ครอบครัว “น้องธันวา” กับชีวิตก่อนพบทะเล

“มาแข่งกัน ใครวิ่งถึงทะเลก่อนคนนั้นชนะ”
เสียงแจ้วจากสองพี่น้อง “ธันวา” และ “อชิ”
.
นี่เป็นการมาทะเลครั้งแรกของทั้งคู่ นอกจากเอนตัวแช่น้ำให้คลื่นซัด การให้เท้าแตะทรายนุ่มเป็นอีกอย่างหนึ่งที่เด็กๆ ตั้งหน้าตั้งตารอ
.
ธันวา เป็นพี่ชาย
เขามีพัฒนาการทางสมองช้าเมื่อเทียบกับเด็กในวัยเดียวกัน สมองที่พิการทำให้เขาคิดอ่านต่างจากคนอื่น
.
ธันวา อ่านเขียนได้บ้างไม่ได้บ้าง บางครั้งแสดงอาการหงุดหงิด เอาแต่ใจ แบบไม่รู้ตัว กลายเป็นความรำคาญ ไม่เป็นที่ยอมรับสำหรับคนรอบข้าง ทำให้ธันวาไม่ชอบไปโรงเรียนและไม่กล้าเข้าสังคมกับคนอื่นๆ
.
อชิ ที่เป็นน้องสาว จึงต้องรับหน้าที่เป็นบอดี้การ์ดประจำตัว เธอจะคอยบอก คอยเตือน คอยเล่นเป็นเพื่อน ช่วยแม่ดูแลพี่ชายเสมอ เพราะถึงจะยังเล็ก แต่อชิเข้าใจในอาการที่พี่ชายเป็น
.
แม่มักบอกอชิ ว่า “ให้อยู่ข้างๆ พี่ เพราะแม่เชื่อว่าพี่ธันวามีโอกาสหาย หรือถ้าวันไหนแม่เป็นอะไรไป แม่ไม่ได้อยู่บนโลกนี้แล้ว สองพี่น้องต้องคอยดูแลกันและกัน”
.
อชิรู้ว่าแม่พยายามทำงาน ด้วยการออกขับวินมอเตอร์ไซค์ตั้งแต่ฟ้ายังไม่สาง ทำงานวันละ 17 ชั่วโมง เพื่อเก็บเงินมาเป็นค่ารักษาพยาบาลให้พี่ธันวา
.
เพราะตั้งแต่พี่ธันวาป่วย ต้องจ่ายเงินค่ายาหลายอย่าง เธอเห็นแม่พาพี่เทียวเข้าออกโรงพยาบาลเพื่อรักษาไม่ต่ำกว่าสิบรอบ ในระหว่างนั้นแม่ก็ต้องทำงานขับวินไปพร้อมกัน การเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เลี้ยงดูเด็กสองคน ซ้ำหนึ่งคนพิการทางสมองนั้นไม่ง่าย อชิจึงพยายามช่วย เป็นแรงเล็กๆ แบ่งเบาภาระให้แม่บ้าง
.
เงินเดือนของแม่ทั้งหมด ต้องเก็บไว้ใช้จ่ายยามจำเป็น ทั้งค่าเช่าบ้าน น้ำ ไฟ และค่ารักษาแผนกจิตเวชเด็ก การไปเที่ยวเล่นข้างนอกเลยไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ
.
นอกจากวันไหนเป็นวันเกิดหรือโอกาสพิเศษ แม่จะหยุดงานพาเด็กๆ ไปให้อาหารปลาที่วัดใกล้บ้าน เป็นการเที่ยวแบบฉบับที่กำลังทรัพย์ของครอบครัวพอเอื้อมถึง
.
ปลายเดือนที่แล้ว โครงการโรงพยาบาลมีสุข ชวนครอบครัวน้องธันวา และครอบครัวเด็กป่วยแผนกจิตเวชอีก 10 ครอบครัว ไปสัมผัสลมทะเล ณ หาดบางแสนเป็นครั้งแรก
.
ถึงจะเป็นการเที่ยวแบบไปเช้าเย็นกลับ แต่รอยยิ้มที่แต้มใบหน้า และเสียงหัวเราะจากเด็กๆ จะยังดังก้องไปอีกพักใหญ่ เป็นกำลังใจของเด็กๆ และครอบครัว ให้เด็กป่วยทางใจได้รับรู้ว่าเขามีคุณค่า สมควรได้รับการดูแลจากทั้งครอบครัวและสังคม
.
หากคุณมีที่พัก ร้านอาหาร หรือพื้นที่สำหรับทำกิจกรรม พร้อมเปิดรับเด็กๆ เราอยากชวนคุณเป็นส่วนหนึ่งในการโอบรับเด็กป่วยด้วยความรัก
ดูแลประคับประคองพวกเขาไปพร้อมกันกับเรา
ติดต่อได้ที่ 061-909-1840
.
สนับสนุนกิจกรรมสร้างความสุขลดความทุกข์ให้เด็กป่วย
ได้ที่บัญชีโครงการโรงพยาบาลมีสุข
เลขที่ 202-258286-0 ธ.ไทยพาณิชย์

Share Button

“สดชื่น​สถาน” พื้นที่นี้เพื่อคนไร้บ้าน

คนไร้บ้าน​ คือคนที่ออกมาจากบ้าน​ การออกมาจึงเป็นเรื่องเลวร้าย
.
แต่การ​ออกมาอีกเช่นกันที่นับเป็นเรื่องดี​ คือการออกมาจากความเป็นคนไร้บ้านนั่นเอง
.
เรามี “จ้างวาน​ข้า” ที่ทำให้เขาออกจากชีวิตไร้บ้านได้โดยการสร้างพื้นที่ทำงานและมีรายได้
.
ตอนนี้​เรามี​ “สดชื่น​สถาน” ที่มีไว้เพื่อปรับปรุงคุณ​ภาพชีวิตคนไร้บ้าน เป็นพื้นที่ตระเตรียม​ก่อนที่พวกเขา​จะออกไปจากชีวิตไร้บ้านเสียที การตระเตรียมนั้นคือ​ การให้เขาสามารถเข้าถึงการใช้ชีวิต​ประจำ​วันอย่างมีคุณภาพ​มากขึ้น​ ผ่านการทำความสะอาด​ การรักษา​สุขอนามัย​ เรามีบริการซักผ้า​ฟรี อบผ้าฟรี​ อาบน้ำฟรี​ เป็นบริการ​พื้นฐาน​ และต่อไปในอนาคต​เราจะขยายการให้บริการ​อื่นๆ​ เช่น​ อาหาร​ เสื้อผ้า​ รวมถึงเป็นพื้นที่ส่งต่อพวกเขาเข้าสู่กระบวนการ​แก้ไขปัญหา​ในเรื่องอื่นๆ​ ที่มันรัดตรึงเขา​ เป็นเชือกเส้นใหญ่ที่มัดเขาไม่ให้พ้นจากชีวิตไร้บ้านโดยง่าย​ และเมื่อเขาพร้อมแล้ว​ เราจะพาเขาออกไปจากชีวิต​ไร้บ้านอย่างยั่งยืน​ ด้วยพื้นที่ทำงานที่เราเรียกมันว่าจ้างวานข้านั่นเอง

__________________

มูลนิธิ​กระจกเงา​xOtteri เราจะเปิดบริการ​ให้กับพี่น้องคนไร้บ้านทุกวันศุกร์ของสัปดาห์​ ที่ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า​ ถนนพระอาทิตย์​
.
สนับสนุนกระบวนการพาออกจากภาวะไร้บ้านนี้ได้ที่​ โครงการผู้ป่วยข้างถนน โดยมูลนิธิกระจกเงา
เลขที่บัญชี 202-2-58289-4 SCB

Share Button

TIP Smart Assist “ผู้นำส่ง” ความช่วยเหลือสู่ผู้เดือดร้อน


ในเวลาที่เครื่องผลิตออกซิเจน
กำลังรอส่งออกไปบ้านผู้ป่วย
ข้าวสารอาหารแห้ง
รอคิวส่งไปครอบครัวที่เดือดร้อน
ช้ากว่านั้นก็อาจหมายถึงชีวิต
หรือความลำบากที่ยาวนานขึ้น
.
พวกเขาเรียกตัวเองว่า
TIP Smart Assist
จากทิพยประกันภัย
ขออาสาส่งความช่วยเหลือ
จากมูลนิธิกระจกเงา
ไปยังครอบครัวที่เดือดร้อน
.
เขาบอกเราว่า
งานจิตอาสาไม่เลือกความเดือดร้อน
เรื่องเล็กเรื่องใหญ่
พร้อมไปได้หมด
ขอแค่บอกมา
.
หลายเดือนมาแล้วที่พวกเขา
ทำภารกิจนี้อยู่เบื้องหลังเงียบๆ
เป็นสะพานเชื่อมความช่วยเหลือ
ขอบคุณจากใจแทนทุกครอบครัว
ที่ได้รับความช่วยเหลือ
🙏🏻❤️🙏🏻พวกคุณโคตรเท่ห์

Share Button

ขอเพียงส่วนหนึ่งของร่างกาย เพื่อพูดกับลูกเป็นครั้งสุดท้าย

ถึงตายไปแล้ว ก็ขอให้ได้เห็นศพ
อย่างน้อยให้ได้เห็นกระดูกเขา
ได้เอากระดูกเขากลับบ้าน
.
ได้พูดกับร่างกาย
ชิ้นส่วนไหนของลูกก็ได้ว่า
“กลับบ้านเรานะลูก”
.
ยิ่งเวลานานวันที่เก๋หายตัวไป
ครอบครัวคิดว่าเก๋ อาจไม่มีชีวิตอยู่แล้ว
และยิ่งได้เห็นข่าวว่าน้องแอร์ที่หายไป 8 ปี
แม่น้องแอร์ยังได้กอดกระดูกลูก
ได้พาน้องแอร์กลับบ้าน
.
แม่น้องเก๋ นางสาวภาวิณี กอไธสง
จึงยังรู้สึกมีความหวัง ว่าสักวันหนึ่ง
เธอจะได้พาลูกของเธอ
กลับบ้านเช่นกัน
.
สัปดาห์นี้เราทำหน้าที่ประสานงาน
เก็บดีเอ็นเอของแม่เพื่อนำส่ง
ให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์
ใช้ตรวจเทียบกับศพนิรนาม

————————————

คนหาย!!!
นางสาวภาวิณี กอไธสง หรือเก๋อายุ 23 ปี
หายตัวไปจากแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
ตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ.2556
.
คนหายสูงประมาณ 163 ซม. หนักประมาณ 55 กก.
มีไฝที่จมูก และมีแผลเป็นที่แขนขวา
.
แจ้งเบาะแสได้ที่ มูลนิธิกระจกเงา
โทร 0807752673

Share Button

สะท้อนปัญหาของรัฐผ่านวงจรชีวิต “ผู้ป่วยจิตเวช”

10 กว่ารอบได้แล้ว ที่เคสนี้วนเวียน​เข้าออกระหว่างข้างถนนและโรงพยาบาล​จิตเวช
.
10 กว่าเหตุ ที่เคสนี้ก่อขึ้นและตำรวจต้องมาควบคุม​ตัวนำส่งโรงพยาบาล
.
เหตุที่เคสนี้ก่อขึ้น​ มีตั้งแต่สร้างความวุ่นวาย​ เช่น​ ตะโกน​โวยวาย​ ด่าว่าผู้คน​ ทำลายข้าวของทั้งสาธารณะ​และของเอกชน​ เดินกลางถนน​ กระโจนเข้าหารถ​ อึฉี่กลางพื้นที่สาธารณะ​ ล่าสุดคือกระโดด​ไปหน้ารถพยาบาล​และไปหักที่ปัดน้ำฝนของรถ​
.
จากข่าวเคสนี้รับการรักษา​อยู่ที่โรงพยาบาล​จิตเวช​ และตำรวจ​ สภ.ที่คุ้นเคย​กับการนำส่งเคสไปโรงพยาบาล​ ก็ยังออกปากออกมาว่า​ “รักษา​แล้วเดี๋ยวก็กลับมาวุ่นวายที่ข้างถนนอีก​เหมือนเดิม อีกทั้งทาง รพ. ไม่มีแผนกับเคสนี้อย่างชัดเจน​ ด้วยเป็นเคสเร่ร่อน ไม่มีญาติ ทำให้ต้องเกิดการนำส่งแบบนี้อยู่หลายครั้งเลย “ออกมาอีกพวกผมก็เอาตัวเข้าโรงพยาบาล​ซ้ำอีกนั่นแหละ​”
.
ตามเนื้อหาข่าว​ เคสนี้เกิดเหตุ​ขึ้นที่​ อ.หาดใหญ่​ จ.สงขลา​ เราได้มีโอกาส​พูดคุยกับตำรวจที่รับผิดชอบในการนำส่งเคสเข้าโรงพยาบาล​ ตำรวจให้ข้อมูล​ว่า​ การวนเวียน​เข้าออกระหว่างข้างถนนกับโรงพยาบาล​ของเคสนับ 10 ครั้งได้นั้น​ เกิดขึ้นในช่วงเวลา 3-4 เดือนของปี​ 2565 นี้เอง​
.
ก่อความวุ่นวาย​ –> นำส่งรักษา​–> รักษา ​–> ออกจากรพ. –> เร่ร่อน –> ก่อความวุ่นวาย –>
.
ถามว่าจะทำอย่างไรที่จะตัดวงจรนี้ได้​ ขั้นตอนสำคัญ​ที่ต้องทำให้ได้นั่นคือ​ หลังจากที่สิ้นสุดการรักษา​การนำเข้าสู่ระบบ​การฟื้นฟูจึงสำคัญ​ เป็นความสำคัญ​ แต่ก็ไม่ถูกให้ความสำคัญ​สักเท่าไหร่จากรัฐ​
.
รัฐไม่ให้ความสำคัญ​อย่างไร​บ้าง​ สถานฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวช​โดยตรงที่เป็นของรัฐมีอยู่ 2 แห่งเท่านั้นทั้งประเทศ​ คือสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านกึ่งวิถีชาย, หญิง​ ซึ่งคนเต็มแน่นรอคิวเข้านับร้อยคิว​ สถานที่ฟื้นฟูที่รองลงมาคือ​ สถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง​ มีทั้งหมด 11 แห่งทั่วประเทศ​ แต่ปัญหาร่วมของสถานสงเคราะห์​ทั้ง 11 แห่งนี้คือ​ ไม่มีกระบวนการดูแลผู้ป่วยจิตเวช​อย่างเป็นระบบ​ ในหลายสถานฯ​ ไม่มีนักจิตวิทยา​อยู่สักคนเดียว​ ซ้ำร้ายทุกที่ทุกแห่งอยู่ในสภาพที่คนรับบริการล้นแน่นระบบการดูแลฟื้นฟูไปหมดแล้ว​
.
เรามี​ข้อมูลอยู่​ว่า​ มีเคสในลักษณะเดียวกัน​นี้อยู่ไม่น้อย​ ใช้ชีวิต​เร่ร่อนด้วยอาการ​จิตเวช​อยู่ที่ข้างถนน​ และวนเวียนเข้าออกระหว่างข้างถนนกับโรงพยาบาล​จิตเวช​เหมือนกับเคสนี้​
.
ประเด็นสำคัญ​ของบทความนี้คือ​ การจะตัดวงจรของผู้ป่วยจิตเวช​ที่สลับเข้าออกระหว่างข้างถนนกับโรงพยาบาล​จิตเวช​ได้นั้น​ กลไกสำคัญ​คือระบบการฟื้นฟู​ ซึ่งเราคิดว่ารัฐต้องให้ความสำคัญ​ที่มากกว่า​ที่เห็นและเป็นอยู่อย่างมากมายนัก

โครงการ​ผู้ป่ว​ยข้าง​ถนน​ มูลนิธิ​กระจกเงา​
Cr.ข่าวสด
รายละเอียด​ข่าว : https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_7113583

Share Button

การเดินทางของคนหายสู่ศพนิรนามที่ทราบชื่อ

กัง เป็นชายพิการทางสมอง
เขาใช้ชีวิตอยู่ที่จังหวัดสงขลา
เขาชอบจากบ้านไปในตอนเช้า
และกลับบ้านมาในตอนเย็น
บางครั้งเขาเดินไปท่าเรือประมง
ช่วยงานพอได้ค่าขนม ได้ปลากลับบ้าน
.
วันหนึ่งเขาเดินออกจากบ้านเหมือนทุกวัน
แต่เขาไม่กลับมาอีกเลย
ครอบครัวและญาติตระเวนตามหา
ไปดูตามโรงพัก โรงพยาบาล
และสถานสงเคราะห์ในพื้นที่ ก็ไม่พบ
.
จน 5 ปีผ่านไป
เมื่อกลางเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา
สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม
ติดต่อมาที่มูลนิธิกระจกเงา
แจ้งว่ามีศพนิรนาม ศพหนึ่ง คล้ายกัง
ถูกส่งมาจากสถานสงเคราะห์ที่นนทบุรี
เพื่อชันสูตร ตั้งแต่ต้นปี 2561
แต่ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าเป็นใคร
.
กระทั่งตอนนี้
มีกระบวนการนำลายนิ้วมือศพนิรนาม
ไปตรวจเทียบกับฐานข้อมูลกรมการปกครอง
จึงทำให้ทราบว่า ชายเร่ร่อน
ที่กลายเป็นศพนิรนามไม่ทราบชื่อ
เขา คือ กัง ที่ญาติตามหามานานกว่า 5 ปี
.
วันนี้กัง จะได้เดินทางไกล
เพื่อกลับบ้านที่สงขลา
จากคนหายไม่ทราบสถานะ
จนเป็นศพนิรนาม ที่ทราบชื่อนามสกุลแล้ว
.
ขอแสดงความชื่นชม
สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม
ที่ใช้ความรู้ ความสามารถของหน่วยงาน
พิสูจน์จนทราบว่า ผู้ตายเป็นใคร
และกัง ได้กลับบ้านอีกครั้ง.

Share Button

ความรู้สึกของคนที่รอให้การตามหาสิ้นสุดลง

“ตื่นเช้ามาได้ยินข่าวในทีวี เจอโครงกระดูกคนชื่อ นิว ที่ระยอง ย่ารีบลุกขึ้นมาดู ศพใส่กางเกงยีนส์ขาสั้น ใส่นาฬิกา ใส่หมวก เหมือนหลานเราเลย ห้วงเวลาหายมันก็ช่วงเดียวกัน ย่าเลยตะโกนบอกปู่ว่า ไอ้นิวเราแน่เลย รีบโทรไปบอกลูกชายให้ดูข่าว”
.
“ตกลงกันว่าต้องไปดู ต้องใช่นิวแน่ๆ เลย ข้อมูลมันคล้ายกันมาก นั่งร้องไห้กันตลอดทางกับแม่เขา คุยกันว่ามันฆ่าหลานโหดร้ายเหลือเกินนะ ใจก็คิดว่านิวไปตายที่นั่นได้ยังไง คิดทำใจ ตายก็คือตาย เราต้องรับให้ได้ นิวตายจริงๆ หรือ ทำไมไม่กลับมาหาย่า ถ้ามันไม่ตาย มันต้องกลับมาหาเราแล้ว ก็คิดว่าเป็นนิว หลานย่าจริงๆ ที่ตาย”
.
“เขาก็เก็บดีเอ็นเอ พ่อแม่มันไปตรวจ แต่ข้อมูลที่โรงพัก มันเริ่มคลี่คลายตั้งแต่วันนั้น ว่าน่าจะเป็นคนละนิวกัน”
.
“พอผลสืบสวน ผลดีเอ็นเอ ออกมาชัดเจนว่าศพนิรนามนั้นไม่ใช่นิว ย่าก็ดีใจที่เขาไม่ตายแบบทรมาน แต่ย่าเองที่ยังทุกข์ทรมานใจอยู่ ถ้านิวไม่ตายแล้วนิวอยู่ที่ไหน มองจากหน้าบ้านเห็นภูเขาลพบุรี ย่าวิ่งมาตะโกนเรียก “ไอ้นิว อยู่ที่ไหนลูกกลับบ้านมาหาย่าซะที ได้ยินเสียงย่าบ้างมั้ย” คนแถวบ้านก็ถามว่า แล้วมันอยู่ไหนล่ะ ย่าก็บอกว่าเรียกมันกลับบ้าน ให้มันโล่ง มันได้ระบายออกจากตัวเราบ้าง”
.
“พอพึ่งทางไหนไม่ได้แล้ว ย่าวนเวียนมานั่งเขียนบันทึก ระบายเป็นตัวหนังสือออกมา เขียนไปเรื่อยๆ ระบายความรู้สึกออกมา เขียนไปน้ำตาไหลไป ที่ระบายได้ก็คือน้ำตา เป็นเพราะย่าอุตส่าห์บนให้เขาเป็นไปทหาร ทำให้เขาไปตายที่ไหนไม่รู้ อยากให้เขามีวินัย ได้เป็นคนขึ้นมา แต่กลับกลายเป็นความทุกข์ไปตลอดชีวิตย่า”

———————————————————————
นางพรทิพย์ เบญจวรณ์ อายุ 62 ปี (ย่า)
พลทหารพนา หรือนิว เบ็ญจวรณ์ อายุ 21 ปี (คนหาย)
———————————————————————

สนับสนุน การพาคนหายกลับบ้าน
บัญชีโครงการศูนย์ข้อมูลคนหาย โดยมูลนิธิกระจกเงา
SCB 202-258-288-6

Share Button

07 ตามติดคดีน้องต่อหาย : ยังไม่พบตัว

3 วัน น้องต่อ
เด็กหายวัย 8 เดือน
——————————————

1.ขณะนี้เวลา 20.00 น ของวันที่ 17 ก.พ. 2566 หรือ 13 วันที่น้องต่อหายไป ปัจจุบันยังไม่พบตัว
.
2.ลักษณะของเด็กและสภาพพื้นที่ การก่อเหตุต้องมี บุคคลพาเด็กไป
.
3.บุคคลที่อาจก่อเหตุได้ คือบุคคลในบ้านที่เด็กอาศัยอยู่ หรือบุคคลในพื้นที่ ซึ่งทราบลักษณะการพักอาศัยของเด็ก และรู้เส้นทางในพื้นที่
.
4.บุคคลตามข้อ 3 อยู่ในการติดตามสืบสวนของตำรวจทั้งหมดแล้ว
.
5.ในรอบ 20 ปี ประเทศไทย ไม่มีแก๊งค์หรือองค์กรอาชญากรรมที่ลักพาตัวเด็ก
.
6.ลำดับเวลาเกิดเหตุและข้อมูลจากพยานบุคคล มีความคลาดเคลื่อนบางประเด็น
.
7.กล้องวงจรปิดใกล้ที่เกิดเหตุ เป็นกล้องของชาวบ้าน มีมุมมองจำกัด ส่วนกล้องที่ชัดเจนอยู่ในระยะที่ไกลออกไป แต่ยังพอทำให้ระบุห้วงเวลาเหตุการณ์ต่างๆได้ โดยมีข้อมูลทางเทคนิคอื่นๆ ประกอบด้วย
.
8.สถิติคดีเด็กเล็กหาย จากประสบการณ์ของมูลนิธิกระจกเงา พบว่า มีทั้งบุคคลใกล้ชิดหรือรู้จักเด็กลักพาไป เกิดเหตุความรุนแรงในครอบครัว หรือแม้แต่การสร้างสถานการณ์ ซึ่งทุกกรณีจะต้องมีเหตุจูงใจก่อนการก่อเหตุ
.
9.คดีนี้ เป็นกรณีที่กระชับรัศมีผู้ก่อเหตุได้ ในวงจำกัด การวิเคราะห์หรือสอบสวนเชิงลึก จึงต้องระมัดระวังผลกระทบต่อสิทธิของครอบครัวและบุคคลในชุมชน
.
10.ประวัติพฤติกรรมส่วนตัว ไม่ว่าจะทำผิดกฏหมายอื่น ผิดจารีตศีลธรรมของสังคม ย่อมทำได้เพียงเป็นข้อมูลประกอบ ไม่สามารถใช้ตัดสินว่า บุคคลนั้น กระทำความผิดลักพาตัวเด็ก
.
11.ประวัติข้อมูลส่วนบุคคลในทางสืบสวน ไม่ควรถูกเผยแพร่ โดยเฉพาะเผยแพร่จากหน่วยงานบังคับใช้กฏหมาย
.
12.ข้อมูลที่มีการนำเสนอในโลกออนไลน์และสื่อบางแห่ง อาจเป็นเพียงข้อมูลประกอบ ข้อคิดเห็นส่วนบุคคล หรือประเด็นส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดครั้งนี้ ซึ่งต้องใช้วิจารณญานในการรับชม
.
13.มูลนิธิกระจกเงา ลงพื้นที่ตั้งแต่วันเกิดเหตุจนถึงวันนี้ ยืนยันว่า ตำรวจได้ทำการสืบสวนสอบสวน ตามแนวทางที่ควรดำเนินการ แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถหาหลักฐานยืนยันตัวผู้กระทำความผิดได้

ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา
17 กุมภาพันธ์ 2566 (20.00น.)

———————————————

แจ้งเบาะแสน้องต่อ
มูลนิธิกระจกเงา โทร 080-775-2673

Share Button

ต่อลมหายใจคุณปู่ “น้องต่อ”

ปู่ของน้องต่อ
เด็กหายที่บางเลนนครปฐม
ป่วยด้วยโรคปอดจนต้องเจาะคอ
ตอนที่น้องต่อหายตัวไป
ปู่ยังรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล
ด้วยอาการหายใจไม่ออก
.
ก่อนหน้านี้ปู่ใช้ถังออกซิเจน
ซึ่งต้องขี่มอเตอร์ไซค์ไปเติมในตัวอำเภอ
ระยะทางไปกลับและค่าเติมเป็นค่าใช้จ่ายไม่น้อย
ปู่จึงปล่อยออกซิเจนให้น้อยที่สุดเพื่อประหยัด
.
ทีมงานมูลนิธิกระจกเงา ลงพื้นที่ตามหาน้องต่อ
เมื่อพบปัญหานี้จึงประสานทีม “ป่วยให้ยืม”
ขอยืมเครื่องผลิตออกซิเจนให้ปู่น้องต่อใช้
.
แม้กระแสสังคมจะสงสัยในพ่อแม่น้องต่อ
แต่เหตุผลด้านมนุษยธรรม
และการให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ต้องสงสัย
ไม่อาจปฏิเสธที่เราจะให้ความช่วยเหลือได้
.
วันนี้ทีมงานนำเครื่องผลิตออกซิเจน
มาให้ปู่น้องต่อ เพื่อใช้งานแทนถังออกซิเจน
จากนั้นทีมงานลงไปติดตามหาน้องต่อต่อไป
ส่วนคุณปู่ก็ยังมีลมหายใจเพื่อรอข่าวน้องต่อเช่นกัน
.
สามารถบริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้ที่
มูลนิธิกระจกเงา เลขที่ 191
ซอย วิภาวดีรังสิต 62 แยก 4-7
แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ กทม. 10210
โทร.092-252-5454
.
หรือสนับสนุนภารกิจป่วยให้ยืม
เพื่อร่วมลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัวผู้ป่วย
ได้ที่บัญชี โครงการป่วยให้ยืม มูลนิธิกระจกเงา
เลขที่ 202-2-70398-7 ธนาคารไทยพาณิชย์

Share Button

06 ตามติดคดีน้องต่อหาย : คำตอบในห้องสืบ

-คำตอบอยู่ที่ห้องสืบ-

6 วันแล้วที่น้องต่อหายตัวไปอย่างลึกลับ
ความพยายามติดตามหามีทุกช่องทาง
แต่ทางที่จะเป็นแสงสว่างให้ความมืด
คือการสืบสวนติดตามจากพยานหลักฐาน
.
การพบตัวเด็กหายส่วนใหญ่
เกิดจากงานสืบสวน หาข่าว ค้นหา
ประตูห้องสืบสวน สภ บางหลวง
ถูกเปิดเข้าออกวันละนับร้อยครั้ง
หลายครั้งเปิดต้อนรับคนนอก
เพื่อรับฟังความเห็นและให้ร่วมหาคำตอบ
.
ทิศทางของการพบตัวเด็กหายที่ผ่านมา
ไม่ได้เกิดจากการทำนายทายทัก
หรือการแฉปัญหาครอบครัวผ่านรายการ
แต่คืองานสืบที่ใช้ศาสตร์และศิลป์
.
พูดคุยกับผู้คน ที่เรียกว่า เดินดิน
หาข้อมูลทางเทคนิค ที่เรียกว่า เดินอากาศ
รวมกับเบาะแสที่สื่อช่วยประกาศ
และประชาชนช่วยสังเกตแจ้งข้อมูล
.
แสงไฟในห้องสืบสวนเปิดตั้งแต่เช้าถึงดึก
นี่คือกระบวนที่ถูกต้องเพื่อหาคำตอบ
เมื่อยังไม่ได้คำตอบ
ต้องลงมือทำเพิ่ม ทำซ้ำ และทำไม่หยุด
.
บางเรื่องต้องใช้เวลา
และเวลาก็เหลือน้อยลง
หากเทียบกับชีวิตเด็กเพียง 8 เดือน
ที่ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน
.
งานนี้ไม่ต้องสแกนกรรม
ขอสแกนพื้นที่โดยรอบให้ละเอียดอีกครั้งครับ.

Share Button