เมื่อสถานะ ‘ไร้บ้าน’ ถูกใช้เป็นเหตุผลที่ทำให้หญิงมีครรภ์ ‘ไร้การดูแล’

“วันพ่อที่อยากเล่าเรื่องของคนเป็นแม่”
.
เย็นวันหนึ่งในอาทิตย์ก่อน ทางทีมผู้ป่วยข้างถนนได้รับแจ้งจากพลเมืองดีว่าพบคนเร่ร่อนไร้บ้านเป็นผู้หญิงตั้งครรภ์กลับมาอีกครั้งแล้ว ที่ว่าเจออีกครั้งเพราะตัวคนไร้บ้านคนดังกล่าวหายไป และทางเราได้ลงพื้นที่ติดตามหลายครั้งแต่ไม่พบ ครั้งนี้เราจึงรีบลงด่วนที่สุดทันที
.
ด่วนที่สุดเพราะเธอตั้งครรภ์ ครรภ์นั้นน่าจะไม่ต่ำกว่า 7-8 เดือนแล้ว และไม่แน่ใจว่าเธอเองจะมีความสามารถในการดูแลครรภ์ตัวเองต่อไปได้ดีแค่ไหน เมื่อเราลงพื้นที่พบเจอเธอ เราได้เข้าไปพูดคุย เพื่อทำการเช็คอาการจิตเวชเบื้องต้น แต่ไม่พบว่าเธอมีอาการจิตเวช
.
เราจึงเริ่มคุยกับเธอ เธอเล่าว่าเธออยู่กับแฟนที่ใช้ชีวิตไร้บ้านเช่นกัน และบางครั้งต้องหลบออกมาอยู่ที่อื่น เพราะแฟนเธอทำร้ายร่างกาย ครั้งนี้ก็เช่นกัน แต่ข้อมูลสำคัญที่เธอเล่าก็คือ มีคนใจดีแถวนั้นพาเธอไปโรงพยาบาล หมอบอกเธอตั้งครรภ์ได้ 36 สัปดาห์ (9เดือน) และเด็กนั้นกลับหัวแล้ว
.
36 สัปดาห์ และเด็กกลับหัวแล้ว นัยยะก็คือเธอจะคลอดแล้วแน่นอนไม่พรุ่งนี้ก็มะรืนนี้ เราจึงเริ่มคุยกับเธอ ทำความเข้าใจกับเธอว่า เธอควรถูกดูแลโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่เรียกว่า “บ้านพักเด็กและครอบครัวกรุงเทพ” เธอตกลงว่าเธอจะเข้าสู่การดูแลนั้น เราจึงรีบประสานงานไปทันที
.
เจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กรับสาย เราแจ้งข้อมูลของตัวเคสคนไร้บ้านที่ตั้งครรภ์ไปทั้งหมด รวมถึงเราประเมินเบื้องต้นแล้วว่าไม่มีปัญหาจิตเวชอย่างแน่นอน ทางเจ้าหน้าที่มีคำถามที่ทำให้เราต้องอึ้งอยู่เหมือนกัน เจ้าหน้าที่ถามเรามาว่า “แล้วค่าใช้จ่ายเรื่องท้องจะทำอย่างไร” และตามมาด้วยประโยคที่ว่า “ขอไปปรึกษาผู้บังคับบัญชาก่อนว่าจะเอาอย่างไร” แล้วก็วางสายไป
.
ในช่วงค่ำทางเจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กโทรกลับมาหาทางทีมงานผู้ป่วยข้างถนนอีกครั้ง พร้อมกับบอกว่า ทางบ้านพักเด็กไม่สามารถจะรับเคสคนไร้บ้านตั้งครรภ์คนนี้เข้าสู่การดูแลได้ เนื่องจากเขาเป็นคนไร้บ้าน แต่ถ้าเป็นเคสคนท้องที่มีบ้านและมีปัญหาครอบครัว เขาถึงจะเข้ามาดูแล และบอกกับทางทีมงานผู้ป่วยข้างถนนว่า ทางบ้านพักเด็กและครอบครัวจะประสานกับทางศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งให้ เนื่องจากเคสเป็นคนไร้บ้าน
.
เมื่อหน่วยงานภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์พูดคุยกันเอง เราจึงติดตามการปฏิบัติงานของทั้งสองหน่วยงานในช่วงเช้าของอีกวัน เจ้าหน้าที่บ้านพักเด็กคนเดิมบอกกับเราว่า ให้เราไปตามกับทางศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง เคสเป็นคนไร้บ้าน (แม้ว่าท้อง 9 เดือน และเด็กกับหัวแล้วด้วย) ไม่ใช่บทบาทหน้าที่ผม และไม่ใช่หน้าที่ของผมที่ต้องตามข้อมูลให้คุณ ให้ไปตามข้อมูลกับทางศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งเองได้เลย
.
ทางทีมผู้ป่วยข้างถนนจึงประสานไปยัง ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง ทางศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งให้ข้อมูลว่า ทางผู้หญิงคนไร้บ้านที่ตั้งครรภ์นั้น ตอนนี้ไม่อยู่ในพื้นที่แล้ว ด้วยเหตุเพราะเขาปวดท้องจะคลอดลูก เลยมีพลเมืองดีนำส่งโรงพยาบาลใกล้เคียง และทางศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกำลังจะทำการติดตามเคสดังกล่าวไปที่โรงพยาบาล เราขอบคุณทางเจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองฯ และขออนุญาตติดตามผลหลังจากไปติดตามเคสดังกล่าวที่โรงพยาบาล
.
ผู้หญิงตั้งครรภ์ 9 เดือนคนหนึ่ง มีสถานะไร้บ้าน ต้องมาเจ็บท้องคลอดโดยไม่มีหน่วยงานรัฐใดที่เข้ามาดูแล ไม่ต้องย้อนไปถึงการเข้ามาดูแลก่อนที่เธอจะคลอด ตอนนี้เธอมีสถานะแม่เรียบร้อยแล้ว แต่เป็นแม่ที่อยู่ในสถานะคนเปราะบางทางสังคม คนท้องและคนเปราะบางทางสังคมคนหนึ่งที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องที่สุดอย่างบ้านพักเด็กและครอบครัวบอกว่าไม่ใช่ภารกิจของเขาอย่างเต็มปากเต็มคำ
.
เพียงเพราะเขาไร้บ้านจึงไม่อยู่ในการดูแล แต่ถ้าเขามีบ้านและตั้งครรภ์แต่มีปัญหาในการดูแลตัวเองและลูกในท้อง บ้านพักเด็กและครอบครัวจะเข้ามาดูแล มันเป็นหลักคิดแบบไหนกันนะ หลักการแบบใดกันที่ไม่ใช้ตัวตั้งที่สำคัญที่สุดนั้นคือ ความเป็นผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ได้ 9 เดือนและมีปัญหาทางสังคมเศรษฐกิจที่ไม่สามารถจะดูแลตัวเองและครรภ์ตัวเองได้ดีนัก เพื่อเป็นตัวตั้งหลักในการที่รัฐจะเข้ามามีบทบาทดูแล แต่กลับดันใช้สถานะไร้บ้านมาเป็นตัวตั้งก่อน และทำการปฏิเสธการดูแล ทั้งๆ ที่หน่วยงานอย่างบ้านพักเด็กและครอบครัวนั้นมี setting ที่พร้อมที่สุดแล้วในการดูแลเคสผู้หญิงตั้งครรภ์และมีปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม และความไร้บ้านนั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญใดๆ เลยถ้าจะใช้ setting ที่มีอยู่เพื่อจะดูแลพลเมืองของรัฐที่มีปัญหาอย่างผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ได้ 9 เดือนคนนี้
____________________
ปล.เราจะไม่แท็กรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แต่ถ้ามีคนช่วยแท็กถึงเรายินดีและขอบคุณมากๆ ครับ
Share Button