คำสัญญาของคุณตาที่ตามหาน้องชายมาตลอด 3 ปี

หลังความตายของพ่อกับแม่
คุณตาอายุ 74 ปีซึ่งเป็นพี่ชายคนโต
ถูกฝากฝังให้ดูแลน้องชายคนสุดท้อง
ทุกวันคุณตาและภรรยารวมทั้งญาติๆ
จะเตรียมข้าวให้น้องไว้กินระหว่างวัน
เตรียมเงินไว้ให้เดินไปซื้อของกินเล่น
.
น้องชายคนสุดท้องชื่อ พรม
เขาอายุห้าสิบกว่าปีแล้ว
แต่เขาไม่รู้จักชื่อตัวเอง
เขาเป็นคนพิการทางสติปัญญา
เขาจะคุ้นชื่อที่ทุกคนเรียกว่า “อ่อน”
.
เขามักเดินไปเล่นแถวบ้าน
ตกเย็นเขาจะเดินกลับมาเอง
หมู่บ้านเขาชื่อ “คลองปลาโด”
แต่ถ้ามีใครถามว่าบ้านอยู่ไหน
เขาจะตอบได้เพียง “อยู่โด”
.
เขาเดินหายจากบ้านไป 3 ปีแล้ว
ไม่กลับมาอีกเลย
พี่ชายและญาติออกตามหาจนทั่ว
แต่ไม่พบเบาะแสของเขา
.
สัปดาห์ก่อนเรานัดคุณตาที่โรงพัก
คุณตามาผิดเวลาเกือบชั่วโมง
หลังจอดรถสามล้อเครื่อง
คุณตาเดินขากะเผลกมาหน้าอาคาร
ถอดรองเท้าแล้วเดินขึ้นบันได
ตาบอกว่าที่มาช้าเพราะตอนเช้า
ที่บ้านกำลังไปปลูกมันสำปะหลังกัน
.
เราพาคุณตามาเก็บดีเอ็นเอ
เพื่อเทียบกับศพนิรนาม
ครอบครัวเคยทำบุญแจกข้าว
เขียนชื่อของ พรม ลงในถุงข้าว
หวังให้เขาได้รับบุญกุศลบ้าง
คุณตาบอกว่าไม่รู้จะตามหาที่ไหน
และยังจำคำที่พ่อแม่ฝากฝังไว้ว่า
“อย่าทิ้งมันนะ”
————————————————————-
สถานการณ์คนหายปัจจุบัน ผู้ป่วยจิตเวชและพิการทางสมองหายออกจากบ้านเป็นจำนวนมาก มีแนวโน้มว่าคนกลุ่มนี้จะเร่ร่อนตามข้างถนน ซึ่งกลายเป็นคนนิรนามในสถานสงเคราะห์หรือกลายเป็นศพนิรนามจากอุบัติเหตุหรือจากการโดนทำร้าย จึงควรมีการเก็บดีเอ็นเอญาติคนหาย เพื่อเทียบกับศพนิรนาม
—————————————————————
สนับสนุน การพาคนหายกลับบ้าน
บัญชีโครงการศูนย์ข้อมูลคนหาย โดยมูลนิธิกระจกเงา
SCB 202-258-288-6
Share Button

ดวงตาของยายไร้บ้านที่อยู่ห่างไกลการรักษา

เป็นคนไร้บ้านอยู่ข้างถนนมามากกว่า 20 ปี แต่ที่ไม่แน่ใจก็คือไอ้โรคที่ดวงตาขวาของแกนั้นมีจุดเริ่มต้นเมื่อไหร่ และมันนับได้เป็นปีที่เท่าไหร่ของชีวิตไร้บ้านของแก รู้แต่เพียงว่าเมื่อต้นปี 65 ที่ผ่านมา มันเริ่มแย่ขึ้น เพราะรอบตา มันบวมแดง อักเสบ รู้สึกเจ็บข้างในลูกตา
.
มีวันหนึ่งช่วงเกือบกลางปี 65 มีอันธพาลมารีดไถเงินแก เมื่อแกไม่มีให้ มันก็ทำร้ายร่างกายเอา ต่อยเข้าที่ตา ทุบเข้าที่หัว แผลที่ดวงตาก็เริ่มแย่และเจ็บมากขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
.
แกเล่าว่าแกไปรักษาที่โรงพยาบาลอยู่ ไปล้างแผล ไปทำแผล แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนเกือบปลายปี ตาข้างขวามันบวมรุนแรง แผลเริ่มอักเสบ ลูกตาเหมือนจะหลุดออกมาจากเบ้า เวลาของการนอน ถแกต้องนั่งนอนเพื่อลดทอนความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นถ้าต้องนอนในท่านอนราบกับพื้น
.
แกยังคงไปหาหมออยู่บ้าง ไปบ้างเมื่อมันเริ่มเจ็บปวดมากเกินทนทาน แกบอกกับเราว่าแกไม่อยากไปหาหมอ ไม่ใช่ไม่อยากหาย แต่มันเจ็บปวดเกินจะทนทาน ในตอนที่หมอทำการล้างแผลให้แก “มันเหมือนโดนหินเอามากระแทกที่ตา หมอมือหนักอย่างกับหิน” แกพยายามอธิบายความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นตอนถูกล้างแผลให้เราฟัง
.
สุขภาพจิตแกก็แย่ลงตามไปด้วย แย่จากความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับแกในทุกวัน อารมณ์วีนเหวี่ยง ร้องไห้ เกิดขึ้นตลอด ไม่ว่าจะเป็นพวกเรา ทีมงานผู้ป่วยข้างถนน คนที่เข้าไปถามไถ่แก ไม่เว้นแม้แต่หมอพยาบาลก็ถูกแกวีนถูกแกเหวี่ยงใส่
.
“เจ็บมากๆ เลยหนู ยายจะอยู่ถึงปีหน้ามั้ย เจ็บจนอยากจะตาย” ประโยคที่เป็นทั้งคำอุทธรณ์และระดับของความเจ็บปวดที่แกได้รับอยู่
.
เราปลอบประโลมและพยายามชักชวนให้แกไปหาหมอดีกว่า และกว่าที่แกจะยอมไปก็ใช้เวลาไม่น้อย แกยอมมาโรงพยาบาลด้วยกันกับเรา เมื่อหมอเมื่อพยาบาลเห็นแก ก็เดินเข้ามาหาทันที ทักทายแกเหมือนญาติสนิทคนหนึ่ง หมอและพยาบาลต่างเล่าให้พวกเราฟังว่า แกมาหาที่โรงพยาบาลบ่อย มาทำแผลรับยา แต่แกไม่เคยมาตามนัดหมายที่ทางหมอทำนัดให้เลย ซึ่งหมอคาดว่าแกอาจเป็นมะเร็งที่ประสาทตา
.
แกเจ็บ แกกลัวการมาหาหมอ ประกอบกับค่ารถที่แกไม่สามารถหามาได้ การเดินทางจากสุดฝั่งหนึ่งของกรุงเทพที่แกนอนไร้บ้านอยู่ มายังโรงพยาบาลที่นัดหมายแกไว้ในอีกสุดฝั่งตรงข้ามของกรุงเทพ มันเป็นเหตุผลเพียงพออยู่ พอเพียงต่อการไม่ได้มาตามนัดหมายของหมอเพื่อจะได้รักษาตาของแกได้อย่างต่อเนื่อง
.
วันนี้เราพาแกมาหาหมออีกครั้งตามที่หมอนัดหมาย ทั้งหมอทั้งพยาบาลดูมีท่าทีพึงพอใจเป็นอย่างมากที่แกมาหาหมอได้ตามที่นัดหมายสักที หมอบอกพวกเราว่า “ดีมากๆ เลยที่แกได้มาตามนัดหมายสักที” แต่สิ่งที่เรายังดีใจไปไม่สุดก็เป็นเรื่องที่แกยังไม่ยอมเข้าไปในศูนย์พักพิงชั่วคราวที่ทางรัฐเขาจัดไว้ให้
.
พวกเราได้วางแผนดูแลแก เพื่อจะพาแกให้สามารถไปเข้าสู่การรักษาให้ได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้โรคที่แกเป็นอยู่มันทุเลาเบาบางขึ้น อาการดีขึ้นเป็นลำดับ สุขภาพกายดีขึ้นสุขภาพจิตก็ดีขึ้นตามมา พวกเรากำลังทำหน้าที่เสมือนการสร้างเส้นทางเฉพาะกิจเพื่อเชื่อมโยงคนป่วยที่ไม่สามารถเข้าสู่การรักษาได้ด้วยเงื่อนไขบางอย่างให้สามารถเข้าสู่ระบบการรักษาได้ไวขึ้น สะดวกขึ้น ต่อเนื่องขึ้น
.
แต่เราหวังไว้ว่า สักวันเส้นทางหลักจะมีเกิดขึ้น ผู้ป่วยข้างถนนที่มีเงื่อนไขพิเศษแบบยาย จะสามารถเข้าสู่การรักษาได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น โดยมีเส้นทางที่เหมาะสมกับบริบทของผู้ป่วยที่คล้ายกับแก โดยมันถูกสร้างขึ้นจากระบบการรักษาของรัฐเอง มีการขยับระบบการรักษาเข้ามาให้ใกล้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้ชิดขึ้น ความห่างไกลจากการเข้าสู่การรักษานั้นก็คงจะน้อยลงไปได้เอง เราหวังว่าทางพิเศษที่เราสร้างขึ้นตอนนี้จะเป็นทางที่รกร้างไม่มีใครใช้อีกต่อไปในอนาคต
.
ถ้าไปถึงวันนั้น เราทางทีมงานผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา จะนับว่ามันเป็นความสำเร็จได้อย่างเต็มภาคภูมิเลยทีเดียว
——————————————-
สนับสนุนการทำงานได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-2-58289-4 SCB
Share Button

สู่ผู้ประสบภัยชาวอุบล ตู้กับข้าวตู้ใหม่ที่เคยเก่ามาก่อน

เมื่อตู้กับข้าว 2 ตู้นี้ตั้งอยู่เคียงข้างกัน
มันทำให้ตู้ทางซ้ายมือดูเป็นตู้ใหม่
.
แท้ที่จริงแล้ว
มันเป็นตู้กับข้าวเก่า
ที่มูลนิธิกระจกเงาได้รับมาจากผู้บริจาค
.
และเมื่อเราไปเห็นสภาพบ้านน้ำท่วม
ของชาวบ้านที่วารินชำราบ จ.อุบลฯ
และได้เห็นตู้กับข้าวและสิ่งของต่างๆ
.
เราไม่สงสัยเลยว่า
ตู้กับข้าวที่มีคนนำมาบริจาคมานี้
มันควรเดินทางต่อไปที่ไหน
.
“การแบ่งปันของคุณเปลี่ยนแปลงสังคมได้”
Share Button

รอยเปื้อนบนตัวพวกเขา ได้มาจากการล้างบ้านที่อุบล

ใจเกิน 100 อย่างแน่นอน​
อายุเกิน 1000 อย่างไม่ต้องสงสัย
.
ทีมจ้างวานข้า​ IN​ อุบล​ราชธานี
ภารกิจล้างซ่อมแซม​บ้านผู้ประสบ​ภัยน้ำท่วม
.
บ้านนั้นสะอาด​แล้ว​
ความเลอะเปรอะเปื้อน​
มาอยู่ที่พวกเขาแทน
.
เขาบอกว่าตัวพวกเขาล้างได้ง่าย
แต่บ้านชาวบ้านต้องช่วยกัน

———————–

สนับสนุน​จ้างวานข้า​ IN อุบลราชธานี​ได้ที่​
.
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-58289-4 SCB
.
กองทุนภัยพิบัติมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-258298-3 SCB

Share Button

ลดความลำบากผ่านกล่องแบ่งปัน สู่ครอบครัวที่รอให้คนหายกลับมา

วันนั้น…
น้องชายของเด็กหายยังอยู่ในท้องแม่
แม่อุ้มท้องพาเขาไปค้นหาพี่ชาย
ไม่นานจากนั้นเขาลืมตาดูโลก
เราเจอเขาครั้งแรกที่ไร่อ้อย
ระหว่างที่แม่ต้องหอบลูกเล็กไปทำงาน
.
วันนี้เขาอายุ 9 ขวบแล้ว
อายุเท่ากับระยะเวลาที่พี่ชายหายไป
เขาเห็นพี่ชายแต่ในรูป
บางวันถามแม่ว่าเมื่อไหร่พี่จะกลับมา
.
9 ปีที่ผ่านมา
เราลงมาติดตามค้นหาสืบสวนนับสิบครั้ง
ไม่มีอะไรค้างคาใจว่ายังไม่ได้ทำ
เพราะทำทุกวิธีการแล้วในการตามหา
.
บางทีการเดินทางไปไกลถึง 600 กม.
เพื่อเจอคนปลายทางเพียง 60 นาที
มันมีความหมายเกินกว่าคุยทางโทรศัพท์
.
ยิ่งในวันที่รู้ว่าครอบครัวคนหายลำบาก
แม่ต้องขึ้นภูเขาเข้าป่าไปเก็บขี้ยางต้นไม้
เก็บของป่า เก็บผักหวาน เก็บเห็ด
หรือออกรับจ้างแลกค่าแรง 220 บาท
การนำแต้ม Allmember, แต้ม The1
ซื้อของกิน ของใช้จำเป็น
รวมทั้งของบริจาคจัดแพคใส่”กล่องแบ่งปัน”
จึงรวมเป็นเรื่องกำลังใจที่เรานำมาพร้อมกัน
.
นี่ไม่ใช่แค่เรื่อง
คนรับแจ้งคนหาย กับ ครอบครัวคนหาย
การแบ่งเบาความทุกข์ แบ่งปันความสุข
เราช่วยทำหน้าที่นี้ ที่ทุกท่านส่งต่อผ่านเรา
ไปยังผู้ที่ต้องการอย่างแท้จริงครับ.
———————————————————-
สนับสนุน การพาคนหายกลับบ้าน
บัญชีโครงการศูนย์ข้อมูลคนหาย โดยมูลนิธิกระจกเงา
SCB 202-258-288-6
Share Button

เสียงแห่งชีวิตของทีมล้างบ้าน “จ้างวานข้า” กับการทำงานที่ไร้ความเหนื่อย

คนหน้าซ้าย 67 ปี คนขวา​ 57​ ปี​ พวกเขาเป็นทีมล้างบ้านจากจ้างวานข้า​ ทีมล้างบ้านครั้งนี้มีทั้งสิ้น​ 19 คน​ ล้างบ้าน​ 14 คน​ ช่างไฟ​ 3 คน​ ทำครัว​ 2 คน
.
อายุมากสุดในงานนี้คือ​ 77 ปี​ ตำแหน่งของแกเป็นหัวหน้าทีมช่างไฟฟ้า​ 3วัน​ เดินไฟฟ้าใหม่ให้ชาวบ้านมาแล้ว​ 2 หลัง และทีมแกมีกัน​ 3 คน
.
พวกเขาทั้ง 19 คน​ ตื่นก่อนตี 5 กันทุกวัน​ เตรียมตัวพร้อมทำงาน​ 7 โมงเช้า​ ระหว่างรอรถไปทำงาน​ ประสบการณ์​ชีวิตเมื่อหนหลัง​ถูกเล่าแลกเปลี่ยน​กันอย่างสนุก
.
ระหว่างการงานล้างบ้าน​ ซ่อมไฟฟ้า​ เสียงพูดคุยแทบไม่มี​ มีแต่เสียงขัดถูพื้น​และผนังบ้าน​ เสียงตอกตะปูเดินสายไฟฟ้า​ ครึดๆๆ​ โป๊กๆๆ
.
เสร็จงานในทุกวัน​ เดินออกมาชื่นชมผลงานที่ถนน​ แล้วเสร็จตะโกนดังด้วยคำว่า​ “เฮ้ๆๆ” อย่างสนุกสนาน​ เหมือนที่ผ่านมา​นั้น ไม่มีความเหน็ดเหนื่อยดำรงอยู่​เลยจริงๆ
——————————————
สนับสนุน​จ้างวานข้า​ IN อุบลราชธานี​ได้ที่​
.
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-58289-4 SCB
.
กองทุนภัยพิบัติมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-258298-3 SCB
Share Button

แม่ผู้แบกชีวิตลูกสาวผู้ป่วยติดเตียงด้วยร่างกายวัย 60

อุบัติเหตุทางรถยนต์
เปลี่ยนอนาคตสดใสของลูกสาววัย 23 ปี
ที่กำลังทำงานบริษัท
ให้เป็นผู้ป่วยติดเตียงตลอดชีวิต
.
เปลี่ยนชีวิตบั้นปลายของแม่ชรา
ให้เป็นผู้แบกรับภาระดูแลผู้ป่วยติดเตียง
ไปตลอดชีวิตเช่นกัน
.
“ ตอนปี 53 วันที่เขาประสบอุบัติเหตุ หมอบอกว่าก้านสมองเขาถูกทำลายหมดไม่เหลือสักเส้น ลูกเรากลายเป็นคนพิการ เดินไม่ได้ พูดไม่ได้ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องติดเตียงไปตลอดชีวิต หมอบอกให้แม่ทำใจ แต่หัวอกคนเป็นแม่นะ มันสงสารลูก มันทำใจไม่ได้เลย ”
.
“ แม่พาเขากลับมาดูแลต่อที่บ้าน พยายามคิดตามคำพระไว้ว่า แม่ยังมีมือมีเท้าครบเราจะสู้ไปด้วยกัน หน้าที่ของแม่คือดูแลเขาทุกอย่าง ยกตัวขึ้นรถเข็นไปอาบน้ำ เปลี่ยนแพมเพิส ทำกับข้าว ป้อนข้าวป้อนยา คอยพลิกตัวไม่ให้เขาเป็นแผลกดทับ ”
.
“ เขาพูดสื่อสารไม่ได้ แต่แม่คิดว่าเขายังเข้าใจคำพูดแม่นะ ทุกวันแม่จะให้เขาเลือกเมนูกับข้าว เขียนเมนูแล้วบอกเขาว่ารูปนี้ไข่ดาวนะ รูปนี้ไก่ทอดนะ ให้เขาชี้เอา แม่ก็จะทำตามเมนูที่เขาเลือก บดให้ละเอียดแล้วเอามาป้อนให้เขา”
.
“ ตั้งแต่ลูกติดเตียงมาแม่หมดเงินไปเยอะ ทั้งค่ารักษาที่โรงพยาบาล ทรัพย์สินอะไรขายได้ก็ต้องขาย แม่ขายรถยนต์ที่ใช้หากินเอาเงินมารักษาเขา ทำงานเป็นแม่ค้าขายกับข้าวเอามาจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ค่ากิน ค่าอุปกรณ์การแพทย์ให้เขา ”
.
“ ส่วนพ่อจะช่วยทำงานส่งแก๊ส เงินได้มาพ่อจะเอามาลงที่แพมเพิสลูกทั้งหมด เขาใช้วันละ 5-6อัน เดือนนึงก็หมดค่าแพมเพิสไปหลายพัน แต่เงินจากที่พ่อส่งแก๊สมันไม่ได้มีมาตลอด เพราะพ่อเขาก็ป่วยเป็นโรคหัวใจเพิ่งผ่าตัดมา เหลือหัวใจแค่ห้องเดียว ทำงานหนักมากไม่ได้”
.
“ ปีนี้แม่อายุย่าง 60 พูดกันตามตรงมันก็เป็นคนแก่แล้ว แต่แม่ยังต้องทำสารพัด ร่างกายเราก็ไม่ค่อยแข็งแรง ยิ่งเวลาพยาบาลลูก ยกตัวลูกมันหลังขดหลังแข็งนะ เจ็บเส้นเจ็บในร่างกายไปหมด เกิดมาชีวิตแม่มีแต่ค้าขายไม่ได้หยุดได้หย่อน ยิ่งลูกมาเป็นแบบนี้ต่อให้เหนื่อยแค่ไหนมันก็หยุดค้าขายไม่ได้แล้ว ถ้าหยุดไปครอบครัวเราตายกันแน่ ลูกเราตายแน่ๆ”
.
“ ปีสองปีแรกแม่ยังอยู่ด้วยความหวัง คิดเอาว่าเดี๋ยวลูกจะกลับมาเดินได้ แต่นี้เข้าปีที่สิบแล้ว มันคงเป็นอย่างหมอว่า อาการคนเป็นอย่างนี้น่ะจะไม่มีวันหายมีแต่ถดถอย ถ้าวันไหนร่างกายเขาเริ่มแย่ลง คือให้แม่ทำใจไว้ก่อนเลย ว่าเขากำลังจะจากเราไป”
.
“ หลายครั้งแม่เหนื่อยมาก ท้อมาก จนบางครั้งคิดขึ้นมาว่า ‘หรือเราตายด้วยกันมั้ยลูก…’ (ร้องไห้) แม่ทั้งเหนื่อยทั้งสงสารลูกที่ต้องมานอนทรมานติดเตียงอยู่อย่างนี้”
——————————————————
ป้าร่า วัย 60 ปี
ผู้สูงอายุที่ยังทำหน้าที่แม่สุดกำลัง
เพื่อดูแลชีวิตลูกสาวติดเตียง วัย 36 ปี
——————————————————
เมื่อสมาชิกสักคนในครอบครัวกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง มักมีสมาชิกอีกคนรับหน้าที่ผู้ดูแล สำหรับครอบครัวนี้ หน้าที่ทั้งหมดตกมาที่หญิงชราสูงอายุ แม้ร่างกายที่แก่ตัวยังต้องทำงานอย่างหนัก แต่ในฐานะแม่ เธอยินดีที่จะแบกรับลูกสาวไว้ด้วยตัวเอง
.
โครงการป่วยให้ยืม มูลนิธิกระจกเงาเชียงราย ส่งต่อวีลแชร์ให้ครอบครัวนี้ยืมใช้ และในทุกเดือนเราจะคอยดูแลด้านอาหาร ผ้าอ้อม ของใช้จำเป็นอื่นๆ สำหรับผู้ป่วย แน่นอนว่าอุปกรณ์เหล่านี้จะมีผลดีต่อชีวิตผู้ป่วย ยิ่งกว่านั้นมันจะช่วยปลดเปลื้องภาระที่หนักอึ้งของคนดูแลผู้ป่วยให้เบาบางลงเป็นเท่าตัว
.
หากคุณมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ไม่ได้ใช้งาน
สามารถบริจาคได้ที่
โครงการป่วยให้ยืม มูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 191 ซอย วิภาวดีรังสิต 62 แยก 4-7
แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กทม. 10210
โทร.092-252-5454
.
หรือสนับสนุนภารกิจป่วยให้ยืม
เพื่อร่วมลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัวผู้ป่วย
ได้ที่บัญชี โครงการป่วยให้ยืม มูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-70398-7 SCB
Share Button

ทุกเบาะแสมีความหมาย ยังมีหวังที่จะได้พบลูกชายที่หายไป

ความหวัง
“มีชายเร่ร่อนผอมมากๆ
ผมยาวจนพันกันเป็นขดๆ
หน้าเหมือนคุณคนนี้
เดินถอดเสื้ออยู่แถวศรีราชา…”
.
นี่คือเบาะแสแห่งความหวัง
หลังเราเล่าเรื่องคนหายจิตเวชรายหนึ่ง
ลงในหน้าเพจเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
และมีเบาะแสแจ้งกลับมาทันที
.
เบาะแสนี้แม่คนหายยังเข้าคอมเมนต์
จนทำให้เราทราบว่า
แม่คนหายเป็น “แฟนตัวยง”
ของเพจมูลนิธิกระจกเงา
แปลว่าเธอยังคงเฝ้ารอความหวัง
และติดตามเบาะแสด้วยใจจดจ่อ
.
ทีมงานลงพื้นที่มาตั้งแต่เมื่อเย็นวานนี้
จนกระทั่งเช้าวันนี้เราเจอชายเร่ร่อน
ตรงตามเบาะแสที่แฟนเพจแจ้งมา
.
ความหมาย
ทีมงานรีบส่งภาพชายเร่ร่อน
ให้แม่คนหายตรวจสอบทันที
แม้คำตอบจะยังไม่ใช่คนหาย
ที่แม่และทีมงานกำลังตามหา
แต่ทุกเบาะแสล้วนแล้วแต่มีความหมาย
อย่างน้อยทำให้รู้ว่า
แม่ไม่ได้ตามหาลูกเพียงลำพัง
และคนในสังคมยังมีสายตา
ที่มองเห็นเพื่อนมนุษย์ที่ลำบากเดือดร้อน
.
#ความช่วยเหลือ
แม้ชายเร่ร่อนคนนี้
จะยังไม่ใช่ลูกชายของแม่รายนี้
แต่ทีมงานพยายามตรวจสอบข้อมูล
ว่าอาจเป็นคนหายรายอื่นๆ หรือไม่
และจะส่งข้อมูลให้ทีมงานผู้ป่วยข้างถนน
ลงพื้นที่ประสานให้ความช่วยเหลือ
ชายเร่ร่อนคนนี้เป็นลำดับต่อไป
.
ความทรงจำที่งดงาม
มีคอมเมนต์หนึ่งในประกาศคนหายรายนี้
“เมื่อก่อนจะเลี่ยงคนเร่ร่อน คนสติไม่ดี
หรือคนเกิดอุบัติเหตุ เพราะกลัว
แต่หลังจากตามข่าวมูลนิธิกระจกเงาบ่อยๆ
เราจะมองทุกครั้ง เผื่อเป็นคนหายในประกาศ
จำภาพตอนที่แม่เจอน้องสาว
หลังจากที่หายไปหลายสิบปีได้เลย
อยากให้ทุกคนเจอคนที่ตามหา”—————————————————
สนับสนุนให้ทุกความหวังเป็นจริง
ร่วมพาคนหายกลับบ้าน
บัญชีโครงการศูนย์ข้อมูลคนหาย โดยมูลนิธิกระจกเงา
ไทยพาณิชย์ เลขที่ 2022582886
Share Button

ชายพิการไร้บ้านทรุดโทรมหนัก ไร้หน่วยงานรัฐดูแล

ชายพิการไร้บ้านคนหนึ่งผู้ต้องแบกรับน้ำหนักจากปัญหาของรัฐในการจัดสวัสดิการ​ที่ดีให้กับเขา
.
ชายพิการที่ต้องใช้ร่างกายพิการจากอาการเส้นเลือดในสมองตีบ แต่ต้องมาแบกรับปัญหาสถานสงเคราะห์คนพิการของรัฐที่มีคิวต่อเข้ารับการดูแลในสถานสงเคราะห์กว่า 100 คิว และรอคิวนั้นมาตั้งแต่มกราคมปีที่แล้ว
.
ชายพิการที่ไร้บ้าน ไร้ที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม แต่ต้องมาแบกรับความไม่สามารถของรัฐในการบริหารจัดการเพื่อให้ประชาชนผู้ต้องการรับการดูแลจากรัฐอย่างเร่งด่วนให้ได้รับการดูแลตามความประสงค์ของเขา
.
ชายพิการที่ต้องอยู่กับคุณภาพชีวิตย่ำแย่ แต่ต้องมาแบกรับกับปัญหาที่สถานสงเคราะห์ที่ดูแลกลุ่มคนไร้ที่พึ่งของรัฐบอกมาว่า ไม่สามารถรับเขาเข้าไปดูแลได้ก่อน เนื่องจากกลัวว่าภายในสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งจะรับมือในการดูแลคนพิการไม่ไหว และที่สำคัญคือกลัวการไม่สามารถส่งต่อไปให้สถานสงเคราะห์เฉพาะทางอย่างสถานสงเคราะห์คนพิการได้ เนื่องจากทางนั้นก็บอกว่าคนขอฉันเต็มและมีคิวจ่อรอเป็น 100 คิวในทุกสถานสงเคราะห์คนพิการของประเทศนี้
.
ชายพิการที่สภาพร่างกายทรุดโทรมลงทุกวัน แต่เขาต้องมาแบกรับกับการที่ไม่มีหน่วยงานรัฐหน่วยงานใดที่จะเข้ามาดูแลเขาอย่างเร่งด่วน ที่เริ่มต้นจากการพาไปตรวจสภาพร่างกาย การหาที่พักอาศัยให้ การดูแลสุขภาพร่างกาย การดูแลให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดี
.
ชายพิการไร้บ้าน ร่างกายทรุดโทรมลงทุกวัน แต่เขาต้องมาแบกรับปัญหาของภาครัฐ เขาต้องแบกและรอคอยอยู่ที่ศาลาวัดแห่งหนึ่งริมคลองแสนแสบอยู่ทุกวี่วัน
.
ชีวิตชายคนนี้กำลังบี้แบนพังทลายไปเท่าไหร่แล้ว ท่านลองตรองดู กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
Share Button

ช่วยผู้ป่วยจิตเวชอีกราย นำส่งโรงพยาบาลได้แม้ไร้ญาติ

“จะไม่กลับมาอีกเหรอ​ มีคนเอาไปโรงพยาบาล​ 2 รอบแล้ว​ ไปเสร็จไม่เกินเดือนสองเดือนก็กลับมาอีก”
.
เราตอบไปว่า จริงๆ แล้วผู้ป่วยจิตเวช​ระดับรุนแรง​แบบนี้​ ฟังชั่นเสียหมดแล้ว​ เขาต้องถูกส่งไปสถานสงเคราะห์​หลังสิ้นสุดการรักษา​ แต่ที่ผ่านมาทางรพ.น่าจะไม่ดูเรื่องนี้​ เลยถูกส่งกลับมา ทั้งๆ ที่ดูแลตัวเองไม่ได้และไม่มีผู้ดูแล
.
“เขาเป็นคนแถวนี้แหละ​ เกิดโตแถวนี้​ แต่ก็ดมกาวตั้งแต่เด็ก​พอนานไปก็หลุดเลย”
ใช่ครับยาเสพติด​ สารระเหย​ ก่อผลให้เกิดโรคจิตเวชได้​ ผู้ป่วยในหวอดจิตเวช​ตอนนี้ส่วนมากเกิดจากการใช้สารเสพติด
.
“เดินหน้าสองก้าว​ ถอยหลังสองก้าว​ ลองดูสิเขาไม่ใส่กางเกง​เลย​ ผู้หญิงผ่านไปมาก็กลัว​ บางทีก็มีท่าทีเดินเข้าหาผู้หญิง”
.
ไม่ใช่แค่อันตรายต่อคนอื่นๆ​ แต่อาการจิตเวชของเขานั้นก็สร้างความอันตรายให้กับตัวเขาเองไม่น้อย​ เช่น​ คุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่​ลงทุกวัน
.
“โรงพยาบาล​จิตเวช​เขาจะรับเหรอ​ ไม่มีญาติไปด้วย”
เราตอบไปอย่างชัดเจนว่า​ ตามพรบ.สุขภาพจิต​ ระบุไว้เลยว่าการนำตัวผู้ป่วยจิตเวชส่งโรงพยาบาล​ ไม่ต้องมีผู้ดูแล​ไปด้วยก็ได้
.
ผู้ป่วยจิตเวช​คนนี้ได้รับการช่วยเหลื​อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
—————————————
สนับสนุน​การ​ช่วยเหลือ​ผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-58289-4 SCB
Share Button