 3 ปีแล้ว
ไม่กลับมาอีกเลย
พี่ชายและญาติออกตามหาจนทั่ว
แต่ไม่พบเบาะแสของเขา
.
สัปดาห์ก่อนเรานัดคุณตาที่โรงพัก
คุณตามาผิดเวลาเกือบชั่วโมง
หลังจอดรถสามล้อเครื่อง
คุณตาเดินขากะเผลกมาหน้าอาคาร
ถอดรองเท้าแล้วเดินขึ้นบันได
ตาบอกว่าที่มาช้าเพราะตอนเช้า
ที่บ้านกำลังไปปลูกมันสำปะหลังกัน
.
เราพาคุณตามาเก็บดีเอ็นเอ
เพื่อเทียบกับศพนิรนาม
ครอบครัวเคยทำบุญแจกข้าว
เขียนชื่อของ พรม ลงในถุงข้าว
หวังให้เขาได้รับบุญกุศลบ้าง
คุณตาบอกว่าไม่รู้จะตามหาที่ไหน
และยังจำคำที่พ่อแม่ฝากฝังไว้ว่า
“อย่าทิ้งมันนะ”
————————————————————-
สถานการณ์คนหายปัจจุบัน ผู้ป่วยจิตเวชและพิการทางสมองหายออกจากบ้านเป็นจำนวนมาก มีแนวโน้มว่าคนกลุ่มนี้จะเร่ร่อนตามข้างถนน ซึ่งกลายเป็นคนนิรนามในสถานสงเคราะห์หรือกลายเป็นศพนิรนามจากอุบัติเหตุหรือจากการโดนทำร้าย จึงควรมีการเก็บดีเอ็นเอญาติคนหาย เพื่อเทียบกับศพนิรนาม
—————————————————————
สนับสนุน การพาคนหายกลับบ้าน
บัญชีโครงการศูนย์ข้อมูลคนหาย โดยมูลนิธิกระจกเงา
SCB 202-258-288-6
Share Button

ทุกเบาะแสมีความหมาย ยังมีหวังที่จะได้พบลูกชายที่หายไป

ความหวัง
“มีชายเร่ร่อนผอมมากๆ
ผมยาวจนพันกันเป็นขดๆ
หน้าเหมือนคุณคนนี้
เดินถอดเสื้ออยู่แถวศรีราชา…”
.
นี่คือเบาะแสแห่งความหวัง
หลังเราเล่าเรื่องคนหายจิตเวชรายหนึ่ง
ลงในหน้าเพจเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
และมีเบาะแสแจ้งกลับมาทันที
.
เบาะแสนี้แม่คนหายยังเข้าคอมเมนต์
จนทำให้เราทราบว่า
แม่คนหายเป็น “แฟนตัวยง”
ของเพจมูลนิธิกระจกเงา
แปลว่าเธอยังคงเฝ้ารอความหวัง
และติดตามเบาะแสด้วยใจจดจ่อ
.
ทีมงานลงพื้นที่มาตั้งแต่เมื่อเย็นวานนี้
จนกระทั่งเช้าวันนี้เราเจอชายเร่ร่อน
ตรงตามเบาะแสที่แฟนเพจแจ้งมา
.
ความหมาย
ทีมงานรีบส่งภาพชายเร่ร่อน
ให้แม่คนหายตรวจสอบทันที
แม้คำตอบจะยังไม่ใช่คนหาย
ที่แม่และทีมงานกำลังตามหา
แต่ทุกเบาะแสล้วนแล้วแต่มีความหมาย
อย่างน้อยทำให้รู้ว่า
แม่ไม่ได้ตามหาลูกเพียงลำพัง
และคนในสังคมยังมีสายตา
ที่มองเห็นเพื่อนมนุษย์ที่ลำบากเดือดร้อน
.
#ความช่วยเหลือ
แม้ชายเร่ร่อนคนนี้
จะยังไม่ใช่ลูกชายของแม่รายนี้
แต่ทีมงานพยายามตรวจสอบข้อมูล
ว่าอาจเป็นคนหายรายอื่นๆ หรือไม่
และจะส่งข้อมูลให้ทีมงานผู้ป่วยข้างถนน
ลงพื้นที่ประสานให้ความช่วยเหลือ
ชายเร่ร่อนคนนี้เป็นลำดับต่อไป
.
ความทรงจำที่งดงาม
มีคอมเมนต์หนึ่งในประกาศคนหายรายนี้
“เมื่อก่อนจะเลี่ยงคนเร่ร่อน คนสติไม่ดี
หรือคนเกิดอุบัติเหตุ เพราะกลัว
แต่หลังจากตามข่าวมูลนิธิกระจกเงาบ่อยๆ
เราจะมองทุกครั้ง เผื่อเป็นคนหายในประกาศ
จำภาพตอนที่แม่เจอน้องสาว
หลังจากที่หายไปหลายสิบปีได้เลย
อยากให้ทุกคนเจอคนที่ตามหา”—————————————————
สนับสนุนให้ทุกความหวังเป็นจริง
ร่วมพาคนหายกลับบ้าน
บัญชีโครงการศูนย์ข้อมูลคนหาย โดยมูลนิธิกระจกเงา
ไทยพาณิชย์ เลขที่ 2022582886
Share Button