สร้างพื้นที่ เพื่อชีวิตผู้ป้วยจิตเภท

“ว่าด้วยการสร้างพื้นที่”
.
เมื่อวานเป็นวันสุขภาพ​จิตโลก​ เราชวนอแมนด้า​(อดีต​มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์และเธอสนใจเรื่องสุขภาพ​จิตอย่างต่อเนื่อง​)​ ไปเยี่ยมเยียนผู้ป่วย​จิตเวช​ในโซเชียลวอร์ดที่อยู่ในการดูแลของสถาบันจิตเวชศาสตร์​สมเด็จเจ้าพระยา
.
โซเชียลวอร์ด​ คืออะไร​ พูดแบบสรุปคือพื้นที่​ ที่มีไว้เพื่อการฝึกทักษะ​ของผู้ป่วยจิตเวช​ (โดยเฉพาะเรื่องโรคจิตเภท)​ให้สามารถออกไปใช้ชีวิตอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างราบรื่น​ที่สุด​
.
คำถามว่า​ ทำไมต้องฝึกทักษะ​ทางสังคมกันใหม่​ เพราะเนื่องจากผู้ป่วยจิตเวชหลายราย เมื่อป่วย​เป็นโรคจิตเภท​ ตัวโรคมันทำให้ฟังก์ชันหลายอย่างในการใช้ชีวิตมันถูกทำลายไปด้วย​ ส่วนมากฟังก์ชันที่เสียหาย​ เป็นเรื่องความจำ​ ระบบความคิด​ ซึ่งเป็นฟังก์ชันสำคัญ​ของการดำรงชีวิต​ เมื่อพังจึงต้องสร้างขึ้นใหม่
.
คำถามว่า​ ทำไมเราถึงเลือกไปเยี่ยมเยียนที่นี่​ นั่นเป็นเพราะที่นี่​ กำลังมีการทำงานร่วมกันกับทางมูลนิธิ​กระจกเงา​ พูดแบบย่นย่อก็คือเรากำลังทำงานร่วมกัน​ โดยให้ผู้ป่วยจิตเวช​ได้เข้ามาทำงานในระบบงานของจ้างวานข้า​ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถฝึกฝนทักษะจนสามารถ​ออกมาใช้ชีวิตด้วยตัวเองได้​ โดยมีงานทำมีรายได้แน่นอน
.
ที่สำคั​ญคือ​ ผู้ป่วยจิตเภทเรื้อรังส่วนใหญ่จะถูกปฏิเสธ​จากระบบการจ้างงาน​ ไม่มีใครต้องการ รวมถึงครอบครัว​ของผู้ป่วยเองด้วย​ เราผู้ที่เห็นปัญหา​นี้มาโดยตลอด​ จึงคิดว่าเราจะเป็นพื้นที่​ที่ใช้ไว้รองรับกลุ่มคนที่ถูกปฏิเสธ​จากระบบการจ้างงานในกระแสหลัก เพื่อให้คนอย่างพวกเขาได้มีที่ทางในการยืนได้อย่างแข็งแรงมั่นคงในสังคมนี้
.
ยกตัวอย่างชายหนุ่มที่ผ่านประสบการณ์​ก​ารใช้ยาเสพติด​มาอย่างโชกโชน​ โชกโชนจนมันทำให้เขาป่วยเป็นโรคจิตเภท​เรื้อรัง​ ซึ่งมันทำลายการใช้ชีวิตเขาไปอยู่หลายปี​ ชายหนุ่มที่อายุยังอยู่ในวัย 30 ต้นๆ มีทักษะ​ในการวาดภาพ​ แต่ไม่สามารถงัดออกมาใช้ได้หลายปี​ แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการ​การฟื้นฟูทักษะ​หลังจากได้รับการบำบัด​รักษา​แล้ว​ เขาก็สามารถฉายแสงความสามารถที่เขามีออกมาได้เช่นวันเก่าก่อน
.
เราจึงคิดว่า​ การมีพื้นที่ให้ผู้ป่วยจิตเวช​ได้มีพื้นที่ในการพัฒนาทักษะ​การใช้ชีวิต​ มีพื้นที่ทดลองใช้ชีวิต​ จนสามารถกลับคืนสู่การใช้ชีวิตด้วยตัวเขาเองอย่างแข็งแรง​ อย่างยืนเหยียดตรงอีกครั้งในสังคมที่เขาสังกัดอยู่​ เป็นความจำเป็นอย่างที่สุด​ ที่ควรถูกตระเตรียมไว้ให้กับพวกเขา

__________________

สามารถสนับสนุนการสร้างพื้นที่สร้างเสริมประสบการณ์​ชีวิตให้กับกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-2-58289-4 SCB

Share Button

ทุก ๆ ตีสี่เธอตื่นขึ้นมาเพื่อทำอาหารให้ผู้ประสบภัย

“วันนึงพี่เหนื่อยมาก พี่ตั้งคำถามว่า ฉันทำเพื่ออะไร ฉันต้องตื่นตั้งแต่ตีสี่ เพื่อมาทำกับข้าว คนอื่นเขายังได้นอน ตอนนั้นคิดจริงๆ คืนนั้นทั้งหนาว ทั้งฝนตกด้วย พี่นอนต่อจนตีสี่ครึ่ง แต่ในใจคิดแล้ว ถ้าเราไม่ลุกขึ้นทำ พี่น้องชาวบ้านที่รอกินข้าว เขาจะทำยังไง”
.
“พี่อพยพจากบ้านมาตั้งเพิงพักตั้งแต่ 1 ตุลา นี่ก็จะครบเดือนแล้วที่มาอยู่ตรงนี้ น้ำท่วมรอบนี้ ก็ไม่คิดว่าน้ำจะเยอะขนาดนี้ คิดว่าบ้านตัวเองสูง มีสองชั้น ก็ขนของขึ้นชั้นสอง แล้วย้ายมาตั้งเพิงพักข้างนอก แต่ปรากฏว่าไม่รอด ชั้นสองน้ำท่วมถึงหน้าต่าง ต้องพายเรือไปเปิดหลังคาดูของ โห…ทีวีฉันลอยน้ำแล้ว ของที่มีจมน้ำทั้งหมด พี่ไม่เหลืออะไรแล้ว(น้ำตาคลอ)”
.
“ครัวกลางมันเริ่มจากเพื่อนบ้านกันสามสี่คน เอาของมากองรวมกัน มีเงินออกคนละเล็กละน้อย ทำกับข้าวกินกัน บ้านพี่ก็น้ำท่วมเนอะ มาทำเพิงนอนข้างถนนเหมือนกัน รู้เลยว่ามันลำบาก แค่ขนของจากบ้านหนีน้ำก็หมดแรงแล้ว จะเอาแรงเอาเวลาที่ไหนไปทำกับข้าวกัน ถ้าซื้อกินทุกวันก็ไม่ใช่เงินน้อยๆ”
.
“ให้พี่น้องชาวบ้าน ขนของกันอย่างเดียว ไปทำอะไรที่ต้องหนีน้ำ ถ้าหิว ก็มากินข้าวที่นี่ เอาเงินมารวมกัน 10 บาท 20 บาท นี่คือตั้งต้น มีคนรู้จักกันเอาเงิน มาให้ 2,000 บาท ก็เริ่มเลย ชาวบ้านแถวนี้ก็ช่วยกันระดม พอรู้ว่าเราจะทำครัวกลางใครมีข้าวก็เอาข้าวมา ใครมีผัก มีปลา ก็เอามารวมกัน”
.
“พี่ตื่นตีสี่ ก็เริ่มทำเลย ทีแรกคิดทำเป็นข้าวกล่องเอาไปแจก แต่แบบนั้นมันจะแจกหมดแล้วหมดเลย คนไม่ทันก็ไม่ได้กิน ก็เลยคิดว่าเราทำครัวกลางที่พร้อมให้ทุกคนมากินได้ตลอดเวลา บางคนมัวยุ่งอยู่กับของที่บ้าน ต้องนั่งเรือไปดูของที่บ้าน กว่าจะออกมา ถ้าเป็นข้าวกล่องมันหมดแล้ว เขาก็อดกิน เราเลยทำสำหรับทุกคน มาเวลาไหนก็ยังได้กิน เรียกว่า “หิวเมื่อไหร่ก็แวะมา” มื้อเช้ากินได้ตั้งแต่หกโมงเช้า เพราะบางคนเขาต้องออกไปทำงาน จะได้มีอะไรรองท้อง”
.
“ก็จะทำครัวกลางที่นี่ไปจนกว่าพี่น้องชาวบ้านเรา จะย้ายกลับเข้าบ้านกันหมด ก็เคยมีคนถามพวกเราว่า จะย้ายกลับอีกหรอ ตรงนี้น้ำท่วมตลอด พี่เคยคิดว่าอยากย้ายไปอยู่ที่อื่น แต่ที่นี่บ้านเรา การทำมาค้าขาย หากิน เดินทาง ทุกอย่างมันสะดวก ไปหมด ถึงเราจะอยากไป แต่เราจะไปไหนล่ะ ไปซื้อที่ดินหรอ ที่ดินแปลงนึงสี่ห้าแสน พี่จะเอาเงินที่ไหนล่ะ สำหรับคนมีเงินมันง่าย แต่เราไม่มีไง”
———————————————
ไพลำ วิวรรณรัมย์ ผู้ประสบภัยน้ำท่วม
ชุมชนหาดสวนยา อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี
——————————————-
อาหารปรุงสดใหม่จากครัวกระจกเงา ในช่วง 2 สัปดาห์นี้ สนับสนุนโดย มูลนิธิวายไลฟ์
.
สามารถร่วมสนับสนุนครัวกลาง มูลนิธิกระจกเงา
ซื้อข้าวสาร เครื่องปรุง เนื้อสัตว์ น้ำดื่มสะอาด และของใช้อุปโภคบริโภคจำเป็นอื่นๆ
ได้ที่บัญชี กองทุนภัยพิบัติ โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-258298-3 ธ.ไทยพาณิชย์
Share Button

“พวกเราจะกลับมา” คำสัญญาในความเงียบก่อนเรือยนต์จะขับผ่านไป

“ไปกันเถอะ”
ผมสะกิดบอกพี่ทีมงานอีกคน
เราใช้เวลาอยู่ตรงนี้ไม่ถึงนาที
แทบไม่มีบทสนทนาอื่นเลย
ในห้วงเวลานั้น
.
สายตาพิจารณาภาพตรงหน้า
ใจคิดไปว่า มีคนจำนวนหนึ่งแล้ว
มาพูดคุย สอบถาม แสดงความเห็นใจ
แล้วขับเรือจากไปเหมือนที่เรากำลังจากไป
อะไรจะทำได้ดีกว่านั้นบ้าง
บางทีคำตอบตอนนั้นคือ ไม่มีจริงๆ
.
ความเงียบดำเนินไป
จนพี่คนขับเรืออาสา ตะโกนแซว
บอกชายบนหลังคาบ้านให้ “ชูมือสู้ๆ”
ทั้งชายขับเรือและชายบนหลังคา
รู้จักและตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน
คือบ้านจมน้ำถึงชั้นสอง
.
เสียงเรือยนต์ดังขึ้นอีกครั้ง
พาพวกเราจากไปเพื่อกลับเข้าฝั่ง
มั่นใจว่าจะได้กลับมาบ้านหลังนี้อีก
จะมาพร้อมอาสาสมัครล้างบ้าน
และทีมช่างที่ช่วยซ่อมแซมบ้าน
มันหดหู่แต่ยังพอมีความหวังอยู่บ้าง
ถ้าถึงวันนั้นเราจะบอกชายคนนี้ว่า
“พวกเรากลับมาแล้ว”

———————————————————

ใครพร้อมช่วยกัน วันที่ 5-6 พ.ย. 2565 นี้
กระจกเงาจัดกิจกรรมอาสาล้างบ้านรุ่นที่ 1
สนใจเข้าร่วม ดูรายละเอียดได้ที่�https://shorturl.asia/YejxB
.
หรือสนับสนุนภารกิจอาสาล้างบ้านและซ่อมบ้าน
ผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วม อ.วารินชำราบ จ.อุบลฯ
ได้ที่บัญชี กองทุนภัยพิบัติ โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-258298-3 ธ.ไทยพาณิชย์

Share Button

DNA จากเยื่อบุกระพุ้งแก้ม สู่ความหวังในการพบคุณตาที่หายไป

ยายอายุ 76 ปี
ยอมหยุดเคี้ยวหมาก 3 วัน
ให้ช่องปากสะอาดที่สุด
เพื่อเก็บดีเอ็นเอที่เยื่อบุกระพุ้งแก้ม
.
ยายคือพี่สาวของตาผุยอายุ 72 ปี
ที่หายตัวไปจากห้องพักคนงานของลูกสาว
ที่ถนนนิมิตใหม่ กรุงเทพฯ
ตั้งแต่เมื่อ 4 เดือนที่แล้ว
.
กรณีนี้ไม่สามารถเก็บดีเอ็นเอ
ลูกสาวของตาผุยได้
เพราะเป็นลูกที่ตาผุยขอรับมาเลี้ยง
ในขณะที่ญาติสายตรงเหลือเพียงคนเดียว
คือ ยายคนนี้ซึ่งเป็นพี่สาว
.
ยายไม่เคยทราบว่า
ดีเอ็นเอคืออะไร
เยื้อกระพุ้งแก้มจะหาน้องชายได้อย่างไร
.
ยากมากที่ยาย
หรือครอบครัวคนหายในต่างจังหวัด
จะเดินไปโรงพัก เพื่อขอเก็บดีเอ็นเอ
มาเทียบกับศพนิรนามด้วยตัวเอง
.
ทีมงานจึงเดินทางไป-กลับ1,200 กม.
อย่างน้อยเป็นความหวังว่า
มีตัวอย่างดีเอ็นเอของญาติตาผุย
อยู่ในระบบก่อนทุกอย่างจะสายไป.
—————————————————
สถานการณ์คนหายปัจจุบันกลุ่มผู้สูงอายุหลงลืม พลัดหลงหายออกจากบ้านเป็นจำนวนมาก มีแนวโน้มว่าคนกลุ่มนี้จะเร่ร่อนตามข้างถนน ซึ่งกลายเป็นคนนิรนามในสถานสงเคราะห์หรือกลายเป็นศพนิรนามจากอุบัติเหตุหรือจากการโดนทำร้าย จึงควรมีการเก็บดีเอ็นเอญาติคนหาย เพื่อเทียบกับศพนิรนาม
—————————————————————
สนับสนุน การพาคนหายกลับบ้าน
บัญชีโครงการศูนย์ข้อมูลคนหาย โดยมูลนิธิกระจกเงา
SCB 202-258-288-6
Share Button

ดวงตาของยายไร้บ้านที่อยู่ห่างไกลการรักษา

เป็นคนไร้บ้านอยู่ข้างถนนมามากกว่า 20 ปี แต่ที่ไม่แน่ใจก็คือไอ้โรคที่ดวงตาขวาของแกนั้นมีจุดเริ่มต้นเมื่อไหร่ และมันนับได้เป็นปีที่เท่าไหร่ของชีวิตไร้บ้านของแก รู้แต่เพียงว่าเมื่อต้นปี 65 ที่ผ่านมา มันเริ่มแย่ขึ้น เพราะรอบตา มันบวมแดง อักเสบ รู้สึกเจ็บข้างในลูกตา
.
มีวันหนึ่งช่วงเกือบกลางปี 65 มีอันธพาลมารีดไถเงินแก เมื่อแกไม่มีให้ มันก็ทำร้ายร่างกายเอา ต่อยเข้าที่ตา ทุบเข้าที่หัว แผลที่ดวงตาก็เริ่มแย่และเจ็บมากขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
.
แกเล่าว่าแกไปรักษาที่โรงพยาบาลอยู่ ไปล้างแผล ไปทำแผล แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนเกือบปลายปี ตาข้างขวามันบวมรุนแรง แผลเริ่มอักเสบ ลูกตาเหมือนจะหลุดออกมาจากเบ้า เวลาของการนอน ถแกต้องนั่งนอนเพื่อลดทอนความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นถ้าต้องนอนในท่านอนราบกับพื้น
.
แกยังคงไปหาหมออยู่บ้าง ไปบ้างเมื่อมันเริ่มเจ็บปวดมากเกินทนทาน แกบอกกับเราว่าแกไม่อยากไปหาหมอ ไม่ใช่ไม่อยากหาย แต่มันเจ็บปวดเกินจะทนทาน ในตอนที่หมอทำการล้างแผลให้แก “มันเหมือนโดนหินเอามากระแทกที่ตา หมอมือหนักอย่างกับหิน” แกพยายามอธิบายความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นตอนถูกล้างแผลให้เราฟัง
.
สุขภาพจิตแกก็แย่ลงตามไปด้วย แย่จากความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับแกในทุกวัน อารมณ์วีนเหวี่ยง ร้องไห้ เกิดขึ้นตลอด ไม่ว่าจะเป็นพวกเรา ทีมงานผู้ป่วยข้างถนน คนที่เข้าไปถามไถ่แก ไม่เว้นแม้แต่หมอพยาบาลก็ถูกแกวีนถูกแกเหวี่ยงใส่
.
“เจ็บมากๆ เลยหนู ยายจะอยู่ถึงปีหน้ามั้ย เจ็บจนอยากจะตาย” ประโยคที่เป็นทั้งคำอุทธรณ์และระดับของความเจ็บปวดที่แกได้รับอยู่
.
เราปลอบประโลมและพยายามชักชวนให้แกไปหาหมอดีกว่า และกว่าที่แกจะยอมไปก็ใช้เวลาไม่น้อย แกยอมมาโรงพยาบาลด้วยกันกับเรา เมื่อหมอเมื่อพยาบาลเห็นแก ก็เดินเข้ามาหาทันที ทักทายแกเหมือนญาติสนิทคนหนึ่ง หมอและพยาบาลต่างเล่าให้พวกเราฟังว่า แกมาหาที่โรงพยาบาลบ่อย มาทำแผลรับยา แต่แกไม่เคยมาตามนัดหมายที่ทางหมอทำนัดให้เลย ซึ่งหมอคาดว่าแกอาจเป็นมะเร็งที่ประสาทตา
.
แกเจ็บ แกกลัวการมาหาหมอ ประกอบกับค่ารถที่แกไม่สามารถหามาได้ การเดินทางจากสุดฝั่งหนึ่งของกรุงเทพที่แกนอนไร้บ้านอยู่ มายังโรงพยาบาลที่นัดหมายแกไว้ในอีกสุดฝั่งตรงข้ามของกรุงเทพ มันเป็นเหตุผลเพียงพออยู่ พอเพียงต่อการไม่ได้มาตามนัดหมายของหมอเพื่อจะได้รักษาตาของแกได้อย่างต่อเนื่อง
.
วันนี้เราพาแกมาหาหมออีกครั้งตามที่หมอนัดหมาย ทั้งหมอทั้งพยาบาลดูมีท่าทีพึงพอใจเป็นอย่างมากที่แกมาหาหมอได้ตามที่นัดหมายสักที หมอบอกพวกเราว่า “ดีมากๆ เลยที่แกได้มาตามนัดหมายสักที” แต่สิ่งที่เรายังดีใจไปไม่สุดก็เป็นเรื่องที่แกยังไม่ยอมเข้าไปในศูนย์พักพิงชั่วคราวที่ทางรัฐเขาจัดไว้ให้
.
พวกเราได้วางแผนดูแลแก เพื่อจะพาแกให้สามารถไปเข้าสู่การรักษาให้ได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้โรคที่แกเป็นอยู่มันทุเลาเบาบางขึ้น อาการดีขึ้นเป็นลำดับ สุขภาพกายดีขึ้นสุขภาพจิตก็ดีขึ้นตามมา พวกเรากำลังทำหน้าที่เสมือนการสร้างเส้นทางเฉพาะกิจเพื่อเชื่อมโยงคนป่วยที่ไม่สามารถเข้าสู่การรักษาได้ด้วยเงื่อนไขบางอย่างให้สามารถเข้าสู่ระบบการรักษาได้ไวขึ้น สะดวกขึ้น ต่อเนื่องขึ้น
.
แต่เราหวังไว้ว่า สักวันเส้นทางหลักจะมีเกิดขึ้น ผู้ป่วยข้างถนนที่มีเงื่อนไขพิเศษแบบยาย จะสามารถเข้าสู่การรักษาได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น โดยมีเส้นทางที่เหมาะสมกับบริบทของผู้ป่วยที่คล้ายกับแก โดยมันถูกสร้างขึ้นจากระบบการรักษาของรัฐเอง มีการขยับระบบการรักษาเข้ามาให้ใกล้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้ชิดขึ้น ความห่างไกลจากการเข้าสู่การรักษานั้นก็คงจะน้อยลงไปได้เอง เราหวังว่าทางพิเศษที่เราสร้างขึ้นตอนนี้จะเป็นทางที่รกร้างไม่มีใครใช้อีกต่อไปในอนาคต
.
ถ้าไปถึงวันนั้น เราทางทีมงานผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา จะนับว่ามันเป็นความสำเร็จได้อย่างเต็มภาคภูมิเลยทีเดียว
——————————————-
สนับสนุนการทำงานได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-2-58289-4 SCB
Share Button

แม่ผู้แบกชีวิตลูกสาวผู้ป่วยติดเตียงด้วยร่างกายวัย 60

อุบัติเหตุทางรถยนต์
เปลี่ยนอนาคตสดใสของลูกสาววัย 23 ปี
ที่กำลังทำงานบริษัท
ให้เป็นผู้ป่วยติดเตียงตลอดชีวิต
.
เปลี่ยนชีวิตบั้นปลายของแม่ชรา
ให้เป็นผู้แบกรับภาระดูแลผู้ป่วยติดเตียง
ไปตลอดชีวิตเช่นกัน
.
“ ตอนปี 53 วันที่เขาประสบอุบัติเหตุ หมอบอกว่าก้านสมองเขาถูกทำลายหมดไม่เหลือสักเส้น ลูกเรากลายเป็นคนพิการ เดินไม่ได้ พูดไม่ได้ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องติดเตียงไปตลอดชีวิต หมอบอกให้แม่ทำใจ แต่หัวอกคนเป็นแม่นะ มันสงสารลูก มันทำใจไม่ได้เลย ”
.
“ แม่พาเขากลับมาดูแลต่อที่บ้าน พยายามคิดตามคำพระไว้ว่า แม่ยังมีมือมีเท้าครบเราจะสู้ไปด้วยกัน หน้าที่ของแม่คือดูแลเขาทุกอย่าง ยกตัวขึ้นรถเข็นไปอาบน้ำ เปลี่ยนแพมเพิส ทำกับข้าว ป้อนข้าวป้อนยา คอยพลิกตัวไม่ให้เขาเป็นแผลกดทับ ”
.
“ เขาพูดสื่อสารไม่ได้ แต่แม่คิดว่าเขายังเข้าใจคำพูดแม่นะ ทุกวันแม่จะให้เขาเลือกเมนูกับข้าว เขียนเมนูแล้วบอกเขาว่ารูปนี้ไข่ดาวนะ รูปนี้ไก่ทอดนะ ให้เขาชี้เอา แม่ก็จะทำตามเมนูที่เขาเลือก บดให้ละเอียดแล้วเอามาป้อนให้เขา”
.
“ ตั้งแต่ลูกติดเตียงมาแม่หมดเงินไปเยอะ ทั้งค่ารักษาที่โรงพยาบาล ทรัพย์สินอะไรขายได้ก็ต้องขาย แม่ขายรถยนต์ที่ใช้หากินเอาเงินมารักษาเขา ทำงานเป็นแม่ค้าขายกับข้าวเอามาจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ค่ากิน ค่าอุปกรณ์การแพทย์ให้เขา ”
.
“ ส่วนพ่อจะช่วยทำงานส่งแก๊ส เงินได้มาพ่อจะเอามาลงที่แพมเพิสลูกทั้งหมด เขาใช้วันละ 5-6อัน เดือนนึงก็หมดค่าแพมเพิสไปหลายพัน แต่เงินจากที่พ่อส่งแก๊สมันไม่ได้มีมาตลอด เพราะพ่อเขาก็ป่วยเป็นโรคหัวใจเพิ่งผ่าตัดมา เหลือหัวใจแค่ห้องเดียว ทำงานหนักมากไม่ได้”
.
“ ปีนี้แม่อายุย่าง 60 พูดกันตามตรงมันก็เป็นคนแก่แล้ว แต่แม่ยังต้องทำสารพัด ร่างกายเราก็ไม่ค่อยแข็งแรง ยิ่งเวลาพยาบาลลูก ยกตัวลูกมันหลังขดหลังแข็งนะ เจ็บเส้นเจ็บในร่างกายไปหมด เกิดมาชีวิตแม่มีแต่ค้าขายไม่ได้หยุดได้หย่อน ยิ่งลูกมาเป็นแบบนี้ต่อให้เหนื่อยแค่ไหนมันก็หยุดค้าขายไม่ได้แล้ว ถ้าหยุดไปครอบครัวเราตายกันแน่ ลูกเราตายแน่ๆ”
.
“ ปีสองปีแรกแม่ยังอยู่ด้วยความหวัง คิดเอาว่าเดี๋ยวลูกจะกลับมาเดินได้ แต่นี้เข้าปีที่สิบแล้ว มันคงเป็นอย่างหมอว่า อาการคนเป็นอย่างนี้น่ะจะไม่มีวันหายมีแต่ถดถอย ถ้าวันไหนร่างกายเขาเริ่มแย่ลง คือให้แม่ทำใจไว้ก่อนเลย ว่าเขากำลังจะจากเราไป”
.
“ หลายครั้งแม่เหนื่อยมาก ท้อมาก จนบางครั้งคิดขึ้นมาว่า ‘หรือเราตายด้วยกันมั้ยลูก…’ (ร้องไห้) แม่ทั้งเหนื่อยทั้งสงสารลูกที่ต้องมานอนทรมานติดเตียงอยู่อย่างนี้”
——————————————————
ป้าร่า วัย 60 ปี
ผู้สูงอายุที่ยังทำหน้าที่แม่สุดกำลัง
เพื่อดูแลชีวิตลูกสาวติดเตียง วัย 36 ปี
——————————————————
เมื่อสมาชิกสักคนในครอบครัวกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง มักมีสมาชิกอีกคนรับหน้าที่ผู้ดูแล สำหรับครอบครัวนี้ หน้าที่ทั้งหมดตกมาที่หญิงชราสูงอายุ แม้ร่างกายที่แก่ตัวยังต้องทำงานอย่างหนัก แต่ในฐานะแม่ เธอยินดีที่จะแบกรับลูกสาวไว้ด้วยตัวเอง
.
โครงการป่วยให้ยืม มูลนิธิกระจกเงาเชียงราย ส่งต่อวีลแชร์ให้ครอบครัวนี้ยืมใช้ และในทุกเดือนเราจะคอยดูแลด้านอาหาร ผ้าอ้อม ของใช้จำเป็นอื่นๆ สำหรับผู้ป่วย แน่นอนว่าอุปกรณ์เหล่านี้จะมีผลดีต่อชีวิตผู้ป่วย ยิ่งกว่านั้นมันจะช่วยปลดเปลื้องภาระที่หนักอึ้งของคนดูแลผู้ป่วยให้เบาบางลงเป็นเท่าตัว
.
หากคุณมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ไม่ได้ใช้งาน
สามารถบริจาคได้ที่
โครงการป่วยให้ยืม มูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 191 ซอย วิภาวดีรังสิต 62 แยก 4-7
แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กทม. 10210
โทร.092-252-5454
.
หรือสนับสนุนภารกิจป่วยให้ยืม
เพื่อร่วมลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัวผู้ป่วย
ได้ที่บัญชี โครงการป่วยให้ยืม มูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-70398-7 SCB
Share Button

ชายพิการไร้บ้านทรุดโทรมหนัก ไร้หน่วยงานรัฐดูแล

ชายพิการไร้บ้านคนหนึ่งผู้ต้องแบกรับน้ำหนักจากปัญหาของรัฐในการจัดสวัสดิการ​ที่ดีให้กับเขา
.
ชายพิการที่ต้องใช้ร่างกายพิการจากอาการเส้นเลือดในสมองตีบ แต่ต้องมาแบกรับปัญหาสถานสงเคราะห์คนพิการของรัฐที่มีคิวต่อเข้ารับการดูแลในสถานสงเคราะห์กว่า 100 คิว และรอคิวนั้นมาตั้งแต่มกราคมปีที่แล้ว
.
ชายพิการที่ไร้บ้าน ไร้ที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม แต่ต้องมาแบกรับความไม่สามารถของรัฐในการบริหารจัดการเพื่อให้ประชาชนผู้ต้องการรับการดูแลจากรัฐอย่างเร่งด่วนให้ได้รับการดูแลตามความประสงค์ของเขา
.
ชายพิการที่ต้องอยู่กับคุณภาพชีวิตย่ำแย่ แต่ต้องมาแบกรับกับปัญหาที่สถานสงเคราะห์ที่ดูแลกลุ่มคนไร้ที่พึ่งของรัฐบอกมาว่า ไม่สามารถรับเขาเข้าไปดูแลได้ก่อน เนื่องจากกลัวว่าภายในสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งจะรับมือในการดูแลคนพิการไม่ไหว และที่สำคัญคือกลัวการไม่สามารถส่งต่อไปให้สถานสงเคราะห์เฉพาะทางอย่างสถานสงเคราะห์คนพิการได้ เนื่องจากทางนั้นก็บอกว่าคนขอฉันเต็มและมีคิวจ่อรอเป็น 100 คิวในทุกสถานสงเคราะห์คนพิการของประเทศนี้
.
ชายพิการที่สภาพร่างกายทรุดโทรมลงทุกวัน แต่เขาต้องมาแบกรับกับการที่ไม่มีหน่วยงานรัฐหน่วยงานใดที่จะเข้ามาดูแลเขาอย่างเร่งด่วน ที่เริ่มต้นจากการพาไปตรวจสภาพร่างกาย การหาที่พักอาศัยให้ การดูแลสุขภาพร่างกาย การดูแลให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดี
.
ชายพิการไร้บ้าน ร่างกายทรุดโทรมลงทุกวัน แต่เขาต้องมาแบกรับปัญหาของภาครัฐ เขาต้องแบกและรอคอยอยู่ที่ศาลาวัดแห่งหนึ่งริมคลองแสนแสบอยู่ทุกวี่วัน
.
ชีวิตชายคนนี้กำลังบี้แบนพังทลายไปเท่าไหร่แล้ว ท่านลองตรองดู กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
Share Button

ช่วยผู้ป่วยจิตเวชอีกราย นำส่งโรงพยาบาลได้แม้ไร้ญาติ

“จะไม่กลับมาอีกเหรอ​ มีคนเอาไปโรงพยาบาล​ 2 รอบแล้ว​ ไปเสร็จไม่เกินเดือนสองเดือนก็กลับมาอีก”
.
เราตอบไปว่า จริงๆ แล้วผู้ป่วยจิตเวช​ระดับรุนแรง​แบบนี้​ ฟังชั่นเสียหมดแล้ว​ เขาต้องถูกส่งไปสถานสงเคราะห์​หลังสิ้นสุดการรักษา​ แต่ที่ผ่านมาทางรพ.น่าจะไม่ดูเรื่องนี้​ เลยถูกส่งกลับมา ทั้งๆ ที่ดูแลตัวเองไม่ได้และไม่มีผู้ดูแล
.
“เขาเป็นคนแถวนี้แหละ​ เกิดโตแถวนี้​ แต่ก็ดมกาวตั้งแต่เด็ก​พอนานไปก็หลุดเลย”
ใช่ครับยาเสพติด​ สารระเหย​ ก่อผลให้เกิดโรคจิตเวชได้​ ผู้ป่วยในหวอดจิตเวช​ตอนนี้ส่วนมากเกิดจากการใช้สารเสพติด
.
“เดินหน้าสองก้าว​ ถอยหลังสองก้าว​ ลองดูสิเขาไม่ใส่กางเกง​เลย​ ผู้หญิงผ่านไปมาก็กลัว​ บางทีก็มีท่าทีเดินเข้าหาผู้หญิง”
.
ไม่ใช่แค่อันตรายต่อคนอื่นๆ​ แต่อาการจิตเวชของเขานั้นก็สร้างความอันตรายให้กับตัวเขาเองไม่น้อย​ เช่น​ คุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่​ลงทุกวัน
.
“โรงพยาบาล​จิตเวช​เขาจะรับเหรอ​ ไม่มีญาติไปด้วย”
เราตอบไปอย่างชัดเจนว่า​ ตามพรบ.สุขภาพจิต​ ระบุไว้เลยว่าการนำตัวผู้ป่วยจิตเวชส่งโรงพยาบาล​ ไม่ต้องมีผู้ดูแล​ไปด้วยก็ได้
.
ผู้ป่วยจิตเวช​คนนี้ได้รับการช่วยเหลื​อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
—————————————
สนับสนุน​การ​ช่วยเหลือ​ผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-58289-4 SCB
Share Button

ปลายทางสุดท้าย ที่ไม่ท้ายสุดของเตียงผู้ป่วยเตียงเก่า

ในกองขยะรีไซเคิล ที่ร้านขายของเก่า
มีเตียงผู้ป่วยสีขาวสภาพดี วางปนอยู่
.
เจ้าของร้านเล่าว่า
ซาเล้งคันหนึ่งบรรทุกมันมาขาย
ปลายทางสุดท้ายของเตียงนี้
มันจะถูกรื้อขายเป็นเศษเหล็ก
.
ทีมงานป่วยให้ยืมตัดสินใจขอซื้อเตียงนั้น
เพื่อนำกลับมาซ่อมแซมทำความสะอาด
.
เพื่อเปลี่ยนปลายทางสุดท้าย
แทนที่จะกลายเป็นเศษเหล็ก
มันจะได้กลับมาทำหน้าที่เตียงดังเดิม
.
เกิดการหมุนเวียนทรัพยากรเก่า
ให้มีคุณค่า ลดภาระค่าใช้จ่าย
ให้ครอบครัวผู้ป่วยติดเตียง/เรื้อรัง
บรรเทาทุกข์เพื่อนมนุษย์
ในช่วงยากลำบากได้อีกหลายราย

————————————

หากคุณมีอุปกรณ์ทางการแพทย์
ที่ไม่ได้ใช้งานอยู่ในบ้าน
มูลนิธิกระจกเงาเรายินดีรับบริจาค
.
สามารถส่งต่อได้ที่
มูลนิธิกระจกเงา เลขที่ 191
ซอย วิภาวดีรังสิต 62 แยก 4-7
แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กทม. 10210
โทร.092-252-5454
.
หรือหากคุณเป็นหนึ่งในครอบครัว
ที่ต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วย
สามารถทักอินบ็อกซ์หาแอดมินได้ที่
โครงการป่วยให้ยืม มูลนิธิกระจกเงา
.
สนับสนุนภารกิจป่วยให้ยืม
บัญชี โครงการป่วยให้ยืม มูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-70398-7 SCB

Share Button