คาราวานของขวัญ ส่งความสุขสู่เด็กในวัน (ที่ยังเป็น) เด็ก

.
“สุขสันต์ในวัน (ที่ยังเป็น) เด็ก”
.
ขบวนรถขนของขวัญสัญจร
ออกเดินทางซอกซอนไปตามซอยหมู่บ้าน
เราเตรียมรถทุกคันให้พร้อมขึ้นดอย
ดอยที่เทศกาลส่วนใหญ่ไปไม่ถึง
.
ตรงจุดนัดพบ มีกลุ่มเด็กๆ มายืนรอ
ถุงของขวัญส่งถึงมือ รอยยิ้มแต้มบนหน้า
เด็กหญิงคนหนึ่ง เธอกระโดดเต้นดีใจ
เพราะในถุงมีตุ๊กตาสีสวยอยู่ด้วยหนึ่งตัว
.
ความสุขล้นเอ่อตอนได้แกะของขวัญ
ในแววตานั้นมีความฝัน ปนความสุข
ความสุขที่เก็บไว้ในใจได้ตลอดชีวิต
.
แต่สำหรับเด็กหลายคน
ในครอบครัวหาเช้ากินค่ำ
ครอบครัวแรงงานข้ามชาติ
รวมถึงครอบครัวยากไร้
เมื่อเขาโตขึ้นความสุขอาจยังอยู่
แต่ความฝันจะเริ่มเลือนลง
.
ทุนทรัพย์ สภาพแวดล้อม โอกาส
ที่ไม่มากพอให้พวกเขาได้เรียนต่อ
บางคนไม่จบแม้การศึกษาขั้นพื้นฐาน
เหตุนั้นเร่งให้พวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่
กดทับความฝันในวัยเด็กไว้
เข้าสู่แรงงานในระบบเศรษฐกิจ
หาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวให้อยู่รอด
.
มูลนิธิกระจกเงา
เราพยายามประคับประคองเด็กเหล่านี้
ผ่านศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา
ให้การศึกษากับเด็กชายขอบ
ผ่านการส่งต่ออุปกรณ์การเรียนของใช้
ให้เด็กยากไร้สามารถเข้าถึงทรัพยากร
.
และในวันเด็กปีนี้
วันที่พวกเขาจะได้มีความสุขอย่างเด็กๆ
เรานำคาราวานของขวัญมาหา
เด็กทุกคนจะได้รับของขวัญ
แม้วันนี้เด็กหลายคนนั้นจะออกจากการศึกษา
มาเป็นกำลังหลักหาเลี้ยงครอบครัวแล้วก็ตาม
__________________
สุขสันต์วันเด็กแห่งชาติ
มูลนิธิกระจกเงา
Share Button

ต่อลมหายใจให้เด็กสาวผู้พิการทางสมอง ขอเพียงหนึ่งเครื่องผลิตออกซิเจน

.
หยุดยาวปีใหม่ ช่วงที่ใครๆ เริ่มหยุดพัก
รวมถึงร้านบริการเติมออกซิเจน
.
ด้วยเหตุนั้น เราจึงได้รับสายจากชายหนุ่มคนหนึ่ง
เขาขอยืมเครื่องผลิตออกซิเจน
เพื่อเป็นทางออกให้น้องสาวพิการ ได้มีชีวิตรอด
.
น้องสาวของเขาชื่อข้าวตัง
ข้าวตังเป็นน้องสุดท้องของบ้าน
เธอป่วยติดเตียงตั้งแต่เล็ก
สมองพิการไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
ต้องเจาะคอให้อาหารทางสายยาง
และใช้ถังออกซิเจนช่วยหายใจติดตัวตลอดเวลา
.
ก่อนหน้านี้ทั้งครอบครัวมีพ่อเป็นเสาหลัก
แต่ไม่นานโรคหัวใจพรากพ่อไปกะทันหัน
พี่ชายคนนี้จึงรับหน้าที่ดูแลเธอ
.
พี่ชายเป็นหนุ่มวัยยี่สิบต้น
เขาพยายามทำหัตการดูแลน้องอย่างดี
เช่นเดียวกันกับการดูแลค่าใช้จ่าย
.
ทำงานพิเศษหามรุ่งหามค่ำ
เพื่อหารายได้มาเป็นค่ายา ค่ารักษาพยาบาล
ค่าเติมถังออกซิเจน ค่าอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็น
รวมถึงซื้อถังออกซิเจนขนาด 40 ลิตร
ถังขนาดใหญ่ที่มีความจุออกซิเจนมากที่สุดให้น้องสาวได้ใช้งาน
.
ในทุกๆ 3 วัน เขาจะแบกถังขนาดใหญ่นั้น
ไปร้านเติมก๊าซที่ห่างจากบ้านประมาณ 5 กิโล
เพื่อจุออกซิเจนให้เพียงพอ
.
แต่ในอาทิตย์สุดท้ายของปี
อาทิตย์ที่หลายคนเริ่มเตรียมฉลองปีใหม่
ร้านเติมก๊าซออกซิเจนที่เขาพอจะขับรถไปได้
ไม่เปิดให้บริการ
.
ถังออกซิเจนมีใช้แค่ใบเดียว
เขาไม่มีเงินเก็บมากพอจะซื้อถังใบใหม่
นั่นเป็นสัญญาณ ว่าน้องสาวของเขา
อาจขาดอากาศหายใจ ในสัปดาห์สุดท้ายก่อนสิ้นปี
________________________________________
พี่ชายของน้องข้าวตัง ติดต่อโครงการป่วยให้ยืม มาในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนธันวาคม เขาขอเพียงถังออกซิเจนสักถัง ให้น้องสาวมีสำรองใช้จนกว่าร้านจะกลับมาเปิดให้บริการ เพื่อที่สุดท้ายทั้งคู่จะได้ผ่านปีใหม่ไปด้วยกันอีกปี
.
แต่ในสถานการณ์ครอบครัวที่มีผู้ป่วยติดเตียง การใช้ถังออกซิเจนหลายใบมีค่าใช้จ่ายที่สูง เราจึงเลือกให้ เครื่องผลิตออกซิเจนขนาด 5 ลิตร จำนวน 2 เครื่อง ให้น้องข้าวตังยืมใช้ทดแทนถังออกซิเจนใบเดิม
ลดภาระค่าใช้จ่าย ลดความกังวลใจของพี่ชายลง�.
ช่วงวันหยุดปีใหม่ที่ผ่านมา
มีครอบครัวผู้ป่วย
ติดต่อยืมเครื่องผลิตอยู่ตลอด
เพราะความเจ็บป่วยไม่มีวันหยุด
จำนวนผู้ป่วยมีเพิ่มมากขึ้น
แต่เครื่องผลิตออกซิเจนที่โครงการมีนั้น ลดน้อยลงทุกที
.
หากคุณพอมีกำลังที่จะแบ่งปัน
หรือมีเครื่องผลิตออกซิเจนที่ไม่ใช้งานในบ้าน
เราอยากชวนคุณส่งต่อ
ให้เครื่องผลิตเหล่านั้นได้ทำหน้าที่
ลดระยะเวลาการรอคอย
ต่อลมหายใจให้ผู้ป่วยได้มีชีวิตอยู่ต่อ
.
อีกทั้งยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย บรรเทาทุกข์
ให้กับครอบครัวผู้ป่วยอีกทาง
.
สามารถบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้ที่
มูลนิธิกระจกเงา เลขที่ 191
ซอย วิภาวดีรังสิต 62 แยก 4-7
แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กทม. 10210
โทร.092-252-5454
.
หรือสนับสนุนภารกิจป่วยให้ยืม
เพื่อร่วมลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัวผู้ป่วย
ได้ที่บัญชี โครงการป่วยให้ยืม มูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-70398-7 ธนาคารไทยพาณิชย์
Share Button

แต้ม All member ช่วยผู้เดือดร้อนให้ผ่านความยากลำบากได้อีกราย

.
กลางดึกคืนหนึ่ง ภรรยาของผู้ป่วยติดเตียงรายหนึ่ง ซึ่งอยู่ต่างจังหวัด แจ้งมาที่เพจมูลนิธิกระจกเงา ว่าผ้าอ้อมของผู้ป่วย เหลือเพียงแผ่นเดียวแล้ว และทาง อบต. ก็ยังไม่สามารถให้ผ้าอ้อมเพื่อช่วยเธอได้ในขณะนี้
.
ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ สำคัญสำหรับผู้ป่วยติดเตียงมาก แต่เธอยังมีภาระค่าไฟฟ้าที่ต้องจ่าย รายได้ที่มีจำกัดจำเขียดอย่างมาก ผ้าอ้อมเป็นสิ่งจำเป็น แต่เธอต้องเลือกจ่ายค่าไฟฟ้าที่จำเป็นกว่า
.
เราเลยแนะนำให้เธอเอามือถือไปที่ร้าน 7-11 ใกล้บ้าน (6 กม.) แล้วให้พนักงานติดตั้งแอพ 7-11 จากนั้นเราโอนคะแนนไปให้ เพื่อให้เธอไปแลกผ้าอ้อมและอาหารจำนวนหนึ่ง
.
ใน 2 ปีที่ผ่านมา กระจกเงาใช้คะแนน All Member แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเช่นนี้ไปหลายครอบครัวแล้ว และคะแนนเหล่านี้มาจากการที่มีผู้คนจำนวนไม่น้อย ยินดีใส่เบอร์โทรของมูลนิธิกระจกเงา หรือโอนคะแนนมาให้เรา
.
คะแนนเหล่านี้ทำให้หลายครอบครัวผ่านพ้นช่วงเวลาที่ต้องเผชิญหน้ากับความยากลำบากมานักต่อนักแล้ว เราขอเป็นตัวแทนของครอบครัวที่กำลังเดือดร้อนขัดสน ขอบคุณทุกคนที่มอบคะแนนเหล่านี้ให้อย่างต่อเนื่องค่ะ
————————————————
วันนี้ หากคุณเข้าใช้จ่าย ที่ 7-11
สามารถบริจาคแต้ม All Member
เพียงบอกเบอร์ 063-931-6340
.
สำหรับผู้มีแต้ม All Member
และต้องการโอนบริจาค
แต่ติดปัญหาระบบแจ้งโควต้าโอนต่อวันเต็ม
กรุณาทักอินบ๊อกซ์มาหาแอดมิน
เพื่อขอเบอร์สำรองได้เลยค่ะ
.
นอกจากสะสมแต้มที่ 7-11 แล้ว
ร้านสะดวกซื้อต่างๆ
ห้างในเครือเดอะมอลล์ หรือเซ็นทรัล
รวมทั้งปั้มน้ำมันทุกแห่ง
สามารถบริจาคได้ที่ 063-931-6340 เช่นกัน
Share Button

งานใหม่ในวันตรุษจีนของชายวัย 70

.
เมื่อวานเป็นวันจ่ายในเทศกาลตรุษจีน ทางทีมงานจ้างวานข้าไปทำการสัมภาษณ์และเยี่ยมห้องพักของชายชราวัย 70 ปี เมื่อไปถึงห้องพักพบหน้าชายชราวัย 70 คนนั้น ชายชราที่หน้าตาบ่งบอกว่าเป็นคนไทยเชื้อสายจีน เมื่อแกเริ่มบทสนทนาก็ยิ่งชัดเจน
.
แกเริ่มเล่าจากชีวิตปัจจุบัน “ตอนนี้ผมก็ใช้เงินเก็บที่สะสมมาทั้งชีวิต เป็นเงินจ่ายค่าห้องเช่า เป็นเงินกิน แต่มันเริ่มจะหมดแล้ว งานสุดท้ายที่ทำก็งาน รปภ.แบบตัวสำรอง คือถ้าเขาขาดคนเขาก็จะมาเรียก แต่เขาก็ไม่เรียกมานานเป็นปีแล้ว พอดีดูในยูทูปเห็นโครงการจ้างวานข้าก็เลยสมัครเพื่อได้พอมีรายได้อีก”
.
แกเริ่มเล่าย้อนไปในวัยเด็ก บ้านแกอยู่แถวตลาดน้อย แกนับเป็นจีนจนครอบครัวหนึ่งที่นั่น ทุกคนปากกัดและตีนถีบตั้งแต่เด็กจนโต ทำงานรับจ้างมาทุกอย่าง ทุกอย่างที่พอเลี้ยงปากท้องได้ มีวันหนึ่งบ้านที่เคยเช่าอยู่ ก็ถูกนายทุนใหญ่กว้านซื้อ คนกว่า 100 หลังคาต้องแยกย้าย ทิ้งความหลังทิ้งต้นทุนชีวิตไว้ที่นั่น
.
แกจึงมาเริ่มใหม่อีกครั้ง แกเริ่มทำงาน เริ่มเก็บเงิน พยายามทำงานหาเงินทุกช่องทางที่พอทำได้ มีเงินเก็บก็ลงทุน ชีวิตพอไปได้ แต่มาล้มอีกครั้งเมื่อทำเลเดิมที่แกเคยค้าขายพอเลี้ยงชีพชอบได้ ถูกขายเปลี่ยนเจ้าของ
.
แล้วแกจึงต้องเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ทำไปทำมาสักพักใหญ่ของชีวิต การค้าขายนั้นก็ล้มลงอีก ไม่ใช่เพราะแกค้าขายไม่เป็น แต่เพราะวันหนึ่งนายทุนตลาดค้าขายแหล่งใหญ่ถูกจับ การค้าการขายของแกจึงต้องล้มลงตาม มันล้มลงในวันที่แกอายุได้ 67 ปีแล้ว
.
ชายชราวัย 67 ปี จึงบ่ายหน้าไปหางานใหม่ งาน รปภ. แกทำงานนั้นได้ 3 ปี อายุแกเหยียบ 70 ปีแล้ว ทางบริษัทรปภ.จึงเลิกจ้างแก แต่ยังมีเรียกใช้แกบ้าง เมื่อรปภ.ของบริษัทไม่พอ แต่ก็เหมือนที่แกเล่าไว้ตั้งแต่แรก เป็นปีกว่าๆแล้วที่แกไม่ได้ทำงาน และใช้เงินเก็บก้อนสุดท้าย เป็นค่าเช่าห้อง ค่ากิน และมันกำลังจะหมดไปในไม่ช้า
.
เราไม่ได้ถามแกว่าวันนี้ วันไหว้ในเทศกาลตรุษจีนแกได้ไหว้เหมือนคนเชื้อสายจีนคนอื่นๆ หรือไม่ และเราก็ยังไม่ได้บอกแกอีกเช่นกันว่า หลังตรุษจีนแกจะได้เข้ามาทำงานกับโครงการจ้างวานข้า แต่เราจะโทรบอกแกในวันจันทร์นี้ เราหวังว่าแกคงจะดีใจไปกับงานใหม่และรายได้ที่แกจะได้มี
.
“ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้” ในวันที่เราบอกกับแกว่า “ลุงมาเริ่มทำงานได้เลยนะ” ประโยคนี้น่าจะเหมาะกับชายชราเชื้อสายจีนคนนี้ได้เป็นอย่างดี และมันก็เหมาะในวันที่สังคมไทยยังไม่มีสวัสดิการบำนาญให้กับชีวิตชราทั้งแกและอีกหลายๆ คนในสังคมนี้
____________________
สนับสนุน​จ้างวาน​ข้าได้ที่​
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-58289-4 SCB
Share Button

บริจาคอย่างไรให้ถึงเรา

1.ส่งของบริจาคด้วยตนเองที่มูลนิธิ

         สำหรับผู้บริจาคท่านใดที่อยากเข้ามาบริจาคสิ่งของที่มูลนิธิด้วยตนเองสามารถเข้ามาบริจาคได้ตามที่อยู่นี้ได้เลย ศูนย์รับบริจาค มูลนิธิกระจกเงา เลขที่ 191 ซอยวิภาวดี62 (แยก4-7) ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210 ทุกวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 09.30 น. – 17.00 น. วันเสาร์ – อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 10.00 น. – 16.00 น. หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 061-909-1840

2.ส่งของบริจาคทางไปรษณีย์

            หากผู้บริจาคไม่สะดวกมาบริจาคของด้วยตนเองสามารถจัดส่งทางไปรษณีย์ได้เลย  ผู้บริจาคสามารถส่งพัสดุมาได้ที่ มูลนิธิกระจกเงา เลขที่ 191 ซอยวิภาวดี62 (แยก4-7) ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210  (โทร 061-9091840)

3.ส่งของบริจาคด้วยบริการรถออกรับ

         สำหรับผู้บริจาคที่ของเยอะและอยากใช้บริการรับของบริจาคถึงบ้าน โดยทีมศูนย์รับบริจาค มูลนิธิกระจกเงา (พื้นที่ กทม.ปริมณฑล )โทร: 02-9732236-7 , มือถือ : 061-909-1840 ,084-207 9363 , Email: donate@mirror.or.th

  *หมายเหตุ : เงื่อนไขในกรณีออกไปรับถึงบ้าน
3.1 กรณีเป็นหนังสือขั้นต่ำ 2,000 เล่ม
3.2 กรณีเป็นอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ขั้นต่ำ 10 ชุด
3.3 กรณีเป็นเสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เครื่องแต่งกาย และอื่นๆ

*บริการรับของบริจาค ใน กทม. และปริมณฑล จะมีค่าบริการตามระยะทาง (ท่านสามารถติดต่อ สอบถาม จนท.มูลนิธิกระจกเงา ได้ที่หมายเลข 063-224-1141)

4.ส่ง พัสดุฟรีผ่าน Nim Express

อาจเป็นการ์ตูนรูป หนึ่งคนขึ้นไป และข้อความ

ส่งฟรีตั้งแต่ 15 ก.พ.-30 ธ.ค. 2564 รายละเอียดสอบถามโทร 061-9091840

กล่องละไม่เกิน 25 กก. ไม่จำกัดจำนวนกล่อง

ไปส่งได้ที่ สาขาDC หรือ Shop ทั่วประเทศ

บริจาคในรูปแบบองค์กรหรือหน่วยงาน

กรณีหน่วยงาน องค์กร หรือบริษัท สามารถส่งรายละเอียดสิ่งของที่ต้องการบริจาค มายัง Email : donate@mirror.or.th

Share Button

บริจาคอะไรได้บ้าง

มูลนิธิกระจกเงารับบริจาคสิ่งของทุกประเภทที่ยังคงสภาพดีและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ ได้แก่

1.เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก-ใหญ่(เสียแล้วเราก็รับ) เช่น พัดลม ทีวี ตู้เย็น เครื่องเสียง เป็นต้น

เครื่องใช้ไฟฟ้าในปัจจุบันมีการหมุนเวียนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วมาก มีเครื่องใช้ฟ้าเกิดขึ้นมาใหม่มากมายและผู้คนมักชอบลองของใหม่ ๆ อยู่เรื่อย ๆ ดังนั้นแล้วเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่าที่ไม่ใช้ประโยชน์แล้วหรือไม่รู้จะเอาไปทำอะไรก็สามารถส่งมาให้ผู้อื่นได้ใช้ต่อที่มูลนิธิกระจกเงา

2.เฟอร์นิเจอร์ ที่มีสภาพดีพร้อมส่งต่อ เช่น โซฟา โต๊ะ เก้าอี้ อุปกรณ์สำนักงาน เป็นต้น

เฟอร์นิเจอร์สำหรับใครที่ต้องการเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ใหม่หรือย้ายบ้าน ย้ายสำนักงานแต่ของยังมีสภาพดีและไม่อยากทิ้งแต่ไม่รู้จะเอาไปไว้ไหนสามารถนำมาบริจาคให้กับมูลนิธิกระจกเงาได้เพื่อส่งต่อประโยชน์ให้กับผู้อื่นได้ใช้

3.ของใช้ทั่วไป เช่น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า เครื่องประดับ เป็นต้น

หากบ้านไหนมีของใช้ทั่วไปที่ไม่เอาแต่ยังมีสภาพดีอย่าเก็บทิ้งนำมาบริจาคให้กับมูลนิธิกระจำเงาเพื่อนำไปส่งมอบให้ผู้ขาดแคลนและอีกส่วนหนึ่งจะนำไประดมทุนที่ร้านแบ่งปัน

4.คอมพิวเตอร์ เช่น อุปกรณ์พ่วง เมาส์ คีย์บอร์ด เป็นต้น

รับบริจาคอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ใช้งานได้หรือไม่ได้แล้วนำมาดัดแปลงปรับปรุงให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้แล้วนำคอมพิวเตอร์เหล่านั้นสู่มือน้อง ๆ ในโรงเรียนหรือพื้นที่ที่ขาดแคลนเพื่อให้พวกเขามีความรู้ที่ไม่สิ้นสุด

5.หนังสือ เช่น หนังสือ สมุดใช้แล้ว นิตยสาร เป็นต้น

รับกระดาษทุกชนิดที่ไม่ได้ใช้แล้วนำมาระดมทุน รับหนังสือทุกชนิดยกเว้นหนังสือโป๊นำมาคัดแยกเพื่อส่งต่อให้กับโรงเรียนและชุมชนที่ขาดแคลน

6.อุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่นเตียงผู้ป่วย วิลแชร์ ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ วอร์คเกอร์ ถังออกซิเจน เป็นต้น

รับอุปกรณ์ทางการแพทย์ทุกชนิดเพื่อนำไปส่งต่อให้ผู้ป่วยติดเตียงในโครงการอาสามาเยี่ยม

นอกจากสิ่งของที่ได้ยกตัวอย่างมาข้างต้นแล้วยังมีสิ่งของอีกมากมายที่เราไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้วให้ลองสำรวจดูรอบ ๆ บ้านของเราว่ามีสิ่งไหนที่เราไม่ใช้แล้วแต่ยังสภาพดีและนำไปใช้งานต่อได้บ้างไหม หากมีสิ่งของเหล่านั้นสามารถนำมาบริจาคให้มูลนิธิกระจกเงาได้เพื่อนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุด

Share Button

IT เป็นส่วนหนึ่งของงานพัฒนา

ไอทีหมายถึง การนำเทคโนโลยีและสารสนเทศมารวมกัน รวมเป็น เทคโนโลยีสารสนเทศ “Information Technology” ย่อมากจาก IT ซึ่งแปลความหมายของเทคโนโลยีคือการสร้างมูลค่าให้กับสารสนเทศให้สามารถใช้งานได้กว้างขวางและเทคโนโลยีด้านต่างๆในปัจจุบันก็มีการนำไอทีมาใช้ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยีแบบรวบรวม จัดเก็บ ส่งต่อ ใช้งาน และสื่อสารซึ่งข้อมูลของไอทีที่มีการนำมาใช้นั้นได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ต่างๆที่มีซอฟต์แวร์เกี่ยวกับกับตัวข้อมูลต่างๆ ซึ่งอาจจะเป็นข้อมูลจำพวก โทรทัศน์ โทรศัพท์ โทรสาร วิทยุ และหนังสือพิมพ์ และอาจจะเป็นอย่างอื่นๆอีกที่มีทั่วไปภายในชีวิตประจำวัน

โครงการ Ngos Cyberเกิดขึ้นได้จากแนวความเชื่อขององค์กรที่มีความเชื่อว่า “IT เป็นส่วนหนึ่งของงานพัฒนา” โดยการใช้เป็นเครื่องมือสำหรับพัฒนางานด้านสังคมที่มีประสิทธิภาพและเห็นผลได้เร็ว    เราได้นำ IT เข้ามามีบทบาทในการพัฒนางานของ มูลนิธิกระจกเงา สนง.กรุงเทพฯ ให้เข้าถึงข้อมูลที่รวดเร็ว สามารถประเมินและวิเคราะห์ระบบต่างๆ ในการเชื่อมโยงงานองค์กรไว้ด้วยกัน รวมถึงให้คนทั่วไปได้เข้าถึงและมีส่วนร่วมในการติดตามและการดำเนินกิจกรรมทางสังคม

ด้วยหน้างาน การผลิตเว็บไซต์ การผลิตสื่อ กราฟฟิกดีไซน์ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อเคลื่อนไหว เพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์งานขององค์กร ตลอดจนการพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน และการจัดทำระบบฐานข้อมูลออนไลน์ และในอนาคตเราจะยังคงพัฒนางานด้าน IT อย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อให้เข้ากับยุคการสื่อสาร และการสืบค้นข้อมูลบนสังคมออนไลน์ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

“เราขอเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ IT เพื่องานพัฒนา”

Share Button

การสื่อสารคือช่องทางในการช่วยเหลือ

“สื่อสารองค์กร” เป็นคำที่หลายองค์กรนำมาใช้ตั้งชื่อหน่วยงานภายใน แทนคำว่า “ประชาสัมพันธ์” ซึ่งจริง ๆ แล้ว คำทั้งสองคำนี้มีความทับซ้อนกันอยู่ในความหมาย เพราะคำว่า สื่อสารองค์กร เป็น “หน้าที่” ที่ผู้ปฏิบัติงานจะต้องทำเพื่อสื่อสารเรื่องราวต่าง ๆ ขององค์กรออกไป ในขณะที่คำว่า “ประชาสัมพันธ์ นั้น เป็น เป้าหมาย คือ เราสื่อสารองค์กรออกไปเพื่อจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับประชาชนดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ หรือฝ่ายสื่อสารองค์กร ต่างก็ต้องทำหน้าที่เดียวกัน คือ สร้างการสื่อสารเพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีกับกลุ่มเป้าหมายทั้งภายในและภายนอกองค์กร

ฝ่ายสื่อสารองค์กรของมูลนิธิกระจกเงาจึงทำหน้าที่เป็นตัวแทนการสื่อสารเพื่อเชื่อมโยงประเด็นการทำงาน ของมูลนิธิกระจกเงากับสาธารณะ โดยมีรูปแบบของการสื่อสารที่หลากหลายอีกทั้งยังทำหน้าที่เป็นกระจกที่สะท้อนถึงปัญหาทางสังคมในปัจจุบันที่เกิดขึ้นแต่คนอื่นมองไม่เห็นถึงปัญหานั้น

Share Button

หัวใจอาสา

อาจเป็นรูปภาพของ 2 คน

นิยามอาสาสมัคร มูลนิธิกระจกเงา คือ บุคคลที่เสนอตัวทำเพื่อผู้อื่นด้วยความสมัครใจ มีใจอาสาสมัคร และผลของการกระทำนั้นเป็นประโยชน์ส่งผลดีต่อตนเองและสังคม เป็นบุคคลที่มีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม มีความอดทน มีความเสียสละ มีเวลาและใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ รวมทั้งมีความเข้าใจสถานการณ์ในภาพรวมของงานที่มีความหลากหลายนั้น ๆ แล้ววางตนเองอยู่ในบทบาทที่หนุนเสริมต่อกลไกการทำงานทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อที่จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะในวงกว้าง

เรา เป็นกลุ่มคนที่มีหัวใจอาสา หัวใจของคนที่อยากเห็นสังคมงดงาม เราแสวงหาความหมายของการมีชีวิตอย่างมีคุณค่า เรา คือองค์กรอิสระที่ทำงานเพื่อช่วยเหลือ และเติมเต็มในส่วนที่สังคมยังต้องการ เรา เชื่อว่าการทำงานเพื่อสังคมไม่ใช่ความฝันแต่เป็นการทำงานบนโลกแห่งความเป็นจริง ขอเพียงเรากล้าคิด และกล้าลงมือปฏิบัติ พวกเรา ขออาสาเป็นกระจกสะท้อนเรื่องราวความเป็นจริงที่คนบางกลุ่มมองไม่เห็น

Share Button

เยี่ยมเยือน เพื่อเยียวยา

อาจเป็นรูปภาพของ 6 คน และผู้คนกำลังยิ้ม

การดูแลผู้สูงอายุในชุมชน เป็นงานที่มีความสําคัญเป็นอย่างยิ่งในสังคมไทยที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เนื่องจากประชากรผู้สูงอายุมีจํานวนเพิ่มมากขึ้นและมีแนวโน้มอายุยืนยาวขึ้นเช่นกัน ดังนั้นการเตรียมความพร้อม เกี่ยวกับระบบการจัดการดูแลผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งสําคัญ ซึ่งจะทําให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีและดํารงชีวิตอยู่ใน สังคมไทยได้อย่างมีคุณค่า

ในปัจจุบันมีผู้ป่วยสูงอายุมากมายที่ถูกละเลยการเอาใจใส่และการดูแลจากสังคมหรือบางคนถูกละเลยจากครอบครัวทำให้พวกเขารู้สึกโดดเดี่ยวและขาดกำลังใจพวกเขาทั้งหลายเป็นบุคคลที่ต้องได้รับการดูแลมากกว่าปกติ

โครงการอาสามาเยี่ยมเล็งเห็นความสำคัญของผู้ป่วยที่ถูกละเลยจึงได้มีการลงพื้นที่เยี่ยมเคสผู้ป่วยและครอบครัวถึงบ้านเพื่อ“เยียวยาให้กำลังใจ” เพื่อสร้างความสุข ความผ่อนคลาย เป็นเพื่อนพูดคุย รับฟัง และส่งมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์มือสองสภาพดี ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ตลอดจนของกินของใช้ในครัวเรือน ที่ได้รับบริจาคมาให้กับผู้ป่วยและครอบครัว“อาสาสมัคร” อาสามาเยี่ยม เป็นการดึงให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสภาพแวดล้อมใหม่และหนุนเสริม ผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยทั้งมิติ กำลังใจ ทรัพยากร และการให้ความรู้ในการเข้าถึงสิทธิต่างๆ ของผู้สูงอายุร่วมกับชุมชน เพื่อเป็นฐานในการรับมือผู้สูงอายุที่เจ็บป่วยโดยที่คนในสังคมมีส่วนร่วม เพราะนอกจากอาหาร อากาศ ยารักษาโรค คนเราอยู่ได้ด้วย“กำลังใจ”

Share Button