ด้วยสองมือของ “นักศึกษาฝึกงาน” นี้ที่สร้างโลก

         ครั้งหนึ่งเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว  นักศึกษาฝึกงานคนหนึ่ง คิดค้นงานวิจัยเล็กๆบนดอยสูง เพื่อสำรวจสถานการณ์คนหายในหมู่บ้าน เขาทำงานด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ จนได้ฐานข้อมูลรายชื่อผู้สูญหายออกจากครอบครัวชุดหนึ่ง ซึ่งสุดท้ายเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานติดตามคนหายจนเกิด “ศูนย์ข้อมูลคนหาย” ขึ้นอย่างเป็นทางการพร้อมๆกับการเกิดขึ้นของสำนักงานมูลนิธิกระจกเงา กรุงเทพมหานคร

         “โครงการนักศึกษาบ้าฝึกงาน” เกิดขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2543  บนฐานของความเชื่อว่า นักศึกษาคือพลังบริสุทธิ์ที่พร้อมสำหรับการเรียนรู้ เต็มไปด้วยพลังแรงกายอันแข็งแรงสมบูรณ์ อยู่ในวัยที่พร้อมสำหรับเปิดโลกเพื่อเรียนรู้สิ่งแปลกใหม่ให้กับชีวิต และที่สำคัญ การได้ฝึกปฏิบัติงานจริงในพื้นที่จริง ไม่เพียงสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับชีวิต ยังสร้างแรงบันดาลใจ และได้เห็นถึงชีวิตที่มีความแตกต่างหลากหลาย เห็นสังคมในแง่มุมที่แตกต่างไปจากหนังสือเรียน ทั้งยังได้สัมผัสและลิ้มลองรสชาติของชีวิตที่ต้องใช้ทั้งหยาดเหงื่อ แรงกายและมันสมองเข้าแลกในทุกโครงการที่ทุกคนได้เขาไปสับเปลี่ยนหมุนเวียนทำงาน ในฐานะของนักศึกษาฝึกงานที่มีความบ้าในการเรียนรู้และต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคม

นักศึกษาฝึกงานต้องทำอะไรบ้าง?  ทำทุกอย่างเทียบเท่ากับเจ้าหน้าที่หนึ่งคน หากเขาเป็นทีมงานของโครงการอาสามาเยี่ยม เขาจะได้ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนผู้ตกทุกข์ได้ยาก ผู้ป่วยติดเตียง คนยากจนและคนที่อยู่ในสถาวะยากลำบากในทุกรูปแบบ เขาจะได้มีโอกาสยื่นมือไปช่วยพยุงคุณตาคุณยาย ลูบไหล่ จับไม้จับมือ ปลอบโยนถามไถ่ความเป็นอยู่รวมถึงอาการเจ็บป่วยที่กำลังเผชิญอยู่ เขาจะได้สบตากับเด็กน้อยที่กำลังรอขนมหรือนมสักกล่อง จะได้เห็นความจนอันแท้จริง ที่ไม่ได้มีที่มาจากความเกียจคร้านเสมอไป ความจริงในบ้านอันแร้นแค้นจะทำให้ดวงตาของเขาเปิดกว้างเพื่อเรียนรู้โลกที่สูงต่ำดำขาว ผ่านชีวิตผู้คนที่กำลังดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอด

หากเขาเป็นสมาชิกทีมงานโครงการโรงพยาบาลมีสุข เขาจะได้รับรู้ว่าความทุกข์ในชีวิตที่เคยพบผ่านเข้ามาเล็กน้อยเพียงเถ้าผงธุลีดิน เมื่อเทียบกับความเจ็บป่วยที่เด็กหญิงเด็กชายตัวน้อยๆกำลังต่อสู้เพื่อเอาชนะโรคภัยเหล่านั้น ความเจ็บป่วยคือทุกข์อันแท้จริงที่พรากชีวิตทั้งชีวิตไปจากเด็กป่วยทุกคน เขาจะเห็นคุณค่าในตัวเอง และรู้สึกว่าชีวิตที่ผ่านมาช่างโชคดีเหลือเกินที่ได้เกิดมาเจ็บไข้ด้วยโรคเล็กๆน้อยๆที่รักษาหายในระยะเวลาอันสั้น เขาแบ่งปันความสุขที่เคยสัมผัสเพื่อทำให้เด็กป่วยได้มีโอกาสเล่น พูดคุย สนุกสนานเพื่อลืมความเจ็บปวดตรงหน้าได้ชั่วคราว และที่สำคัญเขาจะตระหนักว่าชีวิตที่เกิดขึ้นมานี้มีค่าสำหรับตนเองและผู้อื่นอย่างไร

         “สำหรับสิ่งที่หวังสูงสุดคือการได้ทำประโยชน์ให้กับสังคม นี่เป็นวัตถุประสงค์แรก ๆ ที่ก้าวเข้ามาในมูลนิธิกระจกเงา ใครจะว่าเราบ้าก็ช่าง แต่เราอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพัฒนาสังคม เพราะเราเข้าใจหัวอกของคนที่เขาลำบาก คนที่เขาขาดแคลน คนที่เขาไม่มีโอกาสเหมือนกับคนอื่น ๆ เพราะเราเองก็เคยได้รับโอกาส ได้รับสิ่งดี ๆ ในวันนี้เราจึงอยากจะมอบและแบ่งปันสิ่งดี ๆ นี้ให้กับสังคมคืนบ้าง เขาคงจะมีความสุขไม่แพ้กับเราเลยทีเดียว จะมีใครคิดเหมือนกันไหม ว่าแค่การได้เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างรอยยิ้มเหล่านั้น มันมีความสุขและอบอุ่นใจแค่ไหน อาจจะดูเป็นความสุขที่เรียบง่ายและแสนธรรมดา แต่สำหรับนักศึกษาฝึกงานและอาสาอย่างเรามันมีคุณค่ามาก ๆ จริง ๆ ค่ะ” เรื่องเล่าวันแรกของเจน นักศึกษาฝึกงานโครงการอ่านสร้างชาติ

         “กิจกรรมที่บ้านพักคนชราบางเขน ความรู้สึกทำให้ผมคิดถึง ปู่ ย่า ตา ยาย ที่บ้านเป็นอย่างมากวันนี้ทำให้ผมนึกย้อนถึงตนเอง ตอนผมเป็นเด็ก ผมจะไม่เชื่อฟังคำที่พวกท่านคอยสอน จนทำให้โดนบ่น โดนด่า อยู่เป็นประจำ เวลาโดนท่านตี ผมก็จะโกรธเคือง เเละเเสดงกิริยาที่ไม่ดีต่อพวกท่านเสมอ ๆผมรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็น ส่วนหนึ่งในการสร้างกำลังใจเล็กๆ สร้างความสุข สร้างรอยยิ้ม เเละเสียงหัวเราะ เเละได้เป็นผู้รับฟังเรื่องราวต่างๆ เพื่อให้เติมเต็มสิ่งที่พวกเขารู้สึกขาดหายไป ขอบคุณที่ได้ให้ผมได้เข้าร่วมกิจกรรมดีๆ โครงการอาสามาเยี่ยม ที่ได้ให้ผมมาสร้างความสุข รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ผมมีความสุขมากที่ได้มาที่นี่ ที่บ้านพักคนชราบางเขน ทำให้ผมได้เห็นความสำคัญของผู้สูงอายุที่บ้านมากขึ้น” ทัด พิทยา เสือเหลือง  คณะมนุษยศาสตร์เเเละสังคมศาสตร์ มหาลัยราชฎัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา นักศึกษาฝึกงานโครงการอาสามาเยี่ยม

 

        ได้ประสบการณ์ในการทำงานจริงเพิ่มมากขึ้น ได้ข้อคิดในการทำงานจากพี่ๆแต่ล่ะโครงการ ได้รู้ความสามารถของตัวเองว่าสามารถทำอะไรที่เราไม่เคยทำได้ ได้ความรู้เพิ่มจากงานที่ตัวเองทำ สามารถเอาไปปรับใช้ในอนาคตได้ ที่นี่ทำให้เป็นคนที่กล้าแสดงออกมากขึ้น และยังทำให้ได้เจอกับมิตรภาพดี ๆ จากที่นี่ ทั้งจากเจ้าหน้าที่ และ เพื่อนฝึกงาน สิ่งสำคัญที่ได้จากมูลนิธิกระจกเงาคือ  ได้รู้จักคำว่า “ให้” การให้ เราต้องให้แบบที่เราสมควรให้ ให้แล้วเราต้องสบายใจและเต็มใจที่จะให้ให้โดยที่เราไม่หวังอะไรตอบแทน และให้โดยที่เรามีพร้อมที่จะให้ ให้โดยที่เราไม่เดือดร้อน ให้แล้วคนที่รับและเราสบายใจ นี่ถึงจะเรียกว่า “การให้” คำกล่าวลาจาก ดรีม นักศึกษาฝึกงานทีม NGOsCyber

 

          ในทุกๆวันของการทำงานในทุกโครงการจะมีนักศึกษาบ้าฝึกงาน เข้าร่วมเรียนรู้และสนับสนุนการทำงานของพี่ๆเจ้าหน้าที่ พวกเขาไม่ใช่ภาระสำหรับองค์กร หากแต่คือ      “ขุมพลัง” ในการขับเคลื่อนองค์กรและสังคมไปสู่ การสร้างคน สร้างนวัตกรรมและสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง สองมือที่ยังไม่เคยผ่านงานในสนามชีวิตจริง ค่อยๆแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านเรื่องราว สัมผัสผู้คนทุกข์ยาก ได้มีโอกาสเป็นผู้ให้ และผู้รับความรักจากเพื่อนมนุษย์แบบไม่มีเงื่อนไข ทั้งนี้ ไม่ใช่เพียงเรียนรู้เพื่อฝึกสมองและร่างกายได้ทดลองทำงานเพียงเท่านั้น หากแต่หัวใจยังได้ฝึกเรียนรู้และเข้าใจในความแตกต่างหลากหลายของชีวิตมนุษย์ เพื่อวันหนึ่งเมื่อทุกคนเติบโตและโบยบินออกจากรั้วมูลนิธิกระจกเงาแห่งนี้ ประสบการณ์ชีวิตตลอดการฝึกงานจะสอนให้เขารู้จัก เข้าใจ และหยิบยื่นสิ่งดีๆเพื่อเพื่อนมนุษย์และสังคม

Share Button