ชุดชั้นในมือสองของผู้ประสบภัย ในภาวะที่ไร้สิ่งของติดตัว

ในวันที่มูลนิธิกระจกเงาไปแจกของ
ให้ชาวบ้านผู้ประสบอุทกภัย
ใน อ.วารินชำราบ
.
ชุดชั้นในมือสองจึงถูกหยิบทีละตัวสองตัว
ตัวไหนถูกใจและพอใส่ได้
ก็จะกลับกลายเป็นชุดชั้นในตัวใหม่
ทดแทนตัวเดิม ที่แช่น้ำจนเสียหาย
.
เพราะในภาวะที่ไม่เหลืออะไรติดตัว
ชุดชั้นในมือสองสภาพดียังเป็นทางเลือก
ที่จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย
ให้พวกเธอได้อีกทางหนึ่ง

————————————————

ส่งต่อชุดชั้นในมือสองสภาพดี
ได้ที่ มูลนิธิกระจกเงา เลขที่ 191
ซอย วิภาวดีรังสิต 62 แยก 4-7
แขวงตลาดบางเขน เขต หลักสี่ กทม. 10210
โทร.061-909-1840, 063-931-6340

Share Button

การแบ่งปันของคุณ เปลี่ยนแปลงสังคมได้

 

Image

ปัจจุบันในโลกของอุตสาหกรรมเสื้อผ้ามีอัตราการเติบโตที่สูง เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ และด้วยกระแสทางวัฒนธรรม ประกอบกับยุคสมัยแห่งแฟชั่น ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้อุตสาหกรรมเสื้อผ้ามีการขยายตัว และขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันแม้ว่าอุตสาหกรรมเสื้อผ้าจะมีการผลิตในอัตราก้าวหน้า แต่ก็ยังมีข้อจำกัด กับคนบางกลุ่มในการเข้าถึงเสื้อผ้าที่ดีเพื่อการดำรงชีวิต อันเนื่องมาจากปัจจัยทางด้านราคา ปัญหาภาวะสงคราม และ ความยากจน

โครงการแบ่งปันเพื่อการเปลี่ยนแปลงด้วยการเล็งเห็นถึงสภาพปัญหาการขาดแคลนเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มของผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ศูนย์อพยพ และผู้ประสบภัยพิบัติ เราเห็นการนำคุณค่าสิ่งของชิ้นเดิมกลับมาสร้างประโยชน์ใหม่อีกครั้ง ด้วยการเปิดรับบริจาคเสื้อผ้าเครื่องนุ่มห่มสภาพดีทุกประเภท จากคนเมือง เพื่อส่งมอบต่อให้กับผู้ขาดแคลนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ปัจจุบันหน้างานของโครงการฯ เราเปิดรับบริจาคเสื้อผ้า เครื่องนุ่ง อุปกรณ์ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ และของใช้งานสภาพดีทุกประเภท ส่วนหนึ่งจะนำส่งมอบต่อให้กับผู้ขาดแคลน อีกส่วนจะแบ่งมานำมาระดมทุน ที่ “ร้านแบ่งปัน” ซึ่งรายได้จากการระดมทุนนี้ผลักดันให้เกิด “กองทุนแบ่งปัน” กองทุนนี้คอยทำหน้าที่สนับสนุนและต่อยอดงานของมูลนิธิกระจกเงา อาทิ โครงการอาสามาเยี่ยม โครงการศูนย์ข้อมูลคนหายและโครงการอื่น ๆ ที่ไม่มีแหล่งทุนสนับสนุนการทำงาน เสื้อผ้าและสิ่งของสภาพดีที่คุณไม่ใช่งานแล้ว ได้ช่วยสร้างประโยชน์ต่อกับผู้รับที่ขาดแคลน และช่วยสนับสนุนการทำงานให้มูลนิธิกระจกเงา ได้ทำหน้าที่เป็นเสมือนเงาในการสะท้อนปัญหาของสังคมที่มีอยู่มากมายและดูเหมือนจะยังไม่จบสิ้น “การแบ่งปันของคุณเปลี่ยนแปลงสังคมได้”

 

Share Button

“การแบ่งปัน” แบบฝึกหัดของชีวิตวัยเยาว์

“การแบ่งปัน” แบบฝึกหัดของชีวิตวัยเยาว์

เด็กหญิงวัยห้าขวบกำลังก้มหน้าก้มตาเล่นมือถือ ในขณะที่พี่ชายวัยแปดขวบกำลังเล่นแทปเล็ต ในโลกยุคใหม่ที่ทุกอย่างไหลเร็วเสียจนพ่อแม่ผู้ปกครองเองก็ตั้งตัวไม่ทัน แม้ ‘พล’ กับ ‘แป๋ว’ สองสามีภรรยาชนชั้นกลาง พนักงานบริษัทกินเงินเดือนชนเดือนจะพยายามจำกัดเวลาการใช้อุปกรณ์สื่อสารของลูกรักทั้งสอง แต่ก็อดใจเสียไม่ได้เมื่อความสัมพันธ์ในครอบครัวอยู่ในยุคสังคมก้มหน้า แม้แต่เด็กตัวเล็ก ๆ ก็ไม่เว้น

พลมองของเล่นของลูกเกลื่อนตามมุมคอนโดขนาดกะทัดรัดกลางเมือง พลางถอนหายใจ สารพัดตุ๊กตาของลูกสาวกระจายอยู่ทั่วห้อง บางตัวอยู่ในสภาพใหม่ บางตัวแขนหลุด ชุดรุ่ย ส่วนรถหลากชนิดและหุ่นยนต์ทหารของลูกชายก็กระจายอยู่บนโซฟา และตามใต้โต๊ะเก้าอี้ “อีกไม่กี่วันจะปีใหม่แล้ว พ่อว่าเรามาคุยกันดีกว่ามั้ย จะไปเที่ยวที่ไหนดี” คำว่าเที่ยวมักได้ผลเสมอกับเด็ก ๆ ทั้งลูกสาวและลูกชายพักสายตาจากหน้าจอ แล้วหันมามองผู้เป็นพ่อ “วางโทรศัพท์ก่อนนะลูก นี่ก็ใกล้ครบเวลาหนึ่งชั่วโมงตามที่ตกลงกันไว้แล้วนะ” แป๋วผู้เป็นแม่เดินออกมาจากโซนครัว ในมือถือจานผลไม้หั่นมาให้ผู้เป็นสามีและลูก ๆ

“ขอต่อเวลาอีกหน่อยนะจ้ะแม่” ลูกชายพูดขึ้น

“ถ้าอย่างนั้นเราไม่ต้องไปเที่ยวกันหรอก อยู่บ้านเล่นมือถือนี่แหละ ดีมั้ย” ได้ผล สิ้นคำพูดของพล เด็กทั้งสองวางมือจากโลกส่วนตัวตรงหน้า และหันมามองผู้เป็นพ่อ ต่างพากันเสนอที่เที่ยวที่ตัวเองอยากไป ซึ่งก็ไม่พ้นสวนสนุก และร้านอาหารที่มีโซนสำหรับเด็กเล่น ซึ่งพลกับแป๋วเห็นว่า มีสถานที่อย่างนั้นมากมายไม่ใกล้บ้าน และไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรมากมาย จึงตอบตกลง

“ลูก ๆ ก็ได้ไปแล้ว คราวนี้ของแม่บ้างนะ แม่อยากไปทำบุญบริจาคสิ่งของน่ะพ่อ” เด็กชายและเด็กหญิงมองหน้าผู้เป็นแม่แบบงงงวย

“ทำบุญบริจาคสิ่งของคืออะไรคะแม่ เหมือนหนูเอาขนมแบ่งให้เพื่อนกินอย่างนี้หรือเปล่าคะ” หนูน้อยถามเอียงคอ

“อันนั้นเขาเรียกว่ามีน้ำใจกับเพื่อนจ้ะลูก การบริจาคสิ่งของก็คือการทำบุญอย่างหนึ่ง ของที่เราไม่ได้ใช้แล้ว ก็จะถูกส่งต่อไปให้ผู้อื่นที่เขายังต้องการใช้ และสร้างประโยชน์ให้เขาได้น่ะลูก”

“พ่อว่าเอาตุ๊กตาของลูกไปบริจาคด้วยดีมั้ยแม่ มีหลายที่เลยที่เขารับบริจาค เดี๋ยวตัวพัง ๆ นี่ซ่อมเสียหน่อยก็ใช้ได้แล้วล่ะ”

“ไม่ได้นะครับพ่อ ผมยังเล่นอยู่”

“ไม่ให้ค่ะ มันของหนูนี่นา”

“แล้วถ้าเป็นของลูก ทำไมลูกไม่ดูแลรักษามันเลยล่ะ เล่นแล้วก็ไม่เก็บให้เป็นที่เป็นทาง เออ! แม่ว่าหนูเลือกบางตัวไปบริจาคมั้ยลูก ตัวที่ลูกไม่อยากเล่นแล้ว หรือไม่ชอบแล้ว”

“ทำไมหนูต้องเอาไปให้คนอื่นด้วยล่ะครับ เด็กคนอื่นไม่มีพ่อแม่ซื้อให้เหรอ”

“ฟังพ่อนะลูก ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะมีพ่อแม่หรือไม่มีก็ตาม แต่ใช่ว่าเด็กทุกคนจะมีพ่อแม่ที่มีเงินซื้อของเล่น เด็กบางคนไม่มีแม้แต่ของจะเล่นหรือเหมือนหนู แถมยังไม่มีเวลาเล่นอีก นอกจากเรียนและทำงานช่วยพ่อแม่”

“มีเด็กแบบนี้อยู่จริง ๆ เหรอครับพ่อ”

“โลกเราไม่ได้มีแค่เราหรือแค่ที่เราเห็นนะลูก ยังมีคนลำบากกว่าเราอีกเยอะ บางคนยังไปขายพวงมาลัยตามสี่แยกไฟแดง หรือเดินขายขนมขายดอกไม้ตามร้านอาหาร ลูกก็เคยเห็นนี่นา อย่าว่าแต่เงินซื้อของเล่นเลย ไม่รู้ว่ามีข้าวกินครบทุกมื้อมั้ย…ถ้าลูกไม่ได้ใช้ ก็แบ่งให้เขาไปเถอะลูก”

สองพี่น้องนิ่งคิดอยู่ชั่วครู่ก่อนจะพยักหน้า และแยกย้ายกันเก็บของเล่นของตนมากองรวมกันไว้ แล้วคัดชิ้นที่ตัวเองไม่อยากเล่นออกไปอย่างตัดใจ ผู้เป็นพ่อและแม่เห็นแล้วก็อดยิ้มไม่ได้

ในยุคที่ทุกอย่างเร่งรีบแบบนี้ ยุคที่ผู้คนเห็นแก่ตัวกันมากขึ้น ซ้ำยังมองเห็นความทุกข์ของผู้อื่นเป็นเรื่องไกลตัว แต่อย่างน้อยหากเราค่อย ๆ สอนลูกให้เติบใหญ่ขึ้นมาเป็นคนที่มีน้ำใจต่อผู้อื่น ไม่ยึดติดกับวัตถุจนเกินไป สิ่งนี้คือแบบฝึกหัดสำหรับชีวิตที่ยอดเยี่ยม ผ่านการสอนลูกให้เรียนรู้เรื่องการเป็นผู้ให้และเริ่มแบ่งปันข้าวของเล็กๆน้อยๆให้ผู้อื่นตั้งแต่วัยเยาว์

Share Button

ทิ้งท้ายด้วยการ “ให้” เพื่อเริ่มต้นปีใหม่อย่างงดงาม

ทิ้งท้ายด้วยการ “ให้” เพื่อเริ่มต้นปีใหม่อย่างงดงาม

ในช่วงเทศกาลแห่งความสุข หลายครอบครัวมองหาที่ทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตในช่วงปีใหม่ ไม่ว่าจะเป็นทำบุญที่วัด, ไถ่ชีวิตโคกระบือ, เลี้ยงอาหารกลางวันเด็กกำพร้าและคนชรา, บริจาคโลงศพและน้ำมันเชื้อเพลงศพไร้ญาติ

ตามหลักพระพุทธศาสนา “การบริจาคสิ่งของ” นั้นนับเป็นการ “ให้ทาน” หรือ “ทานมัย” ซึ่งหมายถึง การเสียสละ การแบ่งปัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นการให้ทานข้าวของหรือเงินทอง การทำบุญประเภทนี้ จะช่วยขัดเกลาจิตใจของผู้ให้ ให้ลดความตระหนี่ถี่เหนียว ลดความคับแคบของจิตใจ ลดความเห็นแก่ตัว และไม่ยึดติดวัตถุ แต่บางคนไม่เคยทำบุญด้านการบริจาคสิ่งของมาก่อน อาจจะนึกภาพไม่ออกว่าจะต้องทำอย่างไร แล้วอะไรที่เหมาะสมในการบริจาคบ้าง

ปีใหม่นี้ “มูลนิธิกระจกเงา” ขอเป็นตัวกลางในการส่งต่อ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในรูปแบบ “การบริจาคสิ่งของ” เช่น เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย, ของใช้ทุกประเภท, เฟอร์นิเจอร์เก่าที่ยังคงสภาพใช้งานได้, เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดทุกสภาพการใช้งาน, คอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ค, ปริ้นเตอร์, อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ทุกสภาพการใช้งาน, หนังสือทุกประเภท, อาหาร ยารักษาโรค สำหรับการทำกิจกรรม Food For Friends, ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ Size M และ L, ยาสามัญประจำบ้าน และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น รถเข็น, ไม้ค้ำยัน, วิวแชร์, เตียงผู้ป่วย, ถังอ๊อกซิเจน ฯลฯ ให้กับผู้ที่ขาดแคลน ผู้ที่ต้องการใช้ ของที่ไร้ค่าสำหรับเรา อาจจะมีความหมายและจำเป็นต่อชีวิตผู้อื่นให้ถึงมือผู้ที่ต้องการใช้ประโยชน์จริง ๆ

สิ่งบริจาคเหล่านั้นจะถูกนำไปจัดสรรต่อ โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกันคือ
1.) ระดมทุนเข้าโครงการแบ่งปัน เพื่อนำไปสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการต่าง ๆ ในมูลนิธิ
2.) สร้างอาชีพ จำหน่ายสินค้าระดมทุนราคาต่ำ เพื่อให้คนในชุมชนมีรายได้เสริมจากการจำหน่ายสินค้าราคาถูก และ
3.) ส่งต่อไปยังพื้นที่ขาดแคลน ไม่ว่าจะเป็น ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ในโครงการอาสามาเยี่ยม, พื้นที่ประสบภัยต่าง ๆ ทั้งอัคคีภัย อุทกภัย, โรงเรียนต่างจังหวัด, คนไร้บ้าน, ผู้ป่วยข้างถนน, สถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง 13 แห่งทั่วประเทศไทย รายละเอียดอื่น ๆ และช่องทางการบริจาคสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่ลิงก์นี้ http://www.mirror.or.th/autopagev4/show_page.php?topic_id=1433&auto_id=32

ให้การทำบุญปีใหม่ไม่ใช่เรื่องยาก..ไม่มีค่าใช้จ่าย ไม่ต้องเดินทางไปไหนไกล แค่เพียงเปิดตู้เสื้อผ้าของคุณเลือกชุดที่ใส่ไม่ได้แล้ว จะสีหม่น หรือเก่าขาด ส่งต่อมาให้พวกเราเพื่อเติมเต็มให้กับผู้คนที่กำลังรอคอยและขาดโอกาสในทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย

Share Button

อิ่มใจ อิ่มบุญ ด้วยการ “ให้” และ “แบ่งปัน”

อิ่มใจ อิ่มบุญ ด้วยการ “ให้” และ “แบ่งปัน”

อีกหนึ่งกิจกรรมในช่วงปีใหม่ที่แทบทุกคนทุกครอบครัวมักจะชวนกันทำเสมอ ๆ คือการ “ทำบุญ” และการทำบุญในรูปแบบของการ “บริจาคสิ่งของ” นั้น ก็เป็นการทำบุญที่ทำได้ทุกศาสนา ทุกเพศทุกวัย ทุกคน และทุกชนชั้น

แน่นอนว่า เราทุกคนมีสิ่งของส่วนตัวที่ไม่ได้ใช้แล้วอย่างแน่นอน บ้างก็อาจจะเบื่อ บ้างก็อ้วนขึ้นผอมลงใส่ไม่ได้ บ้างก็ซื้อของใหม่เข้ามาแทน ฯลฯ หากเรามีเวลาเปิดตู้เสื้อผ้า หรือตั้งใจไล่เรียงรายการข้าวของเครื่องใช้ ของเล่นลูก อุปกรณ์ทำครัว อุปกรณ์ทำสวน อุปกรณ์ซ่อมรถ กระเป๋า สารพัดสิ่งที่ไม่ได้ใช้แล้ว อาจจะมีมากจนตัวเราเองก็ต้องตกใจ บางอย่างลืมไปด้วยซ้ำว่ามันมีอยู่ หรือบางอย่างมันจะกึ่ง ๆ ระหว่าง “จะทิ้งก็เสียดาย จะขายก็คงไม่ได้ราคา” ถ้าอย่างนั้น เราเลือกสิ่งของที่เหมาะสมจะบริจาคเหล่านั้น มาแบ่งปันและส่งต่อให้กับผู้อื่นที่ต้องการใช้ หรือคนที่อาจจะไม่มีโอกาสที่จะมีของสิ่งนั้นเลยก็ได้ตลอดชีวิตนี้กันดีกว่า

การเอื้อเฟื้อแบ่งปันด้วยการทำบุญบริจาคนี้ ทำให้เกิดเรื่องราวดี ๆ ขึ้นมากมายหลายประการ ที่เราอาจนึกไม่ถึงและไม่คาดคิด อาทิเช่น

1.) ช่วยให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์ และสามารถต่อชีวิต มีอนาคต มีงานทำเลี้ยงตัวเองและครอบครัว จากสิ่งของที่เราบริจาค

2.) ช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ พ้นจากความขาดแคลน หรือความทุกข์ยาก ความทุกข์โศก จากสิ่งของที่เราบริจาค

3.) ช่วยให้สังคมเกิดความสงบสุขมากขึ้น มีส่วนช่วยลดปัญหาอาชญากรรม การลักเล็กขโมยน้อย การฉกชิงวิ่งราว จากสิ่งของที่เราบริจาค

4.) ช่วยให้จิตใจของผู้ให้ มีความสุข สงบ จากการรู้จักเสียสละ อุทิศสิ่งของของตนให้แก่ผู้อื่นได้ โดยไม่ยึดติด เป็นการปล่อยวางอย่างหนึ่งที่ทำให้จิตใจสุขสงบ เหมือนได้ชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ ซึ่งก็จะส่งผลให้สมองแจ่มใส ทำการงานได้อย่างสบายใจ ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข

5.) โอกาสของการจัดบ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อยต้อนรับปีใหม่ ด้วยเพราะเมื่อก่อนข้าวของเครื่องใช้ หรือเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายมีมากจนเกินความจำเป็น ทำให้บ้านช่องที่ควรจะเป็นระเบียบเรียบร้อยกลับรก จนแทบหาของที่ต้องการใช้ไม่เจอ บ้านที่ควรจะเดินได้โล่งโปร่งสบาย ก็กลับต้องอึดอัดด้วยข้าวของที่ไม่ได้ใช้ จึงถือเป็นเรื่องดีที่จะได้จัดการบ้านช่องเพื่อต้อนรับปีใหม่ ให้ชีวิตได้เจอสิ่งใหม่ ๆ และดีขึ้น

นับว่าเป็นการ “ทำบุญ” ในช่วงวันขึ้นปีใหม่ ที่นอกเหนือจากคำว่า “ได้บุญ” แล้ว ยังทำให้ผู้บริจาค มีจิตใจที่อิ่มสุข อิ่มเอม จากการได้แบ่งปันให้เพื่อนมนุษย์อีกด้วย

 

Share Button

เก่าของใคร แต่ใหม่เสมอสำหรับฉัน แบ่งปันกันนะ..

เก่าของใคร แต่ใหม่เสมอสำหรับฉัน แบ่งปันกันนะ..

การเป็น “ผู้ให้” ด้วยใจบริสุทธิ์ย่อมเกิด “ความสุขใจ” อย่างแท้จริง โดยเฉพาะสิ่งที่เราได้ให้ไปนั้น เกิดประโยชน์และมีคุณค่าต่อ “ผู้รับ” แต่ก็มีหลายคนที่อาจจะมองว่า “การให้” หรือ “การบริจาค” สิ่งของที่ไม่ใช้แล้ว หรือที่เรียกอีกอย่างก็คือ “ของเก่า” ที่เราไม่ต้องการ ทำให้รู้สึกไม่ค่อยดีเท่าไหร่

เพราะคำว่า “ของเก่า” หรือ “หรือที่ไม่ใช้แล้ว” นอกจากใจผู้ให้เองจะรู้สึกไม่ค่อยดี ยังกลัวผู้ได้รับต่อรังเกียจบ้างล่ะ และพาลคิดไปไกลเลยเถิด ว่าจะเป็นการทำบุญที่ไม่น่าจะได้บุญเต็มร้อยสักเท่าไหร่ ทำให้หลายคนที่คิดจะบริจาคสิ่งของแก่ผู้อื่น ต้องควักเงินไปซื้อหามาใหม่ แทนที่จะบริจาคของเก่าที่ไม่ใช้แล้ว หากเราไม่เดือดร้อนเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ มีทุนทรัพย์เหลือมากพอที่จะซื้อของใหม่ไว้คอยบริจาค ก็คงไม่ใช่ปัญหา แต่ถ้าต้องควักกระเป๋าแล้วทำให้ตัวเองต้องเดือดร้อนลำบาก ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีเท่าไหร่ จะกลายเป็น “ทำบุญกับผู้อื่น แต่ทำบาปกับตัวเอง” ไปซะอย่างนั้น

ความจริงก็คือ “ของเก่าของเรา จะเป็นของใหม่ของอีกคนเสมอ” ไม่ว่าจะตกไปอยู่ในมือผู้รับคนไหนก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้รับเป็นผู้ที่ด้อยโอกาส ยากจน ไม่มีเงินมากพอสำหรับซื้อของเหล่านั้น มันจะเป็นของที่มีคุณค่ามากต่อผู้ที่ต้องการใช้ทันที มันอาจจะทำให้ผู้รับได้สร้างงาน มีโอกาสที่จะมีชีวิตใหม่ ๆ ชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเมื่อวาน จากของที่เราบริจาคทานไปก็เป็นได้ เหมือนเรากำลังส่งต่อน้ำหล่อเลี้ยงชีวิตให้กับอีกชีวิต ที่ยังคงรอความหวังจากเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน สิ่งของนั้นแม้อยู่กับเราดูเหมือนไร้คุณค่า แต่หากไปอยู่กับอีกคน อาจจะมีคุณค่ามากกว่าที่เราคิด

“การแบ่งปัน” อบอวลและเชื่อมร้อยน้ำใจมนุษย์ตลอดมา นับตั้งแต่โลกนี้ได้ถือกำเนิดขึ้น และการแบ่งบันก็ทำให้สังคมของเรางดงามและน่าอยู่มากขึ้น เพราะมันหมายถึง การที่เรารู้จักเสียสละสมบัติอันเป็นของตนเองให้กับผู้อื่น โดยไม่ยึดติดกับของนอกกาย เพราะต่อให้เราไม่บริจาคออกไป ไม่แน่ว่าอีก 5 ปีข้างหน้า หรือ 10 ปีข้างหน้า ของสิ่งนั้นก็อาจจะยังตั้งวาวอยู่ในบ้านอย่างเดิม หรือผุพังไปตามกาลเวลา จนต้องทิ้งลงถังขยะไปในที่สุด สู้แบ่งปันให้กับผู้อื่นที่เขาจะได้ใช้ประโยชน์จากมันไม่ดีกว่าหรือ

โลกเราใบนี้ยังมีทั้ง…คนที่มีมาก คนที่มีน้อย คนที่แทบไม่มีอะไรเลย และคนที่ไม่มีอะไรเลย นั่นคือความจริงที่ไม่ต้องรอการพิสูจน์ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องรอวันเป็นผู้ที่มีมากจนเหลือเฟือเสียก่อนถึงจะแบ่งปันได้ เพราะแม้เราจะมีน้อย หรือเป็นแทบไม่มีอะไรเลย เราก็เป็น “ผู้ให้” ได้เช่นกัน เพราะคนที่…ไม่มีอะไรเลยก็ยังมีอยู่

ในโอกาสดีปีใหม่นี้ “มูลนิธิกระจกเงา” อยากชวนมาร่วมทำบุญด้วยกันแบ่งปัน ซึ่งเป็นการทำบุญอีกรูปแบบหนึ่งที่ผู้ให้จะมีความสุข ความยินดีปรีดา ซึ่งทางมูลนิธิเปิดรับการแบ่งปันทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นของขวัญของเล่นสำหรับเด็ก ๆ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เครื่องครัว โต๊ะเก้าอี้ คอมพิวเตอร์ ฯลฯ รวมถึงอาสาสมัครที่จะช่วยรับของบริจาคในช่วงวันหยุดปีใหม่ ไม่ว่าจะวันหยุดหรือวันไหน ๆ ทางเราได้เตรียมพื้นที่ไว้เพื่อรองรับของบริจาคจากทุกท่านเพื่อส่งต่อให้กับอีกหลาย ๆ คนที่ยังรอคอยความหวัง และของขวัญปีใหม่ที่มีคุณค่าต่อชีวิตและต่อหัวใจอยู่เสมอ

ไม่ต้องคิดอะไรมากนะ ถ้าเธออยากจะให้ก็ให้เถิด เพราะผู้รับเองก็อยากจะบอกว่า “ของเก่าของเธอ แต่ใหม่เสมอสำหรับฉัน”….

Share Button

“ยกระดับ” ความสุขช่วงปีใหม่ด้วยการแบ่งปัน



“ยกระดับ” ความสุขช่วงปีใหม่ด้วยการแบ่งปัน

เคยนึกสนุกกันบ้างไหมว่า…ในวันปีใหม่เราจะนำของขวัญไปวางไว้หน้าบ้านใครสักคนที่เราไม่รู้จัก “วางของขวัญไว้หน้าบ้านใครสักคน” วิธีนี้เป็นเคล็ดลับการสร้างความสุขอย่างหนึ่งจากหนังสือ The Little Book of Lykke เขียนโดย Meik Wiking ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยความสุขในโคเปนเฮเกน

Lykke “ลุกกะ” เป็นภาษาเดนมาร์ก แปลว่า “ความสุข” และประเทศเดนมาร์กสามารถครองแชมป์ประเทศที่มีความสุขที่สุดของโลกหลายปีซ้อน แล้วทำไมชาวเดนมาร์กจึงถูกจัดว่ามีความสุขที่สุดในโลกนะหรือ ก็ด้วยเหตุผลที่ว่าประเทศนี้เขามีสวัสดิการจากรัฐไว้ดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนทุกคนแม้กระทั่งคนยากไร้ให้อยู่ดีมีสุขอย่างที่สุดไงล่ะ

มองตามความเป็นจริงแม้ประเทศไทยจะยังห่างไกลจากการจัดอันดับความสุขระดับโลกอยู่หลายขุม แต่เราก็ยังสามารถสร้างความสุขเล็กๆ น้อยๆ ในแบบเราได้ โดยเฉพาะคุณสมบัติโดดเด่นในเรื่องของน้ำใจของคนไทย ที่ไม่เคยเป็นรองใคร

“น้ำใจ” เราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า การให้ในรูปแบบที่ไม่หวังผล การแบ่งปันน้ำใจทำได้ง่ายมาก ไม่ซับซ้อน และสร้างความสุขให้โลกน่าอยู่ได้อย่างน่าอัศจรรย์

ปีใหม่นี้มูลนิธิกระจกเงาขอเป็นตัวแทนในการ “นำของขวัญไปวางไว้หน้าบ้านใครสักคนที่คุณไม่รู้จัก” และสำคัญไปกว่านั้น ใครคนนั้นอาจเป็นเด็กๆ ที่ไม่เคยมีของเล่นเป็นของตัวเองเลยในชีวิต เมื่อนั้นความสนุกจากการนึกคิดจะกลายเป็นความสุขของผู้รับในโลกความจริง และกลายเป็นความสุขใจย้อนกลับแบบยกกำลังสองถึงผู้ให้ในทันที …แค่คิดจะให้ ก็ได้รับ

ในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้เราเปิดรับน้ำใจจากการแบ่งปันในทุกรูปแบบ การบริจาคของขวัญ ของเล่นสำหรับเด็กทุกวัย ข้าวของเครื่องใช้ทั้งมือหนึ่งหรือมือสองที่คุณแบ่งปันให้มา จะถูกส่งต่อถึงมือผู้รับที่ต้องการ

ส่งท้ายปีเก่าเริ่มต้นปีใหม่ด้วยการ “แบ่งปันข้ามปี” เพื่อเติมเต็มหัวใจให้คนที่ขาด น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการสร้างความสุขหรือความแช่มชื่นเล็กๆ ในใจได้ เราจึงชวนให้คุณๆ ส่ง ส.ค.ส. ด้วยสิ่งของต่างๆ ที่จะถูกแปลงเป็นของขวัญทรงคุณค่าสำหรับบางคน …เพราะการให้คือการได้รับอย่างไม่รู้จบ
…เพราะความสุขเป็นจริงได้เมื่อเราแบ่งปัน.

Share Button

“พ่อ” ผู้แบ่งปันในทุกโมงยามของชีวิต

p2

ลุงเจน เชื้อชุ่ม อายุ 65 ปี คุณพ่อวัยเกษียณที่ควงคู่ป้าหมวย มาหาเราที่โครงการแบ่งปันเมื่อ 7 ปีที่แล้ว
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เสื้อสีขาวมือสองกว่าพันตัวถูกนำไปย้อมใหม่จากเสื้อสีหม่นกลายเป็นสีสดใส
ทุกวันนี้ลุงหาเลี้ยงชีพด้วยการขับมอเตอร์ไซต์รับจ้างและออกเร่ขายเสื้อมัดย้อมตามตลาดนัด
ลุงเจนบอกว่า โครงการแบ่งปันช่วยคนไม่มีกิน ได้พอมีกินมีใช้ขึ้นมาบ้าง

เงินที่ได้ทุกบาทในแต่ละวันถูกแบ่งสรรคปันส่วนเป็นค่าใช้จ่ายจิปาถะในบ้าน
เป็นค่าขนมสำหรับหลานๆ ค่าน้ำค่าไฟ ค่าอาหารและค่าเช่าบ้านที่มีสมาชิกอยู่รวมกันกว่าสิบชีวิต

“ป่วยไม่ได้”
“ผ่าตัดไม่ได้”
“หยุดทำงานไม่ได้”
“พักไม่ได้”

คำพูดติดปากของลุงเวลาถูกถามว่าทำไมไม่ไปผ่าตัดรักษาโรคไส้เลื่อนที่เป็นมานานเสียที
ทั้งๆที่หมอย้ำว่า “ห้ามทำงานหนัก” แต่ลุงก็ทำเป็นไม่ได้ยินเพราะชีวิตจริง
หนี้สินที่แบกอยู่มันหนักหนากว่างานตรงหน้ายิ่งนัก

“พ่อ” ของลูก 6 คน และเป็นตาของหลานอีก 16 คน ไม่อาจทำเป็นมองไม่เห็นความลำบากของลูกหลานได้
งานอะไรที่พอทำให้ได้เงินมาบ้าง แกทำทุกอย่างเพื่อเลี้ยงปากท้องหลานๆให้พออิ่ม
ทุกวันนี้ป้าหมวยทำงานหนักไม่ได้เช่นกัน ด้วยสารพัดโรครุมเร้าทั้งโรคสมอง หัวใจ และความดัน

ลุงเจนจึงต้องเข้มแข็งไว้เพื่อเป็นหลักให้ทุกคนได้พึ่งพิง เช่นยามนี้เมื่อชีวิตของลูกๆพลั้งพลาด
และไร้หนทางไปต่อ
“บ้านเช่า” หลังนี้จึงอบอุ่นเสมอ แม้ว่าจะลำบากยากจน แต่ลุงก็ไม่เคยซ้ำเติมลูกๆ

“ที่เลี้ยงดูแลกันทุกวันนี้ก็หวังว่าสักวัน เมื่อลูกหลานเติบโตและพอมีชีวิตเลี้ยงดูตัวเองได้”
“พ่อ” คนนี้จะได้สบายใจและหมดห่วงสักที

Share Button

ชีวิตใหม่หลังความตาย

ชีวิตใหม่-new 


“ป้ากินข้าวกับเกลือ เพื่อให้แม่ กับพี่ได้กินข้าวกับปลา

ช่วงหลังแม่ป่วยมาก เคี้ยวอะไรไม่ค่อยได้
อยากให้เขาได้สารอาหาร เราก็ต้องยอม อดเอา”
 “มีเงินเก็บเท่าไหร่ สมบัติมีอะไร ป้าขนมาขายหมด
รถกระบะ ทีวีในบ้านก็ขาย หวังจะเอามารักษาพี่ กับแม่”

เป็นคำพูดของป้านัน หญิงชราที่อุทิศชีวิตดูแลแม่และพี่สาว ที่ป่วยหนัก
เธอว่า คุณค่า ความหมายของชีวิตทั้งหมดของเธอ คือการดูแลครอบครัว
ความจริงสังคมบ้านเรามีเรื่องราวเช่นนี้อยู่มาก
คนในบ้านป่วย คนที่แข็งแรงก็สู้จนหมดหน้าตัก สุดท้ายยื้อชีวิตใครไว้ไม่ได้
และต้องใช้ชีวิตหลังความตายของคนที่รัก แบบคน “หมดตัว”

ในบ้านที่ว่างเปล่า ป้านันอยู่กับร่องรอยของคนทั้งคู่ ที่ตอกย้ำให้คิดถึง
หล่อเลี้ยงตัวเองด้วยเบี้ยยังชีพคนชรา เดือนละ 600 บาท
ต้องเข้าออกโรงพยาบาล รักษาทั้งอาการป่วยกาย และใจ
“มีวันนึง หมอไม่ยอมให้ป้ากลับ ให้อยู่คุยกันก่อน กลัวป้าฆ่าตัวตาย”

จากอาการ “ป่วยใจ” ที่หมอห่วง เป็นที่มาของการตั้งคำถาม
ทำอย่างไร? จึงจะ “เยียวยา” ป้านัน ได้อย่าง “ยั่งยืน”
ทำอย่างไร? ให้ชีวิตของคนๆ หนึ่ง ที่ดูแลคนอื่นมาทั้งชีวิต ได้รับการดูแลบ้าง
แม้เป็นเพียงชีวิตน้อยๆ ของหญิงชราธรรมดาคนหนึ่งก็ตาม

ไอเดียส่งเห็ดนางฟ้าภูฏานให้ป้านันดูแลเพื่อให้คลายเศร้า
โดยให้เห็ดเหล่านั้น ดูแลป้านันไปด้วย จึงเกิดขึ้น

ทันทีที่ไอเดียนี้เริ่มขยับ ความช่วยเหลือจากคนที่รู้ข่าวก็ถาโถมเข้ามา
“ถ้าได้รู้ก่อน ไม่มีใครยอมปล่อยเพื่อนมนุษย์ตายไปต่อหน้าต่อตาหรอก”
เรื่องราวของเห็ดนางฟ้ากับป้านันเป็นสิ่งยืนยันข้อคิดนี้

หลังจากนั้นเห็ดนางฟ้า โดยการร่วมมือของหลากหลายผู้คนก็เริ่มทำหน้าที่ของมัน
เห็ดทำหน้าที่เยียวยาป้านันได้ทุกวัน ทำได้มากกว่าการเยี่ยมเยียนรายครั้ง/รายเดือน
เปลี่ยนชีวิตที่กำลังป่วยไข้จากความสูญเสีย เป็นความหวัง เป็นรายได้ เป็นอาชีพ

วันที่เชื้อเห็ดเดินทางไปถึง บรรยากาศของความหวัง
ก็ตลบอบอวลเต็มลานบ้านป้านันอีกครั้ง
ไม่นาน สมาชิกใหม่ของบ้าน ก็แทงยอด ออกดอกรายวัน
เฉลี่ยวันละ 1-5 กิโล ให้เก็บกินเก็บขาย
มีรายได้ประมาณวันละ 100-300 บาท

ค่ำวันหนึ่ง คืนที่ป้านันรู้สึกว่าพระจันทร์กำลังยิ้มให้ดวงดาว
เธอบอกกับแม่และพี่สาวบนท้องฟ้าว่า ไม่ต้องห่วงเธอแล้ว
เธอมีเห็ดไว้ดูแลคลายเหงา และเห็ดเหล่านี้ก็ดูแลชีวิตเธอด้วย

#เยี่ยมเยียนเพื่อเยียวยา #อาสามาเยี่ยม

Share Button