ปลายทางสุดท้าย ที่ไม่ท้ายสุดของเตียงผู้ป่วยเตียงเก่า

ในกองขยะรีไซเคิล ที่ร้านขายของเก่า
มีเตียงผู้ป่วยสีขาวสภาพดี วางปนอยู่
.
เจ้าของร้านเล่าว่า
ซาเล้งคันหนึ่งบรรทุกมันมาขาย
ปลายทางสุดท้ายของเตียงนี้
มันจะถูกรื้อขายเป็นเศษเหล็ก
.
ทีมงานป่วยให้ยืมตัดสินใจขอซื้อเตียงนั้น
เพื่อนำกลับมาซ่อมแซมทำความสะอาด
.
เพื่อเปลี่ยนปลายทางสุดท้าย
แทนที่จะกลายเป็นเศษเหล็ก
มันจะได้กลับมาทำหน้าที่เตียงดังเดิม
.
เกิดการหมุนเวียนทรัพยากรเก่า
ให้มีคุณค่า ลดภาระค่าใช้จ่าย
ให้ครอบครัวผู้ป่วยติดเตียง/เรื้อรัง
บรรเทาทุกข์เพื่อนมนุษย์
ในช่วงยากลำบากได้อีกหลายราย

————————————

หากคุณมีอุปกรณ์ทางการแพทย์
ที่ไม่ได้ใช้งานอยู่ในบ้าน
มูลนิธิกระจกเงาเรายินดีรับบริจาค
.
สามารถส่งต่อได้ที่
มูลนิธิกระจกเงา เลขที่ 191
ซอย วิภาวดีรังสิต 62 แยก 4-7
แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กทม. 10210
โทร.092-252-5454
.
หรือหากคุณเป็นหนึ่งในครอบครัว
ที่ต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วย
สามารถทักอินบ็อกซ์หาแอดมินได้ที่
โครงการป่วยให้ยืม มูลนิธิกระจกเงา
.
สนับสนุนภารกิจป่วยให้ยืม
บัญชี โครงการป่วยให้ยืม มูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-70398-7 SCB

Share Button

เรื่องเล่าของ “กล้วย” นักผจญงานผู้ไร้บ้าน

วันนี้เขามาทำงานด้วยเทรนด์แฟชั่น Y2K
.
“กล้วย”เป็นชื่อที่เขาบอกกับเรา กล้วยเป็นคนไร้บ้านและเขาเองน่าจะมีปัญหาทางสติปัญญา กล้วยเข้ามาทำงานกับจ้างวานข้าในรูปแบบที่ไม่เหมือนจ้างวานข้าคนอื่นๆ เขามาทำงานให้บริการซักผ้า อบผ้า และห้องอาบน้ำให้แก่คนไร้บ้าน
.
เราเจอกล้วยครั้งแรกในวันที่ทางมูลนิธิกระจกเงาจัดแคมเปญวันซักผ้าและอาบน้ำแห่งชาติ เขามากับจดหมายน้อยฉบับหนึ่ง จดหมายที่มีคนใจดีเขียนให้และแนะนำให้เขามาหาเราเพื่อที่จะได้มีงานทำ ในวันนั้นกล้วยแสดงสปริตอย่างสูง สูงจนการทำงานของเขามันทำการสื่อสารกับเราว่าเขาอยากทำงาน เรานัดหมายกับเขาให้มาเริ่มงานที่เขาสามารถจะทำได้ แต่แล้วเขาก็หายไป
.
วันหนึ่งเขาก็เดินเข้ามาหาว่าเขาอยากช่วยงาน มันเป็นช่วงที่เราทำกิจกรรมรถซักอบอาบน้ำไปจอดให้บริการกับคนไร้บ้านที่ใต้สะพานปิ่นเกล้า ถนนพระอาทิตย์ “ผมมม ผมมช่วยย” ประโยคติดอ่างของกล้วยที่มักพูดติดปากอยู่ตลอดเวลาในช่วงขณะทำงาน เราจ้างกล้วยให้ช่วยงานเป็นประจำ
.
แต่กล้วยยังเหมือนเดิม ยังเป็นเหมือนสายลับอะไรแบบนั้น บางช่วงก็หายไปเป็นอาทิตย์ เขามักกลับมากับคำบอกเล่าว่า เขาไปหาเงินอยู่ที่ตรงนั้นตรงนี้ ครั้งล่าสุดเขาบอกว่าไปต่อคิวรับพระเครื่องแล้วก็ปล่อยเช่าให้กับเซียนพระที่หน้างานแจกพระนั่นแหละ ได้ทั้งเที่ยว ได้ทั้งกิน ได้ทั้งเงิน
.
เรามักถามเขาทุกครั้งที่เจอกันว่า “กล้วยเดี๋ยวนี้ไปนอนแถวไหน” ที่ต้องถามเพราะกล้วยเองเปลี่ยนที่นอนบ่อยครั้งมาก ที่ต้องเปลี่ยนที่นอนบ่อยครั้ง สาเหตุเกิดจากกล้วยมักถูกรังแก หรือบางครั้งก็ถูกทำร้ายเอาแรงๆ เขาเคยชี้ให้เราดูแผลที่หัวที่เคยเป็นรอยแตก ในบางวันกล้วยก็มาบอกว่าเขาเช่าห้องแล้วนะอยู่ที่แถวรังสิต แต่เมื่อถามว่าห้องน้ำรวมมั้ย เขากลับตอบว่าไปเข้าห้องน้ำที่ปั๊มน้ำมัน
.
เราเคยถามกล้วยว่าเงินที่ได้จากการทำงานกับเราที่รถซักอบอาบน้ำ เขาเอาไปใช้อะไรบ้าง กล้วยตอบอย่างเร็วว่า เขาเอาไปซื้อข้าวกิน เขาชอบสั่งกะเพราหมูสับ และที่ขาดไม่ได้ต้มยำรวมมิตร “กินกับข้าวเปล่า ซดต้มยำอร่อย” คนฟังคำตอบถึงกับกลืนน้ำลายเรื่องเล่าจากร้านอาหารของเขา
.
วันนี้เราคุยกับเขาว่า เร็วๆ นี้เราจะทำการเปิดบริการห้องสุขา และห้องอาบน้ำ รวมถึงรถซักอบอาบ ให้กับคนไร้บ้านทุกวันไม่มีวันหยุด กล้วยอยากมาทำงานกับเราทุกวันมั้ย เขาพยักหน้าแทนคำตอบรับ เราบอกข้อมูลให้กับกล้วยเพิ่มเติมว่า รออีกสักไม่เกิน 2 เดือนพื้นที่ตรงนั้นจะทำหน้าที่ปรับปรุงคุณภาพชีวิตให้กับคนไร้บ้าน เพื่อว่าวันหนึ่ง เมื่อเขาพร้อมที่จะเปลี่ยนจากไร้บ้านมามีบ้านเขาจะสามารถเปลี่ยนผ่านได้จากการเริ่มต้นจากจุดตรงนี้
.
เราบอกส่งท้ายกับกล้วยว่า “กล้วยเองก็เหมือนกันนะ”
——————————————
สนับสนุน​จ้างวาน​ข้าและการสร้างพื้นที่สวัสดิการ
เพื่อดูแลคนไร้บ้าน ได้ที่​
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-58289-4 SCB
Share Button

การอุ่นเครื่องของ ‘จ้างวานข้า’ ก่อนลงสนามในฐานะ ‘ข้าการช่าง’

จ้างวานข้าเข้าไปติดตั้งระบบไฟฟ้าใหม่ให้กับบ้านที่ถูกน้ำท่วม นี้เป็นการอุ่นเครื่องก่อนลงสนามจริงในปีหน้า
.
เราเลือกสนามอุ่นเครื่องกับตัวงานฟื้นฟูบ้านเรือนของชาวบ้านที่จังหวัดอุบลราชธานี ภายหลังจากวิกฤตน้ำท่วมระดับมิดหลังคาบ้านได้ลดลงไปแล้ว
.
ในการอุ่นเครื่องนัดนี้ มันคือการได้ปัดฝุ่นกับทักษะอาชีพที่พวกเราเคยมี พวกเราได้ทดสอบตัวเองในงานช่าง และได้คำตอบว่ายังทำได้ดีและยังทำได้ไหว ที่สำคัญพวกเราได้ช่วยเหลือคนที่ไม่ไหวในการฟื้นฟูบ้านตัวเอง อย่างบ้านคนชราที่อยู่เพียงลำพัง
.
งานช่างครั้งนี้มีสมาชิกจ้างวานข้าวัย 77 ปี เป็นหัวหน้าทีม พร้อมลูกทีมอีก 2 คนที่อยู่ในวัยชราทั้งคู่
.
แล้วหลังจากนี้พวกเราจะอุ่นเครื่องไปอีกสัก 2-3 นัด ในปีหน้าเราจะลงสนามจริง รับจ้างจริง
.
เราจะรับงานในนามว่า “ช้าการช่าง” การช่างที่จะมีคอนเซ็ปต์ต่างออกไปจากความรับรู้ของผู้คน และการช่างของเรานั้นไม่ได้มีแค่งานไฟฟ้าอย่างแน่นอน
.
โปรดติดตามและให้การสนับสนุนพวกเราด้วย

_____________________

สนับสนุนจ้างวานข้าได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-2-58289-4 SCB

Share Button

ข้อความจากญี่ปุ่น: จับบ้านที่ไม่มีใครอยู่ให้คู่กับคนที่ไม่มีบ้าน

หญิงคนหนึ่ง
ส่งอีเมล์มาจากประเทศญี่ปุ่น
เล่าว่าเธอมีบ้านหลังหนึ่งที่กรุงเทพฯ
ตอนนี้เธอย้ายมาอยู่ญี่ปุ่นถาวรแล้ว
อยากให้บ้านหลังนี้ถูกใช้ประโยชน์
กับผู้ที่ต้องการที่พักอาศัย
.
หญิงอีกคนหนึ่ง
เธอเป็นเสาหลักของครอบครัว
เพราะสามีป่วยเส้นเลือดในสมองแตก
เธอไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง
ลำพังค่ารักษาพยาบาล ค่ากินไปวันๆ
ก็ไม่เพียงพอต่อการไปหาเช่าบ้านอยู่
.
เราจึงเชื่อมโยง “ผู้ให้” และ “ผู้รับ”
บ้านไม่มีคนอยู่ ถูกจับคู่กับ คนไม่มีบ้าน
เพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง ยินดีสละทรัพย์ที่มี
ให้กับเพื่อนมนุษย์อีกคน โดยที่ทั้งสองฝ่ายไม่รู้จักกัน
เพียงแค่หวังให้สิ่งปลูกสร้างนี้ ได้ใช้ประโยชน์สูงสุด
และบ้านหลังนี้ กำลังทำประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง
.
การบริจาคอสังหาริมทรัพย์ของคุณ
ทำให้อีกครอบครัว ได้เริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง

Share Button

ชุดชั้นในมือสองของผู้ประสบภัย ในภาวะที่ไร้สิ่งของติดตัว

ในวันที่มูลนิธิกระจกเงาไปแจกของ
ให้ชาวบ้านผู้ประสบอุทกภัย
ใน อ.วารินชำราบ
.
ชุดชั้นในมือสองจึงถูกหยิบทีละตัวสองตัว
ตัวไหนถูกใจและพอใส่ได้
ก็จะกลับกลายเป็นชุดชั้นในตัวใหม่
ทดแทนตัวเดิม ที่แช่น้ำจนเสียหาย
.
เพราะในภาวะที่ไม่เหลืออะไรติดตัว
ชุดชั้นในมือสองสภาพดียังเป็นทางเลือก
ที่จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย
ให้พวกเธอได้อีกทางหนึ่ง

————————————————

ส่งต่อชุดชั้นในมือสองสภาพดี
ได้ที่ มูลนิธิกระจกเงา เลขที่ 191
ซอย วิภาวดีรังสิต 62 แยก 4-7
แขวงตลาดบางเขน เขต หลักสี่ กทม. 10210
โทร.061-909-1840, 063-931-6340

Share Button

จนกว่าคราบโคลนจะจางลง บนฟูกที่นอนเก่าของป้านัท

บ้านของป้านัท เป็นบ้านหลังที่สองของวันนี้
ที่อาสาล้างบ้านเข้าไปช่วยย้ายของและขัดล้าง
เราช่วยแกยกของที่เสียหายออกมาทีละชิ้น
จนมาถึงของชิ้นใหญ่อย่างฟูกที่นอน
.
‘อันนี้ป้าจะเก็บไว้’ แกส่งเสียงบอกอาสาสมัคร
แกให้เหตุผล ว่าแกเก็บเงินมาหลายปี
กว่าจะได้ที่ฟูกนอนหลังนี้มาไว้ที่บ้าน
มันเป็นที่นอนเก่าขนาด 5 ฟุต
ที่แกซื้อมาจากน้ำพักน้ำแรง
ด้วยอาชีพแม่ค้าน้ำส้มคั้นสด
.
แต่มาวันนี้ น้ำท่วมเพิ่งลด
แกขายของได้บ้างไม่ได้บ้าง
รายได้มันไม่พอให้ไปหาซื้อใหม่
.
แกจึงจำเป็นต้องเก็บฟูกนอนเก่า
ที่เริ่มเน่า และเต็มไปด้วยโคลนไว้
พยายามซักขัดมันไป
จนกว่าคราบความเสียหายจะพอจางลง
____________________

นอกจากครอบครัวป้านัท
ยังมีชาวบ้านอีกหลายครอบครัว
ที่ตกอยู่ในสถานการณ์เช่นเดียวกัน
มูลนิธิกระจกเงา รับบริจาคที่นอนทั้งมือหนึ่งและมือสองสภาพดี เพื่อส่งต่อให้กับชาวบ้านผู้ประสบภัย
.
บริจาคได้ที่ มูลนิธิกระจกเงา
191 ซอยวิภาวดี62 แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กทม. 10210 โทร 061 909 1840 , 063 931 6340
.
google map :
https://goo.gl/maps/a7wgGZf2JsLqbfTG9

Share Button

ระยะทาง 600 บาท ระหว่างผู้ป่วยตัวน้อยกับสุขภาพที่ดี

น้องกระต่ายอายุเพียง 3 ขวบ
แต่ใช้เวลามาแล้ว 1 ปี
ในการเดินทางมารักษาตัว
ด้วยโรคเรื้อรังที่โรงพยาบาล
.
น้องกระต่ายอาเจียนไม่ทราบสาเหตุ
วันละหลายรอบ
จนร่างกายไม่ตอบรับอาหาร
.
หมอตรวจร่างกาย ส่งตรวจชิ้นเนื้อ
ตรวจสารเคมีในสมอง
แต่ยังหาวิธีรักษาให้หายขาดไม่ได้
ทำได้ดีที่สุดคือรักษาตามอาการ
น้องจึงต้องมาโรงพยาบาลต่อเนื่อง
.
แม้การรักษาพยาบาล
จะใช้สิทธิบัตรทองไม่เสียเงิน
แต่ทุกครั้งที่มาโรงพยาบาล
แม่ ซึ่งเป็นลูกจ้างบริษัทเอกชน
ต้องหาเงินครั้งละ 600 บาท
เป็นค่าแท็กซี่พาน้องกระต่ายมาหาหมอ
.
โครงการโรงพยาบาลมีสุข มูลนิธิกระจกเงา
จึงสนับสนุนค่าเดินทางให้ครอบครัวนี้
และเรามีแผนสนับสนุนค่าเดินทาง
ให้ครอบครัวเด็กป่วยอีกจำนวน 10 ครอบครัว
.
เพราะค่าเดินทางที่สูง
เกินกว่ากำลังครอบครัวจะแบกรับ
มักเป็นสาเหตุต้นๆ
ที่ทำให้เด็กป่วยหลายคนตัดขาดจากการรักษา
.
ร่วมสนับสนุน ค่าเดินทางเพื่อเด็กป่วย
ได้ที่ บัญชีโครงการโรงพยาบาลมีสุข
เลขที่ 2022582860 ธ.ไทยพาณิชย์
.
หรือ สนับสนุนผ่านเว็บไซด์เทใจดอทคอม
https://taejai.com/th/d/seeadoctor/
(บริจาคผ่านเทใจสามารถลดหย่อนภาษีได้)

Share Button

บ้านทุกหลังที่เขาทำความสะอาด คือทุกรอยยิ้มที่ส่งให้เขาอยากใช้ชีวิตต่อ

“แต่ก่อนถ้ามีคนถามว่าอยากมีชีวิตอยู่ถึงอายุเท่าไหร่ ผมกล้าบอกเลยว่า อายุสัก 35-40 ผมก็ไม่อยากอยู่แล้วว่ะ แต่ถ้าถามวันนี้ ผมจะตอบว่าผมอยากอยู่ไปตลอดเลย เพราะตั้งแต่ได้มาทำงานอาสาสมัคร มันทำให้ผมไม่อยากตายด้วยซ้ำ”
.
“บ้านผมมีกัน 3 คน ผมอยู่กับยายและแม่ ยายผมติดเตียงมาหลายปี วันนึงยายป่วยหนักจนต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล ผมกับแม่ผลัดกันเฝ้าผลัดกันดูแล จนถึงเวลาที่หมอประเมินว่ายายกลับบ้านได้แล้ว แต่ยายต้องใช้ถังออกซิเจนช่วยในการหายใจ”
“ตอนนั้นรายได้ผมเริ่มน้อยมาก น้อยขนาดที่ผมไม่กล้าตัดสินใจ ว่าจะเอายายกลับบ้านดีมั้ย จะหาเงินจากไหนมาซื้อถังออกซิเจนใบละหลายๆ พัน ผมไม่กล้าพูดเลย เพราะผมก็ยังเอาตัวเองไม่รอด จนพี่ที่รู้จักเขาแนะนำที่ยืมถังออกซิเจน เลยได้มารู้จักกับศูนย์ป่วยให้ยืมที่อุบลฯ”
.
“ช่วงที่ยายต้องออกจากโรงพยาบาล เป็นช่วงที่อุบลฯ น้ำเริ่มท่วม บ้านผมยังไม่ท่วมนะแต่ผมไปไหนไม่ได้ เพราะถนนหลายจุดน้ำมันท่วมสูง มันกระทบงานผมมากเพราะผมหาเงินจากการวิ่งรับส่งอาหาร มีวันนึงลุยน้ำไปส่งอาหารให้ลูกค้า ผลสุดท้ายคือรถผมพัง พอไม่มีรถไม่มีเครื่องมือหากิน ผมก็ทำงานรับส่งอาหารไม่ได้อีกเลย”
.
“ผมตระเวนสมัครงาน แต่มันไม่มีที่ไหนเรียก ในหัวผมมีแต่ความเครียด รู้สึกชีวิตเราหดหู่ไปหมด เลยตัดสินใจกลับไปหาพี่เจ้าหน้าที่ที่ศูนย์ป่วยให้ยืม ถามเขาว่า ‘มีอะไรให้ผมช่วยทำมั้ย’ ”
.
“ผมช่วยงานอาสาส่งอุปกรณ์การแพทย์ได้เกือบเดือน พี่ในทีมก็บอกว่าเดี๋ยวจะมีงานล้างบ้าน น้ำลดแล้ว เราต้องเข้าไปช่วยชาวบ้านล้างบ้าน”
.
“วันแรกที่ไปเห็นสภาพบ้าน โหพี่!! น้ำท่วมมันเสียหายหนักนะ ผมบอกเลยว่ามันเสียหายรองลงมาจากไฟไหม้นิดเดียวเอง บ้างบ้านเป็นคนป่วยอีก ป่วยแล้วยังไม่พอนะ ตอนน้ำท่วมกลายเป็นไม่มีบ้านอยู่”
.
“ผมเห็นแล้วนึกถึงว่าถ้าเป็นยายเรา เราจะทำยังไง ไม่มีบ้านอยู่แล้วเขาไปเข้าห้องน้ำกันที่ไหน อาบน้ำกันตรงไหน ของใช้ในบ้านเละหมดเลย เขาจะเอาเสื้อผ้าที่ไหนใส่ คำถามมันเข้ามาในหัวเต็มไปหมด มันเป็นความเดือดร้อนของชาวบ้าน ที่เขาเองก็ยังไม่มีทางออก บ้านบางคนหลังคายังมิดน้ำอยู่เลย มันไม่มีใครเข้าไปช่วยเขา ผมเลยตัดสินใจว่าจะลงงานล้างบ้านกับทีมแบบเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ให้ชาวบ้านเขาได้กลับมาอยู่บ้าน ได้กลับมาใช้ชีวิตแบบปกติเร็วๆ”
.
“หลายบ้านที่หลังเราทำความสะอาดให้เสร็จ เจ้าของบ้านชอบซื้อนู้นนี่มาให้ ผมบอกเขาตลอดว่าให้เก็บไว้กินเลย เพราะแค่รอยยิ้มกับคำว่าขอบคุณที่เขามอบให้ สำหรับคนอย่างเรามันก็มากพอแล้ว”
————————————-
อั้ม เจตน์สฤษฎ์ ราโชติ
อาสาล้างบ้านมูลนิธิกระจกเงา
————————————-
เราเปิดศูนย์อาสาล้างบ้าน มาแล้วหนึ่งเดือน
ช่วยกันฟื้นฟูบ้านชาวบ้านหาเช้ากินค่ำ
รวมถึงชาวบ้านกลุ่มเปราะบาง
ที่ไม่มีกำลังล้างบ้านไปแล้วกว่า 50 หลัง
เพื่อเยียวยา ลดระยะเวลาให้พวกเขา
ได้กลับเข้าบ้าน อย่างเร็วที่สุด
.
สนับสนุนภารกิจล้างบ้านได้ที่
บัญชีกองทุนภัยพิบัติ มูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-258298-3 SCB
Share Button

ในบ้านที่กำลังผุพัง เราซ่อมมันเพื่อให้เธอได้อยู่กับพ่ออีกครั้ง…

“สองเดือนได้แล้ว ที่พ่อต้องไปอยู่ศูนย์พักพิงสำหรับคนป่วย แกถามเราทุกวัน ว่าจะได้กลับบ้านกันตอนไหน แกอยากกลับบ้านแล้ว”
.
“พ่อแกอายุ 80 ติดเตียงมาตั้งแต่ปี 2547 แขนขาหงิกงอ เหยียดออกไม่ได้ ทำอะไรเองไม่ได้ ตอนน้ำเริ่มมาแรกๆ เราคิดว่ามันจะท่วมไม่หนัก เพราะบ้านเราเจอน้ำท่วมทุกปีมันก็ไม่เคยสูงเกินชั้นสอง เราเลยย้ายพ่อหนีน้ำจากชั้นหนึ่งขึ้นชั้นสอง ส่วนของในบ้านก็เอาขึ้นไปผูกไว้กับขื่อ”
.
“แต่เราคิดผิด น้ำมันสูงขึ้นเรื่อยๆ จนมาปริ่มตรงเตียงพ่อ เลยให้คนรู้จักเอาเรือมารับ ขอให้เขาพาพ่อไปศูนย์พักพิงก่อน แล้วให้ลูกชายเราที่อยู่มัธยม 5 ตามไปเฝ้า ส่วนตัวเราหาเศษแผ่นไม้มาสร้างเพิงตรงเนินข้างบ้าน เพราะบ้านเรายังอยู่ตรงนี้ มันต้องมีคนเฝ้าบ้าน”
.
“เราอยู่ตรงเนินข้างบ้าน ตั้งแต่วันที่น้ำมิดหลังคา เทียวไปเทียวมาเฝ้าพ่อกับเฝ้าบ้าน เป็นอย่างนั้นสักพักจนน้ำเริ่มลดลงครึ่งนึง ตอนนั้นก็เริ่มเห็นสภาพบ้าน บ้านที่พ่อกับเราช่วยกันสร้าง มันพังไปหมด สังกะสีหลุด แผ่นไม้หลุด เหลือแต่โครง ความรู้สึกตอนเห็นคือมันอยากจะร้องไห้ออกมาดังๆ มันอึดอัดอยู่ในใจ ถึงขั้นอยากจะโดดน้ำมูลตายไปเลย”
.
“ของใช้ในบ้านมันก็ไม่เหลือ บ้านเราอยู่ติดริมน้ำมูล พอน้ำมันซัดของก็ไหลออกไปในแม่น้ำ เราก็ไปขอยืมเรือพายคนรู้จักอีกรอบ รอบนี้เอามาพายเก็บของ มันไม่มีทางเลือกเพราะของแต่ละอย่างมันไม่ใช่ถูกๆ ไม่ได้ซื้อมาง่ายๆ ที่เก็บได้ก็เอามาเช็ดมาล้าง ส่วนที่เก็บไม่ได้ก็ต้องปล่อยให้มันลอยหายไป”
.
“หลายคนเขาก็พูดกับเรา ว่าให้เราถมที่ให้มันสูงขึ้น น้ำจะได้ไม่ท่วมหนัก เพราะบ้านเราเป็นลุ่มต่ำกว่าบ้านอื่นๆ บางคนก็ว่าให้เราย้ายไปอยู่ที่อื่น เราก็อยากจะทำอยู่หรอก แต่ขาดอย่างเดียวคือเงิน จะทำอย่างเขาว่า มันก็ต้องใช้เงิน ลำพังหารับจ้างทั่วไปอย่างเราไม่ได้มีเงินมากมาย ยิ่งมาตอนนี้อีกแทบจะไม่มีรายรับเลย”
.
“เราเคยทำงานรับจ้างล้างจานอยู่ร้านอาหาร แต่พอน้ำมันท่วมมันเดินทางยาก ก็ไปทำงานไม่ได้ ป่านนี้เขาคงให้เราออกแล้วเพราะเราขาดงานมานาน ก็เหลือแต่เบี้ยคนแก่ คนพิการของพ่อ ที่พอจะได้จ่ายได้ซื้อข้าวกินกัน”
.
“วางแผนไว้ว่า ถ้าน้ำลดหมดแล้ว เราจะรีบล้างทำความสะอาดให้พ่อได้กลับมาอยู่ นอนกันตรงพื้นไม้ที่ยังไม่ผุไปก่อน เพราะตอนนี้เรายังไม่มีเงิน ได้แต่บอกพ่อไว้ว่าให้อดทนรออีกหน่อย หนูจะไปหารับจ้างเด็ดพริก เด็ดผัก เก็บเงินมาซ่อมบ้านเรา แต่หนูขออย่างเดียว ขอให้พ่ออยู่รอจนถึงวันนั้น”
———————————————
ป้าพิศ วัย 59 ปี ผู้ประสบอุทกภัย
ที่ยังต้องดูแลผู้ป่วยติดเตียง
———————————————
เนื่องจากบ้านของป้าพิศ เป็นที่ลุ่มน้ำขัง
ทีมอาสาล้างบ้านจึงนำเครื่องสูบน้ำ
ช่วยกันสูบน้ำออกจากบ้านของเธอ
จากนั้นเราเข้าไปช่วยขัดล้างบ้าน
เพื่อรอต้อนรับพ่อของเธอที่ป่วยติดเตียง
.
และเรามีแพลนจะช่วยเธอซ่อมบ้าน
ให้ครอบครัวของเธอพออยู่ได้
ไม่ต้องทนนอนหนาวในบ้านที่ไม่มีผนังบังกาย
บนพื้นไม้ที่กำลังผุพังลงทุกที
.
ข้าวของ เฟอร์นิเจอร์ ที่เราได้รับบริจาค
จากโครงการแบ่งปันเพื่อการเปลี่ยนแปลง
จะมาเติมเต็มให้กับบ้านของป้าพิศ และครอบครัว
.
สนับสนุนภารกิจอาสาล้างบ้านและซ่อมบ้าน
ผู้ประสบอุทกภัยน้ำท่วม อ.วารินชำราบ จ.อุบลฯ
ได้ที่บัญชี กองทุนภัยพิบัติ โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-258298-3 ธ.ไทยพาณิชย์
.
หรือหากคุณเป็นบริษัท กลุ่มองค์กร
หรือในโครงการกิจกรรม CSR
ประสงค์จะช่วยเหลือในงานซ่อมสร้างบ้าน
สามารถติดต่อเราได้ที่
0619091840 , 0639316340
Share Button

วัฏจักรชีวิตไร้บ้านของผู้ป่วยในตรอกสาเก

“เดี๋ยวก็มีมาใหม่อีกเรื่อยๆ ไม่จบไม่สิ้น” ประโยคของคนในตรอกสาเก บอกเล่ากับทีมงานผู้ป่วยข้างถนนหลังจากที่เราประสานงานให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชหญิงรายนี้อยู่
.
จริงอย่างที่ชาวบ้านแถวตรอกสาเกบอกกับเรา ไม่นานนักก็จะมีผู้ป่วยรายใหม่เดินวนเวียนใช้ชีวิตอยู่ที่ตรอกสาเก หรือข้อเท็จจริงที่สุดก็คือ ในขณะที่เราช่วยผู้ป่วยหญิงคนนี้อยู่ ก็ยังมีผู้ป่วยอีกไม่ต่ำกว่า 5 รายที่ใช้ชีวิตกับความป่วยจิตเวชอยู่ที่ข้างถนนในพื้นที่ตรอกสาเกหรือไม่ก็พื้นที่ใกล้เคียง หรือเมื่อปีก่อนนี้เองที่เราให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชหญิงที่ตรอกสาเกไป
.
วัฏจักรนี้มันเป็นอย่างไร ผู้หญิงคนนี้อาจบอกเล่าเรื่องนี้ได้พอสมควร
.
1 ปีกว่าๆ คือเวลาที่เธอมาใช้ชีวิตเร่ร่อนอยู่ที่ตรอกสาเก
.
การแต่งกาย เสื้อผ้าหน้าผมของเธอ แน่นอนมันบอกถึงอาการจิตเวชอย่างไม่มีข้อสงสัย และที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือเสื้อผ้าที่เธอสวมใส่ มันคือเสื้อเว้าแหว่งคล้ายเสื้อกล้าม ที่สำคัญคือเธอไม่สวมชุดชั้นใน และมาระยะหลัง เสื้อตัวเก่งก็ถอดออก บางครั้งก็เปลือยท่อนบนนั้นและใช้ชีวิตแบบนั้นอยู่ทั้งวัน
.
มาตอนแรกๆ ก็ขายของมือสองที่หาเก็บตามถังขยะ สภาพของมีทั้งสภาพกึ่งพังและพังไปแล้ว ยิ่งช่วงหลังมานี้ของที่เก็บมาขาย มีสภาพกึ่งขยะและเป็นขยะไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อมีลูกค้าเข้ามาถามไถ่ราคาสินค้า แม่ค้าไม่พูดไม่บอกราคาสินค้านั้นแต่อย่างใด
.
ข้าวปลาอาหาร ช่วงมาอยู่แรกๆ การหาอยู่หากิน ก็ยังใช้เงินซื้อข้าวปลาอาหารมากินเองได้ ช่วงหลังมานี้ ถังขยะนอกจากจะเป็นแหล่งหาของไปขาย มันยังทำหน้าที่เป็นโรงอาหารให้กับเธอ หิวน้ำก็หยิบแก้วน้ำเหลือขึ้นมาดื่มกิน หิวมากหน่อยก็อาจเป็นข้าวกล่อง ขนมปังเหลือๆ ที่ถูกหยิบขึ้นมากิน
.
หลายครั้งถูกชายหนุ่มกลัดมันเข้ามาดิว(เจรจาเพื่อซื้อบริการ) แต่เธอไม่เคยไปกับใคร(หญิงสาวขายบริการแถวนั้นให้ข้อมูลตรงกัน) แต่ก็มีหลายครั้งที่เธอถูกคุกคามจากผู้ชาย ทั้งที่เป็นคำพูดและท่าทีหื่นๆ แรงๆ พวกเขาทำเสมือนเธอมีสภาพเป็นวัตถุทางเพศไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่ควรเคารพในฐานะมนุษย์เช่นเดียวกัน
.
ประเทศไทยนั้นมี พระราชบัญญัติสุขภาพจิตอยู่ แต่มันก็เป็นกฎหมายที่แทบมีสภาพบังคับใช้ไม่ได้ ยิ่งในหมวดที่เกี่ยวเนื่องกับการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชที่เร่ร่อนอยู่ที่ข้างถนนแบบเธอคนนี้
.
กลไกช่วยเหลือที่รวดเร็วนั้นนับเป็นเรื่องที่ดีสำหรับตัวผู้ป่วยอย่างมาก เพราะอาการป่วยของเธอคงไม่หนักข้อขนาดที่ไม่ซื้อของกินแล้วแต่เป็นการหาเอาตามถังขยะกินแทน เธออาจจะไม่ต้องแก้ผ้าให้ใครต่อใครที่เธอไม่เคยได้รู้จักได้เห็นรูปกายเธอ ทั้งๆ ที่มันควรเป็นเรื่องส่วนตัวอย่างที่สุด เธออาจจะได้ขายของเป็นชิ้นเป็นอันเป็นเรื่องเป็นราว หลังจากที่เธอได้เข้ารับการรักษาแล้ว ที่สำคัญเธอจะไม่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับความเสี่ยงที่ว่าจะถูกละเมิดทางเพศโดยที่เธอป้องกันตัวเองแทบไม่ได้แล้ว
.
สุดท้ายของบทความนี้เราขอฝากเรื่องนี้ไว้ให้กับรัฐ เพื่อรัฐจะได้ตระหนักว่า ความเร็วในการให้ความช่วยเหลือบุคคลพลเมืองของรัฐนั้น มันนับเป็นตัวชี้วัดว่ารัฐให้ความใส่ใจต่อบุคคลพลเมืองของตัวเองนั้นมากแค่ไหน บาร์ที่ว่านั้นอยู่ต่ำหรือสูง ความเร็วนั้นนับเป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่สำคัญมากเลยทีเดียว
—————————————————
สนับสนุนการทำงานได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-2-58289-4 SCB
Share Button