ชายพิการไร้บ้านทรุดโทรมหนัก ไร้หน่วยงานรัฐดูแล

ชายพิการไร้บ้านคนหนึ่งผู้ต้องแบกรับน้ำหนักจากปัญหาของรัฐในการจัดสวัสดิการ​ที่ดีให้กับเขา
.
ชายพิการที่ต้องใช้ร่างกายพิการจากอาการเส้นเลือดในสมองตีบ แต่ต้องมาแบกรับปัญหาสถานสงเคราะห์คนพิการของรัฐที่มีคิวต่อเข้ารับการดูแลในสถานสงเคราะห์กว่า 100 คิว และรอคิวนั้นมาตั้งแต่มกราคมปีที่แล้ว
.
ชายพิการที่ไร้บ้าน ไร้ที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม แต่ต้องมาแบกรับความไม่สามารถของรัฐในการบริหารจัดการเพื่อให้ประชาชนผู้ต้องการรับการดูแลจากรัฐอย่างเร่งด่วนให้ได้รับการดูแลตามความประสงค์ของเขา
.
ชายพิการที่ต้องอยู่กับคุณภาพชีวิตย่ำแย่ แต่ต้องมาแบกรับกับปัญหาที่สถานสงเคราะห์ที่ดูแลกลุ่มคนไร้ที่พึ่งของรัฐบอกมาว่า ไม่สามารถรับเขาเข้าไปดูแลได้ก่อน เนื่องจากกลัวว่าภายในสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งจะรับมือในการดูแลคนพิการไม่ไหว และที่สำคัญคือกลัวการไม่สามารถส่งต่อไปให้สถานสงเคราะห์เฉพาะทางอย่างสถานสงเคราะห์คนพิการได้ เนื่องจากทางนั้นก็บอกว่าคนขอฉันเต็มและมีคิวจ่อรอเป็น 100 คิวในทุกสถานสงเคราะห์คนพิการของประเทศนี้
.
ชายพิการที่สภาพร่างกายทรุดโทรมลงทุกวัน แต่เขาต้องมาแบกรับกับการที่ไม่มีหน่วยงานรัฐหน่วยงานใดที่จะเข้ามาดูแลเขาอย่างเร่งด่วน ที่เริ่มต้นจากการพาไปตรวจสภาพร่างกาย การหาที่พักอาศัยให้ การดูแลสุขภาพร่างกาย การดูแลให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดี
.
ชายพิการไร้บ้าน ร่างกายทรุดโทรมลงทุกวัน แต่เขาต้องมาแบกรับปัญหาของภาครัฐ เขาต้องแบกและรอคอยอยู่ที่ศาลาวัดแห่งหนึ่งริมคลองแสนแสบอยู่ทุกวี่วัน
.
ชีวิตชายคนนี้กำลังบี้แบนพังทลายไปเท่าไหร่แล้ว ท่านลองตรองดู กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
Share Button

ช่วยผู้ป่วยจิตเวชอีกราย นำส่งโรงพยาบาลได้แม้ไร้ญาติ

“จะไม่กลับมาอีกเหรอ​ มีคนเอาไปโรงพยาบาล​ 2 รอบแล้ว​ ไปเสร็จไม่เกินเดือนสองเดือนก็กลับมาอีก”
.
เราตอบไปว่า จริงๆ แล้วผู้ป่วยจิตเวช​ระดับรุนแรง​แบบนี้​ ฟังชั่นเสียหมดแล้ว​ เขาต้องถูกส่งไปสถานสงเคราะห์​หลังสิ้นสุดการรักษา​ แต่ที่ผ่านมาทางรพ.น่าจะไม่ดูเรื่องนี้​ เลยถูกส่งกลับมา ทั้งๆ ที่ดูแลตัวเองไม่ได้และไม่มีผู้ดูแล
.
“เขาเป็นคนแถวนี้แหละ​ เกิดโตแถวนี้​ แต่ก็ดมกาวตั้งแต่เด็ก​พอนานไปก็หลุดเลย”
ใช่ครับยาเสพติด​ สารระเหย​ ก่อผลให้เกิดโรคจิตเวชได้​ ผู้ป่วยในหวอดจิตเวช​ตอนนี้ส่วนมากเกิดจากการใช้สารเสพติด
.
“เดินหน้าสองก้าว​ ถอยหลังสองก้าว​ ลองดูสิเขาไม่ใส่กางเกง​เลย​ ผู้หญิงผ่านไปมาก็กลัว​ บางทีก็มีท่าทีเดินเข้าหาผู้หญิง”
.
ไม่ใช่แค่อันตรายต่อคนอื่นๆ​ แต่อาการจิตเวชของเขานั้นก็สร้างความอันตรายให้กับตัวเขาเองไม่น้อย​ เช่น​ คุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่​ลงทุกวัน
.
“โรงพยาบาล​จิตเวช​เขาจะรับเหรอ​ ไม่มีญาติไปด้วย”
เราตอบไปอย่างชัดเจนว่า​ ตามพรบ.สุขภาพจิต​ ระบุไว้เลยว่าการนำตัวผู้ป่วยจิตเวชส่งโรงพยาบาล​ ไม่ต้องมีผู้ดูแล​ไปด้วยก็ได้
.
ผู้ป่วยจิตเวช​คนนี้ได้รับการช่วยเหลื​อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
—————————————
สนับสนุน​การ​ช่วยเหลือ​ผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-58289-4 SCB
Share Button

เรื่องเล่าของ “กล้วย” นักผจญงานผู้ไร้บ้าน

วันนี้เขามาทำงานด้วยเทรนด์แฟชั่น Y2K
.
“กล้วย”เป็นชื่อที่เขาบอกกับเรา กล้วยเป็นคนไร้บ้านและเขาเองน่าจะมีปัญหาทางสติปัญญา กล้วยเข้ามาทำงานกับจ้างวานข้าในรูปแบบที่ไม่เหมือนจ้างวานข้าคนอื่นๆ เขามาทำงานให้บริการซักผ้า อบผ้า และห้องอาบน้ำให้แก่คนไร้บ้าน
.
เราเจอกล้วยครั้งแรกในวันที่ทางมูลนิธิกระจกเงาจัดแคมเปญวันซักผ้าและอาบน้ำแห่งชาติ เขามากับจดหมายน้อยฉบับหนึ่ง จดหมายที่มีคนใจดีเขียนให้และแนะนำให้เขามาหาเราเพื่อที่จะได้มีงานทำ ในวันนั้นกล้วยแสดงสปริตอย่างสูง สูงจนการทำงานของเขามันทำการสื่อสารกับเราว่าเขาอยากทำงาน เรานัดหมายกับเขาให้มาเริ่มงานที่เขาสามารถจะทำได้ แต่แล้วเขาก็หายไป
.
วันหนึ่งเขาก็เดินเข้ามาหาว่าเขาอยากช่วยงาน มันเป็นช่วงที่เราทำกิจกรรมรถซักอบอาบน้ำไปจอดให้บริการกับคนไร้บ้านที่ใต้สะพานปิ่นเกล้า ถนนพระอาทิตย์ “ผมมม ผมมช่วยย” ประโยคติดอ่างของกล้วยที่มักพูดติดปากอยู่ตลอดเวลาในช่วงขณะทำงาน เราจ้างกล้วยให้ช่วยงานเป็นประจำ
.
แต่กล้วยยังเหมือนเดิม ยังเป็นเหมือนสายลับอะไรแบบนั้น บางช่วงก็หายไปเป็นอาทิตย์ เขามักกลับมากับคำบอกเล่าว่า เขาไปหาเงินอยู่ที่ตรงนั้นตรงนี้ ครั้งล่าสุดเขาบอกว่าไปต่อคิวรับพระเครื่องแล้วก็ปล่อยเช่าให้กับเซียนพระที่หน้างานแจกพระนั่นแหละ ได้ทั้งเที่ยว ได้ทั้งกิน ได้ทั้งเงิน
.
เรามักถามเขาทุกครั้งที่เจอกันว่า “กล้วยเดี๋ยวนี้ไปนอนแถวไหน” ที่ต้องถามเพราะกล้วยเองเปลี่ยนที่นอนบ่อยครั้งมาก ที่ต้องเปลี่ยนที่นอนบ่อยครั้ง สาเหตุเกิดจากกล้วยมักถูกรังแก หรือบางครั้งก็ถูกทำร้ายเอาแรงๆ เขาเคยชี้ให้เราดูแผลที่หัวที่เคยเป็นรอยแตก ในบางวันกล้วยก็มาบอกว่าเขาเช่าห้องแล้วนะอยู่ที่แถวรังสิต แต่เมื่อถามว่าห้องน้ำรวมมั้ย เขากลับตอบว่าไปเข้าห้องน้ำที่ปั๊มน้ำมัน
.
เราเคยถามกล้วยว่าเงินที่ได้จากการทำงานกับเราที่รถซักอบอาบน้ำ เขาเอาไปใช้อะไรบ้าง กล้วยตอบอย่างเร็วว่า เขาเอาไปซื้อข้าวกิน เขาชอบสั่งกะเพราหมูสับ และที่ขาดไม่ได้ต้มยำรวมมิตร “กินกับข้าวเปล่า ซดต้มยำอร่อย” คนฟังคำตอบถึงกับกลืนน้ำลายเรื่องเล่าจากร้านอาหารของเขา
.
วันนี้เราคุยกับเขาว่า เร็วๆ นี้เราจะทำการเปิดบริการห้องสุขา และห้องอาบน้ำ รวมถึงรถซักอบอาบ ให้กับคนไร้บ้านทุกวันไม่มีวันหยุด กล้วยอยากมาทำงานกับเราทุกวันมั้ย เขาพยักหน้าแทนคำตอบรับ เราบอกข้อมูลให้กับกล้วยเพิ่มเติมว่า รออีกสักไม่เกิน 2 เดือนพื้นที่ตรงนั้นจะทำหน้าที่ปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้กับคนไร้บ้าน เพื่อว่าวันหนึ่ง เมื่อเขาพร้อมที่จะเปลี่ยนจากไร้บ้านมามีบ้านเขาจะสามารถเปลี่ยนผ่านได้จากการเริ่มต้นจากจุดตรงนี้
.
เราบอกส่งท้ายกับกล้วยว่า “กล้วยเองก็เหมือนกันนะ”
——————————————
สนับสนุน​จ้างวาน​ข้าและการสร้างพื้นที่สวัสดิการ
เพื่อดูแลคนไร้บ้าน ได้ที่​
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-58289-4 SCB
Share Button

วัฏจักรชีวิตไร้บ้านของผู้ป่วยในตรอกสาเก

“เดี๋ยวก็มีมาใหม่อีกเรื่อยๆ ไม่จบไม่สิ้น” ประโยคของคนในตรอกสาเก บอกเล่ากับทีมงานผู้ป่วยข้างถนนหลังจากที่เราประสานงานให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชหญิงรายนี้อยู่
.
จริงอย่างที่ชาวบ้านแถวตรอกสาเกบอกกับเรา ไม่นานนักก็จะมีผู้ป่วยรายใหม่เดินวนเวียนใช้ชีวิตอยู่ที่ตรอกสาเก หรือข้อเท็จจริงที่สุดก็คือ ในขณะที่เราช่วยผู้ป่วยหญิงคนนี้อยู่ ก็ยังมีผู้ป่วยอีกไม่ต่ำกว่า 5 รายที่ใช้ชีวิตกับความป่วยจิตเวชอยู่ที่ข้างถนนในพื้นที่ตรอกสาเกหรือไม่ก็พื้นที่ใกล้เคียง หรือเมื่อปีก่อนนี้เองที่เราให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชหญิงที่ตรอกสาเกไป
.
วัฏจักรนี้มันเป็นอย่างไร ผู้หญิงคนนี้อาจบอกเล่าเรื่องนี้ได้พอสมควร
.
1 ปีกว่าๆ คือเวลาที่เธอมาใช้ชีวิตเร่ร่อนอยู่ที่ตรอกสาเก
.
การแต่งกาย เสื้อผ้าหน้าผมของเธอ แน่นอนมันบอกถึงอาการจิตเวชอย่างไม่มีข้อสงสัย และที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือเสื้อผ้าที่เธอสวมใส่ มันคือเสื้อเว้าแหว่งคล้ายเสื้อกล้าม ที่สำคัญคือเธอไม่สวมชุดชั้นใน และมาระยะหลัง เสื้อตัวเก่งก็ถอดออก บางครั้งก็เปลือยท่อนบนนั้นและใช้ชีวิตแบบนั้นอยู่ทั้งวัน
.
มาตอนแรกๆ ก็ขายของมือสองที่หาเก็บตามถังขยะ สภาพของมีทั้งสภาพกึ่งพังและพังไปแล้ว ยิ่งช่วงหลังมานี้ของที่เก็บมาขาย มีสภาพกึ่งขยะและเป็นขยะไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อมีลูกค้าเข้ามาถามไถ่ราคาสินค้า แม่ค้าไม่พูดไม่บอกราคาสินค้านั้นแต่อย่างใด
.
ข้าวปลาอาหาร ช่วงมาอยู่แรกๆ การหาอยู่หากิน ก็ยังใช้เงินซื้อข้าวปลาอาหารมากินเองได้ ช่วงหลังมานี้ ถังขยะนอกจากจะเป็นแหล่งหาของไปขาย มันยังทำหน้าที่เป็นโรงอาหารให้กับเธอ หิวน้ำก็หยิบแก้วน้ำเหลือขึ้นมาดื่มกิน หิวมากหน่อยก็อาจเป็นข้าวกล่อง ขนมปังเหลือๆ ที่ถูกหยิบขึ้นมากิน
.
หลายครั้งถูกชายหนุ่มกลัดมันเข้ามาดิว(เจรจาเพื่อซื้อบริการ) แต่เธอไม่เคยไปกับใคร(หญิงสาวขายบริการแถวนั้นให้ข้อมูลตรงกัน) แต่ก็มีหลายครั้งที่เธอถูกคุกคามจากผู้ชาย ทั้งที่เป็นคำพูดและท่าทีหื่นๆ แรงๆ พวกเขาทำเสมือนเธอมีสภาพเป็นวัตถุทางเพศไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่ควรเคารพในฐานะมนุษย์เช่นเดียวกัน
.
ประเทศไทยนั้นมี พระราชบัญญัติสุขภาพจิตอยู่ แต่มันก็เป็นกฎหมายที่แทบมีสภาพบังคับใช้ไม่ได้ ยิ่งในหมวดที่เกี่ยวเนื่องกับการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชที่เร่ร่อนอยู่ที่ข้างถนนแบบเธอคนนี้
.
กลไกช่วยเหลือที่รวดเร็วนั้นนับเป็นเรื่องที่ดีสำหรับตัวผู้ป่วยอย่างมาก เพราะอาการป่วยของเธอคงไม่หนักข้อขนาดที่ไม่ซื้อของกินแล้วแต่เป็นการหาเอาตามถังขยะกินแทน เธออาจจะไม่ต้องแก้ผ้าให้ใครต่อใครที่เธอไม่เคยได้รู้จักได้เห็นรูปกายเธอ ทั้งๆ ที่มันควรเป็นเรื่องส่วนตัวอย่างที่สุด เธออาจจะได้ขายของเป็นชิ้นเป็นอันเป็นเรื่องเป็นราว หลังจากที่เธอได้เข้ารับการรักษาแล้ว ที่สำคัญเธอจะไม่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับความเสี่ยงที่ว่าจะถูกละเมิดทางเพศโดยที่เธอป้องกันตัวเองแทบไม่ได้แล้ว
.
สุดท้ายของบทความนี้เราขอฝากเรื่องนี้ไว้ให้กับรัฐ เพื่อรัฐจะได้ตระหนักว่า ความเร็วในการให้ความช่วยเหลือบุคคลพลเมืองของรัฐนั้น มันนับเป็นตัวชี้วัดว่ารัฐให้ความใส่ใจต่อบุคคลพลเมืองของตัวเองนั้นมากแค่ไหน บาร์ที่ว่านั้นอยู่ต่ำหรือสูง ความเร็วนั้นนับเป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่สำคัญมากเลยทีเดียว
—————————————————
สนับสนุนการทำงานได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-2-58289-4 SCB
Share Button

แม่เล่า ลูกวาด กับบทสัมภาษณ์ชีวิตเก่าก่อนเริ่มต้นชีวิตใหม่

เด็กน้อยเอ่ยขอปากกาและกระดาษไปวาดรูปในช่วงที่เรากำลังสัมภาษณ์แม่ของเขา
.
เด็กน้อยใช้เวลาวาดพอๆกับเวลาที่เราทำการสัมภาษณ์แม่ของเขาเพื่อรับมาทำงานกับจ้างวานข้า
.
เด็กน้อยวาดรูปในขณะที่แม่เริ่มน้ำตานองหน้าจากเรื่องที่เล่า
.
ผู้เป็นแม่บอกเล่าชีวิตตัวเองและครอบครัว
.
หญิงสาวว่า เธอมากับลูกวัย3ขวบ ตอนนี้เธอและลูกใช้ข้างถนนเป็นพื้นที่หลับนอน เธออายุเพียง20ต้นๆ แฟนเธอเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถไปไม่นาน
.
เธอเคยทำงาน2ร้านใน1วัน เช้าอยู่ร้านขายของ เย็นที่ร้านอาหาร แฟนเธอวิ่งวินมอเตอร์ไซค์ ความรักผลิบานก็ตอนที่เขารับส่งเธอไปทำงานทั้งเช้าทั้งค่ำ
.
เมื่อเธอตั้งท้อง งานการทั้งสองร้านที่เธอเคยทำ กลับไม่จ้างเธออีกต่อไป สาเหตุเพราะเธอท้อง และเขาคงกลัวว่าจะทำงานได้ไม่คล่องตัว ไม่คุ้มค่าจ้าง และเธอก็ตกงานโดยไม่มีค่าชดเชยใด
.
แฟนเธอจึงต้องวิ่งงานหนักขึ้นอีกเป็นเท่าตัว วันนึงบ่าของเขาที่แบกทั้งเมียทั้งลูกเล็กก็พังทลาย แฟนเธอถูกรถชนตาย ตายขณะยังทำหน้าที่วินมอเตอร์ไซค์
.
หญิงสาวบอกว่าอุบัติเหตุในครั้งนั้น ส่วนนึงเกิดจากร่างกายของแฟนเธอที่กรำงานหนักเพื่อที่จะแบกชีวิตเธอและชีวิตลูก
.
ถึงตรงนี้หลายคนคงมีคำถามในใจว่าทำไมเมื่อเธอคลอดลูกแล้ว ทำไมเธอไม่ไปหางานทำช่วยแฟนอีกแรง คำตอบก็คือเธอต้องทำหน้าที่แม่ที่ต้องดูแลลูกเล็ก
.
เธอออกไปหางานทำมาบ้างแล้ว แต่งานรับจ้างที่ส่วนมากนั้นมันไม่ได้มีห้องเลี้ยงเด็กให้สำหรับสัตว์เศรษฐกิจในชื่อว่าแม่คนอยู่เลย เธอจึงต้องจำใจเลี้ยงเอง อาจต้องรอจนเด็กมันพอเข้าเรียนได้นั้นแหละ ถึงจะพอไปหางานการทำได้อีกครั้งหนึ่ง
.
จะไปฝากญาติพี่น้องของทั้งคู่นั้นน่ะเหรอ ตัวเธอเองไม่เหลือใครแล้วในชีวิต แฟนเธอยิ่งแล้วใหญ่เขาเติบโตมาจากสถานสงเคราะห์เด็ก คงไม่ต้องไต่ถามกันอีกว่ามีญาติอยู่ที่ไหนบ้างมั้ย
.
เธอบอกแฟนก็ไม่มีญาติ ตัวเธอก็ไม่มีญาติ เธอและแฟนต่างก็เป็นญาติให้กันและกัน
.
ความจนยากนั้นทำให้ไม่ต้องไปถามถึงว่าทำไมไม่ฝากในศูนย์เลี้ยงเด็กเอกชน
.
เธอฝากลูกเล็กในระบบใดๆ ก็ไม่ได้เลย เธอจึงจำเป็นต้องดูเอง เมื่อแฟนเธอตายในช่วงต้นปีที่ผ่านมา มันยิ่งเคว้งคว้าง เธอพยายามหางาน งานที่เห็นความเป็นแม่คนที่ต้องมีงานมีรายได้
.
ไม่มีงานก็ไม่มีเงินพอที่จ่ายค่าเช่าห้องได้อีกต่อไป เงินที่ควรได้จากการตายของแฟน เธอบอกว่าตำรวจให้เธอรับเงินจากคู่กรณี 2หมื่นบาทจะได้จบๆ คดีไป และเธอรับมาอย่างว่าง่าย
.
เธอกับลูกชายเดินมายังจุดที่เราเปิดบริการรถซักอบอาบให้กับคนไร้บ้านที่สะพานปิ่นเกล้า เธอขอสมัครทำงาน เราสัมภาษณ์เธอ แล้วเสร็จเราจัดการเรื่องที่อยู่อาศัยชั่วคราวให้เธอและลูกเล็กทันที อาทิตย์หน้าเธอจะได้มาเริ่มงานกับจ้างวานข้าที่มูลนิธิกระจกเงา และที่นี่มีห้องเลี้ยงเด็กในยามที่พ่อแม่กำลังแข็งขันทำงานอยู่
.
เธอกล่าวขอบคุณเรา และก้มลงไปบอกกับเด็กชายว่า “วันนี้ยุงไม่กัดเราแล้วนะลูก”
Share Button

เมื่อสถานะ ‘ไร้บ้าน’ ถูกใช้เป็นเหตุผลที่ทำให้หญิงมีครรภ์ ‘ไร้การดูแล’

“วันพ่อที่อยากเล่าเรื่องของคนเป็นแม่”
.
เย็นวันหนึ่งในอาทิตย์ก่อน ทางทีมผู้ป่วยข้างถนนได้รับแจ้งจากพลเมืองดีว่าพบคนเร่ร่อนไร้บ้านเป็นผู้หญิงตั้งครรภ์กลับมาอีกครั้งแล้ว ที่ว่าเจออีกครั้งเพราะตัวคนไร้บ้านคนดังกล่าวหายไป และทางเราได้ลงพื้นที่ติดตามหลายครั้งแต่ไม่พบ ครั้งนี้เราจึงรีบลงด่วนที่สุดทันที
.
ด่วนที่สุดเพราะเธอตั้งครรภ์ ครรภ์นั้นน่าจะไม่ต่ำกว่า 7-8 เดือนแล้ว และไม่แน่ใจว่าเธอเองจะมีความสามารถในการดูแลครรภ์ตัวเองต่อไปได้ดีแค่ไหน เมื่อเราลงพื้นที่พบเจอเธอ เราได้เข้าไปพูดคุย เพื่อทำการเช็คอาการจิตเวชเบื้องต้น แต่ไม่พบว่าเธอมีอาการจิตเวช
.
เราจึงเริ่มคุยกับเธอ เธอเล่าว่าเธออยู่กับแฟนที่ใช้ชีวิตไร้บ้านเช่นกัน และบางครั้งต้องหลบออกมาอยู่ที่อื่น เพราะแฟนเธอทำร้ายร่างกาย ครั้งนี้ก็เช่นกัน แต่ข้อมูลสำคัญที่เธอเล่าก็คือ มีคนใจดีแถวนั้นพาเธอไปโรงพยาบาล หมอบอกเธอตั้งครรภ์ได้ 36 สัปดาห์ (9เดือน) และเด็กนั้นกลับหัวแล้ว
.
36 สัปดาห์ และเด็กกลับหัวแล้ว นัยยะก็คือเธอจะคลอดแล้วแน่นอนไม่พรุ่งนี้ก็มะรืนนี้ เราจึงเริ่มคุยกับเธอ ทำความเข้าใจกับเธอว่า เธอควรถูกดูแลโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่เรียกว่า “บ้านพักเด็กและครอบครัวกรุงเทพ” เธอตกลงว่าเธอจะเข้าสู่การดูแลนั้น เราจึงรีบประสานงานไปทันที
.
เจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กรับสาย เราแจ้งข้อมูลของตัวเคสคนไร้บ้านที่ตั้งครรภ์ไปทั้งหมด รวมถึงเราประเมินเบื้องต้นแล้วว่าไม่มีปัญหาจิตเวชอย่างแน่นอน ทางเจ้าหน้าที่มีคำถามที่ทำให้เราต้องอึ้งอยู่เหมือนกัน เจ้าหน้าที่ถามเรามาว่า “แล้วค่าใช้จ่ายเรื่องท้องจะทำอย่างไร” และตามมาด้วยประโยคที่ว่า “ขอไปปรึกษาผู้บังคับบัญชาก่อนว่าจะเอาอย่างไร” แล้วก็วางสายไป
.
ในช่วงค่ำทางเจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กโทรกลับมาหาทางทีมงานผู้ป่วยข้างถนนอีกครั้ง พร้อมกับบอกว่า ทางบ้านพักเด็กไม่สามารถจะรับเคสคนไร้บ้านตั้งครรภ์คนนี้เข้าสู่การดูแลได้ เนื่องจากเขาเป็นคนไร้บ้าน แต่ถ้าเป็นเคสคนท้องที่มีบ้านและมีปัญหาครอบครัว เขาถึงจะเข้ามาดูแล และบอกกับทางทีมงานผู้ป่วยข้างถนนว่า ทางบ้านพักเด็กและครอบครัวจะประสานกับทางศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งให้ เนื่องจากเคสเป็นคนไร้บ้าน
.
เมื่อหน่วยงานภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์พูดคุยกันเอง เราจึงติดตามการปฏิบัติงานของทั้งสองหน่วยงานในช่วงเช้าของอีกวัน เจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กคนเดิมบอกกับเราว่า ให้เราไปตามกับทางศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง เคสเป็นคนไร้บ้าน (แม้ว่าท้อง 9 เดือน และเด็กกับหัวแล้วด้วย) ไม่ใช่บทบาทหน้าที่ผม และไม่ใช่หน้าที่ของผมที่ต้องตามข้อมูลให้คุณ ให้ไปตามข้อมูลกับทางศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งเองได้เลย
.
ทางทีมผู้ป่วยข้างถนนจึงประสานไปยัง ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ทางศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งให้ข้อมูลว่า ทางผู้หญิงคนไร้บ้านที่ตั้งครรภ์นั้น ตอนนี้ไม่อยู่ในพื้นที่แล้ว ด้วยเหตุเพราะเขาปวดท้องจะคลอดลูก เลยมีพลเมืองดีนำส่งโรงพยาบาลใกล้เคียง และทางศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกำลังจะทำการติดตามเคสดังกล่าวไปที่โรงพยาบาล เราขอบคุณทางเจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองฯ และขออนุญาตติดตามผลหลังจากไปติดตามเคสดังกล่าวที่โรงพยาบาล
.
ผู้หญิงตั้งครรภ์ 9 เดือนคนหนึ่ง มีสถานะไร้บ้าน ต้องมาเจ็บท้องคลอดโดยไม่มีหน่วยงานรัฐใดที่เข้ามาดูแล ไม่ต้องย้อนไปถึงการเข้ามาดูแลก่อนที่เธอจะคลอด ตอนนี้เธอมีสถานะแม่เรียบร้อยแล้ว แต่เป็นแม่ที่อยู่ในสถานะคนเปราะบางทางสังคม คนท้องและคนเปราะบางทางสังคมคนหนึ่งที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องที่สุดอย่างบ้านพักเด็กและครอบครัวบอกว่าไม่ใช่ภารกิจของเขาอย่างเต็มปากเต็มคำ
.
เพียงเพราะเขาไร้บ้านจึงไม่อยู่ในการดูแล แต่ถ้าเขามีบ้านและตั้งครรภ์แต่มีปัญหาในการดูแลตัวเองและลูกในท้อง บ้านพักเด็กและครอบครัวจะเข้ามาดูแล มันเป็นหลักคิดแบบไหนกันนะ หลักการแบบใดกันที่ไม่ใช้ตัวตั้งที่สำคัญที่สุดนั้นคือ ความเป็นผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ได้ 9 เดือนและมีปัญหาทางสังคมเศรษฐกิจที่ไม่สามารถจะดูแลตัวเองและครรภ์ตัวเองได้ดีนัก เพื่อเป็นตัวตั้งหลักในการที่รัฐจะเข้ามามีบทบาทดูแล แต่กลับดันใช้สถานะไร้บ้านมาเป็นตัวตั้งก่อน และทำการปฏิเสธการดูแล ทั้งๆ ที่หน่วยงานอย่างบ้านพักเด็กและครอบครัวนั้นมี setting ที่พร้อมที่สุดแล้วในการดูแลเคสผู้หญิงตั้งครรภ์และมีปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม และความไร้บ้านนั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญใดๆ เลยถ้าจะใช้ setting ที่มีอยู่เพื่อจะดูแลพลเมืองของรัฐที่มีปัญหาอย่างผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ได้ 9 เดือนคนนี้
____________________
ปล.เราจะไม่แท็กรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แต่ถ้ามีคนช่วยแท็กถึงเรายินดีและขอบคุณมากๆ ครับ
Share Button

ความฝันใหม่ของลุงป๋อง จากคนตรวจอุปกรณ์สู่ช่างซ่อมคอมพิวเตอร์

“คอมพิวเตอร์ โลกใบใหม่ของน้องๆ
คอมพิวเตอร์ โลกใบใหม่ของ ‘ลุงป๋อง’ ”
.
ลุงป๋องเคยเป็นพ่อค้าอาชีพ
เคยมีบ้าน มีรถ อยู่ในจุดสูงสุดของชีวิต
วันหนึ่งปัญหาหลายอย่างรุมเร้า
จนชีวิตนั้นตัดสินใจออกมาไร้บ้าน
.
การออกมาไร้บ้านของแก
ไม่ได้หมายถึงการยอมแพ้
แกพยายามสมัครงาน
จนได้ทำงาน ในนามจ้างวานข้า
.
เราเสนองานตรวจเช็คอุปกรณ์คอมพิวเตอร์
เป็นงานที่แกเองก็ตอบรับ
ทั้งที่ไม่รู้จักอุปกรณ์คอมเลยสักชิ้นเดียว
.
งานนี้ทำให้ลุงป๋อง ในวัย 57
ได้ใช้คอมพิวเตอร์ครั้งแรก
แกมุ่งมั่น ตั้งใจจดจำทุกรายละเอียด
อันไหนไม่รู้ลุงป๋องจะถาม
พยายามฝึกทำซ้ำๆ จนกว่าจะเข้าใจมัน
.
ผ่านมาสามเดือนแล้ว
ที่ลุงป๋องตรวจเช็คอุปกรณ์จนชำนาญ
พร้อมกับความฝันใหม่ ที่แกวางแผนไว้
ว่าเร็วๆ นี้ จะไปสมัครเรียนสารพัดช่าง
เพราะอยากไปถึงขั้นที่ซ่อมคอมได้ด้วยตัวเอง
.
คนชราคนหนึ่งที่ทั้งชีวิตไม่เคยใช้คอมพิวเตอร์
พยายามเรียนรู้ เพื่อให้ความสามารถของตัวเอง
เป็นประโยชน์ ส่งต่อคอมพิวเตอร์
เปิดโลกการเรียนรู้ให้เด็กๆ รุ่นใหม่
.
และผลพวงของงานนั้น
ได้เปิดโลกการเรียนรู้ ให้คนชราที่เคยไร้บ้าน
มีงานทำ มีรายได้ มีแพสชั่นใหม่
ในการใช้ชีวิตเช่นกัน
________________________
โครงการคอมพิวเตอร์เพื่อน้อง
มีคนชราเป็นกำลังหลักช่วยงาน จำนวน 4 คน
หากคุณมีคอมพิวเตอร์เก่าไม่ได้ใช้งาน
ส่งมาให้ลุงป๋องและลุงคนอื่นๆ
ช่วยคัดแยก ตรวจเช็ค เพื่อส่งต่อน้อง นร.ได้นะคะ
.
ที่อยู่จัดส่ง มูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 191 ซอยวิภาวดีรังสิต 62 แยก 4-7
แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210
โทร 061-909-1840 , 063-931-6340
.
โปร “เหมา…เหมา” จาก นิ่มเอ็กซ์เพรส
เหมาจ่าย 30 บาทต่อกล่อง กล่องละไม่เกิน 25 กก.
ข้อดีคือสามารถส่งได้ทุกสาขาทั่วประเทศ
ตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 29 ธ.ค.2565
Share Button

บอกลาชีวิต ‘ไร้ฝัน’ คนไร้บ้านกล้าตั้งเป้าหมายอีกครั้ง

เมื่อปลายปี 2561 ก่อนเข้าสู่ปีใหม่ ปี 2562 เราจัดกิจกรรมงานเลี้ยงปีใหม่ให้กับกลุ่มคนไร้บ้าน ในวันนั้นกิจกรรมหนึ่งที่เราคิดขึ้นมาคือ “การ์ดความฝัน” กิจกรรมนั้นว่าด้วยให้คนไร้บ้าน เขียนความใฝ่ฝันลงไป
.
คนไร้บ้านในกิจกรรมวันนั้นมีจำนวนร่วม 100 คนได้ ความฝันใฝ่ใหญ่สุดที่รวมกันเป็นก้อนมหึมา ความฝันนั้นว่าด้วยการอยากมีงานมีรายได้ ความใฝ่ฝันนั้นหนักอึ้งในใจพวกเขา และความใฝ่ฝันนั้นก็หนักอึ้งในใจพวกเราไม่แพ้กัน
.
มีหลายรายที่ประกาศว่า ไม่มีอีกแล้วความใฝ่ฝันที่ว่า ในบางรายหวังมีชีวิตรอดให้ได้ในปีต่อปี เมื่อถามถึงเหตุผลของคนที่บอกกล่าวมาว่าตัวเองนั้นหมดแล้วซึ่งความใฝ่ฝัน คำตอบเขาเกี่ยวพันกับเรื่องการมีงานอย่างเลี่ยงไม่พ้น
.
งานมันนำมาซึ่งรายได้ รายได้ที่เหมาะสมมันนำมาซึ่งการก่อร่างสร้างความฝัน งานที่ค่าแรงต่ำเตี้ย งานที่ไม่สามารถทำได้อย่างต่อเนื่องมั่นคง ใครที่ต้องอยู่กับสภาวะแบบนี้ อย่าว่าเรื่องมีความฝันเลย นึกคิดถึงชีวิตในวันต่อวันมันยังลำบากมากมายเลย
.
คนไร้บ้านตกอยู่ในสภาวะนี้ ทำและพยายามทำ หาและพยายามหา แต่งานใช่จะมีให้ทำได้ทุกวัน และงานที่เหมาะสมในบริบทรวมหมู่ที่พวกเขาเป็นอยู่ อย่างเช่น ความสูงอายุ ไม่มีทักษะอาชีพ เป็นแรงงานไร้ทักษะมาตลอดชีพ ร่างกายที่พังทลายมาจากการใช้แรงงานมาตลอดชีวิต งานไหนจะเหมาะให้เขาได้หาทำได้อีก
.
เมื่อคำตอบบอกว่าไม่มีงานนั้นอยู่จริง ความฝันของพวกเขาก็เป็นแค่ตัวถ่วงรั้งของชีวิต เป็นแรงกดทับที่ต้องวางทิ้งลง มันหนักเกินไปที่จะมีมันอยู่อีก ประโยคที่บอกว่า “ไร้ความฝัน” จึงกำเนิด แต่นั่นคือปี 2561 เป็นปีที่ยังไม่มีโครงการจ้างวานข้า โครงการที่ว่าด้วยการสร้างพื้นที่งานพื้นที่รายได้ให้กับกลุ่มคนไร้บ้าน พวกเราแบกน้ำหนักความฝันของคนไร้บ้านมาอีกประมาณ 2 ปี
.
ปี 2563 สิ่งประดิษฐ์ที่เรียกว่า โครงการจ้างวานข้าจึงเกิดขึ้น เกิดขึ้นพร้อมกับการนำคนไร้บ้านเปลี่ยนผ่านมามีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงขึ้นนั้น นับรวมได้ 52 คน
.
จ้างวานข้าพาคนไร้บ้านได้กล้าฝันอีกครั้ง คนไร้บ้านได้กล้าดีไซน์ชีวิตว่าจะเอาอย่างไรต่อไป และเราจ้างวานข้าเองจึงกล้าใฝ่ฝันเช่นกันว่าในปีหน้าเราจะไปให้ถึงการพาคนไร้บ้านอีก 1 เท่าตัว เปลี่ยนผ่านมามีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงให้ได้
—————————
ร่วมใฝ่ฝันนี้ไปด้วยกับเรา…..
.
สนับสนุน​จ้างวาน​ข้าได้ที่​
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-58289-4 SCB
Share Button

จ้างวานข้าเปลี่ยนคนไร้บ้านให้มีที่อยู่ได้อีกราย

“คนมีบ้านลำดับที่ 52”
.
“ลุงไม่เคยเช่าห้องเลย ที่นอนที่อยู่ล่าสุดคือ บนรถทัวร์ เพราะเราทำงานตรงนี้ออกต่างจังหวัดก็นอนบนรถ อาบน้ำปั๊ม เรียกว่าใช้ชีวิตบนรถทัวร์นั่นล่ะ ลุงไม่เคยคิดจะเช่าห้องเพราะกินอยู่แบบนี้ได้สบาย ๆ แล้วเราจะเสียค่าห้องไปทำไม อีกอย่างมันมีงานวิ่งรถตลอดไม่เคยได้หยุด กินนอนบนรถเนี่ยล่ะสะดวกที่สุดแล้ว”
.
“ลุงออกมาไร้บ้านช่วงกลางปี 2563 เพราะโดนเลิกจ้าง ซ้ำแล้วตอนนั้นลุงก็มีปัญหากับทางบ้านจึงกลับบ้านไม่ได้ เครียดมาก ตอนนั้นลุงทำงานเป็นคนขับรถทัวร์ พอเจอโควิดหนัก ๆ บริษัทโดนผู้โดยสารแคนเซิลหมดเลย บริษัทขาดทุนหนักมากจะปรับตัวไปทางไหนก็ยากไปหมด เจ้านายก็เลยปิดกิจการและก็ตกงานตั้งแต่ตอนนั้น ช่วงนั้นเงินเก็บก็ไม่มีไปเช่าห้องอยู่เพราะเรานอนบนรถทัวร์มาโดยตลอด เรียกได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างจบสิ้นแล้วมีเท่าไรก็ช่วยชาวบ้านเขาไปหมด พอหมดตัวก็เดินไปเรื่อยเปื่อยระเหเร่ร่อน ค่ำไหนนอนนั่น ยกมือไหว้ขอข้าวเขากินไปเรื่อย”
.
“โอ้โหตอนเร่ร่อนลำบากมาก มีบางช่วงที่คิดสั้นเพราะไม่รู้จะหาทางออกกับตัวเองยังไง แต่ที่แรกที่ไปคือหัวลำโพง ไปนั่งมองรถไฟ คือมันเจ็บปวดนะเพราะมันกลับบ้านไม่ได้ด้วยไงด้วยปัญหาหลายอย่าง มองดูรอบ ๆ ก็เห็นหลายคนมีสภาพไม่ต่างจากเรา นอนกอดกระเป๋า วิ่งไปเอาข้าว ก็เลยฮึดสู้ เอาเว้ยสู้ใหม่อีกสักครั้ง ลุงก็เลยหิ้วกระเป๋าเดินไปเรื่อย ๆ ไปถึงสวนลุม พอไปถึงก็ค่ำแล้วไงก็เลยตั้งใจจะนอนที่นี่ มาเจอยามเขาบอกว่าไม่ให้นอนนะแต่นั่งหลับได้”
.
“คืนแรกจำได้เลยว่าหลับไม่ลง ยุงก็ตอมก็กัดเต็มตัว เงินจะซื้อยากันยุงยังไม่มีเลย ความรู้สึกตอนนั้นคือ ชีวิตกูมันรันทดจังเลยวะ ทางไปข้างหน้าก็เลือนรางเหลือเกินจะอยู่รอดอีกกี่ปีกัน เช้ามาก็ขึ้นรถเมล์มาเรื่อยเปื่อยมาถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตอนนั้นก็แปลกใจเห็นคนจอดรถลงมาแจกข้าวและคนยืนต่อกันเป็นแถวเลย คนบนรถเมล์เขาบอกว่า เขาแจกกันประจำแจกฟรีด้วย ไอ้เราก็รีบลงมาต่อแถวรับข้าวกับเขาบ้าง ได้ข้าว 1 กล่อง น้ำ 1 ขวด ขนม 1 ชิ้น ก็คิดนะว่า เออ ดีเหมือนกันนี่หว่าประหยัดตังค์ได้ 40-50 บาท ก็กินเอาประทังชีวิตไป”
.
“ถ้าถามว่าความเป็นอยู่ยังไงบ้างตอนนั้น มาอยู่แถวราชดำเนินเนี่ยไม่ใช่ว่าอยู่ง่ายนะ อยู่ยากมากเลย มันมีนักเลงเยอะ ยิ่งช่วงแรกเราเนี่ยเป็นคนแปลกหน้าเวลาไปรับข้าวก็จะโดนพวกนักเลงไล่ให้ไปอยู่ข้างหลังตลอด บางทีก็โดนแทรกพอจะถึงคิวเราข้าวก็หมดแบบนี้ จะอาบน้ำก็ยากเพราะต้องแอบเข้าตามปั๊ม ถ้ามีคนทำความสะอาดมาเห็นก็โดนว่าเอา ส่วนเสื้อผ้าจะซักยังไงไม่มีเงินซื้อแฟ๊บ เสื้อผ้าก็ใส่หมุนเวียนไป 3 ตัว บางทีก็ซักน้ำเปล่า บางทีก็ซื้อสบู่มาซักเพราะมัน 2 in 1 ไงได้ใช้ถูตัวด้วย อีกอย่างมีคนขี้เมาอยู่ด้วย บางครั้งเมาและก็ฉี่ราดไปทั่วก็ทนนอนเหม็นฉี่กันไป ย้ายไปตรงไหนก็มีแต่ป้ายบอกว่าห้ามนอน หรือไม่ก็เจอแต่พวกขาใหญ่เจ้าของพื้นที่มาขู่ไม่ให้นอนก็มี”
.
“แว๊บแรกเลยนะที่เขาบอกว่าจะช่วยเรื่องห้องเช่าคิดเลยว่า รอดตายแล้วกู ดีใจมาก ๆ (ร้องไห้) เพราะตอนนั้นเรื่องเช่าห้องคือแทบไม่ได้คิดเลย จะเอาปัญญาที่ไหนไปเช่า ไหนจะค่าแรกเข้าค่ามัดจำอีก พอจังหวะที่เจ้าหน้าที่จ้างวานข้าบอกว่า เราจะช่วยค่ามัดจำและค่าเช่าห้อง 1 เดือนด้วย คือตกใจเลย มีแบบนี้ด้วยเหรอ เหลือเชื่อมากเพราะลุงทำงานมาทั้งชีวิตไม่มีที่ไหนช่วยเราขนาดนี้”
.
“พอถึงวันจะได้เข้าอยู่จริง ๆ เจ้าหน้าที่จ้างวานข้าขนข้าวขนของไปให้ มีพวกหม้อหุงข้าว พัดลม มีหมอน ที่นอนมาให้พร้อมอยู่ และบอกว่าตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปให้ลุงเริ่มทำงาน 5 วัน/สัปดาห์ ได้วันละ 500 บาท จะได้มีเงินไว้จ่ายค่าเช่าห้องเดือนถัดไป คิดในใจโอ้โฮเขาให้ขนาดนี้เลยนะ หัวใจมันฟูมาก ชีวิตได้เริ่มต้นใหม่อย่างจริง ๆ จัง ๆ แล้วถึงแม้จะวัยนี้ คืนนั้นยกมือไหว้เจ้าที่เจ้าทาง และเขียนความรู้สึกบันทึกใส่ไว้ในกระดาษ เขียนขอบคุณโครงการจ้างวานข้า มูลนิธิกระจกเงา ที่ทำให้ผมมีวันนี้ได้อีกครั้ง”
.
“ลุงสังเกตตัวเองตอนนี้นะ เปรียบเทียบกับตอนไร้บ้าน ขมับลุงมันโบ๋ มันเกร็ง มันตึงเครียด แต่ตอนนี้มันคลายแล้ว คล้ายว่าชีวิตเราผ่อนคลายขึ้น มีที่อยู่ หิวก็มีเงินซื้อกินได้ ได้ซื้อเสื้อผ้าจนจะไม่มีที่เก็บแล้ว (หัวเราะดังมาก)ได้ซื้อโต๊ะมาตั้งพระเป็นโต๊ะหมู่บูชาที่ห้อง ทุกวันนี้บอกตรง ๆ ได้เลยว่ามีความสุขแล้ว หนทางข้างหน้าจะเป็นยังไงก็สู้ต่อไป”
.
“การได้มาเจอจ้างวานข้า มันเหมือนเป็นของขวัญชิ้นใหญ่เลย มันเหมือนเป็นพลุ เป็นดวงประทีปส่องแสงสว่างในใจเรา ลุงยังคงคาใจที่นี่มาก คือตอนตกงานไปหางานไปที่ไหนเขาก็ไม่รับเพราะอายุเรามากแล้ว แต่เออว่ะที่นี่รับ พอรู้ว่าได้ค่าจ้างเท่านี้ก็ยิ่งแปลกใจ มันเป็นเรื่องมหัศจรรย์ในชีวิตเรานะ และยิ่งมาทำงานได้สักพักได้เห็นเพื่อนร่วมงานมีทั้งผู้สูงอายุ บางคนเดินขากะเผลกมาเลย คือมันอิ่มใจมากที่ยังมีมูลนิธิที่ทำเรื่องแบบนี้อยู่ในสังคมนี้ด้วย ลุงขอบคุณมากเลยนะ ขอบคุณที่สร้างความหวังให้กับชีวิตลุงอีกครั้ง”
————————————-
@คนไร้บ้านที่เข้าทำงานในโครงการจ้างวานข้าในเดือนกันยายน 2565
@มีห้องเช่าเป็นคนที่ 52ของโครงการจ้างวานข้าเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2565
————————————-
สนับสนุน จ้างวาน ข้าได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-58289-4 SCB
Share Button

บนกระดาษที่บันทึกความรู้สึกของอดีตคนไร้บ้าน

“ความรู้สึกของลุงเมื่อเข้าห้องเช่าวันแรกเป็นยังไงบ้าง”
.
มันคือคำถามของเราที่มีต่อสมาชิกจ้างวานข้าคนนึง ที่เคยเป็นคนไร้บ้านและปัจจุบันมีห้องเช่าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นับเป็นเหมือนของขวัญก่อนปีใหม่ของแกชิ้นหนึ่งของชีวิต
.
คำตอบของแกอยู่ในกระดาษชิ้นหนึ่งที่แกใช้มันบันทึกความรู้สึก คำขอบคุณ และข้าวของที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน
.
บางท่อนของบันทึกนั้น…
.
“ข้าพเจ้าได้ย้ายเข้ามาอยู่เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 เวลา 17.59 น. ผมรู้สึกดีใจที่ได้มีห้องอยู่ ไม่ต้องนอนข้างถนนเหมือนดังแต่ก่อน เพราะรู้สึกปลอดภัยที่ไม่ต้องถูกไล่ตอนตี 4”

————————————————
สนับสนุน​จ้างวาน​ข้าได้ที่​
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-58289-4 SCB

Share Button