วัฏจักรชีวิตไร้บ้านของผู้ป่วยในตรอกสาเก

“เดี๋ยวก็มีมาใหม่อีกเรื่อยๆ ไม่จบไม่สิ้น” ประโยคของคนในตรอกสาเก บอกเล่ากับทีมงานผู้ป่วยข้างถนนหลังจากที่เราประสานงานให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชหญิงรายนี้อยู่
.
จริงอย่างที่ชาวบ้านแถวตรอกสาเกบอกกับเรา ไม่นานนักก็จะมีผู้ป่วยรายใหม่เดินวนเวียนใช้ชีวิตอยู่ที่ตรอกสาเก หรือข้อเท็จจริงที่สุดก็คือ ในขณะที่เราช่วยผู้ป่วยหญิงคนนี้อยู่ ก็ยังมีผู้ป่วยอีกไม่ต่ำกว่า 5 รายที่ใช้ชีวิตกับความป่วยจิตเวชอยู่ที่ข้างถนนในพื้นที่ตรอกสาเกหรือไม่ก็พื้นที่ใกล้เคียง หรือเมื่อปีก่อนนี้เองที่เราให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชหญิงที่ตรอกสาเกไป
.
วัฏจักรนี้มันเป็นอย่างไร ผู้หญิงคนนี้อาจบอกเล่าเรื่องนี้ได้พอสมควร
.
1 ปีกว่าๆ คือเวลาที่เธอมาใช้ชีวิตเร่ร่อนอยู่ที่ตรอกสาเก
.
การแต่งกาย เสื้อผ้าหน้าผมของเธอ แน่นอนมันบอกถึงอาการจิตเวชอย่างไม่มีข้อสงสัย และที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือเสื้อผ้าที่เธอสวมใส่ มันคือเสื้อเว้าแหว่งคล้ายเสื้อกล้าม ที่สำคัญคือเธอไม่สวมชุดชั้นใน และมาระยะหลัง เสื้อตัวเก่งก็ถอดออก บางครั้งก็เปลือยท่อนบนนั้นและใช้ชีวิตแบบนั้นอยู่ทั้งวัน
.
มาตอนแรกๆ ก็ขายของมือสองที่หาเก็บตามถังขยะ สภาพของมีทั้งสภาพกึ่งพังและพังไปแล้ว ยิ่งช่วงหลังมานี้ของที่เก็บมาขาย มีสภาพกึ่งขยะและเป็นขยะไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อมีลูกค้าเข้ามาถามไถ่ราคาสินค้า แม่ค้าไม่พูดไม่บอกราคาสินค้านั้นแต่อย่างใด
.
ข้าวปลาอาหาร ช่วงมาอยู่แรกๆ การหาอยู่หากิน ก็ยังใช้เงินซื้อข้าวปลาอาหารมากินเองได้ ช่วงหลังมานี้ ถังขยะนอกจากจะเป็นแหล่งหาของไปขาย มันยังทำหน้าที่เป็นโรงอาหารให้กับเธอ หิวน้ำก็หยิบแก้วน้ำเหลือขึ้นมาดื่มกิน หิวมากหน่อยก็อาจเป็นข้าวกล่อง ขนมปังเหลือๆ ที่ถูกหยิบขึ้นมากิน
.
หลายครั้งถูกชายหนุ่มกลัดมันเข้ามาดิว(เจรจาเพื่อซื้อบริการ) แต่เธอไม่เคยไปกับใคร(หญิงสาวขายบริการแถวนั้นให้ข้อมูลตรงกัน) แต่ก็มีหลายครั้งที่เธอถูกคุกคามจากผู้ชาย ทั้งที่เป็นคำพูดและท่าทีหื่นๆ แรงๆ พวกเขาทำเสมือนเธอมีสภาพเป็นวัตถุทางเพศไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่ควรเคารพในฐานะมนุษย์เช่นเดียวกัน
.
ประเทศไทยนั้นมี พระราชบัญญัติสุขภาพจิตอยู่ แต่มันก็เป็นกฎหมายที่แทบมีสภาพบังคับใช้ไม่ได้ ยิ่งในหมวดที่เกี่ยวเนื่องกับการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชที่เร่ร่อนอยู่ที่ข้างถนนแบบเธอคนนี้
.
กลไกช่วยเหลือที่รวดเร็วนั้นนับเป็นเรื่องที่ดีสำหรับตัวผู้ป่วยอย่างมาก เพราะอาการป่วยของเธอคงไม่หนักข้อขนาดที่ไม่ซื้อของกินแล้วแต่เป็นการหาเอาตามถังขยะกินแทน เธออาจจะไม่ต้องแก้ผ้าให้ใครต่อใครที่เธอไม่เคยได้รู้จักได้เห็นรูปกายเธอ ทั้งๆ ที่มันควรเป็นเรื่องส่วนตัวอย่างที่สุด เธออาจจะได้ขายของเป็นชิ้นเป็นอันเป็นเรื่องเป็นราว หลังจากที่เธอได้เข้ารับการรักษาแล้ว ที่สำคัญเธอจะไม่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับความเสี่ยงที่ว่าจะถูกละเมิดทางเพศโดยที่เธอป้องกันตัวเองแทบไม่ได้แล้ว
.
สุดท้ายของบทความนี้เราขอฝากเรื่องนี้ไว้ให้กับรัฐ เพื่อรัฐจะได้ตระหนักว่า ความเร็วในการให้ความช่วยเหลือบุคคลพลเมืองของรัฐนั้น มันนับเป็นตัวชี้วัดว่ารัฐให้ความใส่ใจต่อบุคคลพลเมืองของตัวเองนั้นมากแค่ไหน บาร์ที่ว่านั้นอยู่ต่ำหรือสูง ความเร็วนั้นนับเป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่สำคัญมากเลยทีเดียว
—————————————————
สนับสนุนการทำงานได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-2-58289-4 SCB
Share Button

3 ปีกับวงจรชีวิตอันไร้ที่สิ้นสุดของผู้ป่วยเร่รอน

เป็นผู้หญิงอายุราว 30 ปี ผู้คนแถวนั้นจะพบเห็นเธอเร่ร่อนอยู่ 3 พื้นที่ พื้นที่แรกคือเธอนั่งนอนอยู่ที่ศาลา พื้นที่ที่สองเข้าไปที่หลังชุมชน พื้นที่ที่สามเธอมักหายไปกับคนแปลกหน้า
.
3 ปีได้แล้วที่ชาวบ้านแถวนั้นพบเห็นเธอใช้ชีวิตอยู่ประมาณนี้
.
ที่ศาลาบางครั้งเธอนั่ง บางครั้งเธอนอน บางครั้งนั่งเหม่อ บางครั้งนั่งพูดคนเดียว และมีอยู่หลายครั้งที่เธอเกรี้ยวกราดเขวี้ยงปาข้าวของใส่ผู้คน มีครั้งหนึ่งที่ทำร้ายร่างกายคนในชุมชน และในหลายครั้งอีกเช่นกันที่เธอมักเล่นไฟแช็กและจุดเผากองขยะที่เธอเก็บสะสมมาเอง
.
อาการทางจิตเวชชัดเจน ชัดเจนตามเงื่อนไขอาการจิตเวชที่ต้องได้รับความช่วยเหลือตาม พรบ.สุขภาพจิต กล่าวคือ เธอมีทั้งภาวะความอันตรายต่อผู้อื่นและตัวเธอเอง และเธอมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการบำบัดรักษาเนื่องจากถ้าปล่อยไว้คุณภาพชีวิตของเธอจะเสื่อมทรุดลง
.
ตำรวจในฐานะของพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พรบ.สุขภาพจิตถูกแจ้งจากชาวบ้านอยู่บ่อยครั้ง แต่ทุกครั้งทำได้เพียงแค่มาไล่ให้ออกจากพื้นที่ไปในทุกครั้ง และเธอก็วนเวียนกลับมาในทุกครั้ง ตำรวจให้เหตุผลที่ทำได้เพียงเท่านี้เพราะเขาเคยนำส่งผู้ป่วยจิตเวชแบบเดียวกันนี้ไปยังโรงพยาบาล และโรงพยาบาลเองก็ปฏิเสธที่จะรับผู้ป่วยเข้ารับการรักษา โดยเงื่อนไขที่ตัวผู้ป่วยไม่มีญาติ (ที่จริงตามพรบ.สุขภาพจิตระบุไว้ชัดเจนว่าไม่ต้องมีญาติมาด้วยก็ได้) สุดท้ายตำรวจต้องเอาผู้ป่วยกลับมาในพื้นที่เดิม และเรื่องราวก็วนเป็นวงจรไม่รู้จบเช่นเดิม ทั้งเรื่องราวชีวิตของผู้ป่วยและเรื่องราวของการแก้ไขปัญหาผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อน
.
วันนี้ทางทีมผู้ป่วยข้างถนนประสานงานกับทางตำรวจเพื่อจะให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย แต่โชคร้ายที่เธอหายไปจากพื้นที่ได้ราวอาทิตย์กว่าแล้ว เราจึงไม่สามารถให้ความช่วยเหลือเธอได้ แต่เราสัญญาว่า ถ้าเธอกลับมาในพื้นที่เราจะดำเนินการอย่างเร่งด่วนในทันทีเพื่อที่จะยกเลิกวงจรชีวิตที่ผู้ป่วยต้องเผชิญอยู่อย่างไม่รู้วันที่จบสิ้นไปเสียที
———————————-
สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยข้างถนน ผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-58289-4 SCB
Share Button