ภารกิจช่วยเหลือผู้ป่วยสาวจิตเวชวัย 18

“เราใช้เวลา 20 ชั่วโมง ในการให้ความช่วยเหลือหญิงสาวอายุ 18 ปีคนนี้”
.
หลังจากที่มีการแจ้งมาทางเพจของมูลนิธิกระจกเงา แอดมินเพจที่ตื่นเช้ามาก ส่งข้อความมายังทีมงานโครงการผู้ป่วยข้างถนน โครงการที่ทำงานเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนในพื้นที่สาธารณะ แอดมินส่งข้อความมาตอนตี 5 ของวันศุกร์ที่ 19 แอดมินเพจระบุความเห็นว่าเราน่าจะต้องให้ความช่วยเหลือผู้หญิงคนดังกล่าว ทีมงานผู้ป่วยข้างถนนเมื่อดูคลิปนี้ในTikTok ก็ประเมินในเบื้องต้นว่า เธอน่าจะมีอาการจิตเวช จากพฤติกรรมที่ผิดปกติ รวมถึงเมื่อไล่ดูคอมเมนต์ก็พบว่ามีคนเห็นเธอในหลายที่ และเห็นเธอในพฤติกรรมที่ไม่ปกติ เราจึงเห็นตรงกันว่าควรให้ความช่วยเหลือ และเป็นการให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
.
ความต้องเร่งด่วนนั้นเกิดจากอายุที่น้อยมากของเธอ ความเป็นผู้หญิง พฤติกรรมที่เราประเมินว่าไม่น่าจะดูแลตัวเองได้ เสี่ยงอย่างมากต่ออันตรายต่างๆ
.
เพราะก่อนที่จะมีโครงการผู้ป่วยข้างถนนเกิดขึ้น ย้อนไป 10 กว่าปีก่อน แถวออฟฟิศของมูลนิธิกระจกเงา เราเคยเจอผู้หญิงสาวคนหนึ่งที่มีอาการจิตเวชชัดเจน เธอเดินตามท้องถนน ถอดเสื้อผ้าบ้าง ใส่เสื้อผ้าบ้าง เราเห็นเธออยู่ประมาณ 1 ปี แล้วมีวันหนึ่งในหน้า1ของหนังสือพิมพ์ เราพบว่ามีข่าวพาดหัวว่า มีผู้หญิงเร่ร่อนคนหนึ่งคลอดลูกที่ข้างถนน เรารู้ทันทีว่านั้นคือเธอที่เราได้เพียงแต่มองเห็นแต่ไม่ได้ทำอะไร จากวันนั้นมูลนิธิกระจกเงาจึงคิดว่าต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อป้องกันเรื่องแบบนี้ไม่ให้เกิดขึ้นกับใครอีก เราจึงมีโครงการผู้ป่วยข้างถนนขึ้นมาหลังจากนั้น
.
กลับมาที่เธอคนนี้ เราเริ่มประชุมกันเพื่อวางแผนในการให้ความช่วยเหลือ เราเริ่มต้นจากการประชาสัมพันธ์เพื่อขอรับข้อมูล พิกัดที่คนได้เจอเธอ ทางศูนย์ข้อมูลคนหายได้ทำการเช็กการแจ้งคนหาย แต่ก็ไม่พบว่ามีการแจ้งการหายเข้ามาแต่อย่างใด เมื่อได้พิกัดที่มีคนพบเห็นเธอ เราเริ่มต้นลงพื้นที่ เรากำหนดพื้นที่ไว้สามพื้นที่หลักๆ ตามการแจ้งที่มีมูลมากที่สุด แต่ในระหว่างการลงพื้นที่ที่สอง มีผู้แจ้งติดต่อเข้ามาว่าเขาพบเธอล่าสุดตอน 4 โมงเย็น เมื่อเช็กข้อมูลว่าใช่เธอแน่ๆ ทีมงานจึงลงพื้นที่เพื่อไปทำการติดตาม แต่ระหว่างทาง ทีมงานเช็กกับผู้แจ้งอีกครั้ง ผู้แจ้งๆ ว่าไม่พบเธอในพื้นที่เดิมอีกแล้ว
.
แต่ไม่นานเกินรอ มีผู้แจ้งอีกคน ที่บอกว่าเพิ่งพบเห็นเธอเมื่อสักครู่ ผู้แจ้งส่งภาพมาให้เราตรวจสอบ ปรากฏว่าเป็นเธอจริงๆ หลังจากนั้นเราจึงประสานไปทาง สน.จรเข้น้อย เพื่อให้ทางตำรวจส่งสายตรวจมาเพื่อตรวจสอบอีกครั้ง เมื่อตำรวจไปถึง พบว่าเธอกำลังขึ้นรถสองแถวไปแล้ว ขึ้นรถไปก่อนที่ทางทีมงานผู้ป่วยข้างถนนจะไปถึงไม่ถึงนาที สายตรวจจึงขับมอเตอร์ไซค์ตามและทำการดักรถสองแถวคันนั้น และไปทำการเชิญตัวเธอลงมา เธอไม่ขัดขืนอะไร หลังจากนั้นจึงประสานรถพยาบาลเพื่อนำส่งเธอไปยัง สถานบำบัดรักษาโดยทันที
.
เรามองดูนาฬิกาอีกครั้งเมื่อแพทย์รับเธอเป็นผู้ป่วยใน เป็นเวลาตี 1 ของอีกวัน
จากตี 5 ถึงตี 1 ของอีกวัน มันคือ 20 ชั่วโมง เป็นเวลาที่เราไม่อยากให้เกินไปกว่านั้น
20 ชั่วโมงที่พลังแห่งโลกออนไลน์แสดงตัวว่ามีอยู่จริง
เราน่าจะเชื่อเหมือนกันว่า “มนุษย์ไม่ควรตกอยู่ในชะตากรรมเช่นนี้”

———————————————-

แจ้งเมื่อพบผู้ป่วยข้างถนน หรือปรึกษาเมื่อพบปัญหาผู้ป่วยจิตเวชที่ไม่สามารถเข้าสู่การรักษามาได้ที่ เพจ โครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา
.
สนับสนุนการให้ความช่วยเหลือได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-2-58289-4 SCB

Share Button

“ตั๋วหนังบริจาค” หนึ่งในความสุขของสองชายสู้ชีวิต

หัวค่ำคืนวานก่อนหนัง ONE PIECE เข้าฉาย 1 วัน
เราได้รับข้อความจากผู้บริจาคว่า
เขาซื้อตั๋วหนังผิดวันผิดรอบ
จึงขอส่งต่อมันเพื่อให้มูลนิธิใช้ประโยชน์ต่อไป
พร้อมกับส่งภาพสำหรับสแกนรับตั๋วมาให้
.
รายละเอียดในภาพระบุเป็นตั๋วแบบ VIP
มูลค่า 2 ใบ 600 บาท
หนังเข้าฉายวันนี้ รอบบ่ายสองโมง
.
กระจกเงาเรามีชายสองคน
คนหนึ่งคือ “บ๊วย” เขากำลังต่อสู้กับโรคไบโพล่าร์
และเขาเหมือนเด็กตั้งแต่เริ่มป่วย
.
อีกคนเราเรียกเขาว่า “เอ แรมโบ้”
เป็นอดีตคนไร้บ้าน เร่ร่อนตั้งแต่ยังเด็ก
จนถึงวันนี้เขายังคิดว่าตนเองเป็นเด็กคนหนึ่ง
.
บ่ายสองวันนี้ เรายินดีให้คนทั้งคู่นี้หยุดงาน
พร้อมกับป๊อบคอร์น และแป๊บซี่คนละชุด
เพื่อมีความสุข กับ One Piece Film RED
ที่ผู้บริจาคมอบให้นี้
.
กระจกเงารับบริจาคสิ่งของทุกประเภท
และเรายินดีจัดการส่งต่อสิ่งเหล่านั้น
อย่างมีคุณค่า และประโยชน์สูงสุด
.
#มูลนิธิกระจกเงา

Share Button

ปัญหา “คนไร้ที่พึ่ง” ในระบบคุ้มครองของรัฐ

“57 บาท ต่อคนต่อวัน” นี้คืองบประมาณที่รัฐจ่ายให้เพื่อดูแลกลุ่มคนที่เรียกว่า “คนไร้ที่พึ่ง” ตาม พรบ.คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง (สถานสงเคราะห์) ของทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
.
สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งในประเทศนี้มีอยู่ทั้งหมด 11 แห่งทั่วประเทศ มีภารกิจหลักคือการดูแลกลุ่มคนไร้ที่พึ่ง คนไร้ที่พึ่งที่นิยามโดยสรุปอย่างง่ายๆ ก็คือ คนที่ไม่สามารถดูแลจัดการชีวิตตัวเองได้ ทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคม
.
ในวันที่ทีมงานผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงาได้แวะเวียนเยี่ยมเยียน สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งมาแล้วหลายแห่ง เราอยากจะรีวิวการไปเยี่ยมสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ให้กับหลายๆ คนได้รับรู้ว่า สิ่งที่เรียกว่าเป็นสวัสดิการของรัฐ ภายใต้การดูแลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์นั้น มันเป็นอย่างไรบ้าง
.
ข้างในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง คนที่อยู่ในสถานคุ้มครองนั้น เกินกว่า 70% เป็นผู้ป่วยจิตเวชที่เรียกได้ว่าเรื้อรัง บางสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งนั้น มีจำนวนผู้ป่วยจิตเวชสูงถึง 90% ขึ้นไป ยังไม่นับความทับซ้อนของความพิการทางร่างกายอื่นๆ ลงไป และยังไม่นับว่าส่วนใหญ่อยู่ในวัยผู้สูงอายุ
.
พูดถึงเรื่องการหลับนอน ทุกคนมีเบาะนอน แต่ไม่ใช่การนอนในแบบ 1 เบาะต่อ 1 คน ในบางทีต้องนำเบาะมาชิดกันเพื่อให้มี 1 คนมานอนตรงร่องกลางของเบาะที่นำมาชิดกัน ในบางที่ในบางแห่งต้องจัดการเบาะนอนเป็นสามแถว และนี่ยังไม่ได้พูดถึงว่า ผู้รับความคุ้มครองหลายต่อหลายคนเป็นคนพิการ เป็นผู้สูงอายุ การนอนเบาะแบบนั้น ทำให้ลุกขึ้นเดินเหินได้ยากเต็มที
.
คนในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งในแต่ละที่ มีจำนวนคนรับการคุ้มครองล้น ล้นที่เรียกว่าเกินขีดความสามารถการดูแลของเจ้าหน้าที่ภายใน บางแห่งมากไปถึง 500 กว่าราย ซึ่งหลายสถานคุ้มครองฯ มีความสามารถรับคนเข้ารับการคุ้มครองจริงๆ อยู่ที่ประมาณ 300 กว่ารายเท่านั้น ความไม่สามารถนั้น เกิดมาจากงบประมาณที่จำกัด จำนวนบุคลากรที่จำกัด ทรัพยากรที่จำกัด
.
ในหลายๆ สถานคุ้มครองฯ นั้น มีปัญหาขาดแคลนบุคลากรเฉพาะทาง เฉพาะด้าน เช่น ไม่มีนักจิตวิทยาวิชาชีพ ทั้งๆ ที่มีผู้ป่วยจิตเวชอยู่เกินกว่า 70-80% ด้วยซ้ำ ไม่มีพยาบาล ทั้งๆ ที่มีจำนวนเคสที่มีแนวโน้มในปัญหาโรคทางกายอยู่ไม่น้อย ไม่มีนักกายภาพบำบัด ทั้งๆ ที่มีคนพิการทางร่างกายอยู่เกินครึ่งค่อน
.
ที่ซ้ำร้ายเข้าไปอีกก็คือ สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งไม่สามารถส่งคนไร้ที่พึ่งเพื่อให้ได้รับบริการในสถานสงเคราะห์ ตามความเฉพาะได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น ในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งแห่งหนึ่ง มีผู้สูงอายุมากกว่า 100 คน แต่ไม่สามารถส่งผู้สูงอายุนั้นให้ได้รับบริการในสถานสงเคราะห์ที่ดูแลผู้สูงอายุโดยตรงได้ เช่นเดียวกันกับกลุ่มคนพิการที่ไม่สามารถส่งไปยังสถานสงเคราะห์คนพิการได้
.
ทั้งๆ ที่ในกฎหมายของผู้สูงอายุ ก็บอกไว้ว่า ในความเป็นผู้สูงอายุนั้น สวัสดิการอย่างหนึ่งที่รัฐจัดให้ คือการได้เข้ารับดูแลในสถานสงเคราะห์ผู้สูงอายุ เช่นเดียวกันกับคนพิการ ทั้งๆ ที่กฎหมายระบุไว้ว่าสวัสดิการอย่างหนึ่งที่คนพิการสามารถเลือกรับได้ก็คือ การเข้ารับการดูแลในสถานสงเคราะห์คนพิการ ซึ่งหลายๆ รายที่รอการเข้ารับการดูแลตามกฎหมายเฉพาะนั้น ก็เสียชีวิตไปก่อนที่จะได้รับบริการตามที่สิทธิ์ในฐานะพลเมืองที่เขาควรได้ ความล่าช้าของการได้มาซึ่งสิทธิที่ควรมีควรได้นั้น นับได้ว่าเป็นความอยุติธรรมแบบหนึ่งนั้นเอง
.
ในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง เมื่อไม่สามารถส่งคนไปเข้ารับบริการตามกฎหมายเฉพาะอย่าง ผู้สูงอายุและคนพิการได้นั้น ความอัดแน่น ความไม่สามารถดูแลคนที่อยู่ในการคุ้มครองได้นั้น จึงเกิดขึ้นในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งในทุกแห่ง และในข้อเท็จจริงที่สำคัญก็คือ คนที่อยู่ในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งนั้น ไม่ใช่ประสบปัญหาทางสังคมเพียงอย่างเดียว พวกเขาเป็นคนป่วยทั้งทางจิตและทางกาย เป็นคนพิการ เป็นผู้สูงอายุ
.
เอาเข้าจริง หลายๆ คนมีความซ้ำซ้อนของทุกอย่างที่กล่าวมา และประเด็นสำคัญก็คือ สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งมีเคสที่หลากหลายทับซ้อนมาก แต่ได้รับงบประมาณและทรัพยากรในการบริหารจัดการภายในที่ต่ำอย่างมาก ทั้งๆ ที่ควรได้รับงบประมาณและทรัพยากรที่เป็นเสมือนโรงพยาบาลด้วยซ้ำไป
.
เราเคยถามว่าความต้องการของคนไร้ที่พึ่ง ที่ว่าพวกเขาต้องการอะไร ในส่วนที่เป็นผู้ป่วยจิตเวชอย่างหนักอาจไม่สามารถตอบได้ แต่สำหรับหลายๆ คนมักให้คำตอบอย่างง่ายๆ ว่า เขาอยากให้ครอบครัวมาเยี่ยมเขาบ้าง อยากกลับไปอยู่กับครอบครัวก็มี ในบางคนอยากจะออกไปทำงานมีรายได้ แต่ในข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก็คือ ทรัพยากรที่รัฐจัดสรรให้กับสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งนั้น ไม่สามารถทำให้ฝันของคนที่อยู่ในสถานคุ้มครองฯบรรลุเป็นจริงได้อย่างแน่นอน
.
ไม่ต้องดูอะไรมาก แค่ค่าอาหารที่เขาตั้งไว้ให้ต่อคนต่อวันอยู่ที่ 57 บาทนั้น ก็เห็นได้อยู่ว่ารัฐเห็นใจ ใส่ใจ และเข้าใจหรือไม่ว่าสิทธิ์การมีคุณภาพชีวิตที่ดีนั้นควรเป็นพื้นฐานของทุกคนที่ควรได้รับจากรัฐอย่างปฏิเสธไม่ได้ เป็นจริงอยู่หรือไม่

——————————

ปล.ภาพรองเท้าแตะ คือรองเท้าแตะของผู้รับการคุ้มครองในสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งแห่งหนึ่ง ซึ่งรองเท้าแต่และคู่นั้นมีความพยายามทำเครื่องหมายไว้ เพื่อให้รู้ว่าคู่ไหนเป็นของใคร
.
รีวิว สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง และ ตัวอย่างของการจัดสวัสดิการของรัฐ โดย โครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา

Share Button

ช่วยผู้ป่วยเร่ร่อนได้อีกราย เธอไม่ต้องคุยกับหุ่นลมอีกแล้ว

เธออยู่แถวรัชดา ผู้แจ้งให้ข้อมูลว่าเธอพูดคนเดียวเป็นภาษาจีน ใช้ชีวิตนั่งนอนที่ข้างถนน พบเจอน่าจะร่วมอาทิตย์ได้แล้ว แต่ผมของเธอเหมือนอยู่ข้างถนนมาได้เนิ่นนานมากกว่านั้น
.
บางคืนวันเธอนั่งคุยกับหุ่นลมของปั๊มน้ำมันด้วยภาษาจีน
.
รัชดามีนักท่องเที่ยวจีน แตกต่างตรงที่เธอท่องเที่ยวไปในโลกของเธอกับเพื่อนเธอในจินตนาการ
.
การท่องเที่ยวของไทยเปิดรับดูแลคนจีน
การสาธารณสุขไทยก็ยังคงเปิดรับ
ดูแลนักท่องเที่ยวจีนในบางราย
.
เธอได้รับความช่วยเหลือเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
.
ขอบคุณเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ห้วยขวาง ที่ช่วยเหลือนำส่งเธอตามพรบ.สุขภาพจิต
ขอบคุณสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยาที่รับเธอเข้ารับการบำบัดรักษาเป็นที่เรียบร้อย

—————————————

สนับสนุน​การให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนได้ที่​
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-58289-4 SCB

Share Button

ช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นคนไร้บ้าน

“ที่เลือกมานอนแถวราชดำเนิน เพราะเราเกิดกรุงเทพ ตอนที่พ่อยังไม่เสียก็พามาเที่ยว มาดูไฟ ดูวัด ดูวัง ตอนนั้นก็เห็นคนเขานอนข้างถนนกัน จนโตวัยทำงาน เวลาหลังเลิกงาน หรือ Holiday เราจะชอบทำอาหารมาแจกคนที่นอนที่นี่ สงสารการกินอยู่ของเขา แต่พอเราต้องมาอยู่จุดนี้นึกไปถึงวันนั้น ก็แบบเราเคยเป็นผู้ให้มาก่อนวันนึงเราจะต้องมาเป็นผู้รับเหรอเนี่ย แต่ถ้ามองบวกหน่อยมันก็ทำให้เรารู้จุดที่ว่าเราจะไปทิศทางไหน เรานั่งเรานอนแบบนี้ได้อยู่นะ คนอื่นเขายังพอนอนได้เลย อย่างน้อยเราก็ไม่อดตายหรอก”
.
“จุดเปลี่ยนของชีวิตคือตอนที่แฟนบอกเลิกแบบไม่รู้ตัว คือไม่มีวี่แววเลยที่เขาจะเลิก อยู่ๆ ก็บอกว่าครอบครัวเขารับไม่ได้ พอเลิกกันเราก็ย้ายออกมาอยู่คนเดียวมาเช่าห้องอยู่ ตอนออกมาก็ขอเงินเขาแสนนึง เพราะเราไม่เหลือทรัพย์สินอะไรเลย เราเป็นคนทุ่มเทกับความรักมาก เพราะครอบครัวที่ผ่านมาของเรามันไม่ใช่เซฟโซนสำหรับเรา เราทำงานหาเงินมาได้สร้างทรัพย์สินมาเท่าไหร่ก็ยกให้เป็นชื่อของแฟนหมด เพราะเราอยากให้เขารู้ว่าเราก็สามารถเป็นผู้นำได้”
.
“พอมาเช่าห้องอยู่คนเดียว เราก็อยู่แบบนั้นเฉยๆ ไม่ทำงาน 2 ปี เพราะรู้สึกตัวเองไม่ปกติ เหมือนมีอะไรมาฟาดจนเป็นก้อนความรู้สึกชาๆหนักๆ แบบใจเรามันไปแล้ว เคยคิดสั้นอยู่แต่ก็ไม่ได้ทำ ตั้งใจเลยนะถ้าใช้เงินเก็บจนมันเป็นศูนย์เราทำแน่ๆ แล้วก็ใช้ชีวิตแบบประชดชีวิตอยู่ในห้องอย่างเดียว ไม่พูดคุยกับใคร จนมาถึงวันที่เงินหมด เลยตัดสินใจจบชีวิตวันนั้น แต่ก็ทำไม่ได้อีกนั่นแหละ”
.
“หลังจากวันนั้นก็ออกจากห้องเช่ามาแบบแบลงค์
ๆ เพราะมันไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าเขาแล้ว นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการออกมาไร้บ้านตั้งแต่ตอนนั้น อยู่ไปสักพักจึงคิดเริ่มต้นชีวิตใหม่ จนสุดท้ายเราก็ฮึดขึ้นมา กลับมาทำงานอีกครั้ง ไปสมัครงานเป็นรปภ. เพราะมันไม่ต้องใช้อะไรเลยมันเริ่มจากศูนย์ก็ได้ รปภ.เป็นงานสุดท้ายก่อนมาเจอกับจ้างวานข้า”
.
“ไร้บ้านช่วงแรกๆ เราก็นั่งอยู่ในจุดที่ไม่ค่อยมีคน ยังไม่ค่อยกล้าไปพูดคุยกับใคร สภาพเราก็เหมือนไม่ได้เร่ร่อน คนทั่วไปก็คงมองว่าเป็นคนมารอรถเมล์อะไรแบบนี้หรือเปล่า และเราก็ไม่รู้ต้องสื่อสารกับคนไร้บ้านยังไง ยังปรับตัวไม่ได้ แต่ก็โชคดีนะ พอไปนั่งก็มีลุงคนไร้บ้านมาพูดมาคุยดูเป็นมิตรดี คือจริงๆ แล้วคนไร้บ้านเขาเป็นคนจิตใจดีนะ ยิ่งพอเขาเห็นเราดูหน้าใหม่ หน้าไม่คุ้น เขาจะคอยมาถามสารทุกข์สุขดิบกับเรา”
.
“ที่เราอยู่รอดจากสภาวะไร้บ้านมาจนถึงตอนนี้ได้นี่
ก็มาจากคำแนะนำของพวกเขานี่แหละ เริ่มตั้งแต่ควรไปอาบน้ำยังไง ไปอาบน้ำที่ไหน คือเขาก็มองเราเป็นผู้หญิงคนนึงก็เป็นห่วงเรา แบบไปนอนตรงนี้แถวนี้นะเดี๋ยวลุงช่วยดูให้ กระเป๋าต้องนอนกอดไว้ตลอดนะ ควรไปนอนตรงหอศิลป์ดีกว่าตรงนั้นสว่าง ไม่น่ากลัวเท่าไหร่ ปลอดคน แต่สุดท้ายเขาก็ย้ำกับเราเสมอนะ ว่าระวังยังไงมันก็ไม่ปลอดภัยอยู่ดี ให้ระวังพวกติดเหล้าเมายาไว้ เพราะมีเวลาหื่นหนักๆ มันก็ไม่เลือกหน้า เขาก็แนะนำอยากให้เราไปหางานตามปั๊มน้ำมันให้มีที่พักอะไรแบบนี้จะดีกว่าปลอดภัยกว่า”
.
“ถึงแม้เราจะเป็นอย่างนี้ (เป็นทอม) เขาก็มองออกกันนะว่าเป็นผู้หญิง อย่างตอนที่อยู่มา 2-3 วันแล้ว จะมีคนเข้ามาคุยเรื่องทั่วไปก่อน และจากนั้นก็เหมือนชวนไปทำอะไรอย่างนั้น คือมันก็มีคนหลายประเภทเนอะ ตรงนั้นทั้งกินเหล้า ไม่ใช่มีแต่คนไร้บ้านอย่างเดียว พอมาคุยลักษณะนี้เราก็รู้ความหมายแหละว่าเขาต้องการอะไร อย่างชวนไปบ้านพี่ไหม ไปช่วยลุงเลี้ยงหมาหน่อยนะ พี่ก็พอมีเงินอยู่บ้างพี่เลี้ยงได้นะ สารพัดเลย เราเป็นทอมไม่เคยมีประสบการณ์เรื่องทางเพศอย่างนี้ มันก็เลยรู้สึกกลัวมาก แต่ก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากทำใจดีสู้เสือบอกเขาตรงๆ ว่า ไม่ชอบผู้ชายนะพี่”
.
“การใช้ชีวิตแบบนี้เราจะอยู่ติดที่ไม่ได้ ต้องเคลื่อนย้ายเปลี่ยนที่นอนตลอดเวลา บางคนเราก็รู้นะว่าเขามองเรามาหลายวันแล้ว คงไม่แน่ใจว่าเราเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย แต่พอเขารู้ว่าเป็นผู้หญิงเท่านั้นล่ะ เอาล่ะอยู่ไม่ได้แล้วต้องหาที่ใหม่ คือต้องเข้าใจว่าพื้นที่ตรงนี้ก็ยังไม่ได้มีความเข้าใจเรื่องเพศที่สามมากนัก เป็นทอมเขาก็มองเหมือนเป็นผู้หญิงคนนึงนั่นแหละ แต่ด้วยกายภาพมันก็ปกป้องเราได้มากกว่า ด้วยบุคลิกเขาก็จะไม่กล้าเข้ามาสัมผัส มันก็จะกันคนออกไปได้ระดับนึง”
.
“แต่มันก็แล้วแต่สถานการณ์นะ อย่างที่บอกมันก็มีกลุ่มที่กินเหล้า เสพยาจนสติไม่ปกติ พวกนี้จะเอาไม่เลือกหน้า อย่างเราเคยนั่งๆ อยู่เนี่ย ก็มีคนพวกนี้เข้ามาลวนลาม เดินมาดึงเราเข้าไปกอด คือมันไม่ปลอดภัยมากๆ เราเลยต้องเปลี่ยนสถานที่นอนเรื่อยๆ สลับนอนตามป้ายรถเมล์ ไม่มีที่ไหนเป็นที่นอนประจำ นอนตามจุดที่โจ่งแจ้งไปเลย รถเมล์อะไรผ่านก็ช่างมันเดี๋ยวมันก็ชิน เดี๋ยวก็หลับไปเอง”
.
“ครั้งนึงเราเคยเห็นเหตุการณ์น้องใบ้คนหนึ่งที่เขามานอนแบบเราเนี่ยที่โดนกระทำบ่อย ถึงแม้ภายนอกเขาจะดูเป็นทอมบอยเหมือนกัน แต่เขายังมีสรีระที่ดูเป็นผู้หญิงชัดเจนอยู่ คือจะมีคนมาจับหน้าอกเขา แต่ด้วยความเป็นใบ้พูดอะไรไม่ได้ก็จะมีคนมาทำท่าทางแบบมีเพศสัมพันธ์กับเขาตลอดเวลา ซึ่งเราเห็นเขาพยายามป้องกันตัวเองอย่างมาก คือถ้ามีผู้ชายเข้ามาจะลวนลามเขาจะถีบเลย คือเขาพยายามสู้เต็มที่ไม่ให้ใครหน้าไหนเข้ามาทำอะไรเขาได้”
.
“แต่ที่คิดว่าเราโชคดีอีกอย่างก็คือเราตัดมดลูกมาแล้วเพราะเป็นเนื้องอก ประจำเดือนเลยไม่ได้เป็นอุปสรรค แต่ผู้หญิงคนอื่นคิดว่าคงเป็นเรื่องลำบากมาก ส่วนเรื่องอาบน้ำนี่ก็เป็นปัญหา ต้องแอบเข้าตามปั๊ม ต้องเข้าสถานที่มิดชิดอย่างเดียว เพราะอาบน้ำนุ่งกระโจมอกแล้วอาบกลางแจ้งเลยไม่ได้ ตามปั๊มไม่มีเป็นห้องอาบน้ำนะ ถ้าอยากได้ห้องแบบนั้นต้องไปวัด เวลาอาบก็เอาน้ำที่เขาราดส้วมนั่นล่ะตักอาบ บางวันตื่นมาแล้วเสื้อผ้าหาย มีชุดเดียวไปอาบน้ำก็ต้องใส่แบบนั้นไปจนมันแห้ง”
.
“สำคัญมากนะสำหรับเรา วันมาเจอทีมงานมูลนิธิกระจกเงา เจอทีมงานจ้างวานข้า เราถือว่าเป็นตัวปิดจบเลยนะ เราถือว่าเร็วมากนะกับการหลุดจากสภาพเร่ร่อนไร้บ้านอะไรแบบนี้ เราอยู่มาได้แค่ 3 อาทิตย์ แล้วก็ได้ทำงานกับจ้างวานข้าเลย แล้วก็มามีห้องเช่าต่อมาเลย ซึ่งถือว่านี่เป็นการตั้งหลักครั้งใหญ่ที่ทำให้เรากลับมาได้เช่าห้องอยู่ได้อีกครั้ง”

——————————————-

แด่วันที่อยู่อาศัยโลก(World Habitat Day) ซึ่งนับจากวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี
.
คนไร้บ้าน การได้มีงานทำและงานนั้นทำให้มีรายได้ที่มั่นคงต่อเนื่องและเหมาะสม สิ่งนี้นับเป็นเงื่อนไขสำคัญต่อการตัดสินใจกลับเข้าสู่การมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงขึ้น
.
สนับสนุนจ้างวานข้าได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-2-58289-4 SCB

Share Button

รักริมถนน: เรื่องเล่าของชายหนุ่มที่พาแฟนมาอาบน้ำ

ในวันที่เราเปิดให้บริการ ซักผ้า อบผ้า และอาบน้ำให้กับคนไร้บ้านที่อยู่ในพื้นที่แถวราชดำเนิน เรามักพบกับชายคนนึงกำลังเข็นรถเข็นอย่างช้าๆ บนรถเข็นพบผู้หญิงคนนึง รูปร่างเธอบอกได้ว่าร่างกายไม่แข็งแรง ทั้งสองคนเป็นคู่รักกัน ทั้งคู่เป็นคนไร้บ้าน ทั้งคู่มักตรงดิ่งมาเพื่อใช้บริการ อาบน้ำ และซักอบผ้า
.
ชายหนุ่มนั้นวัยเกือบ50ปี ตกงานมาได้เป็นปีแล้ว เขารับจ้างทาสี แต่หลังๆ มานี้งานไม่มีให้ได้ไปทำ ส่วนหญิงสาวนั้นอายุยังอยู่ในวัย 40 ต้นๆ
.
ชายหนุ่มพาแฟนสาวมาอาบน้ำ เขามักบอกว่าแฟนอยากอาบน้ำเลยพามา เมื่อแฟนอาบเสร็จเขาจะอาบเป็นคิวถัดไป ระหว่างนั้นเสื้อผ้าของทั้งคู่ก็อยู่ในเครื่องซักผ้าและเครื่องอบผ้าเป็นที่เรียบร้อย
.
ระหว่างรอเวลาซักและอบผ้าประมาณ 1 ชั่วโมงได้ ชายหนุ่มเล่าถึงการโคจรมาพบกันของตัวเขาและแฟนสาว
.
เขาเล่าว่า เขานั้นออกมาไร้บ้านได้สักพักใหญ่แล้วและเมื่อเขาเลือกมานอนที่ถนนราชดำเนิน เขาพบเธอที่นั่น เขาบอกเมื่อเขาเห็นเธอ เขารู้สึกสงสารทั้งจากความพิการ ความเป็นผู้หญิงและไหนจะต้องมาใช้ชีวิตไร้บ้านเข้าไปอีก เขาจึงเอ่ยปากบอกว่าเขาจะดูแลเธอเอง นับแต่นั้นต้นรักก็เติบโต
.
เมื่อเราซักถามต่อไปว่า หญิงสาวได้ทำบัตรคนพิการแล้วหรือไม่ ชายหนุ่มตอบว่ายัง หญิงสาวซึ่งแม้นั่งรถเข็นอยู่ก็ตอบแทรกขึ้นมาว่า แค่ลูกสะบ้าหลุดเองยังไม่ได้พิการ แต่เมื่อถามว่าอยู่ในสภาพเดินไม่คล่องต้องใช้รถเข็นนั้นนานเท่าไหนแล้ว ชายหนุ่มตอบแทนขึ้นมาว่า ก็อยู่สภาพแบบนี้เป็นปีแล้วนะตั้งแต่ผมเจอเขา
.
ชายหนุ่มเปรยขึ้นว่า ผมอยากทำงาน แต่ติดตอนที่ผมไปทำงานไม่รู้จะให้แฟนไปอยู่ที่ไหน
.
ในเรื่องงาน เราตอบว่างั้นก็มาสมัครทำงานกับจ้างวานข้าได้เลย เขาพยักหน้าเชิงตอบรับ แต่ก็บอกแบ่งรับแบ่งสู้มาว่า เดี๋ยวผมขอดูก่อนว่าจะพาแฟนไปอยู่ที่ไหน พอจะฝากเพื่อนได้หรือเปล่า และวันนัดหมายนั้นเขาก็ไม่ได้มาตามที่นัดหมายไว้
.
แต่วันอังคารและวันศุกร์นี้ รถซักอบอาบ จะเปิดให้บริการอีกครั้ง เราน่าจะได้พบเขาและแฟน เราตั้งใจจะสอบถามเขาอีกครั้งในเรื่องงาน แล้วดูว่าเขาติดเงื่อนไขอะไรที่ทำให้มาทำงานไม่ได้ เพื่อเราจะได้ช่วยกันกำจัดเงื่อนไขนั้นให้หมดไป รวมถึงเรื่องการได้มาซึ่งการเข้าถึงสิทธิคนพิการของหญิงสาวที่เธอควรจะได้รับ
.
มูลนิธิกระจกเงา x Otteri x กรุงเทพมหานคร

____________________

เรามีจุดบริการ ซักผ้าอบผ้าและห้องอาบน้ำให้คนไร้บ้าน รวมถึงสิ่งอื่นๆ ที่จะนำไปสู่การให้กลุ่มคนไร้บ้านสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการเปิดเป็นช่องทางในการให้คนไร้บ้านได้เข้ามาเพื่อการแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และที่สำคัญคือการเข้าถึงงานที่มีรายได้มั่นคงต่อเนื่อง และเราเรียกสิ่งนี้ว่า “สดชื่นสถาน” ซึ่งมันไม่ใช่ความสดชื่นแค่จากการอาบน้ำใส่เสื้อผ้าใหม่ แต่มันรวมถึงความสดชื่นที่มาจากชีวิตที่ดีขึ้น
.
เรากำลังจะเปิดวันให้บริการคนไร้บ้านเพิ่มเติม จากที่เราเปิดแค่ในวันศุกร์ เรากำลังจะเปิดให้บริการเพิ่มในวันอังคารอีก 1 วัน และเรามีแนวโน้มที่จะเปิดให้บริการทุกวัน เนื่องจากเราได้พูดคุยขอให้ทางกรุงเทพมหานครสนับสนุนพื้นที่ถาวรให้ เพื่อที่จะให้เราสามารถให้บริการนี้ได้อย่างเป็นระบบระเบียบมากขึ้น มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อให้คนไร้บ้านได้เข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านสภาพชีวิตจากคนไร้บ้าน ไปสู่คนมีบ้านให้ได้จำนวนมากเท่าที่จะมากได้
.
สนับสนุนการให้บริการสวัสดิการกับกลุ่มคนไร้บ้านในนาม “สดชื่นสถาน” ได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-2-58289-4 SCB

Share Button

สร้างพื้นที่ เพื่อชีวิตผู้ป้วยจิตเภท

“ว่าด้วยการสร้างพื้นที่”
.
เมื่อวานเป็นวันสุขภาพ​จิตโลก​ เราชวนอแมนด้า​(อดีต​มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์และเธอสนใจเรื่องสุขภาพ​จิตอย่างต่อเนื่อง​)​ ไปเยี่ยมเยียนผู้ป่วย​จิตเวช​ในโซเชียลวอร์ดที่อยู่ในการดูแลของสถาบันจิตเวชศาสตร์​สมเด็จเจ้าพระยา
.
โซเชียลวอร์ด​ คืออะไร​ พูดแบบสรุปคือพื้นที่​ ที่มีไว้เพื่อการฝึกทักษะ​ของผู้ป่วยจิตเวช​ (โดยเฉพาะเรื่องโรคจิตเภท)​ให้สามารถออกไปใช้ชีวิตอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างราบรื่น​ที่สุด​
.
คำถามว่า​ ทำไมต้องฝึกทักษะ​ทางสังคมกันใหม่​ เพราะเนื่องจากผู้ป่วยจิตเวชหลายราย เมื่อป่วย​เป็นโรคจิตเภท​ ตัวโรคมันทำให้ฟังก์ชันหลายอย่างในการใช้ชีวิตมันถูกทำลายไปด้วย​ ส่วนมากฟังก์ชันที่เสียหาย​ เป็นเรื่องความจำ​ ระบบความคิด​ ซึ่งเป็นฟังก์ชันสำคัญ​ของการดำรงชีวิต​ เมื่อพังจึงต้องสร้างขึ้นใหม่
.
คำถามว่า​ ทำไมเราถึงเลือกไปเยี่ยมเยียนที่นี่​ นั่นเป็นเพราะที่นี่​ กำลังมีการทำงานร่วมกันกับทางมูลนิธิ​กระจกเงา​ พูดแบบย่นย่อก็คือเรากำลังทำงานร่วมกัน​ โดยให้ผู้ป่วยจิตเวช​ได้เข้ามาทำงานในระบบงานของจ้างวานข้า​ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถฝึกฝนทักษะจนสามารถ​ออกมาใช้ชีวิตด้วยตัวเองได้​ โดยมีงานทำมีรายได้แน่นอน
.
ที่สำคั​ญคือ​ ผู้ป่วยจิตเภทเรื้อรังส่วนใหญ่จะถูกปฏิเสธ​จากระบบการจ้างงาน​ ไม่มีใครต้องการ รวมถึงครอบครัว​ของผู้ป่วยเองด้วย​ เราผู้ที่เห็นปัญหา​นี้มาโดยตลอด​ จึงคิดว่าเราจะเป็นพื้นที่​ที่ใช้ไว้รองรับกลุ่มคนที่ถูกปฏิเสธ​จากระบบการจ้างงานในกระแสหลัก เพื่อให้คนอย่างพวกเขาได้มีที่ทางในการยืนได้อย่างแข็งแรงมั่นคงในสังคมนี้
.
ยกตัวอย่างชายหนุ่มที่ผ่านประสบการณ์​ก​ารใช้ยาเสพติด​มาอย่างโชกโชน​ โชกโชนจนมันทำให้เขาป่วยเป็นโรคจิตเภท​เรื้อรัง​ ซึ่งมันทำลายการใช้ชีวิตเขาไปอยู่หลายปี​ ชายหนุ่มที่อายุยังอยู่ในวัย 30 ต้นๆ มีทักษะ​ในการวาดภาพ​ แต่ไม่สามารถงัดออกมาใช้ได้หลายปี​ แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการ​การฟื้นฟูทักษะ​หลังจากได้รับการบำบัด​รักษา​แล้ว​ เขาก็สามารถฉายแสงความสามารถที่เขามีออกมาได้เช่นวันเก่าก่อน
.
เราจึงคิดว่า​ การมีพื้นที่ให้ผู้ป่วยจิตเวช​ได้มีพื้นที่ในการพัฒนาทักษะ​การใช้ชีวิต​ มีพื้นที่ทดลองใช้ชีวิต​ จนสามารถกลับคืนสู่การใช้ชีวิตด้วยตัวเขาเองอย่างแข็งแรง​ อย่างยืนเหยียดตรงอีกครั้งในสังคมที่เขาสังกัดอยู่​ เป็นความจำเป็นอย่างที่สุด​ ที่ควรถูกตระเตรียมไว้ให้กับพวกเขา

__________________

สามารถสนับสนุนการสร้างพื้นที่สร้างเสริมประสบการณ์​ชีวิตให้กับกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-2-58289-4 SCB

Share Button

ดวงตาของยายไร้บ้านที่อยู่ห่างไกลการรักษา

เป็นคนไร้บ้านอยู่ข้างถนนมามากกว่า 20 ปี แต่ที่ไม่แน่ใจก็คือไอ้โรคที่ดวงตาขวาของแกนั้นมีจุดเริ่มต้นเมื่อไหร่ และมันนับได้เป็นปีที่เท่าไหร่ของชีวิตไร้บ้านของแก รู้แต่เพียงว่าเมื่อต้นปี 65 ที่ผ่านมา มันเริ่มแย่ขึ้น เพราะรอบตา มันบวมแดง อักเสบ รู้สึกเจ็บข้างในลูกตา
.
มีวันหนึ่งช่วงเกือบกลางปี 65 มีอันธพาลมารีดไถเงินแก เมื่อแกไม่มีให้ มันก็ทำร้ายร่างกายเอา ต่อยเข้าที่ตา ทุบเข้าที่หัว แผลที่ดวงตาก็เริ่มแย่และเจ็บมากขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
.
แกเล่าว่าแกไปรักษาที่โรงพยาบาลอยู่ ไปล้างแผล ไปทำแผล แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนเกือบปลายปี ตาข้างขวามันบวมรุนแรง แผลเริ่มอักเสบ ลูกตาเหมือนจะหลุดออกมาจากเบ้า เวลาของการนอน ถแกต้องนั่งนอนเพื่อลดทอนความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นถ้าต้องนอนในท่านอนราบกับพื้น
.
แกยังคงไปหาหมออยู่บ้าง ไปบ้างเมื่อมันเริ่มเจ็บปวดมากเกินทนทาน แกบอกกับเราว่าแกไม่อยากไปหาหมอ ไม่ใช่ไม่อยากหาย แต่มันเจ็บปวดเกินจะทนทาน ในตอนที่หมอทำการล้างแผลให้แก “มันเหมือนโดนหินเอามากระแทกที่ตา หมอมือหนักอย่างกับหิน” แกพยายามอธิบายความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นตอนถูกล้างแผลให้เราฟัง
.
สุขภาพจิตแกก็แย่ลงตามไปด้วย แย่จากความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับแกในทุกวัน อารมณ์วีนเหวี่ยง ร้องไห้ เกิดขึ้นตลอด ไม่ว่าจะเป็นพวกเรา ทีมงานผู้ป่วยข้างถนน คนที่เข้าไปถามไถ่แก ไม่เว้นแม้แต่หมอพยาบาลก็ถูกแกวีนถูกแกเหวี่ยงใส่
.
“เจ็บมากๆ เลยหนู ยายจะอยู่ถึงปีหน้ามั้ย เจ็บจนอยากจะตาย” ประโยคที่เป็นทั้งคำอุทธรณ์และระดับของความเจ็บปวดที่แกได้รับอยู่
.
เราปลอบประโลมและพยายามชักชวนให้แกไปหาหมอดีกว่า และกว่าที่แกจะยอมไปก็ใช้เวลาไม่น้อย แกยอมมาโรงพยาบาลด้วยกันกับเรา เมื่อหมอเมื่อพยาบาลเห็นแก ก็เดินเข้ามาหาทันที ทักทายแกเหมือนญาติสนิทคนหนึ่ง หมอและพยาบาลต่างเล่าให้พวกเราฟังว่า แกมาหาที่โรงพยาบาลบ่อย มาทำแผลรับยา แต่แกไม่เคยมาตามนัดหมายที่ทางหมอทำนัดให้เลย ซึ่งหมอคาดว่าแกอาจเป็นมะเร็งที่ประสาทตา
.
แกเจ็บ แกกลัวการมาหาหมอ ประกอบกับค่ารถที่แกไม่สามารถหามาได้ การเดินทางจากสุดฝั่งหนึ่งของกรุงเทพที่แกนอนไร้บ้านอยู่ มายังโรงพยาบาลที่นัดหมายแกไว้ในอีกสุดฝั่งตรงข้ามของกรุงเทพ มันเป็นเหตุผลเพียงพออยู่ พอเพียงต่อการไม่ได้มาตามนัดหมายของหมอเพื่อจะได้รักษาตาของแกได้อย่างต่อเนื่อง
.
วันนี้เราพาแกมาหาหมออีกครั้งตามที่หมอนัดหมาย ทั้งหมอทั้งพยาบาลดูมีท่าทีพึงพอใจเป็นอย่างมากที่แกมาหาหมอได้ตามที่นัดหมายสักที หมอบอกพวกเราว่า “ดีมากๆ เลยที่แกได้มาตามนัดหมายสักที” แต่สิ่งที่เรายังดีใจไปไม่สุดก็เป็นเรื่องที่แกยังไม่ยอมเข้าไปในศูนย์พักพิงชั่วคราวที่ทางรัฐเขาจัดไว้ให้
.
พวกเราได้วางแผนดูแลแก เพื่อจะพาแกให้สามารถไปเข้าสู่การรักษาให้ได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้โรคที่แกเป็นอยู่มันทุเลาเบาบางขึ้น อาการดีขึ้นเป็นลำดับ สุขภาพกายดีขึ้นสุขภาพจิตก็ดีขึ้นตามมา พวกเรากำลังทำหน้าที่เสมือนการสร้างเส้นทางเฉพาะกิจเพื่อเชื่อมโยงคนป่วยที่ไม่สามารถเข้าสู่การรักษาได้ด้วยเงื่อนไขบางอย่างให้สามารถเข้าสู่ระบบการรักษาได้ไวขึ้น สะดวกขึ้น ต่อเนื่องขึ้น
.
แต่เราหวังไว้ว่า สักวันเส้นทางหลักจะมีเกิดขึ้น ผู้ป่วยข้างถนนที่มีเงื่อนไขพิเศษแบบยาย จะสามารถเข้าสู่การรักษาได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น โดยมีเส้นทางที่เหมาะสมกับบริบทของผู้ป่วยที่คล้ายกับแก โดยมันถูกสร้างขึ้นจากระบบการรักษาของรัฐเอง มีการขยับระบบการรักษาเข้ามาให้ใกล้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ให้ชิดขึ้น ความห่างไกลจากการเข้าสู่การรักษานั้นก็คงจะน้อยลงไปได้เอง เราหวังว่าทางพิเศษที่เราสร้างขึ้นตอนนี้จะเป็นทางที่รกร้างไม่มีใครใช้อีกต่อไปในอนาคต
.
ถ้าไปถึงวันนั้น เราทางทีมงานผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา จะนับว่ามันเป็นความสำเร็จได้อย่างเต็มภาคภูมิเลยทีเดียว
——————————————-
สนับสนุนการทำงานได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-2-58289-4 SCB
Share Button

ชายพิการไร้บ้านทรุดโทรมหนัก ไร้หน่วยงานรัฐดูแล

ชายพิการไร้บ้านคนหนึ่งผู้ต้องแบกรับน้ำหนักจากปัญหาของรัฐในการจัดสวัสดิการ​ที่ดีให้กับเขา
.
ชายพิการที่ต้องใช้ร่างกายพิการจากอาการเส้นเลือดในสมองตีบ แต่ต้องมาแบกรับปัญหาสถานสงเคราะห์คนพิการของรัฐที่มีคิวต่อเข้ารับการดูแลในสถานสงเคราะห์กว่า 100 คิว และรอคิวนั้นมาตั้งแต่มกราคมปีที่แล้ว
.
ชายพิการที่ไร้บ้าน ไร้ที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม แต่ต้องมาแบกรับความไม่สามารถของรัฐในการบริหารจัดการเพื่อให้ประชาชนผู้ต้องการรับการดูแลจากรัฐอย่างเร่งด่วนให้ได้รับการดูแลตามความประสงค์ของเขา
.
ชายพิการที่ต้องอยู่กับคุณภาพชีวิตย่ำแย่ แต่ต้องมาแบกรับกับปัญหาที่สถานสงเคราะห์ที่ดูแลกลุ่มคนไร้ที่พึ่งของรัฐบอกมาว่า ไม่สามารถรับเขาเข้าไปดูแลได้ก่อน เนื่องจากกลัวว่าภายในสถานสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งจะรับมือในการดูแลคนพิการไม่ไหว และที่สำคัญคือกลัวการไม่สามารถส่งต่อไปให้สถานสงเคราะห์เฉพาะทางอย่างสถานสงเคราะห์คนพิการได้ เนื่องจากทางนั้นก็บอกว่าคนขอฉันเต็มและมีคิวจ่อรอเป็น 100 คิวในทุกสถานสงเคราะห์คนพิการของประเทศนี้
.
ชายพิการที่สภาพร่างกายทรุดโทรมลงทุกวัน แต่เขาต้องมาแบกรับกับการที่ไม่มีหน่วยงานรัฐหน่วยงานใดที่จะเข้ามาดูแลเขาอย่างเร่งด่วน ที่เริ่มต้นจากการพาไปตรวจสภาพร่างกาย การหาที่พักอาศัยให้ การดูแลสุขภาพร่างกาย การดูแลให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดี
.
ชายพิการไร้บ้าน ร่างกายทรุดโทรมลงทุกวัน แต่เขาต้องมาแบกรับปัญหาของภาครัฐ เขาต้องแบกและรอคอยอยู่ที่ศาลาวัดแห่งหนึ่งริมคลองแสนแสบอยู่ทุกวี่วัน
.
ชีวิตชายคนนี้กำลังบี้แบนพังทลายไปเท่าไหร่แล้ว ท่านลองตรองดู กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
Share Button

ช่วยผู้ป่วยจิตเวชอีกราย นำส่งโรงพยาบาลได้แม้ไร้ญาติ

“จะไม่กลับมาอีกเหรอ​ มีคนเอาไปโรงพยาบาล​ 2 รอบแล้ว​ ไปเสร็จไม่เกินเดือนสองเดือนก็กลับมาอีก”
.
เราตอบไปว่า จริงๆ แล้วผู้ป่วยจิตเวช​ระดับรุนแรง​แบบนี้​ ฟังชั่นเสียหมดแล้ว​ เขาต้องถูกส่งไปสถานสงเคราะห์​หลังสิ้นสุดการรักษา​ แต่ที่ผ่านมาทางรพ.น่าจะไม่ดูเรื่องนี้​ เลยถูกส่งกลับมา ทั้งๆ ที่ดูแลตัวเองไม่ได้และไม่มีผู้ดูแล
.
“เขาเป็นคนแถวนี้แหละ​ เกิดโตแถวนี้​ แต่ก็ดมกาวตั้งแต่เด็ก​พอนานไปก็หลุดเลย”
ใช่ครับยาเสพติด​ สารระเหย​ ก่อผลให้เกิดโรคจิตเวชได้​ ผู้ป่วยในหวอดจิตเวช​ตอนนี้ส่วนมากเกิดจากการใช้สารเสพติด
.
“เดินหน้าสองก้าว​ ถอยหลังสองก้าว​ ลองดูสิเขาไม่ใส่กางเกง​เลย​ ผู้หญิงผ่านไปมาก็กลัว​ บางทีก็มีท่าทีเดินเข้าหาผู้หญิง”
.
ไม่ใช่แค่อันตรายต่อคนอื่นๆ​ แต่อาการจิตเวชของเขานั้นก็สร้างความอันตรายให้กับตัวเขาเองไม่น้อย​ เช่น​ คุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่​ลงทุกวัน
.
“โรงพยาบาล​จิตเวช​เขาจะรับเหรอ​ ไม่มีญาติไปด้วย”
เราตอบไปอย่างชัดเจนว่า​ ตามพรบ.สุขภาพจิต​ ระบุไว้เลยว่าการนำตัวผู้ป่วยจิตเวชส่งโรงพยาบาล​ ไม่ต้องมีผู้ดูแล​ไปด้วยก็ได้
.
ผู้ป่วยจิตเวช​คนนี้ได้รับการช่วยเหลื​อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
—————————————
สนับสนุน​การ​ช่วยเหลือ​ผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนได้ที่
โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-58289-4 SCB
Share Button