ประกาศตามหาเด็กหาย ! น้องต่อวัย 8 เดือน

เด็กหาย !!!
เด็กชาย ต่อศักดิ์ แสงสว่าง ชื่อเล่น น้องต่อ อายุ 8 เดือน หายออกจากบริเวณ หมู่ 6 ตำบลหินมูล อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566 เวลาประมาณ 7.30 น.
เด็กหายรูปร่างสมส่วน สูงประมาณ 70 ซ.ม. น้ำหนักประมาณ 9 ก.ก. ผิวขาว ลักษณะผมเพิ่งโกนศรีษะ ตำหนิ ที่ศรีษะมีรอยแผลมีดโกนบาด และมีแผลเป็นที่คาง ที่ข้อมือซ้ายสวมเชือกถักหลายสี การแต่งกาย สวมเสื้อแขนยาวแขนจั้มสีขาว สวมผ้าอ้อมสำเร็จรูป ไม่ได้สวมรองเท้า
ผู้ใดพบเห็นโปรดแจ้งมูลนิธิกระจกเงา โทร. 080-775-2673
ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา
ประกาศเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2566
Share Button

กองทัพจ้างวานข้าบุกเคลียร์งาน Future ​Fest 2023

ในงาน ​Future​Fest2023 ที่เพิ่งจัดเสร็จสิ้นไปในวันเสาร์อาทิตย์ที่ผ่านมา พวกเรานัดหมายมาเคลียร์กันหลัง​งานเลิก​
.
“เจอกันประตู 1 ด้านใน” เราตะโกนนัดหมาย​
.
เรื่องมันใหญ่​ ต้องมีคนสัก 10 คนถึงจะเอาอยู่​ เมื่อถึงที่นัดหมาย​ ทั้ง 10 คนเข้ารุมสกรัมโจทย์​ข้างหน้าอย่างเอาเป็นเอาตาย
.
หลังใส่กันไม่ยั้งไปได้เกือบครึ่งวัน​ เราคัดแยกขยะเปียก​ ขยะแห้ง​ ขยะรีไซเคิล​ รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 100 ถุงต่อวัน
.
ขยะเปียก​ กทม. รับไปเคลียร์​ต่อ
.
ขยะแห้ง​ เคลียร์​ไปเป็นขยะพลังงาน
.
ขยะรีไซเคิล​ โครงการชรารีไซเคิล มูลนิธิกระจกเงา​ รับไปเคลียร์​ต่อ​ นำไปสู่การจ้างงานผู้สูงอายุ​ที่เป็นคนไร้บ้าน และคนจน​เมือง​ที่มูลนิธิ​กระจกเงา
.
“จ้างวาน​ข้าจ้างวานเคลียร์” คือทีมงานที่มีส่วนผสมของคนไร้บ้านและคนจนเมือง​ งานและรายได้ของพวกเขานั้น จะเกิดจากการไปทำงานเคลียร์​ที่มีคนจ้างวานไปทำ
.
งานไหน​ อีเว้นท์​ใด​ สนอกสนใจ​ ติดต่อได้ทันทีที่​เพจ
จ้างวานข้า โดยมูลนิธิกระจกเงา

————————————-

สนับสนุน​จ้างวาน​ข้าได้ที่​
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-58289-4 SCB

Share Button

โปรเจ็กต์ “สวนฟินิกซ์” แผนคืนชีพให้คนและของเหลือใช้

สวนสาธารณะในอุดมคติของคุณเป็นแบบไหน?
.
สำหรับกระจกเงา เรากำลังวางแผนถึง พื้นที่สาธารณะที่ทำหน้าที่รีชาร์ท และรีไซเคิลทุกอย่าง เป็นพื้นที่ที่เปิดให้สำหรับของเหลือใช้ และคนเหลือใช้ พื้นที่ที่จะสร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับผู้คนที่ตกทุกข์ได้ยากในสังคม
.
เราจะเปิดสวนสาธารณะแห่งนี้ ให้มีพื้นที่ส่วนหนึ่ง เป็นศูนย์รับบริจาค ต้อนรับผู้ที่เคลียร์บ้าน และมีของเหลือใช้มาบริจาคให้กับมูลนิธิกระจกเงา ของเหลือใช้เหล่านี้จะกลายเป็นรายได้เอาไว้ดูแลสวน และบริการที่เกิดขึ้นในสวน
.
สวนจะเปิดให้มีร้านแบ่งปัน สำหรับขายของราคาถูกให้กับผู้คนที่หาใช้ของมีคุณภาพในราคาประหยัด เพื่อให้ทรัพยากรที่ผลิตขึ้นมาแล้วแต่ยังสภาพดี ได้ถูกใช้งานจวบจนสิ้นสภาพที่แท้จริง
.
เปิดพื้นที่สำหรับผู้ต้องการทิ้งขยะรีไซเคิล ให้สามารถมีจุดทิ้งขยะเหล่านี้ได้สะดวกขึ้น โดยสบายใจได้ ว่ามันจะไม่ไปรวมกับขยะอื่นอีก
.
เปิดให้เป็นพื้นที่เกษตรในเมือง ที่ผู้เข้ามาใช้บริการ สามารถมาช่วยกันดูแล และเก็บเกี่ยวผล กลับไปทานที่บ้านได้ มีพื้นที่ free space เป็นพื้นที่สีเขียวที่ทุกคนสามารถใช้ สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ สำหรับทำกิจกรรมกลางแจ้ง สำหรับเรียนและเล่น หรือพื้นที่สำหรับงานวิวาห์ของคู่รักที่จ่ายค่าสถานที่จัดงานแพงๆ ไม่ไหว
.
ส่วนการเปิดพื้นที่ให้กับคนเหลือใช้ หรือคนที่หลุดออกจากตลาดแรงงาน คนแก่ คนป่วย คนไร้บ้าน สวนของเราเราจะมีระบบอนุบาล ไม่ใช่อนุเคราะห์
.
อนุบาลคน ที่ตลาดแรงงานไม่ใช้แล้ว ให้เขากลับมามีงาน มีคุณค่า มีคุณภาพชีวิต และมีศักยภาพในการดูแลตนเอง และครอบครัวได้ ไม่ใช่อนุเคราะห์ ที่เพียงให้อาหาร และที่อยู่อาศัย โดยที่ปัญหาของเขายังเหมือนเดิม
.
คนเหล่านี้ ส่วนใหญ่เคยเป็นช่าง รับจ้างรับเหมา เป็นคนเก็บของเก่าขาย ที่ใช้แรงงานมาทั้งชีวิต เราจะให้เขาได้ทำงานตามทักษะที่มี โดยกระจกเงาจะหางานและรายได้ให้
.
เรามีงานให้เขาแยกขยะพลาสติกที่ระดมได้จากผู้บริจาค ที่ใครก็รู้กันว่าขยะพลาสติก มีอยู่เต็มเมือง กระจกเงาจะขอเหมารับไว้ทั้งหมด เพื่อนำไปเป็นรายได้
.
มีงานให้เขาออกไปทำงานช่าง ในงานช้าการช่าง ที่มีผู้ว่าจ้าง เป็นใครก็ตาม ที่ยินดีจ้างงานคนแก่ให้มีงานทำ งานเนี๊ยบๆ แต่ขอเวลานานหน่อย (เพราะแก่แล้ว) มีทีมงานกระจกเงาจะเป็นผู้คุมคุณภาพ
.
ส่วนคนที่ไม่มีทักษะพิเศษ เราให้อยู่ต้อนรับผู้บริจาค ที่นำของเหลือใช้ เข้ามามอบให้มูลนิธิกระจกเงา เขาจะทำหน้าที่คัดแยกของประเภทต่างๆ ให้พร้อมสำหรับการส่งต่อ
.
ระหว่างที่อนุบาลคนเหล่านี้เราจะให้ที่อยู่อาศัย ที่สร้างไว้ภายในสวนนี้แหละ เป็นที่อยู่อาศัยขนาดชั้นเดียว ที่อยู่อาศัยนี้จะสร้างจากขยะพลาสติกที่ทุกคนนำมาบริจาค นำมาขึ้นรูปใหม่ ให้เป็นแผ่นไม้ เป็นฝาบ้าน เรือนชานพลาสติกที่หากวันนึงมันเก่าชำรุด เราก็เอามันกลับไปรีไซเคิลใหม่ได้อีก
.
และเมื่อวันนึง ที่พวกเขาตั้งหลักได้ มีเงินเก็บจากการทำงานกับเราจนสามารถออกไปเช่าที่พักเองได้แล้ว เขาจะออกจากที่นี่ โดยที่เรายังให้งานทำ เพื่อที่ให้ที่อยู่ในสวนนี้ เป็นที่อยู่อาศัยของผู้เดือดร้อนคนถัดไป
.
แนวคิดสวนในเมืองของกระจกเงาเป็นแบบที่เล่ามาทั้งหมดนี้ และวันนี้ ที่สำนักงานมูลนิธิกระจกเงา เปิดบ้านต้อนรับ รองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร คุณศานนท์ หวังสร้างบุญ​ พร้อมนำเสนอแนวคิดเหล่านี้ ในอนาคตหากมีโอกาสที่กรุงเทพมหานคร จะจับมือกับมูลนิธิกระจกเงา โดยแบ่งพื้นที่สวนสาธารณะที่ กทม.ดูแลให้เราจัดการ สวนสาธารณะแบบที่ว่าข้างต้นทั้งหมดนี้ก็จะมีโอกาสเกิดขึ้นจริง
.
สำหรับใครที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว
และเห็นด้วยกับแนวคิดข้างต้น
.
มูลนิธิกระจกเงาขอประกาศ ยืมที่ดิน!!!
ที่คุณไม่มีแผนใช้ประโยชน์ เรายินดีรับผิดชอบภาษีที่ดิน เพื่อให้ผืนดินแห่งนั้นเป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ สำหรับคนทุกคนในสังคม
_______________________
ร่วมเปลี่ยนพื้นที่ว่างเปล่าของคุณ
เป็นสวนสาธารณะเพื่อประโยชน์ต่อสังคม
ติดต่อมูลนิธิกระจกเงาได้ที่
โทร.063-931-6340, 061-909-1840
Share Button

ช่วยผู้ป่วยเร่ร่อนได้อีกราย เธอไม่ต้องคุยกับหุ่นลมอีกแล้ว

เธออยู่แถวรัชดา ผู้แจ้งให้ข้อมูลว่าเธอพูดคนเดียวเป็นภาษาจีน ใช้ชีวิตนั่งนอนที่ข้างถนน พบเจอน่าจะร่วมอาทิตย์ได้แล้ว แต่ผมของเธอเหมือนอยู่ข้างถนนมาได้เนิ่นนานมากกว่านั้น
.
บางคืนวันเธอนั่งคุยกับหุ่นลมของปั๊มน้ำมันด้วยภาษาจีน
.
รัชดามีนักท่องเที่ยวจีน แตกต่างตรงที่เธอท่องเที่ยวไปในโลกของเธอกับเพื่อนเธอในจินตนาการ
.
การท่องเที่ยวของไทยเปิดรับดูแลคนจีน
การสาธารณสุขไทยก็ยังคงเปิดรับ
ดูแลนักท่องเที่ยวจีนในบางราย
.
เธอได้รับความช่วยเหลือเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
.
ขอบคุณเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ห้วยขวาง ที่ช่วยเหลือนำส่งเธอตามพรบ.สุขภาพจิต
ขอบคุณสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยาที่รับเธอเข้ารับการบำบัดรักษาเป็นที่เรียบร้อย

—————————————

สนับสนุน​การให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนได้ที่​
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-58289-4 SCB

Share Button

เครื่องมือช่างชุดใหม่ของช่าง “เก๋าแก่”

ผู้สูงอายุที่เห็นถืออุปกรณ์ช่างเหล่านี้
ล้วนเป็นอดีตช่าง อายุงานหลายสิบปี
.
บางคนเป็นอดีตคนไร้บ้านหรือเป็นคนจนเมือง
พวกเขาหลุดจากระบบการจ้างงานมานาน
และอยู่ในประเทศที่ไม่มีรัฐสวัสดิการ
.
แม้สถิติอายุยืนของประชากรจะสูงขึ้น
แต่ปัญหาใหญ่คือ
สภาพการทางเศรษฐกิจของผู้สูงอายุ
และยังมีปัญหาเรื่องความขัดแย้งในครอบครัว
ระหว่างคนรุ่นลูกที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในครัวเรือน
.
หลายคนอาจไม่รู้
ว่าประเด็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือน
เป็นหนึ่งในปัญหาความขัดแย้ง
ระหว่างผู้สูงอายุในครอบครัวค่อนข้างสูง
.
พวกเขาเคยเป็นเสาหลักของครอบครัว
มีประสบการณ์และทักษะในการทำงาน
เพียงแค่พวกเขาสูงอายุมากขึ้นจึงไม่มีใครจ้างงาน
.
สัปดาห์นี้ ทีมงานกระจกเงาใช้คะแนน The1 Card
ที่มีผู้บริจาคช่วยกันโอนคะแนนมาให้
พาเหล่าช่างอาวุโส
มาช๊อปปิ้งอุปกรณ์สำหรับทำงานที่ไทวัสดุ
.
อะไรที่คิดว่าเป็นเครื่องมือที่เขาใช้ทำงานได้ดีขึ้น
เพื่อทดแทนอายุที่ชรา
ให้หยิบใส่ตะกร้าได้เลย
.
กระจกเงาจะสร้างอาชีพและรายได้ให้พวกเขา
ในนาม “ช้าการช่าง”
.
ถ้าคุณมีคะแนน The1 Card
สนใจบริจาคให้มูลนิธิกระจกเงาได้ที่
เบอร์ 063-9316340
.
หรือไปซื้อของในเครือเซ็นทรัล
อย่างเช่น ห้างเซ็นทรัล โรบินสัน TOP
แฟมิลี่มาร์ท Power Buy ไทวัสดุ B2S ฯลฯ
สามารถบอกเบอร์ 063-931-6340 เพื่อสะสมคะแนน
.
คะแนนของคุณจะถูกนำมาใช้
ในการสนับสนุนภารกิจของมูลนิธิกระจกเงา

Share Button

ช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นคนไร้บ้าน

“ที่เลือกมานอนแถวราชดำเนิน เพราะเราเกิดกรุงเทพ ตอนที่พ่อยังไม่เสียก็พามาเที่ยว มาดูไฟ ดูวัด ดูวัง ตอนนั้นก็เห็นคนเขานอนข้างถนนกัน จนโตวัยทำงาน เวลาหลังเลิกงาน หรือ Holiday เราจะชอบทำอาหารมาแจกคนที่นอนที่นี่ สงสารการกินอยู่ของเขา แต่พอเราต้องมาอยู่จุดนี้นึกไปถึงวันนั้น ก็แบบเราเคยเป็นผู้ให้มาก่อนวันนึงเราจะต้องมาเป็นผู้รับเหรอเนี่ย แต่ถ้ามองบวกหน่อยมันก็ทำให้เรารู้จุดที่ว่าเราจะไปทิศทางไหน เรานั่งเรานอนแบบนี้ได้อยู่นะ คนอื่นเขายังพอนอนได้เลย อย่างน้อยเราก็ไม่อดตายหรอก”
.
“จุดเปลี่ยนของชีวิตคือตอนที่แฟนบอกเลิกแบบไม่รู้ตัว คือไม่มีวี่แววเลยที่เขาจะเลิก อยู่ๆ ก็บอกว่าครอบครัวเขารับไม่ได้ พอเลิกกันเราก็ย้ายออกมาอยู่คนเดียวมาเช่าห้องอยู่ ตอนออกมาก็ขอเงินเขาแสนนึง เพราะเราไม่เหลือทรัพย์สินอะไรเลย เราเป็นคนทุ่มเทกับความรักมาก เพราะครอบครัวที่ผ่านมาของเรามันไม่ใช่เซฟโซนสำหรับเรา เราทำงานหาเงินมาได้สร้างทรัพย์สินมาเท่าไหร่ก็ยกให้เป็นชื่อของแฟนหมด เพราะเราอยากให้เขารู้ว่าเราก็สามารถเป็นผู้นำได้”
.
“พอมาเช่าห้องอยู่คนเดียว เราก็อยู่แบบนั้นเฉยๆ ไม่ทำงาน 2 ปี เพราะรู้สึกตัวเองไม่ปกติ เหมือนมีอะไรมาฟาดจนเป็นก้อนความรู้สึกชาๆหนักๆ แบบใจเรามันไปแล้ว เคยคิดสั้นอยู่แต่ก็ไม่ได้ทำ ตั้งใจเลยนะถ้าใช้เงินเก็บจนมันเป็นศูนย์เราทำแน่ๆ แล้วก็ใช้ชีวิตแบบประชดชีวิตอยู่ในห้องอย่างเดียว ไม่พูดคุยกับใคร จนมาถึงวันที่เงินหมด เลยตัดสินใจจบชีวิตวันนั้น แต่ก็ทำไม่ได้อีกนั่นแหละ”
.
“หลังจากวันนั้นก็ออกจากห้องเช่ามาแบบแบลงค์
ๆ เพราะมันไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าเขาแล้ว นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการออกมาไร้บ้านตั้งแต่ตอนนั้น อยู่ไปสักพักจึงคิดเริ่มต้นชีวิตใหม่ จนสุดท้ายเราก็ฮึดขึ้นมา กลับมาทำงานอีกครั้ง ไปสมัครงานเป็นรปภ. เพราะมันไม่ต้องใช้อะไรเลยมันเริ่มจากศูนย์ก็ได้ รปภ.เป็นงานสุดท้ายก่อนมาเจอกับจ้างวานข้า”
.
“ไร้บ้านช่วงแรกๆ เราก็นั่งอยู่ในจุดที่ไม่ค่อยมีคน ยังไม่ค่อยกล้าไปพูดคุยกับใคร สภาพเราก็เหมือนไม่ได้เร่ร่อน คนทั่วไปก็คงมองว่าเป็นคนมารอรถเมล์อะไรแบบนี้หรือเปล่า และเราก็ไม่รู้ต้องสื่อสารกับคนไร้บ้านยังไง ยังปรับตัวไม่ได้ แต่ก็โชคดีนะ พอไปนั่งก็มีลุงคนไร้บ้านมาพูดมาคุยดูเป็นมิตรดี คือจริงๆ แล้วคนไร้บ้านเขาเป็นคนจิตใจดีนะ ยิ่งพอเขาเห็นเราดูหน้าใหม่ หน้าไม่คุ้น เขาจะคอยมาถามสารทุกข์สุขดิบกับเรา”
.
“ที่เราอยู่รอดจากสภาวะไร้บ้านมาจนถึงตอนนี้ได้นี่
ก็มาจากคำแนะนำของพวกเขานี่แหละ เริ่มตั้งแต่ควรไปอาบน้ำยังไง ไปอาบน้ำที่ไหน คือเขาก็มองเราเป็นผู้หญิงคนนึงก็เป็นห่วงเรา แบบไปนอนตรงนี้แถวนี้นะเดี๋ยวลุงช่วยดูให้ กระเป๋าต้องนอนกอดไว้ตลอดนะ ควรไปนอนตรงหอศิลป์ดีกว่าตรงนั้นสว่าง ไม่น่ากลัวเท่าไหร่ ปลอดคน แต่สุดท้ายเขาก็ย้ำกับเราเสมอนะ ว่าระวังยังไงมันก็ไม่ปลอดภัยอยู่ดี ให้ระวังพวกติดเหล้าเมายาไว้ เพราะมีเวลาหื่นหนักๆ มันก็ไม่เลือกหน้า เขาก็แนะนำอยากให้เราไปหางานตามปั๊มน้ำมันให้มีที่พักอะไรแบบนี้จะดีกว่าปลอดภัยกว่า”
.
“ถึงแม้เราจะเป็นอย่างนี้ (เป็นทอม) เขาก็มองออกกันนะว่าเป็นผู้หญิง อย่างตอนที่อยู่มา 2-3 วันแล้ว จะมีคนเข้ามาคุยเรื่องทั่วไปก่อน และจากนั้นก็เหมือนชวนไปทำอะไรอย่างนั้น คือมันก็มีคนหลายประเภทเนอะ ตรงนั้นทั้งกินเหล้า ไม่ใช่มีแต่คนไร้บ้านอย่างเดียว พอมาคุยลักษณะนี้เราก็รู้ความหมายแหละว่าเขาต้องการอะไร อย่างชวนไปบ้านพี่ไหม ไปช่วยลุงเลี้ยงหมาหน่อยนะ พี่ก็พอมีเงินอยู่บ้างพี่เลี้ยงได้นะ สารพัดเลย เราเป็นทอมไม่เคยมีประสบการณ์เรื่องทางเพศอย่างนี้ มันก็เลยรู้สึกกลัวมาก แต่ก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากทำใจดีสู้เสือบอกเขาตรงๆ ว่า ไม่ชอบผู้ชายนะพี่”
.
“การใช้ชีวิตแบบนี้เราจะอยู่ติดที่ไม่ได้ ต้องเคลื่อนย้ายเปลี่ยนที่นอนตลอดเวลา บางคนเราก็รู้นะว่าเขามองเรามาหลายวันแล้ว คงไม่แน่ใจว่าเราเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย แต่พอเขารู้ว่าเป็นผู้หญิงเท่านั้นล่ะ เอาล่ะอยู่ไม่ได้แล้วต้องหาที่ใหม่ คือต้องเข้าใจว่าพื้นที่ตรงนี้ก็ยังไม่ได้มีความเข้าใจเรื่องเพศที่สามมากนัก เป็นทอมเขาก็มองเหมือนเป็นผู้หญิงคนนึงนั่นแหละ แต่ด้วยกายภาพมันก็ปกป้องเราได้มากกว่า ด้วยบุคลิกเขาก็จะไม่กล้าเข้ามาสัมผัส มันก็จะกันคนออกไปได้ระดับนึง”
.
“แต่มันก็แล้วแต่สถานการณ์นะ อย่างที่บอกมันก็มีกลุ่มที่กินเหล้า เสพยาจนสติไม่ปกติ พวกนี้จะเอาไม่เลือกหน้า อย่างเราเคยนั่งๆ อยู่เนี่ย ก็มีคนพวกนี้เข้ามาลวนลาม เดินมาดึงเราเข้าไปกอด คือมันไม่ปลอดภัยมากๆ เราเลยต้องเปลี่ยนสถานที่นอนเรื่อยๆ สลับนอนตามป้ายรถเมล์ ไม่มีที่ไหนเป็นที่นอนประจำ นอนตามจุดที่โจ่งแจ้งไปเลย รถเมล์อะไรผ่านก็ช่างมันเดี๋ยวมันก็ชิน เดี๋ยวก็หลับไปเอง”
.
“ครั้งนึงเราเคยเห็นเหตุการณ์น้องใบ้คนหนึ่งที่เขามานอนแบบเราเนี่ยที่โดนกระทำบ่อย ถึงแม้ภายนอกเขาจะดูเป็นทอมบอยเหมือนกัน แต่เขายังมีสรีระที่ดูเป็นผู้หญิงชัดเจนอยู่ คือจะมีคนมาจับหน้าอกเขา แต่ด้วยความเป็นใบ้พูดอะไรไม่ได้ก็จะมีคนมาทำท่าทางแบบมีเพศสัมพันธ์กับเขาตลอดเวลา ซึ่งเราเห็นเขาพยายามป้องกันตัวเองอย่างมาก คือถ้ามีผู้ชายเข้ามาจะลวนลามเขาจะถีบเลย คือเขาพยายามสู้เต็มที่ไม่ให้ใครหน้าไหนเข้ามาทำอะไรเขาได้”
.
“แต่ที่คิดว่าเราโชคดีอีกอย่างก็คือเราตัดมดลูกมาแล้วเพราะเป็นเนื้องอก ประจำเดือนเลยไม่ได้เป็นอุปสรรค แต่ผู้หญิงคนอื่นคิดว่าคงเป็นเรื่องลำบากมาก ส่วนเรื่องอาบน้ำนี่ก็เป็นปัญหา ต้องแอบเข้าตามปั๊ม ต้องเข้าสถานที่มิดชิดอย่างเดียว เพราะอาบน้ำนุ่งกระโจมอกแล้วอาบกลางแจ้งเลยไม่ได้ ตามปั๊มไม่มีเป็นห้องอาบน้ำนะ ถ้าอยากได้ห้องแบบนั้นต้องไปวัด เวลาอาบก็เอาน้ำที่เขาราดส้วมนั่นล่ะตักอาบ บางวันตื่นมาแล้วเสื้อผ้าหาย มีชุดเดียวไปอาบน้ำก็ต้องใส่แบบนั้นไปจนมันแห้ง”
.
“สำคัญมากนะสำหรับเรา วันมาเจอทีมงานมูลนิธิกระจกเงา เจอทีมงานจ้างวานข้า เราถือว่าเป็นตัวปิดจบเลยนะ เราถือว่าเร็วมากนะกับการหลุดจากสภาพเร่ร่อนไร้บ้านอะไรแบบนี้ เราอยู่มาได้แค่ 3 อาทิตย์ แล้วก็ได้ทำงานกับจ้างวานข้าเลย แล้วก็มามีห้องเช่าต่อมาเลย ซึ่งถือว่านี่เป็นการตั้งหลักครั้งใหญ่ที่ทำให้เรากลับมาได้เช่าห้องอยู่ได้อีกครั้ง”

——————————————-

แด่วันที่อยู่อาศัยโลก(World Habitat Day) ซึ่งนับจากวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี
.
คนไร้บ้าน การได้มีงานทำและงานนั้นทำให้มีรายได้ที่มั่นคงต่อเนื่องและเหมาะสม สิ่งนี้นับเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการตัดสินใจกลับเข้าสู่การมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงขึ้น
.
สนับสนุนจ้างวานข้าได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-2-58289-4 SCB

Share Button

นมกล่องที่ขาดไม่ได้ของน้องแนน

น้องแนน พิการทางกายและสติปัญญา
แต่ในความพิการซ้ำซ้อน
เธอได้รับความรัก การดูแลดั่งดวงใจ
จากสองตายายเป็นอย่างดี
.
ตายายของน้องแนนฐานะยากจน
รายได้ครอบครัว มาจากทางเดียว
คือยายเป็นพนักงานสังกัด กทม.
ส่วนตาคืออดีตคนขับรถ
ที่ถูกเลิกจ้างจากความชรา
.
คุณตาบอกกับทีมงานกระจกเงาว่า
หากไม่มียาย ตาและหลานคงต้องตายไปด้วย
.
เงินเดือนยาย แค่พอจ่ายค่าเช่าบ้านค่าน้ำไฟ
ค่ากินอยู่ และค่าเรียนของหลาน
แต่มันไม่เคยมีพอสำหรับเป็นค่าขนม
และเสริมนม ให้กับหลาน
.
ตาบอกว่า หลานตา ขาดอะไรก็ได้
แต่ขาดนมไม่ได้
น้องแนนติดการดูดนมจากขวด
ด้วยความพิการทางสติปัญญา
เธอจึงไม่สามารถรับรู้ หรือเข้าใจได้ว่า
ทำไมวันนี้ ไม่มีนมให้เธอ
.
ถึงจะลำบากยังไง ตาตั้งเป้าหมายไว้
ว่าต้องหานมให้หลานกินวันละ 2 กล่อง
ทุกวันหลังจากส่งหลานไปเรียน
คุณตาจึงเดินเก็บขวดตามถุงขยะไปขาย
ได้วันละ 20 – 30 บาท นั่นแหละ คือค่านม
.
ทีมงานอาสามาเยี่ยม ดูแลครอบครัวนี้
ส่งข้าวสาร อาหารแห้ง นมสำหรับน้อง
และสิ่งจำเป็นอื่นๆ ต่อเนื่องนาน 6 ปีแล้ว
.
และวันนี้ถือเป็นโอกาสพิเศษ
ที่เราได้รับนมจากโฟร์โมสต์มาล้านกล่อง
และแน่นอนว่าในจำนวนนั้น
มีโควต้าสำหรับน้องแนนอยู่ด้วยเช่นกัน
.
กระจกเงามีเด็กน้อย ต้องการนมอยู่อีกจำนวนมาก
นมหนึ่งล้านกล่อง นอกจากกระจายไปยังเด็กๆ เหล่านี้
ยังส่งต่อไปถึงองค์กรเครือข่ายทำงานทางสังคม
ที่ดูแลเด็กๆ ที่ต้องการนมเหล่านี้เช่นกัน
มีเด็กยากไร้ในชุมชน เด็กป่วย เด็กพิการ
เด็กกำพร้า เด็กในพื้นที่ห่างไกล ลูกหลานแรงงาน ฯลฯ
.
ขอขอบคุณ
บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า(ประเทศไทย)จำกัด (มหาชน)
และผู้บริจาคที่ร่วมโครงการ
“โฟร์โมสต์ส่งต่อรอยยิ้มให้เด็กไทยปี2”
มอบนมโฟร์โมสต์จำนวน 1 ล้านกล่อง
เพื่อให้มูลนิธิกระจกเงาส่งต่อถึงมือเด็กๆ
ที่ต้องการนม ทั่วประเทศ

Share Button

เครื่องผลิตออกซิเจน 100 เครื่อง 100 ความหวังของ 100 ชีวิต

“มีเครื่องผลิตออกซิเจนให้ยืมมั้ยคะ”
“คุณพ่อต้องออกจากโรงพยาบาลแล้ว
แต่ไม่รู้จะหาเครื่องผลิตออกซิเจนได้จากที่ไหน”
“ยืมเครื่องผลิตออกซิเจนที่มูลนิธิกระจกเงาได้มั้ย
อนามัยแถวบ้านไม่มีให้เช่าหรือยืมเลย”
“ยายหัวใจเต้นช้าต้องใช้ออกซิเจนตลอดเวลา
แต่ทางบ้านไม่มีเงินมากพอซื้อเครื่องผลิตออกซิเจน”
.
นี่คือตัวอย่างข้อความ ที่ครอบครัวผู้ป่วย
ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ
มายังโครงการป่วยให้ยืม
.
ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยเรื้อรัง
เส้นเลือดสมองตีบ บางรายปอดติดเชื้อ
หรือบางรายป่วยระยะสุดท้าย
จำเป็นต้องใช้เครื่องประคองลมหายใจไว้
ก่อนวาระสุดท้ายของชีวิตจะมาถึง
.
ตลอดมาเราพยายามตอบกลับข้อความเหล่านั้น
พร้อมส่งต่อเครื่องผลิตออกซิเจน
ที่สามารถต่อลมหายใจให้ผู้ป่วยได้
ไปแล้วกว่า 600 เครื่อง
.
มีเครื่องผลิตออกซิเจนจำนวนหลักร้อย
แต่ความเจ็บป่วย ไม่หยุดที่จำนวนนั้น
ในทุกวัน ทีมงานยังได้รับสายโทรเข้า
รวมถึงกล่องข้อความทางเพจเฉลี่ย 70 ราย
.
หลายช่วงวิกฤติ
ไม่มีเครื่องผลิตออกซิเจนเหลือให้ยืมใช้
แม้เรื่องลมหายใจที่เร่งด่วนจนรอไม่ได้
ครอบครัวผู้ป่วยหลายรายก็ยังจำใจรอ
.
เพราะไม่มีรายได้มากพอซื้อเครื่องใหม่
ไม่มีทางไหน ให้พวกเขาหันไปพึ่งพิง
.
จนเมื่อวานนี้
เราได้รับเครื่องผลิตออกซิเจน
จำนวน 100 เครื่อง
จากความร่วมมือของกลุ่มพลังงานบริสุทธิ์ (EA)
และมูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์
.
การมาถึงของเครื่องผลิตออกซิเจนนั้น
ทำให้หนทางรอดของผู้ป่วยหลายชีวิต
ที่กำลังเดือดร้อนเริ่มมีความหวัง
พวกเขาจะมีเครื่องผลิตออกซิเจนยืมใช้
สามารถต่อลมหายใจให้ชีวิตได้อยู่ต่อ
.
ครอบครัวใดต้องการเครื่องผลิตออกซิเจน
สำหรับต่อลมหายใจให้คนที่คุณรัก
ติดต่อมาหาทีมงานป่วยให้ยืมได้เลยค่ะ
หรือโทร.092-252-5454.
เปิดทำการ จ-ศ เวลา 09.30 – 17.00 น.
—————————————————
ขอขอบคุณ
อาจารย์ลอย Loy Chunpongtong
ที่เห็นความสำคัญของชีวิตเพื่อนมนุษย์
ช่วยประสานไปยังมูลนิธิหัวใจบริสุทธิ์
.
กลุ่มพลังงานบริสุทธิ์ Energy Absolute
ที่ส่งต่อเครื่องผลิตออกซิเจน
ให้สามารถต่อชีวิตผู้ป่วยได้อีกจำนวนมาก
.
สามารถบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้ที่
มูลนิธิกระจกเงา เลขที่ 191
ซอย วิภาวดีรังสิต 62 แยก 4-7
แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กทม. 10210
โทร.092-252-5454
.
หรือสนับสนุนภารกิจป่วยให้ยืม
เพื่อร่วมลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัวผู้ป่วย
ได้ที่บัญชี โครงการป่วยให้ยืม มูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-70398-7 ธนาคารไทยพาณิชย์
Share Button

รักริมถนน: เรื่องเล่าของชายหนุ่มที่พาแฟนมาอาบน้ำ

ในวันที่เราเปิดให้บริการ ซักผ้า อบผ้า และอาบน้ำให้กับคนไร้บ้านที่อยู่ในพื้นที่แถวราชดำเนิน เรามักพบกับชายคนนึงกำลังเข็นรถเข็นอย่างช้าๆ บนรถเข็นพบผู้หญิงคนนึง รูปร่างเธอบอกได้ว่าร่างกายไม่แข็งแรง ทั้งสองคนเป็นคู่รักกัน ทั้งคู่เป็นคนไร้บ้าน ทั้งคู่มักตรงดิ่งมาเพื่อใช้บริการ อาบน้ำ และซักอบผ้า
.
ชายหนุ่มนั้นวัยเกือบ50ปี ตกงานมาได้เป็นปีแล้ว เขารับจ้างทาสี แต่หลังๆ มานี้งานไม่มีให้ได้ไปทำ ส่วนหญิงสาวนั้นอายุยังอยู่ในวัย 40 ต้นๆ
.
ชายหนุ่มพาแฟนสาวมาอาบน้ำ เขามักบอกว่าแฟนอยากอาบน้ำเลยพามา เมื่อแฟนอาบเสร็จเขาจะอาบเป็นคิวถัดไป ระหว่างนั้นเสื้อผ้าของทั้งคู่ก็อยู่ในเครื่องซักผ้าและเครื่องอบผ้าเป็นที่เรียบร้อย
.
ระหว่างรอเวลาซักและอบผ้าประมาณ 1 ชั่วโมงได้ ชายหนุ่มเล่าถึงการโคจรมาพบกันของตัวเขาและแฟนสาว
.
เขาเล่าว่า เขานั้นออกมาไร้บ้านได้สักพักใหญ่แล้วและเมื่อเขาเลือกมานอนที่ถนนราชดำเนิน เขาพบเธอที่นั่น เขาบอกเมื่อเขาเห็นเธอ เขารู้สึกสงสารทั้งจากความพิการ ความเป็นผู้หญิงและไหนจะต้องมาใช้ชีวิตไร้บ้านเข้าไปอีก เขาจึงเอ่ยปากบอกว่าเขาจะดูแลเธอเอง นับแต่นั้นต้นรักก็เติบโต
.
เมื่อเราซักถามต่อไปว่า หญิงสาวได้ทำบัตรคนพิการแล้วหรือไม่ ชายหนุ่มตอบว่ายัง หญิงสาวซึ่งแม้นั่งรถเข็นอยู่ก็ตอบแทรกขึ้นมาว่า แค่ลูกสะบ้าหลุดเองยังไม่ได้พิการ แต่เมื่อถามว่าอยู่ในสภาพเดินไม่คล่องต้องใช้รถเข็นนั้นนานเท่าไหนแล้ว ชายหนุ่มตอบแทนขึ้นมาว่า ก็อยู่สภาพแบบนี้เป็นปีแล้วนะตั้งแต่ผมเจอเขา
.
ชายหนุ่มเปรยขึ้นว่า ผมอยากทำงาน แต่ติดตอนที่ผมไปทำงานไม่รู้จะให้แฟนไปอยู่ที่ไหน
.
ในเรื่องงาน เราตอบว่างั้นก็มาสมัครทำงานกับจ้างวานข้าได้เลย เขาพยักหน้าเชิงตอบรับ แต่ก็บอกแบ่งรับแบ่งสู้มาว่า เดี๋ยวผมขอดูก่อนว่าจะพาแฟนไปอยู่ที่ไหน พอจะฝากเพื่อนได้หรือเปล่า และวันนัดหมายนั้นเขาก็ไม่ได้มาตามที่นัดหมายไว้
.
แต่วันอังคารและวันศุกร์นี้ รถซักอบอาบ จะเปิดให้บริการอีกครั้ง เราน่าจะได้พบเขาและแฟน เราตั้งใจจะสอบถามเขาอีกครั้งในเรื่องงาน แล้วดูว่าเขาติดเงื่อนไขอะไรที่ทำให้มาทำงานไม่ได้ เพื่อเราจะได้ช่วยกันกำจัดเงื่อนไขนั้นให้หมดไป รวมถึงเรื่องการได้มาซึ่งการเข้าถึงสิทธิคนพิการของหญิงสาวที่เธอควรจะได้รับ
.
มูลนิธิกระจกเงา x Otteri x กรุงเทพมหานคร

____________________

เรามีจุดบริการ ซักผ้าอบผ้าและห้องอาบน้ำให้คนไร้บ้าน รวมถึงสิ่งอื่นๆ ที่จะนำไปสู่การให้กลุ่มคนไร้บ้านสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการเปิดเป็นช่องทางในการให้คนไร้บ้านได้เข้ามาเพื่อการแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และที่สำคัญคือการเข้าถึงงานที่มีรายได้มั่นคงต่อเนื่อง และเราเรียกสิ่งนี้ว่า “สดชื่นสถาน” ซึ่งมันไม่ใช่ความสดชื่นแค่จากการอาบน้ำใส่เสื้อผ้าใหม่ แต่มันรวมถึงความสดชื่นที่มาจากชีวิตที่ดีขึ้น
.
เรากำลังจะเปิดวันให้บริการคนไร้บ้านเพิ่มเติม จากที่เราเปิดแค่ในวันศุกร์ เรากำลังจะเปิดให้บริการเพิ่มในวันอังคารอีก 1 วัน และเรามีแนวโน้มที่จะเปิดให้บริการทุกวัน เนื่องจากเราได้พูดคุยขอให้ทางกรุงเทพมหานครสนับสนุนพื้นที่ถาวรให้ เพื่อที่จะให้เราสามารถให้บริการนี้ได้อย่างเป็นระบบระเบียบมากขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อให้คนไร้บ้านได้เข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านสภาพชีวิตจากคนไร้บ้าน ไปสู่คนมีบ้านให้ได้จำนวนมากเท่าที่จะมากได้
.
สนับสนุนการให้บริการสวัสดิการกับกลุ่มคนไร้บ้านในนาม “สดชื่นสถาน” ได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-2-58289-4 SCB

Share Button

สร้างพื้นที่ เพื่อชีวิตผู้ป้วยจิตเภท

“ว่าด้วยการสร้างพื้นที่”
.
เมื่อวานเป็นวันสุขภาพ​จิตโลก​ เราชวนอแมนด้า​(อดีต​มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์และเธอสนใจเรื่องสุขภาพ​จิตอย่างต่อเนื่อง​)​ ไปเยี่ยมเยียนผู้ป่วย​จิตเวช​ในโซเชียลวอร์ดที่อยู่ในการดูแลของสถาบันจิตเวชศาสตร์​สมเด็จเจ้าพระยา
.
โซเชียลวอร์ด​ คืออะไร​ พูดแบบสรุปคือพื้นที่​ ที่มีไว้เพื่อการฝึกทักษะ​ของผู้ป่วยจิตเวช​ (โดยเฉพาะเรื่องโรคจิตเภท)​ให้สามารถออกไปใช้ชีวิตอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างราบรื่น​ที่สุด​
.
คำถามว่า​ ทำไมต้องฝึกทักษะ​ทางสังคมกันใหม่​ เพราะเนื่องจากผู้ป่วยจิตเวชหลายราย เมื่อป่วย​เป็นโรคจิตเภท​ ตัวโรคมันทำให้ฟังก์ชันหลายอย่างในการใช้ชีวิตมันถูกทำลายไปด้วย​ ส่วนมากฟังก์ชันที่เสียหาย​ เป็นเรื่องความจำ​ ระบบความคิด​ ซึ่งเป็นฟังก์ชันสำคัญ​ของการดำรงชีวิต​ เมื่อพังจึงต้องสร้างขึ้นใหม่
.
คำถามว่า​ ทำไมเราถึงเลือกไปเยี่ยมเยียนที่นี่​ นั่นเป็นเพราะที่นี่​ กำลังมีการทำงานร่วมกันกับทางมูลนิธิ​กระจกเงา​ พูดแบบย่นย่อก็คือเรากำลังทำงานร่วมกัน​ โดยให้ผู้ป่วยจิตเวช​ได้เข้ามาทำงานในระบบงานของจ้างวานข้า​ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถฝึกฝนทักษะจนสามารถ​ออกมาใช้ชีวิตด้วยตัวเองได้​ โดยมีงานทำมีรายได้แน่นอน
.
ที่สำคั​ญคือ​ ผู้ป่วยจิตเภทเรื้อรังส่วนใหญ่จะถูกปฏิเสธ​จากระบบการจ้างงาน​ ไม่มีใครต้องการ รวมถึงครอบครัว​ของผู้ป่วยเองด้วย​ เราผู้ที่เห็นปัญหา​นี้มาโดยตลอด​ จึงคิดว่าเราจะเป็นพื้นที่​ที่ใช้ไว้รองรับกลุ่มคนที่ถูกปฏิเสธ​จากระบบการจ้างงานในกระแสหลัก เพื่อให้คนอย่างพวกเขาได้มีที่ทางในการยืนได้อย่างแข็งแรงมั่นคงในสังคมนี้
.
ยกตัวอย่างชายหนุ่มที่ผ่านประสบการณ์​ก​ารใช้ยาเสพติด​มาอย่างโชกโชน​ โชกโชนจนมันทำให้เขาป่วยเป็นโรคจิตเภท​เรื้อรัง​ ซึ่งมันทำลายการใช้ชีวิตเขาไปอยู่หลายปี​ ชายหนุ่มที่อายุยังอยู่ในวัย 30 ต้นๆ มีทักษะ​ในการวาดภาพ​ แต่ไม่สามารถงัดออกมาใช้ได้หลายปี​ แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการ​การฟื้นฟูทักษะ​หลังจากได้รับการบำบัด​รักษา​แล้ว​ เขาก็สามารถฉายแสงความสามารถที่เขามีออกมาได้เช่นวันเก่าก่อน
.
เราจึงคิดว่า​ การมีพื้นที่ให้ผู้ป่วยจิตเวช​ได้มีพื้นที่ในการพัฒนาทักษะ​การใช้ชีวิต​ มีพื้นที่ทดลองใช้ชีวิต​ จนสามารถกลับคืนสู่การใช้ชีวิตด้วยตัวเขาเองอย่างแข็งแรง​ อย่างยืนเหยียดตรงอีกครั้งในสังคมที่เขาสังกัดอยู่​ เป็นความจำเป็นอย่างที่สุด​ ที่ควรถูกตระเตรียมไว้ให้กับพวกเขา

__________________

สามารถสนับสนุนการสร้างพื้นที่สร้างเสริมประสบการณ์​ชีวิตให้กับกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-2-58289-4 SCB

Share Button