จากกระจกเงาถึงศพนิรนาม

ถึง ศพนิรนาม
.
หากดวงวิญญาณของคุณ ยังดำรงอยู่ในโลกหลังความตาย คุณคงรับรู้แล้วว่า การเป็นศพนิรนามในประเทศนี้ อาจทำให้ร่างที่ไร้ชื่อและนามสกุลของคุณ ถูกฝังอยู่ในสุสานอีกนานแสนนาน
.
ความตายที่ไม่ปรากฏเอกสาร ไม่รู้ชื่อนามสกุล ร่างของคุณจะถูกส่งไปชันสูตรที่นิติเวช โรงพยาบาลต่างๆ คุณอาจเห็นญาติของคุณตระเวนตามหาคุณในฐานะคนหาย โดยไม่รู้ว่า คุณคือ คนตายที่ไม่ทราบชื่อ หรือกระทั่งหากญาติสงสัยว่าคุณอาจเสียชีวิตแล้ว การตรวจสอบว่าศพของคุณอยู่แห่งหนตำบลใด ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะแต่ละโรงพยาบาลต่างเก็บข้อมูลไว้ ไม่รวมเป็นฐานข้อมูลเดียวกัน
.
คุณอาจเคยได้ยินใครหลายคน พูดเรื่อง “การคุ้มครองสิทธิของศพ” จนคุณคงแปลกใจว่า การคุ้มครองคุณ คือ การเก็บข้อมูลของคุณให้ค้นหาได้ยากที่สุด เก็บไว้ในแฟ้มที่ใครก็เข้าไม่ถึง จนญาติที่กำลังตามหาคุณหมดแรงกายแรงใจไปเอง
.
คุณรู้มั้ยว่า แม้ร่างไร้วิญญาณของคุณจะได้เก็บตัวอย่างดีเอ็นเอไว้ แต่จะไม่มีประโยชน์เลย ถ้ากระบวนการที่ญาติของคุณจะเข้าสู่การเก็บดีเอ็นเอ เพื่อเทียบกับคุณ มันไม่ง่ายในแบบที่ชาวบ้าน สามารถเดินไปบอกตำรวจโรงพักด้วยตัวเองได้ว่าต้องการตรวจดีเอ็นเอกับศพนิรนาม
.
คุณคงเจ็บปวดและโดดเดี่ยว ก่อนคุณเสียชีวิต คุณอาจถูกกระทำจากฆาตกรด้วยความโหดเหี้ยม การพบศพคุณ ควรได้สืบสวนสอบสวนว่าคุณเป็นใคร และใครทำร้ายคุณ แต่การเป็นศพนิรนามในประเทศนี้ ได้พรากตัวตนและพรากความยุติธรรมไปจากคุณด้วย ในแบบที่เงียบหายดั่งสายลม
.
วันหนึ่ง คุณจะได้เดินทางไกล เมื่อคุณถูกปักป้ายที่หลุมศพว่า “นิรนาม” คุณอาจถูกพิธีกรรมล้างป่าช้า โดยไม่มีกฏหมายรับรอง เพราะรัฐ ไม่มีสุสานเฉพาะสำหรับศพนิรนาม หากวันหนึ่งโชคดี ญาติตามหาคุณจนพบ เขาจะไม่ได้ร่างของคุณกลับบ้าน แม้ความนิรนามของคุณจะสิ้นสุดลงแล้ว
.
การสูญหายและความตายมันน่าเศร้า แต่ความทุกข์ทรมานจากการรอคอย มันยิ่งเศร้าและเจ็บปวด
.
จดหมายฉบับนี้ขอส่งถึงคุณ เพราะเชื่อว่าหน่วยงานในประเทศนี้ ต่างรู้อยู่แก่ใจแล้วว่าต้องทำยังไงให้คุณไม่ใช่ศพนิรนาม ต้องรวมฐานข้อมูลศพนิรนามทั้งประเทศให้เป็นฐานข้อมูลเดียวกัน ให้ญาติคนหายเข้าถึงการเก็บดีเอ็นเอ ตรวจเทียบได้ง่าย และรัฐควรมีสุสานของตัวเองในการฝังศพนิรนาม
.
เขียนจดหมายฉบับนี้จากหัวใจ
หวังว่าวันหนึ่งคุณจะได้กลับบ้าน
.
มูลนิธิกระจกเงา
6 กันยายน 2565

Share Button

เสียงสะท้อนจากคนไร้บ้านสู่การสร้าง “สดชื่นสถาน”

“ผมหาซักเสื้อผ้าตามห้องน้ำปั๊มน้ำมัน​ หาที่ตากก็ยาก​ หลายครั้งก็จำใจใส่เสื้อทั้งๆ ที่เปียกๆ นั่นแหละ​ ให้เสื้อมันแห้งคาตัวกันไป”
.
จากประโยคนี้ของคนไร้บ้าน​ จึงนำมาสู่การให้บริการ​ซักผ้า​ อบผ้าฟรี​ โดยรถซักอบอาบคันนี้
.
“พวกเราขออย่างเดียวเลยที่สำคัญที่สุด​ ผมอยากอาบน้ำ​ ไปอาบที่ไหนเขาก็ด่าเขาก็ไล่​ ถ้าพี่มีที่ให้อาบก็จะดีมากๆ”
.
จากประโยคนี้ของคนไร้บ้าน​ จึงนำมาสู่การให้บริการ​อาบน้ำฟรี โดยรถซักอบอาบคันนี้
.
“เราอยากทำงาน​ อยากมีงาน​ทำ​ มีเงินจะได้ออกจากชีวิตเร่ร่อนแบบนี้​ซักที”
.
จากประโยคนี้ของคนไร้บ้าน​ จึงนำมาสู่การเปิดรับสมัครงานในนามจ้างวาน​ข้า ในพื้นที่เดียวกับรถซักอบอาบคันนี้
.
คนไร้บ้านยังมีปัญหา​อีกมากที่ต้องได้รับการแก้ปัญหา​ คนไร้บ้านอีกมากยังมีความต้องการอีกหลายสิ่งหลายอย่าง​ เพื่อจะนำไปสู่การปรับปรุง​คุณภาพ​ชีวิต​ของพวกเขาเอง
.
จากหลักการนี้เราจึง​จัดทำพื้นที่หนึ่ง​ เพื่อให้คนไร้บ้านได้เข้ามารับบริการ​ และบริการที่ได้รับนั้นมันนำไปสู่การปรับปรุง​คุณภาพ​ชีวิตของตัวเองได้​ และถ้าดีกว่านั้นได้​ คือการที่เขาสามารถ​เปลี่ยนผ่านจากชีวิตไร้บ้านมาเป็นคนมีบ้านได้​ และเราจะขอใช้ชื่อเรียกพื้นที่นี้ว่า​ “สดชื่น​สถาน”
.
“สดชื่นสถาน” เปิดให้บริการแล้วที่ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า​ ถนนพระอาทิตย์​

ปล.รูปภาพประกอบไม่ใช่ท่านผู้ว่าฯแต่อย่างใด​ แต่คือคนไร้บ้านที่มาใช้บริการซักอบผ้าเป็น​ที่เรียบร้อย​

มูลนิธิ​กระจกเงา​xOtterixกรุงเทพ​มหานคร

——————————————

สนับสนุนการปรับปรุง​คุณภาพ​ชีวิต​ของคนไร้บ้าน
​กับ​ “สดชื่นสถาน” นี้ได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-2-58289-4 SCB

Share Button

ความฝันที่ชะงักกับ 3 ชีวิตติดเตียงที่ต้องดูแล

ป้าแดง ในวัยสาวเธอมีความฝัน
อยากใช้ชีวิตเป็นอิสระ
จะทุ่มเทเวลาทำสวนทำไร่
อยากมีที่ดินผืนใหญ่เป็นของตัวเอง
.
แต่ยังไม่ทันที่ความฝันจะก่อตัว
พี่ชาย น้าสาว และแม่ของเธอก็ล้มป่วย
ทั้งสามชีวิตติดเตียงในเวลาไล่เลี่ยกัน
.
ป้าแดงต้องละทิ้งงาน มาทำหน้าที่ดูแล
แม้งานจะเป็นความฝันที่เธอเคยตั้งมั่น
แต่วินาทีนั้นชีวิตคนป่วยในบ้านสำคัญกว่า
.
เธอดูแลผู้ป่วยเรื่อยมาอย่างอัตภาพ
จากวัยสาวจนก้าวเข้าวัยชรา
การพยาบาลผู้ป่วยสามคนไม่ใช่เรื่องง่าย
มันเป็นงานหนักที่ส่งผลร้ายต่อร่างกาย
กล้ามเนื้อหลังของเธออักเสบ
เพราะต้องยกตัวผู้ป่วยไม่เว้นวัน
.
ยิ่งกว่านั้นนอกจากชีวิตผู้ป่วยแล้ว
ยังมีภาระค่าใช้จ่าย ค่ากินอยู่
ค่าแพมเพิส ค่าน้ำไฟ ฯลฯ
ที่เธอต้องแบกรับไว้ด้วยรายได้จากเบี้ยคนชรา
.
ภาระทั้งหมดกดทับความฝันไว้หมดสิ้น
เธอไม่เหลือความฝันให้ตัวเองมีที่ดินผืนใหญ่
เหลือแค่ความหวังในวัยบั้นปลาย
ให้ครอบครัวและตัวเธอเอง
ยังมีชีวิตรอดไปได้ก็เพียงพอ
.
ทีมงานอาสามาเยี่ยม ลงพื้นที่เยี่ยมเยียน
และรับครอบครัวนี้ไว้ในการดูแล
ทุกเดือนเราจะนำข้าวสารอาหารแห้ง
ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ของใช้จำเป็นจำนวนหนึ่ง
ที่มูลนิธิได้รับบริจาคมามอบให้
ของเหล่านี้จะช่วยประคับประคองครอบครัว
ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายที่ผู้ดูแลต้องแบกรับ
.
นอกจากของใช้แล้ว เราใช้เวลาพูดคุย
เติมพลัง รับฟังปัญหา กับผู้ดูแลผู้ป่วย
ให้พวกเขาได้รับรู้ว่ายังมีคนเคียงข้าง
เป็นการเยียวยาทางใจในเวลาทุกข์ยาก
ที่เพื่อนมนุษย์สามารถส่งต่อให้แก่กัน

——————————————————

คุณสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในความช่วยเหลือ
บริจาคข้าวสารอาหารแห้ง
ของใช้จำเป็น ผ้าอ้อมผู้ใหญ่
ได้ที่ มูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 191 ซอยวิภาวดีรังสิต 62 แยก 4-7
แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กทม. 10210
โทร.061-909-1840, 063-931-6340
เขียนหน้ากล่อง “เพื่อโครงการอาสามาเยี่ยม”
.
หรือสมทบทุนได้ที่ ชื่อบัญชี กองทุนอาสามาเยี่ยม
เลขที่บัญชี 202-258297-5 ธ.ไทยพาณิชย์
สอบถามข้อมูลเพิ่ม โทร.061-909-1840

Share Button

ครอบครัว “น้องธันวา” กับชีวิตก่อนพบทะเล

“มาแข่งกัน ใครวิ่งถึงทะเลก่อนคนนั้นชนะ”
เสียงแจ้วจากสองพี่น้อง “ธันวา” และ “อชิ”
.
นี่เป็นการมาทะเลครั้งแรกของทั้งคู่ นอกจากเอนตัวแช่น้ำให้คลื่นซัด การให้เท้าแตะทรายนุ่มเป็นอีกอย่างหนึ่งที่เด็กๆ ตั้งหน้าตั้งตารอ
.
ธันวา เป็นพี่ชาย
เขามีพัฒนาการทางสมองช้าเมื่อเทียบกับเด็กในวัยเดียวกัน สมองที่พิการทำให้เขาคิดอ่านต่างจากคนอื่น
.
ธันวา อ่านเขียนได้บ้างไม่ได้บ้าง บางครั้งแสดงอาการหงุดหงิด เอาแต่ใจ แบบไม่รู้ตัว กลายเป็นความรำคาญ ไม่เป็นที่ยอมรับสำหรับคนรอบข้าง ทำให้ธันวาไม่ชอบไปโรงเรียนและไม่กล้าเข้าสังคมกับคนอื่นๆ
.
อชิ ที่เป็นน้องสาว จึงต้องรับหน้าที่เป็นบอดี้การ์ดประจำตัว เธอจะคอยบอก คอยเตือน คอยเล่นเป็นเพื่อน ช่วยแม่ดูแลพี่ชายเสมอ เพราะถึงจะยังเล็ก แต่อชิเข้าใจในอาการที่พี่ชายเป็น
.
แม่มักบอกอชิ ว่า “ให้อยู่ข้างๆ พี่ เพราะแม่เชื่อว่าพี่ธันวามีโอกาสหาย หรือถ้าวันไหนแม่เป็นอะไรไป แม่ไม่ได้อยู่บนโลกนี้แล้ว สองพี่น้องต้องคอยดูแลกันและกัน”
.
อชิรู้ว่าแม่พยายามทำงาน ด้วยการออกขับวินมอเตอร์ไซค์ตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง ทำงานวันละ 17 ชั่วโมง เพื่อเก็บเงินมาเป็นค่ารักษาพยาบาลให้พี่ธันวา
.
เพราะตั้งแต่พี่ธันวาป่วย ต้องจ่ายเงินค่ายาหลายอย่าง เธอเห็นแม่พาพี่เทียวเข้าออกโรงพยาบาลเพื่อรักษาไม่ต่ำกว่าสิบรอบ ในระหว่างนั้นแม่ก็ต้องทำงานขับวินไปพร้อมกัน การเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เลี้ยงดูเด็กสองคน ซ้ำหนึ่งคนพิการทางสมองนั้นไม่ง่าย อชิจึงพยายามช่วย เป็นแรงเล็กๆ แบ่งเบาภาระให้แม่บ้าง
.
เงินเดือนของแม่ทั้งหมด ต้องเก็บไว้ใช้จ่ายยามจำเป็น ทั้งค่าเช่าบ้าน น้ำ ไฟ และค่ารักษาแผนกจิตเวชเด็ก การไปเที่ยวเล่นข้างนอกเลยไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ
.
นอกจากวันไหนเป็นวันเกิดหรือโอกาสพิเศษ แม่จะหยุดงานพาเด็กๆ ไปให้อาหารปลาที่วัดใกล้บ้าน เป็นการเที่ยวแบบฉบับที่กำลังทรัพย์ของครอบครัวพอเอื้อมถึง
.
ปลายเดือนที่แล้ว โครงการโรงพยาบาลมีสุข ชวนครอบครัวน้องธันวา และครอบครัวเด็กป่วยแผนกจิตเวชอีก 10 ครอบครัว ไปสัมผัสลมทะเล ณ หาดบางแสนเป็นครั้งแรก
.
ถึงจะเป็นการเที่ยวแบบไปเช้าเย็นกลับ แต่รอยยิ้มที่แต้มใบหน้า และเสียงหัวเราะจากเด็กๆ จะยังดังก้องไปอีกพักใหญ่ เป็นกำลังใจของเด็กๆ และครอบครัว ให้เด็กป่วยทางใจได้รับรู้ว่าเขามีคุณค่า สมควรได้รับการดูแลจากทั้งครอบครัวและสังคม
.
หากคุณมีที่พัก ร้านอาหาร หรือพื้นที่สำหรับทำกิจกรรม พร้อมเปิดรับเด็กๆ เราอยากชวนคุณเป็นส่วนหนึ่งในการโอบรับเด็กป่วยด้วยความรัก
ดูแลประคับประคองพวกเขาไปพร้อมกันกับเรา
ติดต่อได้ที่ 061-909-1840
.
สนับสนุนกิจกรรมสร้างความสุขลดความทุกข์ให้เด็กป่วย
ได้ที่บัญชีโครงการโรงพยาบาลมีสุข
เลขที่ 202-258286-0 ธ.ไทยพาณิชย์

Share Button

“สดชื่น​สถาน” พื้นที่นี้เพื่อคนไร้บ้าน

คนไร้บ้าน​ คือคนที่ออกมาจากบ้าน​ การออกมาจึงเป็นเรื่องเลวร้าย
.
แต่การ​ออกมาอีกเช่นกันที่นับเป็นเรื่องดี​ คือการออกมาจากความเป็นคนไร้บ้านนั่นเอง
.
เรามี “จ้างวาน​ข้า” ที่ทำให้เขาออกจากชีวิตไร้บ้านได้โดยการสร้างพื้นที่ทำงานและมีรายได้
.
ตอนนี้​เรามี​ “สดชื่น​สถาน” ที่มีไว้เพื่อปรับปรุงคุณ​ภาพชีวิตคนไร้บ้าน เป็นพื้นที่ตระเตรียม​ก่อนที่พวกเขา​จะออกไปจากชีวิตไร้บ้านเสียที การตระเตรียมนั้นคือ​ การให้เขาสามารถเข้าถึงการใช้ชีวิต​ประจำ​วันอย่างมีคุณภาพ​มากขึ้น​ ผ่านการทำความสะอาด​ การรักษา​สุขอนามัย​ เรามีบริการซักผ้า​ฟรี อบผ้าฟรี​ อาบน้ำฟรี​ เป็นบริการ​พื้นฐาน​ และต่อไปในอนาคต​เราจะขยายการให้บริการ​อื่นๆ​ เช่น​ อาหาร​ เสื้อผ้า​ รวมถึงเป็นพื้นที่ส่งต่อพวกเขาเข้าสู่กระบวนการ​แก้ไขปัญหา​ในเรื่องอื่นๆ​ ที่มันรัดตรึงเขา​ เป็นเชือกเส้นใหญ่ที่มัดเขาไม่ให้พ้นจากชีวิตไร้บ้านโดยง่าย​ และเมื่อเขาพร้อมแล้ว​ เราจะพาเขาออกไปจากชีวิต​ไร้บ้านอย่างยั่งยืน​ ด้วยพื้นที่ทำงานที่เราเรียกมันว่าจ้างวานข้านั่นเอง

__________________

มูลนิธิ​กระจกเงา​xOtteri เราจะเปิดบริการ​ให้กับพี่น้องคนไร้บ้านทุกวันศุกร์ของสัปดาห์​ ที่ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า​ ถนนพระอาทิตย์​
.
สนับสนุนกระบวนการพาออกจากภาวะไร้บ้านนี้ได้ที่​ โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-2-58289-4 SCB

Share Button

TIP Smart Assist “ผู้นำส่ง” ความช่วยเหลือสู่ผู้เดือดร้อน


ในเวลาที่เครื่องผลิตออกซิเจน
กำลังรอส่งออกไปบ้านผู้ป่วย
ข้าวสารอาหารแห้ง
รอคิวส่งไปครอบครัวที่เดือดร้อน
ช้ากว่านั้นก็อาจหมายถึงชีวิต
หรือความลำบากที่ยาวนานขึ้น
.
พวกเขาเรียกตัวเองว่า
TIP Smart Assist
จากทิพยประกันภัย
ขออาสาส่งความช่วยเหลือ
จากมูลนิธิกระจกเงา
ไปยังครอบครัวที่เดือดร้อน
.
เขาบอกเราว่า
งานจิตอาสาไม่เลือกความเดือดร้อน
เรื่องเล็กเรื่องใหญ่
พร้อมไปได้หมด
ขอแค่บอกมา
.
หลายเดือนมาแล้วที่พวกเขา
ทำภารกิจนี้อยู่เบื้องหลังเงียบๆ
เป็นสะพานเชื่อมความช่วยเหลือ
ขอบคุณจากใจแทนทุกครอบครัว
ที่ได้รับความช่วยเหลือ
🙏🏻❤️🙏🏻พวกคุณโคตรเท่ห์

Share Button

ปัญหา “คนไร้ที่พึ่ง” ในระบบคุ้มครองของรัฐ

“57 บาท ต่อคนต่อวัน” นี้คืองบประมาณที่รัฐจ่ายให้เพื่อดูแลกลุ่มคนที่เรียกว่า “คนไร้ที่พึ่ง” ตาม พรบ.คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง (สถานสงเคราะห์) ของทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
.
สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งในประเทศนี้มีอยู่ทั้งหมด 11 แห่งทั่วประเทศ มีภารกิจหลักคือการดูแลกลุ่มคนไร้ที่พึ่ง คนไร้ที่พึ่งที่นิยามโดยสรุปอย่างง่ายๆ ก็คือ คนที่ไม่สามารถดูแลจัดการชีวิตตัวเองได้ ทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคม
.
ในวันที่ทีมงานผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงาได้แวะเวียนเยี่ยมเยียน สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งมาแล้วหลายแห่ง เราอยากจะรีวิวการไปเยี่ยมสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ให้กับหลายๆ คนได้รับรู้ว่า สิ่งที่เรียกว่าเป็นสวัสดิการของรัฐ ภายใต้การดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์นั้น มันเป็นอย่างไรบ้าง
.
ข้างในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง คนที่อยู่ในสถานคุ้มครองนั้น เกินกว่า 70% เป็นผู้ป่วยจิตเวชที่เรียกได้ว่าเรื้อรัง บางสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งนั้น มีจำนวนผู้ป่วยจิตเวชสูงถึง 90% ขึ้นไป ยังไม่นับความทับซ้อนของความพิการทางร่างกายอื่นๆ ลงไป และยังไม่นับว่าส่วนใหญ่อยู่ในวัยผู้สูงอายุ
.
พูดถึงเรื่องการหลับนอน ทุกคนมีเบาะนอน แต่ไม่ใช่การนอนในแบบ 1 เบาะต่อ 1 คน ในบางทีต้องนำเบาะมาชิดกันเพื่อให้มี 1 คนมานอนตรงร่องกลางของเบาะที่นำมาชิดกัน ในบางที่ในบางแห่งต้องจัดการเบาะนอนเป็นสามแถว และนี่ยังไม่ได้พูดถึงว่า ผู้รับความคุ้มครองหลายต่อหลายคนเป็นคนพิการ เป็นผู้สูงอายุ การนอนเบาะแบบนั้น ทำให้ลุกขึ้นเดินเหินได้ยากเต็มที
.
คนในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งในแต่ละที่ มีจำนวนคนรับการคุ้มครองล้น ล้นที่เรียกว่าเกินขีดความสามารถการดูแลของเจ้าหน้าที่ภายใน บางแห่งมากไปถึง 500 กว่าราย ซึ่งหลายสถานคุ้มครองฯ มีความสามารถรับคนเข้ารับการคุ้มครองจริงๆ อยู่ที่ประมาณ 300 กว่ารายเท่านั้น ความไม่สามารถนั้น เกิดมาจากงบประมาณที่จำกัด จำนวนบุคลากรที่จำกัด ทรัพยากรที่จำกัด
.
ในหลายๆ สถานคุ้มครองฯ นั้น มีปัญหาขาดแคลนบุคลากรเฉพาะทาง เฉพาะด้าน เช่น ไม่มีนักจิตวิทยาวิชาชีพ ทั้งๆ ที่มีผู้ป่วยจิตเวชอยู่เกินกว่า 70-80% ด้วยซ้ำ ไม่มีพยาบาล ทั้งๆ ที่มีจำนวนเคสที่มีแนวโน้มในปัญหาโรคทางกายอยู่ไม่น้อย ไม่มีนักกายภาพบำบัด ทั้งๆ ที่มีคนพิการทางร่างกายอยู่เกินครึ่งค่อน
.
ที่ซ้ำร้ายเข้าไปอีกก็คือ สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งไม่สามารถส่งคนไร้ที่พึ่งเพื่อให้ได้รับบริการในสถานสงเคราะห์ ตามความเฉพาะได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น ในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งแห่งหนึ่ง มีผู้สูงอายุมากกว่า 100 คน แต่ไม่สามารถส่งผู้สูงอายุนั้นให้ได้รับบริการในสถานสงเคราะห์ที่ดูแลผู้สูงอายุโดยตรงได้ เช่นเดียวกันกับกลุ่มคนพิการที่ไม่สามารถส่งไปยังสถานสงเคราะห์คนพิการได้
.
ทั้งๆ ที่ในกฎหมายของผู้สูงอายุ ก็บอกไว้ว่า ในความเป็นผู้สูงอายุนั้น สวัสดิการอย่างหนึ่งที่รัฐจัดให้ คือการได้เข้ารับดูแลในสถานสงเคราะห์ผู้สูงอายุ เช่นเดียวกันกับคนพิการ ทั้งๆ ที่กฎหมายระบุไว้ว่าสวัสดิการอย่างหนึ่งที่คนพิการสามารถเลือกรับได้ก็คือ การเข้ารับการดูแลในสถานสงเคราะห์คนพิการ ซึ่งหลายๆ รายที่รอการเข้ารับการดูแลตามกฎหมายเฉพาะนั้น ก็เสียชีวิตไปก่อนที่จะได้รับบริการตามที่สิทธิ์ในฐานะพลเมืองที่เขาควรได้ ความล่าช้าของการได้มาซึ่งสิทธิที่ควรมีควรได้นั้น นับได้ว่าเป็นความอยุติธรรมแบบหนึ่งนั้นเอง
.
ในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง เมื่อไม่สามารถส่งคนไปเข้ารับบริการตามกฎหมายเฉพาะอย่าง ผู้สูงอายุและคนพิการได้นั้น ความอัดแน่น ความไม่สามารถดูแลคนที่อยู่ในการคุ้มครองได้นั้น จึงเกิดขึ้นในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งในทุกแห่ง และในข้อเท็จจริงที่สำคัญก็คือ คนที่อยู่ในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งนั้น ไม่ใช่ประสบปัญหาทางสังคมเพียงอย่างเดียว พวกเขาเป็นคนป่วยทั้งทางจิตและทางกาย เป็นคนพิการ เป็นผู้สูงอายุ
.
เอาเข้าจริง หลายๆ คนมีความซ้ำซ้อนของทุกอย่างที่กล่าวมา และประเด็นสำคัญก็คือ สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งมีเคสที่หลากหลายทับซ้อนมาก แต่ได้รับงบประมาณและทรัพยากรในการบริหารจัดการภายในที่ต่ำอย่างมาก ทั้งๆ ที่ควรได้รับงบประมาณและทรัพยากรที่เป็นเสมือนโรงพยาบาลด้วยซ้ำไป
.
เราเคยถามว่าความต้องการของคนไร้ที่พึ่ง ที่ว่าพวกเขาต้องการอะไร ในส่วนที่เป็นผู้ป่วยจิตเวชอย่างหนักอาจไม่สามารถตอบได้ แต่สำหรับหลายๆ คนมักให้คำตอบอย่างง่ายๆ ว่า เขาอยากให้ครอบครัวมาเยี่ยมเขาบ้าง อยากกลับไปอยู่กับครอบครัวก็มี ในบางคนอยากจะออกไปทำงานมีรายได้ แต่ในข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก็คือ ทรัพยากรที่รัฐจัดสรรให้กับสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งนั้น ไม่สามารถทำให้ฝันของคนที่อยู่ในสถานคุ้มครองฯบรรลุเป็นจริงได้อย่างแน่นอน
.
ไม่ต้องดูอะไรมาก แค่ค่าอาหารที่เขาตั้งไว้ให้ต่อคนต่อวันอยู่ที่ 57 บาทนั้น ก็เห็นได้อยู่ว่ารัฐเห็นใจ ใส่ใจ และเข้าใจหรือไม่ว่าสิทธิ์การมีคุณภาพชีวิตที่ดีนั้นควรเป็นพื้นฐานของทุกคนที่ควรได้รับจากรัฐอย่างปฏิเสธไม่ได้ เป็นจริงอยู่หรือไม่

——————————

ปล.ภาพรองเท้าแตะ คือรองเท้าแตะของผู้รับการคุ้มครองในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งแห่งหนึ่ง ซึ่งรองเท้าแต่และคู่นั้นมีความพยายามทำเครื่องหมายไว้ เพื่อให้รู้ว่าคู่ไหนเป็นของใคร
.
รีวิว สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง และ ตัวอย่างของการจัดสวัสดิการของรัฐ โดย โครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา

Share Button

ขอเพียงส่วนหนึ่งของร่างกาย เพื่อพูดกับลูกเป็นครั้งสุดท้าย

ถึงตายไปแล้ว ก็ขอให้ได้เห็นศพ
อย่างน้อยให้ได้เห็นกระดูกเขา
ได้เอากระดูกเขากลับบ้าน
.
ได้พูดกับร่างกาย
ชิ้นส่วนไหนของลูกก็ได้ว่า
“กลับบ้านเรานะลูก”
.
ยิ่งเวลานานวันที่เก๋หายตัวไป
ครอบครัวคิดว่าเก๋ อาจไม่มีชีวิตอยู่แล้ว
และยิ่งได้เห็นข่าวว่าน้องแอร์ที่หายไป 8 ปี
แม่น้องแอร์ยังได้กอดกระดูกลูก
ได้พาน้องแอร์กลับบ้าน
.
แม่น้องเก๋ นางสาวภาวิณี กอไธสง
จึงยังรู้สึกมีความหวัง ว่าสักวันหนึ่ง
เธอจะได้พาลูกของเธอ
กลับบ้านเช่นกัน
.
สัปดาห์นี้เราทำหน้าที่ประสานงาน
เก็บดีเอ็นเอของแม่เพื่อนำส่ง
ให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์
ใช้ตรวจเทียบกับศพนิรนาม

————————————

คนหาย!!!
นางสาวภาวิณี กอไธสง หรือเก๋อายุ 23 ปี
หายตัวไปจากแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
ตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ.2556
.
คนหายสูงประมาณ 163 ซม. หนักประมาณ 55 กก.
มีไฝที่จมูก และมีแผลเป็นที่แขนขวา
.
แจ้งเบาะแสได้ที่ มูลนิธิกระจกเงา
โทร 0807752673

Share Button

สะท้อนปัญหาของรัฐผ่านวงจรชีวิต “ผู้ป่วยจิตเวช”

10 กว่ารอบได้แล้ว ที่เคสนี้วนเวียน​เข้าออกระหว่างข้างถนนและโรงพยาบาล​จิตเวช
.
10 กว่าเหตุ ที่เคสนี้ก่อขึ้นและตำรวจต้องมาควบคุม​ตัวนำส่งโรงพยาบาล
.
เหตุที่เคสนี้ก่อขึ้น​ มีตั้งแต่สร้างความวุ่นวาย​ เช่น​ ตะโกน​โวยวาย​ ด่าว่าผู้คน​ ทำลายข้าวของทั้งสาธารณะ​และของเอกชน​ เดินกลางถนน​ กระโจนเข้าหารถ​ อึฉี่กลางพื้นที่สาธารณะ​ ล่าสุดคือกระโดด​ไปหน้ารถพยาบาล​และไปหักที่ปัดน้ำฝนของรถ​
.
จากข่าวเคสนี้รับการรักษา​อยู่ที่โรงพยาบาล​จิตเวช​ และตำรวจ​ สภ.ที่คุ้นเคย​กับการนำส่งเคสไปโรงพยาบาล​ ก็ยังออกปากออกมาว่า​ “รักษา​แล้วเดี๋ยวก็กลับมาวุ่นวายที่ข้างถนนอีก​เหมือนเดิม อีกทั้งทาง รพ. ไม่มีแผนกับเคสนี้อย่างชัดเจน​ ด้วยเป็นเคสเร่ร่อน ไม่มีญาติ ทำให้ต้องเกิดการนำส่งแบบนี้อยู่หลายครั้งเลย “ออกมาอีกพวกผมก็เอาตัวเข้าโรงพยาบาล​ซ้ำอีกนั่นแหละ​”
.
ตามเนื้อหาข่าว​ เคสนี้เกิดเหตุ​ขึ้นที่​ อ.หาดใหญ่​ จ.สงขลา​ เราได้มีโอกาส​พูดคุยกับตำรวจที่รับผิดชอบในการนำส่งเคสเข้าโรงพยาบาล​ ตำรวจให้ข้อมูล​ว่า​ การวนเวียน​เข้าออกระหว่างข้างถนนกับโรงพยาบาล​ของเคสนับ 10 ครั้งได้นั้น​ เกิดขึ้นในช่วงเวลา 3-4 เดือนของปี​ 2565 นี้เอง​
.
ก่อความวุ่นวาย​ –> นำส่งรักษา​–> รักษา ​–> ออกจากรพ. –> เร่ร่อน –> ก่อความวุ่นวาย –>
.
ถามว่าจะทำอย่างไรที่จะตัดวงจรนี้ได้​ ขั้นตอนสำคัญ​ที่ต้องทำให้ได้นั่นคือ​ หลังจากที่สิ้นสุดการรักษา​การนำเข้าสู่ระบบ​การฟื้นฟูจึงสำคัญ​ เป็นความสำคัญ​ แต่ก็ไม่ถูกให้ความสำคัญ​สักเท่าไหร่จากรัฐ​
.
รัฐไม่ให้ความสำคัญ​อย่างไร​บ้าง​ สถานฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวช​โดยตรงที่เป็นของรัฐมีอยู่ 2 แห่งเท่านั้นทั้งประเทศ​ คือสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านกึ่งวิถีชาย, หญิง​ ซึ่งคนเต็มแน่นรอคิวเข้านับร้อยคิว​ สถานที่ฟื้นฟูที่รองลงมาคือ​ สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง​ มีทั้งหมด 11 แห่งทั่วประเทศ​ แต่ปัญหาร่วมของสถานสงเคราะห์​ทั้ง 11 แห่งนี้คือ​ ไม่มีกระบวนการดูแลผู้ป่วยจิตเวช​อย่างเป็นระบบ​ ในหลายสถานฯ​ ไม่มีนักจิตวิทยา​อยู่สักคนเดียว​ ซ้ำร้ายทุกที่ทุกแห่งอยู่ในสภาพที่คนรับบริการล้นแน่นระบบการดูแลฟื้นฟูไปหมดแล้ว​
.
เรามี​ข้อมูลอยู่​ว่า​ มีเคสในลักษณะเดียวกัน​นี้อยู่ไม่น้อย​ ใช้ชีวิต​เร่ร่อนด้วยอาการ​จิตเวช​อยู่ที่ข้างถนน​ และวนเวียนเข้าออกระหว่างข้างถนนกับโรงพยาบาล​จิตเวช​เหมือนกับเคสนี้​
.
ประเด็นสำคัญ​ของบทความนี้คือ​ การจะตัดวงจรของผู้ป่วยจิตเวช​ที่สลับเข้าออกระหว่างข้างถนนกับโรงพยาบาล​จิตเวช​ได้นั้น​ กลไกสำคัญ​คือระบบการฟื้นฟู​ ซึ่งเราคิดว่ารัฐต้องให้ความสำคัญ​ที่มากกว่า​ที่เห็นและเป็นอยู่อย่างมากมายนัก

โครงการ​ผู้ป่ว​ยข้าง​ถนน​ มูลนิธิ​กระจกเงา​
Cr.ข่าวสด
รายละเอียด​ข่าว : https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_7113583

Share Button

การเดินทางของคนหายสู่ศพนิรนามที่ทราบชื่อ

กัง เป็นชายพิการทางสมอง
เขาใช้ชีวิตอยู่ที่จังหวัดสงขลา
เขาชอบจากบ้านไปในตอนเช้า
และกลับบ้านมาในตอนเย็น
บางครั้งเขาเดินไปท่าเรือประมง
ช่วยงานพอได้ค่าขนม ได้ปลากลับบ้าน
.
วันหนึ่งเขาเดินออกจากบ้านเหมือนทุกวัน
แต่เขาไม่กลับมาอีกเลย
ครอบครัวและญาติตระเวนตามหา
ไปดูตามโรงพัก โรงพยาบาล
และสถานสงเคราะห์ในพื้นที่ ก็ไม่พบ
.
จน 5 ปีผ่านไป
เมื่อกลางเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา
สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม
ติดต่อมาที่มูลนิธิกระจกเงา
แจ้งว่ามีศพนิรนาม ศพหนึ่ง คล้ายกัง
ถูกส่งมาจากสถานสงเคราะห์ที่นนทบุรี
เพื่อชันสูตร ตั้งแต่ต้นปี 2561
แต่ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าเป็นใคร
.
กระทั่งตอนนี้
มีกระบวนการนำลายนิ้วมือศพนิรนาม
ไปตรวจเทียบกับฐานข้อมูลกรมการปกครอง
จึงทำให้ทราบว่า ชายเร่ร่อน
ที่กลายเป็นศพนิรนามไม่ทราบชื่อ
เขา คือ กัง ที่ญาติตามหามานานกว่า 5 ปี
.
วันนี้กัง จะได้เดินทางไกล
เพื่อกลับบ้านที่สงขลา
จากคนหายไม่ทราบสถานะ
จนเป็นศพนิรนาม ที่ทราบชื่อนามสกุลแล้ว
.
ขอแสดงความชื่นชม
สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม
ที่ใช้ความรู้ ความสามารถของหน่วยงาน
พิสูจน์จนทราบว่า ผู้ตายเป็นใคร
และกัง ได้กลับบ้านอีกครั้ง.

Share Button