พี่โจ้ ณัฐพล สิงห์เถื่อน หัวหน้าโครงการอาสาดับไฟป่า มูลนิธิกระจกเงา

“เราเห็นชาวบ้าน วิ่งขึ้นไปดับไฟป่ากัน เป็นกลไกแรกเลยนะ แล้วเราเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เราจะนิ่งเฉยไม่ทำสิ่งนี้ไม่ได้แล้ว จังหวัดเชียงรายมีไฟป่าทุกปีนะ ไฟป่ามันคือที่มาของ PM2.5 อากาศที่เป็นมลพิษไง ที่ตั้งของสำนักงานมูลนิธิกระจกเงาเชียงราย บางวันค่า PM2.5 มันเกินมาตราฐาน จนมองเห็นด้วยตาเปล่าเลยว่า ท้องฟ้ามันเหลืองไปหมดเลย หายใจกันไม่ออกแล้ว จนวันนีง ไฟป่ามันโอบล้อมที่ตั้งมูลนิธิ เสียงไฟที่มันกำลังไหม้ต้นไม้ ไหม้กอไผ่ มันเสียงดังมากจนน่ากลัว เรามองเห็นปัญหาแล้ว มันอยู่ตรงหน้าเราแล้ว

“เราก็เริ่มระดมอาสาสมัครทั้งในพื้นที่ ในชุมชน และคนจากข้างนอก จัดหาเครื่องไม้เครื่องมือ จัดตั้งทีมชุดปฏิบัติการดับไฟป่า เพื่อสนับสนุนการดับไฟป่า ปกติชาวบ้านเวลาจะดับไฟป่า เขาใช้การลาดตระเวนเดินเท้าขึ้นที่สูง เพื่อดูกลุ่มไฟ เราก็มาใช้โดรนช่วยระบุพิกัดที่ชัดเจน แม่นยำ แล้วมุ่งตรงไปดับไฟป่าได้ทันที นอกจากนี้ยังนำกลุ่มรถมอเตอร์ไซค์วิบาก มาขนส่งอาหาร เสบียงและอุปกรณ์จำเป็น ลดภาระการให้แรงกายในการขนของ จะได้เอาแรงที่มีไปใช้ในการดับไฟป่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“เราเหมือนกำลังทำสงครามกับไฟป่านะ ต้องประเมินสถานการณ์โดยตลอด ต้องวางแผน เข้าตีตรงไหน จะรบตรงไหน ช่วงไหนข้าศึก คือ กลุ่มไฟกำลังอ่อนแรง นี่เราต้องรีบเข้าตีเลยเข้ารบเลย ตอนไหนไฟแรงมาก ข้าศึกกำลังคึก เราก็ต้องมีแผนรับมืออีกแบบ ยังรบไม่ได้ แล้วใช้เครื่องไม้เครื่องมือต่อสู้ทุกรูปแบบนะ โดรนนอกจากจะใช้บินระบุตำแหน่งไฟแล้ว ยังบินคุ้มกันทีมงานที่กำลังดับไฟ ให้เขารู้ว่า จุดไหนไฟกำลังโหมหรือควันเยอะ ตอนนี้เราขนปั้มน้ำขนาดเล็กไปด้วย เจอห้วยเจอลำธารที่ไหน เราปั้มน้ำลากสายยางไปฉีดเลย

“ข่าวเรื่องคนเสียชีวิตจากการไปดับไฟป่า ทำให้เราต้องตระหนักและระมัดระวังทีมงานอยู่ตลอด ซึ่งต้องขอแสดงความเสียใจกับผู้เสียชีวิตทุกท่าน การดับไฟในป่าเป็นเรื่องที่มีความอันตรายอยู่ทุกวินาที เหตุการณ์ที่ผ่านมาทำให้เราต้องวางแผนให้รัดกุม คำนึงว่าไฟทุกที่มีอันตรายหมด ต้องสู้ต้องรบในพื้นที่ที่เราถอยได้ ในทีมต้องดูแลกันและกัน ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย ไม่อยากเห็นความสูญเสียจากความเสียสละนี้
.
“แต่ถึงที่สุดเรายังไม่ใช่ตัวจริงนะ เราคืออาสาสมัคร จริงๆมีเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าอยู่ แต่เทียบปริมาณงานกับจำนวนคน งบประมาณ ระบบระเบียบของราชการ มันไม่สอดคล้องกัน มันมีข้อจำกัดที่ต้องช่วยสนับสนุน ในขณะที่ชาวบ้านก็คือคนแรกเลยที่วิ่งออกไปดับไฟ เพราะมันอยู่ใกล้ชุมชนเขา แต่เขาทำได้แค่หักกิ่งไม้มาตีมารบกับไฟอยู่เลย เลยต้องสนับสนุนเขา ทั้งงบประมาณ อาหาร เครื่องมือ เทคโนโลยี ให้เขาไปรบกับไฟได้ มันเป็นงานที่ต้องได้รับการสนับสนุน

“นี่เดือนกว่าๆแล้วที่รบกับไฟป่าแทบไม่มีวันพัก แต่ดับไฟได้แล้ว มันเหมือนได้ชัยชนะ แต่ความจริงการรบไม่ใช่แค่แพ้ชนะไง แต่ค่ามลพิษ PM2.5 มันจะลดลง คุณภาพอากาศโดยรวมมันจะดีขึ้น เพราะเราอยู่ที่นี่ไง เราได้รับผลกระทบต่อสภาพอากาศที่เลวร้ายโดยตรง เพราะนี่คือบ้านของเรา”

พี่โจ้ ณัฐพล สิงห์เถื่อน
หัวหน้าโครงการอาสาดับไฟป่า มูลนิธิกระจกเงา

________________________________________

คุณสามารถร่วมสนับสนุนภารกิจอาสาดับไฟป่า
โดยบริจาคเป็นค่าอาหาร เครื่องดื่มชูกำลัง อุปกรณ์ดับไฟ
ได้ที่ชื่อบัญชีกองทุนภัยพิบัติ (Special Force)
เลขที่บัญชี 202-258298-3 ธ.ไทยพาณิชย์
ต้องการข้อมูลเพิ่มโทร. 094-878-6447

#อาสาดับไฟป่า #มูลนิธิกระจกเงาเชียงราย

Share Button

พี่เอก เอกชัย พรพรรณประภา อายุ 58 ปี อาสาสมัครดับไฟป่า มูลนิธิกระจกเงา

“ผมตัดสินใจลาออกจากชีวิตราชการ มาเป็นข้าราชการบำนาญ ด้วยความที่เราเป็นเด็กทำกิจกรรมตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย พอรับราชการก็ทำงานภาคสนามมาตลอด แต่ชีวิตมันต้องการทั้งความสนุกและความสุข เลยตัดสินใจลาออกมา หาความสนุก ความสุข และหาคุณค่าในชีวิตไปพร้อมกัน

“สามปีที่ลาออกจากราชการมา ผมเริ่มไปเป็นอาสาสมัครที่มูลนิธิแห่งหนึ่ง มีหน้าที่รับให้คำปรึกษาผู้ป่วย HIV และการตั้งครรภ์ไม่พร้อม ทางโทรศัพท์ จากนั้นได้มาเป็นอาสาสมัครที่มูลนิธิกระจกเงา ในโครงการอาสาสร้างบ้าน ไปช่วยซ่อมบ้านอยู่ 2 หลัง ให้กับผู้ป่วยติดเตียง และครอบครัวที่จนยาก คือสภาพบ้านที่เป็นเห็นตอนนั้นมันไม่เหมาะที่มุนษย์จะไปอยู่ได้ ก็ไปช่วยซ่อมสร้าง ตอกตะปู แบกหินปูนทราย ทำจนเขาเข้าไปอยู่ในบ้านได้อย่างปลอดภัย ได้เห็นรอยยิ้มของเจ้าของบ้านที่เราไปซ่อมบ้านให้ มันมีความสุข ผมยังจำรอยยิ้มทั้งน้ำตาบนใบหน้าเจ้าของบ้านได้จนถึงทุกวันนี้

“จากนั้นเห็นประกาศรับสมัครอาสาดับไฟป่า ที่เชียงราย ก็เลยตัดสินใจมาร่วมด้วย พอมาถึงวันแรกเห็นคนกุลีกุจอ เตรียมลงพื้นที่ออกไปดับไฟป่า ด้วยความที่เราอาวุโสกว่าเขาเพื่อน น้องๆก็เรียกเราว่าลุงเอก ที่นี่ผมทำหน้าที่อาสาสมัครหลายหน้างาน ทั้งขี้นไปทำแนวกันไฟก่อนไฟจะมา ถ้าตรงไหนมีไฟก็ขึ้นไปช่วยดับไฟเพื่อไม่ให้เกิดควัน และได้รับมอบหมายจากทีมไปให้ร่วมประชุมวางแผนดับไฟป่าร่วมกับหน่วยงานอื่นๆด้วย

“งานดับไฟป่า เป็นงานที่เหนื่อยและหนักมากนะ แถมเสี่ยงอันตรายด้วย กดดันจากไฟและควันที่อยู่ตรงหน้าเรา ยิ่งได้ข่าวว่ามีคนเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดับไฟป่า ก็ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับใคร โดยเฉพาะทีมพวกเรา ที่ได้ทำงานร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาหลายวัน ต้องช่วยดูแลกัน ผมเป็นคนแก่เนอะ ก็จะเคร่งครัดกับน้องๆที่เป็นวัยรุ่น เป็นห่วงเขา การไปดับไฟป่า ต้องระมัดระวังตัวเองสูง ผมเคยพลาดสะดุดตอไม้ตอนไต่ลงเขา ซึ่งข้างๆเป็นกลุ่มไฟและเหว จนได้รับบาดเจ็บ โชคดีน้องๆที่ไปด้วยกันคว้าแขนช่วยไว้ได้ทัน

“ผมมาเป็นอาสาสมัครดับไฟป่าตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563 ทำงานกันหนัก เกือบทุกวันแทบไม่ได้หยุดพักเลย ลุยกันทุกวัน แต่ได้เห็นความสำเร็จ เราทำแนวกันไฟจนหยุดไฟไม่ให้ข้ามมาไหม้ป่าที่เหลือได้ ในขณะที่ไฟกำลังลุกไหม้ เราเรียนรู้มัน เรารู้จักมัน จนคุมมันไว้ได้ ซึ่งไฟป่านี่แหละคือต้นกำเนิดของควัน ของมลพิษที่เราหายใจกันเข้าไปแล้วเราหยุดไฟได้มันคือความภูมิใจ

“ผมอยากจะบอกในฐานะความเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ว่าอะไรก็แล้วแต่ เราอยู่ร่วมกันในสังคม ถ้าเราลองได้ทำอะไรเพื่อคนอื่น มองเห็นคนอื่น มองไกลๆไปจากตัวของเราเอง เราจะเริ่มนับถือตัวเองได้ สิ่งเหล่านี้จะหล่อเลี้ยงชีวิตจิตใจ เชื่อว่าทุกคนอยากทำสิ่งที่ดี และถ้าเราได้ทำสิ่งที่ดีนั้นเพื่อคนอื่นด้วย นั่นแหละคือความสุข”

พี่เอก เอกชัย พรพรรณประภา อายุ 58 ปี
อาสาสมัครดับไฟป่า มูลนิธิกระจกเงา

#อาสาดับไฟป่า #มูลนิธิกระจกเงาเชียงราย

Share Button

ที่พึ่งสุดท้าย…


พุธสุดท้ายของทุกเดือนทีมอาสามาเยี่ยมจะไปทำหน้าที่สร้างความสุขให้กับคนชราที่บ้านพักคนชราบางเขน พุธสุดท้ายของเดือนจึงเป็นการมาเยี่ยมเยียน พูดคุย เเชร์เรื่องราวซึ่งกันเเละกันพุธสุดท้ายของเดือนจึงเป็นเหมือนการเติมพลังใจให้กับคนชราที่ไร้ที่พึ่ง

เสียงระฆังดังลั่นทั่วบ้านพักเป็นสัญญาณเตือนให้ชายหนุ่มที่กำลังชรามารวมกันที่โถงกิจกรรมบางคนก็เดินมาอย่างว่องไวด้วยกำลังที่ยังคงเเข็งเเรง สำหรับบางคนก็ใช้ไม้เท้าเป็นอาวุธคอยประคองเพื่อให้ไม่ล้ม เเต่สำหรับบางคนก็ใช้รถเข็นเป็นพาหนะพาตัวเองมาสถานที่นัดหมาย

เราได้เสิร์ฟลอดช่องเเตงไทยกระทิสดเย็นๆให้คุณลุงได้รับประทานพร้อมฟังการบรรเลงเพลงเเนวคันทรีจากอาสาสมัครที่มาช่วยร้องเพลงสร้างความบันเทิงที่นี่อยู่เป็นประจำ  คุณลุงที่บ้านพักคนชราขอโชว์ลูกคอร้องเพลงคาราโอเกะไม่ว่าจะเป็น สุขกันเถอะเรา บุพเพสันนิวาส เรือนเเพ ทีมอาสามาเยี่ยมก็สร้างความครื้นเครงโดยการเป็นเเดนเซอร์โยกย้ายไปตามจังหวะเพลง

ได้มีโอกาสคุยกับคุณลุงท่านหนึ่งลุงทักทายเราด้วยใบหน้าที่ยิ้มเเย้มเเจ่มใสพร้อมทั้งยื่นอัลบั้มรูปถ่ายให้เราดูซึ่งเป็นรูปถ่ายในสมัยอดีต เปิดมาภาพเเรกเป็นรูปชุดนักศึกษาซึ่งเราทุกคนที่นั่งอยู่ตรงนั้นต่างอุทานกันออกมาว่า “หล่อ”จังหวะนั้นเองลุงคนเดิมก็หัวเราะออกมาอย่างชอบใจเเเถมยังโม้อีกว่าตอนนั้นสาวๆติดหนึบ เราเปิดอัลบั้มดูไปลุงก็อธิบายความสัมพันธ์ในเเต่ละรูป “รูปนี้ตอนไปเที่ยวน้ำตกกับเเม่” “รูปนี้ตอนไปเที่ยวกับเพื่อน” สิ่งที่เห็นได้ชัดคือเมื่อพูดถึงความหลังลุงจะมีสีหน้าที่เปื้อนไปด้วยรอยยิ้มเสมอ ลุงไม่ได้มีอาการโศกเศร้า เเเม้ตอนนี้คนสนิทไม่ได้อยู่กับลุงเหมือนดั่งในรูปเเต่ทุกครั้งที่หยิบมันขึ้นมาดูลุงคนนี้ก็ยิ้มออกทุกครั้งไปเชื่อว่ารูปถ่ายคงเป็นกำลังใจให้ลุงคนนี้อยู่ต่อได้อย่างไม่โดดเดี่ยว

บั้นปลายชีวิตของคนเราในวัยที่ร่างกายไม่ไหวต่อการทำงานเราก็คงวาดฝันไว้ว่าได้อยู่บ้านพร้อมครอบครัวได้เล่นกับลูกหลานเเต่คนเรามีทางเลือกไม่มากนัก ในเมื่อเลือกไม่ได้บ้านพักคนชราจึงเป็นจิ๊กซอร์ตัวสุดท้ายที่จะสามารถช่วยให้ชีวิตนี้ยืนหยัดต่อไปได้…

 

Share Button

บันทึกจากบ้านพักฟื้นคนชราบางเขน

ทีมอาสามาเยี่ยมกับภารกิจเยี่ยมเยียนเหล่าผู้เฒ่าที่บ้านพักฟื้นคนชราบางเขน ในทุกวันพุธสุดท้ายของเดือน ที่มอบความสนุกสนาน และหอบหิ้วสิ่งของมาเต็มคันรถเพื่อนำมาส่งมอบสิ่งของ ที่ได้รับจากเหล่าผู้ใจบุญ ให้กับเหล่าคนที่เคยหนุ่มเมื่อนานมาแล้ว

ร่วมกับอาสาสมัครที่มาเล่นดนตรีโฟล์คซองแนวคันทรีผสมกับเสียงแซกโซโฟน แนวเพลงยุคเก่าสุดอินดี้ เมื่อมองดูอายุของผู้เล่นกับผู้ชมคงไม่ห่างไกลกันมากนัก ในช่วงของการเล่นดนตรีสด หวนคิดถึงเรื่องราวที่ผ่านมา กับท่วงทำนอง “โห เล เล ฮี้…” ทำให้คิดถึงบ้าน บ้านที่อยู่ในร่องรอยของความทรงจำ และชีวิตในวัยหนุ่ม ช่างเป็นเพลงที่เต็มไปด้วยความอบอุ่น ความฝัน บวกกับเสียงร้องที่เปล่งออกมา ดังชัดกังวานเข้าไปถึงหัวใจ

คิดถึง…คิดถึงช่วงชีวิตที่เคยรุ่งโรจน์ ชีวิตที่สามารถทำอะไรก็ได้ดั่งใจหวัง และการเดินตามความฝันในช่วงชีวิตที่ผ่านมา

แม้ไม่สามารถย้อนเวลากลับไปในช่วงวัยเยาว์ แต่ก็ได้ทำให้เหล่าคนเคยหนุ่ม ได้หวนกลับไปนึกถึงช่วงที่เคยผ่านร้อนผ่านหนาวมาอีกครั้ง รอยรั่วรอยแหว่งที่เกิดขึ้น อาจทำให้ชีวิตไม่สมบูรณ์แบบ แต่นั่นคือรสชาติที่สมควรแก่การคิดถึง

บทเพลงยังคงถูกบรรเลงต่อไป เมื่อหันไปสบสายตากับผู้ชม แววตานั้นมีความสั่นไหว แต่มีประกายของความสุขใจ และทั้งใบหน้านั้นถูกระบายไว้ด้วยรอยยิ้ม

หมดช่วงของการเล่นดนตรีสด เหล่านักดนตรีก็ต้องเดินทางกลับ ทิ้งไว้เพียงไอของความคิดถึง แต่ทีมอาสามาเยี่ยมก็ยังคงอยู่ต่อเพื่อมอบความสุข

เข้าสู่ช่วงของการร้องเพลงคาราโอเกะ ถึงช่วงเวลาที่เหล่าผู้ชมและเหล่าอาสามาเยี่ยมจะเป็นผู้แสดงลูกคอ เมื่อถึงคราวที่ต้องแสดงฝีมือก็ไม่มีใครยอมใคร มีตั้งแต่เพลง หยาดเพชร , กระเป๋าสมปอง , ตชด.ขอร้อง , วิมานดิน , คือเธอใช่ไหม , ใจรัก , เดือนเพ็ญ และบทเพลงอื่นๆอีกมากมายที่ถูกสลับปรับเปลี่ยนผู้ร้องกันไป…

นานแค่ไหนแล้ว ที่ความหนุ่มค่อยๆถูกเวลาลิดรอนไปพร้อมกับความแข็งแรง กลายเป็นความชรา เป็นคนชราคนหนึ่ง และมาอยู่รวมกันกลายเป็นกลุ่มคนชรา

ในสถานที่ที่มีผู้คนมากมาย กลายเป็นที่ที่มีคนเหงามาอยู่รวมกัน เป็นสถานที่ที่มีความเศร้าและความเดียวดาย เมื่อคำว่าครอบครัวเป็นเพียงสิ่งที่เคยสัมผัสมาเมื่อนานแล้ว และที่แห่งนี้กลายเป็นเพียงที่พักพิงสุดท้ายของช่วงชีวิตที่กำลังจะมอดลง

การไปเยี่ยมเยือนบ้านพักฟื้นคนชราบางเขน ของทีมอาสามาเยี่ยมจึงไม่ได้ไปเพื่อแค่ส่งมอบสิ่งของ เลี้ยงขนม หรือสร้างความสร้างสนุกสนานเพียงช่วงเวลาหนึ่ง แต่เพื่อเป็นการไปเยี่ยมเยียน ทักทาย พูดคุย และส่งมอบกำลังใจ ให้เหล่าคนเคยหนุ่มได้สัมผัสถึงความดีงามและคุณค่าของชีวิต ทำให้หัวใจคนเคยหนุ่ม ได้พองโตด้วยลมแห่งความสุขอีกสักครั้งหนึ่ง

อาสามาเยี่ยมอาจเป็นเหมือนสายลมแห่งความหวัง  ในช่วงบั้นปลายชีวิตของเหล่าคนเคยหนุ่ม และจะคอยพัดวนอยู่เช่นนี้ เมื่อวันพุธสุดท้ายของเดือนวนมาอีกครั้ง ก็จะพัดพาความอบอุ่นกลับคืนสู่หัวใจ ของเหล่าคนเคยหนุ่มหัวใจไม่ชรา

ผลงานเขียนโดย: นางสาวหมีซ้อ ตองเซ
นักศึกษาบ้าฝึกงาน จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย

Share Button

ด้วยสองมือของ “นักศึกษาฝึกงาน” นี้ที่สร้างโลก

         ครั้งหนึ่งเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว  นักศึกษาฝึกงานคนหนึ่ง คิดค้นงานวิจัยเล็กๆบนดอยสูง เพื่อสำรวจสถานการณ์คนหายในหมู่บ้าน เขาทำงานด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ จนได้ฐานข้อมูลรายชื่อผู้สูญหายออกจากครอบครัวชุดหนึ่ง ซึ่งสุดท้ายเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานติดตามคนหายจนเกิด “ศูนย์ข้อมูลคนหาย” ขึ้นอย่างเป็นทางการพร้อมๆกับการเกิดขึ้นของสำนักงานมูลนิธิกระจกเงา กรุงเทพมหานคร

         “โครงการนักศึกษาบ้าฝึกงาน” เกิดขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2543  บนฐานของความเชื่อว่า นักศึกษาคือพลังบริสุทธิ์ที่พร้อมสำหรับการเรียนรู้ เต็มไปด้วยพลังแรงกายอันแข็งแรงสมบูรณ์ อยู่ในวัยที่พร้อมสำหรับเปิดโลกเพื่อเรียนรู้สิ่งแปลกใหม่ให้กับชีวิต และที่สำคัญ การได้ฝึกปฏิบัติงานจริงในพื้นที่จริง ไม่เพียงสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับชีวิต ยังสร้างแรงบันดาลใจ และได้เห็นถึงชีวิตที่มีความแตกต่างหลากหลาย เห็นสังคมในแง่มุมที่แตกต่างไปจากหนังสือเรียน ทั้งยังได้สัมผัสและลิ้มลองรสชาติของชีวิตที่ต้องใช้ทั้งหยาดเหงื่อ แรงกายและมันสมองเข้าแลกในทุกโครงการที่ทุกคนได้เขาไปสับเปลี่ยนหมุนเวียนทำงาน ในฐานะของนักศึกษาฝึกงานที่มีความบ้าในการเรียนรู้และต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคม

นักศึกษาฝึกงานต้องทำอะไรบ้าง?  ทำทุกอย่างเทียบเท่ากับเจ้าหน้าที่หนึ่งคน หากเขาเป็นทีมงานของโครงการอาสามาเยี่ยม เขาจะได้ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนผู้ตกทุกข์ได้ยาก ผู้ป่วยติดเตียง คนยากจนและคนที่อยู่ในสถาวะยากลำบากในทุกรูปแบบ เขาจะได้มีโอกาสยื่นมือไปช่วยพยุงคุณตาคุณยาย ลูบไหล่ จับไม้จับมือ ปลอบโยนถามไถ่ความเป็นอยู่รวมถึงอาการเจ็บป่วยที่กำลังเผชิญอยู่ เขาจะได้สบตากับเด็กน้อยที่กำลังรอขนมหรือนมสักกล่อง จะได้เห็นความจนอันแท้จริง ที่ไม่ได้มีที่มาจากความเกียจคร้านเสมอไป ความจริงในบ้านอันแร้นแค้นจะทำให้ดวงตาของเขาเปิดกว้างเพื่อเรียนรู้โลกที่สูงต่ำดำขาว ผ่านชีวิตผู้คนที่กำลังดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด

หากเขาเป็นสมาชิกทีมงานโครงการโรงพยาบาลมีสุข เขาจะได้รับรู้ว่าความทุกข์ในชีวิตที่เคยพบผ่านเข้ามาเล็กน้อยเพียงเถ้าผงธุลีดิน เมื่อเทียบกับความเจ็บป่วยที่เด็กหญิงเด็กชายตัวน้อยๆกำลังต่อสู้เพื่อเอาชนะโรคภัยเหล่านั้น ความเจ็บป่วยคือทุกข์อันแท้จริงที่พรากชีวิตทั้งชีวิตไปจากเด็กป่วยทุกคน เขาจะเห็นคุณค่าในตัวเอง และรู้สึกว่าชีวิตที่ผ่านมาช่างโชคดีเหลือเกินที่ได้เกิดมาเจ็บไข้ด้วยโรคเล็กๆน้อยๆที่รักษาหายในระยะเวลาอันสั้น เขาแบ่งปันความสุขที่เคยสัมผัสเพื่อทำให้เด็กป่วยได้มีโอกาสเล่น พูดคุย สนุกสนานเพื่อลืมความเจ็บปวดตรงหน้าได้ชั่วคราว และที่สำคัญเขาจะตระหนักว่าชีวิตที่เกิดขึ้นมานี้มีค่าสำหรับตนเองและผู้อื่นอย่างไร

         “สำหรับสิ่งที่หวังสูงสุดคือการได้ทำประโยชน์ให้กับสังคม นี่เป็นวัตถุประสงค์แรก ๆ ที่ก้าวเข้ามาในมูลนิธิกระจกเงา ใครจะว่าเราบ้าก็ช่าง แต่เราอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพัฒนาสังคม เพราะเราเข้าใจหัวอกของคนที่เขาลำบาก คนที่เขาขาดแคลน คนที่เขาไม่มีโอกาสเหมือนกับคนอื่น ๆ เพราะเราเองก็เคยได้รับโอกาส ได้รับสิ่งดี ๆ ในวันนี้เราจึงอยากจะมอบและแบ่งปันสิ่งดี ๆ นี้ให้กับสังคมคืนบ้าง เขาคงจะมีความสุขไม่แพ้กับเราเลยทีเดียว จะมีใครคิดเหมือนกันไหม ว่าแค่การได้เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างรอยยิ้มเหล่านั้น มันมีความสุขและอบอุ่นใจแค่ไหน อาจจะดูเป็นความสุขที่เรียบง่ายและแสนธรรมดา แต่สำหรับนักศึกษาฝึกงานและอาสาอย่างเรามันมีคุณค่ามาก ๆ จริง ๆ ค่ะ” เรื่องเล่าวันแรกของเจน นักศึกษาฝึกงานโครงการอ่านสร้างชาติ

         “กิจกรรมที่บ้านพักคนชราบางเขน ความรู้สึกทำให้ผมคิดถึง ปู่ ย่า ตา ยาย ที่บ้านเป็นอย่างมากวันนี้ทำให้ผมนึกย้อนถึงตนเอง ตอนผมเป็นเด็ก ผมจะไม่เชื่อฟังคำที่พวกท่านคอยสอน จนทำให้โดนบ่น โดนด่า อยู่เป็นประจำ เวลาโดนท่านตี ผมก็จะโกรธเคือง เเละเเสดงกิริยาที่ไม่ดีต่อพวกท่านเสมอ ๆผมรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็น ส่วนหนึ่งในการสร้างกำลังใจเล็กๆ สร้างความสุข สร้างรอยยิ้ม เเละเสียงหัวเราะ เเละได้เป็นผู้รับฟังเรื่องราวต่างๆ เพื่อให้เติมเต็มสิ่งที่พวกเขารู้สึกขาดหายไป ขอบคุณที่ได้ให้ผมได้เข้าร่วมกิจกรรมดีๆ โครงการอาสามาเยี่ยม ที่ได้ให้ผมมาสร้างความสุข รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ผมมีความสุขมากที่ได้มาที่นี่ ที่บ้านพักคนชราบางเขน ทำให้ผมได้เห็นความสำคัญของผู้สูงอายุที่บ้านมากขึ้น” ทัด พิทยา เสือเหลือง  คณะมนุษยศาสตร์เเเละสังคมศาสตร์ มหาลัยราชฎัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา นักศึกษาฝึกงานโครงการอาสามาเยี่ยม

 

        ได้ประสบการณ์ในการทำงานจริงเพิ่มมากขึ้น ได้ข้อคิดในการทำงานจากพี่ๆแต่ล่ะโครงการ ได้รู้ความสามารถของตัวเองว่าสามารถทำอะไรที่เราไม่เคยทำได้ ได้ความรู้เพิ่มจากงานที่ตัวเองทำ สามารถเอาไปปรับใช้ในอนาคตได้ ที่นี่ทำให้เป็นคนที่กล้าแสดงออกมากขึ้น และยังทำให้ได้เจอกับมิตรภาพดี ๆ จากที่นี่ ทั้งจากเจ้าหน้าที่ และ เพื่อนฝึกงาน สิ่งสำคัญที่ได้จากมูลนิธิกระจกเงาคือ  ได้รู้จักคำว่า “ให้” การให้ เราต้องให้แบบที่เราสมควรให้ ให้แล้วเราต้องสบายใจและเต็มใจที่จะให้ให้โดยที่เราไม่หวังอะไรตอบแทน และให้โดยที่เรามีพร้อมที่จะให้ ให้โดยที่เราไม่เดือดร้อน ให้แล้วคนที่รับและเราสบายใจ นี่ถึงจะเรียกว่า “การให้” คำกล่าวลาจาก ดรีม นักศึกษาฝึกงานทีม NGOsCyber

 

          ในทุกๆวันของการทำงานในทุกโครงการจะมีนักศึกษาบ้าฝึกงาน เข้าร่วมเรียนรู้และสนับสนุนการทำงานของพี่ๆเจ้าหน้าที่ พวกเขาไม่ใช่ภาระสำหรับองค์กร หากแต่คือ      “ขุมพลัง” ในการขับเคลื่อนองค์กรและสังคมไปสู่ การสร้างคน สร้างนวัตกรรมและสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง สองมือที่ยังไม่เคยผ่านงานในสนามชีวิตจริง ค่อยๆแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านเรื่องราว สัมผัสผู้คนทุกข์ยาก ได้มีโอกาสเป็นผู้ให้ และผู้รับความรักจากเพื่อนมนุษย์แบบไม่มีเงื่อนไข ทั้งนี้ ไม่ใช่เพียงเรียนรู้เพื่อฝึกสมองและร่างกายได้ทดลองทำงานเพียงเท่านั้น หากแต่หัวใจยังได้ฝึกเรียนรู้และเข้าใจในความแตกต่างหลากหลายของชีวิตมนุษย์ เพื่อวันหนึ่งเมื่อทุกคนเติบโตและโบยบินออกจากรั้วมูลนิธิกระจกเงาแห่งนี้ ประสบการณ์ชีวิตตลอดการฝึกงานจะสอนให้เขารู้จัก เข้าใจ และหยิบยื่นสิ่งดีๆเพื่อเพื่อนมนุษย์และสังคม

Share Button

“ฉันจะไม่ยอมแพ้ จนกว่าหัวใจจะเจ็บช้ำ” “ลูคีเมีย” เกิดขึ้นเพียงในร่างกาย มันพ่ายแพ้ต่อหัวใจที่ใสบริสุทธิ์

ปรากฏการณ์ Tyler Butler-Figueroa คือการออดิชั่นเด็กที่สะเทือนใจที่สุดเท่าที่เคยมีมาใน America’s Got Talent 2019 ส่งผลให้ผู้ชมหลายต่อหลายคนกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ เด็กชายอายุ 11 ปีที่ป่วยด้วยโรคลูคีเมีย หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาวตั้งแต่เกิด  เขาโชว์ลีลาการเล่นไวโอลีน ด้วยท่าทีที่มั่นใจ และบทเพลงจากสายไวโอลินก็หนักแน่นเด็ดขาด ไม่แพ้ดวงตาอันมุ่งมั่นที่ส่องประกายเศร้าคู่นั้น ต้องยอมรับว่าฝีมือการสีไวโอลินของเขาเฉียบขาดไม่เป็นรองใคร หากเขาคือเด็กชายธรรมดาคนหนึ่ง เรื่องราวหลังจบการแสดงคงเป็นเพียงเด็กชายมหัศจรรย์ที่พกพรสรรค์มาเต็มสองมือ แต่กับ Tyler ไม่ใช่แค่นั้น แววตาเศร้าๆ ที่มีน้ำตาเอ่อที่ขอบตาเป็นระยะๆทำให้ผู้ชมรับรู้ว่า เขาไม่ใช่เด็กชายที่ใช้ชีวิตธรรมดาๆเช่นเด็กอื่นๆ หลังจากรับรู้ว่าเขาป่วยด้วยโรคลูคีเมียมาตั้งแต่สี่ขวบ มันทำให้รู้ว่าเบื้องหลังเสียงสั่นเครือและดวงตาอันหมองเศร้า เด็กชายคนนี้ผ่านความทุกข์จากความเจ็บป่วยมามาก จนยากที่จะพรรณา 

ยิ่งไปกว่านั้น ท่วงทำนองเพลงที่เขาเลือกใช้ในการแสดงครั้งนี้คือ เพลงที่ชื่อว่า “Dont Give up on me” by Andy Grammer  “ฉันจะไม่ยอมแพ้” คือชื่อเพลงที่เด็กชายเลือกมาแสดงความสามารถต่อทุกคน และหากได้ฟังเนื้อเพลงแบบละเอียดๆแล้ว น้ำตาที่ไหลอยู่ตอนที่กำลังนั่งชมการแสดงชุดนี้จะยิ่งพรั่งพรู พลางคิดในใจว่า  “เด็กผู้ชายคนนี้เอาความเข้มแข็งเหล่านี้มาจากไหน”

ไทเลอร์ให้สัมภาษณ์ในรายการว่า เขาได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ตอนอายุสี่ขวบครึ่ง และต้องเข้ารับการรักษาด้วยการรับเคมีบำบัด หลังจากที่เขาเริ่มสูญเสียเส้นผมจากการทำเคมีบำบัดเขารู้สึกเศร้าและอายที่จะไปโรงเรียน ความรู้สึกเหล่านั้นแย่ลงเมื่อเด็ก ๆ ที่โรงเรียนเริ่มหัวเราะเยาะเขาเพราะความแตกต่าง เขาบอกว่าพวกเขาจะอยู่ห่างจากเขาและบอกว่ามะเร็งของเขา“ เป็นโรคติดต่อ” และไม่มีใครอยากเล่นหรือคบเขาเป็นเพื่อน วันหนึ่งเมื่อเขาเห็นใบปลิวเปิดให้เรียนไวโอลินฟรีซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมหลังเลิกเรียน ตอนนั้นเขาอายุ 7 ขวบ เขาขอร้องแม่ให้อนุญาตให้เขาได้เรียนไวโอลิน แล้วเรื่องราวก็เปลี่ยนไปเมื่อเขาได้เล่นไวโอลิน 

 

“เมื่อฉันเล่นไวโอลินมันช่วยให้ฉันลืมเรื่องเลวร้ายทั้งหมด” ไทเลอร์กล่าวก่อนการออดิชั่นของเขา

เธอ และไวโอลินให้พลังงานและความสุขแก่เขาอีกครั้งและเธอก็รู้สึกว่าในที่สุดเธอได้ลูกชายคืนกลับมา

ทันทีที่ไซมอน โคเวลล์ ซึ่งถือว่าเป็นกรรมการสุดโหดประจำรายการ กด GOLDEN BUZZER!!!

เด็กชายทรุดตัวลงพร้อมกับร้องไห้เงียบๆด้วยความดีใจ อาจเป็นเพราะประโยคคำถามง่ายๆ ที่ไซมอนถามไทเลอร์ว่า 

How are you feeling now?’ Simon asked, inquiring about his cancer 

ตอนนี้เขารู้สึกอย่างไรบ้างเกี่ยวกับโรคมะเร็งของเขา

‘I’m feeling really proud of myself,’ Tyler said 

ไทเลอร์ตอบแบบมั่นใจว่า “เขารู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองมาก” 

และคำพูดสุดท้ายของไซมอนที่กล่าวกับไทเลอร์คือ 

“เราเคยได้ยินเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับผู้คนที่ถูกรังแก แต่ฉันสามารถบอกคุณได้สิ่งหนึ่ง คนส่วนใหญ่ถูกรังแกเพราะพวกเขาดีกว่าคนที่รังแกพวกเขาและผมคิดว่าคุณมีบุคลิกที่น่าทึ่งและผมอยากจะบอกอะไรสักอย่างกับคุณ ในนามของคุณต่อคนที่เคยล้อเลียนคุณว่า” แล้วเขาก็ กด GOLDEN BUZZER!!! และเช่นเดิมเป็น  GOLDEN BUZZER ที่ช่วยตอกย้ำให้เด็กชายรู้สึกมั่นใจในตัวเอง และเชื่อมั่นว่าหากถ้าใจไม่ยอมแพ้ ร่างกายและเลือดเนื้อและโรคภัยจะยอมจำนนในสักวัน

 

“ฉันไม่ต้องการเป็นเด็กที่เป็นมะเร็งดังนั้นตอนนี้ฉันเป็นเด็กที่เล่นไวโอลิน” ไทเล่อร์กล่าวย้ำ

สิ่งมหัศจรรย์คือ “เขาคือเด็กป่วย” ที่มองจากภายนอกแล้วเหมือนเด็กธรรมดาๆคนหนึ่ง หากไม่ได้มองลึกเข้าไปในแววตา เราคงไม่มีทางรู้ได้ว่า ภายใต้รอยยิ้มอันสดใส และท่าทีอันกระตือรือร้นเหล่านั้น เด็กชายคนนี้เคยเผชิญชีวิตอยู่กับความเป็นความตายมานักต่อนักแล้ว

และไม่ว่าจะอย่างไร การเอาตัวเอาใจออกห่างจากโรคภัยบ้าง ก็ทำให้ชีวิตเป็นปกติสุขได้ แม้เพียงชั่วครู่ชั่วยาม และในทึ่สุด “ดนตรี” ก็ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันอันแข็งแรงให้กับร่างกายอันเหนื่อยล้าได้ มันทรงพลังและส่งผลต่อทั้งร่างกาย จิตใจของเด็กป่วย ซ้ำยังส่งต่อพลังบริสุทธิ์ไปยังคนทั่วไปที่ได้รับฟังบทเพลงสักเพลง  อีกทั้ง “ดนตรี” ยังสามารถเบี่ยงเบนความสนใจจากผู้ป่วยที่มีความเจ็บปวดให้รู้สึกเจ็บปวดลดลง ช่วยให้ทนต่อความเจ็บปวดได้มากขึ้น และสามารถลดความวิตกกังวลและกลัวลงได้  

เมื่อเขาไม่รู้สึก เจ็บ และ กลัว อีกต่อไป ร่างกายจึงพร้อมที่จะต่อสู้ แม้ว่าโรคจะร้ายแรงสักแค่ไหน และมักเป็นเด็กๆที่เข้าใจนัยยะที่ซ่อนไว้ในทุกตัวโน๊ต เด็กป่วยก็คือเด็ก เขาคิด อ่าน เขียน และยัง “เล่น”ได้ ตามจินตนาการที่ยังเหลือล้น แม้ร่างกายจะอ่อนล้า แต่ไม่ควรปล่อยให้ความสุขๆเล็กๆน้อยๆจากการเล่นหายไปจากจินตนาการ คืนพื้นที่เล่นให้เด็กป่วยเท่ากับฟื้นร่างกายและจิตใจอันเบิกบานให้กับเด็กป่วยทุกคน 

#เล่นให้สมกับที่เป็นเด็ก

#โครงการโรงพยาบาลมีสุข

Share Button

เมื่อ “แปลงกาย” เป็นนักเรียน พวกเขาไม่ใช่ “เด็กป่วย” อีกต่อไป

จบการปิดเทอมใหญ่อันยาวนานเสียที

พรุ่งนี้คือวันเปิดเทอมวันแรก..เสื้อผ้า กระเป๋านักเรียน รองเท้า

ดินสอ ยางลบ สมุด ทุกอย่างถูกเตรียมพร้อม สำหรับนักเรียนใหม่ชั้นป.4

สำหรับทุกคนการเปิดเทอมคือเรื่องตื่นเต้นสำหรับชีวิตวัยเด็ก..

เรื่องราวช่วงปิดเทอมรอการเล่าสู่กันฟัง.. เพื่อนเก่าและเพื่อนใหม่ใครก็ได้ที่จะไปเจอวันแรกหน้าเสาธง

โรงเรียนคือพื้นที่จำลองชีวิตจริง เพื่อปรับตัวปรับใจให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ เพื่อน ครู และเรื่องราวความรู้ใหม่ที่รอการค้นหาร่วมกับทุกคนในชั้นเรียน.. แต่สำหรับเด็กบางคน ที่ร่างกายถูกพันธนาการด้วยสายน้ำเกลือยังระโยงระยางอยู่ที่แขน ใจของเขากำลังภาวนาให้ค่าเกล็ดเลือดที่พี่พยาบาลเจาะไปเมื่อเช้าสมบูรณ์แบบเขาเฝ้าดูแลตัวเองอย่างดี กินยา กินข้าว ไม่ดื้อไม่ซนตามที่หมอสั่งทุกอย่าง

ขออย่างเดียวให้ทุกอย่างเป็นไปตามที่คาดหวัง..อีกไม่กี่ชั่วโมง เขาจะได้เจอเพื่อนๆทุกคน

การป่วยด้วยโรคธาลัสซีเมียตั้งแต่เกิดของเขาทำให้ชีวิตของเขาไม่เหมือนเพื่อนๆเลยในสักวัน

ตลอดภาคเรียนเขาต้องเข้าๆออกๆระหว่างบ้าน โรงเรียน โรงพยาบาล จนสุดท้ายต้องลาออกจากโรงเรียน

และใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ในบ้านหลังที่สองนั่นคือโรงพยาบาลแห่งนี้

ตอนแรกหมอบอกว่าวันนี้เขาอาจะได้รับอนุญาติให้ไปเข้าชั้นเรียนร่วมกับเพื่อนๆ

ใช่!! หมอเป็นคนพูดคำๆนั้นออกมา

การรักษาดำเนินมายาวนานกว่า 10 ปี ที่ผ่านมาทำได้เพียงการประคับประคองด้วยการให้เลือด

และการให้ยาขับธาตุเหล็กไปตลอดชีวิต 

แขนของเด็กชายมีสภาพบอบช้ำ ความรู้สึกชินชาเมื่อถูกเข็มแทงเข้าร่างกายกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ เป็น 5 วันต่อสัปดาห์ วันละ 8 – 12 ชั่วโมง เข็มจะถูกปักคาอยู่ที่แขนใดแขนหนึ่งเสมอ

ความทรมานระหว่างการให้เลือดและรับยาขับธาตุเหล็ก เทียบเท่ากับความเจ็บปวดก่อนการเข้ารับเลือดใหม่ เขาเหลือบตาไปที่กองสมุดและหนังสือเรียนที่วางอยู่โต๊ะข้างเตียง

วันนี้คุณครูจะมาเปิดเทอมใหม่ที่ห้องสันทนการ ใครที่พอมีเรี่ยวแรงหลังจากการรักษาจะไปร่วมเปิดเทอมใหม่ด้วยกัน

ท่ามกลางความเงียบของโรงพยาบาล เด็กชายพยายามเงี่ยหูฟังเสียงที่เล็ดลอดออกมาจากห้องเรียน มีเสียงหัวเราะเล็กๆ และนั่นเสียงของครู เขาจำได้แม่นยำ

ครูบอกว่าเทอมนี้เขาจะได้บวกเลข เรียนวิทยาศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษด้วยหนังสือเรียน  ชั้นป.4 และปีนี้มีน้อง ป.2 ป.3 และ ป.1 ให้ช่วยกันดูแล พี่ ป.5 ป.6 เข้าไปที่ห้องหรือยังนะ? 

เด็กชายเริ่มกระวนกระวายใจ

สำหรับพวกเขาที่ห้องสันทนาการ คือห้องเรียน และเด็กๆทุกคนไม่ใช่ผู้ป่วย แต่คือ “นักเรียน”

เขาชอบให้ครูเรียกว่า “นักเรียน” เพราะทำให้โรคธาลัสซีเมียและโรคร้ายอื่นๆหายตัวไปในทันที

ห้องเรียนในโรงพยาบาลจึงเปรียบเสมือนความฝันที่เป็นจริง ของเด็กป่วยทุกคน

“เมื่อแปลงกายเป็นนักเรียน พวกเขาไม่ใช่เด็กป่วยอีกต่อไป”

 

Share Button

“ความฝัน ความหวัง และความภาคภูมิใจในตัวเอง”

มันก็มีบางช่วงที่ชีวิตไม่ได้ดั่งใจไปเสียหมด

บางทีก็ยาวนานเป็นปี ที่ฟ้าไม่อนุญาตให้ชีวิตสุขสบายอย่างใครเขา

บางทีก็แค่วินาทีเดียว อยู่ๆความฝันที่หวังเอาไว้ก็กลายเป็นความจริง

ชีวิตที่เคยพล่ามัวกลับชัดเจนขึ้น ไม่ใช่แค่เพียงชีวิตเดียว

เมื่อเมล็ดพันธุ์แห่งความกล้าหาญและอดทนได้รับการรดน้ำพรวนดิน 

แม้ยังเติบโตเป็นเพียงต้นกล้า แต่เขาก็ริอาจแผ่กิ่งก้านสาขาเพื่อให้ร่มเงาเล็กๆกับคนที่ยังรอ

 

วันนี้โอ๊ตดูกระปรี้กระเปร่าเป็นพิเศษ ทันทีที่รถกระบะสีขาวจอดที่หน้าบ้าน

เขามองรถคันนี้แล้วเปรยเบาๆ

 

“วันนี้รถคันนี้เอาเห็ดนางฟ้าภูฐานมาให้ผม และวันนี้รถคันนี้ก็มาขนเชื้อเห็ดของผมไปให้คนอื่น”

 

สองมือไม่ได้หยุดนิ่ง เขาขนโครงท่อพีวิซี ถุงเชื้อเห็ดกว่าสามร้อยถุงที่เขาผลิตมันขึ้นมาเพื่อ     แจกจ่าย

เครื่องไม้เครื่องมือช่างและหัวใจอันมุ่งมั่น ออกเดินทางจากบ้านหลังเดิม 

ข้างหลังเป็นลูกและเมียที่มายืนส่งโบกไม้โบกมือพ่อเพื่อส่งกำลังใจ

 

การเดินทางจากอำเภอโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง ไปยังชุมชนคลอง 7 ธัญญบุรี จังหวัดปทุมธานี

ใช้เวลากว่าสามชั่วโมง โอ๊ตเตรียมการแผนทุกอย่างในหัวจนจบกระบวนการ

ทันทีที่รถจอด เขาขนทุกอย่างลงจากรถ สองตากวาดไปยังที่หมาย

แล้วลงมือตกเสาไม้เล็กๆเพื่อลงหลักปักฐานโรงเรือนเพาะเห็ดขนาดย่อม 

ต่อไปนี้ตา ยาย และหลานจะไม่อดเหมือนเช่นผ่านมา

 

การตกเป็นผู้ต้องหาในฐานะคนจนเมืองทำให้ทั้งครอบครัวหาอยู่หากินอย่างลำบากยากเข็ญ

ไม่มีผักบุ้งเลื้อยตามทุ่งนาลำคลองให้เด็ดกิน ทุกสิ่งอย่างต้องหาซื้อด้วยเงินเพียงเท่านั้น

บ้านช่องใหญ่โตเป็นเพียงอดีตอันรุ่งเรืองของบ้านหลังนี้ สองตายาย สละสมบัติ เงินทุกบาท

เพื่อรักษาหลานสาวสุดที่รักที่ป่วยด้วยโรคไตขั้นรุนแรง ไม่มีสิ่งใดสำคัญไปกว่าลมหายใจของหลาน

 

บ้านหลังนี้จะถูกยึดเมื่อไหร่ก็เกินกว่าที่สองตายายจะคาดเดา 

คิดไปก็กลุ้มใจเปล่าๆ โชคยังเข้าข้าง แม้วันที่ข้าวสารหมดถัง ยังได้รับความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้านในชุมชน

และวันนี้ได้โรงเรือนและถุงเชื้อเห็ดนางฟ้าฟรี ด้วยความอนุเคราะห์ช่วยเหลือของโอ๊ด

ตาช่วยบริการโอ๊ตทุกอย่างเท่าที่จะทำได้สำหรับคนจนด้วยกัน ของกินจากธรรมชาติคือรางวัลยิ่งใหญ่สำหรับชีวิต

 

หากไม่มีเงิน เห็ดที่งอกงามในทุกวันจะเป็นกับข้าวและสามารถขายหารายได้เสริมอีกทาง

โอ๊ตควงสว่านอย่างคล่องแคล่วแม้ว่าสองขายังกะโพกกะเพกอยู่บ้าง ..นั่นไม่ใช่ปัญหา

อย่างที่เคยบอกว่า คนจนเท่านั้นที่จะเข้าใจกัน

 

เย็นมากแล้ว โรงเรือนเป็นรูปเป็นร่างเสร็จสมบูรณ์ แต่ดูเหมือนว่าแรงของโอ๊ตยังไม่หมดง่ายๆ

เขาดื่มน้ำรวดเดียวหมดแล้ว ยังไม่ทันเช็ดเหงื่อ ก็เฝ้าอธิบายถึงวิธีการดูแลเห็ดอย่างละเอียดละออ

หลังจากนี้ชีวิตของบ้านหลังนี้จะเปลี่ยนไป อย่างน้อยก็จะไม่รู้สึกเดียวดายอีกต่อไป

โรงเพาะเห็ดหลังนี้จะเป็นพยาน..บนโลกที่ไม่เท่าเทียม ชีวิตเปลี่ยนแปลงได้เสมอด้วยเงื่อนไขต่างๆ นานา

 

โอ๊ตรู้ซึ้งดีกว่าใคร.. แม้ว่าทุกวันนี้เขาต้องแบกครอบครัวจนๆไว้บนบ่าด้วยความเต็มใจ

วันหนึ่งที่ไม่ต้องรอจนกว่าจะพร้อม .. เขายินดีแบกครอบครัวเล็กๆนี้ไว้ในความดูแล ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

อย่างน้อยก็ได้รู้สึกภาคภูมิใจว่า หัวใจที่ไม่เคยหยุดดิ้นรนดวงนี้ ทรงพลังและพร้อมช่วยเหลือผู้อื่นเช่นกัน 

เป็นหัวใจที่มีขนาดใหญ่กว่าเพียงกำปั้นมือเดียวของเราแน่นอน

 

Share Button

ภารกิจนี้…สำหรับคนแปลกหน้า

ผมขับมอเตอร์ไซต์ซอกซอนไปมาบนถนนสายนี้ทุกวัน อาชีพแมสเซ็นเจอร์สอนวิธีการเอาตัวรอดบนท้องถนนในกรุงเทพให้กับผม บอกไม่ถูกว่าผมรักฤดูฝนหรือฤดูร้อนมากกว่ากัน ช่วงเที่ยงเปลวแดดเฝ้าแต่จะทำให้ผิวของผมสั่นสะท้านไปด้วยความร้อนรน บางวันร้อนจนขนลุก พาลจะเป็นลมบนอานมอเตอร์ไซต์คู่ใจ ในฤดูฝนท้องถนนเต็มไปด้วยน้ำเจิ่งนอง การขับขี่ยากเย็น ผู้คนในเมืองดิ้นรนขวนขวายหาทางกลับบ้านให้ได้เร็วที่สุด เอกสารที่ลูกค้าฝากไว้ในกระเป๋าหนังที่แขวนอยู่แนบกายต้องถูกรักษาให้ดีที่สุด ผมทำงานตั้งแต่เช้าจนเย็น ขับรถไปมานำเอกสาร พัสดุและข้าวของไปส่งให้ตามหมายของบริษัท ทุกวันผมทำงานอย่างสุจริต โดยไม่ย่อท้อต่ออากาศร้อนหนาว 

 

วันนี้อากาศดี แดดร่มลมตก พลันหางตาของผมเห็นชายสูงอายุ เดินกลับไปกลับมาอยู่ริมฟุตบาท ด้วยท่าทีที่ไม่ปกติ สีหน้ากังวลและแววตาหงุดหงิดของชายชราทำให้ผมรู้สึกสงสัย คิดในใจว่าขากลับหายังเห็นชายชราคนนี้ คงต้องลองเข้าไปถามไถ่ถึงที่มาที่ไปสักหน่อย รถขยับได้เพียงไม่ถึงหนึ่งกิโล ในของผมยังกังวลถึงชายชราคนนั้นอยู่ไม่ขาดกลัวเขาจะถูกรถชนเข้าให้ แลตัดสินใจหมุนรถกลับ จอดรถแล้วลงไปถามไถ่

 

ชายชราในวัยประมาณเจ็ดสิบปลาย ดูกำลังสับสน เขาสบตาผม แต่ตอบอะไรกลับมาไม่ได้สักอย่างแม้กระทั่งชื่อของตัวเอง แกน่าจะเป็นโรคอัลไซเมอร์หลงลืมตามวัย แต่ เขามาเดินอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร ผมคิดแก้ไขปัญหาตรงหน้าด้วยการโทรศัพท์มาที่ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา เจ้าหน้าที่แนะนำให้ผมพาชายชราไปแจ้งความที่สถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุด ไม่นานเจ้าหน้าก็ตามมาสมทบ ทุกคนช่วยกันซักไซร้ไล่เรียงจนชายชราบอกว่า เขาขายข้าวมันไก่อยู่ที่ตลาดเสนา เมื่อพอได้ข้อมูลและเบาะแส พวกเราพาชายชราไปยังตลาดเพื่อตามหาร้านข้าวมันไก่ 

 

โชคดีที่ความทรงจำที่ยังเหลืออยู่นี้เป็นความจริง ร้านข้าวมันไก่มีจริงอยู่ในตลาดแห่งนี้ และเป็นลูกชายของชายชรา ที่เป็นเจ้าของร้านข้าวมันไก่ร้านนี้ ผมบอกเล่าการพบเจอคุณพ่อของเขาให้ฟัง ลูกชายตอบกลับมาว่า พวกเขาไม่รู้ว่าพ่อหายตัวไป เพราะเป็นช่วงเช้าๆถึงเที่ยง ที่ลูกค้าเยอะมากจนไม่มีเวลาสนใจเรื่องอื่น ลูกๆของชายชราขอบคุณพวกเราทุกคนที่พาพ่อกลับมาหาพวกเขาอีกครั้ง.. หากไม่มีความร่วมมือร่วมใจกัน กว่าจะรู้ว่าพ่อหายไป ป่านนี้ไม่รู้ว่าพ่อไปอยู่ที่ไหนแล้ว

 

ผมคิดในใจ ถ้าผมตัดสินใจช้าอีกสักสิบนาทีหรือครึ่งชั่วโมง หากชายชราพาตัวเองขึ้นรถโดยสารสักสายหนึ่ง ผมคงตามหาเขาไม่พบ สุดท้ายเราก็เป็นเพียงแค่คนแปลกหน้าของกันและกันเหมือนเดิม

 

จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขเผยในปี 2558 พบว่ามีผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ในไทยราว 600,000 คน และคาดว่าจำนวนจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1,117,000 คนในปี 2573 โดยน.พ. วรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าโรคอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุสำคัญของกลุ่มอาการสมองเสื่อมโดยพบได้ถึงร้อยละ 60-70 โดยทุก ๆ 68 วินาที จะมีผู้ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้นหนึ่งรายในโลก ขณะที่คาดว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคนี้กว่า 50 ล้านคน ในส่วนของไทย พบความชุกของโรคนี้ประมาณร้อยละ 3-5 และจะพบมากขึ้นตามอายุ ซึ่งอาจพบสูงถึงร้อยละ 30 ในผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 85 ปี และกระทรวงสาธารณสุขระบุว่าโรคอัลไซเมอร์ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การตรวจพบในระยะเริ่มต้นจะช่วยชะลอความเสื่อมของสมองได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากผู้สูงอายุมีอาการหลงลืม เช่น จำเหตุการณ์หรือคำพูดที่เพิ่งผ่านมาไม่ได้ สับสนเรื่องต่างๆ มีปัญหาการพูด ออกนอกบ้านแล้วกลับบ้านไม่ถูก ก้าวร้าว ทำกิจวัตรประจำวันไม่ได้ตามปกติ หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบพบประสาทแพทย์หรือแพทย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุเพื่อรับการรักษา

 

เช่นกัน ศูนย์ข้อมูลคนหายรับแจ้งผู้สูงอายุพลัดหาย จากอาการหลงลืมด้วยโรคอัลไซเมอร์ทุกวันมันง่ายมาก เพียงแค่เขาเปิดประตูรั้วแล้วเดิน ความทรงจำระยะสั้นจะหายไปในทันที ลืมแม้กระทั่งทางกลับบ้าน ชื่อซอยหรือแม้กระทั่งชื่อของตัวเอง และทุกการหายตัวไปของผู้สูงอายุในเมือง พบว่า มักถูกพบด้วยคนแปลกหน้าที่สังเกตเห็นอาการผิดปกติของผู้สูงอายุที่กำลังพลัดหลงและไร้ความทรงจำ ส่วนใหญ่กลับบ้านอย่างปลอดภัย และมีโอกาสหายในสักวันหากคนในครอบครัวพลั้งเผลอ แต่เชื่อเถอะว่าต่อให้ผู้สูงอายุหมดแล้วซึ่งความทรงจำในการดำเนินชีวิต  แต่คนทั่วๆไปเช่นเรา สองตาและสองมือยังมีเรี่ยวแรงเหลือเฟือพอจะช่วยเหลือกัน แม้จะเป็นในนามของ “คนแปลกหน้า” ก็ตามที…เพราะนี่อาจเป็นภารกิจของเราทุกคนในสังคม

 

Share Button

ให้ “ความรัก” คุ้มครองลูกให้โชคดีและปลอดภัย

ในทุกเช้าของชีวิต..ผู้เป็นมารดาร่ำลาลูกชายคนเดียว ด้วยการปิดประตูใส่กุญแจอย่างมิดชิด โลกภายนอกโลกร้ายเพียงใด แม่คนนี้รู้ดี  ลูกชายของเธอป่วยด้วยโรคสมาธิสั้น ดูแลตัวเองได้บ้างไม่ได้บ้าง เขาฉลาดพอที่จะรู้ว่าข้าวปลาอาหารที่ตระเตรียมไว้ให้อยู่ที่ไหนเวลาหิว แต่ก็ไม่ฉลาดพอสำหรับการออกมาใช้ชีวิตคนเดียวบนท้องถนน

คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวอย่างเธอต้องทำจิตใจให้เข้มแข็ง เธอต้องทำงานทุกวัน ใช่..พร้อมกันนั้นเธอต้องเลี้ยงลูก

ลูกชายคนเดียวที่เป็นเหมือนดวงใจ เธอรู้ดีว่าเธอรักเขายิ่งกว่าสิ่งใดบนโลกใบนี้

ไม่มีใครรู้ดีไปกว่าเธอ .. การต้องกักขังลูกของตัวเองไว้ในห้องเช่าเล็กๆ เป็นเรื่องที่ยากจะทำใจได้ แต่หากถามว่าคุ้มค่าแค่ไหน .. เท่าที่แม่คนหนึ่งจะตอบได้ สิ่งที่เธอคิดและลงมือทำอยู่นั้น “คุ้มค่า” เกินบรรยายด้วยความรักทั้งหมดที่มี ไม่มีคำติฉินนินทาใด รุนแรงเท่ากับการปล่อยให้ลูกต้องเผชิญกับโลกภายนอกเพียงลำพัง

แม่คนนี้รู้ดี.. เสียงนกร้อง ใบไม้ไหว เสียงพูดคุยของผู้คนทั้งเด็กและผู้ใหญ่ บ้างปะปนด้วยเสียงหัวเราะ ดูน่าสนุกสนาน การปล่อยให้เด็กชายต้องอยู่คนเดียวเป็นเวลานานๆ อาจเป็นการซ้ำเติมให้เขายิ่งแปลกแยกกับสังคม

ให้ตายเหอะ.. ในบางวันที่แววตาใสซื่อจ้องมาเพื่อร้องขออิสรภาพเป็นเพียงเสี้ยวเวลาเดียวที่เด็กชายหยุดนิ่ง และรอให้แม่พาเขาออกไปสู่โลกกว้างบ้าง มันก็มีบางวันที่เธอลองใจตัวเองและลูกชาย ปล่อยให้เขาได้ออกเดินทางแค่เพียงใกล้ๆ เพื่อเขาจะได้มีโอกาสสัมผัสกับโลกที่แท้จริง และเป็นตัวของตัวเองบ้าง แน่นอน สิ่งที่เกิดขึ้น ปลดปล่อยหัวใจของเด็กชายให้หลงระเริงไปกับแสงสี รถยนต์ที่กำลังวิ่งขวักไขว้ ผู้คนเดินไปเดินมา แสงสีหลอดไฟนีออนส่องสว่างไปทั่วทุกตึก เขาตื่นเต้นและอ่อนไหวต่อสิ่งแวดล้อมรอบตัว ไม่นานเด็กชายหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย

สุดท้าย เขากลายเป็นเด็กหายที่สมัครใจออกจากบ้าน .. จากภาวะไม่ปกติทางจิตเวช ด้วยโรคสมาธิสั้น แม่ของเขารู้ดีกว่าใคร สิ่งเดียวที่เธอทำได้คือ คอยระมัดระวังให้ลูกในอยู่พื้นที่ที่ปลอดภัยที่สุด ที่ที่เธอเรียกว่าบ้าน แต่สำหรับลูกชาย เขาไม่รู้ความหมายของมันด้วยซ้ำ บางทีเขาอาจจะคิดว่าทุกที่ที่เขาออกไปพบเจอนอกรั้วบ้าน ที่ที่อันตรายไม่ปลอดภัยนั้น คือ “บ้าน” ในความคิดของเขา ด้วยลักษณะพิเศษของโรคสมาธิสั้น ไม่มีใครเข้าใจ ภาษา รูป รส กลิ่นและเสียงของโลกภายในของเด็กเหล่านี้ และความเข้าใจผิดเหล่านั้น ถูกสื่อสารไปยังเด็กสมาธิสั้นอย่างขาดๆเกินๆ เขาต่อต้านทุกการกระทำและใช้ชีวิตอยู่อีกฝั่งฟากของความเป็นปกติธรรม

หรือนี่อาจเป็นบททดสอบของแม่คนหนึ่งเพื่อพิสูจน์ความรักต่อใครสักคน  เช่นกัน มันคงเป็นข้อสอบชีวิตขนานแท้ของเด็กชายเพื่อให้ค้นหาที่อยู่ที่ยืนอันแท้จริงของตัวเอง  ในโลกของเด็กสมาธิสั้น การหายตัวออกจากบ้าน อาจเป็นเรื่องราวธรรมดาสามัญที่ไม่ได้มีความสลักสำคัญอะไร คล้ายๆกับการกิน นอน และเล่นทั่วๆไป หากวันหนึ่ง หวังใจว่า เขาจะเข้าใจโลกที่มองเห็นเช่นเดียวกับเรา เพื่อที่เขาจะได้ไม่กลายเป็น “เด็กหาย” อีก หรือบางทีเราอาจจะไม่เรียกการออกจากบ้านไปไหนมาไหนของเขาว่า การหายตัวไป .. ใช่!! ถ้าวันหนึ่งเขาคือเด็กปกติธรรมดาๆคนหนึ่งของโลกใบนี้

Share Button