การแบ่งปันของคุณ เปลี่ยนแปลงสังคมได้

 

Image

ปัจจุบันในโลกของอุตสาหกรรมเสื้อผ้ามีอัตราการเติบโตที่สูง เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ และด้วยกระแสทางวัฒนธรรม ประกอบกับยุคสมัยแห่งแฟชั่น ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้อุตสาหกรรมเสื้อผ้ามีการขยายตัว และขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันแม้ว่าอุตสาหกรรมเสื้อผ้าจะมีการผลิตในอัตราก้าวหน้า แต่ก็ยังมีข้อจำกัด กับคนบางกลุ่มในการเข้าถึงเสื้อผ้าที่ดีเพื่อการดำรงชีวิต อันเนื่องมาจากปัจจัยทางด้านราคา ปัญหาภาวะสงคราม และ ความยากจน

โครงการแบ่งปันเพื่อการเปลี่ยนแปลงด้วยการเล็งเห็นถึงสภาพปัญหาการขาดแคลนเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มของผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ศูนย์อพยพ และผู้ประสบภัยพิบัติ เราเห็นการนำคุณค่าสิ่งของชิ้นเดิมกลับมาสร้างประโยชน์ใหม่อีกครั้ง ด้วยการเปิดรับบริจาคเสื้อผ้าเครื่องนุ่มห่มสภาพดีทุกประเภท จากคนเมือง เพื่อส่งมอบต่อให้กับผู้ขาดแคลนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ปัจจุบันหน้างานของโครงการฯ เราเปิดรับบริจาคเสื้อผ้า เครื่องนุ่ง อุปกรณ์ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ และของใช้งานสภาพดีทุกประเภท ส่วนหนึ่งจะนำส่งมอบต่อให้กับผู้ขาดแคลน อีกส่วนจะแบ่งมานำมาระดมทุน ที่ “ร้านแบ่งปัน” ซึ่งรายได้จากการระดมทุนนี้ผลักดันให้เกิด “กองทุนแบ่งปัน” กองทุนนี้คอยทำหน้าที่สนับสนุนและต่อยอดงานของมูลนิธิกระจกเงา อาทิ โครงการอาสามาเยี่ยม โครงการศูนย์ข้อมูลคนหายและโครงการอื่น ๆ ที่ไม่มีแหล่งทุนสนับสนุนการทำงาน เสื้อผ้าและสิ่งของสภาพดีที่คุณไม่ใช่งานแล้ว ได้ช่วยสร้างประโยชน์ต่อกับผู้รับที่ขาดแคลน และช่วยสนับสนุนการทำงานให้มูลนิธิกระจกเงา ได้ทำหน้าที่เป็นเสมือนเงาในการสะท้อนปัญหาของสังคมที่มีอยู่มากมายและดูเหมือนจะยังไม่จบสิ้น “การแบ่งปันของคุณเปลี่ยนแปลงสังคมได้”

 

Share Button

พื้นที่สีเขียว พื้นที่แห่งการเรียนรู้

อาจเป็นรูปภาพของ หนึ่งคนขึ้นไป และกลางแจ้ง

“สวนครูองุ่น-มูลนิธิกระจกเงา” ร่วมกับมูลนิธิไชยวนา ได้มีโครงการสร้างพื้นที่เป็นแหล่งการเรียนรู้ พื้นที่สีเขียวที่อุดมสมบูรณ์ สถานที่เสริมสร้างความสัมพันธ์ ฝึกทักษะ และพบปะผ่อนคลาย สำหรับเด็ก พ่อแม่ ครอบครัว จนกระทั่งบุคคลทั่วไป เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของครูองุ่น มาลิกที่ระบุไว้ในพินัยกรรมของท่าน และสวนครูองุ่น-มูลนิธิกระจกเงาแห่งนี้ จะเป็นสื่อกลางของความสัมพันธ์ทั้งหมด โดยจะออกมาในรูปแบบของ พื้นที่สาธารณะสำหรับเด็ก ที่พักผ่อนหย่อนใจ ห้องเรียน ร้านแบ่งปัน พื้นที่กิจกรรมสำหรับบุคคลทั่วไป หน่วยงานต่างๆ NGOs หรืออาจจะเรียกว่า เป็นลานปล่อยของก็ว่าได้

ด้วยความสำคัญของการเจริญเติบโตของเศษฐกิจและความสัมพันธ์ของครอบครัว ทั้งพัฒนาการต่างๆ เราจึงได้สร้างแหล่งการเรียนรู้สวนครูองุ่น-มูลนิธิกระจกเงาขึ้นมาให้กลายเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน รอยยิ้ม และการเรียนรู้ควบคู่ เราหวังเป็นอย่างยิ่ง ว่าสถานที่แห่งนี้จะสร้างความทรงจำดีๆ ให้กับทุกคน สร้างความรักความเข้าใจและความเพลิดเพลินตลอดการมาเยือน

แนวคิดของโครงการ คือการเป็นพื้นที่สร้างสรรค์และการเรียนรู้ในรูปแบบของสวนสาธารณะ ตลอดจนร้านแบ่งปัน ร้านกาแฟ และพื้นที่จัดกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการเป็นหน้าบ้านในการรับบริจาคสิ่งของต่างๆ ให้กับมูลนิธิกระจกเงา โดยมีปัจจัยภายนอกเข้าร่วมในการดำเนินการด้วยคือ อาสาสมัคร

 

Share Button

คอมพิวเตอร์เก่าเราให้น้อง

อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน, กำลังยืน, กำลังนั่ง, หน้าจอ และสถานที่ในร่ม

ในสังคมไทยปัจจุบัน เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำรงชีวิตในทุกๆ ด้าน รวมถึงการศึกษา เทคโนโลยี “คอมพิวเตอร์” ในการเรียนรู้ ในรูปแบบการบูรณาการ จึงเป็นสิ่งสำคัญในการเรียนรู้ และเพิ่ม ศักยภาพในการสร้างสรรค์อย่างไม่สิ้นสุดของเด็กและเยาวชนในสังคมไทย

กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2549 สถาบันการศึกษาในประเทศไทย มีคอมพิวตอร์เพื่อใช้ในการศึกษา ประมาณ 100,000 เครื่องเท่านั้นทั่วประเทศไทย หรือคิดเป็นสัดส่วน “คอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง ต่อ นักเรียน60 คน” “โครงการคอมพิวเตอร์เพื่อน้อง” มูลนิธิกระจกเงา ได้เล็งเห็นถึงคุณค่าอันมหาศาลในการศึกษาที่เกิดขึ้นจาก “คอมพิวเตอร์” และ ในการทำงานของโครงการที่ผ่านมา ทำให้ทราบถึงการขาดแคลน “คอมพิวเตอร์” เทคโนโลยีในการเรียนรู้นั้น กลายเป็นอุปกรณ์ที่ขาดแคลนของบางโรงเรียนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน)และทางภาคเหนือกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2551 สถาบันการศึกษาในประเทศไทย มีคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการศึกษา ประมาณ 200,000 เครื่องเท่านั้น ทั่วประเทศไทย หรือคิดเป็นสัดส่วน “คอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง ต่อ นักเรียน40 คน” ข้อเท็จจริงนี้ทำให้คุณภาพในการศึกษาของพวกเขาลดลง รวมถึงการปิดกั้นความรู้ และโลกทัศน์ที่ไม่สิ้นสุด

โครงการคอมพิวเตอร์เพื่อน้องจึงทำการรับบริจาคคอมพิวเตอร์เก่า จากบุคคลและหน่วยงานต่างๆ ที่อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ หรือใช้งานไม่ได้แล้ว มาดัดแปลงปรับปรุง เพื่อให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ ตามความเหมาะสมในการศึกษาเบื้องต้น และนำส่งคอมพิวเตอร์เหล่านั้น สู่มือน้อง ๆ ในโรงเรียนที่ ขาดแคลน เพื่อให้พวกเขาได้มีความรู้ที่ไม่สิ้นสุด พร้อมกับสร้างโลกทัศน์ใหม่ๆ ซึ่งในยุคปัจจุบันเป็นยุคของข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศ หากเทียบกับเด็กนักเรียนในสังคมเมืองแล้ว เด็กนักเรียนในต่างจังหวัดยังถือว่าห่างไกลกับคำว่าข้อมูลเทคโนโลยีสารสนเทศ แม้ทางภาครัฐจะจัดสรรงบประมาณลงมาแต่ก็ดูเหมือนว่าจะยังไม่ครอบคลุมเพียงพอต่อการใช้งานของเด็กนักเรียน ในอัตรา เด็ก1คน ต่อ คอมพิวเตอร์ 1ชุดจากข้อมูลที่ได้สะท้อนออกมาเรามองเห็นที่สภาพปัญหาการขาดแคลนคอมพิวเตอร์ของโรงเรียนในพื้นที่ต่างจังหวัด ในขณะเดียวรูปแบบการใช้คอมพิวเตอร์ของคนเมืองนั้นถือว่ามีความรวดเร็วต่อการเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนรุ่นการใช้งานอยู่บ่อยครั้ง การร่วมบริจาคคอมพิวเตอร์ของคุณนอกจากจะเป็นการแบ่งปัน เทคโนโลยีเพื่อนักเรียนได้ศึกษาใช้งานแล้ว ยังได้เป็นการนำทรัพยากร เครื่องมือเดิมที่มีอยู่กลับมาใช้ประโยชน์ต่อได้อีกครั้ง

Share Button

อ่านเพื่อการเปลี่ยนแปลง

การอ่านเป็นการแสวงหาความรู้อีกอย่างหนึ่งที่เราสามารถค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองการอ่านทำให้รู้ข่าวสารข้อมูลต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันเป็นโลกมีข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ มากมายที่น่าสนใจอีกทั้งการอ่านยังเป็นการสร้างคุณค่าให้ตนเอง ยิ่งอ่านมากเราก็ยิ่งมีความรู้ เมื่อมีความรู้มากขึ้นเราก็มีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น

ในปัจจุบันผู้คนให้ความสำคัญกับการอ่านลดน้อยลงเนื่องจากมีสื่อและสิ่งเร้าต่างๆ ที่มีอิทธิพลต่อชีวิตมากขึ้นการอ่านเป็นปัจจัยสำคัญ ที่สามารถช่วยให้สังคมไทย พัฒนาไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ การอ่านนั้นเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ ในทุกๆปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นการคิด หรือกระทำสิ่งใดนั้น ย่อมต้องอาศัยการอ่านเป็นสำคัญจากสถิติการอ่าน ครั้งล่าสุดในปี 2561 ได้สำรวจช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน กลุ่มตัวอย่าง 55,920 ครัวเรือนกระจายทุกจังหวัด อายุ 6 ปีขึ้นไป โดยนับการอ่านหนังสือ หรือบทความทุกประเภททั้งนอกเวลาเรียน นอกเวลาทํางาน และ ช่วงเวลาพักพบว่าคนไทยอายุ 6 ปีขึ้นไปมีอัตราการอ่าน 78.8% หรือจำนวน 49.7 ล้านคนเพิ่มขึ้นจากปี 2558 ซึ่งอยู่ที่ 77.7% แบ่งเป็นผู้ชาย 79.7% และผู้หญิง 77.9% วัยรุ่นอ่านมากที่สุด 92.9% เฉลี่ย 109 นาทีตามด้วยวัยเด็ก 89.7% เฉลี่ย 83 นาที, วัยทำงาน 81.8% เฉลี่ย 77 นาทีและวัยสูงอายุ 52.2% เฉลี่ย 47 นาที

มูลนิธิกระจกเงา มองเห็นความสำคัญของการอ่านเป็นอย่างมากเพราะเชื่อว่าหนังสือก็เปรียบเสมือนปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในชีวิตทุกคน ดังนั้นโครงการอ่านสร้างชาติจึงเกิดขึ้นโดยการเปิดรับ หนังสือบริจาคที่เป็นหนังสือดีมีประโยชน์ อีกทั้งผู้รับหนังสือยังสามารถเลือกหนังสือที่ตัวเองต้องการได้ ไม่ใช่ถูกกำหนดโดยผู้บริจาคแต่ เพียงฝ่ายเดียว การอ่านจะสร้างชาติเพื่อเปลี่ยนแปลงได้อย่างไรนั้น เราอยากให้คนที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงได้ สัมผัสจริงๆว่าหนังสือ มีส่วนร่วมช่วยสร้างความสำเร็จในการดำรงชีวิต เป็นรากฐานของการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้โครงการอ่านสร้างชาติ ได้ระดมรับบริจาคหนังสือมือสอง เพื่อส่งมอบต่อให้ห้องสมุดโรงเรียนขนาดเล็ก ห้องสมุดชุมชน ห้องสมุดศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน วัด ชุมชนแออัดในเมืองหลวง โรงงาน เราขอส่งเสริมการอ่านให้กับเยาวชน ประชาชนผู้สนใจ ตลอดจนถึงผู้ประกอบอาชีพรับจ้างบนฐานความจริง มีหนังสือดี ๆ ผลิตขึ้นมาเป็นจำนวนมาก แต่อยู่ในมือของผู้อ่านที่มีโอกาส หากหนังสือเหล่านั้นสามารถเคลื่อนย้ายไปถึงผู้อื่น ที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงหนังสือ ก็จะทำให้เกิดการเพิ่มคุณค่าของหนังสือดีมือสอง เราเชื่อว่าการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมหนังสือมือสอง จะนำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมการอ่านอย่างกว้างขวาง

“อ่านเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย”

 

ขอขอบคุณข้อมูลสถิติการอ่านจาก https://positioningmag.com/1223380

Share Button

อยากให้คุณได้เห็นภาพตัวอย่าง จ.น่าน ความสาหัสของบ้านที่เต็มไปด้วยโคลน

“ฉันอยากตาย ไม่รู้จะกลับมาใช้ชีวิตเหมือนเดิมได้อีกมั้ย”
คุณยายลำดวน พูดถึงชีวิตหลังเกิดเหตุน้ำท่วมให้ทีมอาสาล้างบ้านฟัง แกอาศัยอยู่กับตาเพชร และหลานสาววัย 16 ปี
บ้านของยายเป็นบ้านไม้สองชั้น ก่อนหน้านี้ยายมีอาชีพรับจ้างซักผ้า ส่วนตาเพชร แกอายุ 74 ปีแล้ว เมื่อสุขภาพไม่แข็งแรง จึงทำงานมากไม่ได้ รายได้ของครอบครัวจึงมาจากสองมือยายลำดวนเท่านั้น
“ตอนนี้ไม่มีคนจ้างซักผ้าแล้ว เพราะบ้านเรามันสกปรก ใครเขาจะอยากมาจ้าง ตอนนี้ไม่มีกะใจอยากจะทำอะไรเลย เรี่ยวแรงมันหายไปหมด”
“เครื่องซักผ้าที่มีสองเครื่องก็พังไปกับน้ำ ทำมาหากินไม่ได้ หมดทุกอย่างเลย”
“แค่เดินออกจากบ้านก็ลำบากแล้ว เพราะดินมันเต็มบ้านไปหมด ถ้าจะออกก็ต้องปีนออกไป เพื่อนบ้านก็เลยช่วยเหลือ เอาข้าวมาให้ ให้พอมีกินไปวันๆ ก่อน”
“ใครจะเอาข้าวมาให้ ต้องปีนขึ้นมาที่ชั้นสอง เพราะเข้าทางหน้าบ้านไม่ได้ โคลนมันเยอะ เดินลุยโคลนไม่ได้”

“ทุกวันนี้ต้องนอนอยู่บนเพิงดิน บ้านชั้นสองเอาไว้เก็บของอย่างเดียว ขึ้นไปนอนไม่ได้แล้ว ก็นอนอยู่รวมกันสามคน ตายาย แล้วก็หลาน”

ในจำนวนผู้ประสบภัยเวียงสา บ้านหลังนี้ น่าจะเป็นหลังที่หนักที่สุด และน่าเป็นห่วงที่สุด

วันพรุ่งนี้ทีมอาสาล้างบ้าน จะเข้าไปช่วยเคลียร์โคลนออกจากบ้านของยาย นัดหมาย 8 โมงตรง

พวกเราคาดการณ์ว่า ต้องใช้เวลากว่า 4 วัน จึงจะคืนบ้านหลังเก่าให้กลับมาดังเดิมได้

ใครที่อยู่ใกล้ระแวกนั้น และพอมีกำลังเหลือ ไปช่วยกันเป็นอาสาล้างบ้านได้นะคะ ติดต่อคุณเอ โทร.087-274-9769

ใครที่สนใจสมทบทุน ร่วมกับอาสาล้างบ้าน
เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยชาวเวียงสา
สามารถบริจาคผ่าน เทใจ – TaejaiDotcom ได้ตามลิงค์นี้
https://taejai.com/th/d/flood_north2020/.
(บริจาคผ่านเทใจดอทคอม
สามารถใช้เพื่อลดหย่อนภาษีได้)
.
#อาสาล้างบ้าน #ฟื้นฟูผู้ประสบภัยหลังน้ำลด
#มูลนิธิกระจกเงา

Share Button

ก่อนวันแม่

เราเคยได้ให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนที่ตั้งครรภ์มาแล้ว 2ราย รายล่าสุดพึ่งช่วยเหลือผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์มาแล้วกว่า 6เดือน เธอใกล้คลอดแล้ว ใกล้ความเป็นแม่คน ใน 3 รายที่ว่ามีปัญหาในการให้ความช่วยเหลือดูแลรักษาที่ทั้งเหมือนและแตกต่างกัน

แม่คนที่1…เมื่อนำส่งรักษาแล้วแต่ทางรพ.จิตเวชเองต้องดูแลรวมกับผู้ป่วยอื่นจึงต้องส่งให้ไปอยู่ในบ้านพักเด็กและครอบครัว ซึ่งเป็นหน่วยงานของกระทรวงพม. แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อไปอยู่ก็คือเธอปีนรั้วหนีและเหล็กรั้วนั้นแทงขา จนต้องส่งเข้าโรงพยาบาลรักษา สุดท้ายถูกส่งต่อมารักษาอาการจิตเวชที่ต้องนอนรวมใช้ชีวิตรวมกับผู้ป่วยจิตเวชอื่นๆ จนวันนึงเธออาการครรภ์เป็นพิษจึงถูกส่งรพ.ทางกายอีกรอบจนเธอคลอด ลูกถูกส่งไปสถานสงเคราะห์ ตัวเธอถูกส่งมารักษาที่รพ.จิตเวชอีกครั้ง

แม่คนที่2…เธอถูกนำส่งรักษารพ.จิตเวชเช่นกัน และถูกส่งไปให้อยู่ที่บ้านพักเด็กและครอบครัว เธอไม่ได้หนีแต่เธอไปทำร้ายเด็กคนนึงในบ้านพักนั้น เพราะอาการหูแว่วจากโรคจิตเวชคิดว่าเด็กด่าเธอ จากนั้นเธอจึงถูกนำไปส่งรพ.จิตเวช แต่รพ.จิตเวชยังไม่รับทันทีเนื่องจากไม่มีใบตรวจครรภ์ ทางหน่วยงานนำส่ง(1300)จึงไปส่งที่ศิริราชเพื่อตรวจครรภ์ ปรากฏว่าเธอหนีออกจากรพ. และมาใช้ชีวิตเร่ร่อนที่แถวสะพานซังฮี้ มีการพบอีกทีเธอคลอดลูกที่ข้างถนน ลูกเธอเสียชีวิต เธอถูกนำมารักษาตัวที่รพ.จิตเวชอีกครั้ง

แม่คนที่3…ไม่ได้ถูกนำตัวส่งต่อไปยังบ้านพักเด็กและครอบครัว และถูกรักษาตัวอยู่ที่รพ.จิตเวช แต่ก็ยังถูกดูแลรักษารวมในหวอดผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งนับเป็นความเสี่ยงไม่น้อย

พวกเธอในสถานะหนึ่งคือคนหาย อีกสถานะหนึ่งคือผู้ป่วยจิตเวช อีกสถานะหนึ่งคือแม่คน

การดูแลรักษาพวกเธอคือการแก้ปัญหาทั้งคนหายเมื่อเธอฟื้นความจำได้ ทั้งความเป็นผู้ป่วยจิตเวชที่รพ.คือสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วย แต่ในความเป็นแม่คนเป็นผู้หญิงตั้งครรภ์พวกเธอยังไม่ได้ถูกดูแลอย่างซีเรียสเท่าใดกับสภาพทางกายภาพที่อ่อนไหวในฐานะผู้หญิงตั้งครรภ์ เธอควรถูกดูแลเป็นพิเศษมีห้องพิเศษรองรับต่อความอ่อนไหวนั้นไม่ใช่หรือ ความพิเศษ ห้องพิเศษควรถูกจัดไว้ให้กับความพิเศษแบบนี้ให้ได้อยู่บ้าง ถ้าเราจัดให้กันได้มันสะท้อนว่าเราซีเรียสแค่ไหนกับการดูแลผู้คนอย่างมีรายละเอียดลึกซึ้ง

อันที่จริงโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงาเกิดขึ้นมาหลังจากที่เราพบเห็นผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนที่ตั้งครรภ์คนนึงเมื่อเราเดินทางมาออฟฟิศ แต่เราก็ได้แค่มองเห็นและเหมือนคนผ่านทางกันและกัน วันนึงเราพบว่าเธอต้องมาคลอดลูกที่ข้างถนน วันนั้นเองที่เราซีเรียสมากขึ้น รู้สึกผิดและอยากจะเปลี่ยนแปลงมัน โครงการผู้ป่วยข้างถนน จึงเกิดขึ้นหลังจากนั้น เพราะมนุษย์ไม่ควรตกอยู่ในชะตากรรมเช่นนี้ เราเชื่อเช่นนี้
#แม่ข้างถนน #ผู้ป่วยข้างถนน
#เพราะมนุษย์ไม่ควรตกอยู่ในชะตากรรมเช่นนี้

Share Button

ความจนไม่มีวันหยุด ความทุกข์ยากไม่มีวันนักขัตฤกษ์

วันนี้โครงการอาสามาเยี่ยม
จึงยังคงเปิดต้อนรับครอบครัวผู้ป่วยติดเตียง
ให้มารับผ้าอ้อมผู้ใหญ่ รวมถึงของกินของใช้
เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

ในจำนวนนี้ บางบ้านเป็นครอบครัวข้าราชการ
เขาสะท้อนว่า แม้จะมีความมั่นคง
แต่ลำพังเงินเดือนหมื่นต้นๆ ไม่เคยพอจ่าย
ค่าผ้าอ้อมผู้ใหญ่อย่างเดียวก็สามพันกว่า
ไหนจะหนี้ กยศ. ไหนจะค่าน้ำค่าไฟ ค่าใช้จ่ายจิปาถะ

แล้วหากไม่ใช่บ้านข้าราชการล่ะ…ยิ่งแล้วใหญ่

ตอนนี้โครงการมีเคสผู้ป่วยติดเตียง
ที่ดูแลอยู่พันกว่าครอบครัว
ทุก 1-3 วันต่อสัปดาห์ทีมงานจะลงพื้นที่เยี่ยมบ้านผู้ป่วย

ทุกวันอังคารแรก และอังคารที่สองของเดือน
ทีมจะเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือนจำ

ทุกวันพุธสุดท้ายของเดือน
เราจะไปทำกิจกรรมที่บ้านพักคนชรา

และทุกวันจันทร์สุดท้ายของเดือน เราจะเปิดต้อนรับ
ครอบครัวผู้ป่วยติดเตียงที่ยังสามารถเดินทางได้
ให้มารับผ้าอ้อม รวมถึงของอุปโภคบริโภค
ที่มูลนิธิได้รับมา จากที่ผู้บริจาคมอบให้

เช่นวันนี้ผู้บริจาคที่แวะเข้ามาที่มูลนิธิ
ก็จะได้เห็นภาพของการให้และรับ
เป็นพลวัตของการแบ่งปัน…เกื้อกูล

#การแบ่งปันของคุณเปลี่ยนแปลงสังคมได้
#เยี่ยมเยียนเพื่อเยียวยา #โครงการอาสามาเยี่ยม

Share Button

สนามเด็กเล่นที่ไม่มีเครื่องเล่น

วันนี้สนามเด็กเล่นจากไม้พาเลท
ในสวนครูองุ่น มาลิก
ที่อาสาสมัครมากหน้าหลายตาเข้ามาช่วยกันสร้าง
ช่วยกันทำคนละไม้คนละมือ
ได้พุพังไปตามกาลเวลา

สวนครูองุ่น เป็นสวนกลางกรุงในพื้นที่แพงระยับ
สนามเด็กเล่นในสวน มันรองรับเด็กๆ ในซอยทองหล่อ
แบบไม่เลือกชั้นวรรณะ ชาติ ภาษา

ที่นี่เคยเป็นที่ที่เด็กวิ่งเล่นด้วยกัน
แบ่งปันของเล่นกัน ยิ้ม หัวเราะด้วยกัน
ที่นี่ เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก
เป็นที่ที่เด็กได้เรียนรู้ ได้เสริมสร้างจินตนาการ

เราอยากชวนคุณมาเป็นส่วนหนึ่ง
ในการสร้างพื้นที่เช่นนั้น ให้คงอยู่เรื่อยไป

ร่วมสมทบทุนเพื่อจัดซื้อเครื่องเล่นสำหรับเด็กได้ที่
บัญชีโครงการสวนครูองุ่น โดย มูลนิธิกระจกเงา�
ธ.ไทยพาณิชย์ เลขที่บัญชี 202-258291-7
สอบถามเพิ่มเติมโทร 080-997-7065

#สนามเด็กเล่น #เครื่องเล่นเด็ก #สวนเด็ก�#Playground #kids #Children
#สวนครูองุ่นมาลิก #มูลนิธิกระจกเงา

Share Button

ไม่รู้จะเรียกความรู้สึกวันนั้นว่าอะไร วันที่รู้ว่ามูลนิธิกระจกเงา ตามหาครอบครัวผมเจอแล้ว

ในชีวิตไม่เคยสัมผัสความรู้สึกแบบนั้นมาก่อน ไม่เคยคิดว่าจะมีวันนั้นในชีวิต บอกไม่ถูกเลย แต่ยังจำความรู้สึกได้ดี
“หลังวางสาย ผมเก็บเสื้อผ้า นั่งรถตู้เข้ากรุงเทพฯทันที ระหว่างทางนั่งคิดตลอด ว่าพ่อจะจำผมได้มั้ย เขาจะรู้สึกคิดถึงผมบ้างมั้ย จะรู้สึกแบบที่ผมกำลังรู้สึกมั้ย มันคิดและกังวลไปหมดเลย ตื่นเต้นมาก มาถึงสถานีตำรวจ (กองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและสตรี) ตำรวจจะให้ไปพักที่โรงแรม ผมขอนอนที่สถานีตำรวจเลย กลัวไม่ได้เจอพ่อ(ยิ้ม)
“วินาทีแรกที่ผมเจอพ่อ ผมจำพ่อไม่ได้เลย พ่อดูแก่ลงไปมาก ผมเข้าไปกอดเขา ร้องไห้เลยตอนนั้น บอกพ่อว่า ผมขอโทษ ผมไม่ได้ตั้งใจหนีออกจากบ้าน ผมไม่ได้ต้องการให้เป็นแบบนี้ และไม่คิดว่า การที่ผมไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนวันนั้น มันจะทำให้ผมหายออกจากบ้านไปนานถึง 15 ปี
“ตอนนั้นผมยังเด็กมาก แค่ 6-7 ขวบเอง ประสาเด็กก็ไปนั่งรถเมล์เล่นกับเพื่อน ก็ตามเพื่อนไปเรื่อย มันสนุก ตื่นเต้น ตื่นตาตื่นใจไปหมด แล้วมันอยู่ได้ มีเพื่อนมีของกิน มีเงิน ผมกับเพื่อนเดินไปไหน คนเขาก็สงสาร เอาข้าว เอาขนมมาให้กิน บางคนให้เงินด้วย ก็สนุกเลยตอนนั้น มีเงินเล่นเกมส์ตามร้านด้วย เลยใช้คอมพิวเตอร์เป็น ใจมันยังสนุก ไม่คิดอยากกลับบ้านแล้ว กลัวว่ากลับแล้วจะถูกตี ถูกด่า มันเลยเลยตามเลย ใช้ชีวิตแบบเด็กเร่ร่อนเต็มตัว
“พอผมเริ่มเป็นวัยรุ่น มันเริ่มไม่น่าสงสารแล้ว โตแล้ว คนไม่ค่อยให้ข้าวให้เงิน มันไม่สนุกแล้วชีวิตจริง เริ่มรู้สึกอยากกลับบ้าน ผมตัดสินใจเดินไปบนโรงพัก บอกตำรวจว่าผมหนีออกจากบ้านมาตั้งแต่ตอนเด็ก ผมจำครอบครัวไม่ได้ ชื่อตัวเองยังจำได้แค่ชื่อเล่น ตำรวจบอกให้ผมนั่งรอ แล้วไม่มีใครมาคุยกับผมเลย ผมนั่งรอทั้งวัน เหมือนไม่มีใครสนใจผม
“ผมไปโรงพัก 2-3 ครั้ง เพื่อบอกตำรวจว่า ผมเป็นเด็กหายนะ ผมอยากกลับบ้าน เขาก็ว่าผมสร้างเรื่องโกหก มันยากมากๆเลยนะ ถ้าเราเจอเรื่องอะไรแบบนี้แล้วไปขอให้คนช่วย มันไม่มีใครเชื่อเรา จนผมท้อและใช้ชีวิตเร่ร่อนต่อไป
“จนผมไปทำงานเป็นกรรมกรแบกของที่หัวหิน ตอนนั้นเริ่มป่วย นอนซมไปทำงานไม่ไหว จะลุกเดินยังไม่มีแรงเลย ผมนอนน้ำตาไหลคิดถึงบ้าน คิดถึงครอบครัว แบบเฮ้ย “เราจะตายแล้วเหรอ” เหมือนเราจะไม่มีชีวิตอยู่แล้ว ความทรงจำตอนเด็กๆ มันย้อนกลับมานะ มันผุดขึ้นมา ตอนนี้เราจะตายไปคนเดียว ตัวคนเดียวจริงๆเหรอ มันกลัวนะ กลัวกระทั่งว่า ถ้าผมตายไปแล้ว ผมจะเป็นวิญญาณเร่ร่อนมั้ย เพราะชีวิตผมไม่มีใครเลย ไม่รู้จักว่าตัวเองเป็นใคร
“สุดท้ายนายจ้างพาผมไปโรงพยาบาล มีพี่พยาบาลเขามาถามผมว่า เป็นคนไทยมั้ย ทำไมไม่มีบัตร ไม่มีชื่อนามสกุล ผมก็เล่าความจริงให้พี่เขาฟัง ว่าหนีออกจากบ้านมาตั้งแต่เด็กๆผมจำได้แต่ชื่อเล่นตัวเองว่าอั้ม บ้านอยู่ริมทางรถไฟ พ่อชื่อบุญธรรม ผมจำได้แค่นี้จริงๆ ผมไม่มีสิทธิรักษาพยาบาล ต้องจ่ายเงินเอง เพราะผมไม่มีบัตรประชาชน ผมท้อแท้มาก พี่เขาบอกว่า เคยได้ยินชื่อ มูลนิธิกระจกเงา มั้ย เขาตามหาคนหายนะ ผมเลยจำชื่อมูลนิธิกระจกเงา ไว้ตลอดเลย
“ผมอ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้ เพราะไม่ได้เรียนหนังสือ แต่ผมใช้คอมพิวเตอร์เป็นเพราะเล่นเกมส์ ผมก็เข้าไปใน google พูดคำว่า “มูลนิธิกระจเงา” “เด็กหาย” มันก็ขึ้นเพจ ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา มา ผมก็ไปไล่ดูภาพเด็กหายในเพจ ดูว่ามีภาพผมมั้ย ครอบครัวผมมาแจ้งตามหาผมไว้บ้างมั้ย
“ไม่มีภาพผมเลย แต่ภาพคนหายมันเยอะมากๆ เลยตัดสินใจ พูดใส่ google ให้แปลเสียงเป็นตัวอักษร ส่งไปในอินบ๊อกของเพจ พี่เจ้าหน้าที่เขาตอบกลับมาเป็นตัวอักษร ผมก็อ่านไม่ออก แต่ก๊อปปี้ข้อความไปให้ google แปลเป็นเสียง ฟังว่าพี่เขาพิมพ์มาว่าอะไร จนได้คุยโทรศัพท์กับพี่ทีมงาน เขาบอกว่า จะมาหาผมที่หัวหิน
“ตอนพี่มูลนิธิกระจกเงา เขามาหาผมที่หัวหิน ผมกลัวนะ ผมคิดว่าคำว่า “เจ้าหน้าที่” เขาคือตำรวจจะมาจับผมหรือเปล่า ที่ผมไม่มีบัตรประชาชน เขามาถามรายละเอียดต่างๆ ให้ผมเล่าให้ฟัง ให้ผมพยายามนึกถึงเรื่องราวในวัยเด็ก ความทรงจำที่พอจำได้ สุดท้ายผมก็ฝากความหวังไว้ที่พี่เขา เกือบเดือนนึงได้ พี่เขาโทรมาบอกผมว่า “เจอพ่อผมแล้ว”
“ผมไม่เคยนับวันเวลาเลยนะ ว่าผมหายออกจากบ้านมาสิบห้าปี มันเหมือนเหตุการณ์ต่างๆ ผ่านไปไวมาก ตอนนั้นเหมือนเราเป็นเด็ก ไม่ได้คิดอะไร ไม่รู้ตัวว่าเราทำอะไรอยู่ ใช้ชีวิตอยู่ข้างถนน บางวันนอนหน้า 7-11 บางวันนอนตรงเกาะกลางถนนที่มีพุ่มไม้ ผมก็ไม่รู้ว่าตัวเองรอดมาได้ยังไงจนถึงวันนี้นะ เพื่อนที่ออกจากบ้านมาด้วยกันก็ไม่ได้เจอกันอีกเลย ข้างนอกมันอันตรายมากนะ มีทั้งพวกที่จะมาไถเอาเงิน บางคนแต่งตัวดีมาชวนผมกับเพื่อนไปทำงาน ตั้งแต่วันนั้นผมก็ไม่เคยเจอเพื่อนคนนั้นอีกเลย ไม่รู้เขาหายไปไหน โลกภายนอกมันอันตรายมาก
“ตอนนี้ผมทำงานในโครงการคอมพิวเตอร์เพื่อน้อง ของมูลนิธิกระจกเงา รู้สึกดีใจและภูมิใจที่ตัวเองได้เป็นส่วนหนึ่ง ที่ช่วยเหลือคนอื่นบ้าง ผมทำหน้าที่ไปรับคอมพิวเตอร์บริจาค แล้วเอามาซ่อม ส่งไปตามโรงเรียนต่างๆ เราซ่อมไปให้เด็กๆได้ใช้ ทำให้ผมคิดถึงตอนเด็กๆเลยนะ เราอยากได้ อยากเล่น แต่ไม่มีโอกาส วันนี้ผมเป็นส่วนหนึ่งให้เด็กๆได้มีโอกาสนั้น
“เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องที่สุดแล้ว ที่ผมพยายามหาทางกลับบ้าน มันเปลี่ยนอนาคตเลย จากคนที่ไม่มีอะไร ไม่รู้แม้ตัวตนของตัวเอง ใช้ชีวิตไปวันๆ ถ้าเรายังอยู่ที่เดิมกับชีวิตที่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร ก็คงไม่เห็นคุณค่าของตัวเองในวันนี้
ตอนนี้รู้จักคำว่าอนาคต มองเห็น วางแผนสิ่งที่จะต้องทำ สมัยอยู่คนเดียวไม่ต้องคิดอะไร แต่ตอนนี้ผมอยู่กับครอบครัว ก็ต้องคิด ต้องวางแผน ตอนนี้ผมดูแลพ่อ ช่วยส่งเสียน้องสาวเรียน แบ่งเบาภาระของที่บ้าน ครอบครัวผมบอกว่า อุ่นใจขึ้นมากที่ผมกลับมาบ้าน มันเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตแล้วกับคำว่าครอบครัว”
น้องอั้ม
อดีตเด็กหายจากบ้านนาน 15 ปี
และผู้ใช้ Google ตามหาครอบครัวตัวเอง
บทสัมภาษณ์ในวาระครบ3ปีภายหลังกลับบ้าน
ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา
พฤษภาคม 2563
สนับสนุนภารกิจติดตามคนหาย
ชื่อบัญชี โครงการศูนย์ข้อมูลคนหาย โดยมูลนิธิกระจกเงา
ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขบัญชี 202-258288-6
Share Button

ค่าแรงที่ได้ จะเก็บไว้เป็นทุนเรียนต่อ


“หนูอยู่กับตายาย ตอนนี้ท่านก็ 60 กว่าแล้ว แต่ก่อนที่บ้านเราก็พอมีพอกิน เปิดร้านอะไหล่รถยนต์มือสองจากญี่ปุ่น แต่พอเศรษฐกิจไม่ดี หลังจากจบ ม.6 ที่บ้านก็ไม่มีเงินให้เรียนอีกแล้ว ก็พยายามดิ้นรน หาทางกู้ กยศ.บ้าง ทำงานไป เรียนไปบ้าง แต่ก็ยังไม่สำเร็จ”

ถ้าเรียนตามเกณฑ์ ปีนี้จะเป็นปีที่ “เฟอรี่” สำเร็จการศึกษา แต่ถึงแม้ว่าวันนี้ จะยังไม่ถึงเป้าหมาย แต่เธอยังคงไม่ละความตั้งใจ

“หนูอยากเรียนต่อทุกวัน” เธอว่า ถ้าเธอไม่เรียน โอกาสของเธอจะน้อยกว่าคนอื่นๆ

“โอกาสมันน้อยจริงๆ นะพี่ ถ้าได้เรียนอีกครั้ง หนูจะเลือกเรียนการจัดการ เพราะกว้างดี หางานง่าย”

เฟอร์รี่เป็นเด็กเรียบร้อย ยิ้มเก่งกว่าพูด เป็นมดงานที่ทำงานอย่างไม่อิดออด ไม่ปริปากบ่นเหนื่อยให้ได้ยิน ทุกวันเธอจะมาทำงานแต่เช้า รับหน้าที่อยู่ในทีมคีย์ข้อมูลกล่องแบ่งปัน และดูแลนำส่งกล่องทั้งหมด 300 กล่องขึ้นรถไปรษณีย์ให้ทันในตอนเย็น เพื่อส่งถึงผู้เดือดร้อนให้เร็วที่สุด

“มาทำงานที่นี่ ได้เห็นว่ามีคนเดือดร้อนจากโควิดมากจริงๆ ชีวิตหนูว่าลำบากแล้ว แต่มีคนที่ลำบากกว่าหนูอีกมาก บางครอบครัวหนูรับรู้เรื่องของเขาแล้วอยากจะร้องไห้ ไม่รู้ว่าเขาจะอยู่ จะสู้กันยังไง”

“การมาทำงานที่มูลนิธิครั้งนี้ จึงเป็นงานที่มีคุณค่าสำหรับหนู ได้ช่วยเหลือ ได้ทำประโยชน์ให้กับคนอื่นอีกเยอะเลย ที่หนูทำไป ก็ได้หลายพันกล่องแล้วนะคะ”

เฟอรี่บอกกับเราว่าน้ำพักน้ำแรงจากการทำงานในครั้งนี้ จะเป็นเงินเก็บให้เธอได้กลับไปเรียนต่ออีกครั้ง

ธีร์จุฑา หาญณรงค์ (เฟอรี่)
สมาชิกทีมคีย์ข้อมูลนำส่งกล่องแบ่งปัน

Share Button