ทะเลเชื่อมความสุขสู่ “ผู้ป่วยเด็ก”

เด็กป่วยทางกาย อย่างน้อย
เรายังรู้ว่าเขาเจ็บป่วยตรงไหน
.
เด็กป่วยทางจิตใจ เด็กอธิบายไม่ได้
กว่าเราจะมองเห็นความผิดปกตินั้น
เขาต้องเผชิญความป่วยลำพัง
ต่อสู้กับความคิดของตัวเอง
.
ทำไมทุกคนรำคาญ โดนดุมากกว่าเพื่อน
ไม่เป็นที่ยอมรับของเพื่อน คุณครู
หรือแม้แต่ของพ่อแม่ตัวเอง
.
ตัวอย่างเด็กเหล่านี้ คือเด็กกลุ่มสมาธิสั้น
เด็ก LD ที่มีพัฒนาการทางสมองช้า
.
เด็กกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการดูแล
ประคับประคอง อดทน และเข้าใจ
.
โครงการโรงพยาบาลมีสุข
กำลังทำงานสร้างสุข ให้กับเด็กกลุ่มนี้
.
วันพรุ่งนี้เราจะพาเด็กป่วย 10 ครอบครัว
คัดเด็กที่อาการป่วยไม่เป็นอุปสรรคต่อการเที่ยว
พาไปเล่นน้ำทะเลด้วยกัน
โดยมีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลไปด้วย
.
ให้ทะเลเชื่อมความสุขให้กับเด็กและครอบครัว
ให้กิจกรรมนี้ บอกเด็กๆ ทางอ้อมว่า
เขามีคุณค่า สมควรได้รับการดูแล
แล้วเราจะประคับประคองกันไป
.
สนับสนุนกิจกรรมพาเด็กป่วยเที่ยวทะเล
ได้ที่บัญชีโครงการโรงพยาบาลมีสุข
เลขที่ 202-258286-0 ธ.ไทยพาณิชย์

Share Button

ลงพื้นที่เกณฑ์ “คนไร้บ้าน” ทำงานเพื่อมีบ้าน

“ค่ำคืนวันพฤหัส​ที่ผ่านมา”
.
จ้างวาน​ข้า​ลงพื้นที่ไปทำการรับสมัครงาน​​คนไร้บ้านที่ราชดำเนิน​ มีคนไร้บ้านสนใจสมัครทั้งหมด 11 คน​ และมีคนมีบ้านที่อยู่ในวัยผู้สูงอายุ​อีก 5 คน​ พวกเขามารับข้าวแจกฟรีเช่นเดียวกับคนไร้บ้าน​ เป็นความยากจนระดับเดียวกับคนไร้บ้าน​
.
ต้นทุนเดียวที่พวกเขามีมากกว่าคงเป็นตัวที่อยู่อาศัย​นั่นแหละ​ หลายคนที่มีที่อยู่อาศัยอยู่นั้นก็นับเป็น​ภาระ​ แต่ต้องแบกมันไว้ให้ได้​ ต้องแบกไว้เพื่อให้สามีพิการได้อยู่​ ต้องแบกไว้เพื่อให้ลูกที่พิการได้อาศัย
.
คนไร้บ้านหลายคนที่มาสมัครมีความกล้าๆ กลัวๆ กลัวว่าตัวเองแก่เฒ่าเกินกว่าจะทำงาน​ หรือก็ไม่แน่ใจว่าจะถูกหลอกลวงหรือไม่​ หลอกลวงจากความกระหายงาน​ หลอกลวงบนความฝันความหวังเหมือนๆ ที่เคยผ่านมา
.
ลุงคนไร้บ้านใกล้ๆ กันนั้นช่วยอธิบายแทนเรา​ ให้คนไร้บ้านที่กล้าๆ กลัวๆ จะเข้ามาสมัครกับจ้างวานข้า​ ลุงคนนั้นบอกเล่าว่า​ “ไปสมัครเลย ไม่ต้องกลัวหรอก​ เพื่อนผมไปทำงานอยู่กับจ้างวานข้ามูลนิธิ​กระจกเงา​นี่ล่ะ​ เขาไม่หลอกนะ​ เพื่อนผมได้ทำงานจริง​ ตอนนี้เพื่อนผมมีห้องเช่าแล้ว​ แต่ผมแก่มากแล้ว​ ไม่มีแรงทำงานอะไรแล้ว”
.
เมื่อคนไร้บ้านคนนั้นได้ยินเรื่องเล่าแบบนั้น​ เขารีบเดินมาขอสมัครทำงานกับจ้างวานข้าอย่างกระตือรือร้น​ วันนั้นมีคนมาสมัครงาน​กับจ้างวานข้า 16 คน​ 11 คนเป็นคนไร้บ้าน​ อีก 5 คนเป็นคนมีบ้าน​ พวกเขาอยากมีรายได้ที่พอจะให้ชีวิตไปได้ดีกว่านี้​ ไม่ต้องมารอขอรับข้าวที่ราชดำเนิน​เหมือนทุกๆ วันที่ผ่านมา
__________________
สนับสนุนจ้างวานข้าได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-2-58289-4 SCB
Share Button

ห้องเช่าของ 4 ชีวิตที่เคยไร้บ้าน

ห้องเช่า​ 4 ห้องรวดที่​คนไร้บ้าน​ 4 คนเข้าไปจับจองเป็นเจ้าของพร้อมกัน
.
มี 1 คน​ ที่อยู่ไร้บ้านมากกว่า​ 10 ปี​ แต่หาโอกาส​ไม่ได้ซักที​ที่จะมีห้องของตัวเอง
.
มีอยู่ 1 คน​ ที่เพิ่งไร้บ้านมาน้อยกว่า 1 ปี​ แต่หาโอกาส​ไม่ได้ซักที​ที่จะมีห้องของตัวเอง
.
นอกจาก 4 คน​นี้​ ยังมีคนไร้บ้านอีก 2 คนในวันนี้ที่เพิ่งได้ห้องเช่าใหม่
.
โดยสรุป​ จ้างวานข้าเรามีคนไร้บ้านเพิ่มอีก​ 6 คนที่สามารถไปมีห้องใหม่ได้ในรอบ​ 2 เดือนที่ผ่านมานี้
.
งานจ้างวานข้าคือโอกาส​ที่ว่านั้น​ คือตัวช่วยให้พวกเขาพ้นผ่านชีวิตข้างถนนออกไปได้
.
“งานและรายได้” เป็นสิ่งที่คนไร้บ้านมักบอกแบบตะโกนให้ได้ฟังอยู่เสมอ​ ถ้าคำถามนั้นถามออกไปว่า​ “คุณต้องการอะไรที่สุด”
.
จ้างวานข้าออกแบบมาเพื่อรับใช้คำตอบนั้นของคนไร้บ้าน

____________________

สนับสนุนจ้างวานข้าได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-2-58289-4 SCB

Share Button

“บ้านบริจาค” ปูทางสู่สิทธิ์ของคนไร้บัตร

8 ปีที่แล้ว ‘ป้าอ๋อย’และสามีเคยมีกินมีใช้
จากอาชีพขายพระเครื่อง
จนวันที่พิษเศรษฐกิจรุมเร้า
ทั้งคู่จึงตัดสินใจออกมาใช้ชีวิตไร้บ้าน
.
สามีอายุราว 50 ต้นๆ ได้ทำงานรับจ้างอยู่บ้าง
ส่วนตัวป้าอ๋อยที่อายุ 70 หางานยากกว่า
เพราะความสูงวัยและบัตรประชาชนที่สูญหาย
เป็นเหตุผลให้ไม่มีใครรับเธอเข้าทำงาน
.
เงินรับจ้างจากสามีจึงเป็นแรงหลัก
ให้ชีวิตไร้บ้านของทั้งคู่พอมีข้าวตกถึงท้องเรื่อยมา
.
แต่แล้ววันหนึ่งป้าอ๋อยล้มป่วยลง
เส้นเลือดสมองอุดตันส่งผลร้าย
เธอเดินไม่ได้ กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง
การไม่มีบัตรประชาชนทำให้ไม่สามารถใช้สิทธิ
ในระบบประกันสุขภาพฯ
เธอทำได้เพียงนอนรักษาบนพื้นฟุตบาท
ที่สูงจากพื้นถนนไม่มากนัก
.
ความเจ็บปวดจากการเจ็บป่วย
เริ่มเล่นงานชีวิตทั้งสองชีวิต
ร่างกายของป้าอ๋อยเริ่มแย่ลง
สามีดูแลเธอข้างกายด้วยความรัก
ด้วยความเป็นห่วง เขาไม่สามารถทิ้งป้าอ๋อยไว้
เพื่อออกไปทำงานที่ไหนได้อีก
.
ยิ่งกว่านั้น การเป็นคนไร้บ้าน
ได้ตัดโอกาสการทำบัตรประชาชนใหม่
เพราะป้าอ๋อยไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านหลังใด
มีทรัพย์สินแค่ผืนผ้าใบที่คนแถวนั้นให้ยืมใช้
กันแดดฝนไปเป็นครั้งคราว
__________________________________

มาวันนี้ เรื่องราวความทนทุกข์
จากการไม่ได้รับสิทธิของป้าอ๋อยและสามีจบลงแล้ว
โครงการคลีนิกกฎหมาย มูลนิธิกระจกเงา
ดำเนินการย้ายชื่อป้าอ๋อยที่เป็นผู้ป่วยและสามี
เข้าอยู่ในทะเบียนบ้านหลังหนึ่ง
บ้านที่มูลนิธิกระจกเงาได้รับบริจาคมา
จากผู้ที่ต้องการให้บ้านเกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้อื่น
.
และมันกำลังทำประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง
เพราะบ้านหลังนี้จะเป็น
‘ทะเบียนบ้านมูลนิธิกระจกเงา’
ที่ช่วยเรียกร้องสิทธิ
ให้เพื่อนมนุษย์ไร้บ้านอีกจำนวนมาก
ไม่ตกหล่นจากการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการ
ที่พวกเขาสมควรจะได้รับ
.
เช่นเดียวกับที่ทะเบียนบ้านหลังนี้
ช่วยให้ป้าอ๋อยมีบัตรประชาชน
มีสิทธิการรักษาขั้นพื้นฐาน
ได้รับทุกสิทธิสวัสดิการของผู้ป่วยกลับคืน
.
และล่าสุด จ้างวานข้ารับเธอกับสามีเข้าสู่การจ้างงาน
ประจำในหน้างานคัดแยกสิ่งของบริจาค
มีงาน มีอาชีพ มีสิทธิสวัสดิการอย่างมีคุณค่า
ให้ทั้งคู่ได้เริ่มต้นชีวิตใหม่โดยสมบูรณ์
__________________________________

ติดต่อคลินิกกฎหมาย มูลนิธิกระจกเงา
ได้ที่ 083-771-7769
.
สนับสนุนคลินิกกฎหมายได้ที่
บัญชีคลินิกกฎหมาย โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขบัญชี 202-270402-2 ธ.ไทยพาณิชย์

Share Button

ภาระที่ต้องแบกรับ ในวันที่ “น้องแต้ว” ป่วยติดเตียง

‘แต้ว’ อาศัยอยู่กับป้าและยาย ด้วยความรัก
เมื่อแรกคลอด ‘แต้ว’ เป็นเด็กสมบูรณ์แข็งแรง
โรคลมชักแทรกขึ้นมาตอนที่เธออายุได้ 4 เดือน
เธอขาดอากาศหายใจไปขณะหนึ่ง
จนสมองพิการ และติดเตียงในที่สุด
.
อาการที่แต้วเป็นมีแต่ทรงกับทรุด
เธอต้องเจาะคอเพื่อให้อาหารเหลวและยาทางสายยาง
บางครั้งมีอาการชักเกร็ง เข้าห้องฉุกเฉินไปหลายหน
.
ยายเล่าว่า เมื่อปีที่แล้วแต้วทรุดหนัก
ถึงขั้นต้องใช้เครื่องผลิตออกซิเจนติดตัว
.
แต่ลำพังรายรับทางเดียวจากป้า
กับอาชีพรับจ้างวันละสามร้อย
คงไม่พอซื้อเครื่องผลิตตัวใหม่ที่ราคาครึ่งแสน
จึงทำได้เพียงหาเช่าถัง
ที่ต้องคอยเติมออกซิเจนมาใช้ไปก่อน
.
ในวันที่ครอบครัวพยายามแบกรับค่าใช้จ่าย
ทั้งค่าเติมและค่าเช่าถังออกซิเจน
มีคนใจดีให้หยิบยืมเครื่องผลิตออกซิเจน
เป็นเครื่องที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว
หน้าจอโชว์จำนวนชั่วโมงหลักสองหมื่น
นั่นหมายความว่าเครื่องยังใช้ได้
แต่ออกซิเจนที่ผลิตเริ่มเสื่อมประสิทธิภาพ
.
ครอบครัวรับรู้ถึงข้อจำกัดของเครื่อง
แต่รับไว้ด้วยความเต็มใจ
เพราะระหว่างรอหาเงินซื้อเครื่องใหม่
เครื่องนี้ยังพอช่วยให้แต้วรอด
.
“เขาบอกแต่แรกว่ามันอาจไม่ดีแล้ว
ต้องอาศัยดูอาการตอนใช้
ให้หายใจได้ไม่ติดขัด ตัวไม่ซีดไม่เขียว
เราก็ใช้เปิดสลับกับถังออกซิเจนไปก่อน”
.
ในขณะที่เครื่องนั้นยังต้องเปิดใช้
ป้าของแต้วพยายามติดต่อหลายหน่วยงาน
พร้อมเจียดเงินมาเก็บสะสมไปเรื่อยๆ
เพื่อให้ได้เครื่องผลิตออกซิเจนเครื่องใหม่
ส่วนยายของแต้วยังเฝ้าดูแลอาการต่อไป
เพราะครอบครัวเชื่อว่าสักวันแต้วคงหาย
หรือถ้าไม่หายก็ขอทำให้ดีที่สุด

—————————————————

เมื่อ 2 เดือนที่แล้ว ป้าของแต้วติดต่อมาขอยืมเครื่องผลิตออกซิเจน ป่วยให้ยืมจึงส่งเครื่องผลิตฯ 10 ลิตร 2 เครื่องให้ครอบครัวยืมใช้ แทนเครื่องเดิมที่ชำรุด
.
ล่าสุด สัปดาห์ที่ผ่านมา เครื่องผลิตฯ จากเรา อายุการใช้ครบ 2 เดือนพอดี ทีมงานจึงไปเยี่ยมหา พร้อมตรวจเช็คประสิทธิภาพของเครื่องอีกครั้ง ให้มั่นใจว่ารอบการใช้งานไม่สูงไป และยังสามารถผลิตออกซิเจนอย่างเหมาะสม ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยที่กำลังใช้งาน

—————————————————

สามารถติดต่อยืมอุปกรณ์การแพทย์ฟรี ได้ที่
เพจเฟซบุ๊ก โครงการป่วยให้ยืม
สอบถามเพิ่ม โทร. 092-252-5454
.

บริจาคทุนทรัพย์เพื่อสนับสนุนโครงการป่วยให้ยืม ได้ที่ บัญชีธนาคารยืมอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-269025-7 SCB

Share Button

เสียงสะท้อนจากคนไร้บ้านสู่การสร้าง “สดชื่นสถาน”

“ผมหาซักเสื้อผ้าตามห้องน้ำปั๊มน้ำมัน​ หาที่ตากก็ยาก​ หลายครั้งก็จำใจใส่เสื้อทั้งๆ ที่เปียกๆ นั่นแหละ​ ให้เสื้อมันแห้งคาตัวกันไป”
.
จากประโยคนี้ของคนไร้บ้าน​ จึงนำมาสู่การให้บริการ​ซักผ้า​ อบผ้าฟรี​ โดยรถซักอบอาบคันนี้
.
“พวกเราขออย่างเดียวเลยที่สำคัญที่สุด​ ผมอยากอาบน้ำ​ ไปอาบที่ไหนเขาก็ด่าเขาก็ไล่​ ถ้าพี่มีที่ให้อาบก็จะดีมากๆ”
.
จากประโยคนี้ของคนไร้บ้าน​ จึงนำมาสู่การให้บริการ​อาบน้ำฟรี โดยรถซักอบอาบคันนี้
.
“เราอยากทำงาน​ อยากมีงาน​ทำ​ มีเงินจะได้ออกจากชีวิตเร่ร่อนแบบนี้​ซักที”
.
จากประโยคนี้ของคนไร้บ้าน​ จึงนำมาสู่การเปิดรับสมัครงานในนามจ้างวาน​ข้า ในพื้นที่เดียวกับรถซักอบอาบคันนี้
.
คนไร้บ้านยังมีปัญหา​อีกมากที่ต้องได้รับการแก้ปัญหา​ คนไร้บ้านอีกมากยังมีความต้องการอีกหลายสิ่งหลายอย่าง​ เพื่อจะนำไปสู่การปรับปรุง​คุณภาพ​ชีวิต​ของพวกเขาเอง
.
จากหลักการนี้เราจึง​จัดทำพื้นที่หนึ่ง​ เพื่อให้คนไร้บ้านได้เข้ามารับบริการ​ และบริการที่ได้รับนั้นมันนำไปสู่การปรับปรุง​คุณภาพ​ชีวิตของตัวเองได้​ และถ้าดีกว่านั้นได้​ คือการที่เขาสามารถ​เปลี่ยนผ่านจากชีวิตไร้บ้านมาเป็นคนมีบ้านได้​ และเราจะขอใช้ชื่อเรียกพื้นที่นี้ว่า​ “สดชื่น​สถาน”
.
“สดชื่นสถาน” เปิดให้บริการแล้วที่ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า​ ถนนพระอาทิตย์​

ปล.รูปภาพประกอบไม่ใช่ท่านผู้ว่าฯแต่อย่างใด​ แต่คือคนไร้บ้านที่มาใช้บริการซักอบผ้าเป็น​ที่เรียบร้อย​

มูลนิธิ​กระจกเงา​xOtterixกรุงเทพ​มหานคร

——————————————

สนับสนุนการปรับปรุง​คุณภาพ​ชีวิต​ของคนไร้บ้าน
​กับ​ “สดชื่นสถาน” นี้ได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-2-58289-4 SCB

Share Button

ความฝันที่ชะงักกับ 3 ชีวิตติดเตียงที่ต้องดูแล

ป้าแดง ในวัยสาวเธอมีความฝัน
อยากใช้ชีวิตเป็นอิสระ
จะทุ่มเทเวลาทำสวนทำไร่
อยากมีที่ดินผืนใหญ่เป็นของตัวเอง
.
แต่ยังไม่ทันที่ความฝันจะก่อตัว
พี่ชาย น้าสาว และแม่ของเธอก็ล้มป่วย
ทั้งสามชีวิตติดเตียงในเวลาไล่เลี่ยกัน
.
ป้าแดงต้องละทิ้งงาน มาทำหน้าที่ดูแล
แม้งานจะเป็นความฝันที่เธอเคยตั้งมั่น
แต่วินาทีนั้นชีวิตคนป่วยในบ้านสำคัญกว่า
.
เธอดูแลผู้ป่วยเรื่อยมาอย่างอัตภาพ
จากวัยสาวจนก้าวเข้าวัยชรา
การพยาบาลผู้ป่วยสามคนไม่ใช่เรื่องง่าย
มันเป็นงานหนักที่ส่งผลร้ายต่อร่างกาย
กล้ามเนื้อหลังของเธออักเสบ
เพราะต้องยกตัวผู้ป่วยไม่เว้นวัน
.
ยิ่งกว่านั้นนอกจากชีวิตผู้ป่วยแล้ว
ยังมีภาระค่าใช้จ่าย ค่ากินอยู่
ค่าแพมเพิส ค่าน้ำไฟ ฯลฯ
ที่เธอต้องแบกรับไว้ด้วยรายได้จากเบี้ยคนชรา
.
ภาระทั้งหมดกดทับความฝันไว้หมดสิ้น
เธอไม่เหลือความฝันให้ตัวเองมีที่ดินผืนใหญ่
เหลือแค่ความหวังในวัยบั้นปลาย
ให้ครอบครัวและตัวเธอเอง
ยังมีชีวิตรอดไปได้ก็เพียงพอ
.
ทีมงานอาสามาเยี่ยม ลงพื้นที่เยี่ยมเยียน
และรับครอบครัวนี้ไว้ในการดูแล
ทุกเดือนเราจะนำข้าวสารอาหารแห้ง
ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ของใช้จำเป็นจำนวนหนึ่ง
ที่มูลนิธิได้รับบริจาคมามอบให้
ของเหล่านี้จะช่วยประคับประคองครอบครัว
ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายที่ผู้ดูแลต้องแบกรับ
.
นอกจากของใช้แล้ว เราใช้เวลาพูดคุย
เติมพลัง รับฟังปัญหา กับผู้ดูแลผู้ป่วย
ให้พวกเขาได้รับรู้ว่ายังมีคนเคียงข้าง
เป็นการเยียวยาทางใจในเวลาทุกข์ยาก
ที่เพื่อนมนุษย์สามารถส่งต่อให้แก่กัน

——————————————————

คุณสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในความช่วยเหลือ
บริจาคข้าวสารอาหารแห้ง
ของใช้จำเป็น ผ้าอ้อมผู้ใหญ่
ได้ที่ มูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 191 ซอยวิภาวดีรังสิต 62 แยก 4-7
แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กทม. 10210
โทร.061-909-1840, 063-931-6340
เขียนหน้ากล่อง “เพื่อโครงการอาสามาเยี่ยม”
.
หรือสมทบทุนได้ที่ ชื่อบัญชี กองทุนอาสามาเยี่ยม
เลขที่บัญชี 202-258297-5 ธ.ไทยพาณิชย์
สอบถามข้อมูลเพิ่ม โทร.061-909-1840

Share Button

ครอบครัว “น้องธันวา” กับชีวิตก่อนพบทะเล

“มาแข่งกัน ใครวิ่งถึงทะเลก่อนคนนั้นชนะ”
เสียงแจ้วจากสองพี่น้อง “ธันวา” และ “อชิ”
.
นี่เป็นการมาทะเลครั้งแรกของทั้งคู่ นอกจากเอนตัวแช่น้ำให้คลื่นซัด การให้เท้าแตะทรายนุ่มเป็นอีกอย่างหนึ่งที่เด็กๆ ตั้งหน้าตั้งตารอ
.
ธันวา เป็นพี่ชาย
เขามีพัฒนาการทางสมองช้าเมื่อเทียบกับเด็กในวัยเดียวกัน สมองที่พิการทำให้เขาคิดอ่านต่างจากคนอื่น
.
ธันวา อ่านเขียนได้บ้างไม่ได้บ้าง บางครั้งแสดงอาการหงุดหงิด เอาแต่ใจ แบบไม่รู้ตัว กลายเป็นความรำคาญ ไม่เป็นที่ยอมรับสำหรับคนรอบข้าง ทำให้ธันวาไม่ชอบไปโรงเรียนและไม่กล้าเข้าสังคมกับคนอื่นๆ
.
อชิ ที่เป็นน้องสาว จึงต้องรับหน้าที่เป็นบอดี้การ์ดประจำตัว เธอจะคอยบอก คอยเตือน คอยเล่นเป็นเพื่อน ช่วยแม่ดูแลพี่ชายเสมอ เพราะถึงจะยังเล็ก แต่อชิเข้าใจในอาการที่พี่ชายเป็น
.
แม่มักบอกอชิ ว่า “ให้อยู่ข้างๆ พี่ เพราะแม่เชื่อว่าพี่ธันวามีโอกาสหาย หรือถ้าวันไหนแม่เป็นอะไรไป แม่ไม่ได้อยู่บนโลกนี้แล้ว สองพี่น้องต้องคอยดูแลกันและกัน”
.
อชิรู้ว่าแม่พยายามทำงาน ด้วยการออกขับวินมอเตอร์ไซค์ตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง ทำงานวันละ 17 ชั่วโมง เพื่อเก็บเงินมาเป็นค่ารักษาพยาบาลให้พี่ธันวา
.
เพราะตั้งแต่พี่ธันวาป่วย ต้องจ่ายเงินค่ายาหลายอย่าง เธอเห็นแม่พาพี่เทียวเข้าออกโรงพยาบาลเพื่อรักษาไม่ต่ำกว่าสิบรอบ ในระหว่างนั้นแม่ก็ต้องทำงานขับวินไปพร้อมกัน การเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เลี้ยงดูเด็กสองคน ซ้ำหนึ่งคนพิการทางสมองนั้นไม่ง่าย อชิจึงพยายามช่วย เป็นแรงเล็กๆ แบ่งเบาภาระให้แม่บ้าง
.
เงินเดือนของแม่ทั้งหมด ต้องเก็บไว้ใช้จ่ายยามจำเป็น ทั้งค่าเช่าบ้าน น้ำ ไฟ และค่ารักษาแผนกจิตเวชเด็ก การไปเที่ยวเล่นข้างนอกเลยไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ
.
นอกจากวันไหนเป็นวันเกิดหรือโอกาสพิเศษ แม่จะหยุดงานพาเด็กๆ ไปให้อาหารปลาที่วัดใกล้บ้าน เป็นการเที่ยวแบบฉบับที่กำลังทรัพย์ของครอบครัวพอเอื้อมถึง
.
ปลายเดือนที่แล้ว โครงการโรงพยาบาลมีสุข ชวนครอบครัวน้องธันวา และครอบครัวเด็กป่วยแผนกจิตเวชอีก 10 ครอบครัว ไปสัมผัสลมทะเล ณ หาดบางแสนเป็นครั้งแรก
.
ถึงจะเป็นการเที่ยวแบบไปเช้าเย็นกลับ แต่รอยยิ้มที่แต้มใบหน้า และเสียงหัวเราะจากเด็กๆ จะยังดังก้องไปอีกพักใหญ่ เป็นกำลังใจของเด็กๆ และครอบครัว ให้เด็กป่วยทางใจได้รับรู้ว่าเขามีคุณค่า สมควรได้รับการดูแลจากทั้งครอบครัวและสังคม
.
หากคุณมีที่พัก ร้านอาหาร หรือพื้นที่สำหรับทำกิจกรรม พร้อมเปิดรับเด็กๆ เราอยากชวนคุณเป็นส่วนหนึ่งในการโอบรับเด็กป่วยด้วยความรัก
ดูแลประคับประคองพวกเขาไปพร้อมกันกับเรา
ติดต่อได้ที่ 061-909-1840
.
สนับสนุนกิจกรรมสร้างความสุขลดความทุกข์ให้เด็กป่วย
ได้ที่บัญชีโครงการโรงพยาบาลมีสุข
เลขที่ 202-258286-0 ธ.ไทยพาณิชย์

Share Button

“สดชื่น​สถาน” พื้นที่นี้เพื่อคนไร้บ้าน

คนไร้บ้าน​ คือคนที่ออกมาจากบ้าน​ การออกมาจึงเป็นเรื่องเลวร้าย
.
แต่การ​ออกมาอีกเช่นกันที่นับเป็นเรื่องดี​ คือการออกมาจากความเป็นคนไร้บ้านนั่นเอง
.
เรามี “จ้างวาน​ข้า” ที่ทำให้เขาออกจากชีวิตไร้บ้านได้โดยการสร้างพื้นที่ทำงานและมีรายได้
.
ตอนนี้​เรามี​ “สดชื่น​สถาน” ที่มีไว้เพื่อปรับปรุงคุณ​ภาพชีวิตคนไร้บ้าน เป็นพื้นที่ตระเตรียม​ก่อนที่พวกเขา​จะออกไปจากชีวิตไร้บ้านเสียที การตระเตรียมนั้นคือ​ การให้เขาสามารถเข้าถึงการใช้ชีวิต​ประจำ​วันอย่างมีคุณภาพ​มากขึ้น​ ผ่านการทำความสะอาด​ การรักษา​สุขอนามัย​ เรามีบริการซักผ้า​ฟรี อบผ้าฟรี​ อาบน้ำฟรี​ เป็นบริการ​พื้นฐาน​ และต่อไปในอนาคต​เราจะขยายการให้บริการ​อื่นๆ​ เช่น​ อาหาร​ เสื้อผ้า​ รวมถึงเป็นพื้นที่ส่งต่อพวกเขาเข้าสู่กระบวนการ​แก้ไขปัญหา​ในเรื่องอื่นๆ​ ที่มันรัดตรึงเขา​ เป็นเชือกเส้นใหญ่ที่มัดเขาไม่ให้พ้นจากชีวิตไร้บ้านโดยง่าย​ และเมื่อเขาพร้อมแล้ว​ เราจะพาเขาออกไปจากชีวิต​ไร้บ้านอย่างยั่งยืน​ ด้วยพื้นที่ทำงานที่เราเรียกมันว่าจ้างวานข้านั่นเอง

__________________

มูลนิธิ​กระจกเงา​xOtteri เราจะเปิดบริการ​ให้กับพี่น้องคนไร้บ้านทุกวันศุกร์ของสัปดาห์​ ที่ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า​ ถนนพระอาทิตย์​
.
สนับสนุนกระบวนการพาออกจากภาวะไร้บ้านนี้ได้ที่​ โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-2-58289-4 SCB

Share Button

TIP Smart Assist “ผู้นำส่ง” ความช่วยเหลือสู่ผู้เดือดร้อน


ในเวลาที่เครื่องผลิตออกซิเจน
กำลังรอส่งออกไปบ้านผู้ป่วย
ข้าวสารอาหารแห้ง
รอคิวส่งไปครอบครัวที่เดือดร้อน
ช้ากว่านั้นก็อาจหมายถึงชีวิต
หรือความลำบากที่ยาวนานขึ้น
.
พวกเขาเรียกตัวเองว่า
TIP Smart Assist
จากทิพยประกันภัย
ขออาสาส่งความช่วยเหลือ
จากมูลนิธิกระจกเงา
ไปยังครอบครัวที่เดือดร้อน
.
เขาบอกเราว่า
งานจิตอาสาไม่เลือกความเดือดร้อน
เรื่องเล็กเรื่องใหญ่
พร้อมไปได้หมด
ขอแค่บอกมา
.
หลายเดือนมาแล้วที่พวกเขา
ทำภารกิจนี้อยู่เบื้องหลังเงียบๆ
เป็นสะพานเชื่อมความช่วยเหลือ
ขอบคุณจากใจแทนทุกครอบครัว
ที่ได้รับความช่วยเหลือ
🙏🏻❤️🙏🏻พวกคุณโคตรเท่ห์

Share Button